วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/28 (2)


พระอาจารย์
2/28 (530918A)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/28  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น...ไม่มีวิธีแก้  มีอย่างเดียวคือสร้างสติขึ้น แล้วก็อยู่ที่รู้ให้ได้  ให้ตัวรู้ อยู่กับรู้ด้วยสติและสัมปชัญญะ อยู่กับรู้ด้วยสมาธิ ตั้งมั่น อยู่ที่ใจๆ จนจิต จนใจดวงผู้รู้นี่มันตั้งมั่นโดดเด่นขึ้นมา


ต่อไปนี่เมื่อมันแข็งแกร่งด้วยสติปัญญาขึ้นมาปั๊บ เดินไปไหนมาไหน เราไม่ต้องเรียกหาสติหรอก เราไม่ต้องเรียกหาดวงจิตผู้รู้ หรือใจรู้หรอก ...มันก็จะเห็นคู่กันอยู่ตลอด

ไปไหนก็รู้ มันก็รู้อยู่ภายในอย่างนั้นน่ะ แล้วก็เห็นอาการของกายเป็นแค่อาการ เคลื่อนไปไหลมา นิ่งบ้าง ขยับบ้าง เมื่อยบ้าง ปวดบ้าง เจ็บบ้าง สบายบ้าง ไม่สบายบ้าง ร้อนบ้าง หนาวบ้าง

เนี่ย มันก็เห็นเป็นแค่อาการ ไม่ได้เป็นของใคร ไม่ได้เป็นของเรา ไม่ได้เป็นของคนนั้น ไม่ได้เป็นของคนนี้ ...ก็เป็นแค่อาการหนึ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีแค่ใจหนึ่งที่รับรู้อยู่

ถ้ามันตั้งมั่นแยกกันอยู่ได้อย่างนี้ เรียกว่า...เออ เริ่มได้ฐานแล้ว เริ่มตั้งมั่นพอสมควรแล้ว เริ่มแยกกายแยกใจออกจากกันได้บ้างแล้ว เริ่มแยกกายแยกอารมณ์ออกจากกันได้แล้ว

จากนั้นไป สติก็จะอยู่ภายใน อยู่ภายในใจแล้ว เป็นสติที่อยู่ที่ใจ อยู่ที่ใจรู้ ...แล้วมันก็จะคอยสังเกตอาการที่เรียกว่ามันเริ่มผิดปกติกับอาการ ...เพราะว่ามันจะไม่ได้อยู่ได้ตลอดโดยสมุจเฉทหรอก 

ไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ...เพราะนั้น เดี๋ยวมันจะกลมกลืนเข้าไปอีกแล้ว เดี๋ยวก็จะหายไปอีกแล้ว..รู้น่ะ เดี๋ยวก็จางๆ จางๆ แล้วหาย ...หายไปกับอะไร หายไปกับความคิดบ้าง หายไปกับอดีตอนาคตบ้าง 

ตอนนี้เราจะต้องมาเท่าทันอาการภายในตรงนี้ ที่เริ่มจะหายไปกับมันอีกแล้ว ...ตรงนี้เรียกว่าเริ่มเข้ามาชำระตัณหาอุปาทานภายในโดยตรง...โดยตรงเลย 

แล้วไม่ต้องทำอะไร คอยเท่าทันอาการอย่างเดียว ...เพราะถ้ารู้อยู่อย่างนี้ มีกาย-ใจ มีกายกับอาการของใจ เช่นอารมณ์สุข-ทุกข์นี่...แล้วถ้ามันมีรู้คู่กันอย่างนี้ ถ้าลักษณะนี้มันจะอยู่ด้วยอาการเรียกว่าปกติ

ไม่มีการกำหนด บังคับ หรืออะไรทั้งสิ้น มันก็เป็นธรรมดา ...แต่พอเริ่มจะเข้าไปจับต้อง หมายมั่น ให้มากขึ้น-น้อยลง ...ตรงนี้ มันจะเริ่มผิดปกติ แล้วจะจับอาการที่ผิดปกตินี้ให้ทัน

แล้วมันจะทันไวขึ้น แค่ขยับออก ไปหมาย ไปครอง ไปเหนี่ยว ไปรั้งขันธ์ทั้งห้าเมื่อไหร่ ...มันจะรู้ทัน สติมันจะไวขึ้นแล้วก็รู้ทันขณะแรกที่ออกไปจับ

เนี่ย เพราะนั้นสติก็จะพัฒนาขึ้นมาเป็นสัมมาสติขึ้นเรื่อยๆ ...รู้ขณะแรกที่ออกไปจากใจ แน่ะ

แต่ว่าเบื้องต้นนี่ ถ้ายังแยกกายแยกใจออกจากกันไม่ได้โดยสตินี่ แล้วยังไปทำให้เกิดสภาวะใดสภาวะหนึ่ง แล้วไปเหนี่ยวรั้ง หรือครอบครองสภาวะนั้น

เราถือว่าไม่ใช่การปฏิบัติที่ตรง ...มันเป็นการปฏิบัติที่เข้าไปมี เข้าไปเป็น  หรือเข้าไปไม่มี เข้าไปไม่เป็น ...เห็นมั้ย มันเป็นไปตามความอยากและไม่อยาก

ถ้าผิดตั้งแต่ต้นนี่...ผิดหมด  การปฏิบัติถือว่าผิดหมดเลยนะ ไม่ตรงเลยนะ เฉออกหมดเลย เป็นมิจฉาตั้งแต่เริ่มต้นเลยนะ ...แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิโดยตรง ให้แยกสติแล้วสังเกต...อ้อ มันมีสองตัว 

กายนี่มันไม่ใช่กาย กายนี่คือธาตุ มหาภูตรูป ๔ ดินน้ำไฟลม เนี่ยๆๆ (เสียงสัมผัส) มันไม่มีชีวิตจิตใจอะไร เห็นมั้ย มันไม่มีชีวิตจิตใจนะ มันไม่มีความมีชีวิตอยู่ในตัวมันเลย 

ความคิดก็เหมือนกัน แรกๆ ก็ดูเหมือนความคิดมีชีวิตจิตใจ เป็นตัวของเรา มีเนื้อมีหนัง มีเลือดมีเนื้อ มีวิญญาณครองในความคิด คือความเป็นเรามันอยู่ในความคิดนั้น 

พอสติระลึกรู้ว่าคิดปุ๊บ...อ๊ะ คิดไม่ใช่ใจ..ใจไม่ใช่คิด  เพราะมันมีคิด...แล้วก็รู้ว่าคิด เห็นมั้ย

เพราะนั้นความคิดเลยแค่กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนซากน่ะ เหมือนไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่ได้เป็นอะไรของใครเลย ...มันเป็นเหมือนวัตถุธาตุที่จับต้องไม่ได้อันหนึ่งเท่านั้นเอง เห็นมั้ย

สติมันจึงแยกออกให้เห็น ให้เห็นสองอาการที่อยู่คู่กัน ตรงนี้...ต้องสติเข้าไปแยกแยะตรงนี้บ่อยๆ เป็นพื้นฐานก่อน เป็นจุดเริ่มต้นก่อน เพื่อจะให้จางคลายหรือวางจากอาการหยาบๆ คือรูปกับนาม

จนมันตั้งฐาน ตั้งมั่นอยู่ที่ใจๆ แล้วก็ปล่อยให้อาการเขาเป็นไป ...ตรงนี้ มันจะเข้าไปเรียนรู้ไตรลักษณ์ของอาการ...อ๋อ เดี๋ยวก็เปลี่ยนๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 

กายเดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็ไหว เดี๋ยวก็นิ่ง เดี๋ยวก็ขยับ เดี๋ยวก็เคลื่อน ...มันก็เห็นอาการเลื่อนไปไหลมา วูบๆ วาบๆ ...นี่ๆๆ มันเห็นไตรลักษณ์แล้ว

ไม่ต้องไปบอกด้วยนะว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ต้องไปบอก...อ๋อนี่เรียกว่าไตรลักษณ์  อ๋อ นี่เรียกว่าเคลื่อน ขยับ อย่างนี้แปลว่าไม่เที่ยงนะ อ๋อ อย่างนี้ปวดแปลว่าทุกข์นะ ...ไม่ต้อง

แต่ให้มันเห็นอย่างนี้ เห็นแบบเฉยๆ รู้เฉยๆ เห็นเฉยๆ ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรด้วย ...แม้แต่ความคิดความจำ ปรุงไปในอดีต ปรุงไปในอนาคต ก็จะเห็นเป็นอาการที่ไหลไปไหลมา เหมือนกันกับอาการทางกาย

เนี่ย ขณะที่มันแยกออก แล้วตั้งมั่นอยู่ที่รู้ มันจะศึกษากระบวนการของไตรลักษณ์ไปในตัว ...เราไม่ต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเลยว่ามันเป็นไตรลักษณ์ตรงไหน

แต่มันเห็นน่ะ มันเห็นคาตา ...เหมือนกับไอ้ใจที่อยู่ข้างในนี่มันมีลูกตาอีกดวงหนึ่งน่ะ ที่มองมัน อ๋อๆๆๆ อยู่อย่างนี้ เห็นมั้ย มันเป็นอย่างนี้ ...เพราะนั้น เป้าหมายของสตินี่คือตรงนี้ 

ไม่ใช่ไปแยกแยะแจกแจง หรือไปจับว่าสภาวะนี้คืออะไร นั่นคืออะไร ที่มาที่ไปของมันคืออะไร ทำยังไงมันถึงจะดับไปเร็วๆ ทำยังไงถึงจะไม่เกิดมาอีก 

หรือทำยังไงถึงจะให้สภาวะนี้เกิด ทำยังไงถึงจะให้สภาวะนี้จะไม่เกิด ...ไม่ใช่ประเด็นนะ ไม่ได้จงใจเข้าไปครอบครองหรือหมายมั่นในอาการใดๆ ทั้งสิ้น

แต่เป็นสติเพื่อกลับมาเรียนรู้อาการตามความเป็นจริงของมัน ว่าอาการคืออะไร ...อาการคืออาการ ...กายเวทนาจิตธรรมจริงๆ คืออาการ

ถ้าเรียกเป็นภาษาสมมุติบัญญัติโดยรวม...ก็เรียกว่าอาการ เป็นอาการหนึ่ง หรือว่าสิ่งหนึ่ง something eles แค่นั้นเอง

มันไม่ได้มีชีวิตหรือเลือดเนื้อเชื้อไข เป็นตัวเป็นตน เป็นใคร เป็นของคนนั้นคนนี้ ของเรา ของใคร ...มันไม่เป็นอะไร มันเป็นกลาง เห็นมั้ย พอแยกออก รู้ ...ก็เป็นของมันสักแต่เท่าที่มันมี..เท่าที่มันเป็น

แต่ถ้าเบื้องต้นยังไม่ยอมแยกออกหรือว่าสติยังไพล่ออกไปจับต้อง ไปใคร่ครวญ ไปทำรายละเอียด ...สู่รู้น่ะ มันรู้แล้วออกไป เขาเรียกว่าส่งออกไป

มันออกไปตามอะไรล่ะ ...ออกไปตามอำนาจของตัณหา แล้วเรายังไม่รู้ตัวเลย กลับสนับสนุนเพิ่มเติมหารายละเอียดกับอาการ...ที่มาที่ไปของมัน

โดยเปรียบเทียบอันนั้นอันนี้  เปรียบเทียบจากอดีต เปรียบเทียบกับอนาคต เปรียบเทียบจากที่ได้ยินได้ฟังมา เปรียบเทียบจากโน้นนี้ ...มันยิ่งไหลออกๆๆ  ยิ่งออกไกลจากใจผู้รู้มากเท่าไหร่ ยิ่งหลงมากเท่านั้น 

แม้จะเป็นสังขารธรรม หรือเข้าใจว่ารู้เห็นอะไรก็ตาม หรือเข้าไปครอบครอง หรือมีเป็นสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่งเกิดขึ้นก็ตาม ...ก็ยังเรียกว่าห่างไกลออกจากใจมากขึ้นๆ

ยิ่งไปได้คำสนับสนุนจากบางคนบางพวก ว่าเออดีๆๆ สภาวะอย่างนี้ อาการอย่างนี้ใช่เลย ...มันยิ่งเกิดความยึดมั่นถือครองสภาวธรรมนั้นๆ ว่าเป็นของเรา ว่าเราทำได้ ว่าเป็นธรรม

ทั้งๆ ที่ว่ามันเป็นแค่สังขารธรรม การปรุงแต่งของจิตอาการหนึ่งเท่านั้นเอง ...แต่เราจะไม่เห็นเลยว่ามันเป็นอาการหนึ่งหรือสังขารธรรมหนึ่ง...ถ้าไม่มีใจกำกับ

เพราะนั้นต้องมีสติระลึกรู้ ...พอระลึกรู้ปุ๊บ อ้อ มันเป็นแค่อาการ ...ทันทีเลยนะ แค่มีการระลึกรู้ขึ้นน่ะ มันจะแยกเป็นสอง...สิ่งที่ถูกรู้กับรู้ ทันทีเลย 

แล้วอยู่ที่รู้ ...อดหน่อย อดใจหน่อย เพราะว่ามันอยากน่ะ อยากจะเข้าไปดึงมาเป็นสมบัติส่วนตัว อยากจะโอบอุ้มประคับประคอง อยากจะมากอดก่าย หรือไม่ชอบ อยากให้มันไม่มีอะไร อย่างนี้

นี่เขาเรียกว่าส่งออกทั้งสิ้น ...ก็ต้องรู้อีกๆๆ จนอยู่ที่รู้อย่างเดียว ...เมื่อทำบ่อยๆ สภาวะรู้นี่จะตั้งมั่นขึ้น นี่ถึงเรียกว่าศีลสมาธิปัญญาเริ่มสมดุลแล้ว

ถ้ามันสมดุลนะ หรือว่าศีลสมาธิปัญญาเริ่มสมดุลกัน มันจะแยกกันอย่างนี้ อาการ..แล้วก็รู้ ...เพราะนั้นตัวนี้มันจะอยู่ด้วยภาวะปกติ ปกติคือศีล สมาธิคือตั้งมั่น

ตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ เห็นทั้งสองอาการคู่กัน นี่เรียกว่าจิตตั้งมั่น ...แล้วก็เห็นอาการนี้โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง นี่เรียกว่าปัญญา เนี่ย มันจะสมดุลกันมันถึงจะอยู่เป็นอาการแล้วก็รู้..ตลอด

แต่คราวนี้ว่ามันอาจจะไม่มั่นคง มันไหลไปไหลมา ...ตรงนี้เราก็ต้องมาศึกษาสำเหนียก แยบคาย ทำความแจ้ง ว่าทำไมมันออกไป มันออกไปเพราะอะไร

ดู ...ไม่ต้องคิดนะ รู้เห็น ให้ทันๆ  มันออกไปตอนไหน มันเริ่มออกตอนไหน จุดเริ่มต้นของการออกคืออะไร ไปยังไง ...เราให้กำลังกับมัน หรือมันออกไปตามสันดาน

นี่ มันมี ...บางทีมันออกมาตามอนุสัยสันดาน แต่บางทีมันไม่ออกตามอนุสัยสันดาน  มันอยู่เฉยๆ แล้วเราไปอยากให้มันมีมันเป็นเอง...อย่างนี้ก็มี 


(ต่อแทร็ก 2/28  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น