วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/20 (1)



พระอาจารย์
2/20 (530821A)
21 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เจริญสติ ดูจิต ...อย่าไปเน้นดูจิตมากเกินไป ดูจิตอย่างเดียวน่ะหลงหมดเลย มันขาด ...อย่าลืมกาย...เป็นฐาน อย่าทิ้งกาย

เพราะว่าสมาธิ จิตเรามันไม่ตั้งมั่นเพียงพอ มันจะหลุด...หลุดง่าย หลงง่าย หายง่าย เผลอง่าย เพลินง่าย ...ปัญหาหลักคือไอ้อย่างนี้ เพราะพวกเราดูจิตได้แป๊บเดียวก็หลุดแล้ว

เพราะนั้นว่าพยายามตั้งหลักตั้งฐานให้มั่นคง...คือฐานกายนี่ให้มั่นคงไว้  เพราะมันจะจับต้องได้ง่าย สติมันจะสามารถไปตั้งมั่นอยู่กับกายได้ง่าย

การดูจิตน่ะ แรกๆ พอมันเริ่มดูปุ๊บมาดูจิตเลย ตอนแรกมันจะดี...ดูดี ดูไว ดูเข้าใจ ดูเหมือนง่าย อะไรอย่างนี้ ...พอไปๆ มาๆ มันเละเทะ จะไหลเรื่อยๆๆ ไป

คือดูแล้วก็ตามมันออกไป ดูแล้วก็ไหลออกไป แล้วก็เผลอ แล้วก็เพลิน นีี่ สติมันตั้งไม่ได้มั่นคง ...เพราะนั้นก็ประกอบกัน...ดูกายดูจิตไปด้วย

แต่กายนี่...อย่าทิ้ง ไม่มีอะไรก็กลับมา สังเกตอาการทางกาย ง่ายๆ ...เพราะบางทีพวกเราดูจิตแล้วปุ๊บ มันไม่มีอะไรให้ดู พอมันไม่มีอะไรดู ก็ไม่รู้จะดูอะไร มีแต่เฉยๆ 

ไอ้เฉยๆ นี่หลุดง่าย เดี๋ยวก็หลุดหายไปแล้ว ไม่มีอะไรให้ดู ไม่รู้จะดูอะไร  สติไม่รู้จะจับอะไร ไม่มีอะไรเป็นคู่ให้สติรู้  มันก็หลุด...หลุดเป็นหลงไป ค่อยๆ กลืนหายไป

แต่ว่ากายนี่มันจะมีตลอด ...เพราะฉะนั้นการกลับมาสังเกตกายนี่มันทำได้ง่ายๆ ทำได้ตลอดเวลา ...กายเป็นยังไง ไหว นิ่ง อยู่อย่างนี้ ดูว่ามือวางยังไง เท้าวางยังไง อยู่ในท่าไหน คอตั้งตรงมั้ย หน้าตาเป็นยังไง 

หน้ามันย่น ขมวดคิ้ว ขุ่นมัว หน้าเหี่ยวมั้ย อะไรอย่างนี้ หน้าตูมหน้าบาน นี่ดูหมด ดูได้ตลอด ไม่มีอะไรก็กลับมาสังเกตตรวจสอบ อาการยืน เดิน นั่ง นอน ของกาย ให้มันมั่นคง สติมันตั้งมั่น มีสมาธิตั้งมั่น  

เวลามีอะไรมากระทบ หรือว่าจิตมันมีอาการเคลื่อนไหวแรงๆ หรือว่าอะไรอย่างนี้ มันก็จะสังเกตทัน ไวขึ้น เร็ว ไม่ค่อยหลุด ไม่ใช่ไปรู้อีตอนที่มันหลุดออกไปแล้ว 

มันก็จะเห็นตั้งแต่ว่า อ้อ ขณะที่มันเกิดภายในแล้วมันขุ่นมัวหรือหงุดหงิดรำคาญอะไรอย่างนี้ มันก็จะได้เห็น ...เวลามันขยับตัวแรงๆ ขึ้นมา อย่างน้อยก็อยู่กับกาย จับกายเป็นหลัก

ทีนี้ถ้าสมมุติว่าเราอยู่คนเดียว ไม่ได้ทำมาหากิน ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนอะไรอย่างนี้ เราก็กลับมาตั้งอกตั้งใจดู...ดูภายในของเรา คอยสังเกตภายในของจิตเป็นยังไง ธรรมดา เฉยๆ ขุ่นมัว กังวล 

นี่ เรียนรู้ ดูอาการ ...ดูเฉยๆ ดูแบบไม่คาดหมาย ดูแบบไม่คาดหวัง ดูแบบไม่เอาอะไร รู้แบบไม่เอาอะไร คือรู้ตามอาการของมัน สังเกตอาการของมัน 

แล้วก็ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับอาการ ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์มันมากหรอก หรือไปหาเหตุหาผลอะไรของมัน ว่าดีว่าถูกว่าผิด หรือว่าใช่ หรือว่าไม่ใช่อะไร ...มันมีอะไรก็รู้มันไป

ถ้ามันวุ่นวี่วุ่นวายหรือว่าจับอะไรไม่ถูก กำลังสับสน ฟุ้งซ่าน ก็กลับมาดูกายซะ อย่าไปเอาชนะคะคานหรือว่าไปมีปัญหาอะไรกับมัน อย่างเนี้ย 

สลับไปสลับมา ๆ กายกับจิต กายกับอาการของจิต เพื่อให้เห็นความเป็นจริงของขันธ์ว่ามันเป็นอย่างเนี้ย เราไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมันมากหรอก 

ปัญหาก็คืออย่างเดียว คือปัญหามันอยู่ที่...มันไม่กลับมารู้นี่แหละ คือมันหลง ...ปัญหาใหญ่คือหลง หาย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันไม่รู้ตัว มันไม่เห็น ไม่มีอาการกลับมาเห็นกายเห็นจิตเลย ...อันนี้คือปัญหาหลัก 

แล้วมันจะไหลออกไปภายนอก มันไหลออกไปจนมีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ จน...เอ้า เมื่อกี้มันไปไหนแล้ว อย่างนี้อ่ะ มารู้อีกทีก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อแล้ว ...ก็หลุด ปล่อยหายไปอีก 

อันนี้มันจะวนอยู่ตรงนี้ อยู่แค่ตรงนี้ มันไม่มีความต่อเนื่องของการรู้เห็น ...เพราะนั้นแค่กลับมารู้เห็นนี่ รู้เนื้อรู้ตัว กลับมาเห็นกายเห็นจิตนี่...บ่อยๆ ถี่ๆ 

ให้มันคุ้นเคย ให้มันทำอะไรก็มีความรู้ตัวอยู่ เห็นอาการทางกายเห็นอาการทางจิต อยู่อย่างเนี้ย จะได้เรียนรู้ขันธ์ เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง

ปัญหานี่คือมันไม่กลับมาเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง คือมันขาดสติ ...เพราะนั้นอุบายไหนก็ได้ที่ทำให้มันเกิดการระลึกรู้...ได้หมด  จะจงใจ จะเจตนา จะเพ่ง จะอะไร ทำเข้าไปเถอะ 

เพราะตอนนี้ไม่ต้องไปกลัวเพ่ง กลัวอย่างเดียวกลัวหลุด ...คือถ้าไม่รู้นี่ เพ่งซะก่อนก็ยังดีกว่า จับให้มันมั่นก่อน จะเอาสติแบบไม่จงใจหรือไม่เจตนานี่ เดี๋ยวก็หลง หลุดหมด 

เพ่งเข้าไปเถอะ ไม่ต้องกลัว ดีกว่าไม่รู้อะไร ไม่เห็นอะไร เข้าใจมั้ย อย่าไปกลัว ...คนนั้นทักคนนี้ทัก นี่ เพ่งอีกแล้วๆ กลัวจัง จะไปแก้เพ่ง ...ไอ้แก้หลงน่ะไม่แก้ มันหลงมากกว่าเพ่งอีกด้วยซ้ำ 

เออ อย่างน้อยเพ่งก็ยังดี มันจะเป็นสมถะสมแถะอะไร ช่างหัวมัน ขอให้มันกลับมารู้ตัวก่อนเหอะ ให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว ให้มันกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ให้มีการรู้กายเห็นจิต เห็นจิตรู้กาย 

ให้มันมีการระลึกรู้ ให้เห็นอยู่น่ะ อย่างน้อยก็ให้เห็นอยู่ ...ไอ้กลัวเพ่งแล้วก็ปล่อยๆ มันหลงอ่ะ มันจะหลงเข้าแทรกตลอด มันจะไม่เห็นอะไรเลย มันจะรู้แบบเบาบางมาก มันมากเกินไปแล้ว 

มันปล่อยมากเกินไป โมหะเข้าครอบงำไม่รู้ตัว กว่าจะมารู้ตัวอีกที หายไปนานแล้ว มารู้อีก เอ้า เมื่อกี้ไปไหน กายไปไหน จิตไปไหน หายไปอีกแล้ว ก็มันปล่อยมากเกินไป

อย่างน้อยก็จับ...จับให้มั่นก่อน จะจงใจจะเจตนาก็จับไปเหอะ แล้วมันค่อยๆ ปรับให้พอดีเอง อย่ากลัว ...เพราะนั้นก็ต้องตั้งใจ ต้องใส่ใจทำ อย่าไปกลัวเพ่ง อย่าไปกลัวเกร็ง อย่าไปกลัวอะไร 

ให้มันเพ่ง ให้มันเกร็ง ให้มันติดซะก่อน ให้มันติดกายติดจิตไว้ก่อน ...แล้วมันจะค่อยๆ ปรับสติให้เป็นกลางขึ้นมาเอง ไม่ต้องกลัวว่าจะติดสมถะหรือว่าจะเป็นการจงใจ 

ไอ้ตอนนี้น่ะ...มันไม่จงใจมันก็กลายเป็นหลง มันไม่สมดุลกัน มันไม่สมดุล มันไม่เป็นกลาง ...เนี่ย ปัญหาคือว่ามันไม่รู้...ไม่กลับมารู้ กลับมาดู...กายเป็นยังไง จิตเป็นยังไง 

แล้วก็ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับอาการทางจิต อย่าไปตื่นเต้น อย่าไปตกใจ อย่าไปว่ามันดี ว่ามันร้ายอะไร ...มันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ มันเป็นธรรมดา มองให้เป็นเรื่องธรรมดา 

ก็ดูไป เหมือนกับติดตามอาการของมัน เห็นอาการของมัน มันก็สลับปรับเปลี่ยนกันไป ...แล้วมันก็จะค่อยๆ เข้าใจกระบวนการของมันเองน่ะ  

การดู...มันไม่ใช่ดูเพื่อให้ได้อะไร มันไม่ใช่ดูเพื่อให้เกิดอะไรขึ้นมา หรือไม่ได้ดูเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความคิดความอะไรก็ตาม 

คือไม่ได้ดูเอาอะไร หรือว่าให้มันเปลี่ยนไปยังไง หรือว่าให้ไปลดไปเพิ่มขันธ์ตรงไหน ...แต่ว่าดูเพื่อให้เกิดปัญญา คือหมายความว่า...ดูเพื่อให้เห็นกระบวนการของมัน 

เห็นกระบวนการของอาการของจิตว่ามันไปยังไง มันมายังไง อะไรเป็นปัจจัยให้มันเกิดอาการ อะไรเป็นปัจจัยให้มันเกิดอาการต่อเนื่อง อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้มันดับ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้มันมากขึ้น 

แล้วก็ตัวไหนเป็นตัวเริ่มต้นของกระบวนการของกายและจิต ...นั่นแหละคือเป้าหมายของสติที่แท้จริง คือดูเพื่อให้เข้าใจกระบวนการหรือว่าปัจจยาการของมัน...ว่าอะไรเกิดก่อน 

จนถึงสติแรกที่เกิด หรือว่าสติแรกที่มันทันการเกิดขึ้นครั้งแรก ขณะแรกของทุกสิ่งทั้งภายในทั้งภายนอกของการรับรู้แรก ...ขณะที่รับรู้แรก มันเกิดตรงไหน อารมณ์ตั้งอยู่ตรงไหน มันตั้งอยู่ได้อย่างไร 

ใครเป็นคนทำให้มันตั้งอยู่ได้ ใครเป็นคนที่ทำอาการอย่างไรถึงอารมณ์นั้นตั้งอยู่ไม่ได้ ...นี่ มันกลับมาตรวจสอบสังเกต ใช้คำว่าสังเกตตรวจตรา ทบทวน สำเหนียก ภายในอาการต่างๆ

เพราะนั้นไม่ใช่ว่าต้องไปแก้อาการ หรือว่าไปห้ามอาการของจิต หรือว่าจะต้องไปบอกว่าไอ้อย่างนี้สภาวะนี้ถูก สภาวะนี้ดีกว่าสภาวะนี้ 

มันไม่มีอะไรดี มันไม่มีอะไรถูกหรอก ...แต่ดูเพื่อให้เห็นว่า...ไอ้สภาวะนี่มันตั้งอยู่อย่างไร ทำไมมันถึงตั้ง ดูว่าใครเป็นคนทำให้มันตั้งอยู่ อะไรเป็นตัวทำให้สภาวะนี้เกิด

สติมันจะเข้าไปทบทวน เข้าไปตรวจสอบ เข้าไปสังเกต เข้าไปเท่าทันอาการ ...นี่เรียกว่า “ทวน” มันจะทวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของอาการ 

แต่ว่าการทวนนี่ มันไม่ได้ทวนด้วยความคิด มันไม่ได้ทวนด้วยการเข้าไปค้นหา แต่ทวนด้วยการเข้าไปรู้เห็น...รู้เห็นเฉยๆ รู้เห็นด้วยสติที่เป็นกลาง รู้แบบไม่มีเงื่อนไข 

เพราะนั้นถ้าไปรู้ตรงไหน รู้ทันตอนไหน เห็นตรงไหน ...รู้เฉยๆ อย่าไปแก้ อย่าไปหา อย่าไปควาน อย่าไปหาเหตุหาผลอะไรกับมัน ...ให้รู้เฉยๆ เป็นกลางๆ 

ดูกระบวนการของมันไป...ว่า อ้อ มันเป็นกระบวนการของการตั้งอยู่ ก็ดูอาการตั้งอยู่ของมัน  แล้วก็ดูต่อไปว่ามันตั้งอยู่อย่างไร ขณะนั้นที่ตั้งอยู่มันมีอะไรเกิดขึ้นอีก

แล้วเวลามีอะไรเกิดขึ้นอีกนั้น และไอ้การตั้งอยู่มันมากขึ้นหรือมันน้อยลง หรือถ้ามันตั้งอยู่เฉยๆ แล้วเราไม่มีกระบวนการไหนต่อเนื่อง แล้วดูซิว่ามันจะตั้งอยู่ได้แค่ไหน อย่างเงี้ย คือสติ 

เข้าไปเพื่อศึกษากระบวนการที่เกิดขึ้นปรากฏขึ้นต่อหน้าเราทั้งภายในและภายนอก ...สอบทานอยู่อย่างนี้บ่อยๆ จนกว่ามันจะเข้าใจ จนกว่ามันจะเข้าใจเห็นรอบ เห็นทั่ว อ๋อๆๆๆ เพราะอย่างนี้ๆ เป็นอย่างงี้ๆๆ 

เนี่ย พอมันเห็นทั่วปุ๊บมันจะแจ้ง ...แจ้งมันก็หายสงสัยในกระบวนการ มันก็จะมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาของอาการ มันเป็นอย่างเงี้ย

เพราะนั้นเมื่อเราเห็นเป็นธรรมดาว่าอาการนี้ มันเป็นการตั้งขึ้นเป็นธรรมดา เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาเมื่อไหร่ ...ตรงนั้นน่ะเราจะไม่มีอาการเข้าไปเป็นสุขเป็นทุกข์กับมัน 

หรือว่าจะไปเป็นสุขเป็นทุกข์กับมันน้อยลง เพราะว่าเป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของใคร ไม่ใช่เรื่องของเราหรือว่าเรื่องของคนอื่น หรือใครเป็นคนสร้าง หรือใครเป็นคนทำ

เพราะฉะนั้นสติที่แท้จริง หรือว่าสติที่จะเป็นไปในองค์มรรค หรือว่าเป็นไปเพื่อเข้าไปสู่อริยมรรคนี่ สติที่แท้จริงจะต้องเป็นสติที่เป็นกลางๆ แล้วต้องเป็นสติในปัจจุบัน คือรู้สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน 

ไม่ใช่ไปรู้อดีต ไม่ใช่ไปรู้อนาคต ไม่มีการคาด ไม่มีการเดา ไม่มีการจดเอาสิ่งที่ล่วงแล้วมา ...จะเป็นสิ่งที่ปรากฏเฉพาะในปัจจุบัน ...รู้แล้วก็รู้นั้นต้องเป็นกลาง คือหมายความว่ารู้เฉยๆ อะไรเกิดขึ้นก็รู้เฉยๆ 

ดูมันไป สังเกตมันไป อย่าไปคิดก่อน อย่าไปคิดล่วงหน้า อย่าไปคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นมั้ย ถ้าอย่างนี้แล้วมันน่าจะเป็นอย่างนั้นมั้ย ...ไอ้อย่างนั้นน่ะเขาเรียกว่ามันเกินปัจจุบัน 

มันจะเบี่ยงเบนไปหมด มันจะเบี่ยงเบน แล้วมันจะมีความเห็น แล้วมีทิฏฐิเกิดขึ้นต่างๆ นานา ซ้อนขึ้นมาอีก โดยเอาความจำเข้ามาบ้าง เอาการคาดคะเนเข้ามาบ้าง แล้วเอามาเทียบกับปัจจุบัน 

จิตมันจะกระโดดไปกระโดดมา มันไม่อยู่ในปัจจุบัน มันไม่เห็น มันไม่เรียนรู้ความจริงในปัจจุบัน มันก็จะอยู่กับปัจจุบันแล้วก็จะวิ่งไปหาเป้าหมายในอนาคตข้างหน้า 

อย่างว่า...มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันควรจะเป็นอย่างนี้มั้ย นี่ มันจะเกิดความลังเลและสงสัย ...เพราะนั้นรู้ไป มันจะเป็นยังไงก็ช่าง แล้วก็ดูอาการของมัน 

แล้วแต่มันจะมากขึ้นก็มากขึ้น จะน้อยลงก็น้อยลง รู้ว่าน้อยลง รู้ว่าติดก็รู้ว่าติดมากขึ้น รู้ว่าติดน้อยลงก็รู้ว่าติดน้อยลง ...คือรู้แบบตรงๆ รู้แบบไม่เข้าไปมีไม่เข้าไปเป็นอะไรกับมัน 

นี่ ต้องอดทนๆ ...เมื่อพัฒนาจนสติสามารถอยู่กับกายอยู่กับจิตแล้ว ในขั้นต่อไปก็หมายความว่าจะต้องอดทนอยู่กับมัน ...อดทนอยู่กับขันธ์นี่


(ต่อแทร็ก 2/20  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น