วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/31 (2)


พระอาจารย์
2/31 (530922)
22 กันยายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/31  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  นี่พูดถึงบางคน...ก็บอกแล้ว ความรู้พิเศษที่มันมากเกินไป ติดข้องได้เยอะ หลงตัวเองได้เยอะ แล้วมันจะมองคนอื่นในอีกระดับมากเกินไป ...มันก็ต้องวาง ถ้าจะไปถึงโลกุตตรภูมิจริงๆ

มันเข้าไปหมายมั่นหมดในความรู้ความเห็นอันนั้น ...มันก็รู้เอง เออเองน่ะ ใช่ป่าว  มันก็การันตีตัวเองอยู่ตลอด รู้เองเออเอง นั่น จริงรึเปล่า มีใครมาพิสูจน์ทราบได้ล่ะ

แล้วยิ่งไปพูดแล้วคนฟังเขาว่าใช่ๆๆ เห็นมั้ย จิตมันเข้าไปจับเลย เกิดความหมายมั่นในตัวเราเป็นความรู้ของเรามันถูก มันก็สะสมใช้ไปพร่ำเพรื่อ

มันก็เกิดอาการยึดมั่นถือมั่นไปในตัวทุกครั้งที่ใช้ในความรู้นั้น ...ทำไมครูบาอาจารย์ท่านถึงไม่พูด ไม่ออกความเห็น รู้ก็รู้แต่ท่านไม่พูด

ท่านก็รู้แล้วก็วาง ปล่อย ...ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่พูด ไร้สาระ รู้ไปทำไมอย่างนี้ ...แต่จริงๆ ท่านอาจจะรู้ แต่ท่านไม่พูด เพราะท่านไม่ออกมาหมายมั่นอันนี้

พวกอย่างนี้มันก็พูดไปเรื่อย ออกในแนวประหลาดมหัศจรรย์อยู่เรื่อย พาให้คนลุ่มหลงง่าย ...ตัวคนพูดก็หลง คนฟังก็หลง ตื่นเต้นดีใจ มีคนฟัง คาดหมายคาดหวัง เกิดความเห่อเหิม ฮึกเหิม

มันเพลิน เพลินสภาวธรรม ...ซึ่งจริงๆ คือสภาวะใจรู้ปกติแค่นั้นเอง ...ความรู้อะไรที่ผยอง เผยอ ลำพองขึ้นมา ต้องวางทันที อย่าไปตื่นเต้นเห็นดีเห็นงามไป มันจะพาออกนอกทาง

เพราะนั้นถ้ากลับมารู้ มีสติระลึกรู้อยู่ มันมีแต่เบา เย็น สบาย ง่ายๆ ธรรมดา ...นี่ เป็นอย่างนี้ดีที่สุด ไม่มีอะไรทำให้มีสีสันให้โลดแล่น โลดโผน เรียกว่าปลอดภัย เป็นมรรคเป็นผลไปในตัว ทีละเล็กทีละน้อย

ตอนนี้ก็มองออกทันที แต่บางทีมันก็พูดไม่ได้ เขาว่าใช่ เขาว่าชอบ ...สิ่งที่เขาชอบกับสิ่งที่มันใช่ มันคนละตัวกัน ...มีแต่เราคอยถามอยู่นี่ว่ากล้ามั้ยล่ะที่จะทิ้งน่ะ

กล้ามั้ยที่จะทิ้งให้หมด ไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ใจรู้ ใจเปล่าๆ รู้เปล่าๆ ...กล้าทิ้งความคิด กล้าทิ้งความเห็น กล้าทิ้งอดีต ทิ้งอนาคต ที่มันมีความสุดโต่งอย่างนั้น...อย่าเสียดาย

แล้วมันจะรู้เลยว่า สุขในการทิ้งกับสุขในการหามันต่างกัน  สุขจากการมี กับสุขในการไม่มีอะไร มันต่างกัน เพราะนั้นจะให้มีอะไร สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี

เวลาหาอะไร มันต้องมีอะไรเป็นสุขในเวทนาที่พึงพอใจ มันก็จะมี ...แต่ลองถ้ามันทิ้งหมด ก็ไม่มีสุขให้รักษา ทุกข์ก็ไม่มีให้เอาหรือว่าให้ปฏิเสธ ...ไม่มีอะไร มันไม่มีทั้งความสุขและความทุกข์

แต่นั่นแหละเขาเรียกว่า สันติ สงบสันติ เป็นกลาง ...เป้าหมายของพระพุทธเจ้าคือให้กลับมาสู่จุดนั้น คือไม่มีไม่เป็นอะไรสักอย่าง เพราะผลที่แท้จริง คือนิโรธ...ความดับไป

ไม่ใช่ผลคืออะไรที่ยังคายังข้องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง เวทนาใดเวทนาหนึ่ง ความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่ง ความเห็นใดความเห็นหนึ่ง

ถ้ายังมียังเป็นอยู่กับอะไร ให้รู้ไว้เลย เตรียมตัวทุกข์ได้เลย ...เพราะมันจะต้องเสียไป เพราะมันจะต้องดับในสักวันหนึ่ง ไม่มีอะไรนอกเหนือจากใจ

เพราะนั้นถ้าเราเข้าใจ ก็ตัดเสียแต่ต้นลม ไม่ต้องหา ไม่ต้องมี ไม่เอา ...ให้มันค้านกับกระแสของเราที่ชอบหา ชอบมี ชอบเอาอยู่ตลอด ...ไม่ไปเสียเวลากับการกระทำ ไปหา ไปแสวง

จิตมันมีความทะยานอยากเป็นตัวผลักออกมาจากใจ ...มันก่อภพ จิตมันหาเรื่องก่อภพอยู่ตลอด เผลอเพลิน ไม่มีสติ ไม่รู้ในสภาวะ ไม่รู้ตัวเอง

นี่ โมหะจิตเกิดขึ้นทันทีเลย...ไม่รู้ตัว ปุ๊บ มันจะไหลไปโดยไม่รู้ตัว ล่องลอยออกไป ใจลอยไปกับความคิด ใจลอยใจหายไปกับอดีต ใจลอยหายไปกับอนาคต

ตัวที่พาให้ลอย ตัวที่พาให้หายไปคือโมหะ ...หลงเผลอเพลินไปก่อน หลงเผลอเพลินไปกับความปรุงแต่งอดีตอนาคต เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เหตุอันนั้นเหตุอันนี้ สภาวธรรมนั้นสภาวธรรมนี้

ระหว่างที่มันเผลอคิดปรุงไป มันก็จะเกิดดวงจิตอีกหลายดวง โลภะ โทสะ ราคะ เกิดขึ้น พอใจ เดี๋ยวก็ยิ้ม เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็ลังเลสงสัย สลับสับเปลี่ยนกันไป

แต่ว่าตัวเริ่มคือความเผลอเพลิน โมหะพาออก พอมีสติระลึกรู้ปุ๊บ ทุกอย่างขาดลงตรงนั้นเลย ความจริงก็ปรากฏในขณะนั้น ว่าจิตเป็นแค่อาการ

พอมันขาดตรงนั้นปุ๊บ มันเหลืออะไร ก็เหลือแค่สัญญาอุปาทาน ...ตรงเนี้ย มันก็จะมาเก็บเป็นสัญญาอุปาทาน ซึ่งมันจะเอาไว้คิดต่อภายหลัง เข้าใจรึเปล่า

เคยรึเปล่าที่มันกำลังคิดๆ แล้วมันหยุดคิดไปซะก่อนโดยสติ มันก็เก็บมาเป็นธรรมารมณ์ภายในนั้น ...เพราะนั้นไอ้ความฟุ้งซ่านนั้นมันเกิดจากอาการนี้ สลับสับเปลี่ยนกันไป

เพราะนั้นต้องขยันรู้บ่อยๆ ...เพื่อทำให้การต่อเนื่องหรือว่าสันตติ ความต่อ...สันตติของอุปาทานขันธ์ มันน้อยลง สั้นลง จนมันหมดกำลัง

เราไม่รู้หรอก ไม่ต้องถามว่าเมื่อไหร่ ...รู้ไปเรื่อยๆ เอาสติเป็นตัวเท่าทันเรื่อยๆ  จนเต็มรอบของมัน มันก็ทำความเป็นกลางกับอาการได้ อยู่ท่ามกลางระหว่างกายกับรู้

ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่เกลือกกลั้ว เหมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่ปน ...เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว มันก็กลิ้งๆ ไป ใบบัวก็สั่นไปตามฝนตามลมตามอะไรที่มากระทบ แต่น้ำมันก็กลิ้งไปๆ บนใบบัว

มันไม่ได้ซึมซาบในใบบัว แต่มันอยู่ด้วยกัน ...แต่มันก็กลิ้งไปกลิ้งมาอย่างนั้นน่ะ ตามเหตุปัจจัยที่มาทำให้ใบบัวสั่นคลอน  สุดท้ายก็เป็นน้ำอยู่วันยันค่ำ มันไม่ได้แตกหายไปกับใบบัว

เพราะนั้นถ้ามุ่งทางปัญญา ไม่ต้องคิดเลยกับสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง หรือว่าพิจารณาเพื่อให้เห็นความจริงอันใดอันหนึ่ง ด้วยความคิดพิจารณา

แค่เอาสติเข้าไปแยกใจออกจากทุกอาการ แล้วก็เท่าทันเวลามันจะเข้าไปรวมกับอาการ ...สองอย่างแค่นั้นเอง พอแล้ว ...ไม่รู้อะไร ไม่เอาความเห็นอะไร ไม่สร้างความเห็นใดขึ้นมาเลย

ซึ่งจะแตกต่างจากการเจริญสมถะที่จะต้องไปสร้างความเห็นในเรื่องของกาย เรื่องของรูป เรื่องของนาม ว่ามันเป็นยังไง สุดท้ายของมันคืออะไร

จะต้องเข้าไปรู้เห็นด้วยความน้อมใจไปพิจารณา เรียกว่าด้วยการมมังโส...เป็นกรรมฐานขึ้นมา

เพราะนั้นหยุดหมดเลย หยุดการกระทำขึ้นมา แค่รู้แล้วก็คอยระวัง แยกใจออกมาจากอาการ  รู้ รู้...แยกออก รู้...แยกออก แล้วอาการก็ไตรลักษณ์ลูกเดียว

ถ้าจะน้อมก็น้อมให้เห็นมันไม่แน่ไม่นอน ไปยุ่งอะไรกับมัน อย่างนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สนใจ ...คือน้อมลงไตรลักษณ์ คือเห็นอาการเป็นไตรลักษณ์หมด แค่นั้นเอง

แล้วก็รู้ ...ขึ้นมาอีกรู้อีกๆ  จนกว่ามันจะเห็นว่าอาการเป็นไตรลักษณ์ มันก็เปลี่ยนแปลงไม่แน่ไม่นอน ...แค่นี้พอแล้ว ให้จิตมันน้อมเห็น อาการเป็นอย่างนี้

ทุกอย่าง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ไปยุ่งกับมันไม่ได้ อย่างนี้ ...จนมันยอมรับว่าอาการมันเป็นอย่างนี้

เพราะนั้นไม่ต้องมีความรู้อะไร หรือไม่ต้องไปสร้างความเห็นอะไรขึ้นมา ...จะมีความเห็นเดียวเท่านั้นที่จะเข้าไปเห็นในอาการ...คือความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดา ควบคุมไม่ได้เป็นธรรมดา 

แค่นั้นเอง...เป็นความเห็นหลัก เป็นสัมมาทิฏฐิตัวแท้ ที่มีต่ออาการ ความเห็นเดียวที่เป็นสัมมา ไม่ใช่ว่ากายนี้เป็นกองอสุภะหรือกายนี้ไม่สวยไม่งาม ...นั่นยังไม่ตรงกับไตรลักษณ์เสียทีเดียว

มันยังอ้อม ตีวงอ้อมไป จนกว่าจะเห็นอสุภะนั้นดับไป ...ก็อยู่ในหลักของไตรลักษณ์อีกแหละ สวยก็ไตรลักษณ์ ไม่สวยก็ไตรลักษณ์ มีก็เป็นไตรลักษณ์ ไม่มีก็เป็นไตรลักษณ์ ...ไม่มีอะไรคงอยู่

แต่ตอนที่มันจะให้เกิดความเห็นนี้ มันก็เข้าไปสร้างนิมิต...ให้มี ให้เป็นความเห็นนี้ขึ้นมาก่อน ...มันไม่ใช่ไตรลักษณ์โดยตรงนะนั่น

เพราะนั้นในเบื้องต้น ปัญญาในการกระทำในรูปแบบสมถะวิปัสสนากรรมฐาน มีตัวรู้ ...จิตหนึ่งมมังโส จิตหนึ่งโยนิโส แต่ว่ามมังโสเพื่อกลับมาโยนิโสโดยตัวของมันเอง

เพราะมันมมังโสไปจนกว่ามันจะดับ รูปดับนามดับด้วยการพิจารณา จิตดับอาการดับ ...พอนิมิต ดับหมดปุ๊บ มันไม่มีอะไร ก็โยนิโสด้วยตัวของมันเอง

เพราะมันจะเหลือใจ เป็นใจโดดเด่นขึ้นมาเอง หรือใจผู้รู้ขึ้นมาดวงเดียว ...ไม่โยนิโสก็ต้องโยนิโส เพราะไม่มีอะไรดู

แต่ถ้ามันมีปัญญา เหมือนกับทุกอย่าง...อาการเป็นกระจก รู้ปั๊บ สะท้อนกลับใจรู้ ...สติรู้ปุ๊บแยก คือใจ ...ถึงบอกว่าสติปัฏฐานมันเป็นอุบายให้กลับมาสู่ใจโดยตรงเลย

สติปัฏฐานไม่ใช่อะไร ...ก็คือขันธ์ห้านี่แหละสติปัฏฐาน กายเวทนาจิตธรรม ก็คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ...คืออาการ...โดยรวมก็คืออาการ

ถ้าอาการโดยรวมมันก็คือสรรพสิ่ง เพื่อสะท้อนเป็นกระจกเงา สะท้อนกลับมาสู่...ใครล่ะที่มันเป็นคนเห็น ใครที่เป็นคนรู้ ใครเป็นคนเจ็บ ใครเป็นคนสุข ใครเป็นคนทุกข์

มีใครล่ะ ที่รับปรุงแต่ง...ต้องย้อนกลับไป ...ไอ้ใครตัวนั้นน่ะคือตัวจิตผู้รู้ ดวงใจรู้ ...กลับมา แล้วก็จะเห็นว่าไอ้สิ่งที่ถูกรู้นี่แหละ เป็นกรอบที่มันสร้างขึ้นมาทั้งหมด

มันไม่ได้อยู่ใต้อำนาจใคร เงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งเท่านั้น ...แต่ว่าเป็นเหตุปัจจัยที่จะก่อ แล้วก็เป็นเหตุให้มันแปรเปลี่ยน แล้วก็เหตุปัจจัยทำให้มันดับไป เหตุปัจจัยก็ดับไป

ตามเหตุปัจจัยล้วนๆ เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยล้วนๆ ...ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ไม่มีความเป็นเรา ไม่มีความเป็นเขาในอาการ ในความคิด ในความจำ ในความรู้สึก

พอถอยออกมาปุ๊บ มันจะเห็นเลย ...มันเป็นแค่ซาก ไม่มีชีวิต ไม่มีเลือดเนื้อเชื้อไข ไม่มีว่ามันจะหือ มันจะอือ มันจะร้อง...โอ้ย ทนไม่ได้ โอ้ย เป็นอย่างนี้ โอ้ย อะไร

มันไม่มีตัว ไม่มีมีชีวิตอะไรเลย ...นั่นแหละมันจะเห็นอาการที่ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีตัวเราในอาการ ไม่มีตัวเราในขันธ์ ไม่มีขันธ์ในตัวเรา

ขันธ์คือขันธ์แท้ๆ ขันธ์ล้วนๆ ขันธ์ธรรมดา เหมือนวัตถุข้าวของธรรมดา ไม่มีชีวิตจิตใจอะไรทั้งสิ้น เป็นแค่อะไรสักอย่าง...นี่ เป็นแค่อาการ

นี่ ก็จะเห็นเหมือนวัตถุหรือซาก ถึงเรียกว่าวิบากขันธ์ แค่วิบากขันธ์ ซากขันธ์ ซาก ...แล้วเราก็ไปใช้อยู่กับมันแค่นั้นเอง มันเป็นเปลือกห่อหุ้มใจไว้แค่นั้นเอง เป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ห่อหุ้มไว้

เอ้า ไม่มีอะไรแล้วมั้ง พอแล้ว ...ธรรมะก็มีแค่นี้ ไม่มีมากไม่มีน้อย มีพอดีที่ใจน่ะ มีแค่พอดีที่ใจ ...ถ้าเอามากกว่านี้ก็ออกนอกใจแล้ว


......................................





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น