วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/30 (3)


พระอาจารย์
2/30 (530918C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/30  ช่วง 2
http://ngankhamsorn2.blogspot.com/2017/02/230-2.html )

พระอาจารย์ –  เอ้า ได้เวลาแล้วมั้ง

โยม –  กราบเรียนถามหลวงพ่อเจ้าค่ะ พอดีมีคนจะขอซีดีหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  เอาไปทำไม


โยม –  ก็ตอนนั้นโยมก็เตรียมจะให้ พอหลุดปากมา โยมก็เลยหันกลับมาว่าเครื่องคอมเสีย โยมก็เลยว่าต้องถามหลวงพ่อก่อน

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร


โยม –  ให้เลยก็ได้ใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ให้


โยม –  ไม่ให้นะเจ้าคะ (หัวเราะกัน) ...เลยต้องมาเรียนถามหลวงพ่อก่อน

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องให้หรอก ...เพราะว่าเวลาเราพูดนี่ ถ้าไปฟังดูให้ดีนะ เราพูดแรง และเราพูดค่อนข้างจะไม่ไว้หน้าใคร เราพูดให้เฉพาะสำหรับคนที่เคยฟังแล้วเข้าใจเท่านั้น 

สำหรับคนที่ไม่เคยมาพบเรา ไม่เคยมาฟังเราโดยตรง จะตีความความหมายของเราเข้าใจผิดหมด เพราะจะไปตีความโดยพยัญชนะ ไม่ได้ไปตีความโดยอรรถ เข้าใจมั้ย

แต่ที่เราพูดนี่เราพูดโดยความหมายของเชิงอรรถ โดยรวม ...เพราะนั้นเราไม่ได้ว่าใครโดยตรง แต่คำพูดอาจจะดูเหมือนว่าคนนั้น ว่าการปฏิบัติเช่นนั้นเช่นนี้

แต่พูด...เราพูดในลักษณะให้เข้าใจซึ่งการปฏิบัติ ...ก็ช่าง ตามความพอใจสำหรับคนที่ไม่ยอมรับ เราไม่เคยปฏิเสธการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การกำหนดพิจารณา ...แต่เราพูดว่ามันยากแค่นั้นเอง

ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ หรือไม่ได้ผล หรือจะไม่ได้เข้าสู่มรรคจิตมรรคญาณ...ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ว่ามันยากสำหรับคนทั่วไป จึงเสนอวิธีการหรือแนวโน้มแนวคิดในลักษณะเช่นนี้ 

แต่ว่าคำพูด..อุปนิสัยการพูดของเรา...แรงงงง  ค่อนข้างจะดูเหมือนว่า...แหม คัดค้าน หรือว่าปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาดอะไรประมาณนั้น

แต่เราพูดด้วยความจริงใจ จริงจัง ให้กลับเข้ามาอยู่ที่ใจ แก้ปัญหาที่ใจดวงเดียว ไม่ไปแก้ที่อื่น ไม่ไปทำอันอื่นขึ้นมาแก้ใจ ...ใจมันแก้ในตัวของมันเอง แค่นั้นเอง

แต่สำหรับผู้ที่..คนฟังที่ยังยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ วิธีการ ...อันนี้ต่างหาก ที่มันจะก่อให้เกิดการเป็นปฏิฆะ เกิดการแบ่งแยก แล้วจะเกิดการปรามาสกัน

เราไม่กลัวการปรามาส แต่เราถือว่าการปรามาสนั่นแหละจะก่อให้เกิดการลบหลู่พระธรรมไปโดยปริยาย มันไม่มีผลดีหรอก เราบอกให้เลย มันไม่มีผลดีหรอกในการที่เอาตีนไปลูบคำสอนของพระพุทธเจ้าน่ะ 

การกระทำมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ว่าเราพูดไม่ได้ตรงๆ เพราะการที่เขาพูดกระแนะกระแหนกันน่ะ เหมือนเอาตีนน่ะไปลูบพระธรรม มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

แล้วมันกลับลำพองโอ้อวดโอหังอหังการ คิดว่าตัวรู้ตัวเก่งตัวดี ด้วยความหมายมั่นยึดมั่นถือมั่น ตรงนั้นน่ะมันก่อให้เกิดเป็นกรรม

แล้วยังสร้างกรรมกับคนทั่วไป ด้วยการไปผูกความเห็นนั้นให้ดูเหมือนจริงจังว่า กูเป็นคนถูกคนนั้นผิด ...เราถึงเรียกว่าเป็นโทษของการปรามาสธรรม ...ไม่ดี

แต่ว่าในลักษณะที่ว่าเราฟังกันในหมู่กันเอง สำหรับผู้ที่เข้าใจ ผู้ที่มีปัญญาในระดับที่ยอมรับในการที่ยอมที่จะเลิกละ ในสิ่งที่ควรจะเลิกละ และก็เห็นว่าน่าจะเลิกละ หรือว่าวางซะ

กลับมาทำความรู้จำเพาะใจ แค่เนี้ย สำหรับผู้ที่ยอมรับ ผู้ฟังแล้วจะยอมรับแล้วจะเข้าถึงใจ แล้วจะเห็นผลได้ในปัจจุบัน...เราพูดเลยว่าการที่รู้ที่ใจ จะเห็นผลได้ในปัจจุบัน

ไม่ต้องรอชาติหน้า ไม่ต้องรอปีหน้า ไม่ต้องรอวันเดือนปีข้างหน้า ...มันจะเห็นอยู่ตรงนี้ รู้อยู่ตรงนี้ เห็นผลตรงนี้ คือไม่มีอะไร มันจะดับลงตรงนี้

ดับอาการ...การทะยานอยาก การเข้าไปหมายมั่นในอดีตอนาคต ลงที่นี้ที่เดียว จะเห็นผลทันตา ...เพราะว่านี่คือปรมัตถ์ นี่คือปรมัตถธรรม นี่คือปรมัตถบารมี เป็นสัจจะปรมัตถ์..ปรมัตถสัจจะ

ไม่ใช่สมมุติสัจจะ  เราไม่ได้สอนให้อิงสมมุติสัจจะ แต่ไม่ปฏิเสธสมมุติสัจจะ ...แต่เราสอนไม่ให้ไปอิงกับสมมุติสัจจะ ให้อิงกับปรมัตถสัจจะ

คือใจที่ไม่มีภาษา ไม่มีบัญญัติ ไม่มีสมมุติ มีแต่รู้  รู้ กับรู้ แล้วก็เห็น แค่นั้นเอง ...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันยืนอยู่บนปรมัตถสัจจะ ไม่ได้ยืนอยู่ด้วยสมมุติและบัญญัติ

เพราะฉะนั้นการเผยแผ่ มีคนเผยแผ่เยอะแล้ว เราไม่ต้องเผย เราไม่ต้องแผ่ ...จริงๆ เราไม่ต้องการปริมาณเลยนะ เราต้องการคนที่รู้จริงเห็นจริงแล้วยอมรับจริง และเห็นผลกันจริง

น้อยกลับดีนะ เราเห็นว่ามาโดยธรรม เป็นไปโดยธรรมและเพื่อธรรม  เราไม่เอาว่าต้องรู้มาก ต้องมีการกระจายออกไป แต่ให้รู้ให้จริงเหอะ...รู้น้อยแต่ให้รู้ให้จริง

แล้วยอมรับและฝึกจริง ...รู้จริง ไม่ใช่แค่เข้าใจหรือรู้ ต้องเอาไปปฏิบัติจริง จนเห็นผลน่ะ อันนั้นน่ะเราเอาผลตรงนี้มากกว่า ไม่เอาปริมาณ

ไม่มีสาระ...ปริมาณน่ะ มันเอาไปเป็นแค่ฟังพอรู้ๆ กันไป  พอได้รู้ว่า..เออ ฉันเคยฟังมาแล้ว เหมือนลูกศิษย์บางอาจารย์น่ะ บานเลย ก็พอได้พูดว่าเป็นลูกศิษย์ท่าน

แต่ทำจริงขนาดไหนอ่ะ แค่ไปรู้ไปฟัง ไปได้ยิน แล้วก็...เออ ชั้นเคยทำแล้ว ไม่เห็นได้ผลเลย อะไรอย่างนี้ ...มันทำแค่ไหนล่ะ อย่างนี้น่ะ ไม่เอา เข้าใจมั้ย

คนที่มานี่น่ะ ต้องฝ่าฟันดั้นด้นมาเอาเอง ...ธรรมะเราไม่ได้ยัดเยียด เป็นการน้อม ต้องน้อมเข้ามา น้อมเข้ามานะ ไม่มีศรัทธา..อย่ามา  ไม่ใส่ใจ ไม่มีการใคร่ครวญก่อนแล้ว..อย่ามา

เพราะเราไม่ได้เรียกร้องให้ใครมา ธรรมพระพุทธเจ้าท่านบอกแล้วเป็นโอปนยิโก แม้แต่การสอนเราก็ให้โอปนยิโก ถ้าไม่มาเราไม่ไป ดึงเราไป... “กูก็ไม่ไป”

อยู่ที่เดียว อยู่ในที่อันเดียว ...ก็สอนแล้วว่าอยู่ในที่อันเดียว ไม่ไปอยู่ในที่ทั้งหลายทั้งปวง ...ก็อยู่ในที่อันเดียว กูก็อยู่ในที่อันเดียว

อยากมาก็ต้องมาเรียนรู้การอยู่ในที่อันเดียว ไม่ข้องแวะ ไม่ส่ายแส่ ไม่ออกไปหา ไม่ออกไปทำ ..แค่นี้ เป็นการสอนในตัวอยู่แล้ว นะ

ธรรมะจะเกิดขึ้น จะกระจายได้ด้วยการโอปนยิโก..น้อมเข้ามา ไม่ใช่ออกไป..เป็นมมังโส  ไม่ใช่การแจกทานที่หว่านไปทั่ว มีเงินแล้วก็หว่านไป แล้วก็ใครแย่งได้ก็เอาไป ไม่มีประโยชน์

เขาเอามั่ง ไม่เอามั่ง เดินเหยียบเดินทิ้งมั่ง เสียดายน้ำลายให้ตั้งใจมาฟัง ไม่มาก็ไม่ไปหวงห้ามนะ เยอะแยะ ครูบาอาจารย์เต็มประเทศไทย เยอะ หลากหลาย จะเอาแนวไหน

พอใจจะเอาอันไหน กินเข้าไป ทำเข้าไป ...ทำให้จริงเหอะ ได้ผลยังไงเดี๋ยวมันก็ทะลุกันไปเอง มันก็ผลักดันกันไป สงเคราะห์กันในธรรม  ไม่ต้องกลัวหรอก ไม่อดตายไม่อดอยากหรอกการปฏิบัติธรรม

แล้วมันจะมีครรลองของมัน สงเคราะห์ไปเรื่อยๆ ..มีเหตุปัจจัยให้มาเจอ มาพบ ให้เข้าสู่ปัญญาญาณอยู่แล้ว จะช้าหรือเร็วแค่นั้นเอง แต่ว่ามันไปอยู่แล้ว...ไม่ต้องกลัว

เราถึงได้ไม่คัดง้างกับใคร หรือคิดว่ามันถูกมันผิดมากมายก่ายกอง ...แต่เพียงมาแนะแนวให้ตรง แนะจากที่เคยเข้าไปให้ค่ากับการกระทำ วิธีการปฏิบัติ

หรือให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ หรือวิถีความเป็นอยู่ หรือวิถีชีวิต ...เอามาเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมาคัดกรองการปฏิบัติ หรือเป็นตัวจำกัดจำเพาะ

ว่าการปฏิบัติในชีวิตที่เป็นอยู่...ไม่กลมกลืนและไม่สามารถปฏิบัติได้เราจะมาให้เข้าใจว่าการปฏิบัติไม่เลือกกาลเวลา สถานที่และบุคคล

สติที่แท้จริงพระพุทธเจ้าสอน ไม่เคยบอกว่าจะต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรือว่าจำเพาะสภาวะใดสภาวะหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง จึงจะเกิดสภาวธรรมหรือเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง

ท่านบอกเป็นอกาลิโก ...แต่ทำไมนักปฏิบัติชอบเลือกสถานที่ ชอบเลือกบุคคล ชอบเลือกสภาวะรอบข้าง ชอบสร้างสัปปายะส่วนตัว ธรรมก็เลยจำกัด ธรรมก็เลยจำเพาะ

การเข้าถึงธรรมก็เลยไม่ทั่วถึง ไม่กลาง ไม่รอบ ไม่แจ้ง ...มันไปแบบแจ้งๆ ดับๆ แจ้งๆ ขุ่นๆ น่ะ  มันไม่ได้แจ้งแบบโลกวิทู ...ไม่มีกาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล จะมาปิดบังใจได้เลย 

สติอยู่...จี้ไปที่ตรงไหน ระลึกขึ้นที่ตรงไหน ใจนี่เปิด ใจนี่ตื่น  เห็นมั้ย มีที่ไหนที่จะมาขวางกั้นใจได้ อ่ะ สภาวธรรมไหนจะมาขวางกั้นใจได้ ไม่มีเลยนะ...ยืนยัน

พ้องความหมายเดียวกับพระพุทธเจ้าบอกว่า อกาลิโก ...เราไม่เคยบอกว่าต้องอยู่คนเดียว เราไม่เคยบอกว่าต้องเป็นนักบวช เราไม่เคยบอกว่าต้องเป็นชาย เราไม่เคยบอกว่าต้องเป็นหญิง

เราไม่เคยบอกว่าต้องถือศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ...ทำไม สติมีเกิดขึ้นตรงไหน ใจปรากฏตรงนั้น  แล้วก็อยู่ให้ได้ จับใจให้ถูก จับใจให้อยู่

อยู่ที่ใจ...ไม่ได้อยู่ที่อาการหรือขันธ์ทั้ง ๕ หรือขันธ์ทั้ง ๑๐ หรืออายตนะทั้ง ๖ หรือผัสสะทั้ง ๖ ไม่อยู่ ...อยู่ที่ใจ ใจรู้..แล้วก็หัก ณ ที่จ่ายนั้น

อะไรจะออกจากตรงนั้น...หักมันหมด ละมันหมด วางมันหมด ...ไม่เสียดาย ไม่อาลัย ไม่เสียดายกิเลส ไม่เสียดายตัณหา ไม่เสียดายความหมายมั่นในอดีตและอนาคต อย่าเสียดาย

อย่ากลัวไม่ได้ อย่ากลัวไม่มี อย่ากลัวไม่เป็น ...กล้าที่จะละ กล้าที่จะปล่อย กล้าที่จะไม่ต่อเนื่องกับมัน ลองดูซิ เอาให้มันเด็ดเดี่ยวจริงจังลงไปในที่อันเดียว ถึงบอกว่าอย่างน้อยก็นิพพาน อย่างมากนี่...ไม่รู้


โยม –  ท่านอาจารย์คะ ถ้าอย่างงั้น..ที่มันยังไม่ได้เพราะมันยังไม่ถึงเวลางั้นหรือ

พระอาจารย์ –  มันต้องสะสมอินทรีย์..กำลัง นี่อินทรีย์กำลัง ไม่ใช่กำลังสมถะ ...กำลังคืออินทรีย์ อินทรีย์คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา  สมังคีกัน เป็นกลาง สมดุลกัน

คืออยู่ที่ใจด้วยความศรัทธา อยู่ในที่อันเดียว ...ต้องมีศรัทธานะ ไม่มีศรัทธามันไม่ยอมอยู่นะ มันจะไปอยู่ที่อื่น ...เมื่อมีศรัทธามันก็มีความพากเพียรที่จะไม่ให้ออกนอกรู้ไป ...นี่วิริยะเกิด 

เมื่อมีวิริยะเกิด สติ สมาธิ ปัญญา ก็เกิดตรงนี้  เห็นมั้ย นี่คือการบ่มอินทรีย์  ...เมื่อเราอยู่ตรงนี้ อินทรีย์เริ่มแก่กล้าขึ้น จิตก็มั่นคงมากขึ้น ความชัดแจ้งก็มากขึ้น

ก็แยกได้ว่า อ๋อ อาการๆ ...แต่ก่อนไม่เคยเห็นเป็นอาการ ก็..เออ มันใช่อาการจริงๆ ว่ะ ไม่เห็นมีอะไรเลย ...แน่ะ พอเห็นอาการแล้วก็บอกไม่เห็นมีอะไรเลยว่ะ

แต่ก่อนนี่แทบเป็นแทบตายกับมันน่ะ มันพาขึ้นเขาลงห้วย อู้หูย แทบตายเลยกว่าจะออกจากมันได้ ...แต่พอมารู้..อ๋อ มันเป็นแค่อะไรก็ไม่รู้ เป็นอาการหนึ่งแค่นั้นเอง แล้วไปยุ่งอะไรกับมันตั้งนานวะเนี่ย 

แน่ะ ทิ้งเลย...มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ  บอกจริง ๆ นะเนี่ย  รู้ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะแยกออก มันจะแยกออกทุกสภาวะ แล้วมีรู้เดียวเท่านั้นที่เป็นแกนกลาง

ตอนนี้อย่าหา รู้อย่างเดียว ด้วยสติ  มันจะเข้าไปจำแนก จำแนกธรรม เกิดธัมมวิจยะขึ้น มันจะจำแนกโดยการแยกขันธ์ออกจากรู้ แยกกายออกจากรู้ แยกนามขันธ์ออกจากรู้

ตัวนี้สติจะเป็นตัวจำแนกธรรม แล้วสิ่งที่แยกออกจากรู้แล้วมันจะเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์เอง แล้วเมื่อเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์แล้ว มันจะปล่อย มันจะปล่อยวางอาการ ทั้งหลายทั้งปวง

แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่สติเรายังอ่อน ยังไม่สามารถจะแยกออกจากบางอาการ และยังไปพะวักพะวนสงสัย ลังเล วิตก กลัว หา แก้...พวกนี้ เราจะจมอยู่กับอาการอย่างนี้ 

แต่พยายามระลึกรู้ รู้ รู้อยู่ในอาการนี้ รู้ว่ากำลังทำอย่างนี้ รู้ไปเรื่อยๆ ให้มันเด่นออกมา มันจะจำแนกออก แยกออก..อ๋อ มันเป็นแค่อาการ...เมื่อไหร่ มันจะวางอาการนั้น กลับมาอยู่ที่รู้ 

แล้วต่อไปมันก็จะมีอาการแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยอ่ะ ...ก็ให้เราเรียนรู้ต่อไป เพื่อจะแยกมันออกมา และเห็นว่าเป็นสักแต่ว่าอาการ

จนกว่าทั้งหลายทั้งปวงของสติปัฏฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ...กายสักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่เวทนา จิตสักแต่ว่าจิต ธรรมสักแต่ว่าธรรม

จิตสักแต่ว่าจิต จิตยังสักแต่ว่าจิตเลย ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เป็นอะไร มันจะยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ นี่สักแต่ว่าจิตแล้ว ...เห็นมั้ย จิตสักแต่ว่าจิต แล้วใครเป็นคนรู้ว่าสักแต่ว่า... นี่ อีกตัวนึงนะ


.................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น