วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/34 (2)


พระอาจารย์
2/34 (530925C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
25 กันยายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/34  ช่วง 1 

พระอาจารย์ –  แต่พวกเราไม่ต้องคิดมากหรอก กลับมาแค่นี้ ให้เจอใจก่อน ...ถ้ายังไม่เจอ ยังออกนอกใจอยู่ตลอดนี่ ยังไงก็ไม่กลับมาสู่ฐานของอริยมรรคได้ 

มันจะไม่เกิดเป็นครรลองของอริยมรรคได้เลยถ้าไม่เจอใจ ...เพราะฉะนั้น เอาใจเป็นใหญ่...ได้ใจได้หมด เห็นใจเห็นหมด ละที่ใจละได้หมด บอกให้เลย

แต่เบื้องต้น มันยังแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนเป็นใจ อันไหนเป็นจิต อันไหนเป็นอารมณ์ มันใช่รึเปล่า อันนี้ใจเราอยู่ตรงนี้รึเปล่า ใจเราอยู่ตรงนั้นรึเปล่า...ไม่ใช่นะ อย่าไปไล่หาใจที่ไหน

วิธีจะไล่หาใจมีวิธีเดียวคือสติระลึกรู้ ...โกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ ยินดีก็รู้ ยินร้ายก็รู้ หลงก็รู้ เดินก็รู้ ยืนก็รู้ นั่งก็รู้ ...นี่ อย่างนี้จึงจะเรียกสภาวะใจให้ปรากฏขึ้น...ด้วยสติ

ไม่ใช่ด้วยการหา หรือทะยานออกไป...เอ๊ะใช่รึเปล่าๆ ...ถ้าอย่างนี้ สงสัย...มีแต่สงสัยกับสงสัย แล้วก็วิ่งออกไปอย่างเดียว ...นี่เขาเรียกว่าจิตส่งออก

การส่งออกท่านเรียกว่า มมังโส...ส่งออก ...ถ้าส่งออก มมังโสนี่ มันจะมีแต่เรื่องราว ...ผลของการมมังโสคือจะเกิดอหังการ คือความเป็นตัวเป็นตนมากขึ้น

เพราะนั้น สติระลึกรู้ ใจรู้...รู้ใจ นี่เรียกว่า โยนิโส...โยนิโสมนสิการ ย้อนกลับเข้ามา ซึ่งมันความหมายเดียวกับโอปนยิโกน่ะ มันจึงจะเกิดความเป็นปัจจัตตัง...ตรงนี้ ...ปัจจัตตังต้องอยู่ตรงนี้นะ...ที่ใจนะ 

ปัจจัตตังไม่ได้อยู่ที่การมมังโส เช่นว่ามองออกไป เพ่งว่ามันเป็นอะไร แล้วก็พิจารณา แล้วก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่า...เอ๊อะ เข้าใจ อย่างนี้คือมมังโส ...มันจะเกิดความเห็นใหม่ๆ ขึ้นมา เกิดเวทนาใหม่ๆ ขึ้นมา 

ก็เกิดภพใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วก็เกิดความหมายมั่นตามไปด้วย ...ยิ่งเห็นชัด ยิ่งรู้ชัด...ยิ่งหมายมั่นชัด ยิ่งเป็นอหังการ ...เพราะมันออกนอกใจอย่างเดียว แล้วมันแสวงหาอยู่ 

แต่ถ้าฝึกด้วยปัญญา ด้วยสตินี่ มันจะมีอาการเฉลียว ...เฉลียวนี่ เข้าใจคำว่าชวนะมั้ย  ถ้ารู้จักมีชวนะจิตน่ะ หรือชวนะการย้อนกลับน่ะ ...เอ๊อะ ใช่รึเปล่าวะ 

นั่น มันจะระลึกรู้ขึ้นมาว่าออกไปแล้ว ...มันจะกลับมาอยู่ที่ฐานใจเลย...สำคัญนะ ต้องแยกให้ออกนะว่าสติไปรู้ แล้วก็รู้ไปเรื่อยนะ หรือไปหาความรู้จากสิ่งที่ปรากฏอยู่ ไปเอาถูกเอาผิดนี่ 

เพราะนั้นไอ้ที่เขาเถียงทะเลาะกันนี่ เพราะเขาเอาไอ้สิ่งนี้มาแบ่งกัน ...คนหนึ่งเห็นอย่าง อีกคนหนึ่งเห็นอีกอย่าง ก็คนนี้ทำอย่างนี้ อีกคนทำอย่างนั้น คนอื่นๆ ทำอย่างโน้น

อย่างคนหนึ่งว่า...ก็ชั้นนั่งท่านี้ มันก็ต้องปวดอย่างนี้  ถ้าชั้นนั่งท่านั้น มันก็ต้องปวดอีกแบบนึง ...แล้วมันก็เอาไอ้สิ่งนั้น เวทนานั้นน่ะมาเถียงกันว่าถูกและผิด

ซึ่งเราบอกว่าผิดหมด ไม่ถูกเลย...เพราะมันเป็นเรื่องนอกใจทั้งหมดเลย ...พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เอาอันนี้มาเป็นสาระ ท่านบอกว่าหาแก่นสารไม่ได้ ท่านบอกว่าไม่มีประโยชน์เลย

แก่นสารอยู่ตรงนี้...ทำอะไร..รู้ คิดอะไร..รู้ มีความเห็นอะไร..รู้ ...แล้วให้เห็นว่าไอ้ที่จิตโง่มันว่าเป็นแก่นสารนี่ มันหาย มันเสื่อม มันแปรปรวน มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ...อย่างนี้ต่างหากถึงว่าเห็นไตรลักษณ์ 

แต่ที่เอาเป็นเอาตายอยู่นี่ เราถามว่ามันเป็นไตรลักษณ์ตรงไหน เอาชนะกันอยู่นั่นน่ะในความเห็น ...แล้วก็ยึดความเห็นของตัวเองว่าเที่ยงน่ะ แล้วจะทำให้คนอื่นเที่ยงตามความเห็นเราน่ะ เข้าใจมั้ย 

นั่นน่ะ มันจะไม่มีคำว่าจบสิ้นเลยนะ ...เพราะนั้นถ้ามีปัญญา ถอยออกๆ รู้แล้วถอยออก ถอยจากอาการทั้งหลายทั้งปวงนี่ กลับมาอยู่ที่ใจ...ใครจะว่าโง่ ใครจะว่าแพ้...ช่างหัวมัน

ใครจะว่าไม่รู้จักครูบาอาจารย์ ไม่ได้กตัญญู ไม่ได้ตอบโต้แทนท่าน หรือว่าอธิบายแทนท่าน ...ไม่ต้องอธิบาย เสียเวลา อาจารย์ท่านไม่สนใจหรอก อาจารย์ท่านอยู่ที่ใจแล้ว เข้าใจมั้ย ท่านไม่เกี่ยว

ไอ้ตัวลูกศิษย์นั่นแหละ ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ตัวลูกศิษย์ (หัวเราะกัน) มันไม่จบก็ไม่จบที่ลูกศิษย์นี่แหละเพราะนั้นถ้าจะเป็นลูกศิษย์ท่านจริงๆ ต้องกลับมาอยู่ที่ใจเหมือนท่าน

แล้วมันจะทำให้โลกนี้สงบสันติขึ้น ...มันไม่สงบสันติในโลก ก็ให้สงบสันติธรรมเหมือนกับสวนสันติธรรมนั่นแหละ ...ไม่ต้องอะไร ยอมรับซะ แล้วก็กลับมารู้อยู่ ตรงเนี้ย

แล้วในการที่จิตรู้ รู้อยู่ที่ใจ มันมีพลังในตัวของมันเอง มันมีเป็นพลังธรรม...ไม่ใช่ของจำลองนะ (หัวเราะกัน) พลังธรรม พลังในโลกุตรธรรม อยู่ในนั้น

ไม่ต้องกลัว...ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรมเอง ...ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องไปสร้างหาเครื่องมือ หาอุปกรณ์ หรือหาความคิดความเห็นใดมาลบล้าง หรือเป็นเกราะกำบังเลย

อยู่ที่ใจดวงนี้แหละ มันจะมีเกราะในตัวของมันเอง มันจะเป็นธรรม...เป็นธรรมาวุธ นะ เป็นธรรมที่จะคุ้มครองแล้วก็จะเผื่อแผ่ความร่มเย็นออกไปเป็นเมตตาธรรม

นี่พระพุทธเจ้าท่านให้แก้ด้วยวิธีนี้...ด้วยเมตตา ...ใจที่อยู่ตรงนี้ มันจะไม่มีความเบียดเบียนผู้อื่นเลย ตรงนี้มันจะมีกระแสของความเย็น ความเป็นเมตตาอยู่ตลอดเวลา

แล้วถ้าเมตตาหนึ่งดวง สองดวง สามดวง สิบดวง ร้อยดวง ...แต่ละคนนี่ วันพระวันเพ็ญฟังธรรม ผลตั้งเท่าไหร่ สามสี่ร้อยคน สามสี่ร้อยดวงที่เมตตา ...ตรงนั้นมันจะไม่ร่มเย็นให้มันรู้ไปสิ เข้าใจมั้ย

ท่านไม่ได้แก้ด้วยการจะต้องมาขัดแย้งกัน เอาชนะกัน นั่น...เอาน้ำเย็นเข้าลูบ ถอยอย่างเดียว อย่าคิดว่าแพ้ ...ถอยยังไง ถอยกลับมาอยู่ที่ใจ ใครเขาจะวิ่งมุ่งออกมา...ช่างเขาปะไร

เราก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้...เพื่อจะให้เห็นใจอย่างนี้ ...ก็ถือว่า...ด่านี่...เออ จะได้เห็นใจเรา  โกรธ...อ้อ รู้ว่าโกรธ  อยากจะแก้ อยากจะอธิบาย ก็รู้ว่าอยากอธิบาย

เห็นมั้ย กลายเป็นปัจจัยมาสงเคราะห์ให้เกิดภาวะใจของเราเด่นชัดขึ้น  …ถ้านั่งๆ นอนๆ ยืนๆ เดินๆ เฉยๆ  มันมีแต่หลงแต่เผลอแต่เพลินอย่างเดียว ...พอมีเรื่องปุ๊บนี่ เห็นใจชัดเลย (หัวเราะกัน)

ดีออก...เห็นมั้ย เป็นปัจจัยสงเคราะห์ให้เกิดธรรมทั้งสิ้น ไม่ได้มาขัดขวางอะไรเลย ...แค่นี้ เรามองอย่างนี้ เห็นมั้ย มีแต่ความสงบระงับแล้ว ไม่ไปมีเรื่องมีราวอะไรกับใคร 

เมื่อมันไม่ไปเอาเป็นเรื่องเป็นราว ทุกอย่างก็จบลงที่ใจ ...ทุกคนจบลงที่ใจ ศาสนาพุทธก็จบลงที่ใจ กลายเป็นว่าอะไรก็จบลงตรงที่ใจ เป็นจุดจบ และมีที่จบได้

ออกนอกนี้ไปไม่มีจบ...ออกนอก “นี้” ไป ไม่มีจบ ...ออกนอก “นี้” ไป มีแต่ทุกข์  ออกนอก “นี้” ไปมีแต่ความไม่เที่ยง  ออกนอก “นี้” ไปมีแต่ความไม่จบสิ้น

อยู่ที่ “นี้” ที่เดียว เป็นที่อยู่ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยืน เป็นที่อาศัย ...ต้องอาศัยใจเป็นมรรค เป็นทางดำเนิน ต้องอยู่ที่ใจจึงจะเป็นอริยมรรค นั่นน่ะ

แล้วเมื่อถึงที่ ถึงฝั่ง ข้ามฝั่งแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเอาเรือแบกไป เขาก็จะทิ้งใจให้หมดสภาวะของเขาเอง ...แต่ตอนนี้เราต้องอาศัยใจ เป็นเหมือนเรือ...ข้าม

พูดว่าข้ามฟากก็สั้นไป ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกแล้วกัน หรือมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างนี้ ...ต้องอาศัยใจดวงนี้เป็นเรือข้ามฟากมหาสมุทรแห่งทุกข์ หรือมหาสมุทรแห่งโอฆะ วัฏฏะ

เพราะนั้นในมหาสมุทรน่ะ มันไม่ใช่น้ำในบ่อ มันไม่ใช่น้ำในบ่อที่มันนิ่ง ...มหาสมุทรมันมีคลื่นลม มีฤดูมรสุม มีทั้งสัตว์ร้ายที่คอยจะมากล้ำกรายทำให้เรือนี่หวั่นไหว ไหวๆๆ

ถ้าสติน้อย ปัญญาทราม เดี๋ยวก็ล่ม ...ล่มแล้วอย่าท้อถอย กู้ขึ้น พลิกขึ้นมา ...เรียนรู้ เอาความชำนาญ อย่างนั้นน่ะ เชี่ยวชาญ ชำนาญ...เดี๋ยวมันก็ชำนาญขึ้นมา

พอชำนาญขึ้นแล้ว ...คราวนี้คลื่นใหญ่ คลื่นเล็ก คลื่นปานกลาง ไม่มีคลื่น...ไปได้หมด สามารถประคับประคองเรือนี้ไปได้หมด ...นั่นแหละคือแยกใจได้ออกจากทุกอาการ

นั่นคือความชำนาญนะ...ไม่เรียกว่าความชำนาญก็เรียกว่าปัญญา ...ไม่ได้ไปหาจากไหนหรอก หาจากการที่ล้มบ่อยๆ ล่มบ่อยๆ นั่นแหละ ...จะได้รู้ว่ามันทุกข์

เออ พอ...อ๋อ มันล้มเพราะกูเข้าไปทางนี้ คลื่นมันมาทางนี้ ดันเข้าไปทางนี้ก็ล่มสิ อย่างนี้ ...มันก็จะ เออ ฉลาดขึ้น...อ๋อ รู้ออกมา ไอ้อย่างนี้เราหลงกับมัน รู้ออกถอนออกๆ ...นี่ ชำนาญ

ก็ไปเรื่อยน่ะ พอถึงฝั่งก็สบายแล้ว ข้ามฝั่งไปแต่ตัว เรือทิ้ง พายทิ้ง เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญา...ใจ แม้กระทั่งใจ...พวกนี้คืออุปกรณ์ เป็นแค่ครรลองของมรรค เป็นมรรค

ปัญญาไม่ใช้แล้ว ไม่เอาแล้ว สติก็ไม่ใช้แล้ว ไม่สนแล้ว สมาธิก็ไม่จำเป็นแล้ว ไม่เห็นจะต้องตั้งมั่นอะไร ...ทิ้งหมดเลย เดินตัวเปล่าไป นั่นแหละ ไปสู่ความไม่กลับมา ...ไปเจอกันเองน่ะ ในที่ที่ไม่มีให้เจอน่ะ (หัวเราะกัน)

อย่าท้อถอย ทุกคนสามารถทำได้ในชาตินี้ บอกให้เลย ...ที่มันไม่ได้เพราะมันไม่ใส่ใจ ขี้เกียจ ไม่ตั้งใจ ปล่อยให้เผลอๆ เพลินๆ กระท่อนกระแท่นๆ รุ่งๆ ริ่งๆ อย่างนี้...ไปไม่รอดหรอก

แต่ถ้าตั้งใจใส่ใจขึ้นมา ไปได้หมด เดี๋ยวนี้ก็ได้ ชาตินี้ก็ได้ ...ไม่นานหรอก ไม่กี่ปีหรอก ขอให้ตั้งใจใส่ใจเหอะ อย่าท้อถอย อย่าประเมินกำลังตัวเองต่ำ

อย่าคิดว่ามีอุปสรรคเยอะ การงานเยอะ ครอบครัวก็มีปัญหา งานก็มีปัญหา เจ้านายก็มีปัญหา การเงินการทองก็มีปัญหา อะไรๆ ก็ยังเป็นปัญหา ...มีอะไรเยอะแยะไปหมด

นั่นมันเป็นข้ออ้าง...มันเป็นข้ออ้าง อย่าไปฟัง ...รู้อย่างเดียวๆ รู้ๆ รู้เข้าไป มันไม่ได้ยากเกินไปหรอกเนี่ย พระพุทธเจ้าทำไมถึงมาเกิดเป็นคน ทำไมถึงมาสอนให้คน

เพราะว่า คนนี่...บอกแล้ว ที่สุดเลย ที่จะเรียนรู้ธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วจะเห็นธรรม ...ทำไมท่านไม่ไปเกิดเป็นพรหมซะเลยล่ะ กิเลสมันน้อยดีออก ใช่มั้ย  

นั่น รูปก็ไม่มี ไม่ต้องมาดูกายด้วยซ้ำ เห็นมั้ย ทำไมถึงไม่สอนง่ายๆ ล่ะ มาสอนคนทำไม ...เพราะว่าคนนี่แหละเป็นภพเป็นภูมิที่เหมาะสมที่สุด เป็นกลางที่สุด

แล้วการได้เกิดมาเป็นคน หมายความว่า คนนั้นน่ะมีคุณสมบัติเพียงพอแล้วที่จะเข้าถึงธรรมในชาตินี้ ...ไม่งั้นไม่ได้เกิดเป็นคน บอกให้เลย นอกจากบ้าใบ้เสียสติ อันนั้นไม่มีทาง

แต่ถ้ามันเป็นคนอย่างนี้...ได้หมด ...มันไม่ได้เพราะขี้เกียจ ไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากเกินไป ไม่ให้ความสำคัญกับการรู้กายรู้ใจ แล้วก็แยกรู้ออกจากกายและใจ...แค่นั้นเอง

นี่ ไม่ได้สอนลึกลับซับซ้อน พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนลึกลับซับซ้อนอะไร ...ไม่ต้องไปเสียเวลากับความคิดความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ตรงแน่วลงไปที่รู้กายรู้ใจในปัจจุบันเท่านั้น

แล้วก็ตั้งมั่นเป็นกลางกับรู้นั้นให้ได้ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นไปเอง ...ไม่มีใครกระทำ ไม่มีผู้รับผลของการกระทำ มีแต่เห็นไปตามความเป็นจริง ว่า อ๋อๆๆๆ ...แค่นี้เอง เรียกว่าปัจจัตตัง

แล้วก็ไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรให้ “อ๋อ” น่ะ ...หมด ไม่อ๋อไม่แอ๋แล้ว ไม่รู้อะไรให้ “อ๋อ” แล้ว ไม่มีอะไรให้ “อ๋อ” แล้ว นั่นน่ะ จบหมด เท่านั้นแหละ ...ถึงจะหมดหน้าที่ ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว 

ไม่ต้องมาคอยสังเกต คอยดู คอยรู้อะไรแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเราทั้งสิ้นแล้ว ...กายที่กระทำก็ไม่ใช่กายของเราโดยสิ้นเชิงแล้ว ใจที่รับรู้อะไรก็ไม่ใช่ใจของเราโดยสิ้นเชิงแล้ว 

นั่นแหละ แล้วมันก็อยู่ด้วยความเป็นอิสระ ...กรรมอะไรกูไม่สนแล้ว...ไม่มีกรรม บาปก็ไม่มี บุญก็ไม่มี ...เขามาตีหัวก็บอก เออ นี่เป็นความจริงอันหนึ่ง (หัวเราะกัน) ไม่รู้เป็นบาปหรือเป็นบุญ

เดินตกท่อ ก็...เออ นี่ก็เป็นความจริงอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้น เออ ...นี่เขาเรียกว่ามีชีวิตอยู่เหนือบุญและบาป ทั้งที่ว่าโดนตีหัว โดนอะไรไปเรื่อยเปื่อย ...ก็ไม่เป็นไร


(ต่อแทร็ก 2/34  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น