วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/34 (4)


พระอาจารย์
2/34 (530925C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
25 กันยายน 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/34  ช่วง 3

พระอาจารย์ –  แต่อย่าไปเลือก อย่าไปทำ ...ให้มันเป็นไป ธรรมชาติของมันเดินไปในครรลองของมรรคอยู่แล้ว ...เพราะนั้นจากนั้นไป วิถีของชีวิตจะกลายเป็นวิถีธรรม

มันไม่ใช่วิถีชีวิตแล้ว แต่เรียกว่าวิถีธรรม ...เพราะวิถีชีวิตนั้นจะเป็นไปโดยธรรม และเพื่อธรรม และเป็นธรรม และเพื่อธรรมในตัวของมันตลอดทุกอิริยาบถ

เพราะนั้นครรลองชีวิตของพวกเรานี่ ถึงว่าการเจริญสติหรือว่าแม้แต่ที่เราแนะนำนี่ เราจะไม่ไปบอกให้ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไขวิถีชีวิตเลย ...เป็นยังไงก็ให้เป็นอย่างงั้น เคยทำอะไรก็ให้ทำอย่างนั้น

เอาความเป็นไปตอนนี้เป็นมาตรฐาน เอาชีวิตเราตอนนี้เป็นมาตรฐานอย่างนี้ แต่ให้รู้เข้าไป ...ไม่ต้องเปลี่ยน ไม่ต้องแก้อะไร ...รู้ตรงๆ ไปเลย

แล้วจนถึงครรลองที่เข้าอยู่ในวิถีแห่งมรรคแล้ว โดยตัววิถีนี้จะเป็นวิถีธรรมเอง ...มันจะพาเข้าสู่จุดสูงสุด โดยว่ามันจะสงเคราะห์เข้ามาโดยเหตุปัจจัย

ไม่ใช่เราต้องไปวิ่งหาอาจารย์ ไม่ต้องวิ่งหาสถานที่ ไม่ต้องไปวิ่งหาอะไร ...มันจะเป็นเหตุปัจจัยมาสงเคราะห์ให้เราไปตามครรลองของธรรมนั้นๆ เอง

ไม่มีใคร ไม่มีพระเจ้าองค์ไหนมาสรรเต่ง ไม่มี “เรา” เป็นคนสรรแต่งวิถีนี้ ...นั่นเป็นวิถีโดยธรรม วิถีธรรมโดยธรรม เป็นไปเพื่อความหมดสิ้นแห่งธรรมนั้นๆ

เหมือนกับกล้วยที่มันจะออกเครือ มันเป็นของมันเอง กล้วยก็ไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าต้นแม่มันหรอก ...แต่มันเป็นธรรมชาติที่ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นความจริงล้วนๆ เลย

เพราะนั้น จากนั้นไป ชีวิตทั้งชีวิตเป็นเรื่องของสัจจะ ...ใครจะบอกถูก ใครจะบอกผิด กูไม่สน มันเป็นสัจจะ ...เพราะไม่ได้เนื่องด้วยความอยากและไม่อยาก

เพราะนั้นโดยใจทั้งดวงนั่นแหละ มันคืออริยสัจ เรียกว่าเป็นอริยสัจทั้ง ๔ อยู่ในใจเลย ...ทุกข์ก็เป็นทุกขสัจ ทุกขอริยสัจด้วย  มรรคก็เป็นมรรคสัจ เป็นมรรคอริยสัจ

สมุทัยที่ปรากฏอาการทั้งหลายทั้งปวงนั่นก็เป็นสมุทัยที่เป็นอริยสัจที่เกิดขึ้นในที่อันเดียวกัน เพราะนั้นอริยสัจทั้ง ๔ นี่ จะรวมอยู่ในที่เดียวกัน

จนมันพร้อม จนมันพอ จึงจะเกิดเป็นมรรคสมังคีขึ้นมา...ของมันเองน่ะ ...เพราะนั้นวิถีตลอดสายนี่ มันเป็นเรื่องของสัจจะทั้งหมด

ไม่ได้แบ่งสมมุติ ไม่ได้แบ่งบัญญัติ ไม่ได้แบ่งโลกุตตระ ไม่ได้แบ่งโลกียะ หรือแบ่งปรมัตถ์กับสมมุติเลย ...ทุกอย่างเป็นความจริงหมดเลย

ก็ไม่ไปหือไปอือกับมันน่ะ ...จะไม่ไปหือไปอือ ไปแตะไปต้อง ไปข้องไปเกี่ยว ไปคลอเคลีย ไปอย่างนั้นอย่างนี้ ...อะไรปรากฏขึ้น จริงหมด ไม่หนีไม่แก้

แล้วมันจะเป็นไปในครรลองของมันเอง ...เหมือนเรือนี่ มุ่งจากมหาสมุทรใหญ่เข้าไปเรื่อยๆ จะถึงฝั่งแล้ว มันจะไปตกร่อง...ร่องน้ำของมัน มันจะมีร่อง

จากที่เราฝ่าฟันมาแทบเป็นแทบตายมานี่ ...พอมันไปๆ มาๆ เริ่มเข้าทาง พั้บ เห็นมั้ย มันมีร่องน้ำของมัน ...ลงร่องปั๊บนี่ นั่นเรียกว่าครรลองของมรรค

ทำไมถึงบอกว่าตกกระแส จิตตกกระแส...ไม่ใช่ตกออกจากกระแสนะ (หัวเราะกัน) ...ตกเข้าไปในกระแส จิตตกกระแส กระแสของอริยมรรค

เพราะนั้นเข้าไปแล้ว จึงบอกว่าไม่มีทางหลุด มันมีแต่พาเราเข้าฝั่ง ...พอถึงจุดนั้น ที่ว่าไอ้กูพายแทบตายนี่...ไม่พายแล้ว กูไม่พายแล้ว กูนั่งตีพุงอยู่ในเรือไปเรื่อยๆ ...นั่น มันจะเป็นครรลองของมรรค

แต่อาจจะมีบ้างที่แอบพาย แล้วก็รู้...เออ กูจะพายให้เหนื่อยทำซากอะไร เดี๋ยวกูก็ออกนอกรอบอีกหรอก ...แล้วมันก็รู้...ในร่องมันจะมีกำลังของมันไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ

ไม่มีทางหลุดรอดออกจากกระแสนี้ ...นี่เขาเรียกว่ากระแสของมัชฌิมา เป็นกลางในทุกสรรพสิ่ง ไม่มีเงื่อนไขต่อทุกสรรพสิ่ง ไม่มีปัญหาต่อทุกสรรพสิ่ง

จนถึงที่สุดน่ะ...ของความเป็นกลาง ...ไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับใคร กับทุกสิ่งเลย ...นั่นแหละถึงเรียกว่าหมดจด...แค่นั้นเอง

แต่ว่ามันจะยากไอ้ตอนที่พยายามว่าย พยายามพาย แล้วก็พยายามหาร่อง เท่านั้นเอง ...ซึ่งเราบอกว่าไม่ต้องหา พายไปเถอะ มันมีร่องอยู่แล้วในการพายที่เราพายอยู่นั้น

เพราะเราไม่ได้พายออกนอกร่องเลย มันมุ่งเข้าสู่ร่องนี้ตลอด...นี่ หมายถึงถ้ามุ่งสู่ใจนะ ...แต่ว่าถ้าออกนอกใจ มันจะออกนอกร่องไปเรื่อยๆ นะ

ไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่ยืนยัน นอนยัน นั่งยัน ว่าสติปัฏฐาน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ใช่มั้ย ...ท่านไม่ได้พูดถึง ๗ ชาติเลยนะ ท่านว่า ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วันนะ

ทุกวันนี้ในเน็ทมันยังเขียนด่าอยู่เลย ที่เขาถามว่ารู้ง่ายๆ อย่างนี้จะไปได้เหรอ เห็นมั้ย ถ้าพวกเราฟังปุ๊บ หวั่นไหวนะว่าเป็นไปไม่ได้ นั่น นอกจากบางคนก็มีที่มุ่งหน้าทำไป 

ถึงบอกว่าถ้ามันไปทำ พากเพียรตั้งอกตั้งใจ...เอากายเอาใจตั้ง แล้วค่อยมาคุยกันก่อน ...แต่แค่เอามาสงสัยลังเล แล้วก็ไม่ทำอะไรสักอย่าง ...อย่าหวั่นไหวซะดีกว่า

ตั้งหน้าตั้งตาโง่เข้าไป...รู้โง่ๆ นี่แหละ มันทำได้ตลอดเวลา ...นั่น มันเข้าอยู่อย่างเดียว คือตกเข้ากระแสอริยมรรค ...โดยพวกเรายังไม่รู้หรอกว่ามันเข้ายังไง 

ใครว่าไม่จริง ใครว่าไม่ได้ ...เนี่ย กูมองยังไงๆ จนทะลุออกมาหมดแล้วนี่  มองข้างหน้าก็แล้ว มองข้างหลังกลับมาแล้ว กูก็เห็นว่ามันมีอยู่ทางนี้ทางเดียว

นี่ไม่ได้ว่าตั้งใจจะไปปฏิฆะกับใคร หรือไปคัดง้างกับใคร ...แต่เราพูดเพื่อย้ำๆๆ ว่าขอให้ตรง ตรงลงที่ใจ...ทุกอย่างน่ะจะไม่ยากอย่างที่เราคิดออกไป


โยม –  พระอาจารย์มีข้อแนะนำอะไรให้โยม

พระอาจารย์ –  ไม่มีอะไร อย่าทำอะไร

โยม –  คราวที่แล้วโยมก็ได้ประโยชน์จากคำสอนพระอาจารย์อย่างมาก


โยม (อีกคน)  แล้วโยมล่ะคะ

พระอาจารย์ –  ทำเยอะๆ (หัวเราะกัน) รู้เยอะๆ


โยม –  พอไปได้ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ได้หมด ขอให้รู้ให้เป็น แล้วกลับมาอยู่ที่ใจ รู้เยอะๆ


โยม –  พระอาจารย์คะ ที่พระอาจารย์เทศน์น่ะค่ะ เหมือนกับอย่างนี้ เดี๋ยวนี้หนูก็อยากจะปฏิบัติธรรมบ้าง อยากจะไปอยู่ที่วัดอะไรอย่างนี้ค่ะ เพราะฉะนั้นนี่หมายความว่ามันเป็นกิเลสรึเปล่า เราไม่ต้องกระวนกระวาย เราไม่ต้องไปทำตาม

พระอาจารย์ –  พอเวลาจะไปแล้ว มันจะปรับได้เลย เข้าใจมั้ย ...หมายความว่ามันจะไป มันไปเอง อย่าให้ความอยากพาไป ...รู้ก่อน รู้ให้เป็นก่อน นะ


โยม –  ทีนี้หนูถามอีกข้อหนึ่งค่ะ ว่าที่ผ่านมานี่มันทุกข์มาก ปรากฏว่าความทุกข์นี่มันทำให้เราเห็นอะไรชัดเจนขึ้น แล้วเราก็อยู่ห่าง อย่างนั้นหนูปฏิบัติถูกไหมคะ

พระอาจารย์ –  ถูกแล้ว แต่ให้สังเกตให้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าใครเป็นคนรู้ว่าสุข ใครรู้ว่าทุกข์ ใครรู้ว่ายินดี ใครรู้ว่ายินร้าย อย่างนี้ ...ยินดีก็รู้ ยินร้ายก็รู้

อย่าไปคิดว่าเอาแค่ความสุขหรือความสบาย ...ใครรู้ว่าสบาย...รู้อีก รู้ซ้อนเข้าไป เจริญสติหยั่งลงไป ...สติหยั่งลงไป เข้าใจคำว่าหยั่งลงไปมั้ย ไม่ใช่จ้อง ไม่ใช่เพ่งนะ

ใช้การเข้าไปหยั่ง...เข้าไปแตะ แล้วแยกออกจากอาการยินดียินร้ายในปรากฏการณ์นั้นๆ คือแยกใจออกให้ได้ซะก่อน ...นี่ อันนี้เป็นคำพูดนะ สติรู้อย่างเดียว รู้ไปก่อน แล้วมันจะค่อยๆ แยกออกเอง

โยมนี่อยู่กรุงเทพหรือเชียงใหม่


โยม –  อยู่กรุงเทพฯ ค่ะ เขาชวนมา

พระอาจารย์ –  ดีแล้ว นี่ไม่ใช่ว่าดวง ไม่ใช่ว่าเคราะห์ที่ได้มาฟัง ...มันมีเหตุปัจจัยที่เพียงพอจึงได้ฟัง


โยม –  เรียกว่าโชคดีเนอะ

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่โชคดี...อย่าคิดว่าโชคดีหรือโชคร้าย ...เหตุปัจจัยมันส่งมาแล้ว ให้ได้ฟัง มันเพียงพอแล้วที่จะต้องให้ทำ ให้ฟัง ให้ได้ยินแล้วเอาไปปฏิบัติ

จะฟังเข้าใจขนาดไหน จะภูมิอกภูมิใจในธรรมที่แสดงขนาดไหน ...มันไม่สำคัญเท่ากับที่ต้องเอาไปทำ จนเกิดผล 

ไม่ใช่มาอิ่มเอมดีใจว่าได้ยินได้ฟังแล้ว เข้าใจมากเลย ดีมาก อาจารย์สอนดีมาก เข้าใจหมด...แล้วไม่ไปทำอะไรเลย ก็ไม่ได้อะไร ...นั่น อย่ามาหาเราดีกว่า

กลับไปเจริญสติเยอะๆ ตั้งใจ...แล้วน้อมให้เข้าใจ ...เอาไปทำ เอาไปเจริญ เจริญสติระลึกรู้ สังเกต ...สังเกตเบาๆ ไม่ต้องแรงอะไรหรอก ให้รู้ให้มั่น ที่รู้ว่านั่ง นี่รู้...นี่กายนั่งอีกตัวหนึ่ง

พยายามสังเกตจับมันให้ได้ว่า กายนี้ไม่ใช่ใจ...ใจไม่ใช่กาย  คิดไม่ใช่ใจ...ใจไม่ใช่คิด  โกรธไม่ใช่ใจ...ใจไม่ใช่โกรธ ...พูดง่ายๆ โกรธไม่ใช่รู้...รู้ไม่ใช่โกรธ อย่างนี้ ...เห็นมั้ย มันไม่ใช่ตัวเดียวกัน 

แต่แรกๆ รู้ ระลึกรู้ ...ถ้าไม่มีสติมันจะไม่เห็น ต้องมีสติก่อนมันถึงจะเห็นอาการสองอาการปรากฏขึ้น...สองสภาวธรรมปรากฏ ...บ่อยๆ 

อย่าท้อ อย่าถอย อย่าเบื่อ อย่ารำคาญ...ที่มันลืมอีกแล้ว หลงอีกแล้ว หายอีกแล้วรู้อีก หลงก็กลายเป็นอาการหนึ่งแล้วก็รู้ แล้วก็ดูตรงนั้น...แยกลงไปเลย

อยากหลงดีนัก จับหลงมาเป็นบริกรรมคาถาซะเลย พอหลงอีก...มีหลงแล้วก็รู้อีกหนึ่งอาการ อย่างนี้ อะไรๆ เอาสติไปแยกให้หมด แยกใจออกจากอาการให้ได้

เพราะนั้นต้องขยัน แล้วมันจะเก็บเกี่ยวผลได้มากขึ้นๆ ...ความเบาความสบาย ความอยู่เหนืออำนาจของกิเลสที่มันจะชักลากเราให้กระทำคำพูดอะไรออกไป...จะน้อย

จิตก็มีแต่รู้แล้ววางๆๆ ...วางลูกเดียวเลยคราวนี้ ...อะไรที่มาแตะต้องสัมผัสกับใจรู้นี่ มันจะปล่อยทันทีเลย แค่แตะปุ๊บนี่ หลุดผลอย ร่วงเลย

แต่แรกๆ นี่ บางครั้งต้องเคี่ยวเข็ญมันเลยอ่ะนะ... กว่าจะวาง กว่าจะคลายออกนี่...ต้องอดทนๆ ต้องเป็นอย่างนั้นก่อน ...มันไม่ใช่รู้แล้วง่ายๆ ปล่อยได้ง่ายๆ หรอก

เอาแหละ...พอ


................................





วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/34 (3)


พระอาจารย์
2/34 (530925C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
25 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/34  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  คือไอ้บุญและบาปมันเป็นแค่ความเห็นน่ะ ...เพราะนั้นทั้งหลายทั้งปวง เมื่อถอนออกมาปุ๊บ มันจะเป็นแค่อาการ...ไม่มีของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของอาการ

แต่ตอนนี้แค่เดินเหยียบเงากันมันยังเครียดเลย (หัวเราะกัน) เข้าใจป่าว ...คือความหมายมั่นนะนั่นน่ะ เงาแท้ๆ ถ้าเดินเฉียดกันเมื่อไหร่ล่ะก็ทะเลาะกันแล้ว

เดินผ่านกันแค่ลมพัดได้กลิ่นน้ำหอมฉุนกึกขึ้นมานี่ เอาแล้ว หันไปมองใส่ด้วยสีหน้าที่ด่าทางสายตา ไปแล้ว ใช่มั้ย ...เห็นมั้ย นี่คือความหมายมั่นนะนั่น 

มันจะอะไรกันนักกันหนา ...เห็นมั้ย ดูใจสิๆ ใจที่มันมีความโง่เขลา หาเรื่องตลอด แน่ะ ...แล้วก็มาตายเกิดอยู่ในโลกนี้ ถ้าเรายังไม่ขวนขวาย ไม่ใส่ใจขึ้นมา

เพราะนั้นว่า หลักง่ายๆ คือสติตัวเดียว...พอแล้ว ...ใครว่าต้องพิจารณาอะไร นั่งสมาธิอะไร ต้องทำอะไรให้มากมาย มันก็เป็นองค์ประกอบเท่านั้นแหละ แต่ไม่ใช่หลักสำคัญอะไร

สำคัญคือต้องรู้...มีสติระลึกรู้ในทุกอิริยาบถ ในทุกกิจกรรม เหมือนลมหายใจเข้าออก ...อย่ามาอ้างว่าต้องนั่งสมาธิถึงจะได้สติ อย่ามาอ้างต้องนั่งสมาธิเดินจงกรมถึงจะได้ปัญญา

ทำอะไรก็ต้องให้มันได้ปัญญาสิ ...ขี้ก็ต้องได้ปัญญา กินก็ต้องได้ปัญญา เดินก็ต้องได้ปัญญา ...คือมันต้องมีสติให้ได้ในทุกกาลเวลาสถานที่ ต้องมีการระลึกได้...ไม่อ้างเลย

นั่น อย่างนั้นถึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรมอยู่ในสายเลือด อยู่ในชีวิต ...เพราะนั้นทั้งชีวิตจึงเป็นไปโดยธรรมและเพื่อธรรม


โยม –  ทุกลมหายใจเข้าออกเลยรึเปล่าเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เราพูดน่ะคำเปรียบเปรยแค่นั้นเอง ...ตอนนี้อย่าไปตั้งมั่นขนาดนั้นนะ อย่าไปยึด ...เราพูดเป็นคำอุปมาอุปมัยว่า...มันต้องตลอดเวลา ให้ความสำคัญขนาดนั้น


โยม –  แปลว่าเราเป็นมนุษย์ธรรมดา ก็ให้เรารู้ตัวเองตลอดหรือคะ

พระอาจารย์ –  อือฮึ ให้รู้อาการ ...มนุษย์หรือคนนี่ จริงๆ มันไม่ใช่คนหรอก มันเป็นแค่รูปกายแล้วก็รู้...คู่กันอย่างนี้ ...ให้รู้อย่างนี้


โยม –  ให้รู้ตัวตลอดเวลา

พระอาจารย์ –  ให้รู้...ยืนเดินนั่งนอน แล้วมันจะเห็นเป็นรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ...ไม่ใช่ว่าเราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน

ถ้ารู้อยู่นี่มันจะเป็นรูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน  เป็นแค่กายเดิน กายนั่ง กายนอน ...ไม่ใช่กายเราเดิน กายเรานั่ง กายเรานอน ...ถ้ากายเราเดิน กายเรานั่ง กายเรานอน แปลว่าขณะนั้นไม่มีอาการรู้อยู่


โยม –  อ๋อ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นถ้าเรารู้ปุ๊บนี่ มันจะเป็นแค่กายเดิน กายนั่ง กายนอน กายยืน ...ไม่มี “กายเรา”


โยม –  มันซ้อนอยู่

พระอาจารย์ –  อือ เห็นอีแอบมั้ย


โยม –  เห็นค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ เหมือนกับมีอีกวิญญาณนึง มีผีสิงอยู่ในร่างนี้ นั่นแหละคือใจ ...ให้มันเห็นอย่างนั้นน่ะ สติมันจะเห็นอย่างนั้น ...ถ้ามันเห็นอย่างนั้นปุ๊บนี่ กายนี่ไม่ใช่เราแล้ว กายเป็นกาย กายสักแต่ว่ากาย


โยม –  แล้วจะพิจารณารู้อีกทีมั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องพิจารณาอะไร รู้แค่นี้


โยม –  ให้รู้

พระอาจารย์ –  แค่เนี้ย ให้เห็นแค่นี้ พอแล้ว นี่คือเป้าหมายของสติ คือให้มันเห็นอย่างนี้ แยกอาการใจออกจากอาการของกาย หรืออาการของนาม คือความรู้สึก อารมณ์ ความคิด แค่นั้นเอง

สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ...สุข-ทุกข์นี่เห็นมั้ย มันจับต้องไม่ได้  นี่เรียกว่านาม เป็นอาการทางใจ...แล้วก็รู้ ...พอรู้ปุ๊บนี่ สุข-ทุกข์ไม่ใช่เราแล้ว กลายเป็นแค่อาการที่ถูกรู้

แค่นี้ มันถอดถอนความเป็นเราอยู่แล้ว ...ไม่ต้องคิดว่า “เรา” อยู่ตรงไหน จะได้เห็นแล้วก็ละออก...ไม่ใช่ ...รู้บ่อยๆ  มันจะถอนสักกายออก ถอนความหมายมั่นในกายไปทีละเล็กทีละน้อย

ถอนมากก็เหมือนกับคลายหัวน็อตออกน่ะ ...ถ้าไม่ถอนเมื่อไหร่ก็เหมือนกับตอกโป้งๆๆๆ ...คือถ้าไม่รู้น่ะๆ  ถ้าไม่มีสติก็คือขณะนั้นน่ะเรากำลังโป้งๆๆ ตอกย้ำมันลงไปในความเป็นเรา

แต่พอรู้ทีมันก็ถอนทีๆ ...รู้บ่อยๆ มันก็ถอนอยู่ตลอด เข้าใจมั้ย มันคลายออก ...แต่ถ้าหลงหายเผลอเพลินเมื่อไหร่ ไม่มีใจ ออกจากกาย ออกจากนาม ...มันก็คือตอกลูกเดียว

นั่น โป้งๆๆๆ ฝังลงไป ยิ่งแน่นเลย...ความหมายมั่นในกายของเรา ใจของเรา ก็จะหมายมั่นลงไปลึกเข้าไปๆ ...เพราะนั้นเราตอกอย่างเดียวนี่มากี่ชาติแล้วล่ะ

เพราะนั้นเวลาจะถอนออก มันไม่ใช่ว่าถอนทีเดียวออก บอกให้เลย ...จะเอาง่าย จะเอาลัด จะเอาตรง ครูบาอาจารย์ก็บอกว่า กูบอกตรงที่สุดแล้วนะเนี่ย กูไม่เห็นว่ามันจะตรงกว่านี้ตรงไหน

มันก็ว่า “จะเอาตรงนี้กว่านี้ จารย์  ตรงกว่านี้ๆ อีก” ...นั่น ต่อให้พระพุทธเจ้ามานั่งสอน มันก็ยังบอก “พระพุทธเจ้าครับ ขอเอาตรงกว่านี้ได้ไหม” …เห็นมั้ย กิเลสมนุษย์น่ะ มันไม่รู้จักพอ

มันขี้เกียจ มันจะเอาแบบเดี๋ยวนี้...แหม เอาแบบท่านโกณฑัญญะเลย ฟังปฐมเทศนา เอาตรงนั้นเลย “ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง...สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา”

โอ้โห กะจะเอาแบบเล็งผลเลิศ แล้วก็มาโทษ “อาจารย์ ...มันยังไม่ตรงๆ เอาให้ตรงกว่านี้  อาจารย์ดูจิตเลย อาจารย์ดูสิ ผิดมั้ยๆ” ...มันจะให้แก้ตรงนั้น ...แก้เข้าไปเหอะ มันก็ไม่ตรง เข้าใจมั้ย มันขี้เกียจน่ะ

มันต้องอาศัยความขยัน...ขยันรู้ ขยันถอน ขยันถอนออก ...ถอนออกยังไง คือถอนใจออกมาจากกาย แค่นี้แหละ...ด้วยสติ รู้ๆๆ มันถอนแล้ว อย่างเนี้ย มันอยู่ที่นี่คือการถอดถอน

เริ่มต้นน่ะ ถอนจากกายก่อน แล้วก็ถอนจากอารมณ์ ...แม้แต่เรารู้แล้วยังมีความรู้สึกว่า ใจเรา ตัวเรา มีตัวเรารู้อยู่ เข้าใจมั้ย...ช่างมัน เพราะเรายังละความหมายว่าใจเราไม่ได้

มันก็เหมือนกับมีเราอีกตัวที่เห็นอยู่ ...เออ ไม่เป็นไร  แล้วต่อไปมันจะเห็นเอง...อ๋อ ไอ้ที่ว่าใจเราๆ เรารู้ ...ไอ้เรารู้ๆๆ เรารู้อยู่นี่ มันเป็นแค่รู้เฉยๆ เข้าใจรึเปล่า ...เนี่ย มันก็จะไปละความเห็นหมายมั่นในใจเรา

แต่แรกๆ รู้ เออ มันมีใจเรารู้กับกาย...ไม่เป็นไร นั่นแหละถือว่าเป็นใจอยู่แล้ว ...แล้วต่อไปมันก็จะเห็นว่าไอ้ที่ใจเรา ใจเรารู้ๆๆ มันไม่ใช่แล้ว มันเป็นแค่ใจรู้ ...มันก็คลายออกว่าใจก็ไม่ได้เป็นเรา

แต่ว่ามันจะวางกายก่อน ถอยก่อนเบื้องต้น ...เพราะนั้น ดูจิตๆๆ พอเริ่มมาปั๊บ กูดูจิตลูกเดียว กูไม่ดูกายเลย ...นั่น ไปกันคนละเรื่อง หลงอย่างเดียวเลย หลุดๆๆ หลุดไปเรื่อย

นอกจากบางคนที่มีปัญญาจริงๆ ...คือเขาสะสมมา พวกนี้เขาสะสมมา มีฐาน ...สะสมมาหลายชาติ นะ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานมาก่อน พอพูดถึงดูจิตปั๊บ...แยกออกเลย อาการและรู้

แล้วก็แยกออกได้ชัดเจน ตั้งมั่นได้เลย อย่างนั้น ...เพราะนั้นเขาจะเห็นอาการของใจกับอาการของกาย เหมือนกัน แล้วก็เป็นปกติกับอาการนั้นได้

แต่ถ้าเริ่มต้นแล้วเราไม่ได้สะสมปัญญา ภูมิปัญญามาก่อน หรือว่าเคยเจริญสติมา สะสมมาแต่ชาติก่อนๆ มาแล้วนี่ ...พอเริ่มมาศรัทธาในการดูจิต แล้วเริ่มดูจิตเลยปึ้บ...ฐานยังไม่มั่นคง

ดูปุ๊บเดี๋ยวไหล ดูปั๊บเดี๋ยวก็ไหล ...ดูความคิดเดี๋ยวไหลตามความคิด ดูอารมณ์เดี๋ยวไหลตามอารมณ์ ...แล้วแยกไม่ออก มั่วไปหมด จะเริ่มมั่วแล้ว อย่างนั้นน่ะ

แล้วก็ต้องไปถอยออกไปตั้งหลัก...ที่ไหนก็ไม่รู้ ไปที่สงบๆ พอให้ใจมันคลายออกแล้วค่อยมารู้ชัดขึ้นมาอีกทีหนึ่ง อย่างนี้แล้วก็ยังทู่ซี้จะดูจิตต่อ...ด้วยความศรัทธา

ถ้าอย่างนี้ บอกแล้ว...เอาง่ายๆ รู้กายก่อน กายมันชัด นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ รู้เข้าไป ...ตั้งฐานของใจให้มั่นคงกับกายก่อน แยกถอนออกจากกายก่อน แยกรู้ออกจากกายก่อน แยกใจออกจากกายก่อน

แล้วมันจะค่อยๆ มั่นคงขึ้นๆ  ต่อไปเวลามีอาการหรืออารมณ์ปรากฏปุ๊บ มันก็จะเห็นชัดว่าคนละส่วนกันยังไง ...แล้วมันจะเหมือนกับ มันจะมีเส้นขนานตีคู่กัน ไม่ให้เข้าไปกับอาการ

แล้วมันจึงจะเห็นอาการนั้นดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่  ดับไป หรือว่าเสื่อมสลายไป หรือว่าแปรปรวน ...นี่ มันจึงจะเริ่มเห็นไตรลักษณ์ของอาการมากขึ้นๆ

แล้วก็ยอมรับความเป็นจริงของไตรลักษณ์มากขึ้น อย่างนี้ มันก็จะค่อยๆ คลายออกจากอาการ ห่างออกเรื่อยๆ ถอยกลับมาอยู่ที่ฐานของใจให้มั่นคงมากขึ้น

จนมันวางโดยสิ้นเชิงน่ะ วางอาการทางกาย วางอารมณ์ทางผัสสะทั้งหก อารมณ์นี่มันจะเกิดจากผัสสะห้า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วมันจะเหลือกลับมารู้ที่ใจ

เพราะนั้นเวลากลับมารู้ที่ใจนี่ เราจะเหลือแค่สัญญาอารมณ์ อดีตอนาคตเป็นรูปารมณ์ เป็นรูปละเอียด เป็นภพละเอียด เป็นภพอดีตภพอนาคต อีกทีหนึ่ง

เพราะนั้นว่าถ้าอยู่ในใจ ส่วนใจแล้ว มันจะไม่ข้องแวะกับผัสสะหยาบ ...ใครว่าอะไร ใครพูดอะไร ใครเดินไปเดินมา ใครทำไม่ถูกหูถูกตานี่ ฮื้อ เด่ะๆ ...ไม่มีสาระแล้ว

มันจะมาสนใจสัญญาอารมณ์อดีตอนาคต ความขุ่น ความมัว ความหมอง ความเศร้า ความจริง ความอยากนั้นอยากนี้ ไม่อยากนั้นไม่อยากนี้ ...มันจะชัดเจนตรงนั้นแหละ

แล้วก็ค่อยๆ คลี่คลายทีละเล็กทีละน้อย เพราะการรู้แต่ละครั้งๆ นี่ มันคือการละออก คลายออก ...แต่ต้องรู้กลางๆ นะ ไม่ใช่รู้แบบเจาะจง หรือว่ารู้แบบจะเอาๆ ...คือการรู้ รู้เบาๆ ไปเรื่อยๆ  

แล้วมันจะละๆๆ คลายออกไป ...ให้สังเกตดู เวลาเราคลายออก เราละออกนี่ ไม่รู้เลยว่ามันละออกตอนไหน ไม่รู้เลยว่ามันเปลี่ยนไปได้ยังไง ...นี่ หาช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนไม่ได้เลย 

มันไม่ใช่ว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังตีนให้เห็นจะๆ หรอก ...มันจะค่อยๆ คลี่คลาย ทีละเล็กทีละน้อย  พอมาสังเกตดู...เอ๊ะ มันไม่เหมือนเดิมแล้ว มันห่างไปตั้งเยอะ

แต่ก่อนมันไม่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรารู้สึกไม่เห็นมันตื่นเต้นกับอะไร ไม่ค่อยไปดีใจเสียใจกับอะไรสักเท่าไหร่เลย ...อือ มันเปลี่ยนไป มันจะค่อยๆ มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น

แต่ว่าในขณะที่มันเปลี่ยนไปยังไง หรือมันคลายออก มันวางออกนี่ ...มันแทบไม่เห็นโดยชัดเจนเลย 

แล้วมันค่อยมาประมวลไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...เสร็จแล้วมันก็จะเริ่มแนบแน่นอยู่ที่ใจ สติน่ะ แนบแน่นอยู่ที่ใจที่เดียว ภายในล้วนๆ ถอยกลับมารู้ภายในล้วนๆ

พอถึงจุดนั้นแล้ว มันจะมีเหตุปัจจัยภายนอกมาสงเคราะห์ให้เกิดกายวิเวก จิตวิเวกขึ้นมาจริงๆ ...เพราะมันยากนักที่จะไปนั่งสำเร็จในเซ็นเตอร์สแควร์ หรือในพารากอนน่ะ (หัวเราะกัน)

มันจะมีเหตุปัจจัยที่จะต้องให้ไปอยู่ในที่สงัด แล้วก็พาให้ออกมาอยู่ในกายวิเวก จิตวิเวก อีกทีหนึ่ง...อย่างนั้น ถึงจะเป็นการชำระโดยเบ็ดเสร็จ


(ต่อแทร็ก 2/34  ช่วง 4)




วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/34 (2)


พระอาจารย์
2/34 (530925C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
25 กันยายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/34  ช่วง 1 

พระอาจารย์ –  แต่พวกเราไม่ต้องคิดมากหรอก กลับมาแค่นี้ ให้เจอใจก่อน ...ถ้ายังไม่เจอ ยังออกนอกใจอยู่ตลอดนี่ ยังไงก็ไม่กลับมาสู่ฐานของอริยมรรคได้ 

มันจะไม่เกิดเป็นครรลองของอริยมรรคได้เลยถ้าไม่เจอใจ ...เพราะฉะนั้น เอาใจเป็นใหญ่...ได้ใจได้หมด เห็นใจเห็นหมด ละที่ใจละได้หมด บอกให้เลย

แต่เบื้องต้น มันยังแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนเป็นใจ อันไหนเป็นจิต อันไหนเป็นอารมณ์ มันใช่รึเปล่า อันนี้ใจเราอยู่ตรงนี้รึเปล่า ใจเราอยู่ตรงนั้นรึเปล่า...ไม่ใช่นะ อย่าไปไล่หาใจที่ไหน

วิธีจะไล่หาใจมีวิธีเดียวคือสติระลึกรู้ ...โกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ ยินดีก็รู้ ยินร้ายก็รู้ หลงก็รู้ เดินก็รู้ ยืนก็รู้ นั่งก็รู้ ...นี่ อย่างนี้จึงจะเรียกสภาวะใจให้ปรากฏขึ้น...ด้วยสติ

ไม่ใช่ด้วยการหา หรือทะยานออกไป...เอ๊ะใช่รึเปล่าๆ ...ถ้าอย่างนี้ สงสัย...มีแต่สงสัยกับสงสัย แล้วก็วิ่งออกไปอย่างเดียว ...นี่เขาเรียกว่าจิตส่งออก

การส่งออกท่านเรียกว่า มมังโส...ส่งออก ...ถ้าส่งออก มมังโสนี่ มันจะมีแต่เรื่องราว ...ผลของการมมังโสคือจะเกิดอหังการ คือความเป็นตัวเป็นตนมากขึ้น

เพราะนั้น สติระลึกรู้ ใจรู้...รู้ใจ นี่เรียกว่า โยนิโส...โยนิโสมนสิการ ย้อนกลับเข้ามา ซึ่งมันความหมายเดียวกับโอปนยิโกน่ะ มันจึงจะเกิดความเป็นปัจจัตตัง...ตรงนี้ ...ปัจจัตตังต้องอยู่ตรงนี้นะ...ที่ใจนะ 

ปัจจัตตังไม่ได้อยู่ที่การมมังโส เช่นว่ามองออกไป เพ่งว่ามันเป็นอะไร แล้วก็พิจารณา แล้วก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่า...เอ๊อะ เข้าใจ อย่างนี้คือมมังโส ...มันจะเกิดความเห็นใหม่ๆ ขึ้นมา เกิดเวทนาใหม่ๆ ขึ้นมา 

ก็เกิดภพใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วก็เกิดความหมายมั่นตามไปด้วย ...ยิ่งเห็นชัด ยิ่งรู้ชัด...ยิ่งหมายมั่นชัด ยิ่งเป็นอหังการ ...เพราะมันออกนอกใจอย่างเดียว แล้วมันแสวงหาอยู่ 

แต่ถ้าฝึกด้วยปัญญา ด้วยสตินี่ มันจะมีอาการเฉลียว ...เฉลียวนี่ เข้าใจคำว่าชวนะมั้ย  ถ้ารู้จักมีชวนะจิตน่ะ หรือชวนะการย้อนกลับน่ะ ...เอ๊อะ ใช่รึเปล่าวะ 

นั่น มันจะระลึกรู้ขึ้นมาว่าออกไปแล้ว ...มันจะกลับมาอยู่ที่ฐานใจเลย...สำคัญนะ ต้องแยกให้ออกนะว่าสติไปรู้ แล้วก็รู้ไปเรื่อยนะ หรือไปหาความรู้จากสิ่งที่ปรากฏอยู่ ไปเอาถูกเอาผิดนี่ 

เพราะนั้นไอ้ที่เขาเถียงทะเลาะกันนี่ เพราะเขาเอาไอ้สิ่งนี้มาแบ่งกัน ...คนหนึ่งเห็นอย่าง อีกคนหนึ่งเห็นอีกอย่าง ก็คนนี้ทำอย่างนี้ อีกคนทำอย่างนั้น คนอื่นๆ ทำอย่างโน้น

อย่างคนหนึ่งว่า...ก็ชั้นนั่งท่านี้ มันก็ต้องปวดอย่างนี้  ถ้าชั้นนั่งท่านั้น มันก็ต้องปวดอีกแบบนึง ...แล้วมันก็เอาไอ้สิ่งนั้น เวทนานั้นน่ะมาเถียงกันว่าถูกและผิด

ซึ่งเราบอกว่าผิดหมด ไม่ถูกเลย...เพราะมันเป็นเรื่องนอกใจทั้งหมดเลย ...พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เอาอันนี้มาเป็นสาระ ท่านบอกว่าหาแก่นสารไม่ได้ ท่านบอกว่าไม่มีประโยชน์เลย

แก่นสารอยู่ตรงนี้...ทำอะไร..รู้ คิดอะไร..รู้ มีความเห็นอะไร..รู้ ...แล้วให้เห็นว่าไอ้ที่จิตโง่มันว่าเป็นแก่นสารนี่ มันหาย มันเสื่อม มันแปรปรวน มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ...อย่างนี้ต่างหากถึงว่าเห็นไตรลักษณ์ 

แต่ที่เอาเป็นเอาตายอยู่นี่ เราถามว่ามันเป็นไตรลักษณ์ตรงไหน เอาชนะกันอยู่นั่นน่ะในความเห็น ...แล้วก็ยึดความเห็นของตัวเองว่าเที่ยงน่ะ แล้วจะทำให้คนอื่นเที่ยงตามความเห็นเราน่ะ เข้าใจมั้ย 

นั่นน่ะ มันจะไม่มีคำว่าจบสิ้นเลยนะ ...เพราะนั้นถ้ามีปัญญา ถอยออกๆ รู้แล้วถอยออก ถอยจากอาการทั้งหลายทั้งปวงนี่ กลับมาอยู่ที่ใจ...ใครจะว่าโง่ ใครจะว่าแพ้...ช่างหัวมัน

ใครจะว่าไม่รู้จักครูบาอาจารย์ ไม่ได้กตัญญู ไม่ได้ตอบโต้แทนท่าน หรือว่าอธิบายแทนท่าน ...ไม่ต้องอธิบาย เสียเวลา อาจารย์ท่านไม่สนใจหรอก อาจารย์ท่านอยู่ที่ใจแล้ว เข้าใจมั้ย ท่านไม่เกี่ยว

ไอ้ตัวลูกศิษย์นั่นแหละ ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ตัวลูกศิษย์ (หัวเราะกัน) มันไม่จบก็ไม่จบที่ลูกศิษย์นี่แหละเพราะนั้นถ้าจะเป็นลูกศิษย์ท่านจริงๆ ต้องกลับมาอยู่ที่ใจเหมือนท่าน

แล้วมันจะทำให้โลกนี้สงบสันติขึ้น ...มันไม่สงบสันติในโลก ก็ให้สงบสันติธรรมเหมือนกับสวนสันติธรรมนั่นแหละ ...ไม่ต้องอะไร ยอมรับซะ แล้วก็กลับมารู้อยู่ ตรงเนี้ย

แล้วในการที่จิตรู้ รู้อยู่ที่ใจ มันมีพลังในตัวของมันเอง มันมีเป็นพลังธรรม...ไม่ใช่ของจำลองนะ (หัวเราะกัน) พลังธรรม พลังในโลกุตรธรรม อยู่ในนั้น

ไม่ต้องกลัว...ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรมเอง ...ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องไปสร้างหาเครื่องมือ หาอุปกรณ์ หรือหาความคิดความเห็นใดมาลบล้าง หรือเป็นเกราะกำบังเลย

อยู่ที่ใจดวงนี้แหละ มันจะมีเกราะในตัวของมันเอง มันจะเป็นธรรม...เป็นธรรมาวุธ นะ เป็นธรรมที่จะคุ้มครองแล้วก็จะเผื่อแผ่ความร่มเย็นออกไปเป็นเมตตาธรรม

นี่พระพุทธเจ้าท่านให้แก้ด้วยวิธีนี้...ด้วยเมตตา ...ใจที่อยู่ตรงนี้ มันจะไม่มีความเบียดเบียนผู้อื่นเลย ตรงนี้มันจะมีกระแสของความเย็น ความเป็นเมตตาอยู่ตลอดเวลา

แล้วถ้าเมตตาหนึ่งดวง สองดวง สามดวง สิบดวง ร้อยดวง ...แต่ละคนนี่ วันพระวันเพ็ญฟังธรรม ผลตั้งเท่าไหร่ สามสี่ร้อยคน สามสี่ร้อยดวงที่เมตตา ...ตรงนั้นมันจะไม่ร่มเย็นให้มันรู้ไปสิ เข้าใจมั้ย

ท่านไม่ได้แก้ด้วยการจะต้องมาขัดแย้งกัน เอาชนะกัน นั่น...เอาน้ำเย็นเข้าลูบ ถอยอย่างเดียว อย่าคิดว่าแพ้ ...ถอยยังไง ถอยกลับมาอยู่ที่ใจ ใครเขาจะวิ่งมุ่งออกมา...ช่างเขาปะไร

เราก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้...เพื่อจะให้เห็นใจอย่างนี้ ...ก็ถือว่า...ด่านี่...เออ จะได้เห็นใจเรา  โกรธ...อ้อ รู้ว่าโกรธ  อยากจะแก้ อยากจะอธิบาย ก็รู้ว่าอยากอธิบาย

เห็นมั้ย กลายเป็นปัจจัยมาสงเคราะห์ให้เกิดภาวะใจของเราเด่นชัดขึ้น  …ถ้านั่งๆ นอนๆ ยืนๆ เดินๆ เฉยๆ  มันมีแต่หลงแต่เผลอแต่เพลินอย่างเดียว ...พอมีเรื่องปุ๊บนี่ เห็นใจชัดเลย (หัวเราะกัน)

ดีออก...เห็นมั้ย เป็นปัจจัยสงเคราะห์ให้เกิดธรรมทั้งสิ้น ไม่ได้มาขัดขวางอะไรเลย ...แค่นี้ เรามองอย่างนี้ เห็นมั้ย มีแต่ความสงบระงับแล้ว ไม่ไปมีเรื่องมีราวอะไรกับใคร 

เมื่อมันไม่ไปเอาเป็นเรื่องเป็นราว ทุกอย่างก็จบลงที่ใจ ...ทุกคนจบลงที่ใจ ศาสนาพุทธก็จบลงที่ใจ กลายเป็นว่าอะไรก็จบลงตรงที่ใจ เป็นจุดจบ และมีที่จบได้

ออกนอกนี้ไปไม่มีจบ...ออกนอก “นี้” ไป ไม่มีจบ ...ออกนอก “นี้” ไป มีแต่ทุกข์  ออกนอก “นี้” ไปมีแต่ความไม่เที่ยง  ออกนอก “นี้” ไปมีแต่ความไม่จบสิ้น

อยู่ที่ “นี้” ที่เดียว เป็นที่อยู่ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยืน เป็นที่อาศัย ...ต้องอาศัยใจเป็นมรรค เป็นทางดำเนิน ต้องอยู่ที่ใจจึงจะเป็นอริยมรรค นั่นน่ะ

แล้วเมื่อถึงที่ ถึงฝั่ง ข้ามฝั่งแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเอาเรือแบกไป เขาก็จะทิ้งใจให้หมดสภาวะของเขาเอง ...แต่ตอนนี้เราต้องอาศัยใจ เป็นเหมือนเรือ...ข้าม

พูดว่าข้ามฟากก็สั้นไป ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกแล้วกัน หรือมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างนี้ ...ต้องอาศัยใจดวงนี้เป็นเรือข้ามฟากมหาสมุทรแห่งทุกข์ หรือมหาสมุทรแห่งโอฆะ วัฏฏะ

เพราะนั้นในมหาสมุทรน่ะ มันไม่ใช่น้ำในบ่อ มันไม่ใช่น้ำในบ่อที่มันนิ่ง ...มหาสมุทรมันมีคลื่นลม มีฤดูมรสุม มีทั้งสัตว์ร้ายที่คอยจะมากล้ำกรายทำให้เรือนี่หวั่นไหว ไหวๆๆ

ถ้าสติน้อย ปัญญาทราม เดี๋ยวก็ล่ม ...ล่มแล้วอย่าท้อถอย กู้ขึ้น พลิกขึ้นมา ...เรียนรู้ เอาความชำนาญ อย่างนั้นน่ะ เชี่ยวชาญ ชำนาญ...เดี๋ยวมันก็ชำนาญขึ้นมา

พอชำนาญขึ้นแล้ว ...คราวนี้คลื่นใหญ่ คลื่นเล็ก คลื่นปานกลาง ไม่มีคลื่น...ไปได้หมด สามารถประคับประคองเรือนี้ไปได้หมด ...นั่นแหละคือแยกใจได้ออกจากทุกอาการ

นั่นคือความชำนาญนะ...ไม่เรียกว่าความชำนาญก็เรียกว่าปัญญา ...ไม่ได้ไปหาจากไหนหรอก หาจากการที่ล้มบ่อยๆ ล่มบ่อยๆ นั่นแหละ ...จะได้รู้ว่ามันทุกข์

เออ พอ...อ๋อ มันล้มเพราะกูเข้าไปทางนี้ คลื่นมันมาทางนี้ ดันเข้าไปทางนี้ก็ล่มสิ อย่างนี้ ...มันก็จะ เออ ฉลาดขึ้น...อ๋อ รู้ออกมา ไอ้อย่างนี้เราหลงกับมัน รู้ออกถอนออกๆ ...นี่ ชำนาญ

ก็ไปเรื่อยน่ะ พอถึงฝั่งก็สบายแล้ว ข้ามฝั่งไปแต่ตัว เรือทิ้ง พายทิ้ง เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญา...ใจ แม้กระทั่งใจ...พวกนี้คืออุปกรณ์ เป็นแค่ครรลองของมรรค เป็นมรรค

ปัญญาไม่ใช้แล้ว ไม่เอาแล้ว สติก็ไม่ใช้แล้ว ไม่สนแล้ว สมาธิก็ไม่จำเป็นแล้ว ไม่เห็นจะต้องตั้งมั่นอะไร ...ทิ้งหมดเลย เดินตัวเปล่าไป นั่นแหละ ไปสู่ความไม่กลับมา ...ไปเจอกันเองน่ะ ในที่ที่ไม่มีให้เจอน่ะ (หัวเราะกัน)

อย่าท้อถอย ทุกคนสามารถทำได้ในชาตินี้ บอกให้เลย ...ที่มันไม่ได้เพราะมันไม่ใส่ใจ ขี้เกียจ ไม่ตั้งใจ ปล่อยให้เผลอๆ เพลินๆ กระท่อนกระแท่นๆ รุ่งๆ ริ่งๆ อย่างนี้...ไปไม่รอดหรอก

แต่ถ้าตั้งใจใส่ใจขึ้นมา ไปได้หมด เดี๋ยวนี้ก็ได้ ชาตินี้ก็ได้ ...ไม่นานหรอก ไม่กี่ปีหรอก ขอให้ตั้งใจใส่ใจเหอะ อย่าท้อถอย อย่าประเมินกำลังตัวเองต่ำ

อย่าคิดว่ามีอุปสรรคเยอะ การงานเยอะ ครอบครัวก็มีปัญหา งานก็มีปัญหา เจ้านายก็มีปัญหา การเงินการทองก็มีปัญหา อะไรๆ ก็ยังเป็นปัญหา ...มีอะไรเยอะแยะไปหมด

นั่นมันเป็นข้ออ้าง...มันเป็นข้ออ้าง อย่าไปฟัง ...รู้อย่างเดียวๆ รู้ๆ รู้เข้าไป มันไม่ได้ยากเกินไปหรอกเนี่ย พระพุทธเจ้าทำไมถึงมาเกิดเป็นคน ทำไมถึงมาสอนให้คน

เพราะว่า คนนี่...บอกแล้ว ที่สุดเลย ที่จะเรียนรู้ธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วจะเห็นธรรม ...ทำไมท่านไม่ไปเกิดเป็นพรหมซะเลยล่ะ กิเลสมันน้อยดีออก ใช่มั้ย  

นั่น รูปก็ไม่มี ไม่ต้องมาดูกายด้วยซ้ำ เห็นมั้ย ทำไมถึงไม่สอนง่ายๆ ล่ะ มาสอนคนทำไม ...เพราะว่าคนนี่แหละเป็นภพเป็นภูมิที่เหมาะสมที่สุด เป็นกลางที่สุด

แล้วการได้เกิดมาเป็นคน หมายความว่า คนนั้นน่ะมีคุณสมบัติเพียงพอแล้วที่จะเข้าถึงธรรมในชาตินี้ ...ไม่งั้นไม่ได้เกิดเป็นคน บอกให้เลย นอกจากบ้าใบ้เสียสติ อันนั้นไม่มีทาง

แต่ถ้ามันเป็นคนอย่างนี้...ได้หมด ...มันไม่ได้เพราะขี้เกียจ ไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากเกินไป ไม่ให้ความสำคัญกับการรู้กายรู้ใจ แล้วก็แยกรู้ออกจากกายและใจ...แค่นั้นเอง

นี่ ไม่ได้สอนลึกลับซับซ้อน พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนลึกลับซับซ้อนอะไร ...ไม่ต้องไปเสียเวลากับความคิดความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ตรงแน่วลงไปที่รู้กายรู้ใจในปัจจุบันเท่านั้น

แล้วก็ตั้งมั่นเป็นกลางกับรู้นั้นให้ได้ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นไปเอง ...ไม่มีใครกระทำ ไม่มีผู้รับผลของการกระทำ มีแต่เห็นไปตามความเป็นจริง ว่า อ๋อๆๆๆ ...แค่นี้เอง เรียกว่าปัจจัตตัง

แล้วก็ไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรให้ “อ๋อ” น่ะ ...หมด ไม่อ๋อไม่แอ๋แล้ว ไม่รู้อะไรให้ “อ๋อ” แล้ว ไม่มีอะไรให้ “อ๋อ” แล้ว นั่นน่ะ จบหมด เท่านั้นแหละ ...ถึงจะหมดหน้าที่ ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว 

ไม่ต้องมาคอยสังเกต คอยดู คอยรู้อะไรแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเราทั้งสิ้นแล้ว ...กายที่กระทำก็ไม่ใช่กายของเราโดยสิ้นเชิงแล้ว ใจที่รับรู้อะไรก็ไม่ใช่ใจของเราโดยสิ้นเชิงแล้ว 

นั่นแหละ แล้วมันก็อยู่ด้วยความเป็นอิสระ ...กรรมอะไรกูไม่สนแล้ว...ไม่มีกรรม บาปก็ไม่มี บุญก็ไม่มี ...เขามาตีหัวก็บอก เออ นี่เป็นความจริงอันหนึ่ง (หัวเราะกัน) ไม่รู้เป็นบาปหรือเป็นบุญ

เดินตกท่อ ก็...เออ นี่ก็เป็นความจริงอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้น เออ ...นี่เขาเรียกว่ามีชีวิตอยู่เหนือบุญและบาป ทั้งที่ว่าโดนตีหัว โดนอะไรไปเรื่อยเปื่อย ...ก็ไม่เป็นไร


(ต่อแทร็ก 2/34  ช่วง 3)