วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/30 (1)


พระอาจารย์
2/30 (530918C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่าถ้าเข้าถึงใจ อยู่ที่ใจแล้วจริงๆ นี่ มันจะเหลือแค่อาการที่ปรากฏที่ใจ ...หน้าที่ของเราก็คือไม่ทำอะไรหรอก จนกว่าอาการที่ใจนั้นจะดับไปน่ะ 

มันจะหมดอาการ ใจจะหมดอาการ...เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ...น้ำก็คือน้ำวันยังค่ำ ใจก็กลับคืนสู่ภาวะใจเดิม จิตเดิมแท้ที่เป็นประภัสสร จิตเดิมแท้นั้นประภัสสรอยู่แล้ว...ทุกวันนี้ก็ประภัสสร

ความประภัสสรไม่เคยหายไปไหนเลย ก็เหมือนน้ำในโซดา ...แต่บอกแล้วว่าน้ำโซดานี่ น้ำนี่ไม่ได้ฟู่นะ ฟองต่างหากที่มันฟู่ขึ้น น้ำคือน้ำ มันคือปนอยู่แต่ไม่ใช่น้ำนะ น้ำก็ยังคือน้ำ

เพราะฉะนั้นความประภัสสรคือความประภัสสร ไม่มีคำว่าไม่ประภัสสร ...เพราะตัวจิตประภัสสร จะทำให้จิตไม่ประภัสสรไม่ได้ จะทำให้จิตประภัสสรกว่านี้ก็ไม่ได้ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นความประภัสสรไม่มีเกิดไม่มีดับ นั่นคือธรรมชาติของรู้ ของใจรู้ เป็นอย่างนั้น ...เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปทำอะไรขึ้นมาใหม่เลย หรือไม่ต้องไปหาจิตประภัสสรด้วย...มันมีอยู่แล้ว 

เพียงแต่ว่าหน้าที่ของศีลสมาธิปัญญาคือ คัดกรองมลทินออก แล้วไม่เอาเข้ามาใส่  ไม่ไปดึงเอาอาสวะอารมณ์ เอาอนุสัยอารมณ์ เข้ามาใส่ในใจ

อาสวะอารมณ์ใดล่ะที่เอาเข้ามาใส่...ทิฏฐิสวะ ภวาสวะ กามาสวะ  พวกนี้ที่จะดึง...ใจที่ไม่รู้นี่ ไปดึงเอาอาการพวกนี้เข้ามาเสวย แล้วยินดีพอใจ

เมื่อเข้าไปเสพเข้าไปเสวยด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ ...ลักษณะนี้คือการดึงเอาฟองอากาศเข้ามาอัดลงภายในใจ หรือดึงเอาความมืดบอดลงมาหมักหมมในใจเพิ่มขึ้น

วิธีเอาออก ...ไม่มีวิธีการ แต่พระพุทธเจ้าท่านให้ไว้ว่ามรรคมีองค์แปด โดยรวมคือสติ..มหาสติ โดยย่นย่อเรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา โดยสูงสุดท่านเรียกว่ามหาสติปัฏฐาน

นี่คือเครื่องมือเอาออก...ไม่เอาเข้า ...แต่ระหว่างดำเนินนี่ มันยังไม่ชัดเจนในวิธีการ หรืออยู่ในครรลองแห่งมรรคโดยตรง มันยังมีเข้าๆ ออกๆ  เดี๋ยวเอาเข้า..เดี๋ยวเอาออก 

เอาออกแล้วเอาเข้าอีก เอาเข้าแล้วเอาออกอีก เอาออกๆๆ เอาเข้าๆๆ เอาออกๆๆๆๆๆๆๆ ...จะเอาออกมากกว่าเข้า หรือจะเอาเข้ามากกว่าออก หรือออกกับเข้าเสมอกัน 

หรือมีแต่ออกไม่มีเข้า นี่ก็คือภูมิจิตภูมิธรรมของพระอริยะ ก็แสดงถึงความมั่นคงในมรรค หรือทางดำเนินของใจ มันชัดแจ้งชัดเจน ไม่ไปทิ้งที่หมายที่มั่นอยู่นอกใจมากขึ้น หรือออกไปก็น้อยลง

จนไม่ออกนอกใจ ...นี่เขาเรียกว่าอยู่ในองค์มรรคตลอดสาย จนเหลือไว้เป็นมรรคที่ใจล้วนๆ ไม่ออกนอกนี้แล้ว เป็นมรรคในใจเลย อยู่ที่ใจ สติแนบๆ อยู่ตรงนี้ที่ใจ ไม่ไปแนบกับนั่นกับนู่น

ไม่ไปแนบกับหูกับเสียงกับรูป แนบอยู่อย่างนี้ที่ใจ ที่อันเดียว ...ตรงนั้นถึงเรียกว่า เอกังจิตตัง เอโกธัมโม จิตดวงเดียว ธรรมอันเดียวกัน จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน สติก็มีอันเดียวเป็นสติที่ใจ

มีความเพียรเยอะๆ ...รู้แค่นี้ อยู่ที่รู้แค่นี้ อยู่ให้ได้ อยู่ให้นาน ...แต่ไม่ได้อยู่ด้วยการบังคับ แต่ด้วยการระลึกรู้ขึ้นบ่อยๆ กลับมารู้ในปัจจุบัน แล้วอยู่ที่รู้


โยม –  เมื่อสักเดือนก่อน ผมไปเยี่ยมน้าอายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว และก็ผ่าสมอง คราวนี้พอผ่าสมองแล้วอาการก็คือว่าเขาต้องฝึกพูด หรือว่าแกจำอะไรใครไม่ได้เลยนะครับ

คราวนี้ทำให้ผมพอเห็นแล้วผมก็เลยกลับมาดูปุ๊บ มันก็เลยมีความรู้สึกว่า จริงๆ แล้วนี่ ก่อนตาย...เวทนาผมว่าก็ยังไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่การที่เป็นอัลไซเมอร์หรือผ่าสมองหรืออะไรพวกนี้นะฮะ จะน่ากลัว

แล้วทีนี้ถ้าลองฝึกอย่างนี้นะครับ สิ่งนี้จะช่วยได้...คืออย่างน้อยยังมีสติมั้ย หรือคนแก่ๆ บางทีแก่ๆ พออายุมากๆ ขึ้นจะหลง ถ้าลองฝึกไปอย่างนี้

พระอาจารย์ –  จะดีขึ้น ...แต่ถ้ามันเป็นวิบากจริงๆ น่ะ มันเลี่ยงไม่ได้


โยม –  อันนั้นคือวิบาก

พระอาจารย์ –  วิบาก...เป็นวิบากมาตัดรอน  ช่วยไม่ได้นะ ...แต่ว่าเราก็ทำได้เท่าที่ทำ ทำได้คือเจริญสติได้ มันก็ช่วยในระดับนึง ...แต่ถ้าเป็นขั้นวิบากที่จะต้องชดใช้ ยังไงก็หนีไม่พ้น


โยม –  อันนั้นคืออยู่ที่วิบากของเราแล้ว

พระอาจารย์ –  ใช่ เลี่ยงไม่ได้เลย ไม่มีใครอยากเป็น แต่มันต้องเป็น ...แล้วเมื่อเป็นแล้วนี่ ไม่ต้องพูดถึง...มันไม่มีหรอกการระลึกรู้ขึ้นมาได้

มันปิดบังหมดเลย วิบากเข้าไปปิดบังใจหมด เข้าไปทับขันธ์เข้าไปทับใจหมดเลย ...ถึงบอกว่าน่ากลัวไง..การเกิด ...แล้วเราเคยไปทำอะไรๆ มาก็ไม่รู้ เคยทำกับใครมามั่งก็ไม่รู้ 

เวลามันส่งผลขึ้นมานี่ มันปิดบัง ตัดรอน ขาดการดำเนินในองค์มรรคในทันทีทันใดเลย ...แม้แต่อนันตริยกรรมอะไรก็ตาม ก็มาในลักษณะอย่างนี้

แล้วเราก็จะโทษฟ้าโทษดินไม่ได้เลย ตัวของคนนั้นเองนั่นแหละทำให้เกิดขึ้นมา...จะไปกล่าวอ้างโทษใคร ...แก้ก็แก้ไม่ได้ เรื่องเหตุการณ์พวกนี้

จะให้ยกกรรมแก้กรรมนี่...ยังไงไม่มีทาง ต้องเสวยอย่างเดียว ...มันปิดบังมรรคผล...กรรมใหญ่พวกนี้ ถือว่าเป็นกรรมใหญ่


โยม –  แต่อย่างน้อยก็...อายุมากๆ นี่  หลงๆ ลืมๆ นี่  หรือไม่มีสตินี่ยังพอช่วยได้ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  ใช่ ถ้าเป็นโดยธรรมชาติของขันธ์มันเอง ไม่ได้เกี่ยวกับวิบาก ...พวกนี้กินเหล้า เมาเยอะ แล้วก็ไปด่าพระด่าเจ้า ด่าครูบาอาจารย์ ด่าผู้ทรงศีล  พวกนี้อัลไซเมอร์ทั้งนั้นแหละ 

แล้วไปด่าไปปรามาสด้วยความขาดสติ ทะเลาะเบาะแว้งทำให้คนแตกแยก ด้วยอำนาจของสุราเมรัย เกิดมาก็เสวยวิบากนี้  มันปิดบังมรรคผลนิพพานทันทีเลย โดยตรงเลย


โยม (อีกคน)  ท่านอาจารย์คะ กรณีที่บางครั้งนักบวชที่ไม่สำรวม อะไรพวกนี้  เราเห็นแล้วจิตเราแย่มากเลยฮ่ะ แล้วแบบนี้ จิตเราคิดแบบนี้...มันไม่ถูก

พระอาจารย์ –  และมันก็ไม่ผิด ...มันไม่ถูกแล้วมันก็ไม่ผิด  เพราะเราห้ามไม่ได้ มันเป็นความเป็นจริงที่ปรากฏ ..รู้ เฉยๆ รู้เฉยๆ รู้ว่ากำลังคิดอย่างนี้ แล้วก็รู้ว่ายินดี-ยินร้าย กับอาการนี้ แค่นั้นเอง ...จบตรงนั้น


โยม –  แล้วมันจะเป็นกรรมผูกพันมั้ยฮะ

พระอาจารย์ –  ไม่...ถ้าแยกออกจากสิ่งที่ถูกรู้ และรู้ ...เราไม่ต้องไปห้ามอาการ เราอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์อาการนั้น ว่าเราไม่น่าไปคิดเลย


โยม –  แต่ถ้าเมื่อไหร่มันหลุดจากปากนี่คือมันเป็นกรรมผูกพันแล้ว

พระอาจารย์ –  วจีกรรม เป็นการสร้างกรรม ... แต่ถ้าพูดแล้วรู้อยู่...เหนืออีกแล้ว เหนือกรรมอีกแล้ว เป็นกลางแล้ว เข้าใจมั้ย 

แต่ถ้าไม่รู้ ก็ตกอยู่ใต้อำนาจกรรม ...มีความจงใจ ทำไปด้วยความหลง...หลงนั้นจะหลงไหนล่ะ หลงเป็นกุศลหรือหลงเป็นอกุศล


โยม –  อกุศลนั่นคือพูดด้วยมีอารมณ์ ขุ่นมัว

พระอาจารย์ –  ตำหนิ ติเตียน จะให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ จะให้เขาได้สติ ...ทุกอย่าง ถ้าออกมาด้วยความไม่รู้ ถือว่ากรรมนั้นสำเร็จรูปแล้ว ...ต้องเสวยแล้ว มีวิบากติดตัวแล้ว มีวิบากขันธ์ติดใจแล้ว


โยม –  แล้วตัวต้นเหตุที่ทำให้เราเกิด เขาไม่มีอะไรเลยหรือฮะ

พระอาจารย์ –  ตัวต้นเหตุ...หมายถึงพระองค์นั้นเหรอ... กรรมใครกรรมมัน  เขาก็ทำกรรม โดยที่เขาไม่รู้ตัวแหละ ว่าเขาทำตัวอย่างนี้ให้เรามีอารมณ์อย่างนี้ ถือว่าเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น

ก็เป็นกรรม สร้างกรรมโดยที่ว่าแจกจ่ายกรรมเป็นอกุศลกรรมให้คนอื่น ...เขาก็เสวยวิบากกรรมอันนี้แล้วในการกระทำ โดยที่เขายังไม่รู้เลยว่าเขาทำกรรมอันนี้กับผู้อื่น

เพราะฉะนั้น บางทีทำไมอยู่ดีๆ ไม่เคยทำอะไรกับใคร...ทำไมไฟไหม้บ้านวะ ทำไมน้ำท่วม  ทั้งที่ว่าไม่เคยทำโทษทำร้ายใคร พวกนี้ อาการพวกนี้เข้าใจมั้ย

การเบียดเบียนโดยที่ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจน่ะ ก็โดนภัยพิบัติโดยที่ไม่ได้คาดฝันอะไรอย่างนี้ ...กรรมมันก็หาเรื่องตอบสนองได้ทุกวี่ทุกวันน่ะ

สำคัญต้องมีสติในการกระทำ พูด คิด ...เพราะนั้นถ้ามีสติในคำพูด และรู้...กำลังพูด ก่อนจะพูด พูดแล้ว จบแล้ว...แล้วรู้ตลอด ถือว่าเป็นสัมมาวาจา

จะพูดไพเราะเพราะพริ้งด้วยความปรารถนาดี...แต่ไม่รู้ตัว  ถ้าพูดดีพูดอะไรขนาดไหนก็ตาม แล้วพูดไปด้วยความไม่รู้ตัว ก็ยังไม่เรียกว่าสัมมาวาจา เข้าใจมั้ย

จะพูดในแง่ดี ยกย่องสรรเสริญ เอออออะไรกับเขา ให้สุขกับเขา แต่ไม่รู้ตัว ไม่เรียกว่าสัมมาวาจา  ...แต่ถ้าพูดแบบกระโชกโฮกฮาก พูดไปตรงๆ พูดแบบไม่เกรงใจใคร...แต่รู้ๆๆ  พูดไปเหอะ เป็นสัมมาวาจา

เพราะนั้น มันไม่ได้อยู่ที่อาการ ว่าอาการนี้จึงสัมมาวาจา อาการอย่างนี้ไม่ใช่สัมมาวาจา ...แต่มันอยู่ที่กระบวนการรู้ 

ถ้ารู้ที่ใจ มีใจรู้ประกอบอยู่ สติประกอบอยู่ แล้วแยกออกเป็นใจกับรู้...รู้ กับอาการ  อย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็นสัมมา เข้าข่ายสัมมา ...แล้วมันจะปรับของมันได้มากขึ้น


โยม –  สรุปก็คือ “เจตนา” ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ ...เมื่อทำโดยไม่รู้ตัวเมื่อไหร่ มันจะกอปรด้วยความมีเจตนาหรือจงใจโดยไม่รู้ตัว ...ตรงนั้นน่ะเป็นตัวปัจจัยหลักให้เกิดกรรม ตัวก่อกรรมสำคัญคือเจตนา

กรรมจะเกิดได้ด้วยเจตนา จริงๆ น่ะ เจตนาที่ส่งผล ที่เป็นคุรุกรรมคือ “หลง” ความหลง...หลง เจตนาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นแหละ ถึงจะเป็นคุรุกรรม ...ซ้ำซากนี่ยิ่งเป็นคุรุเลย

(ถามโยมอีกคน) เอ้า ถามอะไรมั้ย


โยม –  ไม่ถามค่ะ มาคราวนี้เข้าใจ เพราะว่าโยมชอบที่จะดูใจ แต่พอตอนหลัง เอ๊ะ รู้สึกว่าดูใจมันจะกลายเป็นเพ่งจ้อง กลัวเป็นสมถะ เมื่อกี้เวลาที่ท่านอธิบายพูดถึงว่าการดูใจ ให้ดูเข้าไปตรงนี้ ดูไปเรื่อยๆ มันก็สงสัยอยู่ว่า เอ๊ ไม่เป็นสมถะไปเร้อ 

แต่พอสักประเดี๋ยวนึงท่านอธิบายอย่างนี้ มีจุดที่เราออกไปข้างนอกนี่ ไปดู ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วเราจ้องดูอย่างนั้นอันเดียว นั่นก็คือสมถะ  ถ้าเผื่อเราดูโดยที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมาย ดูไปเรื่อย มันก็คือดูใจ เข้าใจอันนี้ฮ่ะ แล้วก็...โอ ดีใจจังเลย

พระอาจารย์ –  ดีแล้ว รู้เบาๆ


(ต่อแทร็ก 2/30  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น