วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/22 (1)


พระอาจารย์
2/22 (530821C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เป็นยังไงบ้าง ...(ถามพระภิกษุ)

ผู้ถาม –  ก็...อาการเพ่งน้อยลงครับ แต่ก็ยังมีอยู่ ...แล้วก็รู้สึกว่าได้ต่อเนื่องมากกว่าเดิมเยอะ หลังๆ ก็เริ่มรู้สึกโอเคขึ้นครับ  


พระอาจารย์ –  ให้มันกลับมาโดยธรรมชาติของมันมั่ง ...แต่ไม่ใช่เป็นธรรมชาติของหลงนะ ธรรมชาติของรู้นะ ...เพราะว่าธรรมชาติของใจคือรู้ ไม่ใช่หลง     

ผู้ถาม –  แล้วก็รู้ว่า...ก่อนหน้านี้คือลักษณะว่าไปเกลียดมันมากกว่าครับ 


พระอาจารย์ –  ดีแล้ว ก็ให้รู้อย่างนั้น ให้รู้ว่า...เออ หงุดหงิด หลงอีกแล้วๆ ...ให้รู้และสังเกตความยินดีความยินร้ายกับอาการที่ดับไป กับสิ่งที่มันเอาคืนมาไม่ได้

หลงแล้วหลงเลย แก้ไม่ได้ ใช่ป่าว จะไปแก้ความหลงที่มันดับไปยังไง ที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว แก้ไม่ได้ ...แต่พอมันมารู้ในสัญญาปุ๊บ มันหงุดหงิด นั่นเขาเรียกว่าเกิดสัญญาอุปาทาน เป็นสัญญาอุปาทาน

ถ้าไม่ทันในความยินร้ายนั้นนะ มันเริ่มหาทางแก้ หาทางว่าเราจะทำยังไงดี เราจะต้องอย่างนั้น เราจะต้องอย่างนี้ ...ก็รู้ เท่าทันอาการนั้น เห็นความมีสัญญาอุปาทานกับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว 

มันล่วงไปแล้วก็ล่วงไปแล้ว หลงอีกรู้อีกๆ แค่นั้นเอง หน้าที่มีอยู่แค่นั้นเองสติ ...ไม่ใช่สติเข้าไปแก้ไขอะไร  สติต้องตามหลัง ต้องมีอะไรเกิดขึ้นก่อนมันค่อยรู้ มันไปแก้ไปกันอะไรไม่ได้หรอก 

ไอ้ไปแก้ไปกันนั่นไม่ใช่สติที่เป็นในองค์มรรค มันเป็นสติในลักษณะที่เพื่อให้มีและให้เป็น ...ไอ้นั่นเขาเรียกว่าสติแบบดักรอ เข้าใจมั้ย ...ตั้งท่า สติแบบตั้งท่า เพ่ง

แต่สติที่เป็นกลาง หรือสติในองค์มรรค...แก้อะไรไม่ได้ กันไม่ได้ ...มีหน้าที่อย่างเดียวคือรู้  อะไรเกิดขึ้นก็รู้...ไม่ใช่ไปรู้ก่อนเกิด ...เพราะนั้นก็ทำไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ 

แล้วมันจะค่อยๆ จัดระเบียบของมัน ...จัดระเบียบของขันธ์ จัดระเบียบของการระลึกรู้ ที่จะแยกขันธ์ แยกอุปาทานขันธ์ออกได้ชัดเจนขึ้น จะแยกสติที่จงใจกับสติที่เป็นธรรมชาติของการรู้เฉยๆ ได้มากขึ้น 

ก็จะเห็นความเพียรมันจะน้อยลง ...ไอ้ความเพียรน้อยลงคือความอยาก ไม่ใช่ความเพียรในการรู้บ่อยๆ นะ ไอ้ความเพียรที่เป็นความอยาก...อยากเร็ว อยากได้ อยากมี อยากเป็น จะน้อยลง   

เพราะงั้นอย่าไปกังวลเมื่อเรารู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร ...อาจจะมีความรู้สึกนี้้แรงขึ้นมา  หรือว่า เออ พอทำไปแล้ว เรารู้สึกไม่ค่อยอยากทำ 

บางทีมันก็จะเปลี่ยนไปในลักษณะที่ว่า เวลาทำแล้วรู้สึกฝืด รู้สึกฝืน รู้สึกขัด ...จิตก็ขัด จะนั่งให้สงบ นั่งไปนานๆ ก็รู้สึกอึดอัดไปหมด ในใจมันจะไม่อยากจะทำ

มันจะเป็นธรรมดาที่จิตมันจะเริ่มปล่อยวางการกระทำ ...นี่ไม่ใช่ขี้เกียจ  แต่ว่ามันจะไม่เข้าไปสร้างเจตนา หรือไปสร้างทำโดยหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา

จิตมันจะละการกระทำไป ซึ่งมันจะดูตรงข้ามกับการปฏิบัติในเบื้องต้นที่ทุกคนต้องทำเยอะๆ ...มันจะไม่อยากทำ มันอยากจะนั่งอยู่เฉยๆ ใจมันจะบอกอยากอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร 

ตอนนั้นน่ะมันก็จะมีความคิดขึ้นมาอีกว่า..ขี้เกียจรึเปล่า ไม่ทำความเพียรแล้วไปไม่รอดนะ ...เอาอีกแล้ว  ถ้าเชื่อฟังจิตนะ มันก็คาราคาซัง เดี๋ยวก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปยังงั้นยังงี้กับเขาอีกแล้ว 

กลัวจะไปไม่รอด กลัวจะขี้เกียจแล้วไม่ได้อะไร ความรู้ก็ไม่มี ยังไม่เห็นอะไรสักอย่าง ยังไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง นี่ ...แล้วมันก็กลับไปทำใหม่

(ถามโดยเอ่ยนามอีกชื่อหนึ่ง) นี่...เป็นยังไง


ผู้ถาม  ก็ไม่มีอะไรฮะ แต่มันมีอย่างนึงฮะพระอาจารย์  อะไรที่มันเคยชอบๆ ก็อยากจะทำ อย่าง...อยากเรียนต่ออะไรอย่างนี้ มาบวชเสียตั้งนาน มันก็จะมีความคิดนี้ขึ้นมาเวลาฟัง เวลาพูดคุยกันว่า...เอ มันก็อยากทำไอ้นี่  

เหมือนมันค้างอยู่ในใจ แต่พอรู้ทันมันก็ดับไป  แต่มันก็ขึ้นมาอีก เวลาที่พอนานๆ ใครเขาไปเรียนต่อ ก็อยากไปเรียนกะเขามั่ง ทั้งที่ว่าเรียนก็รู้ว่าไม่ได้เป็นสุขอะไรฮะ ก็รู้สึกว่าไม่ได้เข็ดอะไรเลย

พระอาจารย์ –  อือ รู้เฉยๆ อย่าไปเสียดาย ช่างมัน มันเป็นความคุ้นเคยน่ะ ในการแสวงหา ...เวลาจิตมันอยู่ว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ไม่รู้จะทำอะไร แล้วมันรู้สึกว่ามันจะชักดิ้นชักงอ มันจะตาย มันคิดว่าอยู่ไม่ได้ 

มันจะค่อยๆ ปรับ...ปรับทิฏฐิไปเรื่อยๆ จนละซึ่งความเห็นทั้งหลายทั้งปวง อยู่กับความไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร แล้วก็ไม่เป็นอะไร ...กลายเป็นจิตเปล่าๆ ใจเปล่า ๆ ที่อยู่กับขันธ์เปล่าๆ ที่อยู่กับขันธ์ไม่มีอุปาทาน

เพราะนั้นเวลาจิตเฉยๆ หรือจิตธรรมดาไม่มีอะไรนี่ พยายามอยู่กับมันให้คุ้นเคย  แล้วจะเห็นว่าตรงนี้...ที่ตรงนี้...เป็นที่ที่ทุกข์น้อยที่สุดแล้ว ที่ตรงนี้เป็นที่ที่มีปัญหาต่อเนื่องน้อยที่สุดแล้ว จะไม่มีปัญหา 

แล้วมันจะค่อยๆ ยอมรับความเป็นจริงตรงนี้ ภาวะนี้มากขึ้นๆ ในความเป็นกลาง ในความเป็นสันโดษ ในความที่ว่า...เท่าที่มี เท่าที่เป็น  ...นี่...ความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษในจิต 

มันจะเริ่มยอมรับความเป็นจริงนี้มากขึ้น ...เพราะธรรมดาของพวกเรามันจะเข้าไปยินดีกับความมักมาก ...คือไอ้น้อยๆ...ไม่พอ  ไอ้ที่ยิ่งไม่มีอะไรเลยนี่...มันยิ่งแย่เลย 

เพราะนั้นนี่ มันจะเข้าไปเรียนรู้ในความเป็นผู้สันโดษมักน้อยของจิตที่ไม่มีอะไร ...จนถึงหมดจด...ไม่มีอะไร ...ไม่มีอะไรก็อยู่ได้โดยไม่เหงาน่ะ 

ไอ้ตอนนี้ที่มันไม่ยอมรับคือมันจะเหงา ไม่มีอะไรทำ จิตไม่มีอะไรเป็นเครื่องอยู่ ...มันจะคล้ายๆ อย่างนั้น 

แล้วเราก็อดจะหาความรู้ให้มันไม่ได้ อดหาอารมณ์ให้มันไม่ได้ หรือว่าอดหาความรู้สึกต่างๆ นานาให้มันเป็นเครื่องอยู่ของใจไม่ได้ ...มันไม่คุ้นเคยน่ะ

เพราะว่าเราคุ้นเคยกับการที่ใจมันมีอะไรเป็นเครื่องอยู่ตลอด ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ก่อนเกิดอีก ตั้งแต่เกิดมาชาตินู้นๆๆๆ น่ะ มันอยู่อย่างนี้ ด้วยความเคยชิน ...มันเรียกว่าเป็นอนุสัย...คุ้นเคย

พอมันกลับมาอยู่เรียนรู้กับความ...ในการปฏิบัติของเราพวกนี้ ในการเจริญสตินี่ มันจะได้เห็นภาวะที่มันไม่มีอะไรบ่อยขึ้น และเราจะคิดว่าภาวะเนี้ย...แย่ หรือว่าไม่มีความรู้เกิดขึ้น

แล้วก็พยายามจะหาความรู้นี่ใส่เข้าไป อนิจจังมั่ง ทุกขังมั่ง อนัตตามั่ง จะพยายามใส่ความรู้ให้มัน เพื่อจะให้มันรู้ขันธ์อย่างนั้น ขันธ์ต้องเป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นมา

แต่ว่าถ้าเรารู้ทัน แล้วก็ไม่หาอะไรมาเพิ่มให้มัน ไม่เอาอะไรไปใส่ตรงระหว่างความเป็นปกติธรรมดาที่ไม่มีอะไร ...แล้วมันจะเห็น มันจะเรียนรู้ได้เรื่อยๆ 

ว่าตรงนี้เป็นที่ที่ไม่มีทุกข์ ตรงนี้เป็นที่ที่ไม่ก่อเกิด ตรงนี้เป็นที่ที่ดับ ตรงนี้เป็นที่ที่ไม่มีการต่อเนื่อง  และถ้าอยู่ได้...มันจะมั่นคงมากขึ้นๆ ในความเป็นกลาง 

แล้วมันจะเข้าใจว่า อยู่ตรงนี้แล้ว...สามารถทำทุกอย่างได้ และก็สามารถที่จะไม่ทำทุกอย่างก็ได้...จะเป็นอย่างนั้น ...นี่ มันจะเข้าใจ 

เพราะนั้นมันจะอยู่ท่ามกลางระหว่างโลกุตรธรรมและโลกียธรรม ไม่ใช่เอาโลกุตระไปปนกับโลกียะ หรือเอาโลกียะมาปนกับโลกุตรในจิต 

แต่มันจะอยู่ท่ามกลาง ...เป็นยังไงก็ได้  ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้  มีก็ได้ ไม่มีก็ได้  ไม่ได้หมายความว่าต้อง ...ไม่มีคำว่า "ต้อง" ไม่มีคำว่า “ไม่” หรือว่า “ต้อง” 

มันจะเป็นว่า “ยังไงก็ได้” “อะไรก็ได้” แล้วก็ไม่มีอะไร  เมื่อไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร อยู่เป็นธรรมดา ...มันจะเป็นธรรมดากับทุกสรรพสิ่ง เป็นกลางต่อทุกสรรพสิ่งโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่มันต้องเรียนรู้ ค่อยๆ เรียนรู้สะสมไป ...ให้เห็น ยอมรับ  เห็นไปเรื่อยๆ แล้วมันจะยอมรับความจริงมากขึ้นๆ ว่ามันไม่ผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ 

การดำรงชีวิตน่ะให้อยู่ในหลักของความเป็นกลาง  มัชฌิมาทั้งหลาย มรรคทั้งหลายต้องอยู่ในความเป็นมัชฌิมา เป็นกลาง ...ไม่สุดโต่ง ไม่อยู่กับอะไร ไม่เอาอะไรมาเป็นที่พึ่ง ไม่เอาอะไรเป็นที่อาศัย 

ไอ้ที่พึ่งที่อาศัย...อันนั้นแหละคือภพ ภพในจิต เป็นภพ ...แต่พอเราเริ่มที่จะละภพ หรือบางช่วงบางขณะเราอาจจะไม่มีภพให้มันอาศัย...ตอนนี้เริ่มเหงาแล้ว 

มันเปล่าๆ เปลือยๆ  มันไม่มีอะไร มันไม่ได้อะไร  มันเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ดีมั้ง ไม่ใช่มั้ง ...แต่จริงๆ น่ะคือการไม่เข้าไปยืน ไปหยุด ไปจับให้มีอะไรเป็นภพในจิต ไม่มีภพข้างหน้า ไม่มีภพในปัจจุบัน ไม่มีภพในอดีต 

แต่ว่าเรายังไม่ชำนาญ ยังไม่คุ้นเคย กับภาวะที่ไม่มีไม่เป็น ...มันก็เลยพยายามจะให้อยู่กับความมีและความเป็น 

บอกแล้วว่าเมื่อไม่มีไม่เป็นเมื่อไหร่ ตรงนั้นน่ะคือไตรสรณคมน์ หรือว่าพุทธะ ธัมมะ สังฆะ เป็นที่พึ่งอยู่ตรงนั้น ...อยู่ตรงนั้นน่ะคือใจ ใจเปล่าๆ  ตรงนั้นน่ะคือที่อยู่ของพุทธะ...จิตพุทธะ 

ตรงนั้นน่ะคือธรรม ตรงนั้นน่ะคือธรรมชาติที่แท้จริง ....ธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติทั่วไปคือธรรมชาติที่แท้จริง ไม่ใช่ธรรมชาติจากการปรุงแต่ง 

ไอ้ธรรมชาติที่เราเห็นนี่เป็นธรรมชาติที่เกิดจากการปรุงแต่ง หรือการรวมตัวหล่อหลอมขึ้นมาโดยธาตุสี่ ...แต่ว่าธรรมชาติของใจที่ไม่มีอะไรตรงนั้นน่ะเป็นธรรมชาติเหนือความปรุงแต่ง 

แล้วก็ตรงนั้นน่ะคือที่ของพระอริยสงฆ์สาวกท่านอยู่กัน คือท่านอยู่ตรงนั้น แต่ละองค์ท่านก็อยู่กับจิต...ตรงนั้นแหละ ไม่ได้อยู่ที่อื่น

เพราะนั้นตรงที่ไม่มีอะไรนั่นน่ะ...คือที่อยู่ของไตรสรณคมน์ ...พระพุทธเจ้าบอกให้เอาไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ...คือเอาตรงนี้เป็นที่พึ่ง 

คือตรงไม่มีอะไรนั่นแหละเป็นที่พึ่ง คือใจเปล่าๆ นั่นแหละ ...พึ่งได้หมด พึ่งได้ตลอด พึ่งได้จนถึงนิพพานเลย ก็ต้องอาศัยที่พึ่งนี้แหละ เป็นที่พึ่ง เป็นหลัก 

ไม่ใช่เอาอารมณ์เป็นหลัก เอาสภาวธรรมเป็นหลัก เอาความรู้เป็นหลัก เอาอาจารย์เป็นหลัก เอาบุคคลเป็นหลัก เอาลูกเต้าหลานเหลนผัวเมียการงานอาชีพเป็นหลัก 

เอาอดีตเป็นหลัก เอาอนาคตเป็นหลัก...ไม่มี ...หลักพวกนี้ไม่แน่ไม่นอน เป็นเรื่องของไตรลักษณ์ทั้งหมด พึ่งไม่ได้ เอามาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้เลย

แต่ด้วยทิฏฐิมานะที่ยังเป็นมิจฉา มันยังคิดว่ายังพึ่งได้อยู่...ในธรรมบทนี้ สภาวธรรมนี้  อาการอย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ ...มันยังคิดว่าอันนี้เป็นที่พึ่ง มันยังมีความพึงพอใจ 

เมื่อมีความพึงพอใจปุ๊บ มันก็เป็นมานะ เข้าไปกับความเห็นนั้นๆ ความรู้สึกนั้นๆ เกิดความหมายมั่นมากขึ้น เกาะแนบแน่น ติด แล้วเวลามันดับไปก็เสียใจ กังวล อาลัย เสียดาย แสวงหาใหม่...อยู่อย่างนั้น 

ปัญญามันต้องเกิดตรงนี้ ให้เห็นว่าความเป็นจริงสูงสุด คือไม่มีอะไร นั่นแหละ คือความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็นบ่อยๆ ให้คุ้นเคย ให้ยอมรับกับสภาวะนั้นน่ะ 

ว่าการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงนี่ไม่ได้อะไรเลย ...แต่กลับมาเห็นความเป็นจริงว่ามันไม่มีอะไร ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างดำเนิน ขันธ์ก็ดำเนินไป ใจก็รู้เฉยๆ อยู่อย่างนั้น แยกกันอยู่อย่างนั้น 

มันไม่ได้มีมือมีตีนมายึดเราเลย...ขันธ์น่ะ ...แล้วอะไรล่ะเป็นมือเป็นตีนไปยึดมัน นั่นแหละ ให้รู้ทันแล้วก็ละมันออก ตัดมันให้ขาด อาการพวกนั้น อาการที่เข้าไปพัวพัน ตรงนั้นน่ะ 

แล้วใจมันจะเหลือใจเปล่าๆ เปล่าเปลือยขึ้น หมดจดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น จนไม่มีแม้แต่อณูเดียวที่มันเคลือบแฝงหรือเจือปนอยู่ในใจดวงนั้น 

ตรงนั้นก็คือกลับไปคืนสู่ภาวะจิตเดิมแท้ หรือภาวะตั้งตั้นแรกเริ่มของใจ...ซึ่งอยู่บนฐานของความไม่มีอะไร


(ต่อแทร็ก 2/22  ช่วง 2)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น