วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/29 (1)


พระอาจารย์
2/29 (530918B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น 4  ช่วงบทความ)

โยม –  สมมุตินะคะท่านอาจารย์  สมมุติคนๆ นึงนี่ ตอนที่มีชีวิตอยู่ขยะแขยงจิ้งจกมากเลยนะคะ ทีนี้ วิบนึงขณะที่จิตจะดับ จิ้งจกมันร้องจิ๊กๆๆ ขึ้นมา จิตเขาไปตรงจิ้งจกนิดนึงนี่ เขาสามารถไปตรงนั้นได้มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ในลักษณะอย่างนี้ เหตุปัจจัยเป็นใหญ่...เหตุปัจจัยโดยรวมเป็นใหญ่นะ ...ในขณะที่จิตวิบไปขณะนั้น..เล็กน้อยมาก 

คือไม่ได้ออกไปหมายมั่นแบบเอาเป็นเอาตาย มันไม่ได้หมายมั่นเป็นยินดียินร้ายแบบ...โอ้โหย เอาเป็นเอาตาย ...ถ้าอย่างนั้นน่ะถึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้พาไปเกิดเลย

แต่ลักษณะนี้เป็นเหตุปัจจัยเล็กๆ มันไม่เท่ากับเหตุปัจจัยประกอบโดยองค์รวมที่เคยทำมา เข้าใจมั้ย  เพราะว่าในการที่ว่าแม้จะวิบไปวิบมาเป็นอาการขณิกะแค่นี้เอง ไม่ได้หมายมั่นสำคัญ

ไม่เหมือนคนฆ่าวัวฆ่าควายฆ่าไก่ จิตก่อนตายนั่นมันไม่วิบนะ มันไปอยู่เลย เข้าใจมั้ย มันถอนไม่ออกเลย ถ้าอย่างนั้น เหตุปัจจัยมันพาไป หมายมั่นมาก แรง...อย่างนั้นมันแรง

แต่ถ้าลักษณะอย่างนี้มันห้ามไม่ได้ เป็นเหตุปัจจัยที่ห้ามไม่ได้ ...แต่ว่าต้องอาศัยเหตุปัจจัยโดยรวมจึงจะพาไป ...เพราะงั้นไม่มีอะไรหรอก ไม่เป็นไร กลับมาเป็นคน ไม่ไปเป็นจิ้งจกหรอก (เสียงโยมหัวเราะ)

หรือถึงเป็นจิ้งจกก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวแวบเดียวก็ตาย ก็มาเกิดเป็นคน ไม่ต้องกังวล (หัวเราะกันใหญ่) ...เป็นจิ้งจกไม่กี่อาทิตย์หรอก หมดอายุขัย เดี๋ยวก็ตายแล้ว

ก็ไปใช้กรรมอันนั้นไป นี่ ถ้าถึงกับไปจริงๆ อ่ะนะ ไม่ต้องกังวล แล้วก็กลับมาเป็นคนที่ประกอบเหตุปัจจัยใหญ่ไว้ของการเจริญสติ ...แต่จริงๆ น่ะมันไม่ไปหรอก

เพราะนั้นเวลาใกล้ตาย อย่าไปอยู่ที่เวทนานะ...ให้อยู่ที่ใจนะ  คือรู้ว่ามีเวทนาแล้วอยู่ที่รู้นะ อย่าไปเอาชนะมัน


โยม –  จะไม่ไปดูตรงอาการเขาเลย

พระอาจารย์ –  มันไม่ดูไม่ได้ คือมันยังไงก็แทรก


โยม –  มันยิ่งดูยิ่งเจ็บ

พระอาจารย์ –  ใช่ ถ้าออกไปยิ่งเจ็บ ถ้าอยู่ที่รู้เจ็บน้อยลง...คือจริงๆ มันเจ็บเท่าเก่านะ แต่ความรู้สึกมันเจ็บน้อยลง ...แต่ว่าถ้ายังเพียรเพ่งลงไป และตัวรู้ไม่เด่นชัดขึ้นมา ไม่รู้..ไม่อยู่ที่รู้นะ ...เจ็บ


โยม –  บางขณะมันจะไม่รู้สึกเจ็บเลย

พระอาจารย์ –  เออ


โยม –  คือจะจำลองเวลานอนแล้วเราหายใจไม่ค่อยออกเพราะว่าหวัดลงคอนี่นะคะ แล้วมันหายใจไม่ออกเลย เราก็จำลองว่าเราใกล้ตายแล้วอย่างนี้นะคะ ขณะเนี้ยมันหายใจไม่ออก

พระอาจารย์ –  ใครเป็นคนว่า หายใจไม่ออก


โยม –  ณ ขณะที่เราป่วย เราคิดว่านี่ เราน่ะหายใจไม่ออก

พระอาจารย์ –  ก็ “ใคร” ว่า .. “ใคร” หายใจไม่ออก


โยม –  ทีนี้พอดูจิตเราขณะนั้นน่ะฮ่ะ ว่าเราทุรนทุราย

พระอาจารย์ –  “ใคร” ทุรนทุราย


โยม –  ใครทุรนทุราย ?...เราก็คิดว่า “เรา” อะไรประมาณนั้นน่ะค่ะ  ก็เราใช่ไหมฮะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้กลับมาตรงนั้น ให้กลับมาอยู่ที่ “ใคร” กำลังทุรนทุราย


โยม –  ให้กลับว่ามันมีตัวเราน่ะเหรอฮะ

พระอาจารย์ –  เออ


โยม –  เพราะอะไรฮะอาจารย์

พระอาจารย์ –  เอ้า ตรงนั้นแหละ ใจอยู่ตรงนั้นแหละ


โยม –  ใจจริงๆ มันไม่มีที่อยู่ไม่ใช่หรือฮะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มันไม่มีหรอก ...แต่ว่าใครล่ะที่รู้อยู่น่ะ ใครที่เป็นคนรู้ว่าทุรนทุราย ตรงนั้นแหละที่ตั้งของใจ เข้าใจมั้ย


โยม –  อ๋อ

พระอาจารย์ –  แต่ว่าเบื้องต้นน่ะ ถ้าตอนขณะนี้ เวลาเราถอยกลับมาตรงจุดนั้น มันจะกลายเป็นใจเราอยู่ เข้าใจมั้ย มันยังเป็นใจของเรา ตรงนั้นแหละ...ไม่ต้องกลัว ใจเรา อยู่กับมันก่อน

เพราะเรายังมีความหมายมั่นในใจเป็นของเรา มันก็เป็นความรู้สึกว่า เรา..ใจเรา แล้วเรากลัว เราหนีจากมัน จะไปทำลายมัน ...ทำลายไม่ได้

กลับมาอยู่ตรงนั้น...ตรงใจเรา ...จนกว่ารู้ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเห็นว่าใจเราไม่ใช่ใจเรา มันเป็นแค่ใจรู้  ไม่มีเราในใจ...ไม่มีใจในเรา


โยม –  ก็คือผู้รู้ใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง  แต่เวลาเรากลับมาบางขณะเราจะเห็น เอ้ย มันเป็นตัวเราอีกตัวนึงนี่


โยม –  ใช่ฮ่ะ ใช่

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้อยู่ตรงนั้นแหละ นั่นแหละใจ ที่ตั้งของใจ เบื้องต้นเป็นที่ตั้งของใจไว้ก่อน ...ตรงนั้นน่ะ คือผู้เสวยน่ะ แต่ว่ามันยังมีความเห็นว่าเป็นเราปิดบังอยู่ในใจ เข้าใจมั้ย

แล้วดูอยู่ตรงนั้น อยู่ที่เรานั่นแหละ แล้วจะเห็นว่ามันไม่มีเรา จริงๆ ไม่มีความเห็นว่าเป็นเราเลย เป็นใจรู้เฉยๆ แล้วมันจะทำลายความเป็นเราในใจออกไป

เพราะนั้นในเบื้องต้นน่ะ ที่กลับมาที่เรา ใจของเรา...มันจะไม่เห็นกายเป็นของเราก่อน เข้าใจมั้ย ไม่ใช่มันจะมาเป็นแบบ..ไม่เห็น "กายของเรา" แล้วจะไม่เห็น "ใจของเรา" เลยด้วย

เบื้องต้นต้องละทางกายก่อน "กายของเรา" ...แต่มันยังมี "ใจของเรา" ไปรู้กาย


โยม –  เพราะตอนที่เจ็บนี่ มันเหมือนเราไม่มีกายแล้วนะคะ ใจมันไปรับรู้ นี่อิชั้นเจ็บ อิชั้นหายใจไม่ออก

พระอาจารย์ –  เออ ให้อยู่ตรงนั้น...ตรง "อิชั้น" นั่นแหละ ตรงนั้น ตามกำลังของสติปัญญา ให้อยู่ตรงนั้น อย่าไปเพ่นพ่าน ...เห็นมั้ย มันมีอยู่ตัวเดียว ตัวเรานั่นแหละ

กลับมาอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องกลัวๆ ...ตรงนั้นน่ะดีที่สุดแล้ว เป็นตัวที่อยู่ของปัญญา  ดีไม่ดีขณะนั้นน่ะ ถ้ากลับมาอยู่ที่เราเยอะๆ  พอถึงจุดๆ นึงมันอาจจะดับไปเลยก็ได้ ใครจะไปรู้

แต่ตรงนั้นน่ะคือที่ที่เกิดมรรค ตรงนั้นน่ะเป็นที่ที่เกิดญาณ ตรงนั้นน่ะเป็นที่ที่เกิดนิพพาน ตรงนั้นน่ะเป็นที่ที่เข้าไปสู่ความเป็นนิพพาน

ถ้าไปอยู่ตรงนั้น ตรงโน้น ตรงนู้นๆๆ ไม่มีทางเลยนะ...มันคือภพๆๆ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ทั้งสิ้น  อย่าไปใส่ใจมัน ...อยู่ที่เรา ใจเรา อย่างน้อยให้เป็นใจ...ก็เป็นใจเราก่อน

ใจนี่ เหมือนคนที่เล่นว่าวล้านตัวก็ได้ เพราะมันถืออยู่คนเดียว...มีคนถืออยู่คนเดียวมือเดียว แต่ว่ามันจะถือล้านเชือกก็ได้ ...แต่ว่าเวลามันเล่น มันจะเล่นทีละเชือก

เพียงแต่ว่าเวลามันเล่นทีละเชือกนี่มันสลับกันเร็วมากๆ  พึบๆพับๆ ด้วยความชำนาญ ...จนดูเหมือนกับว่ามันเล่นพร้อมกันล้านเชือกอย่างนั้น แค่นั้นเอง

แต่ข้อสำคัญคือว่าเราไม่ไปสนใจเชือกกับว่าว เราสนใจว่า...ใครถืออ่ะ ตีกบาลมันให้ตาย เดี๋ยวว่าวตกเอง ...ตรงนั้นใจ กลับมารู้ที่ใจ แม้จะเป็นใจเรา ก็อยู่ตรงนั้น

จนกว่าจะเห็นเป็นใจรู้ จนกว่าจะเห็นว่าเป็นรู้ จนกว่าจะเห็นว่าไม่มีรู้ ...ไม่สนอ่ะ ตอนไหนไม่ต้องสนใจ ไม่สนใจวิธีการ ไม่สนใจการกระทำใดๆ เอาสติสัมปชัญญะรู้ตรงนั้นที่เดียวเท่านั้น

ไม่ออกนอกรู้ ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องลังเล ...มันจะสงสัยนั่น มันจะลังเลนี่ มันจะได้มั้ย จะใช่มั้ย จะถูกมั้ย จะทำแค่นี้จะพอมั้ย เออ ต้องทำยังงั้นก่อนอีกมั้ย ต้องไปรู้เข้าใจอันนั้นอันนี้..ไม่เอา รู้อย่างเดียว

อยู่ตรงนี้ เป็นตายขายขาด อยู่ที่นี้ที่เดียว...เอาดิ โง่ก็โง่ ไม่ไปก็ไม่ไป กูจะอยู่ที่รู้นี่ ตั้งมั่นลงไปในที่อันเดียว ...อย่างน้อยก็ไปนิพพาน อย่างมากนี่ไม่รู้นะ(โยมหัวเราะ)

แต่ว่าที่อย่างน้อยนี่ เพราะพระพุทธเจ้าการันตี...ยังไงๆ ถ้าอยู่ตรงนี้ ไม่มีที่อื่นเลย เป็นที่สุดของตรงนี้ ที่สุดคือเข้าสู่ความดับไปโดยสิ้นเชิง บอกให้เลย

จะเข้าสู่นิโรธสมาบัติ หรือนิโรธทุกข์ หรือนิโรธธรรม ก็ต้องเข้าที่ใจ อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่อื่น ...ใครบอกว่ายังงั้นดีกว่า อย่างงู้นดีกว่า การกระทำนั้นการกระทำนี้ มันเป็นแค่อาการหรือเจตนา จงใจ ทั้งสิ้น


(ต่อแทร็ก 2/29  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น