วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/23 (3)


พระอาจารย์
2/23 (530821D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 สิงหาคม 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/23  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่าสมาธิที่เป็นสมาธิธรรมชาติ การรวมของสมาธิธรรมชาติ บางทีมันไม่ได้เกิดจากการจงใจ เราไปหาเหตุหาผลอะไรกับมันไม่ได้หรอก บทมันจะรวมมันก็รวม...อย่างนั้น

เพื่อให้เกิดความสมดุล แค่นั้นเอง ทั้งหมดน่ะเป็นไปเพื่อปรับสมดุล...ที่มันขาดและก็เกิน ...อันไหนขาดมันก็จะเติมให้ อันไหนเกินก็ตัดออก จนกว่ามันจะเป็นปกติ พั้บ สมดุลๆ

เห็นมั้ย "เรา" ไม่เกี่ยวเลยนะนั่นน่ะ ไม่มี "เรา" เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย มีแต่สติรู้อย่างเดียว สัมปชัญญะเห็นอย่างเดียว ไปเรื่อยๆ มันจะไปปรับสมดุลให้ ...ไอ้ที่ขาดก็จะเติม ไอ้ที่เกินก็จะลด จนเป็นธรรมดา

พออยู่ในฐานธรรมดาปุ๊บ มันก็จะอยู่ท่ามกลางโลกียะ-โลกุตระ...ภายใน-ภายนอก จะไม่เลือก จะไม่เลือกในข้างใดข้างหนึ่ง อยู่ท่ามกลางกายและจิต ไม่เลือกกายไม่เลือกจิต ...อยู่เป็นกลาง

พอมันจะกระโดดเข้ามาจิตพั้บ จิตไม่มีอะไร ปุ๊บ มันก็กลับมา มันไม่เอา พอจะกระโดดไปอยู่กับกายหรืออารมณ์ภายนอก ปั๊บ มันก็กลับมา เป็นปกติ

มันจะอยู่ท่ามกลางอย่างนี้ตลอด ...จะบอกว่าอยู่ที่กายก็ไม่ใช่ จะอยู่ที่จิตก็ไม่ใช่  จะอยู่ตรงกลาง ท่ามกลาง จะอยู่นอกก็ไม่ใช่ จะอยู่ในก็ไม่ใช่ ...ท่ามกลาง

ไปๆมาๆ มันไม่มีที่ให้อยู่ด้วยซ้ำ ไม่มีที่หมายของความเป็นกลาง ไม่รู้กลางอยู่ตรงไหน

เพราะนั้นทุกอย่างมันจะปรับเข้าสู่สมดุลความเป็นกลางของมันเอง  มันอยู่ท่ามกลางสรรพสิ่งได้...โดยไม่มีการขยับเขยื้อน โดยไม่มีการไพล่ไปทางสุดโต่งทั้งยินดีและยินร้าย

ไอ้ความสุดโต่งนี่คือความยินดียินร้าย ...มันจะปรับจนเป็นปกติ นั่นแหละ อยู่ในองค์มรรคตลอด

เพราะนั้นจะอยู่ในครรลองของมรรคนี่ มันจะเป็นครรลองของความปกติ ...ไม่ต้องไปสงสัยในความเป็นปกติ ไม่มีอะไรนั่นน่ะดีแล้ว

ส่วนมันจะมีอาการใคร่ไปใคร่มา กระโดดไปกระโดดมาของมันเอง ...ช่างมัน เรียนรู้มันไป ...สุดท้ายก็ไตรลักษณ์...ดับหมด เดี๋ยวก็ดับ

จะซ้ำขนาดไหนก็ดับ จะเหมือนเดิมขนาดไหน เดี๋ยวมันก็ดับ ...เกิดกี่ครั้งก็ดับ  เกิด ๕ ครั้งก็ดับ ๕ ครั้ง เกิด ๑๐ ครั้งก็ดับ ๑๐ ครั้ง เอาแค่นี้ ช่างมัน ดับเหมือนกันหมด

นี่ มันจะปรับสมดุลเป็นปกติขึ้นมามากขึ้นๆๆ ไม่หวั่นไหวไปตามอาการ ...เพราะนั้นอาการหวั่นไหว หวั่นไหวตามอาการ มันจะหวั่นไหวด้วยความสงสัยก็ได้ ด้วยความยินดียินร้ายก็ได้

ความสงสัยนี้จะทำให้จิตหวั่นไหว ไม่เป็นกลางแล้ว ...จะเลือกแล้ว จะเลือกความรู้ จะเลือกเข้าไปรู้แล้ว เข้าไปหาแล้ว อย่างนี้...ก็รู้ทัน

พอรู้ทันก็จะปรับเป็นปกติ...ช่างมัน แล้วก็ผ่านไป  เกิดใหม่รู้ใหม่ๆ เห็นใหม่  รู้ทัน ...มันจะปรับความเป็นกลางขึ้นไปเรื่อยๆ จะอยู่ท่ามกลาง


โยม  หลวงพ่อคะ คือเวลาสวดมนต์น่ะค่ะ ที่หลวงพ่อบอกให้ฟังสวดจะเป็นยังไง   ก็เหมือนได้ยินเสียงตัวเอง แล้วก็เห็นว่าเหมือนกับเห็นตัวเองกำลังสวดมนต์อยู่แล้วก็มันคิดไปเรื่องอื่น

แต่ก็มันสวดมนต์อยู่ได้ แล้วก็คิดไปเรื่องอื่นแล้วก็รู้เรื่องอื่น แล้วเหมือนตัวก็ยังสวดมนต์อยู่ อะไรอย่างนี้ค่ะ คือมันเกิดขึ้นได้ยังไงคะ คือเหมือนกับว่า เหมือนแยกมาเลยน่ะค่ะ เป็นความเคยชินหรือ

พระอาจารย์ –  ใช่ ความเคยชิน ไม่ต้องบังคับมันหรอก ก็ทำได้ ทำได้เป็นปกติของมัน ให้เห็นอย่างนั้นน่ะดีแล้ว อย่าสงสัย

เห็นยังไง เห็นยังงั้น ...อย่าไปแยกแยะหาโคตรพ่อโคตรแม่มัน (หัวเราะกัน) ...ไม่ต้องสงสัย โง่เข้าไว้ ดู เออ มีอย่างนี้ เห็นอย่างนี้


โยม –  แล้วแต่ก่อนที่เคยบอกหลวงพ่อเรื่องเวลานั่งสมาธิแล้วเหมือนจะวูบน่ะค่ะ ตอนนี้เหมือนกับว่าไม่วูบแล้ว แต่มันเป็นการประคองรึเปล่า พอเหมือนกับจะวูบปุ๊บเราก็รู้มัน แล้วก็มารู้ใหม่อย่างนี้ค่ะ 
 
พระอาจารย์ –  ธรรมดา จะเรียกว่าประคองก็ประคอง จะเรียกว่ากลับมาระลึกรู้ก็ได้ มันก็ต้องอยู่อย่างนั้นแหละ ...เลี้ยง เอาสติเข้าไปหล่อเลี้ยง ...ถ้าไปเรียกว่าประคองก็ได้ เข้าใจมั้ย ประคองสติ


โยม –  อย่างนี้ก็เป็นการทำมันขึ้นมาไม่ใช่หรือคะ

พระอาจารย์ –  ยังไงก็ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ...ถ้าไม่ทำ...ไม่มีทางเกิดสัมมาสติ บอกให้เลย จะปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วจะเกิดสัมมาสติ...ไม่มีทาง 

ไม่งั้นพระพุทธเจ้าไม่อุตส่าห์มาตรัสรู้แล้วก็สอนสติปัฏฐานขึ้นมาหรอก ให้เจริญสติเยอะๆ ใช่มั้ย


โยม  ค่ะ 

พระอาจารย์ –  ถ้าไม่มีการเจริญสติอยู่นี่ ไม่มีทางที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติ

อยู่ดีๆ มันจะลอยมาเหมือนกับฟลุ้คอย่างนี้...ไม่มี ไม่มีคำว่าฟลุ้ค ...ต้องทำขึ้น ต้องเจริญขึ้นมา ไม่มีบังเอิญ ปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วก็...เอ๊อะ รู้ตัวขึ้นมาเอง ไม่มีหรอก

ถึงรู้ตัวขึ้นมาเองก็นิดเดียว แล้วมันก็ไม่สามารถจะเพียงพอที่จะให้มันเกิดความแจ้งภายในได้ ...แม้ขณะเกิดสัมมาสติแล้ว ก็ยังทิ้งสติปัฏฐานไม่ได้เลย ก็ยังต้องหมั่นคอยดูคอยสังเกต

เห็นมั้ย มันต้องมีการกระทำอยู่บ้าง แต่ว่ากระทำแบบไม่ได้หวังผลเพื่ออะไร แต่ไม่ใช่ไม่ทำเลย ...ทำแต่ไม่หวังผล เข้าใจมั้ย มันต่างกัน

เหมือนกับเรานั่งสมาธิอย่างนี้ เรานั่งมันมีหวังผลอยู่น่ะ จะให้เกิดความสงบอย่างเนี้ย อย่างนี้แรงไปแล้ว ...แต่ถ้านั่ง...เออ จะกำหนดอะไรก็กำหนด แล้วเราไม่หวังว่าจะต้องได้อะไร ทำไปเหอะ

เข้าใจมั้ย รักษาคำบริกรรมนั้นไว้ เจริญสติอยู่กับคำบริกรรมนั้น หรือเจริญสติอยู่กับใจ รู้อยู่ ก็เหมือนกับประคอง แต่ว่าเป็นการประคองสติ เข้าใจมั้ย

ไม่ได้ประคองอารมณ์หรือว่าไม่ได้ประคองอะไร แต่ประคองรู้ คือประคองสติให้มันเห็นต่อเนื่อง ...ต้องทำนะ ถ้าไม่ทำมันก็หลงน่ะ

อย่าไปกลัวการทำ ...นี่เราก็ไม่เรียกว่าทำหรอก เขาเรียกว่าเจริญสติ เข้าใจมั้ย คือสร้างสติขึ้นมา นั่นแหละ ก็ดูเหมือนทำนั่นแหละ แต่ทำแบบเจริญขึ้นมา ให้มันเจริญขึ้นมามากๆ

ไม่ใช่จงใจให้ได้อะไรขึ้นมา หรือว่าทำเพื่อให้ได้อะไร...ไม่ใช่ ...การเจริญสติไม่ใช่เพื่อให้ได้อะไร แต่เพื่อให้เห็นกระบวนการ...นี่ เพื่อให้เห็นกระบวนการ

เพราะนั้นมันก็ต้องประคองอยู่แล้ว ประคองสติเพื่อให้เห็นต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสัมปชัญญะ ...ถ้าไม่เกิดสัมปชัญญะ มันไม่มีทางเห็นกระบวนการ

เพราะการจะเห็นกระบวนการ...ต้องอาศัยการเห็น ไม่ใช่การรู้แค่ขณะๆ อย่างนี้ มันไม่เห็น...มันไม่เห็นตลอดนะ ...เพราะนั้นตัวที่เห็นตลอดนี่คือสัมปชัญญะ

เหมือนนกบินมา ถ้าเรามองแต่นกอย่างนี้ มันก็เห็นแต่นก แต่ไม่เห็นอย่างอื่น เข้าใจมั้ย ...อย่างเนี้ยเขาเรียกว่าไปรู้ที่ใดที่หนึ่ง ขณะใดขณะหนึ่ง มันจะไม่เห็นโดยรอบ มันจะไม่เห็นว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง

แต่ถ้าเราไม่ได้เจาะจง ...ก็เห็นอยู่ว่านก ก็รู้อยู่ว่านก  แต่เราไม่ได้ไปอยู่ที่นกอย่างเดียว มันมีการเห็นพร้อมน่ะ อย่างเนี้ย มันถึงจะเห็นกระบวนการโดยตลอดโดยรอบ

คือมันต้องมีสัมปชัญญะ จึงจะเกิดปัญญาเห็นรอบ ...แค่รู้อย่างเดียว เพ่งอย่างเดียว เห็นลมอย่างเดียว อย่างเนี้ย มันจะไม่เห็นกระบวนการโดยรอบของอายตนะเลย เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นมันต้องอาศัยความรู้ตัวทั่วพร้อม...สัมปชัญญะ ต้องทำ สติก็ต้องเจริญ ปล่อยไม่ได้ ...เรายังไม่ใช่เป็นพระอริยะ เรายังไม่เป็นปัญญาที่ขาดกันเป็นสังขารุเบกขาญาณ ...ยังไงๆ ก็ต้องทำ

แต่ว่ามันจะค่อยๆ ทำไปจนกว่าจะละการจงใจไปเรื่อยๆ ...มันจะละของมันเอง อย่าเพิ่งไปชิงละ  ถ้าชิงละก็กิเลสครอบงำเลย

มันยังไม่ถึงเวลาให้ละการเจริญ การดำเนินองค์มรรค  ถ้าละก็ขาดทันที...สติก็ขาด ก็หลุดเลย


โยม –  หลวงพ่อคะ ก็กำหนด เหมือนนั่งไปแล้วมันเจ็บขาอย่างนี้ก็เหมือนกับอันนี้แบบว่าไม่รู้มันคิดเองรึเปล่า ว่าเนี่ยมันเป็นอนิจจังอย่างนี้ ปวดมากแล้วก็ปวดน้อย แล้วก็มันก็หลายอย่างน่ะค่ะหลวงพ่อ อันนี้คือเขาพูดเอง หรือว่าเรา...

พระอาจารย์ –  มันช่วยกัน "เรา" ก็คิดด้วย ...ไม่เป็นไร ไม่งั้นมันจะอดทนไม่ไหว  มันก็ต้องมีอุบาย มีความคิดมาช่วย สังขารธรรมมาช่วยประคอง ช่วยให้มันอดทนดูกระบวนการของมันเท่านั้นเอง

ไม่เป็นไร แล้วต่อไปการที่จะเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์มันก็จะน้อยลง มันจะค่อยน้อยลงของมันเอง ไม่ต้องไปหาเหตุหาผลอะไรกับมันแล้ว 
 

โยม –  ค่ะ แต่ก่อนเพราะให้ค่าเยอะค่ะ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่า พอรู้แล้วก็เสร็จปุ๊บมันก็จบไปแล้วเหมือนมันเป็นกลางมากขึ้นน่ะค่ะ

แต่ถ้าเกิดนั่งสมาธิอะไรอย่างนี้ มันจะปวดมาก เหมือนกับบางทีเราก็รู้ว่ากาย แต่บางทีมันก็ถลำเข้าไปแล้วมันก็รู้สึกว่าเจ็บมาก แล้วบางทีเหมือนกับกายก็อยู่ส่วนกาย

คือกายมันเจ็บมาก บางทีก็เหมือนมันนิ่งๆ ก็ไม่ได้อะไรกับมัน คือเหมือนกับว่ามันรวมกันไปหมดเลย แล้วมันก็เจ็บมาก ก็จะตายแล้ว อะไรอย่างนี้ค่ะ

คือเหมือนเราไม่รู้แล้วค่ะ มันเจ็บอย่างเดียวอย่างนี้ค่ะ คือบางทีก็คิดขึ้นมาเอง เหมือนฟังหลวงปู่ที่ว่าคนเราต้องตายอะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  ก็เป็นความคิดที่ขึ้นมาช่วยเท่านั้นเอง ...แต่จริงๆ น่ะถ้าดูไป อดทนน่ะ อดทนอย่างเดียว ๆ แล้วก็ดูอาการดิ้น 


โยม  ใช่ค่ะ หนูรู้สึกว่ามันดิ้นมาก แล้วหนูรู้สึกว่ากิเลสมันบอกทุกอย่างเลย ถ้าเกิดเราไม่ผ่อนขาตอนนี้เราจะตาย ขาจะขาดอย่างนี้

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้ดูอาการพวกนั้นน่ะ จนถึงที่สุดของมัน จนถึงที่สุดที่มันทนไม่ได้ แล้วค่อยว่ากัน ...แต่ให้ดูว่ามันมีอาการดิ้นขนาดไหน

ดูเฉยๆ นั่นแหละอดทนไป อดทนดูมันไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปคิดว่าต้องชนะหรืออะไรกับมัน อดทนดู...ดูว่าจิตมันมีอาการยังไงในขณะที่มีเวทนามากๆ นั่นน่ะ


โยม –  ถ้าอย่างนี้เหมือนเราจะเอาชนะหรือเปล่าคะ 

พระอาจารย์ –  ลึกๆ มันมีพวกนี้ ที่ต้องการเอาชนะเวทนาให้ได้ 


โยม –  บางทีก็เห็นมันไม่ได้ปวดเท่ากันค่ะ แต่ว่าคืออยากจะรักษามันจากอาการนี้ ก็เลยจะชนะให้ได้ แต่บางทีไม่ได้รู้ตัวไม่ได้มีสมาธิไม่ได้มีสติไม่ได้มีอะไร คือสวดมนต์อย่างเดียว

พระอาจารย์ –   เออ ดีเลยอย่างนั้นน่ะดี ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน ...แต่ขณะนั้นน่ะมันมีสติในตัวของมันเองอยู่แล้ว เข้าใจมั้ย เป็นธรรมชาติของการเข้าไป แล้วก็รู้อยู่อย่างนั้น ...มันไม่หายไปไหนหรอก 


...................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น