วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/31 (1)



พระอาจารย์
2/31 (530922)
22 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้ว หลักการปฏิบัติมีอยู่นิดเดียว ทำอะไร ไม่ต้องไปทำกันมาก ...สติ บอกแล้วว่าแยกออก กายกับใจ แยกออกจากกัน แยกนามออกจากใจ แค่เนี้ย

รู้ มีอะไรเกิดขึ้นรู้ ปุ๊บแล้วอยู่ที่รู้ อย่าไปอยู่ที่อาการ แค่นี้ ทำแค่นี้พอ ...เดี๋ยวเผลออีก รู้อีก เดี๋ยวจมเข้าไปอีก รู้อีก แค่ระลึกรู้ขึ้นมา มันก็ปรากฏสภาวะสองสภาวะแล้ว 

สติน่ะ รู้เฉยๆ ...ถ้าไปกระทำจงใจ มันก็ต้องไปเรียนรู้อีกว่านี่จงใจแล้ว ตั้งใจเกินแล้ว เป็นการเรียกกลับมา หรือทำขึ้น อย่างเนี้ย ...แต่แค่ระลึกรู้ เห็นแรกน่ะ...สติ

บอกแล้วไง สติมันเกิดปุ๊บ ระลึกรู้เองน่ะ ...เข้าใจรึเปล่า รู้แล้วเห็นเองน่ะ เห็นตรงนั้น แล้วอยู่ที่รู้ ...ช่างมัน  รู้หายไปช่างมัน รู้ใหม่ อยู่อย่างเนี้ย  จนภาวะรู้มันโดดเด่นขึ้นมาเอง

แต่ว่าถ้าไปน้อมหรือไปจำสภาวะรู้ แล้วก็เพ่ง เหนี่ยว รั้ง ประคอง ...มันก็ต้องเรียนรู้อีก อันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ภาวะรู้แล้ว เป็นภาวะผู้รู้ ไปสร้างดวงจิตผู้รู้ขึ้นมาแล้ว ...เนี่ย มันมีแรงสร้างผู้รู้

เพราะนั้นมันก็มีว่า ถ้ามันเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ด้วยประสบการณ์น่ะ ...ไม่งั้นมันจะไปสร้างตัวผู้รู้ แล้วก็ยึดตัวผู้รู้ว่าเป็นใจ ชื่อมันก็คล้ายกันด้วย ผู้รู้กับใจรู้น่ะ

เพราะนั้นดวงจิต ดวงผู้รู้จริงๆ นี่ ยังไม่ใช่ใจ ...เพราะความเป็นจริงแล้ว ใจจริงๆ มันเป็นสภาวะรู้เฉยๆ ...แต่ตอนนี้ว่าพอรู้บ่อยๆ มันช้า มันกลัวว่ามันจะไม่ชัดเจน 

มันก็เลยจะไปทำให้มันชัดเจนขึ้นมา...ด้วยการเพ่ง เพ่งใจ เขาเรียกว่าเพ่งใน ...มันก็เกิดอาการสภาวะรู้โดดเด่นชัดขึ้นมาด้วยการกระทำอย่างนั้นน่ะ

เพราะนั้นก็ค่อยแยกแยะออกไปเอง ว่ามันไม่ใช่ ...ต้องคลายออก ให้เป็นกลาง ให้เป็นปกติ บอกแล้วศีลน่ะ ...ตัวปกติ จะเป็นตัวปรับสมดุล เป็นฐานปกติ

แล้วก็คลายออก รู้ใหม่ สร้างสติใหม่ เจริญสติขึ้นมา สติที่เป็นแบบ...มีอะไรเกิดขึ้นแล้วรู้ จนสภาวะใจมันแยกออกโดยชัดเจน เป็นสองอาการ แค่นั้นเอง

แต่ว่าแรกๆ จะกำหนดที่ฐานผู้รู้ก่อนก็ได้ ไม่ต้องกลัวหรอก มันไม่ติดหรอก ...เดี๋ยวมันก็คลาย เดี๋ยวมันก็เสื่อม แล้วจะรู้เองว่ามันก็เสื่อมไป

เพราะนั้นว่าในการเจริญสติ โดยกำหนดที่ตัวรู้ ใจรู้โดยตรงนี่มันอีกแบบหนึ่ง ...การกำหนดโดยรูปแบบการนั่งสมาธิภาวนานี่ แล้วจิตรวมแล้วเกิดภาวะรู้โดดเด่นขึ้นมันก็รวม ...นั่นคือลักษณะนั้น

แต่ส่วนมากเวลามันนั่งสมาธิกัน มันไม่เกิดภาวะรู้เลย มันจม มันหาย มันไม่ตื่น มันไม่ตื่นขึ้น ...มันแยกใจไม่ออก มันกลายเป็นเราเข้าไปเสวยความสงบซะ

มันไม่ถึงภาวะที่ใจรู้โดดเด่นขึ้นมา ส่วนมากมันเป็นฌานซะหมด ฌานออกไปอยู่กับสิ่งภายนอก ตัวบริกรรมนิมิตน่ะ

เพราะนั้นกำหนดลมหายใจเมื่อไหร่ ถ้ามีแต่ลม ไม่มีใจรู้นี่ ไม่รู้ลม ไม่มีตัวรู้ลม ลมนี่มันกลายเป็นจิตส่งออก เพราะลมก็กลายเป็นบริกรรมนิมิตไปเลย

จิตมันก็เวลานั่นไปรวมกับลม หายไปกับลม ที่มันละเอียดๆๆๆ ปุ๊บ เห็นมั้ย พอละเอียดปุ๊บ ลมหายปุ๊บ จิตหาย ใจหายไป นั่นฌานหมดน่ะ ก็ปฏิบัติโมหะสมาธิ

แต่คราวนี้ว่าบางทีบางครั้ง บางครั้งบางจังหวะที่มันรวมพั้บ แล้วมันตื่น ...คราวนี้มันจะแยกไม่ออก มันจะแยกภาวะอย่างนี้ไม่ออก...เอ๊ ทำไมคราวนี้ตื่น คราวนั้นมันหาย ใจหาย

ก็เลยทำอยู่ตรงนั้นน่ะ อยู่ตรงนั้นน่ะ ...มันแยกไม่ออก แยกใจออกจากสภาวะสมาธิไม่ออก แล้วก็มาเอาล่อเอาเถิดกันอยู่แค่นี้

แต่จริงๆ ถ้ามันสงบ หรือไม่สงบอะไรก็ตาม ถอนออกมาพิจารณากาย พิจารณาอะไรไป ...นี่พวกทำสมถะ พิจารณาโดยการน้อมสัญญาขึ้นมา

แยกขันธ์ แยกรูป แยกนามออก ความเป็นจริง...ความเป็นจริงหลักแหละเป็นเครื่องอยู่ ...แต่ให้กำหนดสติไว้ มันจะเกิดภาวะรู้ทุกครั้ง ทุกขณะ ทุกขณิกะที่รู้

แต่ส่วนมากมันก็มีปัญหาที่ว่าพอรู้แล้วมันรู้ไป รู้ไปตามอาการ รู้ไปกับสุข รู้ไปกับทุกข์ รู้ไปกับยินดี แล้วก็รู้แล้วไปยินร้าย ...รู้แล้วออกไป

ก็มาเรียนรู้การรู้อยู่ รู้อยู่ที่ใจ กลับมารู้ แต่ไม่ไปกับมัน ตั้งมั่นอยู่ภายใน เมื่อตั้งมั่นอยู่ภายใน ในไหนก็ไม่รู้ ที่ไหนก็ไม่รู้ ให้มันตั้งมั่นอยู่ภายในแล้ว

นี่เป็นตัวต้น ต้นตอ ต้นจิต ...ต้องกลับมา ทวนกลับมาอีก...ต้นจิต ก็ภายในนั่นแหละ...ตรงไหนไม่รู้ ภายใน ตรงไหนก็ได้ ตั้งมั่นอยู่ภายใน จากอาการ

เพราะนั้นเวลาทำอะไรอยู่ กลับมาตั้งมั่น ...เห็นมั้ย จะตั้งมั่นภายในก็ได้ ปกติอยู่ภายในนี่ เห็นอยู่ภายในนี่ ...มันเป็นตัวเดียวกันหมดแหละ จริงๆ แล้วน่ะ คือตัวใจ กลับมาอยู่ที่ฐานใจหมด

แต่ว่าจะเรียกชื่อยังไง ตั้งมั่น เพราะในความหมายของใจนี่ มันเป็นกลาง มันเป็นรวมกันทั้งศีลสมาธิปัญญาในที่เดียวกัน ...เพราะนั้นจะพูดว่าปกตินี่ พูดว่าตั้งมั่น พูดว่ารู้เห็นอยู่ภายในนี่

มันแล้วแต่ว่าจะเอาสมมุติบัญญัติไปหมายมั่นเป็นภาษานั่นน่ะ ...แต่จริงๆ คืออาการเดียวกัน มันไม่ได้แตกต่างกันเลย สงบตั้งมั่นเป็นกลางรู้เห็นอย่างเนี้ย

นั่นแหละคือเทียบเคียงให้ดูภาวะใจ ...แต่ว่าเบาๆ ไม่ต้องเกร็ง เครียด หน่วง เหนี่ยว รั้งอะไรมันมากมาย เพราะภาวะนี้มันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปทำขึ้น

ก็ต้องทำความชำนาญ ...มันจะจำสภาวะนั้นเอง เกิดอะไรปุ๊บมันก็กลับมารู้ที่ภาวะนี้ ...จนมันไม่ออกนอก หลุดออกจากภาวะนี้ หลุดไปก็รู้ทัน ผิดปกติมันก็รู้ทัน

กลับมารู้ กลับมาเป็นกลางๆ ตั้งมั่น มันก็อยู่ในนี้ ...มันจะได้มีกำลังขึ้น มีกำลังมากขึ้น ไม่หวั่นไหว ไม่ส่ายแส่ ไม่หา ไม่ออก...ไม่ใช่ไม่ออกด้วยการกดข่มไว้ แต่ไม่ออกด้วยปัญญาหรือเห็นออกไป

คือว่าเห็นแล้วออกไป มันเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ควบคุมบังคับมันไม่ได้ ...แต่มันจะอยู่ในตัวของมันด้วยปัญญา คือมันจะเห็นด้วยการว่า...อ้าว บังคับ

นั่น ก็ฝึกไปเรื่อยๆ ...สติตัวเดียวเท่านั้นน่ะพอ ทำให้ชำนาญ รู้จนชำนาญ มีอะไรก็รู้ไป รู้ไปก่อน แยกได้ แยกไม่ได้ก็รู้ไปก่อน ...รู้เปล่าๆ รู้เปล่าๆ


โยม –  นี่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะนี่ มันรู้สึกเลยว่าชีวิตมันไม่มีอะไรเลย

พระอาจารย์ –  มันก็อยู่ไปแบบไร้สาระ ไร้ประโยชน์ แต่มันคิดว่ามันได้ประโยชน์


โยม –  ผมไม่เห็นว่ามันได้อะไรเลย

พระอาจารย์ –  บางคนเขาไม่ได้เห็นอย่างนั้น ...เพราะมันมีจุดมุ่งหมาย คือเป้า มีเป้าหมาย...ต้องมีเงินเท่านี้ ต้องมีเมียอย่างนี้ มีลูกอย่างนี้ ต้องทำงานได้อย่างนั้น ต้องมีที่ ต้องมีบ้าน มีรถ ...นี่ มันมีเป้าหมาย

ทีนี้มันก็มีที่ไปที่มา แล้วก็ก้าวไปสู่จุดนั้น ...แต่ว่ากว่าจะทำถึง บางคนก็ถึง บางคนไม่ถึง  ส่วนมากคนที่ทำถึงท่านก็พอ ถ้ามีความอยากมันก็มีเป้าหมายต่อไป มันก็วิ่งไล่ล่าหาเป้า ทำความหมายมั่นในอนาคต 

แต่ถ้าเราไม่ตั้งเป้าไว้ ชีวิตมันก็จะไปอย่างนั้น ไปวันๆ ...แต่มันก็ไม่ได้สาระในลักษณะที่ว่าไม่กลับมาเรียนรู้ ไม่ได้เรียนรู้กระบวนการความเป็นไปที่มาที่ไปของชีวิต อยู่ตรงไหน ทำไมถึงต้องมาอยู่ตรงนี้ 

แล้วมันจะไปยังไง มันจบแค่ไหน อย่างไร ...เพราะนั้นมันก็กลับมาให้เห็นกระบวนการ จุดเริ่มต้นของการก่อเกิดของทั้งหลายทั้งปวง ว่ามันอยู่ที่ไหนกันแน่ 

นี่ถึงต้องน้อมกลับมาที่ใจ เพราะพระพุทธเจ้ายืนยันว่าใจน่ะเป็นมหาเหตุ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เกิดที่ใจ เป็นเหตุที่ละทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ...เพราะนั้นถ้าเจอใจเมื่อไหร่ จะเจอหมด

อริยสัจ ๔ ทั้งหมด รวมอยู่ที่ใจ เป็นที่เดียวกันหมด เป็นจุดเริ่มต้น ต่อเนื่องออกมาเป็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค...ก็อยู่ที่ใจ ไปจนต้น...ต้นธาตุต้นธรรม

ต้นธาตุคือต้นของสภาวะธาตุ ต้นธรรมก็คือต้นของสภาวธรรม ไม่ใช่ต้นธาตุต้นธรรมในลักษณะเป็นองค์อรหันต์ต้นหรืออะไรอย่างนั้น หรือพระพุทธเจ้าองค์ต้นอะไร

ต้นธาตุต้นธรรมจริงๆ คือใจ เป็นที่เริ่มต้นของสภาวะธาตุ เป็นที่เริ่มต้นของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...แล้วก็เป็นที่เรียนรู้กลับไปสภาวะธาตุกลับไปสภาวธรรม อยู่ที่อันเดียวกัน

กลับมาอยู่ที่ใจรู้ แม้จะเป็นใจรู้ที่กำหนดขึ้นก็ตาม อยู่กับมันไปก่อน เรียนรู้กับมันอยู่ตรงนี้  แล้วมันก็ค่อยๆ แยบคายขึ้นเอง ...ไม่ต้องกลัวติด ไม่ต้องกลัวข้อง

ไม่ต้องไปส่ายแส่หาออกนอกใจรู้ หรือผู้รู้ ...อย่างน้อยติดผู้รู้ก็ยังดีกว่าติดผู้หลงน่ะ ใช่มั้ย รู้กับหลงน่ะ จะเอาอันไหนล่ะ ถึงแม้ว่าเป็นผู้รู้ ติดผู้รู้ กลัวว่าจะติดผู้รู้

อย่าไปกลัว ...ถ้าให้กลัว กลัวติดหลงมากกว่า ติดอารมณ์ ติดอดีต ติดอนาคต ติดวัตถุ ติดสภาวธรรมต่างๆ นานา ...อย่าไปติดอย่างนั้น

ถ้าติดอย่างนั้นติดผู้รู้ซะดีกว่า ...เพราะยังมีโอกาสที่จะพลิกได้ ปรับให้มันเกิดความสมดุลเป็นกลาง ทำศีลสมาธิปัญญาให้เสมอกันในดวงจิตผู้รู้นั้น

เพราะไอ้ตัวจงใจ รักษา ประคอง...พวกนั้นเป็นสมาธิที่เกินไป มีการจงใจ มีการเจตนาเกินไป ...มันก็เรียนรู้อยู่ตรงนั้นน่ะ มันก็จะปรับให้เกิดความเป็นปกติธรรมดา กลางๆ มากขึ้นเอง

ตัวมันก็คือจุดทำลายความหมายมั่นในตัวผู้รู้ ภาวะใจก็ปรากฏอยู่ตรงนั้นชัดเจนขึ้นมา ...มันจะเกิดความแยกแยะออกมาว่าใจรู้กับผู้รู้...คนละอันกัน

เพราะนั้นอย่ากลัว  เมื่อมันจะไปดึงเข้า มีอาการจงใจทำอะไร...ทำไปก่อนเถอะ 

ดีกว่าไปติดวัตถุข้าวของ บุคคล อารมณ์ สุขทุกข์ อดีตอนาคต หรือว่าวิ่งหาสภาวธรรมนั้นสภาวธรรมนี้ที่ออกนอกไป ออกนอกรู้ ออกนอกดวงจิตผู้รู้ไป 

อย่างน้อยผู้รู้มันก็อยู่ที่ต้นของจิตหรือต้นของใจ ผู้รู้ก็เป็นต้นใจ ...อย่างน้อยก็มีความสงบระงับ ตั้งมั่น ในดวงจิตผู้รู้นี่

คราวนี้บางทีก็ไปกลัว บอกแล้ว พอไปเจอคำที่ว่า “เจอผู้รู้ให้ฆ่าผู้รู้” ก็เลยกลัวว่าจะเกิดภาวะผู้รู้ขึ้น ...นั่นเป็นขั้นตอนของมัน มันไม่ได้ว่าเดี๋ยวนี้จะต้องฆ่าอะไร

เพราะว่าเดี๋ยวก็เข้าใจความหมายสภาวะธรรมชาติรู้ หรือสภาวะรู้โดยที่ความเป็นกลางเอง ...นี่ มันก็ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด มันก็เข้าใจ แยบคายของมัน

ครูบาอาจารย์ก็มีเยอะแยะที่จะแนะนำ ชักจูง ปรับให้เกิดความเป็นกลาง เสมอกัน เป็นสมังคีกันได้ ...ถ้ามันเป็นกลาง สมังคีกัน ศีลสมาธิปัญญาเสมอกัน พั้บ มันก็ใจว่างๆ เบาๆ ของมันอยู่...ก็ดู แค่นั้นแหละ

มันก็เป็นมรรคสมังคีอยู่ที่ใจ อยู่ด้วยความเป็นสมังคีกัน สมดุล ศีลสมาธิปัญญาสมดุล เป็นกลาง ในที่อันเดียว มรรคจิตมรรคญาณ...มันก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดมรรคจิตมรรคญาณภายในผู้รู้ 

ระหว่างที่มันอยู่ในภาวะนี้ก็คอยเท่าทันอาการปรุงแต่งของขันธ์ ...คือมันเป็นฐานที่จะวิ่งแล่น โลดแล่นออกไป ไปหาสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง หรืออาการใดอาการหนึ่ง 

หรือเวทนาใดเวทนาหนึ่ง ที่มันคาดที่มันหวัง ว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ...ก็ต้องละ ละความปรุงแต่งโดยเจตนา ผู้รู้ที่เห็นไอ้ความปรุงแต่งนั้น คือเท่าทันไม่ไปตามมัน จิตมันก็จะมีที่สุด 

แต่มันก็มีบางอารมณ์ที่มันพิจารณาเพื่อให้มันแจ้ง ให้มันเร็ว ...นั่นเรื่องของสังขารปรุงแต่ง ถ้ารู้ทันก็ละไป


(ต่อแทร็ก 2/31  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น