วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/24 (1)



พระอาจารย์
2/24 (530901)
1 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  4  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาอยู่กับเวทนาน่ะ อย่าไปเอาชนะมัน รู้เฉยๆ แล้วก็แยกออกมา แยกระหว่างเจ็บ...กับรู้ว่าเจ็บ ให้รู้ว่าเจ็บ ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก

แล้วก็คอยรู้ทันความคิด อดีต-อนาคต นี่ มันจะคิดไปอนาคต คิดไปอดีต ให้รู้ทันมัน ...แล้วไม่ต้องไปใส่ใจกับมัน เจ็บก็รู้ว่าเจ็บ ช่างหัวมัน แล้วก็รู้

แค่กลับมาอยู่ที่รู้ เข้าใจมั้ย อย่าไปอยู่ที่เจ็บ ให้อยู่ที่รู้ ...เจ็บแล้วรู้ มันมีสองอาการ...เจ็บแล้วก็รู้ แล้วก็อยู่ที่รู้ เดี๋ยวรู้สักพัก เดี๋ยวก็เจ็บอีก รู้อีก เจ็บอีก...รู้

พอรู้...ระหว่างที่เจ็บน่ะ ถ้าไม่ชัดเจน จิตไม่ตั้งมั่นอยู่กับรู้นี่ มันจะส่ายออกมาเป็นความคิด “เมื่อไหร่จะหาย ทำยังไงดี” นี่ ให้รู้อีกว่าคิด แล้วก็กลับมาอยู่ที่รู้

อยู่อย่างนี้ เอาล่อเอาเถิดอยู่อย่างนี้ แล้วก็ไม่ต้องไปยุ่งกับอาการ ...มันก็ควบคุมไม่ได้หรอกอาการ เดี๋ยวก็ปรุง เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็คิดถึงคนนั้น เดี๋ยวก็คิดถึงเรื่องนี้

“เดี๋ยวเราจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเราจะเป็นอย่างนี้รึเปล่า เดี๋ยวจะเจ็บมากขึ้น อะไรอย่างนู้นอย่างนี้” ...ไม่ต้องไปคิด...รู้ แล้วก็รู้ แล้วก็กลับมารู้ ไม่ต้องไปห้ามความคิด ห้ามไม่ได้หรอก

แล้วไม่ต้องไปเอาชนะความเจ็บ ชนะไม่ได้ เจ็บก็เจ็บ เจ็บมากก็มาก เจ็บน้อยก็น้อย...แต่รู้  แล้วก็ไม่พอใจ...รู้  อะไรๆ...รู้ รู้อย่างนี้ ...วาง เพื่อให้กลับมาเป็นปกติ เป็นกลาง...เป็นกลางกับอาการ

แล้วไม่ต้องยุ่งกับอาการ อาการนี่แก้ไม่ได้ ชนะไม่ได้ด้วย ไม่มีทางที่ว่าสติเข้าไปจับรู้แล้วมันจะน้อยลงหรือเบาลง...ไม่มี  ...ไม่เอาเบา ไม่เอาลง ไม่เอาดับ...เอารู้ ยังไงๆ เอารู้  แล้วกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่รู้

รู้ ...ไม่พอใจก็รู้ ยินร้ายก็รู้ พอเริ่มดีขึ้นก็รู้ ...คือวางให้เป็นกลาง กลางอยู่กับรู้ ให้ตั้งมั่นอยู่ที่รู้...บ่อยๆ จนมันเป็นกลาง เป็นปกติ แล้วมันจะค่อยๆ เห็นความเป็นธรรมดาของมันมากขึ้น 

เจ็บมากก็เรื่องของมัน ก็รู้ธรรมดา จิตมันไปตั้งมั่นที่รู้แล้ว ...ถ้าเริ่มเป็นปกติ หมายความว่ามันเริ่มแยกออกมา ถ้าเป็นปกตินะ มันจะแยกขันธ์ออกมา...แยกขันธ์ออกจากใจในระดับหนึ่ง

แต่ว่ามันจะแยกแบบชั่วคราวนะ เดี๋ยวก็เข้าไปอีก ...เผลอ สติอ่อน สมาธิอ่อน เดี๋ยวก็เข้าไป เอาแล้ว “เมื่อไหร่เราจะได้ออกจากโรงพยาบาล เมื่อไหร่จะอย่างนั้นอย่างนี้  นี่มันจะต้องมาซ้ำอีกมั้ย” อะไรอย่างนี้ 

มันคิดแล้ว พวกนี้ต้องรู้ทัน แล้วก็รู้ มันคิด...เริ่มรู้ สติมาเมื่อไหร่ก็รู้ แล้วก็อยู่ที่รู้ ...อย่าไปยุ่งกับอาการ มันอยากคิดก็คิดไปดิ ก็รู้อีก แล้วก็รู้ๆๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ

สติเป็นตัวระลึกรู้ สติอยู่ที่ใจ ...สติกับใจน่ะจริงๆ คือตัวเดียวกัน คือมันอาการของใจอย่างหนึ่ง เป็นอาการของใจที่เป็นปรมัตถ์...สติ นะ

เพราะนั้นระหว่างที่รู้แล้วอยู่ที่ใจ รู้แล้วอยู่ที่รู้นั่นน่ะเรียกว่ามันรู้อยู่ที่ใจ แล้วใจมันเป็นกลางอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ...แต่มันเป็นกลางได้แป๊บหนึ่ง...เดี๋ยวก็ออก กลางได้แป๊บนึง...เดี๋ยวก็ออก

เพราะว่าในใจของเรามันยังมีตัณหาอุปาทานที่มันอยู่ในรู้นั่นแหละ เดี๋ยวมันก็ควาน ...เดี๋ยวก็ควานออกมาเป็นความคิด ออกมาเป็นอดีต ออกมาเป็นอนาคต

เดี๋ยวมันก็ควานออกมาเป็นความเห็น ออกมาเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ เรื่องของสัญญา ...เดี๋ยวก็มาแล้ว...นี่ มันจะควาน ...ก็รู้ พอรู้ปั๊บมันจะกลับมาตั้งหลักนิดหนึ่ง

ก็อยู่อย่างนี้ เอาล่อเอาเถิดอยู่อย่างนี้ จะไปห้ามไม่ให้เกิดอาการ หรือว่าให้เฉยอยู่กับรู้ไม่ได้ ...เพราะนั้น รู้ พอกลับมารู้แล้วก็เฉยๆ รู้เป็นธรรมดา พอธรรมดาปุ๊บ มันจะออกก็ช่างมัน รู้อีก

แต่อย่าไปเพ่งรู้ ...สมมุติถ้าเริ่มชำนาญแล้วกำหนดตัวรู้มันได้ชัด หรืออยู่รู้เป็นปกติแล้ว กลัวมันออกอีก ก็ไปเพ่งอีก ...อย่างนี้ไม่เอา ถ้าเพ่งปุ๊บเดี๋ยวกลายเป็นผู้รู้เลย กลายเป็นผู้รู้ ผู้รู้มันจะกลายเป็นอัตตาอีกแล้ว

มันก็ต้องอย่างนี้ ให้มันเป็นธรรมดาของมันเอง ...แล้วไม่ธรรมดาก็ช่างมัน รู้อีก อย่างเนี้ย ถึงจะเรียกว่าเป็นการเจริญปัญญา หรือว่าเห็นความไม่เที่ยงของใจ แล้วก็ความไม่เที่ยงของอาการ มันเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้ากำหนดเพ่งปั๊บเพื่อไม่ให้ออกมาเป็นความคิดความอ่านนี่ เพราะว่าถ้าคิด ถ้าออกไปยุ่งกับความเจ็บปวดมันจะทุกข์ ...นี่ มันไม่ชอบ ปุ๊บ ก็เพ่งปั๊บ...จับ 

นี่ เที่ยงแล้ว ผู้รู้เที่ยงแล้ว ...ผู้รู้เที่ยงนี่อัตตาแล้ว เริ่มหมายมั่นแล้ว เริ่มสร้างภพของผู้รู้ขึ้นมา

เพราะนั้น ต้องอยู่ในหลักของความเป็นกลาง คือปกติ ...ซึ่งไอ้ลักษณะอย่างนี้มันจะบอกเป็นมาตรฐานตายตัวไม่ได้ มันต้องฝึกแล้วก็เรียนรู้เอาเอง

มันต้องเรียนรู้เป็นปัจจัตตัง...อ๋อ มันอย่างนี้ เราไปกำหนดที่ผู้รู้เกินไปแล้ว แข็งเกินไปแล้ว ...ถ้าแข็งเกินไปปุ๊บ มันจะไม่ออกมารับรู้อะไรเลยนะ มันจะไม่เป็นปกติ แต่มันจะเป็นวางเฉยหรืออุเบกขา

รู้แบบปกติธรรมดา กับรู้แบบอุเบกขานี่...คนละอย่าง ...จิตมันจะต้องแยกให้ออกว่าไม่เหมือนกัน รู้แบบหนึ่งเป็นรู้สมถะ รู้อีกแบบเป็นรู้ด้วยปัญญา 

ถ้ารู้ด้วยปัญญาจะเป็นกลางแล้วก็ปกติ เป็นกลาง ...ไม่มีการกระทำ ไม่มีการประคอง ไม่มีการเหนี่ยว ไม่มีการถือหรือว่าตั้งมาตรฐานของรู้ขึ้นมา 

ออกอีก...รู้อีกๆๆ อย่าเหนื่อย อย่าเบื่อ อย่าท้อมัน ...จนกว่าจิตมันจะเห็นแจ้งเห็นชอบด้วยปัจจัตตังว่า ออกไปก็เท่านั้น แก้อะไรไม่ได้ คิดไปก็เท่านั้น ทำอะไรไม่ได้

มันจะเบื่อ มันจะเบื่ออาการที่เข้าๆ ออกๆ อยู่อย่างนี้ จึงจะเกิดนิพพิทาของมันเองขึ้นมา ...แล้วมันจะหยุด...หยุดของมันเองนะ ไม่ใช่ไปทำให้มันหยุด

มันจะเบื่อ...เบื่ออาการที่ไหวไป ไหวมา  เข้าๆ ออกๆ ...ออกไปก็เท่านั้น มีแต่ทุกข์มากขึ้นๆ คิดไปแล้วไม่ได้ มันก็ทุกข์มากขึ้น ...มันจะเห็นอย่างนี้

จิตมันจะถูกสอนอย่างนี้ ด้วยปัญญา ด้วยตัวของเขาเอง ความเข้าใจก็จะเกิดเป็นปัจจัตตัง แล้วจิตมันจะคลาย คลายจากตัณหาอุปาทานในแง่นั้น ในเคสนั้น ในระดับนั้น

ก็จะวางใจเป็นธรรมดาได้ หรือวางใจเป็นกลาง หรือปกติ มองเห็นขันธ์เป็นเรื่องธรรมดาในอาการนั้น แล้วก็เรียนรู้กับมันอยู่อย่างนี้

นี่คือการเรียนรู้ในการใช้สติเข้าไปรู้เท่าทัน ไม่แก้ ไม่หนี แต่ก็ไม่ต่อแล้วก็ไม่เติม มันเป็นอย่างนั้น ถึงเรียกว่าเป็นกลาง หรือมัชฌิมา

แล้วก็ไม่ได้หวังว่าจะให้มันอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรือว่าต้องยังไง จิตจะต้องอย่างนี้ กายจะต้องอยู่อย่างนี้...ไม่เอา มันห้ามไม่ได้ มันบังคับไม่ได้

ถ้ามันเป็น มันเป็นของมันเอง ถ้ามันไม่เป็นคือไม่เป็น ก็เรียนรู้ความไม่เป็น รู้ว่ายึดก็รู้ว่ายึด ยังยึดก็ยังยึด...ก็รู้ว่ายึด แล้วก็กลับมาอยู่ที่รู้ แล้วก็รู้ ช่างมัน ออกอีกรู้อีกๆ

อย่าเหนื่อย อย่าเบื่อ อย่าท้อ อย่าหงุดหงิด “ทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่ต่างคนต่างอยู่ ทำไมต้องไปแทรกแซงไปยุ่งกับมันอยู่เรื่อย” อย่าไปเบื่อ

ให้มันเรียนรู้ ความโง่ของจิตที่เข้าไปหมายมั่นในอุปาทาน มันมี มันฝังรากลึก มันไม่ใช่ว่าแค่รู้ครั้ง-สองครั้ง หรือเป็นสิบครั้ง มันจะขาดออกจากขันธ์ ...มันไม่ขาดง่ายๆ หรอก

นู่น ถึงขั้นพระอนาคานู่น ถึงจะวางรูปวางนามได้โดยเด็ดขาดสิ้นเชิง ในระดับพวกเรานี่ ธรรมดาไอ้การที่...เดี๋ยวก็คิดอีกแล้วๆ เดี๋ยวก็ไปยุ่งกับมันอีกแล้ว เดี๋ยวก็ไปอยากหาย เดี๋ยวก็ไปอยากให้มันน้อยลง ไม่อยากเจ็บอีกแล้ว

อย่าเบื่อ อย่าเหนื่อย แล้วก็หา...พอมันเริ่มเบื่อเริ่มเหนื่อย มันจะมีอีกวิธีหนึ่งคือ หาทางแก้ “จะกำหนดยังไงวะให้มันอยู่ ไม่ออกไปอีก” อย่างนี้ อย่าไปเชื่อมัน

ให้รู้ทันอีกว่า เริ่มจะทำอีกแล้ว เริ่มจะไปยุ่งกับมันอีกแล้ว...ไม่เอาๆ ....ยอม ยอมเรียนรู้กับทุกข์ ...ทุกข์ต้องเรียนรู้ ทุกข์ของการเข้าไปเข้ามา ทุกข์ของการเข้าไปหมายมั่น ทุกข์ของการเข้าไปเอาตัวตนเป็นเราเป็นเขา

มันเอากายเป็นของเรา เอาจิตเป็นของเรา เอาทุกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว...อย่างนี้ มันต้องเรียนรู้กับทุกข์จากการเข้าไปมีเข้าไปเป็น มันถึงจะเกิดสภาวะที่ว่า...ไม่มีไม่เป็นขึ้นมา

จะอยู่ดีๆ แล้วไม่มีไม่เป็น...ไม่ได้ ยังไงๆ ก็มีกับเป็น ...ธรรมชาติของจิตของเรามันเป็นอย่างนี้ มันยังมีตัณหาอุปาทาน อาสวะ ที่มันพร้อมที่จะแสดงตัวเมื่อมีสิ่งเร้า

อย่าไปคิดว่ามันแย่ อย่าไปคิดว่าไม่ดี มันไม่ดีมาตั้งแต่เกิด มันไม่ดีอยู่แล้ว ...เราก็มาเรียนรู้ความไม่ดี จนกว่ามันจะเข้าใจ อย่างเนี้ย จนกว่าจิตเขาจะเข้าใจจริง

ให้จิตสอนจิต...ไม่ใช่ “เรา” ไปสอนจิต ให้ธรรมสอนธรรม...ไม่ใช่ “เรา” ไปสอนธรรม 

เช่นถ้าเราเอาธรรมไปสอนก็หมายความว่า คิดอย่างนั้น คิดในแง่นั้น คิดในแง่นี้ เพื่อให้มันวางซะ เพื่อให้ไม่ไปยุ่งกับมัน อันนี้เรียกว่า “เรา” ไปสอนธรรม

ธรรมเขาสอนของเขาเอง ด้วยการเห็นตรงๆ ...จิตเขาก็สอนของเขาเอง ด้วยการอยากเข้าก็เข้า อยากออกก็ออก เขาเรียนรู้จากการนี้ จิตสอนจิตเอง

เพราะนั้น มันจะถอนจาก “เรา” ออกเลย ...แต่ “เรา” น่ะมันจะคอยเข้าไปเป็นยาดำแทรกกับขันธ์ แทรกกับจิตอยู่เรื่อย ...เจตนานี่แหละสำคัญ เจตนาคือตัวกรรม คือการกระทำ คือมโนกรรม

เพราะนั้นเวลาเราอยู่คนเดียว ไม่มีใครอยู่ในบ้านหรือไม่มีใครอยู่ในห้องนี่ วจีกรรมไม่ค่อยมีแล้ว ก็มีแต่มโนกรรม เอาล่อเอาเถิดอยู่นั่นแหละ “จะเอายังไง ทำยังไงกับมันดี”

มันคิดอยู่อย่างเดียวว่า “จะทำยังไงกับมันดี จะแก้ยังไง จะทำยังไงให้มันน้อยลง จะทำยังไงให้มันเร็วขึ้น จะทำยังไงให้มันหลุดพ้นไป จะทำยังไงให้มันไม่ทุกข์”

ก็ต้องเรียนรู้อยู่กับมัน อยู่กับมันด้วยความเป็นกลาง แล้วก็ยอมรับให้ได้ว่าขันธ์มันเป็นอย่างนี้ กายมันเป็นอย่างนี้ มันไม่ดีกว่านี้หรอก ให้เห็นแค่นี้ ...แค่นี้มันก็ดีสุดแล้ว

แล้วมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันต้องเป็นทุกคน ไม่เลือก ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวรรณะ ไม่เลือกภูมิจิตภูมิธรรม เป็นหมด

ขันธ์คือขันธ์ คือความเสื่อมไปเป็นธรรมดาเลย มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีความตั้งอยู่ไม่ได้เป็นธรรมดา มีความหมดไปดับไปเป็นธรรมดา

เห็นมั้ยว่า เวลาเราเกิดมา หมายความว่าเราก็เข้าหลักประหาร เดินเข้าหลักประหารไปทีละก้าวๆๆ แต่ไอ้ใจที่มันไม่ยอมรับนี่ มันหลีกเลี่ยง มันไม่ยอม มันคิดว่าน่าจะดีกว่านี้

เห็นมั้ย มันหวังๆ มันหวังเอาไว้... “โรคนี้ไม่เกิดกับเรา” อย่างนี้ มันหวัง ...มันหวังนี่ก็เป็นอุปาทานแล้ว ว่าไอ้นี่ไม่ดี ไอ้นั่นไม่ดี เกิดเป็นมานะ

เข้าใจคำว่ามานะไหม มานะคือการเปรียบเทียบ ถูกกับผิด ดีกับไม่ดี มากกับน้อย มีกับไม่มี อย่างนี้ พวกนี้คือมานะ จิตมันมีมานะ มันเอาสัญญามาผูกกับปัจจุบัน

เมื่อเอาสัญญามาเทียบกับปัจจุบัน แล้วมันก็คาดไปถึงอนาคต อย่างนี้คือมานะ เป็นมานะในจิตขึ้นมา แล้วก็จริงจังกับมัน เป็นเรื่องเป็นจริงเป็นจัง ด้วยความหลงคิดไปหลงปรุงไป

มันแต่งเรื่อง เหมือนกับเขียนเรื่องสั้นน่ะ เนี่ย ใจเรานี่ชอบเขียนเรื่องสั้น เรื่องสั้นบางทีไม่พอ มันหลายซีรีส์อีกน่ะ เป็นมินิซีรีส์ เป็นเรื่องยาวหลายภาคเลยอ่ะ

เนี่ย แล้วเราก็ โห อ่านแล้วเป็นตุเป็นตะ เป็นจริงเป็นจัง เป็นเดือดเป็นร้อน โอ้โห อินมากเกินไป ทั้งๆ ที่ว่าถ้าเข้าใจ เออ มันก็แค่นวนิยายอย่างนี้ เราอ่านหนังสือน่ะ

จิตมันก็แต่งเรื่องขึ้นมาอย่างนั้นแหละ เป็นเค้าโครงขึ้นมา โอ้โฮ ดูสมจริงสมจัง อธิบาย คิดได้ละเอียดลออ โห มันจริงเลยอ่ะ มันยิ่งจริงจังใหญ่

แต่ว่ามันก็เหมือนเราอ่านนิยายน่ะ มันเป็นแค่นิยาย เป็นมายา อ่านเรื่องนวนิยายหรือละคร หรือเรื่องสั้นอะไรก็ตามในหนังสือที่เขาเขียนเป็นตุเป็นตะนี่ ไปอ่านดิ บางเรื่องนี่ โห มันจริงรึเปล่า

แต่สุดท้ายก็จะรู้ มันไม่จริงหรอกว่ะ เขาแต่งขึ้นน่ะ เหมือนกัน จิตมันแต่งเรื่องขึ้นมา มันแต่งเรื่อง ...แล้วก็ทุกคนน่ะถูกหลอก แล้วเชื่อหมดเลย จริงจังๆ จริงจังไปหมด

ทั้งๆ ที่ว่ามันเป็นแค่ข้อความ เมสเสจในใจแค่นั้นเอง เป็นแค่ข้อความน่ะ แล้วมันก็ผ่านไป ผ่านไป ...ตัวเขาเองเขาก็ดีลีทตัวเองอยู่แล้ว 

แต่เราไม่ยอมดีลีท มันก็เก็บมาเป็นสัญญาอยู่นั่นแหละ ...เคยคิด เคยจำ เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้ฟัง เคยได้พิจารณามา มันเคยผ่านหูผ่านตามา 

นี่ มันไม่ยอมทิ้ง ไม่ยอมดีลีททิ้ง มันก็กลับมาเป็นสัญญาอุปาทาน ...แล้วก็มาเทียบกับเดี๋ยวนี้...ปัจจุบัน ...เพื่อจะข้ามปัจจุบันไปหาอนาคต


(ต่อแทร็ก 2/24  ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น