วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/23 (1)


พระอาจารย์
2/23 (530821D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3 ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ขันธ์น่ะเวลาปรุงแต่ง มันจะปรุงแต่งสองอย่าง อดีตกับอนาคต ...อดีตคือสัญญา อนาคตคือสังขาร ...และเมื่อปรุงแต่งปุ๊บมันจะมีการตัดสิน ให้เลือก...ว่าอย่างนี้ดีกว่าอันนั้น

เพราะนั้น ไอ้การที่ให้เลือกนี่คือมานะ เป็นทิฏฐิมานะขึ้นมา ...พอมานะปุ๊บ มันจะเกิดอาการที่ว่าอันนี้ดีกว่าอันนี้  อันนี้ถูก อันนี้ผิด  อันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่

พวกนี้คือมานะ มันก็เป็นธรรมชาติของอวิชชาตัณหา...ที่มันจะใช้ขันธ์เป็นเครื่องมือให้เกิดทิฏฐิมานะขึ้น แล้วก็เกิดการกระทำต่อมา ให้เกิดการเข้าไปเสวยภพ

คือจุดหมายของมันน่ะ ของการปรุงแต่งทั้งหมด หรือว่าอวิชชาตัณหาอุปาทานนี่ คือจุดหมายเดียวกัน...คือมันจะมุ่งเข้าไปเสวยภพที่เป็นสุข ที่มันพอใจ นั่นแหละคือเป้าหมายหลักของมัน

เพราะนั้นระหว่างที่มันจะเอาอะไรดีเนี่ย และจะให้ทำอะไรดี หรือจะให้ได้อะไรขึ้นมาเนี่ย ...มันก็จะเอาสัญญากับสังขารมาเป็นเครื่องมือ

แล้วก็มาเปรียบเทียบ หาถูกหาผิด หาที่ดีที่สุด ที่มันคิดว่าสามารถทำได้ในขณะนี้  แล้วมันจะเลือก ตัดสิน...ว่าโอเคแล้ว เอายังงี้ วิธีนี้ ต้องทำอย่างนี้ ....ต้องทำอย่างนี้ในจิต ต้องทำอย่างนี้ในคำพูด 

หรือต้องทำอย่างนี้...ด้วยการพามันเดินไปทำอะไรให้มันมีความสุขความพอใจขึ้นมา มันก็จะทำตามนั้นทันที ...นี่ก็เรียกว่าทำไปตามสัญญาอุปาทานแล้วก็สังขารอุปาทานขึ้นมา

แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ เท่าทันปุ๊บ ความคิดก็สักแต่ว่าความคิด ความจำก็สักแต่ว่าความจำ  ก็ไม่ได้ยินดียินร้ายอะไรกับมัน ...อยากคิด ก็คิดไปเด่ะ อยากปรุงก็ปรุงไปเด่ะ 

ไม่ว่าความเห็นอะไรก็แค่นั้น เฉยๆ ...แค่นั้นเอง เดี๋ยวมันก็แสดงความเป็นไตรลักษณ์ของมันเอง

แต่ถ้าเราเข้าไปเชื่อ ให้ค่า แล้วก็เข้าไปทำ...แล้วก็เสวยปุ๊บ มันจะเกิดอาการยินดียินร้าย แล้วก็เกิดความเข้าไปเสพ เข้าไปเสพแล้วก็...มันจะเกิดความพึงพอใจขึ้นมา

นี่มันเข้าไปจับ เข้าไปหวงแหน เข้าไปรักษา เนี่ย เริ่มเข้าไปเกาะเกี่ยวแล้ว เริ่มเข้าไปเกาะเกี่ยว หน่วง รั้ง หรือว่าผลักดัน ...นี่เขาเรียกว่าเข้าไปเสวยเป็นชาติเป็นภพแล้ว

พอเข้าไปเสวยเป็นชาติ...ภพ ...ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส...มันก็ดำเนินไปตามปกติของปัจจยาการที่มนุษย์ใช้กัน

มันก็ใช้กันแค่ปัจจยาการเบื้องปลายแค่นั้นเองน่ะ...ทำยังไงให้เกิดสุขกับทุกข์  ภายในก็ทำยังไงให้เกิดสุข แล้วก็เอาแต่สุข...ทุกข์ไม่เอา ...แค่นั้นเอง คือชีวิตของปุถุชนก็จะใช้อยู่แค่นี้

มันเรียนรู้แค่ปัจจยาการเบื้องปลาย ...แต่มันไม่เห็นกระบวนการของการเกิดขึ้นของปัจจยาการเบื้องปลาย...อะไรเกิดก่อนล่ะ... นี่ สติจะไล่ทวนกลับเข้ามา

ก็ไม่มีอะไร ก็เรียนรู้มันไป ...แต่ถ้าเราดูแบบปล่อย แล้วก็เข้าไปกับมัน มันก็จะก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ก่อเป็นเวทนาขึ้นมาเรื่อยๆ ก่อเป็นความเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

ความเป็นจริงเป็นจังจะเริ่มก่อตัวขึ้นมาทีละนิดๆ จนมันจับตัวเป็นก้อนเลย จับตัวเป็นก้อน ...ก้อนนั้นคือก้อนของอัตตาหรือก้อนของตัวตนในอนาคตเกิดเลย

พอจริงจังขึ้นมาปั๊บ...ต้องให้ได้เลยทีนี้  ถ้าไม่ได้แล้วหงุดหงิด ถ้าไม่ทำแล้วมันกระสับกระส่ายแล้ว ...มันจะเกิดความเป็นตัวเป็นตนในสิ่งที่ยังไม่ทันเป็นตัวเป็นตน ...ยังไม่มีจริงๆ น่ะ

แต่มันมีตัวตนในเรื่องของรูปนามในอนาคตเกิดขึ้น แล้วมันจริงจังขึ้นๆ ...เพราะนั้นน่ะ รูปมันก็เลยไม่เป็นกายเดียวจิตเดียวแล้ว มันเป็นรูปอนาคตรูปอดีต กายอดีตกายอนาคต

แล้วไปสำคัญเป็นจริงเป็นจัง เป็นตัวเป็นตนขึ้น...จนทานมันไม่ไหว มันก็ต้องแล่นออกไป พามันไป...พากายปัจจุบันนี่ไป พาจิตปัจจุบันไป

เพราะนั้นถ้ารู้ทันตั้งแต่ต้น มันยังไม่ทันก่อตัว ไม่ไปหมายมั่นมากนัก ...เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ หมดกำลัง ยังไม่ทันจับเป็นรูปเป็นร่าง เป็นก้อนเป็นกำ มันก็ค่อยๆ สลาย 

เพราะนั้นการที่มันจะจับตัวได้มั่นคงนี่ มันต้องใช้เหตุปัจจัยของความหลง ตัณหา เข้าไปหล่อหลอมมันให้เกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ...นี่คือถ้าเราปล่อยอ่ะนะ

เพราะนั้นก็...รู้ สังเกตดู แล้วก็วางเป็นปกติ เฉยๆ ไม่ต้องอะไรกับมันมากมาย ...สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรตั้งอยู่หรอก ดับไปเอง ...สุดท้ายก็ดับไปเอง

และเมื่อเวลาดับไปแล้ว...อย่าเสียดาย...อย่าเสียดายแพทเทิร์นของความคิดนี้ อย่าเสียดายแพทเทิร์นของสิ่งที่เราคิดว่าดีแล้วเอามาเป็นมาตรฐาน ...อย่าเสียดาย ช่างมัน

นี่ ความเป็นภพ ความหมายมั่นในภพ มันก็จะน้อยลง ...ไอ้ความอยากอย่างหนึ่งก็คือความหมายมั่นในภพนั่นแหละ...ในภพข้างหน้าข้างหลังนั่นแหละ

เพราะนั้นว่า อย่าว่าแต่ความหมายมั่นในภพข้างหน้าหรือภพอดีตเลย ...แม้แต่ภพปัจจุบัน รู้ปัจจุบันนี่  มันยังต้องคอยละปัจจุบันอยู่ตลอดเลย มันไม่เอาด้วยซ้ำ

เพราะนั้นว่าพระอนาคามี...ที่ท่านเหลือแต่ใจล้วนๆ ท่านอยู่กับความไม่มีอารมณ์ ความไม่มีอะไร อยู่กับอรูปล้วนๆ คือใจที่เป็นอรูปน่ะ ...ท่านยังต้องมาเรียนรู้ที่จะละความไม่มี เรียนรู้การไม่เข้าไปติดในอรูปภพนี่

และในอรูปภพนั้นก็ยังมีมานะอยู่ตรงนั้นเอง คือสำคัญตัวเองว่าไม่มี ...ตรงนั้น ที่เข้าไปเสวยภพโดยไม่รู้ นี่...ยังต้องละ เรียนรู้ที่จะละเลย ...เพราะนั้นว่าอยู่กับปัจจุบันแล้วยังต้องละปัจจุบันด้วยซ้ำ


โยม  ถ้าเกิดปัญญาไม่ถึง ยังละไม่ได้ ก็ค้างอยู่ตรงนั้น

พระอาจารย์ –  ก็ไปเกิดเป็นพรหมไป ...ถ้าถึงขั้นนั้นก็ไม่ต้องกลัวแล้ว อย่างมากก็ชาติเดียวแล้ว

แต่ไอ้ตอนนี้...อย่าไปว่าถึงความไม่มีเลย ...แค่ความไม่มีเกิดขึ้นนิ๊ดดเดียว...กูก็ทนไม่ได้แล้ว (หัวเราะกัน) มันจะดิ้นออกไปหาความมีความเป็นอยู่ตลอด เข้าใจมั้ย

แต่ของท่านนี่ ไอ้ความมีความเป็นนี่ ไม่มีทางเข้ามาเลย ...จิตจะมีความพึงพอใจลึกๆ ที่มีความสบาย มีความสุขในความไม่มีอะไร เข้าใจมั้ย

ไอ้ที่ติดคือติดความสุขที่ไม่มีอะไรน่ะ...พระอนาคานะ ที่ว่าหมดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ไม่ต้องดูอะไรแล้ว เฉยๆ ...ก็เสวยเต็มๆ เลย

แต่ว่าท่านติดแบบไม่กลัวติดหรอก ...ถ้าลักษณะนั้นน่ะครูบาอาจารย์ท่านไม่สนใจแล้ว ตายไปก็เรื่องของมึง ไปหลุดพ้นเอาข้างบน ไม่ต้องสอนแล้ว

ถึงขั้นนั้นไม่ต้องสอนแล้ว เป็นไปตามธรรมชาติของมรรคขั้นสูงแล้ว การชำระมันหมดสิ้น ...มันเข้าในครรลองที่เขาเรียกว่า มันไปในครรลองที่มันไม่มีทางหวน

ไม่มีทางหวนในการกลับมาเป็นรูปเป็นนาม กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่กลับมาแล้ว ...แค่เข้าไปรอ ในลักษณะที่รอความสมบูรณ์ของการเคลียร์ภายในเท่านั้น

แต่ไอ้ของพวกเรานี่...พอไม่มี แล้วชอบไปมี ต้องมีให้ได้ ...ไอ้ความอยาก เห็นมั้ย มันเร้า มันเร้าจิต กลัวโง่ กลัวไม่รู้ ...บอกไว้ก่อน รู้มากๆ มันรู้มากนี่ รอบรู้ รู้รอบ...คือรู้ไอ้ที่มันรอบๆ แต่ไม่รู้ไอ้ตรงที่รู้

มันรอบ...รู้แต่ไอ้รอบๆ นี่แหละ ไอ้รู้จริงๆ น่ะไม่รู้ ...มันไปรู้อะไรไม่รู้ รอบๆ น่ะ มันเรียกว่ารู้รอบ รู้มาก รู้มากแต่ไม่รู้จริงๆ ...ถ้ารู้จริงๆ นี่ ไม่ใช่รู้อยู่ภายนอก ถ้ารู้จริงๆ แล้วไม่มีอะไร...ไม่มีอะไรให้รู้ มันแค่รู้เฉยๆ

แต่มันชอบรู้มาก รู้ไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ รู้เรื่องคนนั้นคนนี้ รู้เรื่องอดีต รู้เรื่องอนาคต ความรู้มากมาย รู้ไปหม๊ดดด ...แต่ไม่รู้ตัวมันเอง...ว่าตัวรู้ รู้เฉยๆ รู้ที่แท้จริง

เพราะนั้น ถ้ารู้ที่แท้จริงแล้วไม่มีอะไรหรอก ...แต่พอเริ่มรู้ที่แท้จริงก็เริ่มกระสับกระส่ายแล้ว กลัวโง่ กลัวไม่รอด กลัวไปไม่ถึง กลัวไม่มีปัญญา กลัวจะไม่เข้าใจ แค่นั้น

มันติดไง มันคุ้นเคย ...บอกแล้ว อนุสัยคือความคุ้นเคย ...มันเคยอยู่กับเคยมีเคยเป็นน่ะ พอเริ่มไม่มีไม่เป็นเข้า มันเริ่มสงสัยในตัวมันเองอีกแล้ว

เหมือนกิเลสมันเป็นเจ้าเรือนน่ะ ...เมื่อมันมีความรู้สึกว่าเรือนมันสั่นคลอนเนี่ย มันก็จะต้องแสดงความหวงแหน ไม่ยอมให้ใครมาทำลายเรือนที่มีอยู่ของมัน

จะมาหักภพหักชาติมันนี่ เฮอะ ข้ามศพกูไปก่อน ...มันก็ต้องหาอุบาย หาทางที่เรียกว่า ต้องให้มันไม่มีทางที่จะให้มันมาแทะเรือนทำลายเรือนของเจ้าของ

มันก็สร้างความคิดความเห็นต่างๆ นานา  สร้างความปรุงแต่งต่างๆ นานา มาดึงให้เราต้องไปมีไปเป็นกับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา

นี่คือธรรมชาติของกิเลสจะเป็นอย่างนั้น มันไม่ยอมให้ถูกทำลายง่ายๆ หรอก ...เพราะนั้นเราจึงมีความรู้สึกต่อต้าน หรือมีความรู้สึกรับไม่ได้ หรือว่าอึดอัด

นี่คล้ายๆ กับว่าพยายามจะดิ้นหาภพอยู่อย่างนั้น ...เพราะมันเคยชินกับการมีภพเป็นเครื่องอยู่ มีชาติเป็นที่อาศัย มีผลคือสุขทุกข์เวทนาต่างๆ นานา

พอเริ่มที่จะเฉยๆ ไม่มีอะไรรับรู้ ว่างเปล่า เริ่มว่างเปล่าแล้ว ...นี่ เริ่มเอาแล้วโว้ยกู จะไปจะมายังไงนี่ จะไปไหนดีวะ จะทำอะไรวะนี่ จับอะไรก็ไม่ได้ รู้อะไรก็ไม่ได้

มันเริ่มดิ้นๆ นั่นน่ะคืออาการของจิต ...เพราะนั้นในระหว่างนี้ต้องอดทน...อดทนเห็นอาการดิ้นของมัน เห็นธรรมชาติของจิตที่มันกระสับกระส่าย

เพราะนั้นเบื้องต้น ถ้ายังไม่เห็นอาการลักษณะของจิตโดยตรง ...ก็จะเห็นอาการกระสับกระส่าย การดิ้น การทะยาน การอึดอัด กระวนกระวาย 

คืออาการของตัณหาที่มันบีบคั้นให้ออกไปหาอะไรมาเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัย ...อยากไปดูหนัง...ไม่ไป ...นี่ มันจะดิ้น กระสับกระส่าย อย่างเนี้ย 

พอได้ดูปุ๊บ หายดิ้นเลย หายดิ้นแล้ว สบายใจ มีความสุข อย่างเนี้ย คือได้แล้ว ...เสร็จกูแล้ว (หัวเราะกัน) ...เสร็จกู...คือเสร็จมัน ตัณหามันกลับมานอนหลับต่อ 

แต่ถ้าเราไม่ได้ดูมันนี่ เอาแล้วโว้ย เก็บกด...หาว่าเก็บกดมั่ง ไม่ได้ปลดปล่อยให้มันคลายออก อะไรอย่างนี้ เข้าใจมั้ย ...เพราะนั้นว่าถ้าจะรู้ทันตัณหา คือให้รู้ก่อน เวลามันมีอาการพวกนี้ 

คืออย่าเพิ่งกระโดดตามมันเลย เข้าใจมั้ย ทิ้งช่วงให้มันหน่อย อยากจะไป อยากจะมา อีหลุบผลุบผลับ จะลุกก็พั่บไปเลย ...ดูมันก่อน อย่าเพิ่งทะยานตามความอยากล้วนๆ เข้าใจป่าว เฉยๆ แกล้งเฉยๆ กับมันก่อน

ไม่ใช่ว่าห้ามมันนะ แต่ว่าอย่าทำทีเดียวพร้อมกัน ...เพราะว่าถ้าทำทีเดียวพร้อมกัน มันจะเป็นโมหะจิตทันทีเลย แล้วมันจะต่อเนื่องออกไปยาวเหยียด ...คราวนี้หลุด...หลุดยาวเลย

แต่ว่าพอรู้ว่า “อยาก” ...เออ เห็นความอยาก กระวนกระวาย สับสน ก็อดทนดูมันหน่อย แล้วค่อยทำ
...อย่างน้อยยังตัดมันไม่ได้ ยังละมันไม่ขาด ก็ให้เห็นก่อน อย่าเพิ่งทำตามเลย เดี๋ยวจะหลงออกไปให้กำลังกับมัน

แต่...ถ้าละได้ ตัดได้ วางได้ โดยสมุจเฉท หรือว่าโดยปัจจุบัน ปหานจิตตรงนั้น ...นี่ ละได้ ละเลย
ให้มันชักดิ้นชักงอตาย กูก็ไม่ไป อย่างเนี้ย...ละได้ ตามกำลัง ละได้..ละเลย โดยไม่อ่อนข้อก็ได้ เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าไม่ไหว...กูตายแน่ๆ (หัวเราะกัน) ก็ดูก่อน แต่ว่าอย่าทำทันที ..ให้อดทน เรียนรู้กับมัน แล้วมันจะค่อยๆ ค่อยๆ ที่เราจะเริ่มอยู่เหนือมันมากขึ้นๆ มีกำลังกว่ามันมากขึ้น

ไม่อย่างนั้นมันจะมีกำลังเหนือเราทุกกระบวนการ จะไม่อาจทัดทานต่ออาการอ้างของความอยากได้เลย มันต้องเรียนรู้อย่างนี้ การชะลอไปก่อน ชะลอก่อนอย่ากระโจนเข้าไปตามเหยื่อล่อ

เหยื่อล่อคือผัสสะ ผัสสะทั้งหลายทั้งปวง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็ความคิด พวกนี้เป็นเหยื่อล่อหมดเลย ...แล้วเราไม่ทัน พอเห็นอะไร กระทบอะไรพั้บ โพะ กระโดดใส่ทันที

แล้วเราไม่เห็นด้วยว่ามันอยากตอนไหน...บางทีไม่เห็นด้วยซ้ำ ...เพราะนั้นหยุด ก่อนจะทำอะไรหยุดก่อน หยุดดู สงบระงับ..ดู สติเท่านั้นจึงจะเห็น


(ต่อแทร็ก  2/23  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น