วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/34 (3)


พระอาจารย์
2/34 (530925C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
25 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/34  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  คือไอ้บุญและบาปมันเป็นแค่ความเห็นน่ะ ...เพราะนั้นทั้งหลายทั้งปวง เมื่อถอนออกมาปุ๊บ มันจะเป็นแค่อาการ...ไม่มีของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของอาการ

แต่ตอนนี้แค่เดินเหยียบเงากันมันยังเครียดเลย (หัวเราะกัน) เข้าใจป่าว ...คือความหมายมั่นนะนั่นน่ะ เงาแท้ๆ ถ้าเดินเฉียดกันเมื่อไหร่ล่ะก็ทะเลาะกันแล้ว

เดินผ่านกันแค่ลมพัดได้กลิ่นน้ำหอมฉุนกึกขึ้นมานี่ เอาแล้ว หันไปมองใส่ด้วยสีหน้าที่ด่าทางสายตา ไปแล้ว ใช่มั้ย ...เห็นมั้ย นี่คือความหมายมั่นนะนั่น 

มันจะอะไรกันนักกันหนา ...เห็นมั้ย ดูใจสิๆ ใจที่มันมีความโง่เขลา หาเรื่องตลอด แน่ะ ...แล้วก็มาตายเกิดอยู่ในโลกนี้ ถ้าเรายังไม่ขวนขวาย ไม่ใส่ใจขึ้นมา

เพราะนั้นว่า หลักง่ายๆ คือสติตัวเดียว...พอแล้ว ...ใครว่าต้องพิจารณาอะไร นั่งสมาธิอะไร ต้องทำอะไรให้มากมาย มันก็เป็นองค์ประกอบเท่านั้นแหละ แต่ไม่ใช่หลักสำคัญอะไร

สำคัญคือต้องรู้...มีสติระลึกรู้ในทุกอิริยาบถ ในทุกกิจกรรม เหมือนลมหายใจเข้าออก ...อย่ามาอ้างว่าต้องนั่งสมาธิถึงจะได้สติ อย่ามาอ้างต้องนั่งสมาธิเดินจงกรมถึงจะได้ปัญญา

ทำอะไรก็ต้องให้มันได้ปัญญาสิ ...ขี้ก็ต้องได้ปัญญา กินก็ต้องได้ปัญญา เดินก็ต้องได้ปัญญา ...คือมันต้องมีสติให้ได้ในทุกกาลเวลาสถานที่ ต้องมีการระลึกได้...ไม่อ้างเลย

นั่น อย่างนั้นถึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรมอยู่ในสายเลือด อยู่ในชีวิต ...เพราะนั้นทั้งชีวิตจึงเป็นไปโดยธรรมและเพื่อธรรม


โยม –  ทุกลมหายใจเข้าออกเลยรึเปล่าเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เราพูดน่ะคำเปรียบเปรยแค่นั้นเอง ...ตอนนี้อย่าไปตั้งมั่นขนาดนั้นนะ อย่าไปยึด ...เราพูดเป็นคำอุปมาอุปมัยว่า...มันต้องตลอดเวลา ให้ความสำคัญขนาดนั้น


โยม –  แปลว่าเราเป็นมนุษย์ธรรมดา ก็ให้เรารู้ตัวเองตลอดหรือคะ

พระอาจารย์ –  อือฮึ ให้รู้อาการ ...มนุษย์หรือคนนี่ จริงๆ มันไม่ใช่คนหรอก มันเป็นแค่รูปกายแล้วก็รู้...คู่กันอย่างนี้ ...ให้รู้อย่างนี้


โยม –  ให้รู้ตัวตลอดเวลา

พระอาจารย์ –  ให้รู้...ยืนเดินนั่งนอน แล้วมันจะเห็นเป็นรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ...ไม่ใช่ว่าเราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน

ถ้ารู้อยู่นี่มันจะเป็นรูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน  เป็นแค่กายเดิน กายนั่ง กายนอน ...ไม่ใช่กายเราเดิน กายเรานั่ง กายเรานอน ...ถ้ากายเราเดิน กายเรานั่ง กายเรานอน แปลว่าขณะนั้นไม่มีอาการรู้อยู่


โยม –  อ๋อ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นถ้าเรารู้ปุ๊บนี่ มันจะเป็นแค่กายเดิน กายนั่ง กายนอน กายยืน ...ไม่มี “กายเรา”


โยม –  มันซ้อนอยู่

พระอาจารย์ –  อือ เห็นอีแอบมั้ย


โยม –  เห็นค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ เหมือนกับมีอีกวิญญาณนึง มีผีสิงอยู่ในร่างนี้ นั่นแหละคือใจ ...ให้มันเห็นอย่างนั้นน่ะ สติมันจะเห็นอย่างนั้น ...ถ้ามันเห็นอย่างนั้นปุ๊บนี่ กายนี่ไม่ใช่เราแล้ว กายเป็นกาย กายสักแต่ว่ากาย


โยม –  แล้วจะพิจารณารู้อีกทีมั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องพิจารณาอะไร รู้แค่นี้


โยม –  ให้รู้

พระอาจารย์ –  แค่เนี้ย ให้เห็นแค่นี้ พอแล้ว นี่คือเป้าหมายของสติ คือให้มันเห็นอย่างนี้ แยกอาการใจออกจากอาการของกาย หรืออาการของนาม คือความรู้สึก อารมณ์ ความคิด แค่นั้นเอง

สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ...สุข-ทุกข์นี่เห็นมั้ย มันจับต้องไม่ได้  นี่เรียกว่านาม เป็นอาการทางใจ...แล้วก็รู้ ...พอรู้ปุ๊บนี่ สุข-ทุกข์ไม่ใช่เราแล้ว กลายเป็นแค่อาการที่ถูกรู้

แค่นี้ มันถอดถอนความเป็นเราอยู่แล้ว ...ไม่ต้องคิดว่า “เรา” อยู่ตรงไหน จะได้เห็นแล้วก็ละออก...ไม่ใช่ ...รู้บ่อยๆ  มันจะถอนสักกายออก ถอนความหมายมั่นในกายไปทีละเล็กทีละน้อย

ถอนมากก็เหมือนกับคลายหัวน็อตออกน่ะ ...ถ้าไม่ถอนเมื่อไหร่ก็เหมือนกับตอกโป้งๆๆๆ ...คือถ้าไม่รู้น่ะๆ  ถ้าไม่มีสติก็คือขณะนั้นน่ะเรากำลังโป้งๆๆ ตอกย้ำมันลงไปในความเป็นเรา

แต่พอรู้ทีมันก็ถอนทีๆ ...รู้บ่อยๆ มันก็ถอนอยู่ตลอด เข้าใจมั้ย มันคลายออก ...แต่ถ้าหลงหายเผลอเพลินเมื่อไหร่ ไม่มีใจ ออกจากกาย ออกจากนาม ...มันก็คือตอกลูกเดียว

นั่น โป้งๆๆๆ ฝังลงไป ยิ่งแน่นเลย...ความหมายมั่นในกายของเรา ใจของเรา ก็จะหมายมั่นลงไปลึกเข้าไปๆ ...เพราะนั้นเราตอกอย่างเดียวนี่มากี่ชาติแล้วล่ะ

เพราะนั้นเวลาจะถอนออก มันไม่ใช่ว่าถอนทีเดียวออก บอกให้เลย ...จะเอาง่าย จะเอาลัด จะเอาตรง ครูบาอาจารย์ก็บอกว่า กูบอกตรงที่สุดแล้วนะเนี่ย กูไม่เห็นว่ามันจะตรงกว่านี้ตรงไหน

มันก็ว่า “จะเอาตรงนี้กว่านี้ จารย์  ตรงกว่านี้ๆ อีก” ...นั่น ต่อให้พระพุทธเจ้ามานั่งสอน มันก็ยังบอก “พระพุทธเจ้าครับ ขอเอาตรงกว่านี้ได้ไหม” …เห็นมั้ย กิเลสมนุษย์น่ะ มันไม่รู้จักพอ

มันขี้เกียจ มันจะเอาแบบเดี๋ยวนี้...แหม เอาแบบท่านโกณฑัญญะเลย ฟังปฐมเทศนา เอาตรงนั้นเลย “ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง...สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา”

โอ้โห กะจะเอาแบบเล็งผลเลิศ แล้วก็มาโทษ “อาจารย์ ...มันยังไม่ตรงๆ เอาให้ตรงกว่านี้  อาจารย์ดูจิตเลย อาจารย์ดูสิ ผิดมั้ยๆ” ...มันจะให้แก้ตรงนั้น ...แก้เข้าไปเหอะ มันก็ไม่ตรง เข้าใจมั้ย มันขี้เกียจน่ะ

มันต้องอาศัยความขยัน...ขยันรู้ ขยันถอน ขยันถอนออก ...ถอนออกยังไง คือถอนใจออกมาจากกาย แค่นี้แหละ...ด้วยสติ รู้ๆๆ มันถอนแล้ว อย่างเนี้ย มันอยู่ที่นี่คือการถอดถอน

เริ่มต้นน่ะ ถอนจากกายก่อน แล้วก็ถอนจากอารมณ์ ...แม้แต่เรารู้แล้วยังมีความรู้สึกว่า ใจเรา ตัวเรา มีตัวเรารู้อยู่ เข้าใจมั้ย...ช่างมัน เพราะเรายังละความหมายว่าใจเราไม่ได้

มันก็เหมือนกับมีเราอีกตัวที่เห็นอยู่ ...เออ ไม่เป็นไร  แล้วต่อไปมันจะเห็นเอง...อ๋อ ไอ้ที่ว่าใจเราๆ เรารู้ ...ไอ้เรารู้ๆๆ เรารู้อยู่นี่ มันเป็นแค่รู้เฉยๆ เข้าใจรึเปล่า ...เนี่ย มันก็จะไปละความเห็นหมายมั่นในใจเรา

แต่แรกๆ รู้ เออ มันมีใจเรารู้กับกาย...ไม่เป็นไร นั่นแหละถือว่าเป็นใจอยู่แล้ว ...แล้วต่อไปมันก็จะเห็นว่าไอ้ที่ใจเรา ใจเรารู้ๆๆ มันไม่ใช่แล้ว มันเป็นแค่ใจรู้ ...มันก็คลายออกว่าใจก็ไม่ได้เป็นเรา

แต่ว่ามันจะวางกายก่อน ถอยก่อนเบื้องต้น ...เพราะนั้น ดูจิตๆๆ พอเริ่มมาปั๊บ กูดูจิตลูกเดียว กูไม่ดูกายเลย ...นั่น ไปกันคนละเรื่อง หลงอย่างเดียวเลย หลุดๆๆ หลุดไปเรื่อย

นอกจากบางคนที่มีปัญญาจริงๆ ...คือเขาสะสมมา พวกนี้เขาสะสมมา มีฐาน ...สะสมมาหลายชาติ นะ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานมาก่อน พอพูดถึงดูจิตปั๊บ...แยกออกเลย อาการและรู้

แล้วก็แยกออกได้ชัดเจน ตั้งมั่นได้เลย อย่างนั้น ...เพราะนั้นเขาจะเห็นอาการของใจกับอาการของกาย เหมือนกัน แล้วก็เป็นปกติกับอาการนั้นได้

แต่ถ้าเริ่มต้นแล้วเราไม่ได้สะสมปัญญา ภูมิปัญญามาก่อน หรือว่าเคยเจริญสติมา สะสมมาแต่ชาติก่อนๆ มาแล้วนี่ ...พอเริ่มมาศรัทธาในการดูจิต แล้วเริ่มดูจิตเลยปึ้บ...ฐานยังไม่มั่นคง

ดูปุ๊บเดี๋ยวไหล ดูปั๊บเดี๋ยวก็ไหล ...ดูความคิดเดี๋ยวไหลตามความคิด ดูอารมณ์เดี๋ยวไหลตามอารมณ์ ...แล้วแยกไม่ออก มั่วไปหมด จะเริ่มมั่วแล้ว อย่างนั้นน่ะ

แล้วก็ต้องไปถอยออกไปตั้งหลัก...ที่ไหนก็ไม่รู้ ไปที่สงบๆ พอให้ใจมันคลายออกแล้วค่อยมารู้ชัดขึ้นมาอีกทีหนึ่ง อย่างนี้แล้วก็ยังทู่ซี้จะดูจิตต่อ...ด้วยความศรัทธา

ถ้าอย่างนี้ บอกแล้ว...เอาง่ายๆ รู้กายก่อน กายมันชัด นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ รู้เข้าไป ...ตั้งฐานของใจให้มั่นคงกับกายก่อน แยกถอนออกจากกายก่อน แยกรู้ออกจากกายก่อน แยกใจออกจากกายก่อน

แล้วมันจะค่อยๆ มั่นคงขึ้นๆ  ต่อไปเวลามีอาการหรืออารมณ์ปรากฏปุ๊บ มันก็จะเห็นชัดว่าคนละส่วนกันยังไง ...แล้วมันจะเหมือนกับ มันจะมีเส้นขนานตีคู่กัน ไม่ให้เข้าไปกับอาการ

แล้วมันจึงจะเห็นอาการนั้นดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่  ดับไป หรือว่าเสื่อมสลายไป หรือว่าแปรปรวน ...นี่ มันจึงจะเริ่มเห็นไตรลักษณ์ของอาการมากขึ้นๆ

แล้วก็ยอมรับความเป็นจริงของไตรลักษณ์มากขึ้น อย่างนี้ มันก็จะค่อยๆ คลายออกจากอาการ ห่างออกเรื่อยๆ ถอยกลับมาอยู่ที่ฐานของใจให้มั่นคงมากขึ้น

จนมันวางโดยสิ้นเชิงน่ะ วางอาการทางกาย วางอารมณ์ทางผัสสะทั้งหก อารมณ์นี่มันจะเกิดจากผัสสะห้า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วมันจะเหลือกลับมารู้ที่ใจ

เพราะนั้นเวลากลับมารู้ที่ใจนี่ เราจะเหลือแค่สัญญาอารมณ์ อดีตอนาคตเป็นรูปารมณ์ เป็นรูปละเอียด เป็นภพละเอียด เป็นภพอดีตภพอนาคต อีกทีหนึ่ง

เพราะนั้นว่าถ้าอยู่ในใจ ส่วนใจแล้ว มันจะไม่ข้องแวะกับผัสสะหยาบ ...ใครว่าอะไร ใครพูดอะไร ใครเดินไปเดินมา ใครทำไม่ถูกหูถูกตานี่ ฮื้อ เด่ะๆ ...ไม่มีสาระแล้ว

มันจะมาสนใจสัญญาอารมณ์อดีตอนาคต ความขุ่น ความมัว ความหมอง ความเศร้า ความจริง ความอยากนั้นอยากนี้ ไม่อยากนั้นไม่อยากนี้ ...มันจะชัดเจนตรงนั้นแหละ

แล้วก็ค่อยๆ คลี่คลายทีละเล็กทีละน้อย เพราะการรู้แต่ละครั้งๆ นี่ มันคือการละออก คลายออก ...แต่ต้องรู้กลางๆ นะ ไม่ใช่รู้แบบเจาะจง หรือว่ารู้แบบจะเอาๆ ...คือการรู้ รู้เบาๆ ไปเรื่อยๆ  

แล้วมันจะละๆๆ คลายออกไป ...ให้สังเกตดู เวลาเราคลายออก เราละออกนี่ ไม่รู้เลยว่ามันละออกตอนไหน ไม่รู้เลยว่ามันเปลี่ยนไปได้ยังไง ...นี่ หาช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนไม่ได้เลย 

มันไม่ใช่ว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังตีนให้เห็นจะๆ หรอก ...มันจะค่อยๆ คลี่คลาย ทีละเล็กทีละน้อย  พอมาสังเกตดู...เอ๊ะ มันไม่เหมือนเดิมแล้ว มันห่างไปตั้งเยอะ

แต่ก่อนมันไม่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรารู้สึกไม่เห็นมันตื่นเต้นกับอะไร ไม่ค่อยไปดีใจเสียใจกับอะไรสักเท่าไหร่เลย ...อือ มันเปลี่ยนไป มันจะค่อยๆ มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น

แต่ว่าในขณะที่มันเปลี่ยนไปยังไง หรือมันคลายออก มันวางออกนี่ ...มันแทบไม่เห็นโดยชัดเจนเลย 

แล้วมันค่อยมาประมวลไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...เสร็จแล้วมันก็จะเริ่มแนบแน่นอยู่ที่ใจ สติน่ะ แนบแน่นอยู่ที่ใจที่เดียว ภายในล้วนๆ ถอยกลับมารู้ภายในล้วนๆ

พอถึงจุดนั้นแล้ว มันจะมีเหตุปัจจัยภายนอกมาสงเคราะห์ให้เกิดกายวิเวก จิตวิเวกขึ้นมาจริงๆ ...เพราะมันยากนักที่จะไปนั่งสำเร็จในเซ็นเตอร์สแควร์ หรือในพารากอนน่ะ (หัวเราะกัน)

มันจะมีเหตุปัจจัยที่จะต้องให้ไปอยู่ในที่สงัด แล้วก็พาให้ออกมาอยู่ในกายวิเวก จิตวิเวก อีกทีหนึ่ง...อย่างนั้น ถึงจะเป็นการชำระโดยเบ็ดเสร็จ


(ต่อแทร็ก 2/34  ช่วง 4)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น