วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/32 (2)


พระอาจารย์
2/32 (530925A)
25 กันยายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/32  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย ตอนแรกก็ว่าใจเราผ่องใส ...ไปๆ มาๆ เป็นแค่ “ความผ่องใส” ที่อยู่ในใจ ...เนี่ย พอสติหยั่งลงไป มันจะแยกออก พอแยกออกปุ๊บ มันจะเห็นสองอาการ

สองอาการแล้วเป็นไง ...อาการที่ถูกรู้นั้น เดี๋ยวมันจะแปรเปลี่ยน ...นี่ ใจมันก็ไปรู้อะไร...รู้ “ไตรลักษณ์” น่ะสิ ...เมื่อรู้ไตรลักษณ์แล้วก็ปล่อยสิ กูจะไปเอามันทำไม มันไม่จริง มันชั่วคราว

ใจนี่ พอมาดูใจรู้นี่ รู้ๆๆๆ ...รู้มากมั้ย รู้น้อยมั้ย รู้บริสุทธิ์ขึ้นมั้ย รู้กว้างขึ้นมั้ย รู้แคบขึ้นมั้ย ...มีแต่รู้ ไม่มีอาการใดเลย เห็นป่าว แล้วก็เป็นรู้อันเดียว

โกรธก็รู้ กับผ่องใสก็รู้ เนี่ย โกรธกับผ่องใสนี่ต่างกัน ไม่เหมือนกัน คุณลักษณะ รูปลักษณ์ ความรู้สึก ความเสมือนกันไม่มี แตกต่าง ...แต่เหมือนกันในตรงที่รู้เหมือนกัน

ตัวรู้ตรงนั้นน่ะเหมือนกัน ใจรู้อันนั้นน่ะใจเดียวกัน ...เพราะมีหนึ่งเดียวเท่านั้นใจนี่ แล้วใจดวงนี้ก็คือใจดวงนี้ๆๆๆ ของทุกคน แล้วก็ดวงของพระพุทธเจ้า แล้วก็ดวงของพระอรหันต์

ก็ใจดวงเดียวกันนี่แหละ ไม่เห็นจะต่างกันตรงไหน ...ทะเลาะกันทำไมวะ มันเปลือกๆๆๆ ความคิดก็เปลือก กายนี่ก็เปลือก ...ใจนี่ดวงเดียวกัน นี่ๆ

จะมาจริงจังกับอะไรเปลือก นี่เปลือกๆๆ (หัวเราะกัน) เพราะอะไร ...เปลือกนี่เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เดี๋ยวมันก็ตาย เดี๋ยวมันก็สลาย เดี๋ยวมันก็ไม่เที่ยง มันไม่ถาวรอยู่หรอก

นี่ เกิดมาไม่รู้กี่ชาตินี่หน้าตาไม่ได้เหมือนกันหรอก เป็นชายมั่ง เป็นหญิงมั่ง เป็นคนบ้างเป็นสัตว์บ้าง แล้วแต่เปลือกห่อหุ้มเปลี่ยนไปตามแต่กรรมปัจจัย แล้วก็เป็นวิบากกับปัจจัย

เพราะนั้นสิ่งที่เราอยู่กับมันนี่ มันเป็นแค่ซาก...ซาก ซากของขันธ์ มหาภูตรูป ๔ ...เขาให้เกิดมาทำไม เขาให้เกิดมาเรียนรู้ความเป็นจริงว่ามันเป็นอย่างนี้

ดันโง่ เอามหาภูตรูป ๔ นี่ เอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย ...เอาไปทะเลาะเบาะแว้ง ปากมีแทนที่จะสงบระงับ พูดแต่ในสิ่งที่ดี กลับไปหาความโต้แย้งถกเถียงเอาถูกเอาผิด

กายก็แทนที่จะมีไว้เพื่อให้เป็นกายานุสติปัฏฐาน เพื่อให้ระลึกรู้กายแล้วให้เห็นใจ กลับเอากายไปใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไร้สาระสิ้นดี

แน่ะ เขาให้เกิดมาเพื่อปฏิบัติธรรม ได้รูปขันธ์นามขันธ์นี้มา แต่ใช้ไม่เป็น ...พอมาปฏิบัติธรรมก็ยังไม่ตรงอีก เอารูปขันธ์นามขันธ์ ไปถกเถียงในข้อธรรมะ ที่สร้างความแตกต่าง

มันไม่ได้เป็นไปเพื่อความสงบระงับหรือความละวางจางคลายใดๆ ทั้งสิ้นเราไม่ตำหนิใครน่ะ เราตำหนิคนที่ไม่รู้ว่ามันมีสองอาการ ไม่ว่าลูกศิษย์ใคร ถ้ามันยังไปอยู่กับอาการ เราบอกผิดหมด

ต่อให้จิตดวงนั้นจะดีเด่ขนาดไหน ถ้ามันยังไม่มีอาการที่รู้ว่ามันเป็นอาการ...เราไม่เชื่อ เราไม่ฟัง เราไม่สน เราฟังแต่คนที่สอนให้รู้จักแยกอาการออก

แล้วอย่าสนใจในอาการ ละความหมายมั่นในอาการทั้งปวงที่ปรากฏต่อหน้า ทั้งภายนอกและภายใน ...จนมันวางอาการทั้งหลายทั้งปวงจนหมดสิ้นน่ะ

เป็นเรื่องธรรมดา เห็นมันเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ...ตรงนั้นน่ะถึงจะมาอยู่ที่ใจจริงๆ แล้วก็การดำเนินของมรรค จะเป็นมรรคจิตและมรรคญาณโดยตรง

แต่นี่...ใจยังไม่เคยเห็นเลย ทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้ ทะเลาะกันอยู่นั่น ...สติก็สติ เอาสติมาเถียงกัน สติก็ยังทำไม่เป็นเลย เอาอะไรก็ไม่รู้มาเถียงกัน เอาถูกเอาผิดอะไรกันนักกันหนา

ทำไมไม่ตรวจสอบ สอดส่อง สังเกตภายในของตัวเองล่ะ ...ทำไมมันถึงมีปัญหา ใครมีปัญหา ถามก่อน ...ครูบาอาจารย์ไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่เราอ่าน สิ่งที่เราเห็น ไม่ใช่ปัญหา

ถามว่าใครมีปัญหา หาให้เจอ ...ตรงนั้นน่ะ แล้วอยู่ตรงนั้น ดูมันตรงนั้น เพราะมันจะคอยก่อปัญหาอยู่เรื่อย ถ้าไม่เท่าทันมัน

ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่แก้ว ที่ขวด ที่ดินฟ้าอากาศ ฝนตกฝนไม่ตก แดดออก แดดไม่ออก ไม่เกี่ยว ...ใครน่ะมีปัญหา ใครนั่งๆ ดูก่อน ...สติเนี่ย เพื่อให้เห็นตัวนี้ต่างหาก

สติไม่ใช่ให้เอาไปทิ่มแทง ไปรู้เรื่องคนอื่น ไปรู้ว่าการกระทำนั้นถูกผิด ไปรู้ว่าคำพูดนั้นถูกผิด ข้ออรรถข้อธรรมนั้นถูกผิด ...มันคือสังขาร มันคืออาการ มันคือความปรุงแต่งที่ออกมาแล้ว

ไม่มีอะไรหรอก เหมือนกัน ไม่มีถูกไม่มีผิด ...นี่ เหมือนกันตรงไหน เหมือนกันตรง...เดี๋ยวมันก็ดับไป แต่เราไม่ยอมให้มันดับๆ เรายังเก็บมันไว้ในรูปแบบของสัญญาอุปาทาน

แน่ะ ที่ฟังนี่มันดับไปแล้ว ที่พูดนี่คือสัญญา แล้วเราไม่รู้เท่าทัน แล้วเราก็อยู่ในสัญญา ผูกกันอยู่นี่ ผูกๆๆ เป็นเรื่องเป็นราว โดยที่ไม่มีสติระลึกรู้ว่า มันเป็นแค่ซากขันธ์หนึ่ง แล้วก็มีใจรู้อีกดวงหนึ่ง

นี่แหละ ดวงจิตผู้รู้อยู่ สติทำให้ปรากฏดวงจิตผู้รู้อยู่ สติไม่ใช่ทำให้เกิดดวงจิตที่หลงไป ...ต่างกันนะ ...ไม่ต้องพูดถึงว่าใครจะเข้าอริยมรรค ใครไม่เข้าอริยมรรค...ดูตัวเอง

ถ้าอยู่ที่ใจ นั่นจะเป็นพลวปัจจัยให้เกิดสัมมาสติในองค์อริยมรรค ...ถ้าไปอยู่ที่อาการ เป็นมิจฉาสติ เป็นไปด้วยความหลงและการต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้น เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์

ทำไมมันถึงออก อะไรเป็นตัวผลักดันให้ออกไป หนึ่งโมหะ สองเมื่อมีโมหะแล้ว มันจะไปเกิดดวงจิตหลายดวงที่เกิดเป็นราคะโทสะโมหะมากขึ้นๆ

แต่ว่าตัวพาออกไปก่อนตัวแรก...โมหะคือไม่รู้ หลง เผลอ เพลิน ...แล้วเราก็เอาไอ้ตัวราคะโทสะ โมหะน่ะมาทะเลาะกัน

เราไม่ทะเลาะกับใคร แล้วเราไม่แก้ให้ใคร เราไล่กลับบ้าน...คือใจลูกเดียว ไล่กลับบ้านใจ คือใจรู้ รู้ใจ จบ ต้องจบตรงนี้ไม่ใช่ไปจบตรงนู้น

ถ้าจบตรงนู้นน่ะอีกกี่ชาติ ไปเจอกันกับไอ้ที่เถียงกัน ข้างหน้า เดี๋ยวก็ไปเจอกันใหม่ ทะเลาะกันน่ะเดี๋ยวก็ไปเจอกันอีก บอกให้เลย

แต่ถ้ากลับมาอยู่ที่ใจ แก้ที่ใจ จบ สั้นลง หดลง แคบลง การต่อเนื่องน้อยลง ยืดยาวคราวไกลน้อยลง จนถึงที่สุดว่าจบในที่อันเดียว ตั้งมั่นลงไปที่ใจ อย่าไปตั้งมั่นกับอาการ

อย่าไปตั้งมั่นกับความคิด อย่าไปตั้งมั่นกับความเห็น อย่าไปตั้งมั่นกับรูป อย่าไปตั้งมั่นกับเสียง อย่าไปตั้งมั่นกับกลิ่น อย่าไปตั้งมั่นกับรส อย่าไปตั้งมั่นกับเย็นร้อนอ่อนแข็ง

เอาใจเป็นที่พึ่ง ไม่พึ่งที่อื่น ไม่อาศัยที่อื่น ...เข้าใจคำว่าหลักใจมั้ย เอาใจเป็นหลัก อยู่ที่หลักใจ อย่าเอาอันอื่นมาเป็นหลัก อย่าเอาครูบาอาจารย์มาเป็นหลัก อย่าเอาเรามาเป็นหลัก นอกทั้งสิ้น

พุทธะอยู่ที่ใจ ธรรมะอยู่ที่ใจ สังฆะอยู่ที่ใจ ใจดวงนี้เป็นหลัก ...อย่ามาเอาอันอื่นเป็นหลัก ถ้ามาเอาอันอื่น เอาครูบาอาจารย์เป็นหลักมันจะทะเลาะกันอย่างนี้...ไม่จบ

แล้วยังทะเลาะต่อไปอีกสองพันปี บอกให้เลย แล้วมันจะมีครูบาอาจารย์มากมายเกิดขึ้น แล้วจะมีวิถีการปฏิบัติอีกมากมายเกิดขึ้น ให้เราเลือก ...เป็นธรรมเผื่อเลือก บอกให้

แล้วพวกเราก็เป็นปลาน้อยคอยตอดเบ็ดอยู่ตลอด โง่ซ้ำซาก เขามีแต่แล้งซ้ำซาก ไอ้พวกเรานี่โง่ซ้ำซาก โง่แล้วโง่อีก ถูกหลอกแล้วถูกหลอกอีก แล้วก็ยอมให้เขาหลอก แล้วก็ชอบให้เขาหลอก

เพราะอะไร เพราะขาดสติ ไม่รู้ ...พอมีสติรู้ แทนที่จะรู้อยู่ ดันรู้ออกไปอีก มีแค่นี้นิดนึง อู้หูกูคิดต่อช่วยด้วย เนี่ย เคยได้ยิน เราจำได้ เคยฟังมา อิชั้น/หนูเคยได้ยินมา เนี่ยๆ (หัวเราะกัน) ไปต่อเลย

เพิ่มเข้าไป เหมือนกับไฟที่เติมฟืนน่ะ เติมฟืนเข้าไป เติมมันเข้าไป ...โลกนี้มันจึงเร่าร้อน ใช่ไหม ทำไมไม่สงบระงับดับเย็น เพราะมันออกนอกใจทุกวี่ทุกวัน ตั้งแต่เช้ายันนอนน่ะ

ตื่นมาก็พั้บๆๆๆ ไหลออกแล้ว โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว พอรู้ก็รู้นิดนึง รู้แล้วก็ เออ พอเห็นว่ากูกำลังคิดเรื่องอะไร กูจะได้คิดต่อชัดๆ (หัวเราะกัน) ...มันไม่ได้รู้เพื่อจะหยุดอยู่ยั้งในใจเลย

เนี่ย รู้แล้วก็เออ เดี๋ยวกูก็ต่อ เดี๋ยวหาเรื่องต่อให้มัน ...พอรู้แล้วไม่เข้าใจ พอคิดแล้วไม่เข้าใจ เดี๋ยวกูไปเปิดตำรา เดี๋ยวกูไปเปิดเน็ทหาข้อความมาใหม่ มาสนับสนุนมันต่อไป

มันเป็นไปอย่างนี้ มันจะไม่ร้อนได้ยังไง มันจะไม่ขัดแย้งกันยังไง มันจะไม่เกิดเป็นปฏิฆะโทสะกันอย่างไร ...แล้วธรรมเป็นไปเพื่อความสงบระงับสันติหรือเปล่า

ถ้าไม่กลับมาที่ใจ...ไม่มีคำว่าสงบระงับเลย  ถ้าไม่กลับมาที่ใจรู้..รู้ใจ ...ไม่มีคำว่าสันติ  ถ้าไม่กลับมาอยู่ที่ใจ...ไม่มีคำว่านิโรธ หรือความดับไป

มีแต่การก่อเกิดๆ ก่อเกิดต่อเนื่อง ยืดยาว เผาผลาญ เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  อนูปวาโท อนูปฆาโต ...แต่พระพุทธเจ้าท่านบอก จงอยู่ด้วยความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน

แต่ทำไมนักปฏิบัติธรรมมันช่างเบียดเบียนกันจัง ตัวเองเบียดเบียนตัวเองด้วยความคิดก็ยังไม่รู้ตัว แล้วเอาความคิดของตัวเอง มาเบียดเบียนผู้อื่น

ออกมาเป็นวาจาและการกระทำคำพูด เขียนมันลงไปในเน็ท เขียนกันลงไป ...มันได้ใจกิเลสเลย เพราะไม่มีใครเห็นตัวกู จะพูดยังไงก็ได้ ใช่มั้ย

เราไม่เอาถูก เราไม่เอาผิด เราเอาอย่างเดียวคือ รู้รึเปล่า ...สิ่งที่กระทำ คำที่พูด สิ่งที่คิด สิ่งที่เห็น ความคิดความเห็น...รู้รึเปล่า ...ถ้ามีสติและรู้จริง อย่าไปอยู่ที่อาการ

เคยเห็นว่าเป็นความเห็นของเรา พอมันเป็นความเห็นของเรา ถ้ามันเป็นความเห็นของเราเมื่อไหร่ให้รู้ว่าขณะนั้นมันไม่มีสติแล้ว ...ลองรู้สิว่ากำลังมีความเห็นอะไรอยู่...แล้วมันจะเห็นเป็นสองอาการ 

แล้วให้กลับมาอยู่ที่ใจรู้ ...ถ้ายังไม่เห็นใจรู้ กลับมารู้กาย นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ ...ให้มันชัดเจนอยู่ที่รู้ อย่าอยู่ที่กาย แล้วรู้อันนั้นน่ะมันจะไปรู้อาการของใจ คืออารมณ์ โกรธก็รู้...มันก็รู้เดียวกับนั่งรู้นั่นแหละ 

เป้าหมายของสติคือจุดนี้นะ เป็นตัวไล่ให้จิตกลับมาสู่ใจ จนกว่าจะเห็นเรียกว่าจิตเห็นจิต จิตเห็นจิต ไม่อยู่ที่อาการแล้ว ...ตรงนั้นน่ะ มันจึงจะเป็นมรรคจิตมรรคญาณ

แต่ถ้ายังส่ายแส่ออกไปกับอาการ ไปหาอาการ ไปขึ้นลงกับอาการ ไปจริงจังกับอาการ ...เกิดมาตายเปล่า เสียดายการเกิด เป็นโมฆะบุรุษ เป็นโมฆะสตรี

เพราะนั้นไม่ว่าลูกศิษย์ใคร เราว่าหมดแหละ ...ถ้ายังขึ้นลงกับอาการ แล้วเอาอาการนั้นมาเป็นอาวุธทิ่มตำกัน ...มันไม่เป็นสันติ มันไม่เป็นสงบระงับ

นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง  นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ...เนี่ย ทำไมพวกเรามันมีแต่ต่อเนื่องๆ ล่ะ ...แต่ถ้ากลับมาสู่ฐานใจ ฐานใจรู้ รู้ใจนี่ นิพพานัง ปรมัง สุขัง อยู่ตรงนี้...คือความดับไป

ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ...ดูที่รู้สิ มีสุขมั้ย ดูที่รู้สิ มีทุกข์มั้ย เห็นมั้ย ไม่ใช่มีสุขนะ แล้วก็ขณะเดียวกันก็ไม่มีทุกข์ด้วย มีแต่รู้ ...นั่นแหละ อยู่ให้ได้

แต่มันไม่ค่อยอยู่ เพราะมันแส่ส่ายด้วยอำนาจของอวิชชาตัณหา มันจะดีดดิ้นออกมา ...ออกอีกรู้อีกๆๆ จนมันอยู่น่ะ เหมือนตาชั่งน่ะ อันไหนมันจะมากกว่ากัน...สมุทัยหรือมรรค

สมุทัยมากกว่า มันก็เทไปทางนี้ ออกไปเลย กูไม่เอาแล้ว ...ถ้ามรรคมากกว่า สติมากกว่า มันกลับมารู้ๆๆๆ สมุทัยก็จะดับไป ทุกข์ก็ดับไป

การปฏิบัติ ต้องแยกให้ออกว่าสิ่งที่เราทำนี่ เป็นการเจริญสมุทัยหรือเป็นการเจริญมรรค ...การที่จะเอาถูกเอาผิดนั่นแหละเหตุแห่งทุกข์เลยแหละ...สมุทัยล้วนๆ

อ้างคำพูดดูดี ดูประณีต ดูน่าลุ่มหลง ดูน่ามัวเมา ดูน่าเชื่อถือ ก็ออกมาจากอวิชชาปัจจยาสังขาราทั้งสิ้น

เพราะนั้นเราไม่ต้องไปแยกแยะถูกผิดหรอก แค่ได้ยินได้ฟัง...ใครรู้ ใครยินดีล่ะ ใครยินร้ายล่ะ แล้วไม่ต้องไปยินดีต่อ แล้วไม่ต้องไปยินร้ายต่อ

แล้วไม่ต้องไปคิดต่อ แล้วไม่ต้องไปเห็นต่อ แล้วไม่ต้องไปเปลี่ยนความเห็นใหม่ ยังไงก็ได้ รู้อยู่ ...เห็นมั้ย ถ้ารู้อยู่อย่างนี้จะไม่มีปัญหากับอะไรเลย

อย่าว่าแต่ความเห็นของครูบาอาจารย์ที่แตกต่าง ...แม้แต่ทุกสรรพสิ่งที่ปรากฏในครรลองของผัสสะทั้งหก ก็ยังเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ถูกรู้ แล้วก็อยู่ที่รู้

จนกว่ามันจะเห็นว่าทุกสรรพสิ่งที่ล้อมรอบรู้นี่ เป็นแค่อาการ แล้วอาการนั้นเป็นยังไง...มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา แค่เนี้ย หมดปัญหา

ดูสิ ปัญหาของเรามีอยู่แค่นี้ แล้วเราแก้ปัญหาตรงนี้ เราแก้ปัญหาที่เดียวตรงนี้ เราแก้ความเห็นของเราที่เดียวอันนี้ ...เราไม่ได้แก้ที่ความเห็นของครูบาอาจารย์ เราไม่ได้แก้ที่วิถีการปฏิบัติใดเลย

เราแก้ความเห็นของเราว่า ทำไมมันถึงเห็นว่าสรรพสิ่งนั้นเป็นจริงจัง แล้วทำไมเรายังมีปัญหาอะไรกับมันอยู่ ทำไมมันไม่อยู่ที่รู้ ...เราแก้ตรงนี้ เราไม่แก้อันอื่นเลย จนกว่ามันจะเห็นว่า...อ้อ ไม่มีอะไร 

สิ่งที่มีอยู่หรือคืออะไร ...สิ่งที่มีอยู่ก็คือมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่ได้อะไรเลย ...ท่านไม่ได้บอกว่ามีคนมีสัตว์ มีวัตถุธาตุ มีสภาพธรรม มีสภาวธรรมอะไรตั้งอยู่เลย ท่านบอกว่ามีแต่ความดับไปเป็นธรรมดา

นั่นแหละ จนเห็นอย่างนี้ มันจึงเป็นธรรมดาหมด...ทุกสรรพสิ่งทั้งอนันตาจักรวาลก็ยังเป็นเรื่องธรรมดาของความเสื่อมไป ไม่ได้ออกไปให้ค่าให้สาระอะไรเลย

สาระสำคัญอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ใจรู้ อยู่ที่ดวงจิตผู้รู้ อยู่ที่ใจที่เป็นปภัสสะรัง ประภัสสร มีแต่ความบริสุทธิ์ของใจล้วนๆ เหมือนน้ำค้างกลางหาวน่ะ เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว...มันเป็นอย่างนั้น 

ใจจริงๆ น่ะ มีอยู่แล้วทุกคน แต่ละคนนี่ก็มี ...แต่มันมืดตึ้บ มึนตึ้บอยู่อย่างนี้ อะไรไม่รู้ครอบงำ หลงออกไปหลงออกมา หลงออกไปแล้วก็ดึงเก็บเข้ามา

ผูกกันเข้าไป ให้สาระสำคัญกับมันไปหมดในรูปเสียงกลิ่นรสอะไรก็ตาม จริงจังไปหมด ...มันไม่เห็นมันเป็นไตรลักษณ์ตรงไหนสักอย่าง นั่น


(ต่อแทร็ก 2/33)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น