วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/29 (3)


พระอาจารย์
2/29 (530918B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/29  ช่วง 2

โยม –  พระอาจารย์แล้วจุลโสดาบันมีไหมฮะ

พระอาจารย์ –  ก็เป็นภาษาพูดกันไป 

เพราะนั้นพระอนาคามั่วก็มี...คือเข้าไปเพ่งและรักษาภาวะสงบ ที่ว่าง ...พวกนี้จะเข้าไปสู่นิพพานเหมือนกันคือนิพพานดิบ นิพพานที่เป็นภพ...เพราะจงใจ ไม่ใช่ธรรมชาติของใจ

เพราะนั้นถ้ามีสติระลึกรู้ปุ๊บ มันจะแยกออกทันที เหลือใจผู้รู้ ออกมา ถอนออกมาๆ ...มันยังต้องมีน่ะที่สิงอยู่ตรงนั้น เพราะตรงนั้นจะไม่ใช่ใจหมดเลย มีใจอีกดวงนึงปรากฏอยู่ตลอด

แล้วใจดวงนั้นน่ะ จึงจะดับของมันเอง...ตรงนี้ถึงเรียกว่ามัคคญาณ หรือมรรคจิต หรือมรรคสมังคี ...ถึงภาวะนั้นนี่ มันแจ้ง มันจะแจ้งใจเลยน่ะ ว่าไม่ถูกหลอก

เพราะอาการว่าง เบา ขุ่น หมอง ผ่องใส ยังมีขึ้นๆ ลงๆ นะ ...แต่ใจไม่มีขึ้นไม่มีลงนะ ใจรู้ไม่มีขึ้นไม่มีลงนะ ใจไม่มีเกิดไม่มีดับนะ ใจเป็นอมตะธาตุอมตะธรรมนะ เมื่ออยู่ในขันธ์

แต่จะเห็นใจดับต่อเมื่อเข้าสู่มัคคญาณหรือโคตรภูญาณ ข้ามโคตร เปลี่ยนนามสกุล จากแซ่ปุถุชนเป็นแซ่อริยะ เขาเรียกว่าข้ามโคตร ไปเห็นความเป็นสุญโญ ความดับโดยสิ้นเชิงของใจ ...ใจรู้

แต่อย่างที่เราบอกตั้งแต่ต้นไงว่ามันขณะเดียวเท่านั้นเอง ...เหมือนฟ้าแลบ พั้บ ขยายปั๊บ..รวมเลย นั่น ...แล้วก็จนกว่ามันจะหมดวาระก็...สี่ครั้ง

สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ยะทิทังจัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัตถะ ปุริสบุคคลา...ยะทิทังจัตตาริ บุรุษคู่สี่ บุรุษแปด คู่สี่ นิพพานหนึ่ง

ท่านเปรียบไว้โดยสมมุติบัญญัตินะ ในการเข้าเกิดมัคคญาณมัคคจิต จะเข้าไปยะทิทังจัตตาริ คู่สี่ อัตถะ ปุริสบุคคลา ..บุคคลแปด 

อริยโสดามรรค...โสดาผล  อริยสกิทาคามรรค...สกิทาคาผล  อนาคามรรค...อนาคาผล อรหัตตมรรค...อรหัตตผล

แต่โสดามรรคโสดาผลเกิดแค่ขณะเดียว คนที่เข้าไปเห็นและดับพั้บ ...ขณะนั้น ขณะที่เห็นน่ะเป็นโสดามรรค ดับพั้บ...ขึ้นมาปั๊บโสดาผลเกิดเลยเหมือนกัน 

นี่ เป็นคนเดียวกัน แต่จิตคนละดวง ...เพราะนั้นจะถามว่า จุลโสดา...มันอยู่ตรงไหนวะ 

แต่ว่าในการที่เราอยู่ที่ใจ แล้วเห็นเกิดดับบ่อยๆ  เราไม่ต้องไปสนใจเลย ไม่ต้องเอาบัญญัติหรือสมมุติไปว่า รู้อย่างเดียว 

มันจะดับถึงขั้นไหน มันจะเป็นดับของสมุจเฉท จะเป็นดับถึงมัคคญาณ หรือจะดับในแง่ของไตรลักษณ์ ...ช่างหัวมัน รู้ลูกเดียว


โยม –  ที่โยมถามเรื่องจุลโสดา ไม่เคยรู้มาก่อน รู้แต่โสดาบันอะไรอย่างนี้  ทีนี้ฟังซีดีก็...เอ๊ เราก็ถามตัวเองมันมีด้วยเหรอจุลโสดา

พระอาจารย์ –  มันเป็นภาษาเขาเรียกกันไป คือความเกิดดับในใจ ....แต่ว่าเป็นการเกิดดับที่ยังไม่ถึงขั้วของใจ คือไม่เข้าไปดับเป็นสมุจเฉทด้วยวิชชาภายในที่เป็นมัคคญาณ

เพราะนั้นในการเข้ามัคคญาณนี่มันเข้าไปดับ ล้างอวิชชาในระดับหนึ่ง ควอเตอร์หนึ่ง พั้บๆ สี่ระดับ ลงไปพั่บ...ความมืดนี่หายไประดับหนึ่ง

อย่างสมมุติลงไปนี่ ความมืดแบ่งเป็นสี่ระดับ ...พอเข้าไประดับมรรคญาณ มรรคจิต แล้วพั้บปึ๊บนี่ มันจะสว่างขึ้นมาหนึ่งในสี่ ...ใจดวงนั้นน่ะ ใจรู้นั้นน่ะ

พอลงมรรคญาณมรรคจิตอีกปุ๊บนี่ อีกหนึ่งส่วนสี่หายไปเหลือครึ่งหนึ่ง สว่างขึ้นมาอีกครึ่งนึง นี่ ความแจ้งใจ

แต่ความรู้สึกที่เรารับรู้ก็คือใจรู้อันเดิมนั่นแหละ แต่ว่าความบางเบาของอวิชชาอาสวะจะน้อยลงไป เป็นเหมือนกับความมืดหรือความแจ้ง

พอถึงอนาคานี่เหลือแค่ส่วนเดียว หนึ่งในสี่ มันสว่าง ใจรู้นี่มันรู้แบบข้างในมันไม่มีอาสวะ เหลือนิ๊ดเดียว คือหนึ่งในสี่

แต่ถ้าปุถุชนต่ำกว่าโสดามานี่ มืดกับมืดกับมืดกับมืด แล้วก็มืดมากขึ้นๆๆ มันไม่มีน้อยลง ถ้ายังไม่เข้าถึงใจ

เพราะนั้นแค่เราเข้าไปแตะถึงใจ เข้าไปหยั่งถึงใจ เข้าไปน้อมรู้ระลึกรู้อยู่ที่ใจ แค่นี้ ถือว่าขัดเกลาแล้ว ทำความแจ้งอยู่ภายในแล้ว ...แต่ยังไม่แจ้งถึงขั้นเข้าไปล้างหรือไปลบโดยสิ้นเชิง

เมื่อลงมรรคญาณนี่คือหมายความว่า ถ้าเป็นโสดาบัน...ออกไปหนึ่งในสี่แล้วนะ จะไม่มีคำว่ากลับมามืดอีก

แต่ของพวกเรานี่ลงไปหยั่งถึงแล้ว เดี๋ยวก็ปัดๆๆๆ  เดี๋ยวก็เก็บๆๆๆ นี่ยังมีโอกาสมืดต่อ เข้าใจมั้ย ปุถุชน นักปฏิบัติเริ่มต้น ยังมีโอกาส 

แต่ถ้าปัดไปเรื่อย ขยันปัด ให้มากกว่าขยันเก็บ ...ขยันรู้ให้มากกว่าขยันหลง เข้าใจมั้ย นี่คือปัดออกๆๆ

เหมือนกระดาษทรายน่ะ กับสนิมเกาะเหล็ก ก็ขัดๆๆ ... อย่าทิ้ง ทิ้งเดี๋ยวสนิมเกาะใหม่ ทิ้งอีกสนิมเกาะอีก ...เผลอ เพลิน หลง หาย หรือไปใส่ใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไร้สาระ 

ในสภาวธรรม ในสภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ ไปทำให้มันมี ให้มันเป็น  เอาเป็นเอาตายกับอาการนั้นอาการนี้ ...คือการปล่อยใจให้ละเลย ไม่เข้ามาหยั่ง ไม่เข้ามาขัดเกลาภายในใจ หรือทำความแจ้งภายในใจ

เพราะนั้นการทำความแจ้งภายในใจ มันไม่มีวิธีการอะไรเลย นอกจากสติและสัมปชัญญะหยั่งเข้ามาถึง ตัวนี้ ตัวสติและสัมปชัญญะเป็นตัวขัดเกลา

ศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ตรงนี้ เป็นตัวขัดเกลาโดยตรง ...ศีลคืออะไร ศีลคือปกติ สมาธิคืออะไร ตั้งมั่นอยู่ที่นี่ ปัญญาคือเห็นเฉยๆ รู้เฉยๆ เป็นกลาง เห็นความจริงที่มันปรากฏแค่นั้น มันขัดไปในตัวอยู่แล้ว

แต่มันลูบเบาๆ นะ มันไม่ใช่ไปตัด มันไม่ใช่ไปหัก ไม่ใช่ไปล้างแบบเหมือนกับซักผ้าเอาคราบสกปรกออกเดี๋ยวนั้น ...มันเป็นการค่อยๆ ลูบออกๆ ทีละนิดทีละหน่อย ด้วยความเพียร

อาจจะดูเหมือนไม่ได้อะไรเลยในขณะที่ทำ บอกให้เลย อย่าใจร้อนไง ถึงบอก อย่าใจร้อน ...น้ำหนักของปัญญาวิมุตติน่ะเป็นแค่ขณิกะ ทีละนิด ทีละอณู 

แต่มันจะมีความอยากที่จะเอาแบบให้ได้ผลไวๆ ซึ่งจะมีหลายครูบาอาจารย์ที่จะเน้นว่า ทำอย่างนี้แล้วถึงจะขาดโดยสิ้นเชิง โดยวิธีการอย่างนั้นอย่างนี้

แล้วพวกนี้มันจะเข้ามากินใจเรา ในวิธีการที่มันแตกต่างและน่าจะดีกว่า ...เพราะเราดูอย่างนี้ ไม่เห็นจะมีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่รู้อะไร ไม่ได้ละอะไรเลย

แต่เราเสนอแนะ และแนะนำว่าวิธีการนี้เหมาะที่สุดสำหรับทุกคน ...ไม่ยาก-ไม่ง่าย ไม่ช้า-ไม่เร็ว อยู่ที่ความเพียรเพียงพอ

แต่วิธีการอื่น ก็ไม่ใช่ไม่ได้...แต่ยาก ใช้เวลา ใช้กำลัง ใช้ความสามารถส่วนตัวอย่างยิ่ง ไม่ใช่เป็นสาธารณะ..เป็นจำเพาะๆๆ ไม่เปิดกว้าง ไปแบบแบกๆ หามๆ มันต้องใช้กำลังอย่างยิ่ง

ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องมีเครื่องเคียงน่ะ เหมือนเมี่ยงคำน่ะ ใส่อย่างเดียวก็ไม่อร่อย มันต้องครบสูตรใช่ป่ะ ขาดนู่นนิดขาดนี่หน่อย มันรสชาติมันไม่แซ่บ ไม่ม่วน ไม่ลำ เงี้ย 

แต่ลักษณะของปัญญาวิมุตตินี่  ไปแบบไม่มีเครื่องเคียง ไปแบบดื้อๆ ทื่อๆ ...ยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ กินได้หมดแหละ ทุกอารมณ์ทุกสภาวะ ไม่ว่า ไม่เลือก

ไม่มีปฏิฆะไม่มีราคะกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง สภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ไม่มีความแตกต่างแปลกแยก หรือว่าได้ หรือไม่ได้...คือไม่มีเงื่อนไข  เห็นมั้ย ไม่เลือก

ซึ่งมันจะเหมาะกับอย่างเนี้ยยยย  เพราะเราทำไม่ได้...ในลักษณะที่ต้องเลือกต้องมีเครื่องเคียงเยอะๆ ...อายุก็ปานนี้แล้วแต่ละคน หือ กว่าจะตะล่อมจิตให้สงบนี่ เฮ่อ เอากี่ปีดี

กว่าจะตะล่อมให้จิตมันอยู่ในองค์ของวิปัสสนาญาณ วิปัสสนากรรมฐาน นี่อีกเท่าไหร่ล่ะ ...กว่าจะพิจารณาอยู่ในกายจนกว่าจะแจ้งในกายด้วยการพิจารณานี่เท่าไหร่ล่ะ


โยม –  ท่านอาจารยคะ ไม่ต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธินี่ มันมีสิทธิที่จะไปถึงสูงสุดได้ไหมฮะ

พระอาจารย์ –  เข้าใจมั้ย เมื่อกี้ฟังที่เราบอก ที่เราน้อมมาตลอดเวลาด้วยขณิกะ ไปเรื่อยๆ นะ ...จนจิตมันแยก ใจนี่มันแยกออกจากกายโดยเด่นชัดแล้ว

ใจตรงนี้มันจะรวมตัวของมันเอง มันจะรวมด้วยกำลังของสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ ...เมื่อถึงวาระที่จิตจะลงมรรคสมังคี พวกนี้จิตมันจะรวม...ถึงขั้นอัปปนาของมันเอง เข้าใจมั้ย

แล้วเป็นสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ คือไม่ได้จงใจ ...มันต่างกับความหมายที่โยมกำลังพูดว่าต้องได้อัปปนาสมาธิก่อน คือการจงใจ...เพราะฉะนั้นสมาธิเช่นนั้นจึงยังเป็นมิจฉาสมาธิอยู่


โยม –  มันเหมือนตั้งหน้าตั้งตาทำให้เขาได้ตรงนี้

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ไอ้ตรงที่ “ตั้งหน้าตั้งตาทำ” เนี่ย คือมันทำออกไป...ไม่ได้ทำเข้ามา ไม่ได้น้อมกลับเข้ามาเลย ขาดการโอปนยิโก

เพราะฉะนั้น จิตมีอยู่สองอย่างคือ หนึ่ง โยนิโสมนสิการ  เคยได้ยินมั้ย โยนิโส...น้อมกลับเข้ามาด้วยความแยบคาย มนสิการภายใน

กับอีกอย่างหนึ่งคือ มมังโส ...มมังโสแปลว่าส่งออกไป ...เพราะนั้นลักษณะของสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ต้องเกิดจากจิตมมังโส

ออกไปทำ ออกไปอยู่กับบริกรรมนิมิต ออกไปอยู่กับรูป ออกไปอยู่กับนามที่ตั้งขึ้นมาเป็นนิมิต แต่ว่าให้นิมิตนั้นเป็นเอกัคคตาจิตเอกัคคตารมณ์ ไม่ให้แส่ส่ายออกไปนิมิตอื่น

พุทโธต้องพุทโธ ลมต้องลม กายต้องกาย ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เลือดเนื้อเชื้อไข การพิจารณาอสุภะต้องเป็นอสุภะอย่างเดียว ไม่เป็นราคะหรือสุภะ

อย่างนี้เรียกว่าเป็นเอกัคคตารมณ์ หรือว่าจนกว่าจะเป็นเอกัคคตาจิต ...แต่ว่ามันส่งออกตลอด ตรงนี้เขาเรียกว่ามมังโส  ส่งออกจนจิตรวม ไปรวมกับนิมิตนั้น

จิตกับนิมิตรวมกัน ถึงจะเรียกว่าเป็นอัปปนาก็ตาม ขณิกะก็ตาม ฌานก็ตาม หรืออะไรก็ตาม ...มันออกไปรวมภายนอก นอกใจ ถึงจะเรียกว่าสมาธิโดยภาษา แต่ก็ยังขึ้นชื่อว่ายังอยู่ในขั้นของมิจฉาสมาธิ

เพราะออกนอกใจ ...ยังไม่เป็นสัมมาโดยตรงนะ แต่เป็นอุบายด้วยการมมังโสออกไป...ก็มมังโสไปแค่กาย...ตัวเองนะ  ไม่ไปมมังโสถึงกายคนอื่น

แต่ว่าปุถุชนทั่วไป...มันมมังโสทั่วจักรวาล เข้าใจมั้ย มันไม่มีข้อห้ามเลย มมังโสไปถึงอดีต-อนาคต เรื่องราว บุคคล เหตุการณ์ต่างๆ เรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ 


(ต่อแทร็ก 2/29  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น