วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/30 (1)


พระอาจารย์
2/30 (530918C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่าถ้าเข้าถึงใจ อยู่ที่ใจแล้วจริงๆ นี่ มันจะเหลือแค่อาการที่ปรากฏที่ใจ ...หน้าที่ของเราก็คือไม่ทำอะไรหรอก จนกว่าอาการที่ใจนั้นจะดับไปน่ะ 

มันจะหมดอาการ ใจจะหมดอาการ...เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ...น้ำก็คือน้ำวันยังค่ำ ใจก็กลับคืนสู่ภาวะใจเดิม จิตเดิมแท้ที่เป็นประภัสสร จิตเดิมแท้นั้นประภัสสรอยู่แล้ว...ทุกวันนี้ก็ประภัสสร

ความประภัสสรไม่เคยหายไปไหนเลย ก็เหมือนน้ำในโซดา ...แต่บอกแล้วว่าน้ำโซดานี่ น้ำนี่ไม่ได้ฟู่นะ ฟองต่างหากที่มันฟู่ขึ้น น้ำคือน้ำ มันคือปนอยู่แต่ไม่ใช่น้ำนะ น้ำก็ยังคือน้ำ

เพราะฉะนั้นความประภัสสรคือความประภัสสร ไม่มีคำว่าไม่ประภัสสร ...เพราะตัวจิตประภัสสร จะทำให้จิตไม่ประภัสสรไม่ได้ จะทำให้จิตประภัสสรกว่านี้ก็ไม่ได้ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นความประภัสสรไม่มีเกิดไม่มีดับ นั่นคือธรรมชาติของรู้ ของใจรู้ เป็นอย่างนั้น ...เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปทำอะไรขึ้นมาใหม่เลย หรือไม่ต้องไปหาจิตประภัสสรด้วย...มันมีอยู่แล้ว 

เพียงแต่ว่าหน้าที่ของศีลสมาธิปัญญาคือ คัดกรองมลทินออก แล้วไม่เอาเข้ามาใส่  ไม่ไปดึงเอาอาสวะอารมณ์ เอาอนุสัยอารมณ์ เข้ามาใส่ในใจ

อาสวะอารมณ์ใดล่ะที่เอาเข้ามาใส่...ทิฏฐิสวะ ภวาสวะ กามาสวะ  พวกนี้ที่จะดึง...ใจที่ไม่รู้นี่ ไปดึงเอาอาการพวกนี้เข้ามาเสวย แล้วยินดีพอใจ

เมื่อเข้าไปเสพเข้าไปเสวยด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ ...ลักษณะนี้คือการดึงเอาฟองอากาศเข้ามาอัดลงภายในใจ หรือดึงเอาความมืดบอดลงมาหมักหมมในใจเพิ่มขึ้น

วิธีเอาออก ...ไม่มีวิธีการ แต่พระพุทธเจ้าท่านให้ไว้ว่ามรรคมีองค์แปด โดยรวมคือสติ..มหาสติ โดยย่นย่อเรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา โดยสูงสุดท่านเรียกว่ามหาสติปัฏฐาน

นี่คือเครื่องมือเอาออก...ไม่เอาเข้า ...แต่ระหว่างดำเนินนี่ มันยังไม่ชัดเจนในวิธีการ หรืออยู่ในครรลองแห่งมรรคโดยตรง มันยังมีเข้าๆ ออกๆ  เดี๋ยวเอาเข้า..เดี๋ยวเอาออก 

เอาออกแล้วเอาเข้าอีก เอาเข้าแล้วเอาออกอีก เอาออกๆๆ เอาเข้าๆๆ เอาออกๆๆๆๆๆๆๆ ...จะเอาออกมากกว่าเข้า หรือจะเอาเข้ามากกว่าออก หรือออกกับเข้าเสมอกัน 

หรือมีแต่ออกไม่มีเข้า นี่ก็คือภูมิจิตภูมิธรรมของพระอริยะ ก็แสดงถึงความมั่นคงในมรรค หรือทางดำเนินของใจ มันชัดแจ้งชัดเจน ไม่ไปทิ้งที่หมายที่มั่นอยู่นอกใจมากขึ้น หรือออกไปก็น้อยลง

จนไม่ออกนอกใจ ...นี่เขาเรียกว่าอยู่ในองค์มรรคตลอดสาย จนเหลือไว้เป็นมรรคที่ใจล้วนๆ ไม่ออกนอกนี้แล้ว เป็นมรรคในใจเลย อยู่ที่ใจ สติแนบๆ อยู่ตรงนี้ที่ใจ ไม่ไปแนบกับนั่นกับนู่น

ไม่ไปแนบกับหูกับเสียงกับรูป แนบอยู่อย่างนี้ที่ใจ ที่อันเดียว ...ตรงนั้นถึงเรียกว่า เอกังจิตตัง เอโกธัมโม จิตดวงเดียว ธรรมอันเดียวกัน จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน สติก็มีอันเดียวเป็นสติที่ใจ

มีความเพียรเยอะๆ ...รู้แค่นี้ อยู่ที่รู้แค่นี้ อยู่ให้ได้ อยู่ให้นาน ...แต่ไม่ได้อยู่ด้วยการบังคับ แต่ด้วยการระลึกรู้ขึ้นบ่อยๆ กลับมารู้ในปัจจุบัน แล้วอยู่ที่รู้


โยม –  เมื่อสักเดือนก่อน ผมไปเยี่ยมน้าอายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว และก็ผ่าสมอง คราวนี้พอผ่าสมองแล้วอาการก็คือว่าเขาต้องฝึกพูด หรือว่าแกจำอะไรใครไม่ได้เลยนะครับ

คราวนี้ทำให้ผมพอเห็นแล้วผมก็เลยกลับมาดูปุ๊บ มันก็เลยมีความรู้สึกว่า จริงๆ แล้วนี่ ก่อนตาย...เวทนาผมว่าก็ยังไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่การที่เป็นอัลไซเมอร์หรือผ่าสมองหรืออะไรพวกนี้นะฮะ จะน่ากลัว

แล้วทีนี้ถ้าลองฝึกอย่างนี้นะครับ สิ่งนี้จะช่วยได้...คืออย่างน้อยยังมีสติมั้ย หรือคนแก่ๆ บางทีแก่ๆ พออายุมากๆ ขึ้นจะหลง ถ้าลองฝึกไปอย่างนี้

พระอาจารย์ –  จะดีขึ้น ...แต่ถ้ามันเป็นวิบากจริงๆ น่ะ มันเลี่ยงไม่ได้


โยม –  อันนั้นคือวิบาก

พระอาจารย์ –  วิบาก...เป็นวิบากมาตัดรอน  ช่วยไม่ได้นะ ...แต่ว่าเราก็ทำได้เท่าที่ทำ ทำได้คือเจริญสติได้ มันก็ช่วยในระดับนึง ...แต่ถ้าเป็นขั้นวิบากที่จะต้องชดใช้ ยังไงก็หนีไม่พ้น


โยม –  อันนั้นคืออยู่ที่วิบากของเราแล้ว

พระอาจารย์ –  ใช่ เลี่ยงไม่ได้เลย ไม่มีใครอยากเป็น แต่มันต้องเป็น ...แล้วเมื่อเป็นแล้วนี่ ไม่ต้องพูดถึง...มันไม่มีหรอกการระลึกรู้ขึ้นมาได้

มันปิดบังหมดเลย วิบากเข้าไปปิดบังใจหมด เข้าไปทับขันธ์เข้าไปทับใจหมดเลย ...ถึงบอกว่าน่ากลัวไง..การเกิด ...แล้วเราเคยไปทำอะไรๆ มาก็ไม่รู้ เคยทำกับใครมามั่งก็ไม่รู้ 

เวลามันส่งผลขึ้นมานี่ มันปิดบัง ตัดรอน ขาดการดำเนินในองค์มรรคในทันทีทันใดเลย ...แม้แต่อนันตริยกรรมอะไรก็ตาม ก็มาในลักษณะอย่างนี้

แล้วเราก็จะโทษฟ้าโทษดินไม่ได้เลย ตัวของคนนั้นเองนั่นแหละทำให้เกิดขึ้นมา...จะไปกล่าวอ้างโทษใคร ...แก้ก็แก้ไม่ได้ เรื่องเหตุการณ์พวกนี้

จะให้ยกกรรมแก้กรรมนี่...ยังไงไม่มีทาง ต้องเสวยอย่างเดียว ...มันปิดบังมรรคผล...กรรมใหญ่พวกนี้ ถือว่าเป็นกรรมใหญ่


โยม –  แต่อย่างน้อยก็...อายุมากๆ นี่  หลงๆ ลืมๆ นี่  หรือไม่มีสตินี่ยังพอช่วยได้ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  ใช่ ถ้าเป็นโดยธรรมชาติของขันธ์มันเอง ไม่ได้เกี่ยวกับวิบาก ...พวกนี้กินเหล้า เมาเยอะ แล้วก็ไปด่าพระด่าเจ้า ด่าครูบาอาจารย์ ด่าผู้ทรงศีล  พวกนี้อัลไซเมอร์ทั้งนั้นแหละ 

แล้วไปด่าไปปรามาสด้วยความขาดสติ ทะเลาะเบาะแว้งทำให้คนแตกแยก ด้วยอำนาจของสุราเมรัย เกิดมาก็เสวยวิบากนี้  มันปิดบังมรรคผลนิพพานทันทีเลย โดยตรงเลย


โยม (อีกคน)  ท่านอาจารย์คะ กรณีที่บางครั้งนักบวชที่ไม่สำรวม อะไรพวกนี้  เราเห็นแล้วจิตเราแย่มากเลยฮ่ะ แล้วแบบนี้ จิตเราคิดแบบนี้...มันไม่ถูก

พระอาจารย์ –  และมันก็ไม่ผิด ...มันไม่ถูกแล้วมันก็ไม่ผิด  เพราะเราห้ามไม่ได้ มันเป็นความเป็นจริงที่ปรากฏ ..รู้ เฉยๆ รู้เฉยๆ รู้ว่ากำลังคิดอย่างนี้ แล้วก็รู้ว่ายินดี-ยินร้าย กับอาการนี้ แค่นั้นเอง ...จบตรงนั้น


โยม –  แล้วมันจะเป็นกรรมผูกพันมั้ยฮะ

พระอาจารย์ –  ไม่...ถ้าแยกออกจากสิ่งที่ถูกรู้ และรู้ ...เราไม่ต้องไปห้ามอาการ เราอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์อาการนั้น ว่าเราไม่น่าไปคิดเลย


โยม –  แต่ถ้าเมื่อไหร่มันหลุดจากปากนี่คือมันเป็นกรรมผูกพันแล้ว

พระอาจารย์ –  วจีกรรม เป็นการสร้างกรรม ... แต่ถ้าพูดแล้วรู้อยู่...เหนืออีกแล้ว เหนือกรรมอีกแล้ว เป็นกลางแล้ว เข้าใจมั้ย 

แต่ถ้าไม่รู้ ก็ตกอยู่ใต้อำนาจกรรม ...มีความจงใจ ทำไปด้วยความหลง...หลงนั้นจะหลงไหนล่ะ หลงเป็นกุศลหรือหลงเป็นอกุศล


โยม –  อกุศลนั่นคือพูดด้วยมีอารมณ์ ขุ่นมัว

พระอาจารย์ –  ตำหนิ ติเตียน จะให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ จะให้เขาได้สติ ...ทุกอย่าง ถ้าออกมาด้วยความไม่รู้ ถือว่ากรรมนั้นสำเร็จรูปแล้ว ...ต้องเสวยแล้ว มีวิบากติดตัวแล้ว มีวิบากขันธ์ติดใจแล้ว


โยม –  แล้วตัวต้นเหตุที่ทำให้เราเกิด เขาไม่มีอะไรเลยหรือฮะ

พระอาจารย์ –  ตัวต้นเหตุ...หมายถึงพระองค์นั้นเหรอ... กรรมใครกรรมมัน  เขาก็ทำกรรม โดยที่เขาไม่รู้ตัวแหละ ว่าเขาทำตัวอย่างนี้ให้เรามีอารมณ์อย่างนี้ ถือว่าเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น

ก็เป็นกรรม สร้างกรรมโดยที่ว่าแจกจ่ายกรรมเป็นอกุศลกรรมให้คนอื่น ...เขาก็เสวยวิบากกรรมอันนี้แล้วในการกระทำ โดยที่เขายังไม่รู้เลยว่าเขาทำกรรมอันนี้กับผู้อื่น

เพราะฉะนั้น บางทีทำไมอยู่ดีๆ ไม่เคยทำอะไรกับใคร...ทำไมไฟไหม้บ้านวะ ทำไมน้ำท่วม  ทั้งที่ว่าไม่เคยทำโทษทำร้ายใคร พวกนี้ อาการพวกนี้เข้าใจมั้ย

การเบียดเบียนโดยที่ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจน่ะ ก็โดนภัยพิบัติโดยที่ไม่ได้คาดฝันอะไรอย่างนี้ ...กรรมมันก็หาเรื่องตอบสนองได้ทุกวี่ทุกวันน่ะ

สำคัญต้องมีสติในการกระทำ พูด คิด ...เพราะนั้นถ้ามีสติในคำพูด และรู้...กำลังพูด ก่อนจะพูด พูดแล้ว จบแล้ว...แล้วรู้ตลอด ถือว่าเป็นสัมมาวาจา

จะพูดไพเราะเพราะพริ้งด้วยความปรารถนาดี...แต่ไม่รู้ตัว  ถ้าพูดดีพูดอะไรขนาดไหนก็ตาม แล้วพูดไปด้วยความไม่รู้ตัว ก็ยังไม่เรียกว่าสัมมาวาจา เข้าใจมั้ย

จะพูดในแง่ดี ยกย่องสรรเสริญ เอออออะไรกับเขา ให้สุขกับเขา แต่ไม่รู้ตัว ไม่เรียกว่าสัมมาวาจา  ...แต่ถ้าพูดแบบกระโชกโฮกฮาก พูดไปตรงๆ พูดแบบไม่เกรงใจใคร...แต่รู้ๆๆ  พูดไปเหอะ เป็นสัมมาวาจา

เพราะนั้น มันไม่ได้อยู่ที่อาการ ว่าอาการนี้จึงสัมมาวาจา อาการอย่างนี้ไม่ใช่สัมมาวาจา ...แต่มันอยู่ที่กระบวนการรู้ 

ถ้ารู้ที่ใจ มีใจรู้ประกอบอยู่ สติประกอบอยู่ แล้วแยกออกเป็นใจกับรู้...รู้ กับอาการ  อย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็นสัมมา เข้าข่ายสัมมา ...แล้วมันจะปรับของมันได้มากขึ้น


โยม –  สรุปก็คือ “เจตนา” ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ ...เมื่อทำโดยไม่รู้ตัวเมื่อไหร่ มันจะกอปรด้วยความมีเจตนาหรือจงใจโดยไม่รู้ตัว ...ตรงนั้นน่ะเป็นตัวปัจจัยหลักให้เกิดกรรม ตัวก่อกรรมสำคัญคือเจตนา

กรรมจะเกิดได้ด้วยเจตนา จริงๆ น่ะ เจตนาที่ส่งผล ที่เป็นคุรุกรรมคือ “หลง” ความหลง...หลง เจตนาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นแหละ ถึงจะเป็นคุรุกรรม ...ซ้ำซากนี่ยิ่งเป็นคุรุเลย

(ถามโยมอีกคน) เอ้า ถามอะไรมั้ย


โยม –  ไม่ถามค่ะ มาคราวนี้เข้าใจ เพราะว่าโยมชอบที่จะดูใจ แต่พอตอนหลัง เอ๊ะ รู้สึกว่าดูใจมันจะกลายเป็นเพ่งจ้อง กลัวเป็นสมถะ เมื่อกี้เวลาที่ท่านอธิบายพูดถึงว่าการดูใจ ให้ดูเข้าไปตรงนี้ ดูไปเรื่อยๆ มันก็สงสัยอยู่ว่า เอ๊ ไม่เป็นสมถะไปเร้อ 

แต่พอสักประเดี๋ยวนึงท่านอธิบายอย่างนี้ มีจุดที่เราออกไปข้างนอกนี่ ไปดู ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วเราจ้องดูอย่างนั้นอันเดียว นั่นก็คือสมถะ  ถ้าเผื่อเราดูโดยที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมาย ดูไปเรื่อย มันก็คือดูใจ เข้าใจอันนี้ฮ่ะ แล้วก็...โอ ดีใจจังเลย

พระอาจารย์ –  ดีแล้ว รู้เบาๆ


(ต่อแทร็ก 2/30  ช่วง 2)



วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/29 (4)


พระอาจารย์
2/29 (530918B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/29  ช่วง 3

พระอาจารย์ –  แต่ลักษณะของกรรมฐานยังมีมมังโสอยู่ในกายกับใจ อยู่ในเรื่องราวแวดวงนี้  มันยังมีที่จบได้ มันยังมีพิจารณาจนถึงจุดจบของมันได้ ...นี่ พระพุทธเจ้าให้เป็นอุบาย...กรรมฐาน ๔๐

จนมันรวม มันเห็นนิมิต จนนิมิตนั้นรวม ตั้งนิมิตขึ้นแล้วนิมิตนั้นดับ จึงจะเกิดภาวะใจเหลืออยู่ 

เพราะใจไม่เกิดไม่ดับ อะไรจะดับทั้งโลกมันไม่สน มันไม่เคยดับ ใจคือใจ รู้โด่ทะโล่อยู่อย่างนั้น ...นั่นแหละ กรรมฐานต้องเข้าจุดนี้ พอถึงจุดนี้ถึงจะเรียกว่าถึงใจ เห็นใจ...ได้หลัก เริ่มเกิดปัญญา เริ่มมีปัญญา

เพราะนั้นถึงเห็นจนดับทั้งโลกธาตุยังไม่เรียกว่าปัญญาเลย ...ก็แค่เห็นนิมิตดับ ยังไม่ได้ละเลิกเพิกถอนอะไรเลย เป็นนิมิตดับไป แค่นั้นเอง

แล้วถ้าไปยินดียินร้ายในอาการนั้น ก็เข้าใจว่า...เราได้ เราเป็น เรามี เป็นธรรมอะไรก็ว่ากันไป ...แต่ยังไม่ใช่ นะ

เพราะนั้นจึงมีผู้หลงผู้ติด ข้อง ในอาการนี้อีกมากมายก่ายกอง ...ในการมมังโส ผลลัพธ์ข้างเคียงของมันคือ อหังการ คืออัตตาเพิ่มขึ้น สูงขึ้นในตัว ...เพราะมันมีจุดหมายมุ่งมั่น

แต่ถ้าโยนิโส กลับเข้าไปสู่ที่เดียว...ที่หมายเดียวคือใจรู้เปล่าๆ ที่หมายสุดท้ายคือนิโรธ คือความดับไปโดยสิ้นเชิง ...ไม่มีทั้งอัตตาและอหังการ

แต่พวกเรามักจะมาติดคำสอน ติดที่เคยได้ยินได้ฟังมา ติดว่าคนนั้นเขาเล่าบอกว่าเขาทำแล้วเขาได้อย่างนี้ เขาเป็นอย่างนี้ แล้วเขาบอกว่าดี  แล้วก็ครูบาอาจารย์รับรองว่าถูกว่าใช่ว่าดี

ตรงนี้เราละไม่ออก เราไม่กล้าที่จะละ..ในการส่งออก เพื่อไปแสวงหาภพ แม้ภพนั้นจะดูดีเลิศวิเศษประเสริฐ...มันเลยไม่กล้า ...นี่ เขาเรียกว่าติดภพดี

กลับ..กลับบ้านเถอะ  กลับบ้าน...บ้านคือใจ กลับสู่ใจ ...อย่าออกไปไกลบ้าน ไกลหูไกลตา ไกลบ้านแล้วจะถูกคนพาลเหยี่ยวกาฉกไปกินซะ

มันพาลพาไปเกิดตายไม่รู้จักกี่ร้อยชาติ ก็เพราะว่าหลงใหลได้ปลื้มกับสภาวธรรมต่างๆ หรืออารมณ์ หรือเวทนาที่น่าใคร่...อิฏฐารมณ์ นี่แหละ ...อนิฏฐารมณ์ไม่ต้องพูด ไม่มีใครอยากได้อยู่แล้ว

แต่มันเป็นอิฏฐารมณ์ ความใคร่ในสภาวธรรม ใคร่ในธรรม ใคร่ในอาการที่น่าใคร่ ...อันนี้ต่างหากที่พาเราเวียนว่ายตายเกิดสำหรับหมู่นักปฏิบัติ

มันติดสภาวธรรมนั่นแหละ ว่าเป็นของเรา ว่าเราทำได้  ว่าเราต้องทำ ...เห็นมั้ย มันยังมีคำพูดว่าเราต้องได้ เราต้องทำ มันยังมีตัวอะไรบงการอยู่อ่ะ อะไรเป็นเหตุล่ะ

ทำไมไม่โยนิโสกลับมา ถึงเหตุที่แท้จริง ต้นตอที่แท้จริง ...อยู่ดีๆ ลอยๆ มันไม่มีการปรากฏหรอกสภาวธรรม มันมีเหตุปัจจัยอะไรล่ะ

ย้อนกลับมาด้วยปฏิจสมุปบาท...จนเจอ ทุกข์มาจากไหน ถอยๆ ๆ จนมาถึงอวิชชาปัจจยาสังขารา สังขาราปัจจยาวิญญาณ วิญญาณปัจจยานามรูป นามรูปปัจจยาผัสสะ ผัสสะปัจจยาสฬายตนะ 

สฬายตนะปัจจยาเวทนา เวทนาปัจจยาตัณหา ตัณหาปัจจยาอุปาทาน อุปาทานปัจจยาภพ ภพปัจจยาชาติ ชาติปัจจยาชราธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส

มันต้องถอยกลับมาจนเจออ่ะ...ว่าใคร ไอ้มืดไอ้โม่งคนไหนมันสั่งการอยู่วะ ให้ต้องเดิน ต้องยืน ต้องนั่ง ต้องนอน ให้ต้องคิด ให้ต้องทำ ให้ต้องหา ให้ต้องเข้าไปอย่างนั้นเข้าไปอย่างนี้ 

ใครล่ะ...ใครๆ ...ต้องเอาให้เจอ ...โอปนยิโกๆ เท่านั้นจึงจะเจอ  ไม่ใช่มมังโส ยิ่งไกล


โยม –  ก็เหมือนกับ...เอ๊ ทำไมเราต้องมานั่งออกกำลังกายให้มันแข็งแรง ทำไมเราต้องมาหาอะไรบำรุงร่างกาย คือบางทีมันมีความรู้สึกว่ามันทุกข์จริงๆ ต้องมานั่งทำให้มันตลอดเวลาเลย

พระอาจารย์ –  อือฮึ เพราะใจมันไม่ยอมรับตามความเป็นจริง ลึกๆ ไม่ยอมรับสภาวธาตุ สภาวขันธ์ที่แปรปรวนหรือควบคุมไม่ได้ตามความเป็นจริง ...มันมีใจที่ไม่ยอมรับด้วยมิจฉาทิฏฐิ เลยต้องออกไปทำ


โยม –  แล้วสมมุติถ้าอย่างนี้เราไม่ทำมันล่ะฮะอาจารย์

พระอาจารย์ –  กล้ามั้ยล่ะที่จะไม่ทำ


โยม – อย่างเป็นไขมันในเส้นเลือดสูง เราไม่ทานยา เราไม่ต้องออกกำลังกายเพื่อให้เขาลดลง

พระอาจารย์ –  กล้ามั้ยล่ะ


โยม –  ไม่กล้าฮ่ะ

พระอาจารย์ –  ถ้าไม่กล้าให้รู้อยู่ ขณะทำ


โยม –  ใช่ไหมฮะ ให้โยมซ้อมดนตรีอะไรอย่างนี้ มันเพลิดเพลิน มันพอถึงวิบนึง มันตกใจ...เอ้ย ไม่ใช่ เรากำลังติดมันมากเลยนะ ...สลัดทันทีเลย

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้รู้บ่อยๆ ...เพราะว่าเรายังละโดยสิ้นเชิงไม่ได้ ละโดยเด็ดขาดด้วยการรู้แล้ววางทันทีเลยไม่ได้ 

เพราะมันยังเงื่อนไขไม่เพียงพอ กำลังจิตกำลังปัญญาไม่เพียงพอ ยังกลัวตายอยู่ เรายังให้เงื่อนไขกับมันอยู่ ...แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไปไม่ได้ ระหว่างทำก็ให้รู้ไปด้วย ควบคู่กัน เป็นกลางๆ ไป 

จนกว่าจะถึงกำลังความอาจหาญ กล้าหาญชาญชัย...พร้อมปุ๊บ มันทิ้งหมด ไม่เอาอะไรสักอย่าง ตายเป็นตาย  เข้าใจมั้ย ฝ่าดงตีนเข้าไปเลย ตายเป็นตาย...ตรงนั้นน่ะมันไม่ตาย บอกให้เลย 

แต่ตอนนี้..."ตายแน่" ...เพราะนั้นคือค่อยๆ เป็นกลาง...ค่อยๆ เป็นกลาง ...แล้วมันจะรู้เลยกำลังของจิต ถึงจุดนั้นมันขาดเลย ขาดปั๊บวางปุ๊บ ...มันไม่มีอ่ะ มันไม่มีกลัวตายเลย 

ไม่เอาก็ไม่เอา ไม่ทำก็ไม่ทำ เรื่องของขันธ์ไม่ใช่เรื่องของกู ตายเป็นตาย ตายเกิดใหม่ แค่นั้นเลย จิตมันจะวาง ...ถ้าวางจริงนะ ปล่อยเลย หยุดการกระทำแล้วเน้นอยู่ที่ใจ...รู้ลูกเดียว

แต่ตอนนี้เรากลัวตาย เรายังไม่โอนอ่อนผ่อนตามอำนาจของไตรลักษณ์ ...มันยังมีอำนาจของสุขขัง นิจจัง และอัตตา ที่มีกำลังอยู่มาก  

แต่ว่าก็ไม่ปล่อยปละละเลยกับมันโดยตรง ก็เป็นกลางๆ ด้วยมัชฌิมา ...รู้ไปๆ รู้ได้เท่าไหร่ก็รู้ไป รู้ในขณะที่ทำออกไปน่ะ รู้อยู่ รู้ว่าการกระทำนี้เพื่อบรรเทาขันธ์ ยับยั้งความเสื่อมสลายของขันธ์ก็ตาม 

ก็รู้อยู่ ตามกำลังๆ ไม่งั้นเราก็จะทอดธุระจนเกินไป ...แต่ว่าถ้าถึงจุดที่จิตมันขาดโดยกำลังแล้วนี่ มันไม่อนาทรร้อนใจในขันธ์เลย  ...รู้อย่างเดียว 

แล้วตรงนั้นน่ะมันจะมีพลานุภาพของจิตที่เป็นมหัคคจิตของมันออกมา ปรับสมดุลของธาตุและขันธ์ด้วยตัวของมันเอง ในการระดับบรรเทาเยียวยา...บรรเทาด้วยความเป็นกลาง

แต่ว่าในขณะนี้พลังของธรรม พลังของปัญญาญาณ พลังของอะไรนี่ยังไม่พอ ... ถ้าละวาง...ตายแน่


โยม –  เขาเรียกธรรมโอสถรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ประมาณนั้น โดยธรรมชาติของความสมดุล มันเป็นกลางแล้ว มันไม่ตายหรอก ...มันบรรเทาด้วยการสมดุล เยียวยาโดยธรรมชาติ 

ค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ อำนาจของปัญญา...ศีล สมาธิ ปัญญานี่ คุ้มครอง ...ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรมไปตามลำดับขั้น ไม่ต้องกลัวๆ

แล้วค่อยๆ ถอยออกๆ เบาลงจางลง ผ่อนถ่ายทีละนิดๆ ...แต่ว่าอย่าไปเออออห่อหมกกับมันจนเกินไปแค่นั้นเอง ยับยั้งมันบ้าง ถอยออกบ้าง 

ตายแน่ ทุกคนก็ตายแน่แหละ แต่พวกเราไม่อยากตายเร็ว ยังกลัวอยู่ ลึกๆ ยังกลัวอยู่ ว่ายังไม่พร้อม ว่ายังไม่ได้ทำ ...จิตยังไม่ถึง ยังไม่ได้ปัญญา


โยม –  ใช่ คือกลัวที่สุดตอนจิตก่อนตาย คือรู้ว่าทุกคนต้องตาย แต่ก่อนตายทำยังไงให้ไปดี

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไรหรอก ให้กลับมาที่ฐานรู้ อย่าไปอยู่ฐานอื่น...ในสติปัฏฐานทั้งสี่ อย่าไปอยู่ กายก็ไม่อยู่ เวทนาก็ไม่อยู่ จิตก็ไม่อยู่ ธรรมก็ไม่อยู่ ...แต่อยู่ที่ใจรู้

เพราะนั้นตัวสตินี่เป็นตัวที่ระลึกรู้ เข้าใจมั้ย มีขึ้นเพื่อให้เกิดการระลึกตัวรู้ขึ้นมา ท่านถึงเรียกว่าระลึกรู้ ...แล้วเมื่อระลึกรู้แล้วก็ให้มีสัมปชัญญะคือรู้ตัว ให้ความรู้นี่คงอยู่ตลอด นั่นเรียกว่าสัมปชัญญะ 

เมื่อรู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ตัวรู้ปรากฏขึ้นๆ ปุ๊บ มันจะมีสัมปชัญญะต่อเนื่อง ที่จะเห็นรู้อยู่ต่อเนื่องไป ...ภาวะเดิมของใจนี่คือตัวของมันเอง ตัวของใจจริงๆ คือตัวของสติและสัมปชัญญะในตัว 

นี่ เป็นอัตโนมัติ เป็นตัวของมันเองเลยน่ะ คือตัวสติและสัมปชัญญะในตัวใจ เป็นตัวรู้ตัวเห็นโดยธรรมชาติ ...ธาตุรู้เป็นธาตุรู้น่ะ ธรรมชาติของใจคือธาตุรู้

แต่ว่าธาตุรู้นี้ถูกเจือปนด้วยเครื่องหมักดองที่เรียกว่าอาสวะ อนุสัย ...ซึ่งเรามองไม่เห็นหรอก แม้แต่มองเห็นใจแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นหรอก อาสวะอยู่ตรงไหน ...มันจะเห็นต่อเมื่อมันแสดงตัว แตกตัวออกมา

เหมือนที่เราเปรียบเทียบบ่อยๆ ว่า มีน้ำสองขวด ใส่ขวดแบบเดียวกัน ขวดนึงเป็นน้ำ อีกขวดนึงเป็นโซดา  ถ้าปิดฝาไว้ มองเห็นมั้ยว่ามันต่างกัน ...เห็นมั้ย ไม่มีอะไรเลยใช่มั้ย

เปิดฝาดิ ...พอเปิดฝาปุ๊บ ขวดที่เป็นน้ำนี่ลองดู ไม่มีอะไรรู้สึกเลย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ...แต่ขวดที่เป็นโซดามันเป็นไง...มันมีฟอง เห็นมั้ย

นั่นแหละ ดูธรรมดานี่เราดูเหมือนน้ำเหมือนกัน ไม่เห็นมีฟองอยู่ตรงไหน ...ศีลสมาธิปัญญานี่มันจะเป็นตัวเปิดฝา แล้วจะเห็นเนื้อจริงของใจ หรือเนื้อจริงของน้ำในโซดา

ไม่ต้องทำอะไร ฟองมันฟู่ขึ้นมาเอง ...แล้วทำยังไงกับมัน ...ก็ไม่ต้องทำอะไร จนกว่ามันจะหมดฟู่เองน่ะ หมดฟู่เมื่อไหร่อ่ะ มันเป็นน้ำเหมือนกันน่ะ

แล้วถามว่าน้ำนี่มันฟู่หรือเปล่า เข้าใจไหม น้ำมันไม่ฟู่นะ แต่ดูเหมือนมันฟู่ ...มันฟู่เพราะฟองต่างหาก ตัวน้ำไม่เคยฟู่นะ...น้ำคือน้ำ น้ำยังไงก็คือน้ำ


(ต่อแทร็ก 2/30)




วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/29 (3)


พระอาจารย์
2/29 (530918B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/29  ช่วง 2

โยม –  พระอาจารย์แล้วจุลโสดาบันมีไหมฮะ

พระอาจารย์ –  ก็เป็นภาษาพูดกันไป 

เพราะนั้นพระอนาคามั่วก็มี...คือเข้าไปเพ่งและรักษาภาวะสงบ ที่ว่าง ...พวกนี้จะเข้าไปสู่นิพพานเหมือนกันคือนิพพานดิบ นิพพานที่เป็นภพ...เพราะจงใจ ไม่ใช่ธรรมชาติของใจ

เพราะนั้นถ้ามีสติระลึกรู้ปุ๊บ มันจะแยกออกทันที เหลือใจผู้รู้ ออกมา ถอนออกมาๆ ...มันยังต้องมีน่ะที่สิงอยู่ตรงนั้น เพราะตรงนั้นจะไม่ใช่ใจหมดเลย มีใจอีกดวงนึงปรากฏอยู่ตลอด

แล้วใจดวงนั้นน่ะ จึงจะดับของมันเอง...ตรงนี้ถึงเรียกว่ามัคคญาณ หรือมรรคจิต หรือมรรคสมังคี ...ถึงภาวะนั้นนี่ มันแจ้ง มันจะแจ้งใจเลยน่ะ ว่าไม่ถูกหลอก

เพราะอาการว่าง เบา ขุ่น หมอง ผ่องใส ยังมีขึ้นๆ ลงๆ นะ ...แต่ใจไม่มีขึ้นไม่มีลงนะ ใจรู้ไม่มีขึ้นไม่มีลงนะ ใจไม่มีเกิดไม่มีดับนะ ใจเป็นอมตะธาตุอมตะธรรมนะ เมื่ออยู่ในขันธ์

แต่จะเห็นใจดับต่อเมื่อเข้าสู่มัคคญาณหรือโคตรภูญาณ ข้ามโคตร เปลี่ยนนามสกุล จากแซ่ปุถุชนเป็นแซ่อริยะ เขาเรียกว่าข้ามโคตร ไปเห็นความเป็นสุญโญ ความดับโดยสิ้นเชิงของใจ ...ใจรู้

แต่อย่างที่เราบอกตั้งแต่ต้นไงว่ามันขณะเดียวเท่านั้นเอง ...เหมือนฟ้าแลบ พั้บ ขยายปั๊บ..รวมเลย นั่น ...แล้วก็จนกว่ามันจะหมดวาระก็...สี่ครั้ง

สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ยะทิทังจัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัตถะ ปุริสบุคคลา...ยะทิทังจัตตาริ บุรุษคู่สี่ บุรุษแปด คู่สี่ นิพพานหนึ่ง

ท่านเปรียบไว้โดยสมมุติบัญญัตินะ ในการเข้าเกิดมัคคญาณมัคคจิต จะเข้าไปยะทิทังจัตตาริ คู่สี่ อัตถะ ปุริสบุคคลา ..บุคคลแปด 

อริยโสดามรรค...โสดาผล  อริยสกิทาคามรรค...สกิทาคาผล  อนาคามรรค...อนาคาผล อรหัตตมรรค...อรหัตตผล

แต่โสดามรรคโสดาผลเกิดแค่ขณะเดียว คนที่เข้าไปเห็นและดับพั้บ ...ขณะนั้น ขณะที่เห็นน่ะเป็นโสดามรรค ดับพั้บ...ขึ้นมาปั๊บโสดาผลเกิดเลยเหมือนกัน 

นี่ เป็นคนเดียวกัน แต่จิตคนละดวง ...เพราะนั้นจะถามว่า จุลโสดา...มันอยู่ตรงไหนวะ 

แต่ว่าในการที่เราอยู่ที่ใจ แล้วเห็นเกิดดับบ่อยๆ  เราไม่ต้องไปสนใจเลย ไม่ต้องเอาบัญญัติหรือสมมุติไปว่า รู้อย่างเดียว 

มันจะดับถึงขั้นไหน มันจะเป็นดับของสมุจเฉท จะเป็นดับถึงมัคคญาณ หรือจะดับในแง่ของไตรลักษณ์ ...ช่างหัวมัน รู้ลูกเดียว


โยม –  ที่โยมถามเรื่องจุลโสดา ไม่เคยรู้มาก่อน รู้แต่โสดาบันอะไรอย่างนี้  ทีนี้ฟังซีดีก็...เอ๊ เราก็ถามตัวเองมันมีด้วยเหรอจุลโสดา

พระอาจารย์ –  มันเป็นภาษาเขาเรียกกันไป คือความเกิดดับในใจ ....แต่ว่าเป็นการเกิดดับที่ยังไม่ถึงขั้วของใจ คือไม่เข้าไปดับเป็นสมุจเฉทด้วยวิชชาภายในที่เป็นมัคคญาณ

เพราะนั้นในการเข้ามัคคญาณนี่มันเข้าไปดับ ล้างอวิชชาในระดับหนึ่ง ควอเตอร์หนึ่ง พั้บๆ สี่ระดับ ลงไปพั่บ...ความมืดนี่หายไประดับหนึ่ง

อย่างสมมุติลงไปนี่ ความมืดแบ่งเป็นสี่ระดับ ...พอเข้าไประดับมรรคญาณ มรรคจิต แล้วพั้บปึ๊บนี่ มันจะสว่างขึ้นมาหนึ่งในสี่ ...ใจดวงนั้นน่ะ ใจรู้นั้นน่ะ

พอลงมรรคญาณมรรคจิตอีกปุ๊บนี่ อีกหนึ่งส่วนสี่หายไปเหลือครึ่งหนึ่ง สว่างขึ้นมาอีกครึ่งนึง นี่ ความแจ้งใจ

แต่ความรู้สึกที่เรารับรู้ก็คือใจรู้อันเดิมนั่นแหละ แต่ว่าความบางเบาของอวิชชาอาสวะจะน้อยลงไป เป็นเหมือนกับความมืดหรือความแจ้ง

พอถึงอนาคานี่เหลือแค่ส่วนเดียว หนึ่งในสี่ มันสว่าง ใจรู้นี่มันรู้แบบข้างในมันไม่มีอาสวะ เหลือนิ๊ดเดียว คือหนึ่งในสี่

แต่ถ้าปุถุชนต่ำกว่าโสดามานี่ มืดกับมืดกับมืดกับมืด แล้วก็มืดมากขึ้นๆๆ มันไม่มีน้อยลง ถ้ายังไม่เข้าถึงใจ

เพราะนั้นแค่เราเข้าไปแตะถึงใจ เข้าไปหยั่งถึงใจ เข้าไปน้อมรู้ระลึกรู้อยู่ที่ใจ แค่นี้ ถือว่าขัดเกลาแล้ว ทำความแจ้งอยู่ภายในแล้ว ...แต่ยังไม่แจ้งถึงขั้นเข้าไปล้างหรือไปลบโดยสิ้นเชิง

เมื่อลงมรรคญาณนี่คือหมายความว่า ถ้าเป็นโสดาบัน...ออกไปหนึ่งในสี่แล้วนะ จะไม่มีคำว่ากลับมามืดอีก

แต่ของพวกเรานี่ลงไปหยั่งถึงแล้ว เดี๋ยวก็ปัดๆๆๆ  เดี๋ยวก็เก็บๆๆๆ นี่ยังมีโอกาสมืดต่อ เข้าใจมั้ย ปุถุชน นักปฏิบัติเริ่มต้น ยังมีโอกาส 

แต่ถ้าปัดไปเรื่อย ขยันปัด ให้มากกว่าขยันเก็บ ...ขยันรู้ให้มากกว่าขยันหลง เข้าใจมั้ย นี่คือปัดออกๆๆ

เหมือนกระดาษทรายน่ะ กับสนิมเกาะเหล็ก ก็ขัดๆๆ ... อย่าทิ้ง ทิ้งเดี๋ยวสนิมเกาะใหม่ ทิ้งอีกสนิมเกาะอีก ...เผลอ เพลิน หลง หาย หรือไปใส่ใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไร้สาระ 

ในสภาวธรรม ในสภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ ไปทำให้มันมี ให้มันเป็น  เอาเป็นเอาตายกับอาการนั้นอาการนี้ ...คือการปล่อยใจให้ละเลย ไม่เข้ามาหยั่ง ไม่เข้ามาขัดเกลาภายในใจ หรือทำความแจ้งภายในใจ

เพราะนั้นการทำความแจ้งภายในใจ มันไม่มีวิธีการอะไรเลย นอกจากสติและสัมปชัญญะหยั่งเข้ามาถึง ตัวนี้ ตัวสติและสัมปชัญญะเป็นตัวขัดเกลา

ศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ตรงนี้ เป็นตัวขัดเกลาโดยตรง ...ศีลคืออะไร ศีลคือปกติ สมาธิคืออะไร ตั้งมั่นอยู่ที่นี่ ปัญญาคือเห็นเฉยๆ รู้เฉยๆ เป็นกลาง เห็นความจริงที่มันปรากฏแค่นั้น มันขัดไปในตัวอยู่แล้ว

แต่มันลูบเบาๆ นะ มันไม่ใช่ไปตัด มันไม่ใช่ไปหัก ไม่ใช่ไปล้างแบบเหมือนกับซักผ้าเอาคราบสกปรกออกเดี๋ยวนั้น ...มันเป็นการค่อยๆ ลูบออกๆ ทีละนิดทีละหน่อย ด้วยความเพียร

อาจจะดูเหมือนไม่ได้อะไรเลยในขณะที่ทำ บอกให้เลย อย่าใจร้อนไง ถึงบอก อย่าใจร้อน ...น้ำหนักของปัญญาวิมุตติน่ะเป็นแค่ขณิกะ ทีละนิด ทีละอณู 

แต่มันจะมีความอยากที่จะเอาแบบให้ได้ผลไวๆ ซึ่งจะมีหลายครูบาอาจารย์ที่จะเน้นว่า ทำอย่างนี้แล้วถึงจะขาดโดยสิ้นเชิง โดยวิธีการอย่างนั้นอย่างนี้

แล้วพวกนี้มันจะเข้ามากินใจเรา ในวิธีการที่มันแตกต่างและน่าจะดีกว่า ...เพราะเราดูอย่างนี้ ไม่เห็นจะมีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่รู้อะไร ไม่ได้ละอะไรเลย

แต่เราเสนอแนะ และแนะนำว่าวิธีการนี้เหมาะที่สุดสำหรับทุกคน ...ไม่ยาก-ไม่ง่าย ไม่ช้า-ไม่เร็ว อยู่ที่ความเพียรเพียงพอ

แต่วิธีการอื่น ก็ไม่ใช่ไม่ได้...แต่ยาก ใช้เวลา ใช้กำลัง ใช้ความสามารถส่วนตัวอย่างยิ่ง ไม่ใช่เป็นสาธารณะ..เป็นจำเพาะๆๆ ไม่เปิดกว้าง ไปแบบแบกๆ หามๆ มันต้องใช้กำลังอย่างยิ่ง

ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องมีเครื่องเคียงน่ะ เหมือนเมี่ยงคำน่ะ ใส่อย่างเดียวก็ไม่อร่อย มันต้องครบสูตรใช่ป่ะ ขาดนู่นนิดขาดนี่หน่อย มันรสชาติมันไม่แซ่บ ไม่ม่วน ไม่ลำ เงี้ย 

แต่ลักษณะของปัญญาวิมุตตินี่  ไปแบบไม่มีเครื่องเคียง ไปแบบดื้อๆ ทื่อๆ ...ยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ กินได้หมดแหละ ทุกอารมณ์ทุกสภาวะ ไม่ว่า ไม่เลือก

ไม่มีปฏิฆะไม่มีราคะกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง สภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ไม่มีความแตกต่างแปลกแยก หรือว่าได้ หรือไม่ได้...คือไม่มีเงื่อนไข  เห็นมั้ย ไม่เลือก

ซึ่งมันจะเหมาะกับอย่างเนี้ยยยย  เพราะเราทำไม่ได้...ในลักษณะที่ต้องเลือกต้องมีเครื่องเคียงเยอะๆ ...อายุก็ปานนี้แล้วแต่ละคน หือ กว่าจะตะล่อมจิตให้สงบนี่ เฮ่อ เอากี่ปีดี

กว่าจะตะล่อมให้จิตมันอยู่ในองค์ของวิปัสสนาญาณ วิปัสสนากรรมฐาน นี่อีกเท่าไหร่ล่ะ ...กว่าจะพิจารณาอยู่ในกายจนกว่าจะแจ้งในกายด้วยการพิจารณานี่เท่าไหร่ล่ะ


โยม –  ท่านอาจารยคะ ไม่ต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธินี่ มันมีสิทธิที่จะไปถึงสูงสุดได้ไหมฮะ

พระอาจารย์ –  เข้าใจมั้ย เมื่อกี้ฟังที่เราบอก ที่เราน้อมมาตลอดเวลาด้วยขณิกะ ไปเรื่อยๆ นะ ...จนจิตมันแยก ใจนี่มันแยกออกจากกายโดยเด่นชัดแล้ว

ใจตรงนี้มันจะรวมตัวของมันเอง มันจะรวมด้วยกำลังของสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ ...เมื่อถึงวาระที่จิตจะลงมรรคสมังคี พวกนี้จิตมันจะรวม...ถึงขั้นอัปปนาของมันเอง เข้าใจมั้ย

แล้วเป็นสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ คือไม่ได้จงใจ ...มันต่างกับความหมายที่โยมกำลังพูดว่าต้องได้อัปปนาสมาธิก่อน คือการจงใจ...เพราะฉะนั้นสมาธิเช่นนั้นจึงยังเป็นมิจฉาสมาธิอยู่


โยม –  มันเหมือนตั้งหน้าตั้งตาทำให้เขาได้ตรงนี้

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ไอ้ตรงที่ “ตั้งหน้าตั้งตาทำ” เนี่ย คือมันทำออกไป...ไม่ได้ทำเข้ามา ไม่ได้น้อมกลับเข้ามาเลย ขาดการโอปนยิโก

เพราะฉะนั้น จิตมีอยู่สองอย่างคือ หนึ่ง โยนิโสมนสิการ  เคยได้ยินมั้ย โยนิโส...น้อมกลับเข้ามาด้วยความแยบคาย มนสิการภายใน

กับอีกอย่างหนึ่งคือ มมังโส ...มมังโสแปลว่าส่งออกไป ...เพราะนั้นลักษณะของสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ต้องเกิดจากจิตมมังโส

ออกไปทำ ออกไปอยู่กับบริกรรมนิมิต ออกไปอยู่กับรูป ออกไปอยู่กับนามที่ตั้งขึ้นมาเป็นนิมิต แต่ว่าให้นิมิตนั้นเป็นเอกัคคตาจิตเอกัคคตารมณ์ ไม่ให้แส่ส่ายออกไปนิมิตอื่น

พุทโธต้องพุทโธ ลมต้องลม กายต้องกาย ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เลือดเนื้อเชื้อไข การพิจารณาอสุภะต้องเป็นอสุภะอย่างเดียว ไม่เป็นราคะหรือสุภะ

อย่างนี้เรียกว่าเป็นเอกัคคตารมณ์ หรือว่าจนกว่าจะเป็นเอกัคคตาจิต ...แต่ว่ามันส่งออกตลอด ตรงนี้เขาเรียกว่ามมังโส  ส่งออกจนจิตรวม ไปรวมกับนิมิตนั้น

จิตกับนิมิตรวมกัน ถึงจะเรียกว่าเป็นอัปปนาก็ตาม ขณิกะก็ตาม ฌานก็ตาม หรืออะไรก็ตาม ...มันออกไปรวมภายนอก นอกใจ ถึงจะเรียกว่าสมาธิโดยภาษา แต่ก็ยังขึ้นชื่อว่ายังอยู่ในขั้นของมิจฉาสมาธิ

เพราะออกนอกใจ ...ยังไม่เป็นสัมมาโดยตรงนะ แต่เป็นอุบายด้วยการมมังโสออกไป...ก็มมังโสไปแค่กาย...ตัวเองนะ  ไม่ไปมมังโสถึงกายคนอื่น

แต่ว่าปุถุชนทั่วไป...มันมมังโสทั่วจักรวาล เข้าใจมั้ย มันไม่มีข้อห้ามเลย มมังโสไปถึงอดีต-อนาคต เรื่องราว บุคคล เหตุการณ์ต่างๆ เรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ 


(ต่อแทร็ก 2/29  ช่วง 4)