วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/28 (3)


พระอาจารย์
2/28 (530918A)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/28  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นเราก็ต้องมาทำความสำเหนียกแยบคาย แล้วก็แยกแยะออก..อ๋อ ไม่มีอะไร ...พอรู้ทันปุ๊บ มันก็กลับมาอยู่ที่รู้ พอรู้ทันปั๊บมันก็กลับมาอยู่ที่รู้

อยู่อย่างนี้ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แล้วก็ทำความแจ้งอยู่ภายในนั่นแหละ จนใจมันคลายออก สำรอกออก สำรอกตัณหาออกไป ...ไม่ใช่มันออกมาทีไรแล้วก็เอามันมาจับจ่ายใช้สอยน่ะ

มันออกมา...ถ้าเราไม่ทันเมื่อไหร่นะ เราจะเอา...เหมือนกับตัณหานี่เป็นเงินที่จะไปซื้อข้าวของมาเสพมากินน่ะ เอาความสุขความทุกข์ ความอิ่ม ความยินดี ความยินร้าย...เอามาใช้สอย

แต่ถ้าทันเมื่อไหร่ เราจะทิ้งทันทีเลยๆ  ไม่เอาไปเสพ ไม่เอาไปซื้อหาความสุข ไม่เอาไปซื้อหาสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง ...แต่ว่าไอ้ตอนแรกๆ นี่มันจะต้องฝืนน่ะ ฝืดฝืน เพราะว่าสันดาน ความเคยชิน 

กิเลสจริงๆ น่ะมันไม่ได้ติดเราหรอก...เราน่ะติดมัน ติดด้วยความเคยชิน  เคยหยิบจ่ายใช้สอยกับมันด้วยอำนาจของตัณหา จนเข้าใจว่านี่คือส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของใจ

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า เมื่อจะละมันนี่ มันจะต้องทุกข์แน่ๆ ...นี่ การไม่ตามมัน การละตัณหา หรือละสมุทัย ...จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ หรืออนาลโย

มันจะต้องมีอาการดีดดิ้น หรือทุกข์ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย สงสัย ขุ่นมัว เศร้าหมอง ลังเล ...มันต้องมีอาการพวกนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่า เนี่ยคือทุกข์

แล้วพระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกข์นี่ให้ทำยังไง...ให้รู้  สตินั่นแหละรู้อีก รู้ไป รู้แล้วไม่ตามมันๆ  จนกว่ามันจะหมดกำลังของมันเอง ...ไม่มีวิธีอื่นเลย

อย่าไปคิดว่าถ้าเราออกไปจับจ่ายใช้สอย เอาสภาวธรรมนี้มา แล้วเราจะอาศัยสภาวธรรมนี้มาใช้ เอาความรู้อันนี้ ความเข้าใจอย่างนี้ เอามาใช้ในการที่จะเข้ามาทำลายตัณหา

ในภาวะของปัญญาวิมุติ จะไม่หยิบ จะไม่ยอม จะไม่เอาเงินปากผีมาใช้ ไม่เอาเงินที่ได้จากสมุทัยหรือตัณหา แล้วจับจ่ายใช้สอยให้ได้สภาวธรรมใดสภาวะหนึ่งเอามาใช้

อันนี้เราพูดในแง่ของปัญญานะ เราไม่พูดในแง่ของสมถะนะ ...เพราะเรามองเห็นว่า สภาวธรรมที่ได้มาจากการซื้อหามาด้วยอำนาจของตัณหานี่ หรือเจตนา หรือจงใจเข้าไปประกอบกระทำนี่

เหมือนกับเราได้แผ่นน้ำแข็งบางๆ ที่ลอยอยู่บนมหาสมุทร  แล้วเราก็หลงดีอกดีใจกระโดดขึ้นไปเหยียบ โดยเข้าใจว่ามันจะเป็นที่มั่นที่หมาย เป็นเรือเป็นแพ พาเราข้ามโอฆะสงสารหรือมหาสมุทรแห่งทุกข์ได้

แน่ะ มันเข้าใจว่าจะอาศัยอันนี้เป็นเรือเป็นแพข้ามฟากให้มัน ...แต่เราบอกว่า มันเป็นแค่แผ่นน้ำแข็งบางๆ ที่ปรากฏขึ้นชั่วคราว ยืนยังไม่ทันประเดี๋ยว...ละลาย จมๆ

ถึงจะทำให้แข็งแกร่งขนาดไหนก็เป็นแค่แผ่นน้ำแข็ง ไปไม่รอดหรอก ไปไม่ถึงกลางมหาสมุทรด้วยซ้ำ ออกไปได้ไม่กี่กิโลเมตร...จม ...แล้วก็ทุกข์อีก แล้วก็สงสัยอีก แล้วก็ทำอีก มันเป็นอย่างนี้

เพราะนั้น ตัดปัญหา ไม่เอาเลย ไม่พึ่งอะไรเลย...พึ่งใจรู้อย่างเดียว อยู่ที่รู้อย่างเดียว ...แล้วไม่เอาอะไร ถ้าทิ้งคือทิ้งหมด ไม่เอาคือไม่เอาหมด

แม้แต่สภาวธรรมใดสภาวะหนึ่ง...ก็ไม่เอามาเป็นที่พึ่ง ที่หมาย ที่หยั่ง ที่เหยียบ ที่ยืน ที่อาศัย ...รู้อย่างเดียว  อยู่ที่รู้อย่างเดียว

ตรงเนี้ย ที่เรียกว่ารู้โง่ๆ รู้แบบไม่มีอะไร รู้แบบไม่ได้อะไร รู้แบบไม่เป็นอะไร รู้แบบไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่อาศัยความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น

ไม่เอาความรู้ใดๆ มาเป็นเครื่องเหนี่ยวเครื่องรั้ง เครื่องยึด เครื่องถือ เครื่องประคอง ไม่เอาความเห็นใดความเห็นหนึ่งมาเป็นที่ตั้ง

เอาความเห็นเดียว...คือตรงไปที่ดวงจิตผู้รู้อยู่ อยู่ที่รู้ ...อะไรเกิดขึ้น..รู้  อะไรเกิดขึ้น..กูไม่สน กลับมารู้ กลับมาแล้วสติระลึกได้รู้อย่างเดียว

จนดวงจิตผู้รู้นี่มันอาจหาญ มันกล้า มันแกร่ง มันแข็งแกร่งขึ้น มันองอาจ มันไม่กลัวอะไร มันกล้าที่จะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่เหลียวหลัง โดยไม่อาลัย โดยไม่เสียดาย โดยไม่อาวรณ์

แม้แต่จะให้คิด มันก็ไม่คิด ให้มันทำมันยังไม่ทำเลย มันก็รู้...ทำแล้วไง ได้อะไร ได้มาแล้วยังไง เสวยแค่นี้ ...ไม่รู้จะเอามาทำไม มันพึ่งพิงไม่ได้

เพราะว่าอะไร ...เพราะกูเห็นแล้วว่ามันเป็นไตรลักษณ์ อาศัยมันไม่ได้เลย ...ก็ออกไปอย่างนี้กูเจ็บทุกที คิดออกไปเท่าไหร่ก็เจ็บทุกที ไม่เคยจะเข้าถึงใกล้ฝั่ง เงาของนิพพานยังไม่เห็นเลย

จะไปหลงคิดออกไปทำไม จะไปหลงทำสภาวะใดสภาวะหนึ่งขึ้นมาทำไม ...อยู่ที่รู้นี่ เปล่าๆ นี่ ไม่มีอะไร กลับ...เออ สุขไม่มีนะ แต่ทุกข์ก็ไม่เกิดนะ 

นั่น ไม่ใช่ว่าอยู่ที่รู้เฉยๆ แล้วมันจะสุข ปีติอะไร...ไม่มีอ่ะ ...ก็ตื่น แค่ตื่น เบิกบาน แค่นั้นเอง  ตื่น สบาย เบา แค่นั้นเอง ตื่นเบาๆ ...มันไม่ถึงขั้นสุขแบบ แหม เอาไปกิน เอาไปใช้จับจ่ายใช้สอยอะไร 

มันสุขแบบธรรมดา กลางๆ เป็นกลางๆ ไม่มีอะไร รู้เฉยๆ รู้เปล่าๆ ...แต่ตรงนี้คือที่ที่จะพ้นทุกข์ ให้มีความเชื่อมั่นลงไป

แต่จริงๆ น่ะถ้าทำไปถึงจุดนี้แล้ว ความอาจหาญตั้งมั่นมันจะเกิดขึ้น มันไม่กลัวอะไรเลยๆ ...มันไม่กลัวที่จะทิ้งหมดเลย อย่าว่าแต่ความคิดความจำเวทนาอะไรเลย ตาย..ยังไม่สน

มันยังทิ้งมันยังไม่สนใจ ตายไปต่อหน้ามันก็รู้ รู้ปกตินั่นแหละ เป็นปกติอยู่อย่างนั้นแหละ เห็นเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นดีใจเสียใจเกินไป

เพราะนั้นการแก้จิต เราไม่เคยคิดว่าจะต้องแก้อะไร เราไม่เคยกลัวต่อสภาวะใดสภาวะหนึ่งที่ปรากฏ ...จะดูเหมือนร้ายแรง จะดูเหมือนไม่เคยปรากฏก็ตาม

จะดูเหมือนว่าไปพ้องกับบางคนที่พูดว่าสภาวะนี้เลวร้ายนะ ไม่ดีนะ  เราไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเลวร้ายหรืออะไร ...แค่รู้อย่างเดียว แล้วอยู่ที่รู้

เราไม่อยู่ที่อาการนะ ...เรื่องของมัน เรื่องของอาการ ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของใคร ไม่อยากเกิดแต่มาเกิด ก็เรื่องของมัน มาเกิดแล้วอยากให้ดับก็เรื่องของมัน มันไม่ดับ อย่างเนี้ย

จริงๆ น่ะการเจริญสติอย่างเดียวนี่ แค่สติอย่างเดียวนี่ ถึงนิพพานนะ ...แต่ทำยังไงให้เจริญสติให้เป็น สติเพื่อเกิดการระลึกรู้อยู่ ไม่ใช่รู้ไป

ถ้ารู้ไปเมื่อไหร่เป็นมิจฉาสติ สิ่งที่ได้เป็นมิจฉาหมด ถ้าออกนอกใจนะ ...ถ้าจะให้กลับมาเป็นสัมมาสติ สัมมาสติ หรือญาณ ปัญญาญาณ ต้องน้อมกลับมาที่ใจ เป็นสติที่ระลึกรู้แล้วน้อมกลับมาที่ใจ ใจรู้

เราไม่ต้องไปหาใจ ไม่ต้องไปบอกว่าสภาวะมันคืออะไร ...คือระลึกรู้ แล้วใครล่ะรู้ ตรงนั้นแหละ ให้กลับมาอยู่ตรงนั้นแหละ  ใครเดิน ใครนั่ง กายมันไม่รู้หรอกว่ามันนั่ง ใครนั่ง ใครเดิน ใครคิด

เนี่ย ถ้าอยากรู้ว่าอะไรนี่ เมื่อระลึกรู้แล้วใครอ่ะเป็นคนคิดน่ะ ...แน่ะมันมี มันมีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง ตรงนั้นแหละ ให้ถอยกลับมา แหงะกลับมา น้อมกลับมา โอปนยิโก นะ

โอปนยิโก น้อมกลับมา ...ถ้าไม่มีการโอปนยิโก ถอยกลับเข้ามาที่..ใครเป็นคนว่า ใครเป็นคนรู้ ใครเป็นคนเห็นอยู่  ตรงเนี้ย มันจะไม่เกิดคำว่าปัจจัตตังเวทิตตัพโพ คือจะไม่มีความรู้จำเพาะจิตเกิดขึ้นเลย

ต้องมีการโอปนยิโก จึงจะเกิดปัจจัตตังเวทิตตัพโพ ...อาสวักขยญาณ ปัญญาญาณ ก็เกิดจากการน้อมกลับมาที่ใจ ไม่ได้ออกไปหาความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น

ไม่ได้ออกไปว่าต้องเข้าใจอันนั้นก่อนนะ ต้องเข้าใจสิ่งนี้ก่อนนะ ต้องเข้าใจสภาวะนั้นก่อนนะ ต้องให้เกิดสภาวะนั้นแล้วก็ไปแจ้งในสภาวะนั้นก่อนนะ...ไม่ต้อง

กลับมาที่ใจที่ไม่รู้อะไรนั่นแหละ เห็นมั้ย รู้ เห็นมั้ย มีอะไรในรู้ มีความรู้อะไรในรู้ มีมั้ย ...ไม่มีหรอก มีแต่รู้เฉยๆ รู้เปล่าๆ นั่นแหละ

แต่ในรู้เปล่าๆ ของแต่ละบุคคล...ในขณะนี้ ข้างในนั้นยังมีอาสวะหมักดองซ่อนเร้นอยู่ภายในดวงจิตผู้รู้นี้อยู่ ...แล้วมันจะสำแดงอาการออกมาตามเหตุปัจจัยที่มากระทบทางอายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

จากนั้นก็เป็นสติภายในผู้รู้นี่แหละ คอยดูอาการที่จะออกมาหมายมั่นตามอำนาจของอาสวะที่หมักดองอยู่ภายในจิตผู้รู้นั้น ...นี่ จึงจะเกิดการชำระอาสวะ

ด้วยการที่สตินั่นแหละ เข้าไปเท่าทันอาการที่จะไปยินดียินร้ายกับมัน กับขันธ์  ...ทั้งๆ ที่ขันธ์นี่เขาไม่ได้บอกว่าเขาดี ไม่ได้บอกว่าเขาร้าย ความคิดเขาไม่เคยบอกว่าเขาถูก ความคิดเขาไม่เคยบอกว่าเขาผิด 

เขาเป็นแค่ซากน่ะ ซาก ซากหรือวิบาก วิบากขันธ์ ...คืออาการที่ปรากฏออกมาแล้วนี่ ไม่ว่าอะไร แม้แต่จะตั้งใจคิดอะไรก็ตาม ออกมาแล้วนี่ มันคือไม่มีชีวิตจิตใจอะไรนะ ไม่มีตัวไม่มีตนอะไรนะ

มันเป็นข้าวของสิ่งหนึ่ง อย่างนี้ ไม่ใช่ของใครเลย ...ให้มันรู้เท่าทันอย่างนี้ แล้วมันก็จะวาง ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะว่าเขามาเป็นทุกข์ให้เรา หรือเราไปเป็นทุกข์กับมัน

มันก็เป็นแค่อาการที่ปรากฏขึ้นตามเหตุและปัจจัย แค่นั้นเอง นี่ ...ส่วนที่มันดับไป ก็คือตัณหาอุปาทานต่างหาก คือความเข้าไปหมายในอาการ

แต่ขันธ์มันจะดับหรือไม่ดับนี่เรื่องของขันธ์นะ เรื่องของอารมณ์นะ ...แม้เราไม่ไปหมายมั่น มันอาจจะตั้งอยู่ก็ได้

แต่เวลามันตั้งอยู่ มันก็รู้แบบต่างคนต่างอยู่ รู้แบบไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่มีผู้รับ ไม่มีผู้เสวย มีแต่จิตผู้รู้กับอาการ เห็นมั้ย มันต่างกันตรงนี้

เพราะนั้น แค่รู้อยู่แค่นี้ มันจะเข้าไปทำลายความเห็นผิดออกไป...ความเห็นที่ว่ามันเป็นเรา มันเป็นของเรา ...แค่รู้อย่างนี้ รู้ตรงๆ รู้ตามความเป็นจริงนี่ มันทำลายแล้ว


(ต่อแทร็ก 2/28  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น