วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/20 (2)


พระอาจารย์
2/20 (530821A)
21 สิงหาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  2/20  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่เบื้องต้นนี่...ทำยังไงให้มันอยู่กับกายอยู่กับจิต อันนี้เบื้องต้น คือไม่หลง ไม่หาย ไม่เผลอ ไม่เพลิน...โดยไม่รู้กายไม่รู้จิต

นี่ ถ้าไม่มีขั้นต้นนี่น่ะ มันจะไม่มีการเข้ามาเรียนรู้กับขันธ์ หรือเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง ...ก็มันเหมือนคนตาบอดนี่ ถามว่าเห็นอะไรมั้ย มันก็คิดเอาเองน่ะ เข้าใจมั้ย มันไม่รู้หรอกว่าเห็นอะไร 

เหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้ว่ากายกับจิตกำลังทำอะไรอยู่ กำลังมีอะไรเกิดขึ้นตรงนี้ มันไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่ ...มันไม่สามารถจะก้าวเดินในกระบวนการต่อไป

เพราะนั้นกระบวนการก้าวเดินแรกคือ...ต้องทำยังไงก็ได้ให้รู้กายรู้จิตต่อเนื่อง สังเกต ให้เห็น ...เมื่อมันสามารถอยู่กับกายอยู่กับจิต เห็นกายเห็นจิตได้ต่อเนื่องแล้วนี่ ...ต้องอดทน 

คราวนี้ต้องอดทนแล้ว อดทนอยู่กับกายและจิตปัจจุบัน ...ไม่เอากายอดีต ไม่เอากายอนาคต ไม่เอาจิตอดีต ไม่เอาจิตอนาคต มาเป็นมาตรฐาน หรือเอามาเป็นกฎเกณฑ์ หรือเอามาเป็นเป้าหมาย 

คือเอากายปัจจุบันเท่านั้น เท่าที่มันปรากฏ ...ไม่ว่ามันจะไม่ได้ดั่งใจ หรือมันจะได้ดั่งใจ หรือมันจะมากขึ้น หรือมันจะน้อยลง ...ต้องอดทนอยู่กับมัน 

อันนี้ในขั้นตอนที่ต่อไปเราจะต้องอดทนเรียนรู้กับขันธ์ สังเกตขันธ์ ...อาการทั้งหมดที่ปรากฏหรือสิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมดนี่ เรียกว่าขันธ์...ขันธ์ ๕ อยู่แล้ว

เพราะนั้นเมื่อเพียรเพ่ง หรือว่าสติเข้าไปรู้เฉยๆ กับสิ่งที่ปรากฏต่อหน้า ...ถือว่ามันจะค่อยๆ ศึกษาความเป็นจริงของขันธ์ ด้วยการรู้และเห็น เรียกว่ามันจะพัฒนาขึ้นไปเป็นญาณ...ญาณทัสสนะ 

เมื่อเป็นญาณทัสสนะ เริ่มเป็นญาณทัสสนะนี่ คือลักษณะที่มันเริ่มเห็นว่า...อ๋อ มันเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ เป็นแค่สิ่งหนึ่ง มันไม่ใช่เป็นอะไรกับเรา มันไม่ได้ขึ้นอะไรกับเรา หรือว่ามันไม่ได้อยู่ใต้อำนาจอะไรของเรา 

ตรงนี้จากสติและสัมปชัญญะที่เข้าไปรู้ไปเห็นนี้ มันจะพัฒนาขึ้นเป็นญาณทัสสนะ เริ่มมีความยอมรับ ยอมรับความจริงที่ปรากฏ ...เริ่มยอมรับแล้ว 

ยอมรับความเป็นจริงของขันธ์ว่า...อ๋อ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ มันตั้งอยู่อย่างนี้ แล้วมันก็ดับไปของมันเองอย่างนี้ มันยอมรับ...เพราะมันเริ่มเข้าใจกระบวนการของไตรลักษณ์ แล้วมันจะยอมรับมากขึ้นๆ 

เมื่อยอมรับมากขึ้น จิตก็จะวางลง ถอยห่างมากขึ้น รู้กับขันธ์ห่างขึ้น ไม่ค่อยเข้ามาผสมกันเท่าไหร่ ...ตรงนี้จิตมันจะเริ่มอยู่ในฐานของความเป็นปกติมากขึ้น 

จิตจะเข้าไปสู่ความเป็นปกติ เป็นกลางได้มากขึ้นๆ มั่นคงมากขึ้น แล้วจากนั้นไปมันก็จะศึกษา...สติก็จะเข้าไปศึกษารายละเอียด 

ญาณทัสสนะมันก็จะเข้าไปเห็นรายละเอียด ระหว่างความเป็นปกติของกายและจิต แล้วก็จะไปศึกษาว่า ทำไมมันถึงผิดปกติ มันจะไปเกิดความเท่าทันตอนที่ปกติ...แล้วมาผิดปกติ 

ขณะแรกของการผิดปกติ ตรงนั้นน่ะ เมื่อเห็นขณะแรกของการผิดปกติ ลักษณะที่เห็นขณะแรกของการผิดปกติ ...ตรงนั้นจึงจะเรียกว่าสัมมาสติ 

คือมันยังไม่ทันจะออกมาเอาอะไร ยังไม่ทันออกมาว่ามันถูกว่ามันผิด ว่ามันจะอย่างงั้น ว่ามันจะต้องไปทำอย่างงี้กับอะไรกับมัน คือยังไม่ทันจะเข้าไปให้ค่าอะไร 

มันก็เห็นอาการขยับออกมาของความปกติแล้วก็จะผิดปกติ ...อาการแรกของการขยับออกมา ตรงนั้นจึงจะเรียกว่าสัมมาสติ

พอเห็นอาการแรกของจิตที่ขยับออกมาพั้บ มันจะดับทันที ตรงเนี้ย มันจะดับ เกิดแล้วก็ดับ ๆ ทันที และเป็นลักษณะของสติตัวจริง หรือว่าสติตัวแท้ 

คือไม่ใช่สติที่เกิดจากการเจตนาหรือจงใจแล้ว มันเป็นของมันเอง แค่เห็น...ดับเลย เห็นแล้วดับเลย เห็นทันพั้บ..ดับ กลับมาเป็นปกติทันที ...พั้บ ปกติทันที

นี่ อยู่อย่างเงี้ย มันจะอยู่กับความเป็นกลางอย่างเงี้ย อันนี้เรียกว่าเป็นสติตัวแท้แล้วนะ ไม่เป็นสติที่กอปรด้วยอัตตา จงใจ หรือเจตนา 

แต่ขณะที่มันเกิดอาการของสัมมาสติ มันก็ไม่ได้หมายความว่าสัมมาสตินี่เกิดตลอดเวลา มันก็มีมากบ้าง น้อยบ้าง ถี่บ้าง เร็วบ้าง นานๆ ครั้งบ้าง อะไรบ้าง 

เพราะงั้นระหว่างที่ไม่มีสัมมาสติเกิดขึ้นตลอดเวลา มันก็ต้องอยู่ด้วยสติที่รู้เบาๆ เป็นกลาง คอยสังเกตอยู่ตลอด ทิ้งไม่ได้ ...ก็ยังต้องมี ก็ยังต้องเจริญสติเป็นฐานแห่งการระลึกรู้อยู่เห็นอยู่ 

อยู่อย่างงั้น รักษาความเป็นกลาง สติมันก็จะไปรักษาความเป็นกลาง ...เพราะนั้น ในขณะที่เกิดสัมมาสติแล้วก็ตาม มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นกลางตลอดสาย 

สักพักหนึ่งขนาดว่าเป็นกลางๆ แล้ว ...ไปรู้อีกที ปั๊บ...อ้าว มันเกิดอาการยินดียินร้ายแล้ว  ไปรู้ทัน ไปเห็นอีกที...อ้าว มันกลายเป็นยินดียินร้ายแล้ว

ก็ต้องอยู่ในฐานของการระลึกรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรม ...เพราะว่ามันยังไม่ขาดกันโดยสิ้นเชิง ขันธ์กับใจมันยังไม่ขาดกัน มันยังเข้าไปพัวพัน มันยังมีช่องลอดออกไปอยู่ 

เพราะว่าสัมมาสติของเรายังไม่แข็งแกร่งพอที่จะเห็นได้ทุกกระบวนการหรือทุกอาการ มันก็ยังไหลออกไปรวมกัน ...แล้วก็รู้เท่าทันอีก...อ้าว ไปรู้ตอนยินดีแล้ว ยินร้ายแล้ว 

แต่ในลักษณะที่รู้ตรงช่วงนี้ มันจะไม่เข้าไปเป็นทุกข์กับอาการมากจนเกินไป หรือว่าทุกข์กับขันธ์จนไปแก้ไข ไปดิ้นรนขวนขวายทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็จะรู้เฉยๆ กับอาการที่ยินดียินร้าย 

จนกว่าอาการยินดียินร้ายมันจะหมดสภาพของมันหรือว่าเสื่อมลงไป หรือว่าดับไป หรือว่าเป็นกลาง ...ก็กลับมาเป็นปกติ แล้วก็กลับมาอยู่ในฐานของเป็นกลาง อยู่อย่างนี้ 

แล้วสติมันจะทำความชำนาญ บ่อยๆ จนเท่าทันอาการก่อนที่จะเกิดการเข้าไปยินดียินร้ายนั้น ...ตรงนั้น มันก็จะไปฝึกไปสะสมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสัมมาสติในเรื่องนั้นๆ เคสนั้นๆ กับบุคคลนั้นๆ 

หรือกับเหตุการณ์นั้นๆ กับอาการความคิดอย่างนั้น ความจำอย่างนี้ ที่มันจะหลงเข้าไปพัวพัน หลงเข้าไปมีเข้าไปเป็น หลงเข้าไปเป็นเจ้าของกับสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมจิตอยู่ ...มันก็ฝึกเท่าทันอยู่ตรงนั้น 

สัมมาสติมันก็จะมากขึ้นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกข์ก็น้อยลงเรื่อยๆ ...ความหมายของทุกข์ที่น้อยลงเรื่อยๆ นี่คือทุกข์อุปาทานนะ ไม่ใช่ทุกข์ในขันธ์นะ 

ทุกข์ในขันธ์ยังเท่าเดิม เจ็บปวด เวทนา อารมณ์ต่างๆ ก็มี ...ก็ยังมี แต่ว่ามันมีแบบเราไม่เข้าไปยินดียินร้าย ...มีเฉยๆ มีก็มี เรื่องของมันไม่ใช่เรื่องเรา มันจะเป็นยังไงก็เรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา 

เรื่องของจิตไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของธรรมารมณ์ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่างเนี้ย ไม่ว่ามีอารมณ์ไหนเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของจิตมีอาการนี้ ก็เรื่องของอารมณ์มีอาการอย่างงี้ๆ ...ก็เฉยๆ รู้เฉยๆ กับมัน

มันจะแยก...เริ่มแยกออกแล้ว...กายกับใจ ขันธ์กับใจเริ่มแยกออกจากกัน  มันจะแยกออกจากกัน โดยมีคั่นกลางระหว่างความเป็นกลางหรือปกติ นั่นแหละเป็นตัวคั่นอยู่ ไม่ให้เข้าไปเกลือกกลั้วมัวเมาพัวพันกัน 

จนมันขาดกันโดยสิ้นเชิง จนมันขาดจากขันธ์ ๕ หยาบๆ ...เรียกว่ามันไม่เข้ามาอีกเลย ไม่เข้ามาผสมกันเลยน่ะ สติทันหมด สัมมาสติทันหมด...ตลอด ...มันขาด

เมื่อมันขาดไปเมื่อไหร่ปุ๊บ มันก็..เขาเรียกว่ามันก็เสวยผลของญาณ ที่เรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ คือญาณที่เกิดอาการวางเฉยต่อรูปและนาม 

อันนี้เป็นธรรมชาติเลย ไม่ใช่ไปทำขึ้นหรือว่าแกล้งไปวางเฉย ...แต่มันไม่เข้าไปยินดียินร้ายกับรูปและนาม ทั้งรูปนามตัวเองและรูปนามภายนอก จนสิ้นเชิงในเบื้องต้น 

ถ้าขาดโดยสิ้นเชิงเลยก็เป็นพระอนาคาแล้ว...ก็เหลือแต่ส่วนของภายในของใจล้วนๆ  ตอนนี้สติมันจะเป็นสติในจิตแล้ว สติในใจแล้ว ...มันจะเข้ามาเรียนรู้เรื่องของอวิชชา ตัณหาภายใน 

ตอนนี้ไม่เป็นเรื่องเป็นราวแล้วนะ สติตอนนี้ไม่เห็นอาการที่เป็นเรื่องเป็นราวแล้ว แต่เห็นธรรมชาติของใจที่แท้จริง มันเข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติของใจจริงๆ 

ขั้นแรกๆ ตั้งแต่การปฏิบัติภาวนานี่ บอกให้เลย ตั้งแต่ต้นจนจบนี่ มีสติแค่ตัวเดียวนี่...หลุด หยุดหมดเลย ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด

ตอนนี้ก็มีหลายแนวทางเหลือเกิน ที่บอกว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ก่อน  ถ้าไม่มีกำลังของจิต ไม่มีกำลังของสมาธิ จะเข้าไปละกิเลสไม่ได้

นี่ ไม่ได้ละอะไรเลย แต่เข้าไปเห็นตามความเป็นจริง ทุกอย่าง ทุกกระบวนการ ...เมื่อมันเห็น มันเข้าใจแล้วก็...เออ มันเป็นอย่างงี้ มันต้องเป็นอย่างงี้ มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก...แค่นี้ จิตมันวางแล้ว 

แล้วก็เห็นว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิต ของผัสสะ ...ผัสสะก็จริง อารมณ์ก็จริง ขันธ์ก็จริง ทุกอย่างจริงหมด...แต่มันจริงของมัน เราไม่เกี่ยวเลย...อย่างนี้ต่างหาก 

ก็ไม่ได้ว่า มันจะเปลี่ยนแปลง หรือว่าดับ หรือว่าสิ้นไป ...ขันธ์ก็คือขันธ์ เหมือนกับขัน ก็คือขันเอาไว้ตักน้ำอาบ (หัวเราะ) ...ก็ใช้ประโยชน์กับขันธ์ไป 

ขันธ์มันไม่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรกับเรา มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไปของมันเองอย่างนี้ ก็ใช้มันไป ...แต่ว่าใช้ยังไงกับมัน ใช้ให้เป็นน่ะ ไม่ใช่ให้ขันธ์มันมีอิทธิพลเหนือเรา หรือว่ามาบงการเราได้แค่นั้นเอง

เพราะนั้น ไม่ต้องฟังอะไรมากหรอก ฟังตัวเอง ฟังใจเจ้าของ ...รู้ ดูเข้าไป ไม่ต้องกลัวผิด  ดูเข้าไป เห็นเข้าไป ไม่ต้องสงสัย ...สงสัยก็รู้ว่าสงสัย ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องกลัวผิด ไม่ต้องกลัวพลาด 

ดูเข้าไปเถอะ มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ ๆ ...ช่างมัน  ไอ้ความอยากรู้น่ะ..ให้ทัน ไอ้ความอยากเข้าใจน่ะ..ให้ทัน  อย่าไปอยากรู้ อย่าไปอยากเห็น อย่าไปอยากเข้าใจอะไร 

รู้โง่ๆ รู้แบบไม่เอาอะไร รู้เฉยๆ นั่นแหละ ...ใครเขาจะว่าผิด ใครเขาจะว่าถูก  เออ ดูใจเราตอนนั้น ฟังเขาว่าแล้วเป็นยังไง ไปฟังความเห็นอื่นแล้วเป็นยังไง 

จิตเรายินดีมั้ย ยินร้ายมั้ย กังวลมั้ย กลัวมั้ย ฟุ้งซ่านมั้ย วิตกกังวลกลัวผิดกลัวถูกมั้ย ...นี่ ดูอาการของจิตที่มันมีอาการตามความเป็นจริงที่ปรากฏเมื่อกระทบความรู้ความเห็นต่างๆ นานา

เพียรอยู่ตรงนั้นแหละ สังเกตอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วมันก็จะเข้าใจว่าทุกอย่างมันเป็นไปแค่นั้นเอง ไม่มีอะไร เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไปๆ ...ไม่ต้องไปเอาอะไร เพราะมันไม่ได้อะไร 

ความรู้ก็ไม่มี ...มีแต่รู้อะไรก็ละอันนั้นน่ะ สิ่งที่ถูกรู้คือสิ่งที่ต้องละ ไม่ใช่ไปหาอะไรมันมาเพิ่ม โง่เข้าไว้ ไอ้ที่รู้อยู่น่ะต้องเอาออกหมดน่ะ บอกให้เลย 

ไอ้ความรู้ความเห็นทั้งหลายทั้งปวงน่ะ ทิฏฐิมานะ ความจำได้ความหมายรู้ ทุกอย่าง สมมุติและบัญญัติ มันต้องรู้ละรู้เพิกรู้ถอนออกหมดน่ะ ...จนไม่เหลือหลอ 

เพราะนั้นไอ้ความรู้ใหม่ ความรู้ไหนที่คิดว่าใช่ มันก็คิดว่าไอ้ความรู้นั้นเที่ยงใช่ป่าว ไปหาความรู้ที่เที่ยง ...ไม่มีอะไรเที่ยงหรอก ก็แค่นั้นแหละ ทุกอย่างน่ะรู้แล้วก็ผ่านไป หมดสภาพแล้วรับรู้แล้วก็จบ 

อย่าไปตั้งขึ้นมาเป็นทิฏฐิขึ้นมา หรือว่าจดจำ หรือว่าเอาเป็นความเห็น ไม่งั้นมันจะมีความขัดแย้ง เกิดความขัดแย้ง เกิดความขุ่นมัว เมื่อไปเจอทิฏฐิอื่นหรือความเห็นอื่น 

ทำยังไงให้มันเบาลงไป ด้วยการไม่เก็บเข้ามา ไม่ไปหาใหม่ ...ส่วนไอ้ที่มีอยู่นี่ก็ชำระออก ความคิดความเห็นใดๆ ที่มันตั้งขึ้นมา รู้ทัน ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เกิดอีกรู้อีกๆ ๆ ...ก็แค่นั้นแหละ 

การปฏิบัติมีอยู่แค่นี้เอง รู้ทัน แล้วก็วาง ...วางไม่ได้ก็รู้ว่ายังวางไม่ได้ มันยังเข้าไปมี เข้าไปเป็น เข้าไปแทรกแซง เข้าไปหมาย เข้าไปให้ค่า...ก็รู้อีก อยู่ในอาการไหนก็รู้ในอาการนั้น


(ต่อแทร็ก 2/21)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น