วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/28 (4)


พระอาจารย์
2/28 (530918A)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/28  ช่วง 3


โยม –  ก็ต้องน้อมเข้ามา

พระอาจารย์ –  ตลอดเวลาเลย จริงๆ


โยม –  แค่ขณิกสมาธิก็ได้เลยใช่ไหม

พระอาจารย์ –  ใช่แล้ว เมื่อสมมุติว่าโยมน้อมบ่อยๆ จนสติตั้งมั่น มั่นคงแล้ว...แล้วเหลือแต่ดวงใจผู้รู้กับอาการแค่นี้ 

จากนั้นไป การที่อยู่ที่ใจผู้รู้ แล้วเห็นอาการอย่างนี้ต่อเนื่อง เรียกว่าสมาธิมันจะตั้งมั่นขึ้นๆ ...ตรงเนี้ย มันจะเข้าไปสู่มรรคญาณ และมรรคจิต มีการรวมภายในของมันเอง 

อันนี้เราไม่ได้ทำแล้ว ไม่ได้จงใจแล้ว ...มันอยู่ของมันด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญาที่สมดุลหรือสมังคี เป็นกลางอยู่ภายใน

จิตมันก็จะรวมๆๆ รวมฐาน ลงสู่ฐานเดิมของใจ เข้าไปละ เข้าไปจนถึงมรรคญาณภายในของมันเอง ด้วยการที่รู้แล้วต่างคนต่างอยู่อย่างนี้ ...นี่ มันรู้แล้ววางนะ 

ไอ้รู้ปกติ ไม่ข้องเกี่ยว ไม่มีตัณหาอุปาทานนี่ มันรู้ มันเห็นอย่างนี้ มันวางไปในตัวนะ ...ดูเหมือนเราไม่ได้ทำอะไร แต่จิตมันไม่ออกมาเกาะเกี่ยว 

ตรงนี้เรียกว่ามันอยู่ด้วยศีลสมาธิและปัญญา ที่เป็นมัชฌิมา กลมกลืนและสมดุล

และระหว่างอยู่อย่างนี้ มันจะเป็นการบ่มอินทรีย์พละ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็จะเกิดในที่นี้ ในใจนี้ลงไป โดยที่ไม่มีใครกระทำ

แต่ด้วยสภาวธรรมที่เป็นกลาง ด้วยจิตอยู่ในองค์มรรค เจริญอยู่ในมรรคตลอดสาย  มันจะเข้าไปรวมด้วยตัวของมันเอง ...รู้ละๆ ด้วยอาการปกตินี่แหละ มันรู้ละไปในตัว

บ่มไปเรื่อยๆ ไม่ต้องถามอดีต ไม่ต้องถามอนาคตว่าเมื่อไหร่ ...เดี๋ยวมันก็ถามอีกว่าเมื่อไหร่มันจะหาย เมื่อไหร่มันจะแจ้ง เมื่อไหร่มันจะหมด จะพ้น เมื่อไหร่มันจะหมดงาน เมื่อไหร่ที่จะต้องไม่ระวัง

อย่าไปสนใจ มันเป็นแค่ความคิด รู้ทัน...วาง ...อยู่อย่างนี้ๆ ขอให้อยู่อย่างนี้ให้ได้เถอะ แค่เนี้ย ถึงเวลาเมื่อไหร่นี่ มันก็...อ้อ พั้บ ลงไปดับของมันเอง ดับยังไงก็เรื่องของมัน

มันก็จะมาเห็นสภาวะใจนี่ที่เป็นสุญโญ คือภาวะใจรู้ ตัวรู้นี่จะดับของมันเอง ...แต่ว่ามันดับแค่นิดหนึ่งนะ ขณะหนึ่ง ดับหาย พั้บ แล้วมันเกิดรู้ใหม่ กลายเป็นใจรู้เหมือนเดิมนั่นแหละ

เหมือนกับเราโยนหินลงบนบ่อน้ำที่มีจอกแหน พั้บ กระจาย...แล้วก็พั้บ รวม แค่นี้เอง กลับมารวมเป็นใจอีก ...เพราะมันยังไม่สมบูรณ์ มรรคญาณมรรคจิตนั้นยังไม่ถึงที่สุด

แล้วก็จงใจไม่ได้ ...แต่ว่ามันอยู่ได้ มันเกิดได้ ด้วยเหตุปัจจัยแห่งศีลสมาธิปัญญาและมรรคทั้งแปด สงเคราะห์รวมลงเป็นกลาง ณ ที่อันเดียว...คือใจ

ไม่ไปเกิดที่อื่นเลยนะ ไม่ไปเกิดสภาวธรรมนะ ไม่ไปเกิดในความสงบ ไม่ไปเกิดในที่ตั้งของความเห็นนะ...ไม่เกิด ไม่เกิดที่นั่นนะ มรรคญาณมรรคจิตไม่ได้เกิดตรงนั้นนะ

ไม่ได้เกิดที่สภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่งนะ ไม่ได้เกิดที่สุข ไม่ได้เกิดที่ปีติ ไม่ได้เกิดที่ความว่าง ไม่ได้เกิดที่ความเบา ...แต่เกิดที่ใจผู้รู้อยู่ตรงนั้น

ไม่ได้ไปหา ไม่ได้ไปทำอะไรขึ้นมาใหม่ ...แต่เปิดออก ให้มันตื่นขึ้นมา แล้วอยู่กับจิตที่ตื่นนั่นแหละ ใจรู้นั่นแหละ ใจรู้..รู้ใจๆ ใจรู้...แล้วก็พอรู้แล้วก็กลับมารู้ใจ เห็นมั้ย ใจรู้..รู้ใจ

ใจรู้อะไร รู้ทางตา รู้ทางตาแล้วยังไง รู้แล้วก็กลับมารู้ที่ใจ ...เนี่ย เป็นกระจก บอกแล้ว สติปัฏฐานก็เป็นอุบาย สติปัฏฐานก็ยังไม่ใช่หลัก เป็นอุบายเพื่อให้เห็นใจ

สมถกรรมฐาน พุทโธ กำหนดลมหายใจ ก็ไม่ใช่หลัก  พิจารณาซากศพ อสุภกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน เห็นเน่าเปื่อย เห็นอะไรก็ตาม ก็ยังไม่ใช่หลัก

จนกว่ามันจะเห็นใจ...ถึงจะได้หลัก เข้าใจหลัก อ๋อ ทั้งหลายทั้งปวงนี่มันมีแค่สิ่งหนึ่งที่รู้กับรู้...ทั้งโลก...จบ เห็นมั้ย เป็นเรื่องเดียวกันหมด

ไม่ได้มองเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือว่าเรื่องๆๆ เป็นเคสๆๆๆ ...ไม่ใช่  หรือว่าเป็นสมมุติหนึ่งๆ บัญญัติหนึ่งๆ ...ไม่ใช่ ...แต่มันคืออาการเดียวกันหมดแหละ

และอาการนั้นคืออะไร ...อาการนั้นคือไตรลักษณ์ ไม่ได้แตกต่างกันเลย  จึงเรียกว่าเป็นแค่อาการเดียวกันหมด ...ซึ่งหมายรวมถึงทุกสรรพสิ่ง

สรรพสิ่งนี่ไม่ใช่ว่าหมายความถึงในโลกนี้เท่านั้นนะ...แต่ทั้งอนันตาจักรวาล ...เห็นมั้ย แค่รู้อันเดียวแค่นี้ มันจะรู้ทั่วอนันตาจักรวาลได้อย่างไร

ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ออกไปรับรู้เลยว่ามันจะต้องไปรู้ทั้งอนันตาจักรวาลนี่ ...ตาย ถ้าออกไปรู้ ถ้าออกไปทำความแจ้งกับภายนอกเป็นเรื่องๆ นี่นะ  กายนี้เน่าๆๆ รูปนี้เน่าๆ รูปนี้เป็นดินเป็นน้ำยังไง มันแตกยังไง

กว่าจะพิจารณาให้เห็นอย่างนั้น มันต้องเป็นเรื่องเป็นเคสหยิบยกขึ้นมา หรือแม้แต่ว่าด้วยกำลังของสมถะวิปัสสนากรรมฐาน มันอาจจะเห็นทั้งหลายทั้งปวงยกมาแล้วสลายไป

สุดท้ายก็ต้องเห็นความดับไปของนิมิต ...ก็เป็นหนึ่งเดียวกัน รวมกันได้  ต้องเห็นความดับไป เป็นธรรมดา ไม่มีอาการตั้งอยู่ ...มันถึงจะเห็นใจ

เพราะนั้นหลักจริงๆ คือต้องเห็นใจ ต้องอยู่ที่ใจ แล้วต้องละที่ใจ ...ไม่ได้ละที่อื่น  ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาแล้วไปละมัน ไม่ได้สร้างความเห็นใดความเห็นหนึ่งแล้วเข้าไปละในความเห็นนั้นๆ

คือละตั้งแต่เหตุแรกที่เกิดความเห็น มันเกิดที่ไหน...ละตรงนั้น ...ไม่ใช่ออกไปละความเห็น หรือมีความเห็นนี้ตั้งอยู่แล้วก็สร้างความเห็นใหม่มาละมัน...ไม่เอา

ใครเป็นคนละ ใครเป็นคนสร้างความเห็น อยู่ตรงนั้น...อยู่ที่ประธาน  Head quarter มี ...มันมี ใจเป็นใหญ่เป็นประธาน

แต่คราวนี้ว่าพวกเราหาใจไม่เจอ แล้วก็พยายามวิ่งไปหาใจ หรือวิ่งไปสร้างสภาวะ โดยเข้าใจว่าสภาวะนี้เป็นใจ ...หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงว่า คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ จะรู้ก็ต่อเมื่อไม่คิด แต่ก็ต้องอาศัยความคิดน่ะจึงจะรู้

คือมันเป็นกระจกสะท้อนให้เห็น ...อยู่ดีๆ ไปสร้างความรู้ขึ้นไม่ได้  จะต้องมีสติระลึกรู้ขึ้นมาก่อนในฐานทั้งหลาย...กายเวทนาจิตธรรม ฐานใดฐานหนึ่ง

จนมันเกิดแจ้งในสภาวะรู้ในระดับหนึ่ง ที่มันแยกออกว่ากายกับใจ ...แจ้งบ่อยๆ แยกบ่อยๆ แยกออกบ่อยๆ

ทุกสภาวธรรม ทุกอิริยาบถ ทุกอาการ ทุกปรากฏการณ์ มีหมด ...ต้องแยกให้ได้หมดทุกปรากฏการณ์ ว่าอ๋อ มีใจอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง ...แยกออกเป็นใจ

เมื่อแยกออกได้อย่างนั้นแล้วนี่ ต่อไปน่ะ เราสามารถจะน้อมถึงภาวะใจได้ด้วยความชำนาญ ...อันนั้นไม่ได้สร้างนะ แต่มันแค่ระลึกปุ๊บ มันจับภาวะใจได้เลย  เนี่ย เพราะมันชำนาญ...ชำนาญ

ใจมันก็จะอยู่ได้โดยศีลสมาธิปัญญาคุ้มครองตัวมัน สติสัมปชัญญะนั่นแหละ จะอยู่ที่ใจ เป็นตัวคุ้มครองภาวะใจ ให้เกิดสภาวะใจ...เป็นความต่อเนื่อง ไม่หาย ไม่มืดบอด ไม่มัวเมา ไม่หลง ไม่เผลอ ไม่เพลิน

มันตื่นอยู่อย่างนั้น เหมือนลืมตาอยู่ข้างใน มีตาอีกดวงหนึ่งน่ะ...ตาที่สามน่ะ เรียกว่าดวงตาเห็นธรรม ตาธรรม อยู่ข้างในนั่นแหละ คือตาญาณ

เห็น มันเห็นอยู่น่ะ ทำอะไรก็เห็น ทำอะไรก็เห็น แล้วก็ไม่ได้ใส่ใจในการกระทำนั้นๆ เห็นอย่างเดียว ...มันจะเกิดอะไรก็เห็น ก็รู้ก็เห็น รู้เห็นอยู่ในที่อันเดียวนั่นน่ะ ไม่ได้อยู่ที่อาการเลย

แต่เบื้องต้นพวกเรานี่มันรู้บ้างออกบ้าง ออกบ้างรู้บ้าง รู้แล้วก็ออก..ออกๆๆๆ  ออกแล้วก็กว่าจะรู้ตัว กลับมารู้ อยู่ที่รู้ๆๆ รู้ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ออกอีก 

แล้วเดี๋ยวก็อยู่ที่ออกไปโดยให้ความสำคัญมั่นหมายกับสิ่งที่รู้ สลับไปสลับมาอย่างนี้ ...เราจะต้องน้อมกลับมาจนชำนาญ จนเกิดภาวะดวงจิตผู้รู้ปรากฏโดดเด่น เด่นชัดขึ้นภายใน ตั้งมั่นอยู่ที่นั้น 

แล้วพออยู่ที่นั้นแล้ว อย่าออกนอกรู้ อย่าให้ความสำคัญในสิ่งที่ออกไปจากรู้ ...เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ออกไปรู้ ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป 

มันไม่มีอะไร ไม่มีสาระอะไรๆ ...อย่างที่เราบอกว่าเปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็งบางๆ แผ่นน้ำแข็งบางๆ ...อย่าไปอาศัยมัน อย่าไปใช้มัน อย่าไปหวังพึ่งมัน นะ

ถึงบอกว่าจะเข้าถึงไตรสรณคมน์ ต้องเข้าที่ใจ อยู่ที่ใจ อย่าไปพึ่งที่อื่น ...มันพึ่งไม่ได้ มันหลอกๆ มันเป็นแค่มายา มันเป็นแค่เงา มันเป็นแค่ภาพหลอน มันเป็นแค่นิมิต 

โลกนี่คือโลกนิมิต อยู่แค่ชั่วคราว จะไปจริงจังอะไรกับมัน ...เจริญสติให้เป็น เจริญสติแล้วต้องกลับมาอยู่ที่รู้ อย่าไปอยู่ที่อาการ นี่คือขั้นต้น...รู้ เห็น แล้วอยู่ที่ใครรู้ใครเห็น อยู่ที่ตรงนั้น

อย่าไปอยู่ในสิ่งที่รู้ อย่าไปพัวพัน อย่าไปตื่นเต้น อย่าไปตกใจ อย่าไปเสียใจกับอาการทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏ ...เขาแสดงความเป็นจริงให้เราเห็น เพื่อให้เป็นกระจกสะท้อนให้กลับมารู้ที่ใจ

แล้วจากนั้นน่ะ ถ้าจับภาวะใจได้ง่ายขึ้นแล้ว ไม่ต้องเลือกกาลเวลาสถานที่ ...ที่ไหนก็ได้ รู้ได้ทั้งนั้น ภาวะใจปรากฏได้ทั้งนั้น ..ไม่มีหรอกว่าต้องอยู่คนเดียวถึงจะรู้  

ไม่มีหรอกว่าต้องอยู่ในที่สงบถึงจะเกิดสติระลึกรู้หรือเกิดภาวะใจ...ไม่มีอ่ะ ...กำลังคุย กำลังพูดโทรศัพท์ กำลังนั่งกินข้าว กำลังขี้ กำลังเดิน กำลังเดินในตลาด เดินในห้าง เดินในอะไรก็ตาม 

แค่ระลึกขึ้นมา ใจก็ปรากฏโด่อยู่ตรงนั้นแล้ว อย่างนี้...มันเกิดขึ้นได้ ...ถ้าเราทำอย่างนี้จนชำนาญ ภาวะรู้นี่จะอยู่คู่ตลอดเลย ใจจะปรากฏเด่นชัดตลอดเลย

(ต่อแทร็ก 2/29)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น