วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/34 (1)


พระอาจารย์
2/34 (530925C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
25 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  4  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  นี่เพิ่งมาใหม่


โยม –  โยมเคยเข้าไปปฏิบัติที่สวนสันติธรรม

พระอาจารย์ –  ลูกศิษย์อาจารย์ปราโมทย์  ...ฝึกมากี่ปีแล้ว


โยม –  สองปี

พระอาจารย์ –  สองปียังหลงอยู่


โยม – (หัวเราะกัน) หลงทั้งวันครับ

พระอาจารย์ –  อย่ากลัว ...หลงก็รู้ หลงก็กลายเป็นอาการ ...เราก็ถือเอาความหลงน่ะเป็นวิหารธรรม เข้าใจป่าว ก็เป็นเครื่องรู้ไป หลงอีกก็รู้อีกๆ หลงก็รู้

เพราะนั้นหลงก็กลายเป็นเหมือนลมหายใจเข้าออก เข้าใจมั้ย สมาธิ...บางคนเขาเอาลมหายใจเป็นบริกรรมนิมิต เอาพุทโธเป็นบริกรรมนิมิต เราเอาความหลงเป็นบริกรรมนิมิต

หลงอีกรู้อีกๆๆ เข้าใจมั้ย หลงก็กลายเป็นแค่อาการหนึ่งแค่นั้นเอง ...แล้วก็รู้ๆๆ รู้เข้าไป จนตั้งมั่นอยู่กับรู้น่ะ อะไรก็ได้...แล้วก็รู้...แล้วก็อยู่กับรู้

เพราะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง...มันเป็นแค่อาการที่เป็นเครื่องสะท้อนกลับมาที่ใจรู้...จำไว้เลย ไม่ต้องกลัว ...เพราะนั้นไอ้สิ่งที่ถูกรู้นี่ จะอะไรก็ได้ ไม่มีความหมายหรอก

ไม่ใช่จะต้อง โอ้โห ยิ่งใหญ่มโหฬารในสภาพธรรม ...เห็นเขามาส่งการบ้านที ฟังทีปวดหัวเลย (หัวเราะกัน) มันอะไรจะเก่งปานนั้น เนี่ย ก็ฟังเขามาเล่ากัน ใช่มั้ย

จริงๆ น่ะ ไม่ต้องไปใส่ใจกับอาการจนมากมายเกินไป ...อาการทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นแค่กระจก เพื่อสะท้อนกลับมาสู่ใจรู้เท่านั้นเองนะ

แต่ส่วนมากเรามักจะเพ่งออกไปน่ะ ไปใส่ใจกับอาการ ไปค้นหาความจริงกับอาการ ...ไม่ต้องไปหามันหรอก อาการคืออาการ ...แล้ว "อาการ" นี่...ความจริงมันคืออะไร  คือ...เดี๋ยวมันก็ดับ

นั่นแหละความจริงของอาการทุกอาการ...เดี๋ยวมันก็ดับ ไม่มีอะไร ...สุดท้ายจะไปรู้ทำไม จะไปหาความรู้อะไรกับมัน

เนี่ย ที่ต้องการให้กลับมารู้ที่รู้...ที่ใจ อยู่ที่ใจมากๆ อยู่ที่ใจ...สติเป็นเครื่องมือเพื่อให้กลับสู่ใจแค่นั้นเอง ...สติปัฏฐาน ๔ คืออุบาย 

จริงๆ แล้วน่ะ...กาย เวทนา จิต ธรรม...เป็นอุบาย เหมือนกับเป็นกำแพงกระจกน่ะ ...สติไปตั้งปุ๊บก็เกิดการระลึกรู้ขึ้น


โยม –  แล้วตีกลับ

พระอาจารย์ –  ตีกลับมาอยู่ที่รู้ เข้าใจมั้ย พออยู่ที่รู้ปุ๊บ มันจะทิ้งสติปัฏฐานเลย...ทิ้งเลย กายเวทนาจิตธรรมเป็นสักแต่ว่า ...ไม่เกี่ยว ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร

มันเป็นแค่อาการ ทั้งหมดเลย สติปัฏฐาน ...เนี่ย จะมองเห็น...คือขันธ์นี่คืออาการ ...เหลือแต่ใจ แล้วค่อยมาดูอาการในใจอีกทีหนึ่ง

ขยับ เลื่อน ไหว กระเพื่อม กระเทือน กระแทก ส่าย  อย่างเนี้ย พวกเนี้ยเป็นอาการ ...สว่าง ว่าง เบา ผ่องใส ตื่น พวกนี้ก็เป็นอาการ

ตื่นยังเป็นอาการเลย เนี่ย...ใครตื่นล่ะ มันยังมีอีกน่ะ ...ถอยออกมาอีก รู้จักแหงะหลังดู โอปนยิโกกลับเข้ามาอีก มันยังมีใจซ้อนอยู่อีก นี่ รู้โดยเป็นอาการทันที

เพราะถ้า “ตื่น” มันเป็นจริง มันจะต้องตื่นตลอดเวลาสิ ทำไมมันยังดับล่ะ ...พอดับแล้วเราไม่เข้าใจ "เอ้า แย่อีกแล้วๆๆ ต้องทำให้ตื่นอีก"...เนี่ย หลงในอาการแล้ว

รู้อย่างเดียว บอกแล้ว ถอนออกมา ถอนใจออกจากอาการทั้งหลายทั้งปวง...ไม่สน ตื่นก็ช่าง หลับก็ช่าง...รู้ นี่ หลับกับตื่นเท่ากัน ใจต่างหากที่ตื่น เข้าใจป่าว

ไม่ใช่ตื่นเต้น ตื่นแบบลิงโลด...ไม่ใช่ ...ใจตื่นคือใจรู้นั่นแหละ ...นั่นแหละคือจิตตื่น ใจตื่น ใจพุทโธ ใจพุทโธจริงๆ คือ ใจรู้...รู้ใจ ...ใจรู้แล้วก็รู้ที่ใจ ไม่ได้รู้ที่อื่นเลย นะ

แต่ส่วนมากเวลาพวกเราฝึกแล้วมันจะไหล...ไปอยู่ ไปคลอเคลีย ไปคลุกเคล้ากับอาการ ไปหาความเป็นจริง แล้วก็พยายามไปพิจารณาอาการ

เพราะนั้นพอเริ่ม...อย่างนี้เขาเรียกว่า “เมา” ...เข้าใจคำว่า “เมา” มั้ย (หัวเราะกัน) ...เออ เมากับอาการ แล้วมันจะเริ่มเบลอ เริ่มมืด เริ่มหลงน่ะ เริ่มจับอะไรไม่ถูกแล้ว เริ่มซึม...หายไปกับอาการ

ตั้งสติได้ ระลึกรู้...แยกออกเลย มันเป็นอาการ...แล้วก็รู้ ตั้งมั่นอยู่ที่รู้ๆ  ไม่ตั้งมั่นที่อาการ ...ไม่สนอ่ะ รู้จะอยู่ตรงไหนก็ได้ อยู่ที่รู้นั่นแหละ ...มันจะอยู่ตรงไหนก็ไม่ว่า ไม่ต้องไปหาว่ามันรู้ตรงไหน

ตัวรู้อยู่ตรงไหนไม่ต้องหา รู้ตรงนั้นแหละ ตรงที่รู้น่ะ แค่นั้นเอง ...บ่อยๆ ต้องอาศัยความต่อเนื่อง สติต้องต่อเนื่อง มันถึงจะแยกตัวรู้ออกได้เด่นชัด แยกใจออกจากอาการได้เด่นชัดขึ้น

บ่อยๆ ...แต่ว่าอย่าเคร่งเครียดนะ บ่อยในที่นี้คือบ่อยแบบสบายๆ ง่ายๆ นะ ...ซึ่งมันจะก้ำกึ่งกันระหว่างเผลอกับหลงน่ะ...รู้ง่ายๆ รู้เบาๆ อย่างนี้

แต่พอรู้จริงๆ แล้ว พอกลับมาอยู่ที่รู้จริงๆ แล้ว ...มันจะอยู่ในอาการที่เรียกว่า...รู้เหมือนไม่รู้ ไม่รู้ก็เหมือนรู้ ...งงอีก (หัวเราะกัน) เพราะมันหาตัวรู้ไม่เจอ

จะว่ารู้มันก็รู้ จะว่าไม่รู้มันก็ไม่รู้ มัน...เอ๊ ยังไงวะ หาไม่เจอ มันกลายเป็นเริ่มกลมกลืนกันไปหมด ...เริ่มไม่มีอะไร จนไม่มีอะไร รู้เหมือนไม่รู้ ไม่รู้มันก็เหมือนรู้

นั่นเพราะว่าสติสัมปชัญญะมันจะเริ่มไปรวมกันกับใจ...เป็นตัวใจของมันโดยธรรมชาติแล้ว ...มันแยกไม่ออก มันไม่แยกอะไรแล้ว

เพราะนั้นใจเย็นๆ ต้องใจเย็น อย่าใจร้อน...ใจร้อนเพราะว่าจิตมันพุ่งเป้าไปข้างหน้า ...ฟังมาก ฟังสภาวธรรมมามาก ฟังสภาวธรรมคนอื่นมามาก บางทีมันไปตั้งเป้าไว้

อย่าไปตั้งเป้าอะไร รู้ง่ายๆ รู้เบาๆ ตรงนี้ ...ความรู้มันจะค่อยเริ่มสะสมพลังความตั้งมั่น...ตัวรู้จะปรากฏของมันเอง แล้วมันจะแยกออกจากทุกอาการเลย

เหมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ต่อให้เขย่าขนาดไหน...วางไว้น่ะ เป็นกลางๆ ...มีเรื่องมีราว ไม่รู้อะไร เลื่อนลอย วางไว้ปุ๊บ แยกออกหมดเลย ...มันแยกของมันเอง

เนี่ย เขาเรียกว่ามันเริ่มไม่เป็นธรรมชาติเดียวกันแล้ว ...มันเริ่มคลายออก คลายออกจากความหลง คลายออกจากความผูกในความหมายของอุปาทาน 

ไม่คืนเดิม...เหมือนเนยกับนม เนยนี่ทำมาจากนม แต่เอาเนยไปทำเป็นนมอีกไม่ได้ ไม่มีทาง ....ถ้านมกลายเป็นเนยแล้วไม่มีทางกลับเป็นนม

เหมือนกัน...ใจที่คัดกรองออกแล้ว คลายออกแล้ว จางแล้ว ...จะไม่มีคำว่าหวนคืน เขาเรียกว่ามันเข้าสู่ความเป็นอนาลโย จะไม่หวนกลับ ...เหมือนน้ำลายที่บ้วนทิ้ง จะไม่เลียคืน

แต่ใหม่ๆ ยังเลียคืนนะ ยังเสียดาย ...อยากได้ อยากดี อยากเป็นอยู่ อยากได้ธรรมอยู่ อยากได้สภาวะอยู่ จนเห็นว่ามันก็แค่นั้นน่ะ...ก็แค่ขยะ ก็แค่กาก ก็แค่ซาก

ความเห็นก็เป็นแค่ซากหนึ่ง ความคิดก็เป็นแค่ซากหนึ่ง อดีตก็เป็นซาก อนาคตก็เป็นแค่ซาก ...มันไม่มีอะไร ไม่มีชีวิตจิตใจ มันเป็นก้อนหินก้อนดินธรรมดา

มันไม่ได้เป็นเพชร ไม่ได้เป็นพลอย ไม่ได้เป็นอะไรที่มีค่าอะไรเลยแต่พวกเรามอง...ก็จะให้ค่าว่าอันนี้เป็นเพชรนะ อันนี้เป็นพลอย อันนี้เป็นแก้วแหวนเงินทอง

จนกว่าเราจะเห็นมันเป็นแค่ก้อนหินก้อนดิน ถึงเรียกว่าธรรมดา เหมือนกันหมด ...นั่นแหละมันถึงจะถอนออกจากความหมายมั่น ทีละเล็กทีละน้อย

เคยทำตังค์ตกมั้ย ดูใจสิ (โยมหัวเราะกันว่า..วิ่งไปเก็บเลย) เห็นใจมันวิ่งไปตามเงินที่ตก ใช่มั้ย ...ทั้งๆ ที่ว่ามันเป็นกระดาษแผ่นเดียว ...นั่นน่ะที่ว่าความหมายมั่น

ใจที่มันแวบไปคว้า เห็นมั้ย มันไปคว้า ...แล้วมันก็ส่งออกมาถึงอาการของกาย ของความรู้สึก เวทนาเกิดขึ้นแล้ว เนี่ย ...แค่ความหลงไปในอาการแค่นั้นเอง

ถ้ากระดาษเปล่าตกนี่...เฉยเลย (หัวเราะกัน) ...สังเกตดูสิ ความหมายมั่น ...นั่น จนกว่ามันจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา นั่นแหละ จิตมันจะคลายออก จะเป็นปกติ จะกลับคืนสู่ความเป็นปกติธรรมดา

เพราะนั้นว่า ผลของการปฏิบัติธรรมแล้ว กลับมาสู่ความไม่มี ไม่เป็น และไม่ได้อะไร ...เป็นธรรมดา ทุกอย่างมองเป็นเรื่องธรรมดา ...จิตก็รู้ธรรมดา ใจก็ใจรู้ธรรมดานี่แหละ 

ไม่ใช่ใจที่โอ้ย สว่างไสวโดดเด่นอะไรหรอก ...ไม่มีอะไร  ไม่มีที่หมาย ที่มั่น ที่ตั้งเลย ไม่มีประมาณอย่างเดียวเลย คือมันอยู่ที่ไหนก็ได้น่ะ รู้ได้หมด

เออ ไม่รู้อยู่ตรงไหนด้วย ...แต่มันรู้ไปหมด ตรงไหนก็รู้ ไปรู้นอกก็ได้ ไม่มีนอกไม่มีใน มันรู้อย่างเดียว ...นั่นแหละเขาเรียกว่ารู้ไม่มีประมาณ เป็นอัปปมาโน

อัปปมาโนพุทโธ อัปปมาโนธัมโม อัปปมาโนสังโฆ ...ใจมันจะเปิดออกทั่วอนันตาจักรวาลเลย รู้ได้หมด ไม่มีที่ให้มันอยู่หรอก 

ใจน่ะ ธรรมชาติของใจที่แท้จริง เป็นหนึ่งเดียวกัน ธรรมชาติ แต่เวลาดับแล้วมันดับไปเลย หายไปเลยจากโลกนี้ จากโลกธรรม


แต่ตอนนี้ทำใจรู้ให้ปรากฏ...ด้วยสติก่อน ...ถ้ายังจับหลักใจไม่ได้ ยังไม่เจอใจ ไม่ต้องพูดถึงปัญญา ไม่ต้องพูดถึงการดับภพดับชาติ ไม่ต้องพูดถึงการเลิกละเพิกถอนกิเลส

เพราะมันยังไม่รู้เลยว่า...ไอ้ที่ตั้งของกิเลสจริงๆ มันอยู่ที่ไหนน่ะ ...นั่น แล้วจะไปละตรงไหนล่ะ ใช่มั้ย

เย ธัมมา เหตุปัพภวา เหตุปัจจโย ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดที่เหตุ พระพุทธเจ้าตถาคตสอนให้เห็นถึงธรรมที่เข้าไปสู่ความดับที่เหตุนั้น

เพราะนั้น...ถ้ายังหาเหตุไม่เจอน่ะ ไม่ต้องพูดถึงว่าความดับไปที่เหตุนั้นเลย

เพราะเราก็ยังคงมองว่าความคิดเป็นเหตุ คนเดินไปเดินมาเป็นเหตุ เสียง กลิ่น รส ความเห็นอันนั้นอันนี้เป็นเหตุ แล้วไปแก้ที่เหตุนั้น ...เสียเวลา ตายเปล่า เสียเวลาเกิด

เพราะนั้นสติเป็นเครื่องมือ...เพื่อระลึกให้เห็นเหตุที่แท้จริง...คือใจ และให้แก้ตรงนั้น อยู่ตรงนั้น

เพราะนั้นไม่ใช่ว่าสติเลื่อนลอย สติรู้แล้วก็ไหลไปเรื่อย รู้ไปเรื่อย ตามรู้ไปเรื่อย รู้ออกไป รู้ตามมัน รู้มันไปดูมันไป รู้ออกไปตลอด ...นั่น ยิ่งเหนื่อย ยิ่งอ่อนแรง

แต่ถ้ารู้แล้วรู้...รู้แล้วรู้ เราพูดบ่อย "ใจรู้...รู้ใจ" เข้าใจมั้ย สติ...ใจรู้ ระลึกรู้...รู้ใจ นะ ...ใจออกไปรับรู้...แล้วรู้ใจ อยู่อย่างนี้  ใจรู้...รู้ใจๆ อยู่อย่างนี้ 

นี่ จึงจะเห็นสภาวะใจ หรือธรรมชาติของใจ หรือธรรมชาติของรู้ ....ตรงนั้นน่ะคือเหตุ 

พวกนี้ไม่ใช่เหตุ...อารมณ์ไม่ใช่เหตุ สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่เหตุ สิ่งที่เราได้ยินไม่ใช่เหตุ ความรู้สึกไม่ใช่เหตุ ...แต่เป็นฐาน ที่เรียกว่าสติปัฏฐาน เป็นที่ตั้งของสติเพื่อให้กลับมาเห็นเหตุ

ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อน ต้องปรับทิฏฐิให้ตรงก่อน...เบื้องต้น ...จะฟังครูบาอาจารย์มากี่ปีไม่รู้ ถ้าฟังแล้วยังไหลออก ดูออกไปหาสภาวะนั้นสภาวะนี้ ให้เกิดสภาวะนี้ ...เนี่ย ฟังมาสิบปีก็ยังเท่าเก่าน่ะ

ต้องเข้าใจก่อน ว่าสติเพื่ออะไร ดูเพื่ออะไร ...แล้วก็กลับมาสงบระงับ ตั้งมั่น เป็นกลาง อยู่ภายใน ...เข้าใจมั้ย ปกติ ตั้งมั่น เป็นกลางอยู่ภายใน...ภายในรู้นี่ รู้ปกติ รู้ตั้งมั่น รู้เป็นกลาง

เนี่ย ศีลสมาธิปัญญาจึงจะรวมกันในที่เดียว ...ปกติ ตั้งมั่น เป็นกลาง เนี่ยคือศีลสมาธิปัญญา...อยู่ที่ใจ

เมื่อนั้นแหละจึงจะเกิดมรรคจิต เมื่อนั้นแหละจึงจะเกิดมรรคญาณ เมื่อนั้นแหละจึงจะเกิดเป็นมรรคสมังคีขึ้นมา


(ต่อแทร็ก 2/34  ช่วง 1)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น