วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/21 (1)


พระอาจารย์
2/21 (530821B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  นี่ ไม่ค่อยจะมานะ 

โยม –   ครับ ก็ต้องหาโอกาสมาหาอาจารย์บ่อยๆ ครับ เพราะว่าบางทีมันก็ยังติดอยู่ครับ 
 
พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปหาเหตุหาผล ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ มันปรากฏยังไง รู้ไปตรงๆ ไม่ต้องไปบอกว่านี่ใช่มั้ย นี่เป็นไอ้นั่นมั้ย นี่เราจะตั้งชื่อกับมันอะไรดี ...มันยังไงก็ยังงั้น 

แล้วก็ให้สังเกตดูว่าเมื่อมันมีอาการนั้น อาการนี้เกิดขึ้น เราเข้าไปยินดี เข้าไปยินร้ายมั้ย ...เข้าใจมั้ย ให้สังเกตอาการที่เราเข้าไป...เมื่อรู้แล้ว...ยินดีและยินร้ายกับมันมั้ย
 

โยม –  ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการ

พระอาจารย์ –  เออ ถ้ารู้...ก็รู้ตามอาการ ยินดีก็รู้ว่ายินดี ยินร้ายก็รู้ว่ายินร้าย รู้แค่นั้นพอแล้ว ไม่ต้องไปหาเหตุหาผลอะไรกับมัน ...แค่นั้นเอง 

คือถ้าเรากลับมารู้ที่ยินดียินร้าย แล้วเราไม่เข้าไปใคร่ครวญ ค้นหาในกระบวนการ หรือว่าใคร่ครวญในอาการ สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าเรานี่ ...ตรงนั้นน่ะ การกลับมารู้ที่อาการยินดียินร้ายนี่ คืออาการที่มันใกล้เคียงกับใจ

แต่ถ้าเราไปใคร่ครวญในสิ่งที่ถูกรู้ หรือผัสสะ หรือว่าอาการ...ไอ้นี่เป็นสังขารมั้ย นี่เป็นสัญญามั้ย แล้วมันมายังไง อะไรทำให้เกิดมา อันนี้เรียกว่าส่งออกไปแล้ว ส่งออกไปอยู่กับภายนอกแล้ว 

แล้วก็ยินดียินร้ายมากขึ้นๆ ...มากขึ้นเราก็ไม่รู้ ตรงว่ายินดียินร้ายมากขึ้น มีแต่ว่ามุ่งออกไป จะหาให้ได้ว่ามันคืออะไร หมายความว่ายังไง โดยเข้าใจว่าถ้าเราไปรู้ เข้าใจกับสิ่งนี้ แล้วเราจะวางมันได้ เข้าใจมั้ย 

มันคิดว่า ต้องรู้ต้องเข้าใจอาการสิ่งนี้ก่อน ปรากฏการณ์นี้ก่อน ต้องหาที่มาที่ไปของมัน แล้วมันจะได้หมดปัญหากับมัน ...มันจะมีความเห็นอย่างเนี้ย แล้วก็ออกไปจดจ่ออยู่กับมัน อย่างนี้เขาเรียกว่าส่งออก

แต่ว่าจริงๆ น่ะพอเรารู้ว่ามันจะมีอาการนี้เกิดขึ้น แล้วไง...ยินดีมั้ย ยินร้ายมั้ย  มันทวนกลับเข้ามา มันจะทวนกลับเข้ามาที่ฐานของใจ ...อ้อ ยินดี  อ้อ ยินร้าย 

แล้วก็...ช่างหัวมัน  มันจะคืออะไร มันจะชื่ออะไร หน้าตามันจะเป็นยังไง ใครเป็นพ่อใครเป็นแม่มัน มันมีลูกมีหลานยังไง ผิวพรรณวรรณะอย่างไร อย่างเนี้ย ...ช่างมัน ไม่ต้องไปใส่ใจมันมากเกินไป 

ไม่งั้นมันจะเกิดความลังเลและสงสัย ...ลังเลก็สงสัย แล้วจิตจะหวั่นไหว ส่าย เศร้าหมอง ขุ่น มัว อย่างเงี้ย เป็นผลของการที่ส่งออกไป เพราะนั้นก็...ช่างหัวมันเลย...วาง 

คือวางความสนใจกับมัน อย่างนี้ ไม่ไปจดจ่ออยู่กับมัน ...แต่ให้รู้ทันอาการ...เออ เกิดขึ้นแล้วยังไง ยินดี ยินร้าย หรือเฉยๆ หรือมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา 

นี่ ถ้ามองเป็นธรรมดาก็ดี ก็อยู่กับความเป็นปกติเลย ...ถ้าเราอยู่ในความเป็นปกติเมื่อไหร่ ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับมันนะ ไม่มีอาการยินดียินร้าย ...เมื่อปกติปุ๊บ มันจะเห็นอาการไตรลักษณ์ของมันเลย 

มันก็จะแสดงความเป็นไตรลักษณ์ เกิดแล้วก็ผ่าน แล้วก็ดับไป ...พอต่อไปเป็นปกติเฉยๆ ปุ๊บ แค่เกิดขึ้น จะไม่ใส่ใจเลยนะ ...ผ่านเลยๆ มันจะผ่านโดยรวดเร็วเลยทีนี้ มันจะผ่านไปเลย 

ถ้ามันลักษณะที่รู้แล้วผ่านไปโดยรวดเร็วงี้ปั๊บเมื่อไหร่ ตรงนี้ ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติ...ผ่านๆ ...แล้วพออันนี้มาปั๊บ..ไม่ผ่าน อย่างงี้ พั้บ..กระโดดจับมับ อย่างเงี้ย 

มันจะไปทันตอนมับแล้ว หรือทันตอนกำลังจะมับ เข้าใจมั้ย ...ถ้าทันตอนกำลังจะมับนี่...สัมมาสติ ...ถ้าทันตอนมับแล้วนี่...ยินดียินร้ายแล้ว เริ่มออกไปยินดียินร้ายแล้ว ...ต้องรู้อีกแล้ว แล้วต้องรู้ที่ยินดียินร้าย 

ถ้าไม่รู้ยินดียินร้าย ไปรู้ว่ามันคืออะไรอีกวะ คือออกไปอีกแล้ว ...ก็ต้องกลับมาฐานของปกติ อย่างเงี้ย สติมันจะเป็นตัวที่ปรับสมดุลให้อยู่ในความเป็นกลาง ...เรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา อย่างนี้

เมื่อสติปัญญาญาณมันแข็งกล้ามากขึ้น มันจะแยกออกเลย มันก็ผ่านๆๆ ...ตรงนี้มันจะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติมากขึ้นๆ ...ก็เรียนรู้ จนมันขาดกันโดยสิ้นเชิงเลย ไม่เข้าไปเกลือกกลั้ว 

ตรงนี้มันจะเหลือแต่ใจล้วนๆ แล้ว เป็นใจรู้เฉยๆ ...แล้วสติมันจะแนบอยู่ที่ใจ รู้อยู่ที่ใจเลย 

ตรงนี้...ถ้าถึงขั้นที่รู้อยู่ที่ใจเห็นอยู่ที่ใจ ..ขันธ์นี่ปล่อยให้เป็นเรื่องของขันธ์เลย  ขันธ์ ๕ นี่...รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่ เรื่องของมันเลย ...ตรงนี้อยู่ที่ใจล้วนๆ  

ตรงนี้ถึงเรียกว่ากายเดียวจิตเดียว เริ่มเข้าเป็น...เอกังจิตตัง เอโกธัมโม แล้ว ...กายก็เป็นกายปัจจุบัน จิตก็เป็นจิตปัจจุบัน มีอยู่แค่นี้ ...มันจะอยู่ จะไม่ออกไปในอดีตและอนาคตแล้ว   

ถึงตรงนี้ถึงจะเข้ามาชำระภายในล้วนๆ เข้ามาชำระอวิชชาตัณหาอุปาทานโดยตรง คราวนี้จะเห็นแค่อาการ...อาการขยับของจิต ...ไอ้ตัวนี้มันก็มีไป ขันธ์ก็มีไป ตามเหตุและปัจจัยของเขา 

ต่อไปไอ้ตัวขันธ์ที่จะเข้าไปยึดเป็นอุปาทานขันธ์นี่ มันจะเห็นแค่อาการเกิดดับ เห็นแค่จิตแรกจิตเดียว...จิตแรกจิตเดียวๆ  อาการจิตแรก...แล้วก็จิตเดียว ...ใจรู้...รู้ใจๆๆ เกิดดับๆๆ  

ในขณะที่มันเข้าไปเห็นความเกิดดับในขณะแรก ตรงนี้จึงจะเข้าไปชำระอวิชชา ความหมายมั่น แรงที่ผลักดันให้ออกมาเป็นความเกิดดับ ...มันมีแรงผลักให้ออกมา 

มันผลักออกมาเป็นกระแส มันเป็นกระแส เป็นพลังออกมา พลังที่มันจะผลักให้มีอาการเข้าไปจับต้อง ตัวนี้คือกระแสของอวิชชา...เข้าไปหมายมั่น เข้าไปยึด เข้าไปถือ เข้าไปมี เข้าไปเป็น 

ตรงนี้มันจะเห็นอาการธรรมชาติของใจล้วนๆ เลย แต่เป็นธรรมชาติของใจที่ยังมีอวิชชาเป็นตัวขับเคลื่อน ผลักดัน ...เหมือนจรวดที่มันมีแรงผลักดันอยู่น่ะ 

ถ้าตราบใดมันยังมีเชื้อเพลิง มันยังวิ่งได้ไม่หยุดใช่มั้ย ...เออ อย่างงั้นน่ะ เหมือนกัน  ใจที่ยังมีอวิชชาอยู่ภายในนี่ มันจะมีแรงขับเคลื่อนของมัน คืออาการกลิ้ง ดิ้น ขยับ อยู่อย่างนั้น

แต่ว่าสติที่อยู่แนบตรงนั้นมันจะเท่าทัน รู้ แล้วก็ไม่ตามอาการนี้ ...เพราะเมื่อมันผลักออกมามันมีพลังนะ มันจะมีกระแสต่อเนื่องออกมาอีก 

ตรงนี้ ถ้าไม่ทันเมื่อไหร่ มันจะเกิดเป็นปัจจยาการในปฏิจจสมุปบาท คือเข้ามาพัวพันผูกพันกับขันธ์ ทั้งขันธ์เราและขันธ์คนอื่น ทั้งรูปและนามของเรา และรูปและนามภายนอก


แต่ว่าในขณะตอนเนี้ยที่เริ่มต้นปฏิบัตินี่ เราจะแยกแยะอะไรอย่างนี้ไม่ได้เลย มันมั่วไปหมด เข้าใจมั้ย มันมั่วไปหมด มันปนเปกันไปหมด สับสนน่ะ ...ระหว่างนี้มันสับสน มันจึงเกิดความลังเลและสงสัย 

มันยังจัดระเบียบของขันธ์ไม่เป็น ปัญญามันยังไม่เห็น...เข้าไปจัดระเบียบ วางระเบียบว่า อ๋อ นี่คือนี่ นี่คือนี่  แล้วมันจะแยกออกเป็นส่วน เป็นชิ้น เป็นอัน ...มันจะแยกๆๆๆ แยกออกไป

เมื่อมันแยกออกด้วยญาณปัญญาปั๊บนี่ มันจะต่างอันต่างอยู่แล้ว ...แต่ตอนนี้มันปนกัน ไม่รู้อันไหนจริงอันไหนเท็จ อันไหนเป็นขันธ์ อันไหนเป็นอุปาทานขันธ์ อันไหนเป็นทุกขสัจ อันไหนเป็นทุกขอุปาทาน 

มันยังไม่รู้เลย มันยังแยกไม่ออก ...มันก็รู้แต่ทุกข์ๆๆ  แต่มันเป็นทุกข์ยังไงล่ะ มันยังแยกไม่ออก มันแยกไม่ได้เลย เป็นทุกขสัจหรือเป็นทุกข์อุปาทาน 

เพราะนั้นเวลาจะดับมันก็เลยมั่วดับไปหมด เข้าใจมั้ย ...ถ้าดับไปหมดมันก็เลยพยายามไปดับทุกขสัจ ซึ่งมันดับไม่ได้  ...ดับไม่ได้หรอก 

การเกิดแก่เจ็บตายอย่างนี้คือทุกขสัจ ใช่มั้ย มันดับยังไง อาการเปลี่ยนไปแปรไปเสื่อมไปดับไป แล้วก็เป็นทุกข์ ทุกขเวทนาทางกาย ทุกขเวทนาทางอารมณ์ อย่างเนี้ย ผัสสะพวกนี้มันดับไม่ได้

แต่ไอ้อาการที่เข้าไปหมายมั่นในทุกข์นั้นๆ ว่าเป็นของเรา ว่าเป็นเรื่องของเรา เกิดอาการยินดียินร้าย แล้วก็เกิดการเข้าไปลด เข้าไปเพิ่ม เข้าไปตัด เข้าไปละ อย่างเนี้ย ...ตรงนี้ต่างหากคือทุกข์อุปาทาน 

นี่ต้องแยกให้ออก ...สติมันจะเข้าไปจำแนกออก แล้วก็รู้ว่า...อ๋อ อันนี้ดับไม่ได้ แล้วไม่ดับ ...ก็เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง...ก็สักแต่ว่ารู้ 

เห็นมั้ย พอรู้กายรู้จิตมากๆ แล้วต่อไปมันจะเหลือแค่ว่า...สักแต่ว่ารู้  รูปก็สักแต่รูป กายสักแต่ว่ากาย จิตสักแต่ว่าจิต ธรรมสักแต่ว่าธรรม เวทนาสักแต่ว่าเวทนา 

แต่ไอ้ตัวที่ไม่สักแต่ว่าคือไอ้ตัวใจที่มันจะเข้าไปหมายมั่น ตรงนี้จะดับ...ดับอยู่ตลอด ขันธ์ภายในจะดับ แต่ขันธ์ภายนอกไม่ดับ ไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยว ไม่แตะต้อง ปล่อยให้เป็นอิสระของเขา 

ส่วนใจที่มันจะเข้ามาพัวพันกับขันธ์นี่ ตรงนี้ต่างหากที่จะต้องดับ ...เขาเรียกว่าเข้าไปดับขันธ์ภายใน คือขันธ์ที่เป็นอุปาทานขันธ์

คือไม่ใช่ไปดับขันธ์ ๕ นะ ...ขันธ์ ๕ ไม่ต้องไปดับ เขาดับของเขาเอง เจ็ด-แปดสิบปีก็ตายหมดแล้ว อย่างเงี้ย มันดับของมันเอง ไม่ต้องไปแช่งชักหักกระดูกมันก็ตายก็ดับ

หรือความคิดที่ไปคอยดับคอยละ ไอ้อย่างนี้ไม่ต้องไปดับ...ไม่ต้องไปดับมัน  ความคิดก็ไม่ได้เป็นทุกข์ที่เป็นอุปาทาน มันไม่มีทุกข์ไม่มีสุขกับเรา ...มันเป็นทุกข์ของมันเอง 

แต่มันไม่ได้มาทำให้เราทุกข์หรอก เราน่ะไปทุกข์กับมัน ...นี่ ไอ้ตรงนี้คืออุปาทานแล้ว ไปคอยดับว่า...เออ ห้ามคิด ความคิดนี้เกิดขึ้นไม่ได้นะ  เออ ความเห็นอย่างนี้เกิดไม่ได้นะ 

ไม่เกี่ยวเลย ...ไอ้ตรงนี้ต่างหากคืออุปาทานกับความคิดความเห็น มันเข้าไปให้ค่า เข้าไปเป็นบวกเป็นลบ หรือว่ายินดียินร้าย ...นี่ ตรงนี้ต้องเท่าทัน 

แล้วมันจะแยกออก แยกขันธ์ออกจากใจ ...ขันธ์จริง แล้วก็ขันธ์หลอก ...ขันธ์หลอกนี่คืออุปาทานขันธ์ เป็นอุปาทานขันธ์ 

เอาจนขาดกันโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถมาเกาะเกี่ยวกันได้ หรือมาแตะต้องกันได้ ...มันก็อยู่กันแค่พออาศัยกันไป อาศัยธาตุอาศัยขันธ์นี้ไป สภาวธาตุสภาวธรรมนี้ พอเป็นเครื่องดำรงไปจนถึงอายุขัยแค่นั้นเอง

แต่ตอนนี้น่ะ...สภาวธาตุก็เป็นของเรา สภาวธรรมก็เป็นของเรา ...มันไม่เป็นสภาวธาตุตามความเป็นจริง มันไม่เป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง  มันยุ่งกันไปหมด มันปนเปกันไปหมด

สติมันจะเป็นตัวแยก...แต่ต้องเป็นสติที่เป็นกลางนะ ...ไม่ใช่สติที่จงใจ ไม่ใช่สติที่มีเจตนาที่ว่ารู้เพื่อให้ได้อะไร หรือรู้เพื่อให้มันเป็นอะไร  ตรงนี้จะเกิดความไขว้เขว แล้วก็สับสนมากขึ้น 

แบบว่า...พอรู้อย่างนั้นแล้วต้องเป็นอย่างนี้ พอเห็นอย่างนี้แล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นต่อมั้ย เห็นแล้วต้องดับมั้ย เห็นแล้วจะต้องไม่เกิดอีกนะ เห็นแล้วจะต้องน้อยลงนะ เห็นแล้วจะต้องเข้าใจนะ อะไรอย่างนี้

ไม่มีหรอก ...เห็นคือเห็น ความรู้อะไร...ไม่เอา ไม่มี ...ช่างมัน ไม่รู้อะไรก็ไม่รู้อะไร ก็เห็นตามความเป็นจริง ...เออ มันตั้งอยู่ก็ตั้ง มันมากขึ้นก็มาก มันน้อยก็น้อย ...นี่จะเริ่มรู้ แล้วก็พร้อมกับวางการเข้าไปหมายมั่นในขันธ์ 

แต่พวกเรายังไม่ชัดเจน ...ก็จนกว่ามันจะแยกออกโดยชัดเจนเมื่อไหร่...อ๋อ เข้าใจแล้ว ...มันจะอ๋อเลย อ๋อ...มันต่างอันต่างอยู่นี่หว่า ความคิดไม่ใช่ความรู้นะ ความคิดไม่ใช่รู้นะ ความคิดไม่ใช่ใจ ใจก็ไม่ใช่ความรู้ 

เพราะนั้นถ้ารู้บ่อยๆ มันจะแยกออก แยกระหว่างสิ่งที่ถูกรู้กับรู้  สติมันจะเป็นตัวแยกออก...รู้  โกรธ..รู้ หงุดหงิด..รู้ พอใจ..รู้ ไม่พอใจ..รู้ อย่างนี้

มันจะแยกออก แยกขันธ์ออกจากใจ แยกออกบ่อยๆ ...เพราะนั้นในเบื้องต้นนี่ เราจะเห็น..รู้ เพื่อแยกออกๆ ...เพราะว่ามันจะเข้ามาอยู่เรื่อย เข้ามาปนกันอยู่เรื่อย 

แล้วก็ต้องรู้บ่อยๆ พอรู้ปุ๊บ อ้อ กำลังหงุดหงิดก็รู้ สบายก็รู้ ทุกข์ก็รู้ พอใจก็รู้ ไม่พอใจก็รู้ มันจะแยกออกอย่างนี้ แต่ไอ้ตอนมันเข้ามานี่เราไม่รู้ ไม่ทัน มารู้อีกทีคือมันเข้ามาแล้ว 

เพราะนั้นสติเบื้องต้นคือรู้..เพื่อแยกออก เป็นสิ่งที่ถูกรู้..กับรู้ ...แต่ไอ้เข้ามาตอนนี้ หลงเข้ามานี่ ไม่รู้แล้ว สติไม่ทัน มันมาทันตอนเข้าไปแล้ว แล้วก็รู้ แยกออก นี่ เริ่มต้นคือรู้...เพื่อแยกออก

พอรู้เพื่อแยกออกจนมั่นคงดีแล้ว มันจะอยู่ด้วยความเป็นกลางคั่นอยู่ ปกติรู้ ต่างอันต่างอยู่แล้ว ขันธ์ส่วนขันธ์ ...มันก็เหมือนกับมีลูกตาอีกดวงนึงที่เห็นอยู่ แล้วก็เห็นอาการทั้งหมดดำเนินไป 

มันจะแยกอยู่อย่างนี้ ...เพราะฉะนั้นสติจากนี้ไป มันจะไปทันตอนที่จะเข้า..แล้วก็ออก ยังไม่ทันเข้า...แล้วก็ออก จะเข้าไป...แล้วก็ออก อย่างนี้ 

มันจะต่างกันกับสติเบื้องต้นที่เราปฏิบัติ มันเข้าไปอย่างนี้ก่อนค่อยรู้..แล้วค่อยออก ...เห็นมั้ย มันจะเป็นอย่างนั้น 

แต่ว่าพอมันเริ่มมั่นคงมาก ปัญญามันมากขึ้นปุ๊บ ความเป็นกลางมันปกติท่ามกลาง เป็นท่ามกลางระหว่างจิตกับขันธ์ รู้กับขันธ์ หรือว่าใจกับขันธ์ ...ตรงนี้ สติมันจะเป็นสติภายในแล้ว 

สติภายในที่คอยเท่าทันอาการที่จะเข้าไปจับขันธ์ ๕ มาเป็นเรา เนี่ย มันจะรู้ทัน ตรงนี้สัมมาสติ ...แล้วตรงนี้จะเป็นตัวที่ฝึกเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติ 

เพราะว่าพอเข้าไปนี่ บางทีมันก็เข้าไปเห็นตอนที่กำลังเข้าไปจับแล้วก็ออกมา หรือว่ายังไม่ทันจะจับเต็มๆ ก็เห็นแล้ว ...จนถึงว่าแค่ขยับก็เห็น อย่างเนี้ย สัมมาสติแล้วๆ

เพราะนั้นถ้าเป็นสัมมาสติปุ๊บ ตัวสัมมาสติที่รู้ปุ๊บดับปั๊บ รู้แล้วก็ดับ เกิดดับๆ ยังไม่ทันจะ.. ยังไม่ทันจะ... ดับแล้ว ยังไม่ทัน....ดับแล้ว ...เข้าใจมั้ย 

คือยังไม่รู้เลย มีอารมณ์หรือไม่มีอารมณ์ ยังไม่ทันจะ... ดับแล้ว ...พูดยังมีคำพูดไม่ทันมันเลย ความหมายยังไม่ทันจะเกิดเลย...มันดับแล้ว อย่างเงี้ย 

ตรงเนี้ยถึงจะเรียกว่าเป็นญาณทัสสนะที่เป็นญาณวิมุตติ คือเข้าไปดับ...เข้าไปดับอวิชชาและตัณหาเลย เข้าไปดับรูปและนาม การให้ค่ารูปและนาม 

มันไม่ใช่ดับรูปและนามขันธ์นี้นะ มันดับรูปและนามที่เป็นอุปาทาน คือรูปที่ซ้อนรูป นามที่ซ้อนนาม ... เคยบอกแล้ว ขันธ์มันมี ๕ แต่เวลาเราใช้นี่มันเป็น ๑๐ ใช่ป่าว คือเราใช้อุปาทานขันธ์กับขันธ์ ๕ ด้วย 

นี่มันจะไปดับไอ้ขันธ์ซ้อนขันธ์ คือขันธ์ในขันธ์ หรือจิตในจิต กายในกาย เวทนาในเวทนา ธรรมในธรรม ตรงเนี้ยต่างหากที่มันจะเข้าไปดับ 

มันก็จะเหลือแค่ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ...ขันธ์ ๕ ที่เป็นธรรมชาติของขันธ์ ซึ่งมันอยู่ตามเหตุและปัจจัย ...แล้วมันก็จะดับเหตุปัจจัยภายใน ตรงนี้ สัมมาสติจะเข้าไปดับเหตุปัจจัยภายใน ที่จะเกิดความต่อเนื่องของขันธ์ 

เพราะถ้าไม่ดับตัวนี้ภายใน ขันธ์นี้จะต่อเนื่องไป ...มันตายแล้วไอ้นี่ไม่ยอมตายน่ะ ไอ้ตัวนี้มันยังว่า...เอ๊ะ ไอ้นั่นก็ยังไม่ได้ ไอ้นี่ก็ยังไม่ได้ทำ ได้เมียคนนี้ก็ยังไม่สวย รวยแค่นี้ก็ยังไม่พอ มีลูกก็ไม่ได้ดั่งใจ ทำยังไงๆ

มันก็ยังมีอะไรค้าง ยังคาอยู่ เข้าใจมั้ย ...ทั้งๆ ที่ขันธ์ ๕ นี่มันดับแล้ว ตายหมดอายุขัยแล้ว ดับ มันไม่รู้จะเอาขันธ์ ๕ ไปหาลูกหาเมียหาทรัพย์สมบัติตรงไหนอ่ะ แต่ใจมันไม่ยอม...มันก็ไปผูกเอาขันธ์ขึ้นมาอีก 

ขันธ์ ๕ ภายนอกก็มาเกิดปฏิสนธิ...จับพลัดจับผลูก็เป็นหมา เป็นช้างม้าวัวควาย เป็นไก่เป็นหมูเป็นอะไรให้เขาฆ่าก็ได้ ...เป็นไปได้หมด คติยังไม่แน่นอน ยังไม่แน่นอนนะ สำหรับคนที่ไม่ปฏิบัตินะ 

ถ้าคนที่ปฏิบัติแล้วไม่ต้องกลัวหรอก อย่างพวกเราๆ นี่ ยังไงก็กลับมาเป็นคน ยังเป็นคนอยู่ (โยมหัวเราะกัน) ..นอกจากมันมีเหตุปัจจัยจริงๆ หรือว่ากรรมวิบากจริงๆ ที่มันมาชักนำ ...แต่ยังไงก็กลับมาเป็นคน


(ต่อแทร็ก 2/21  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น