วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/25 (1)



พระอาจารย์
2/25 (530905)
5 กันยายน 2553
(ช่วง 1)



(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  ของท่านไม่ทราบว่าเป็นพุทโธหรือว่าอะไรคะ 

พระอาจารย์ –  เจริญสติ    


โยม –  เจริญสติหรือคะ ดูมันไม่ยากเนอะ  แต่มันยากนะ เจริญสติ (หัวเราะ) สติมันก็จะวอกแวกอยู่เรื่อย ...เจริญสติเวลาปฏิบัติไป ถ้ามันเงียบไปเลย เริ่มต้นใหม่ใช่ไหมคะ บริกรรมใหม่อย่างนี้หรือคะ 

เช่นเราพองหนอยุบหนอไป สักพักเราจะรู้สึกมันจะไปแล้ว ปรู๊ดๆๆ อย่างนี้  เอ้า หายไปอีกแล้ว ตามไม่ทันอีกแล้ว อย่างนี้  กลับมาพองหนอยุบหนอใหม่อย่างนี้หรือคะ ถูกรึเปล่าเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  สติ ...สติแปลว่าการระลึกรู้   


โยม –  สัมปชัญญะล่ะคะ   

พระอาจารย์ –  สัมปชัญญะแปลว่ารู้ตัวทั่วพร้อม 


โยม –  มันดูเหมือนสติทั้งคู่เลย มันติดกันมากเลยใช่ไหมคะ อย่างเช่นเรารู้ว่าเรากำลังนั่ง อันนี้เป็นอะไรคะ  

พระอาจารย์ –  สติ  


โยม –  แล้วสัมปชัญญะล่ะคะ  

พระอาจารย์ –  นั่งยังไงล่ะ   


โยม –  แสดงว่าสัมปชัญญะจะเป็นรายละเอียด  

พระอาจารย์ –  คือการเห็นต่อเนื่อง 


โยม –  มันเหมือนคู่กันเลยน่ะค่ะ 

พระอาจารย์ –  อือ มันก็คู่กันอยู่แล้ว  แต่ส่วนมากพวกเราจะมีแค่สติ แต่ว่าไม่มีการเห็นต่อเนื่อง ...เป็นชั่วคราว แล้วก็หายไป    


โยม –  ถ้าติดกันตลอด แปลว่าเรารู้ปัจจุบัน ว่าตอนนี้เรานั่ง  

พระอาจารย์ –  กำลังทำอะไรอยู่


โยม –  นั่ง แล้วตอนนี้เรานั่ง กำลังคุยกับพระอาจารย์อยู่   

พระอาจารย์ –  เห็นท่านั่งอยู่ตลอดใช่ไหม เคลื่อนไหว หรือนิ่ง หรือเฉย หรือขยับ ก็เรียกว่าเห็น


โยม –  ค่ะมันก็เห็น แล้วก็เห็นท่านพูดด้วย พร้อมกันหมด อันนี้แปลว่า...  

พระอาจารย์ –  ก็มีสัมปชัญญะ   


โยม –  กำลังทำอยู่  อันนี้คือสัมปชัญญะ  แต่ถ้าเป็นสติก็คือ รู้ว่าเรากำลังนั่งและกำลังคุย  แต่ขณะที่คุยต่อเนื่องไปนี่เป็นสัมปชัญญะ อย่างนั้นรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวก็หายไปแล้ว ใช่ไหม 


โยม –  ใช่ค่ะ มันไม่ต่อเนื่อง   

พระอาจารย์ –  พอหายแล้วรู้ใหม่ใช่ไหม ...พอรู้ใหม่นั่นเรียกว่าสติ เข้าใจรึยัง


โยม –  แต่ถ้าต่อเนื่องไปเป็นสัมปชัญญะ  

พระอาจารย์ –  แล้วเดี๋ยวก็ขาดหายไปอีก     


โยม –  อย่างสมมุติว่าคนกำลังร้องไห้ มีสติว่าตัวเองกำลังร้องไห้ แต่รู้ว่าตัวเองน้ำตาไหล อย่างนี้คือสัมปชัญญะ   

พระอาจารย์ –  อือ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เรียกว่ารู้ตัว   


โยม –  คอนทินิวอัส (continueus) สัมปชัญญะใช่ไหม  

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นสติมันเป็นแค่ขณะหนึ่งๆ ...เพราะนั้นว่าสติกับสัมปชัญญะจริงๆ มันไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปกำหนดที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น


โยม –  เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอด 

พระอาจารย์ –  อือ แล้วแต่กายจะเป็นยังไง ...ธรรมชาติของกาย มีอยู่ตลอดไหม   


โยม –  มีตลอดค่ะ  

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นสติ ไปรู้กายได้ตลอดรึเปล่า  


โยม –  รู้แล้วก็หยุดๆ   

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ต้องจำเพาะว่ากายอยู่ในท่าไหนใช่รึเปล่า เพราะกายมีอยู่ตลอดน่ะ ...เพราะนั้นเราไม่ต้องไปสร้างรูปแบบของกายขึ้นมาใหม่เลย ...เดี๋ยวนี้ก็รู้ได้ใช่ไหม


โยม –  รู้ได้ว่านั่ง แล้วก็ฟัง

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นการเจริญสติจริงๆ มันไม่มีคำว่าหยุดได้หรอก ไม่ต้องบอกว่ามีเวลาไหน ต้องทำเวลาไหน ...รู้ได้ตลอดรึเปล่าล่ะ กายนี่ มันมีให้ดูตลอดไหม   


โยม –  มันมีให้ดูตลอด แต่เราไม่ได้ดูตลอด  

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มันไม่ใช่ว่าจะมาแค่หนึ่งชั่วโมง..นั่งแค่หนึ่งชั่วโมงดู สองชั่วโมงดู ...เข้าใจรึยังว่าสติที่แท้จริงนี่...มันต้องมีตลอด

ดูได้ตลอด ไม่ว่าอาการไหน ไม่ว่ากายอยู่ตรงไหน ทำอะไรอยู่  จิตก็มีอยู่ตลอด ใช่รึเปล่า ...ตอนนี้ก็มีใช่ไหมจิตน่ะ หรือใครไม่มีจิต ...ตอนนี้มีอาการของจิตไหม

เห็นมั้ย กำลังหา ...รู้ไหมกำลังหา นี่  เห็นมั้ย มีอาการใช่มั้ย  อาการมีตลอดใช่ไหม  แม้แต่หาอะไรไม่เจอ ก็คือไม่มีอะไร ใช่ไหม ...นั่นน่ะคืออาการหนึ่งของจิต

ก็เห็น สติก็รู้ตามความเป็นจริงของอาการ ...ไม่เห็นต้องทำอะไรขึ้นมาเลย ของมันมีอยู่แล้วน่ะ ใช่รึเปล่า
  

โยม –  แต่มันตามไม่ค่อยทัน  

พระอาจารย์ –  ก็ต้องเจริญสติไง...ท่านถึงเรียกว่าการเจริญสติ ...ต้องขยัน ใส่ใจ หมั่นเพียร ในการเจริญขึ้นมารู้ ระลึกรู้ขึ้นมา อย่าเผลอ อย่าหาย 


โยม –  ดูนี่ดูอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องดูกายใช่ไหมคะ  อย่างทำงานนี่ เราก็ดูเรื่องงานอย่างนี้ มีสติสัมปชัญญะตรงนั้นรึเปล่าคะ
 
พระอาจารย์ –  คือให้อยู่เนื่องด้วยกายและใจ ...สติถ้าอยู่กับการงาน อยู่กับภายนอก มันก็เป็นสติ เป็นสมาธิ ...แต่ว่าเป็นสมาธิที่ออกนอก    


โยม –  เราก็ต้องทำงาน แล้วการทำงานเราก็ต้องมีสติ   

พระอาจารย์ –  ทำงานก็ทำไป ก็เห็นอาการของกาย มันกำลังทำอะไรอยู่ล่ะ พูดก็มีสติ...ได้ไหม รู้ไหมว่ากำลังพูด ได้ยินไหมเสียงตัวเองพูดอะไรอยู่ อย่างนี้

ส่วนมากเวลาพูดมันไม่รู้เรื่องเลย สติสัมปชัญญะหาย ไม่รู้ตัว เนี่ย ...ตัวหายไปไหนล่ะ กายหายไปไหนล่ะ ไม่รู้เลย จิตมันพุ่งออกไป ...นี่ก็พุ่งมาอยู่ที่เรา

เพราะนั้น การเจริญสตินี่มันทำได้ตลอดเวลา แต่ว่ามันอยู่ที่ความขยัน ...มันไม่ใช่ว่าต้องเป็นช่วงใดช่วงหนึ่ง หรือเวลาเราอยู่คนเดียว หรือว่าก่อนนอนค่อยเจริญ...ไม่ใช่นะ

ถ้าจะให้เห็นผล หรือว่าให้เกิดความเข้าใจต่อเนื่องนี่ ...จะต้องทำสติให้ต่อเนื่อง ไม่ขาดระยะเลย 

คนขี้เกียจ ชอบเผลอ ชอบปล่อย  ชอบอาการที่ปล่อย หายไป ลอยไปลอยมา  มันคุ้นเคยอย่างนั้น พอกลับมารู้แล้ว..ได้นิดหนึ่ง..ก็ขี้เกียจรู้แล้ว ขี้เกียจเห็นแล้ว ...ปล่อยดีกว่า มันสบายกว่า มันเพลินกว่า

ตรงนี้คือสิ่งที่มันมาปิดบังปัญญา คือความเผลอเพลิน ความหลงไปกับอาการภายนอก ...เห็นอะไรก็หลงไปกับสิ่งที่เห็น คุยอะไรก็ไปอยู่กับที่คุยอยู่ ดูอะไรก็ไปอยู่กับสิ่งที่ดู ได้ยินอะไรก็ไปอยู่ที่เสียง

มันไม่ได้อยู่ที่กายไม่ได้อยู่ที่ใจเลย ไม่รู้กายไม่รู้จิตเลย อย่างนี้ ...แล้วพวกเราจะคุ้นเคยกับอาการที่หายไปกับการกระทำคำพูด เรียกว่าทำไปโดยขาดสติและสัมปชัญญะ

พอมาเริ่มรู้นิดหนึ่งแล้วก็หายไปเลย รู้นิดนึงก็หายเลย มันไม่ต่อเนื่อง ...สติไม่ต่อเนื่อง สัมปชัญญะไม่เกิด  มันก็ไหลไปไหลมา เดี๋ยวก็ไปคว้าสุขคว้าทุกข์มาแล้ว

เดี๋ยวก็ไปหมายมั่นในอาการอย่างนั้นอย่างนี้ สร้างอารมณ์อย่างนั้น มีอารมณ์อย่างนี้  พอใจอย่างนั้น ไม่พอใจสิ่งนี้ ...มันก็ทำไปเรื่อยเปื่อยตามอำเภอใจของตัณหา หรืออุปาทาน หรือว่าความหลง

เพราะนั้นการเจริญสติ มันไม่ได้ว่าให้ทำอะไร ...แต่ว่ากลับมาดูอาการ ให้ทันอาการของกาย ให้ทันอาการของจิต ...ให้รู้ให้เห็นอยู่ตรงนี้ ไม่ต้องรู้อะไรมากกว่านี้หรอก

ไอ้แค่รู้แค่นี้น่ะ...ทำให้ได้เถอะ  นี่...มันต้องอาศัยความใส่ใจ ศรัทธา ตั้งใจ ...ไม่ใช่ทำแบบเล่นๆ การภาวนาไม่ใช่ของเล่น การภาวนาไม่ใช่ทำเล่นๆ แล้วจะเห็นผลนะ...ไม่ได้

ต้องจริงจัง ต้องตั้งใจ ทำแล้วก็ต้องให้ได้ว่า...สตินี่ เหมือนกับลมหายใจน่ะ ...ลมหายใจเคยหยุดไหม


โยม –  ไม่หยุด ดูตลอด  

พระอาจารย์ –  อือ พยายามให้ได้อย่างนั้นน่ะ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ...แต่ไม่ได้หมายความว่าบังคับแบบ...โหย เอาเป็นเอาตาย ...แต่ว่าให้ขยัน ใส่ใจ

มีความใส่ใจตั้งใจมากๆ ไม่ปล่อยให้เผลอนาน ไม่ปล่อยให้เพลินไปนาน ...พอรู้ตัวก็พยายามต่อเนื่องในการรู้เห็น นี่เรียกว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ไม่มีว่าต้องมากำหนดว่า “หนอ” หรือว่ากำหนดพุทโธ หรือกำหนดอะไรที่ใดที่หนึ่งหรอก ...กายมันมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว อาการของใจก็มีอยู่ตลอดเวลา

เดี๋ยวก็สบาย เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็ไม่มีความคิด เดี๋ยวก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ อดีต-อนาคต ...มันมีอยู่ตลอด อาการน่ะ  เพียงกลับมาดูว่าเดี๋ยวนี้มันกำลังอยู่ในอาการไหน

ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปตำหนิ ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรกับมัน ...รู้ก่อนว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นยังไง อยู่ในอาการไหน นี่เรียกว่าการเจริญสติ


ไม่ต้องหวังผลอะไร ...ว่าจะได้อะไร รู้แล้วจะได้อะไร จะเกิดปัญญาไหม จะได้ญาณ ได้ฌานอะไรไหม ...แค่มีสติระลึกรู้ไว้ก่อน     


(ต่อแทร็ก 2/25  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น