วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/29 (4)


พระอาจารย์
2/29 (530918B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/29  ช่วง 3

พระอาจารย์ –  แต่ลักษณะของกรรมฐานยังมีมมังโสอยู่ในกายกับใจ อยู่ในเรื่องราวแวดวงนี้  มันยังมีที่จบได้ มันยังมีพิจารณาจนถึงจุดจบของมันได้ ...นี่ พระพุทธเจ้าให้เป็นอุบาย...กรรมฐาน ๔๐

จนมันรวม มันเห็นนิมิต จนนิมิตนั้นรวม ตั้งนิมิตขึ้นแล้วนิมิตนั้นดับ จึงจะเกิดภาวะใจเหลืออยู่ 

เพราะใจไม่เกิดไม่ดับ อะไรจะดับทั้งโลกมันไม่สน มันไม่เคยดับ ใจคือใจ รู้โด่ทะโล่อยู่อย่างนั้น ...นั่นแหละ กรรมฐานต้องเข้าจุดนี้ พอถึงจุดนี้ถึงจะเรียกว่าถึงใจ เห็นใจ...ได้หลัก เริ่มเกิดปัญญา เริ่มมีปัญญา

เพราะนั้นถึงเห็นจนดับทั้งโลกธาตุยังไม่เรียกว่าปัญญาเลย ...ก็แค่เห็นนิมิตดับ ยังไม่ได้ละเลิกเพิกถอนอะไรเลย เป็นนิมิตดับไป แค่นั้นเอง

แล้วถ้าไปยินดียินร้ายในอาการนั้น ก็เข้าใจว่า...เราได้ เราเป็น เรามี เป็นธรรมอะไรก็ว่ากันไป ...แต่ยังไม่ใช่ นะ

เพราะนั้นจึงมีผู้หลงผู้ติด ข้อง ในอาการนี้อีกมากมายก่ายกอง ...ในการมมังโส ผลลัพธ์ข้างเคียงของมันคือ อหังการ คืออัตตาเพิ่มขึ้น สูงขึ้นในตัว ...เพราะมันมีจุดหมายมุ่งมั่น

แต่ถ้าโยนิโส กลับเข้าไปสู่ที่เดียว...ที่หมายเดียวคือใจรู้เปล่าๆ ที่หมายสุดท้ายคือนิโรธ คือความดับไปโดยสิ้นเชิง ...ไม่มีทั้งอัตตาและอหังการ

แต่พวกเรามักจะมาติดคำสอน ติดที่เคยได้ยินได้ฟังมา ติดว่าคนนั้นเขาเล่าบอกว่าเขาทำแล้วเขาได้อย่างนี้ เขาเป็นอย่างนี้ แล้วเขาบอกว่าดี  แล้วก็ครูบาอาจารย์รับรองว่าถูกว่าใช่ว่าดี

ตรงนี้เราละไม่ออก เราไม่กล้าที่จะละ..ในการส่งออก เพื่อไปแสวงหาภพ แม้ภพนั้นจะดูดีเลิศวิเศษประเสริฐ...มันเลยไม่กล้า ...นี่ เขาเรียกว่าติดภพดี

กลับ..กลับบ้านเถอะ  กลับบ้าน...บ้านคือใจ กลับสู่ใจ ...อย่าออกไปไกลบ้าน ไกลหูไกลตา ไกลบ้านแล้วจะถูกคนพาลเหยี่ยวกาฉกไปกินซะ

มันพาลพาไปเกิดตายไม่รู้จักกี่ร้อยชาติ ก็เพราะว่าหลงใหลได้ปลื้มกับสภาวธรรมต่างๆ หรืออารมณ์ หรือเวทนาที่น่าใคร่...อิฏฐารมณ์ นี่แหละ ...อนิฏฐารมณ์ไม่ต้องพูด ไม่มีใครอยากได้อยู่แล้ว

แต่มันเป็นอิฏฐารมณ์ ความใคร่ในสภาวธรรม ใคร่ในธรรม ใคร่ในอาการที่น่าใคร่ ...อันนี้ต่างหากที่พาเราเวียนว่ายตายเกิดสำหรับหมู่นักปฏิบัติ

มันติดสภาวธรรมนั่นแหละ ว่าเป็นของเรา ว่าเราทำได้  ว่าเราต้องทำ ...เห็นมั้ย มันยังมีคำพูดว่าเราต้องได้ เราต้องทำ มันยังมีตัวอะไรบงการอยู่อ่ะ อะไรเป็นเหตุล่ะ

ทำไมไม่โยนิโสกลับมา ถึงเหตุที่แท้จริง ต้นตอที่แท้จริง ...อยู่ดีๆ ลอยๆ มันไม่มีการปรากฏหรอกสภาวธรรม มันมีเหตุปัจจัยอะไรล่ะ

ย้อนกลับมาด้วยปฏิจสมุปบาท...จนเจอ ทุกข์มาจากไหน ถอยๆ ๆ จนมาถึงอวิชชาปัจจยาสังขารา สังขาราปัจจยาวิญญาณ วิญญาณปัจจยานามรูป นามรูปปัจจยาผัสสะ ผัสสะปัจจยาสฬายตนะ 

สฬายตนะปัจจยาเวทนา เวทนาปัจจยาตัณหา ตัณหาปัจจยาอุปาทาน อุปาทานปัจจยาภพ ภพปัจจยาชาติ ชาติปัจจยาชราธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส

มันต้องถอยกลับมาจนเจออ่ะ...ว่าใคร ไอ้มืดไอ้โม่งคนไหนมันสั่งการอยู่วะ ให้ต้องเดิน ต้องยืน ต้องนั่ง ต้องนอน ให้ต้องคิด ให้ต้องทำ ให้ต้องหา ให้ต้องเข้าไปอย่างนั้นเข้าไปอย่างนี้ 

ใครล่ะ...ใครๆ ...ต้องเอาให้เจอ ...โอปนยิโกๆ เท่านั้นจึงจะเจอ  ไม่ใช่มมังโส ยิ่งไกล


โยม –  ก็เหมือนกับ...เอ๊ ทำไมเราต้องมานั่งออกกำลังกายให้มันแข็งแรง ทำไมเราต้องมาหาอะไรบำรุงร่างกาย คือบางทีมันมีความรู้สึกว่ามันทุกข์จริงๆ ต้องมานั่งทำให้มันตลอดเวลาเลย

พระอาจารย์ –  อือฮึ เพราะใจมันไม่ยอมรับตามความเป็นจริง ลึกๆ ไม่ยอมรับสภาวธาตุ สภาวขันธ์ที่แปรปรวนหรือควบคุมไม่ได้ตามความเป็นจริง ...มันมีใจที่ไม่ยอมรับด้วยมิจฉาทิฏฐิ เลยต้องออกไปทำ


โยม –  แล้วสมมุติถ้าอย่างนี้เราไม่ทำมันล่ะฮะอาจารย์

พระอาจารย์ –  กล้ามั้ยล่ะที่จะไม่ทำ


โยม – อย่างเป็นไขมันในเส้นเลือดสูง เราไม่ทานยา เราไม่ต้องออกกำลังกายเพื่อให้เขาลดลง

พระอาจารย์ –  กล้ามั้ยล่ะ


โยม –  ไม่กล้าฮ่ะ

พระอาจารย์ –  ถ้าไม่กล้าให้รู้อยู่ ขณะทำ


โยม –  ใช่ไหมฮะ ให้โยมซ้อมดนตรีอะไรอย่างนี้ มันเพลิดเพลิน มันพอถึงวิบนึง มันตกใจ...เอ้ย ไม่ใช่ เรากำลังติดมันมากเลยนะ ...สลัดทันทีเลย

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้รู้บ่อยๆ ...เพราะว่าเรายังละโดยสิ้นเชิงไม่ได้ ละโดยเด็ดขาดด้วยการรู้แล้ววางทันทีเลยไม่ได้ 

เพราะมันยังเงื่อนไขไม่เพียงพอ กำลังจิตกำลังปัญญาไม่เพียงพอ ยังกลัวตายอยู่ เรายังให้เงื่อนไขกับมันอยู่ ...แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไปไม่ได้ ระหว่างทำก็ให้รู้ไปด้วย ควบคู่กัน เป็นกลางๆ ไป 

จนกว่าจะถึงกำลังความอาจหาญ กล้าหาญชาญชัย...พร้อมปุ๊บ มันทิ้งหมด ไม่เอาอะไรสักอย่าง ตายเป็นตาย  เข้าใจมั้ย ฝ่าดงตีนเข้าไปเลย ตายเป็นตาย...ตรงนั้นน่ะมันไม่ตาย บอกให้เลย 

แต่ตอนนี้..."ตายแน่" ...เพราะนั้นคือค่อยๆ เป็นกลาง...ค่อยๆ เป็นกลาง ...แล้วมันจะรู้เลยกำลังของจิต ถึงจุดนั้นมันขาดเลย ขาดปั๊บวางปุ๊บ ...มันไม่มีอ่ะ มันไม่มีกลัวตายเลย 

ไม่เอาก็ไม่เอา ไม่ทำก็ไม่ทำ เรื่องของขันธ์ไม่ใช่เรื่องของกู ตายเป็นตาย ตายเกิดใหม่ แค่นั้นเลย จิตมันจะวาง ...ถ้าวางจริงนะ ปล่อยเลย หยุดการกระทำแล้วเน้นอยู่ที่ใจ...รู้ลูกเดียว

แต่ตอนนี้เรากลัวตาย เรายังไม่โอนอ่อนผ่อนตามอำนาจของไตรลักษณ์ ...มันยังมีอำนาจของสุขขัง นิจจัง และอัตตา ที่มีกำลังอยู่มาก  

แต่ว่าก็ไม่ปล่อยปละละเลยกับมันโดยตรง ก็เป็นกลางๆ ด้วยมัชฌิมา ...รู้ไปๆ รู้ได้เท่าไหร่ก็รู้ไป รู้ในขณะที่ทำออกไปน่ะ รู้อยู่ รู้ว่าการกระทำนี้เพื่อบรรเทาขันธ์ ยับยั้งความเสื่อมสลายของขันธ์ก็ตาม 

ก็รู้อยู่ ตามกำลังๆ ไม่งั้นเราก็จะทอดธุระจนเกินไป ...แต่ว่าถ้าถึงจุดที่จิตมันขาดโดยกำลังแล้วนี่ มันไม่อนาทรร้อนใจในขันธ์เลย  ...รู้อย่างเดียว 

แล้วตรงนั้นน่ะมันจะมีพลานุภาพของจิตที่เป็นมหัคคจิตของมันออกมา ปรับสมดุลของธาตุและขันธ์ด้วยตัวของมันเอง ในการระดับบรรเทาเยียวยา...บรรเทาด้วยความเป็นกลาง

แต่ว่าในขณะนี้พลังของธรรม พลังของปัญญาญาณ พลังของอะไรนี่ยังไม่พอ ... ถ้าละวาง...ตายแน่


โยม –  เขาเรียกธรรมโอสถรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ประมาณนั้น โดยธรรมชาติของความสมดุล มันเป็นกลางแล้ว มันไม่ตายหรอก ...มันบรรเทาด้วยการสมดุล เยียวยาโดยธรรมชาติ 

ค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ อำนาจของปัญญา...ศีล สมาธิ ปัญญานี่ คุ้มครอง ...ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรมไปตามลำดับขั้น ไม่ต้องกลัวๆ

แล้วค่อยๆ ถอยออกๆ เบาลงจางลง ผ่อนถ่ายทีละนิดๆ ...แต่ว่าอย่าไปเออออห่อหมกกับมันจนเกินไปแค่นั้นเอง ยับยั้งมันบ้าง ถอยออกบ้าง 

ตายแน่ ทุกคนก็ตายแน่แหละ แต่พวกเราไม่อยากตายเร็ว ยังกลัวอยู่ ลึกๆ ยังกลัวอยู่ ว่ายังไม่พร้อม ว่ายังไม่ได้ทำ ...จิตยังไม่ถึง ยังไม่ได้ปัญญา


โยม –  ใช่ คือกลัวที่สุดตอนจิตก่อนตาย คือรู้ว่าทุกคนต้องตาย แต่ก่อนตายทำยังไงให้ไปดี

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไรหรอก ให้กลับมาที่ฐานรู้ อย่าไปอยู่ฐานอื่น...ในสติปัฏฐานทั้งสี่ อย่าไปอยู่ กายก็ไม่อยู่ เวทนาก็ไม่อยู่ จิตก็ไม่อยู่ ธรรมก็ไม่อยู่ ...แต่อยู่ที่ใจรู้

เพราะนั้นตัวสตินี่เป็นตัวที่ระลึกรู้ เข้าใจมั้ย มีขึ้นเพื่อให้เกิดการระลึกตัวรู้ขึ้นมา ท่านถึงเรียกว่าระลึกรู้ ...แล้วเมื่อระลึกรู้แล้วก็ให้มีสัมปชัญญะคือรู้ตัว ให้ความรู้นี่คงอยู่ตลอด นั่นเรียกว่าสัมปชัญญะ 

เมื่อรู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ตัวรู้ปรากฏขึ้นๆ ปุ๊บ มันจะมีสัมปชัญญะต่อเนื่อง ที่จะเห็นรู้อยู่ต่อเนื่องไป ...ภาวะเดิมของใจนี่คือตัวของมันเอง ตัวของใจจริงๆ คือตัวของสติและสัมปชัญญะในตัว 

นี่ เป็นอัตโนมัติ เป็นตัวของมันเองเลยน่ะ คือตัวสติและสัมปชัญญะในตัวใจ เป็นตัวรู้ตัวเห็นโดยธรรมชาติ ...ธาตุรู้เป็นธาตุรู้น่ะ ธรรมชาติของใจคือธาตุรู้

แต่ว่าธาตุรู้นี้ถูกเจือปนด้วยเครื่องหมักดองที่เรียกว่าอาสวะ อนุสัย ...ซึ่งเรามองไม่เห็นหรอก แม้แต่มองเห็นใจแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นหรอก อาสวะอยู่ตรงไหน ...มันจะเห็นต่อเมื่อมันแสดงตัว แตกตัวออกมา

เหมือนที่เราเปรียบเทียบบ่อยๆ ว่า มีน้ำสองขวด ใส่ขวดแบบเดียวกัน ขวดนึงเป็นน้ำ อีกขวดนึงเป็นโซดา  ถ้าปิดฝาไว้ มองเห็นมั้ยว่ามันต่างกัน ...เห็นมั้ย ไม่มีอะไรเลยใช่มั้ย

เปิดฝาดิ ...พอเปิดฝาปุ๊บ ขวดที่เป็นน้ำนี่ลองดู ไม่มีอะไรรู้สึกเลย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ...แต่ขวดที่เป็นโซดามันเป็นไง...มันมีฟอง เห็นมั้ย

นั่นแหละ ดูธรรมดานี่เราดูเหมือนน้ำเหมือนกัน ไม่เห็นมีฟองอยู่ตรงไหน ...ศีลสมาธิปัญญานี่มันจะเป็นตัวเปิดฝา แล้วจะเห็นเนื้อจริงของใจ หรือเนื้อจริงของน้ำในโซดา

ไม่ต้องทำอะไร ฟองมันฟู่ขึ้นมาเอง ...แล้วทำยังไงกับมัน ...ก็ไม่ต้องทำอะไร จนกว่ามันจะหมดฟู่เองน่ะ หมดฟู่เมื่อไหร่อ่ะ มันเป็นน้ำเหมือนกันน่ะ

แล้วถามว่าน้ำนี่มันฟู่หรือเปล่า เข้าใจไหม น้ำมันไม่ฟู่นะ แต่ดูเหมือนมันฟู่ ...มันฟู่เพราะฟองต่างหาก ตัวน้ำไม่เคยฟู่นะ...น้ำคือน้ำ น้ำยังไงก็คือน้ำ


(ต่อแทร็ก 2/30)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น