วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/28 (1)



พระอาจารย์
2/28 (530918A)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  4  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ฟังไปรวมๆ น่ะ เหมือนกันหมดแหละ ...ไม่มีวิธีแก้ แล้วก็ไม่ต้องแก้ แค่นั้นเอง  ปล่อยให้มันเป็นไป รู้เข้าไป รู้อย่างเดียว ...ไม่ต้องไปว่าอดีตอนาคต ไม่ต้องไปหมายว่ามันคืออะไร แปลว่าอะไร 

ดี-ชั่ว ถูก-ผิด...รู้อย่างเดียว แล้วก็อดทน ...อย่าคิดจะหนีมัน อย่าคิดจะพ้นจากมัน แค่นั้นแหละ อาการ ทั้งหมดทั้งหลายคืออาการ รู้ว่าเป็นแค่อาการ ...ไม่มีอะไรหรอก อาการคืออาการ 

อยู่ที่รู้ กลับมาอยู่ที่รู้ เท่านั้นเอง...ทุกคนแหละ ...การเจริญสตินี่ สติปัฏฐานนี่ ความหมายของคำว่าสติปัฏฐานนี่ คือหมายความว่าให้รู้ลงไปในฐานทั้ง ๔  เรียกว่า กาย เวทนา จิต ธรรม 

เพราะนั้นในกาย เวทนา จิต ธรรมนี่ ...คือทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี่ มันมีอยู่แค่นี้ คือกาย เวทนา จิต ธรรม

กายนี่ก็รวมมันทั้งหมดน่ะ รูป...คือหมายความว่ากายทั้งหมดนี่ ทั้งหมดทั้งโลกนี่ เรียกว่ารูป ...เวทนาคือความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวง สุข-ทุกข์ ยินดี-ยินร้าย

ธรรม...ธรรมคืออารมณ์ อารมณ์ การกระทบน่ะ โลภะ โทสะ โมหะ  พวกนี้เป็นอารมณ์ที่เจือด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ปฏิฆะบ้าง ...นี่ กายเวทนาจิตธรรม

ก็มีอยู่แค่นี้ ในโลกนี้ เรียกว่าเป็นฐานที่ตั้งแห่งสติ ...เพราะนั้นถ้าแยกโดยย่อยนี่ ก็เป็น ๔ อย่าง ถ้าแยกเป็นขั้นกลางก็แยกเป็น ๒ อย่าง คือรูปกับนาม...สองอย่าง

ถ้าแยกโดยที่สุดแล้วนี่ มันมีแค่สองอาการจริงๆ คือ อาการกับสติ ...คือมันเป็นความหมายเดียวกันทั้งหมดของสติปัฏฐาน ๔

เพราะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี่ โดยเอาสติไปตั้ง ระลึกรู้ เท่าทัน อาการที่ปรากฏในปัจจุบันของ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่ไหนก็ได้

หรือแม้แต่ไม่รู้ว่ามันเรียกว่ากาย เรียกว่าเวทนา หรือเรียกว่าจิต หรือเรียกว่าธรรม ...ก็ไม่ต้องสนใจ รู้เพียงแค่ว่ามันเป็นอาการหนึ่งที่ปรากฏขึ้น แล้วก็ระลึกรู้ขึ้นมาว่า อ๋อ อาการนี้ แล้วก็ระลึกรู้

แต่คราวนี้ว่าการเจริญสติของนักปฏิบัติส่วนมาก มันไม่เข้าใจว่าสติปัฏฐานนี่...เป็นอุบายเพื่อให้สติไปตั้งมั่นระลึกรู้อยู่กับฐานทั้ง ๔ เพื่อให้กลับมาเห็นจิต กลับมาเห็นใจ เข้าใจมั้ย

สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ อย่างนี้ ... ยืน เดิน นั่ง นอน..รู้  พอใจ-ไม่พอใจ..รู้  จิตสว่าง ผ่องใส มัว กว้าง แคบ..รู้  มีราคะ..รู้ มีโทสะ..รู้ มีโมหะ..รู้

ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงคือให้กลับมารู้ ระลึกรู้ขึ้นมา...เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงตัวใจ ให้กลับมาเห็นใจ อย่างนี้ มันเป็นอุบาย...ที่เหมือนกับเป็นกระจกเงา เพื่อสะท้อนให้กลับมาอยู่ที่ใจรู้

เพราะว่าความหมายทั้งหลายทั้งปวงนี่ คือท่านให้กลับมาสู่เหตุ ...การปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงนี่ ไม่ใช่ไปเอาเรื่องเอาราวกับปัจจัยหรือภายนอก

คือกาย เวทนา จิต ธรรมนี่ ...ถ้าไม่มีสติเมื่อไหร่ มันมีแต่กายอันเดียว เดินไปเดินมาไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่

หรือคิด คิดไปเรื่อย ไม่รู้เลยว่ากำลังคิด มีแต่ความคิด แล้วก็มีความหมายว่าเราคิดอย่างเดียว เป็นความคิดของเราอย่างเดียว ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีแต่ความคิด

นี่เขาเรียกว่าหลง ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่มีสติสตังอะไร เดินไปก็ใจลอย เดินทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่รู้ว่ามีกายมีจิตอยู่ตรงไหน

เนี่ย พอระลึกขึ้นมาปั๊บ อ๋อ กำลังทำอะไรอยู่  กายกำลังทำอะไร เดินก็รู้ น่ะ ก็รู้ว่าเดิน ...พอรู้ว่าเดินปั๊บ มันจะมีสองอาการขึ้นมาทันที ...สองสภาพธรรม

สภาพธรรมหนึ่งคือกายหรือสิ่งที่ถูกรู้  อีกสภาพธรรมหนึ่งคือรู้ว่ากาย ...เห็นมั้ย มันจะเห็นเลยว่าจริงๆ แล้วมีสองอาการนี้ ไม่ใช่มีแค่กาย ...มีกายแล้วก็มีรู้

เพราะนั้นสติจึงเป็นตัวระลึกเพื่อให้เห็นสภาวธรรมรู้ปรากฏ สภาวธรรมรู้นั่นน่ะคือตัวหนึ่งคือใจ หรือว่าดวงจิตผู้รู้อยู่ปรากฏขึ้นมา...ตรงนั้นแหละ

เพราะนั้น ยืนก็รู้ นั่งก็รู้ เห็นมั้ย เดินก็รู้ นอนก็รู้ คิดก็รู้ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ...เห็นมั้ย ดูไปดูมา สติเมื่อระลึกรู้บ่อยๆ มันก็จะเห็นว่าไอ้รู้นี่...มันรู้ตัวเดียวกันหมดแหละ 

ไม่ว่ายืน..รู้ หรือคิด..รู้ ...ก็รู้อันเดียวกัน เป็นใจดวงเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกันเลย

แล้วก็เมื่อรู้บ่อยๆ มันก็จะเห็นว่า เนี่ย ไม่ว่าปรากฏการณ์ไหนที่ปรากฏขึ้น...ถ้ามีสติระลึกขึ้น มันจะแยกออกได้ทันทีว่าเป็นสิ่งหนึ่งกับรู้ ...นี่ สองอย่างเพื่ออะไร ...เพื่อให้เห็นเหตุ  

พระพุทธเจ้าบอกว่าทุกข์ หรือว่าทุกอย่าง ความหมายมั่น กิเลส ตัณหา อุปาทาน ความเห็นผิด ความเห็นชอบอะไรก็ตาม มันออกมาจากเหตุนี้แหละ...เหตุตัวรู้นี่แหละ คือออกมาจากใจรู้นี่แหละ

เพื่อให้เห็นว่า การจะแก้ปัญหาต้องกลับมาแก้ที่ตรงเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ฐานทั้ง ๔ กายเวทนาจิตธรรม...ไม่ต้องไปแก้ๆ ปล่อยให้เขาเป็นไป เพราะเขาจะเป็นไปตามกระบวนการของไตรลักษณ์

เพราะนั้นถ้าเรามีสติระลึกอยู่ ตัวรู้นี่มันไม่เกิดไม่ดับ ...มันมีรู้ตลอดน่ะ รู้เท่าเก่าน่ะ ตัวรู้นี่ไม่ขึ้นไม่ลงเลยนะ ยืน..รู้ คิด..รู้ นี่ รู้อันเดียวกัน

แล้วก็รู้เท่ากันเลยน่ะ ไม่ได้มากขึ้น หรือว่าน้อยลง หรือว่าละเอียด หรือว่าหยาบ หรือว่ากว้าง ไกล แคบอะไร มันมีแค่ธรรมชาติรู้อย่างเดียว

ธรรมชาติรู้อย่างเดียว เหมือนกันหมด แก้ไม่ได้ รักษาก็ไม่ได้ ...แต่ว่าถ้าไม่มีสติปุ๊บ มันหาย มันหาย...เพราะถูกโมหะครอบงำปิดบัง แค่นั้นเอง

แต่ภาวะจริงๆ น่ะมันมีอยู่ตลอดเวลา ภาวะรู้นี่ ...แต่มันถูกเมฆหมอกแห่งโลภะโทสะโมหะ หรือความหลง ความเผลอ ความเพลินนี่ ปิดบังไว้

เมื่อระลึกรู้ขึ้นบ่อยๆ นี่ ใจผู้รู้ดวงนี้ มันจะปรากฏแจ่มชัดขึ้น ตั้งมั่นขึ้น เด่นชัดขึ้น ...ก็จะเห็นภาวะรู้นี่อยู่ภายใน คู่กันกับทุกอาการเลย เมื่อมีสติมากขึ้นๆ นี่

แต่คราวนี้ว่า เวลาพวกเราฝึกสติแรกๆ นี่  การระลึกรู้นี่ เช่นรู้ว่าคิด หรือรู้ว่าสุขปั๊บนี่ ...แทนที่มันจะอยู่กับรู้ มันดันไปอยู่กับสุขกับทุกข์ หรือไปอยู่กับอาการที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน

เช่นกำลังทุกข์ รู้ว่าทุกข์ ...มันไม่อยู่ที่รู้ว่าทุกข์ มันไม่อยู่ที่ตัวรู้ มันไม่อยู่ที่ใจรู้...มันดันไปอยู่ที่ทุกข์ ...แล้วมันก็มีการเพียรออกไปว่าทำยังไงถึงจะให้หายทุกข์

เห็นมั้ย อย่างเงี้ย  มันออก มันรู้แล้วออกไป...รู้แล้วออกไปยุ่ง ออกไปก้าวก่าย ออกไปแทรกแซงสภาวธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นพอใจ ไม่ได้ดั่งใจ สงสัย ลังเล

หรือจะทำให้มันเป็นอย่างนั้น หรือห้ามไม่ให้มันเป็นอย่างนี้ จะทำให้มันมากขึ้น หรือจะทำให้มันน้อยลง ...นี่ เขาเรียกว่าสติที่ออกไป เป็นมิจฉาสติ

แต่ถ้าระลึกรู้แล้วกลับมาอยู่ที่รู้ ...นี่ กลับมาอยู่ที่เหตุซะ ตรงนี้ มันจะปล่อยให้เหตุการณ์ที่อยู่ต่อหน้าเรานี่ เป็นไปตามเหตุและปัจจัยของเขาเอง

อยากตั้งก็ตั้ง อยากจะดับก็ดับ อยากจะมากก็มาก อยากจะน้อยก็น้อย ...คือเราไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน ปล่อยให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติของเขา โดยให้แตะต้องยุ่งเกี่ยวกับเขาน้อยที่สุด

เพราะอะไร ...เพราะแรกๆ พอรู้ปุ๊บ อ่ะ อยู่เฉยๆ อยู่ที่รู้ อยู่ได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวมันเข้าไปหาเรื่องอีกแล้ว เดี๋ยวมันเข้าไปเกาะเกี่ยวอีกแล้ว เดี๋ยวมันเข้าไปผูกพันอีกแล้ว เดี๋ยวเข้าไปแทรกแซงอีกแล้ว

ก็รู้ซ้ำขึ้นมาอีก ...พอรู้ปุ๊บแยกออกมา พอรู้ปุ๊บ นี่ สติระลึกรู้ขึ้น ตั้งระลึกรู้ขึ้นมาใหม่ มันก็จะแยกออกเป็นสิ่งที่ถูกรู้กับรู้อีก ...อย่างนี้ บ่อยๆ

จะทุกข์มากทุกข์น้อย ไม่สนใจอ่ะ ...แต่ถ้าเข้าไปพัวพันเมื่อไหร่ ต้องดึงออกมาด้วยสติ ระลึกรู้ขึ้นมา...รู้ๆๆ แล้วอยู่ที่รู้ อยู่ที่ใจ อยู่ที่ฐาน อยู่ที่เหตุ...อย่าไปอยู่ที่ปลายเหตุ แค่นี้เอง

แล้วความหมายมั่นต่างๆ นานา มันจะเริ่มลดน้อยลง ...เพราะในขณะที่เราดึงกลับมาอยู่ที่รู้นี่ มันจะดิ้น มันจะอยาก มันจะงุนงง มันจะสงสัย มันจะทะยานออกไป เห็นมั้ย

แล้วเราพยายามรู้อยู่ตรงนั้นแหละ...รู้อยู่ตรงที่ตัณหามันเกิดตรงนั้น ตรงที่จิตผู้รู้นั่นแหละ คือการละตัณหาไปในตัว ...เมื่อละตัณหาไปในตัว มันก็ละอุปาทานความหมายมั่นไปในตัวอยู่แล้ว

แต่ถ้าออกนอกผู้รู้ ออกนอกใจรู้นี้ แล้วไปอยู่กับทุกข์ ไปยุ่งพัวพันกับความคิด ไปอย่างนั้นอย่างนี้ ไปคิดต่ออย่างนั้น อดีตอนาคต จะทำยังไงกับมันดี

อย่างนี้ ตัวรู้หายแล้ว ...แม้แต่ว่าก็รู้อยู่นะ แต่ว่ามันไม่มีตัวรู้อยู่ นี่เรียกว่าหลงไปแล้ว ...ทั้งๆ ที่ว่ากำลังดูอยู่นั่นแหละ 

แต่ว่ามันดูไปด้วยสักกาย...ตัวเรา เป็นเรื่องของเรา ความคิดเป็นของเรา...แล้วจะไปอะไรกับมัน จะต้องให้อย่างนั้น ต้องไม่เป็นอย่างนี้ ...นี่ มันเข้าไปด้วยสักกายแล้ว

เพราะนั้น ตัวสติระลึกรู้ขึ้นอีก ซ้ำอีก รู้อีกๆ ...นี่มันไม่เป็นตัวเรา มันเป็นเรื่องอาการกับรู้ เห็นมั้ย หาเราได้ตรงไหน ไม่มีเรื่องของเราเลยนะ ...ถ้ามีอาการแล้วก็รู้ ไม่เป็นเรื่องของเรา

เพราะนั้นเมื่อมีสติแต่ละครั้งแล้วอยู่ที่รู้ ตรงนั้นน่ะคือการละสักกายไปในตัว ...เราไม่ต้องไปทำการละสักกายโดยวิธีการใดๆ เลย แต่ไม่ให้สักกายมันเกิดขึ้น

เพราะสักกายมันเกิดขึ้น คือเวลาเราเดินไปเดินมาแล้วเราไม่รู้ตัวนี่มันเดินไปด้วยสักกาย คือเป็นตัวของเราเต็มๆ เลย เป็นตัวของเรา เวลาคิดเวลาพูดเวลาคุยนี่ เป็นเรื่องของสักกายเต็มๆ เลย

ความหลงมันพาไปเกิดกับความคิด พาไปเกิดกับการเดินไปเดินมาที่จะไปเอาอะไร ทำโน่นทำนี่เพื่อสนองความเป็นเรา ความต้องการของเรา...เต็มๆ


แต่พอมีสติปุ๊บ มันจะแยกออก เป็นกายกับรู้ เป็นคิดกับรู้ เป็นอารมณ์กับรู้ เป็นความรู้สึกกับรู้ ...เห็นมั้ย มันคู่กันอยู่ตลอดอย่างนี้


(ต่อแทร็ก 2/28  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น