วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/25 (2)


พระอาจารย์
2/25 (530905)
5 กันยายน 2553
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/25  ช่วง 1

โยม –  ดูลมหายใจอย่างเดียวตอนนี้ ทั้งวันที่นึกได้ รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คือรู้ตัวทั่วพร้อม   

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นที่ใดที่หนึ่ง   


โยม –  เอาง่ายๆ เอาลมหายใจ ...เพราะเราเห็นได้  รู้คือทั้งวันเราทำอะไรอยู่เวลานั้นๆ จะนั่งจะนอนจะเดิน อะไรก็ตาม ก็ต้องให้รู้  

พระอาจารย์ –  รู้ว่ากายกำลังนิ่ง กำลังไหว กำลังขยับ   


โยม –  กำลังดูลมอยู่ กำลังนั่ง 

พระอาจารย์ –  ให้รู้ให้เห็นว่ามันอยู่กับอะไร มันมีอะไรปรากฏขึ้น ...อย่าเครียด อย่ากังวล อย่าคิดว่ามันยาก อย่าคิดว่าทำไม่ได้ ...ไอ้พวกนี้มันความคิดทั้งนั้น อย่าไปเชื่อ

ก็แค่รู้ธรรมดานี่แหละ ไม่ใช่ว่ารู้ยากรู้เย็นอะไร ไม่ใช่ว่ามันลำบากอะไร ...รู้ธรรมดา เห็นว่า...อ้อ กำลังนั่ง กำลังยืน สบาย-ไม่สบาย กลับมารู้บ่อยๆ     


โยม –  การที่รู้ตัวตลอดนี่ ก็เหมือนกับจิตเราไม่ได้ออกข้างนอกเลยใช่ไหมคะ   

พระอาจารย์ –  อือ   


โยม –  เหมือนกับเราอยู่กับตัวเองตลอดเวลาอย่างนี้ ไม่ได้ส่งจิตออก คนส่วนใหญ่ก็คือคิดนั่นคิดนี่ ออกไปเรื่อย ส่งจิตออกนอกเรื่อย ...ใครไปไหน ทำอะไร คิดให้เขาหมด  

พระอาจารย์ –  ไปคิดแทนคนอื่นก็มี ไปทุกข์แทนคนอื่นก็มี ...แล้วเราไม่รู้ตัวด้วยว่าขณะนั้นมันทำอะไร 

เพราะนั้นถ้ารู้ตัวบ่อยๆ หรือกลับมารู้อาการของกายและจิตบ่อยๆ ....จิตมันไม่ไปไหน จิตไม่โลดแล่น จิตไม่ส่ายแส่ออกไป แล้วมันจะเกิดความตั้งมั่นอยู่ภายใน

แล้วมันจะเข้ามาเรียนรู้กระบวนการของกายและจิตตามความเป็นจริง...จะเห็นเอง จะเข้าใจด้วยตัวของตัวเอง มันไม่มีผลอะไรหรอก มันไม่ได้อะไรหรอก แต่มันมีอย่างเดียวคือเข้าใจ

เข้าใจว่านี่คืออะไร มันเป็นยังไง มันมีสาระจริงไหม มันเป็นเรื่องเป็นราวจริงไหม หรือทั้งหมดมันเป็นแค่มายา หรือทั้งหมดมันเป็นแค่คิดเอาเอง หรือทั้งหมดเป็นแค่ความคาดเอา เดาเอา

มันจะหาความเป็นจริงไม่ได้เลย ต่อไป ถ้าดูไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องไป ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นความจริงที่พอจะให้จับต้องได้เลย ทั้งความคิด ทั้งความรู้สึก ทั้งเรื่องคนนั้น ทั้งเรื่องคนนี้

ทั้งเหตุการณ์ต่างๆ นานา ทั้งกายของเรา จิตของเรา อารมณ์ของเรา...ทุกอย่าง  มันก็เหมือนเมฆหมอกที่เลื่อนไปเลื่อนมาแค่นั้นเอง หาสาระแก่นสารอะไรกับมันไม่มี

ซึ่งแต่ก่อนเราเป็นสาระแก่นสารกับพวกนี้มากมาย กับคำพูด กับเสียงกับภาพเคลื่อนไหว กับอาการ ทั้งของคนอื่น ทั้งของเราเอง ...มันกลายเป็นเรื่องเป็นราวไปหมด เป็นจริงเป็นจัง ทุกอย่างจริงจังหมด

เพราะนั้นกลับมารู้อาการ เท่าทันอาการจริงจังเหล่านี้ก่อน ...มันจะเข้าใจว่า ไอ้ที่จริงจังนี่ มันมีจริงรึเปล่า มันมีแก่นสาร มันควรค่าแก่การเข้าไปสุขเข้าไปทุกข์กับมันหรือ

มันก็จะเห็น เข้าใจด้วยตัวของมันเอง ...จิตมันก็จะเรียนรู้อย่างนี้ เรียนรู้จากปัจจุบันที่ปรากฏนั่นแหละ  

ก็จะเรียนรู้จากการที่มัน...เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้  ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้  ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา 

อยากก็ไม่ได้อย่างอยาก อยากได้ดั่งใจมันก็ไม่ดั่งใจ ไม่อยากได้มันก็ดันมา อยากให้มันอยู่นานๆ มันก็หายไป ไม่อยากให้มันออกมันก็ออก อยากให้มันอยู่มันก็ไม่อยู่

นี่ ก็จะเห็นว่าอาการของจิตมันโลดแล่นไปมาแบบไม่มีร่องรอย มันไม่ใช่อยู่ในอำนาจ หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถจะบอกให้มันฟังได้ 

นี่ มันก็จะเห็นตามความเป็นจริงมากขึ้นๆ แล้วก็จะเห็นว่า จะไปเอาสาระอะไรกับมันไม่ได้ ...อารมณ์ก็ตาม ความรู้สึกก็ตาม มันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่รู้ตามความเป็นจริง 

พอไปจริงจังกับสิ่งที่ไม่จริงจัง มันก็กลายเป็นอารมณ์ที่จริงจังขึ้นมา ...แต่ถ้ามองว่ามันไม่จริงจัง ก็ไม่มีอารมณ์กับมันหรอก มันก็มองเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเอง ตั้งอยู่เอง ดับไปเอง

การเกิดมาของอารมณ์นี่ ก็ไม่ได้อยากให้มันเกิด...มันก็เกิดของมันเอง ...แล้วอยากให้มันหาย มันก็ไม่หาย  ไม่อยากให้มันหาย...ก็ดันมาหาย 

เห็นมั้ย มันเป็นเรื่องของเขาแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่อยู่ในอำนาจความอยากหรือไม่อยากของเราเลย

แต่ทำไมเรายังงมงายโง่งมอยู่กับอาการพวกนี้ จะต้องให้ได้อย่างนั้น จะต้องให้เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ด้วยความหลง ว่าเราทำได้ เราคุมได้ เราน่าจะทำได้ เราต้องทำได้

เมื่อเราเรียนรู้ด้วยการกลับมาดู กลับมาสังเกตมันตามความเป็นจริง โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ...นี่แหละ ก็จะเห็นอาการตามความเป็นจริง 

ว่าทุกอย่างเกิดจากเราหลอกตัวเอง แล้วก็ถูกอาการพวกนี้หลอก แล้วก็ยอมให้มันหลอก

เมื่อเข้าใจถ่องแท้ดีแล้ว มันก็จะไม่ถูกอาการพวกนี้หลอก ก็เห็น...อ๋อๆๆ มันก็เป็นอย่างนี้ของมัน มันก็ควรเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นอย่างอื่น

เขาตั้งขึ้นเอง...เขาก็ดับไปของเขาเอง ...เวลามาก็ไม่ได้เรียก เวลาไปเขาก็ต้องไปของเขาเองสิ ไม่ได้อยู่อำนาจของเรา ...กายมันเป็นอย่างนี้ จิตก็ต้องเป็นอย่างนี้

เกิดแก่เจ็บตาย เห็นมั้ย ไม่ได้เรียก ไม่ได้บอก ไม่ได้เรียกร้อง ...มันก็มาของมันเอง มันก็เป็นไปของมันเอง  จนที่สุดมันก็ดับไป เหมือนกัน...ไม่ว่าใคร อยู่ในครรลองนี้ตลอด

จะไปดื้อด้านแข็งขืนต่อต้าน ยื้อยุดฉุดกระชาก บังคับ ห้าม ...มันก็ไม่เคยสนใจ มันไม่เคยฟัง มันก็ดำเนินไปตามเหตุและปัจจัยที่มันต้องเป็นไปอย่างนั้น

นี่คือสภาวะตามความเป็นจริง ...แต่ทำไมเราไม่ยอมรับ แค่นั้นเอง ทำไมเวลาจิตเกิดอาการต่างๆ นานา เราไม่ยอมรับ ...ทุกข์มันจึงเกิดเพราะเราไม่ยอมรับตามความเป็นจริงที่ปรากฏ

ถ้าเรายอมรับ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบอยู่ตรงนั้นแล้ว มันจะตั้งขึ้นก็ได้ มันจะมากก็ได้ มันจะน้อยก็ได้ หรือมันจะดับไปก็ได้ ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของเรา เพราะไม่มีเราเข้าไปหมายมั่นว่าจะต้องอย่างนั้น ไม่อย่างนี้

เหมือนเราเขียนเสือ แล้วก็หลอกตัวเองว่านี่เป็นเสือจริงๆ ทั้งที่เราเขียน...เป็นภาพเสือที่เราเขียนไว้ ...ก็เขียนเอง กลัวเอง หลงเอง..ว่าเป็นเสือจริงๆ จังๆ ...ทั้งๆ ที่ก็เขียนเองกับมือ มันจะเป็นเสือจริงๆ ได้อย่างไร

นั่นแหละจิตมันหลอก ก็จริงจังไปกับมัน  อะไรเกิดขึ้นก็รับไม่ได้ อะไรเกิดขึ้นหน่อยเป็นทุกข์ อะไรเกิดขึ้นก็ต้องเอาให้มันอยู่ ต้องเอาให้มันไป ...สติเท่านั้นน่ะ ถึงจะเข้าใจแล้วก็เรียนรู้ด้วยตัวของมันเอง 

ไม่ใช่ว่าสติเป็นไปเพื่อให้เกิดความสงบ เพื่อให้เกิดความไม่ปรุงไม่แต่ง ไม่คิดไม่นึก หรือว่าให้อยู่เฉยๆ หรือว่าให้เกิดธรรมอย่างนั้นธรรมอย่างนี้ขึ้นมา หรือสภาวะนั้นสภาวะนี้

สติ...หน้าที่ของสติ คุณสมบัติของสติ อานิสงส์ของสติ ...คือการกลับมารู้เห็นตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง ...ไม่ใช่เพื่อให้ได้อะไรเลย

กลับมาเห็นว่า..อ๋อ กายเป็นอย่างนี้ อ๋อ จิตเป็นอย่างนี้ อ๋อ อาการของจิตมันเกิดมาอย่างนี้ อ๋อ ก่อนที่มันเกิด ต้องมีอันนี้เกิดก่อน แล้วอย่างนี้ก็เกิดมา ...นี่ สตินี่เข้าไปดู เห็น รู้แล้วก็เห็นๆ อะไรที่ปรากฏขึ้น

การเจริญสติคือการกลับมารู้เห็นเรื่องกาย เรื่องความคิด เหมือนกับเราเรียนรู้มัน ว่ามันมีอะไร มันเกิดมาอย่างไร มันตั้งอยู่อย่างไร ทำไมมันถึงตั้ง ทำไมมันถึงอยู่ ทำไมมันถึงมาก ทำไมถึงดับ

มันก็เห็นไปเรื่อยๆ มันก็เข้าใจตัวเองไปเรื่อยๆ ...ไม่ได้เข้าใจคนอื่น ไม่ได้เข้าใจอะไร  แต่เข้าใจว่า...อ๋อ กายมันเป็นอย่างนี้ กับความคิดมันมาอย่างนี้ๆ

มันก็เข้าถึง...เห็นปัจจยาการของการต่อเนื่องกัน ของการเกิดของอารมณ์ ของการดับไปของอารมณ์

สุดท้ายก็จะเห็น...มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ...ไม่ได้ขึ้นกับอะไร ขึ้นกับกฎเดียว นั้นคือกฎของไตรลักษณ์ ...ไม่เที่ยง แปรปรวน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คุมไม่ได้ แน่ะ

เพราะนั้นมันไม่ใช่ว่าเจริญสติเพื่อให้เกิดอะไร หรือให้เป็นอะไร หรือให้ได้อะไร ...มีแต่การกลับมารู้กลับมาเห็นกายและจิตตามความเป็นจริง

จะหลับก็ได้ จะลืมก็ได้ จะอะไรก็ได้  ก็ให้รู้ตอนนี้กำลังหลับ ตอนนี้กำลังลืม อ้อ ตอนนี้หายไป ...ก็ดูมันไป ไม่ต้องไปเดือดร้อนว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้นะ ถึงจะเรียกว่าได้ผล

ไม่มีผลอะไรหรอก ...ผลคือเข้าใจและยอมรับความเป็นจริง ...แต่ถ้าดูแล้วไม่เข้าใจและไม่ยอมรับมัน แล้วจะต้องให้ได้อย่างนั้นให้ได้อย่างนี้ นั่นเป็นเรื่องตัณหาแล้ว เป็นเรื่องของความอยาก

ปฏิบัติธรรมแล้วอยากได้อะไร อยากได้อะไรต้องถามตัวเอง ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วอยากได้อะไร อย่าปฏิบัติซะดีกว่า ไปทำมาหากินแล้วได้เงินเดือนซะ เห็นมั้ย มันต้องมีอะไรตอบแทน

แต่การปฏิบัติ การเจริญสติ ไม่ได้อะไร ...แต่เข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจกระบวนการของกายมากขึ้น เข้าใจกระบวนการของจิตมากขึ้น แค่นั้น

เราไม่สนใจหรอกว่ามันถูกหรือมันผิด แต่เราเข้าใจ ...นั่นแหละคือผลที่แท้จริง เพื่อความรู้และเข้าใจ ...เมื่อรู้และเข้าใจแล้ว มันจึงจะวาง

ถ้าไม่รู้และไม่เข้าใจตัวมัน อารมณ์มัน อาการของมัน...มันไม่มีทางวาง  มีแต่จะพุ่งออกไปหา ไปแก้ ไปเพิ่ม ไปลด ไปทำให้มันคงอยู่ ไปทำให้มันดับไป

มีแต่การกระทำมากขึ้นๆ ...เพื่ออะไร...เพื่อให้มันได้ดั่งใจเราเอง ...อย่างนี้ไม่เรียกว่าผล อย่างนี้เรียกว่าทำไปตามความอยาก แสวงหา ไม่พอใจในสิ่งที่มีและเป็น

เพราะนั้นการปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้อะไร มีแต่กลับมารู้ตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเราเองมากขึ้น ...คนอื่นจะเข้าใจยังไงก็แล้วแต่ ไม่ต้องสนใจ ไม่ใช่เรื่อง

ต้องเข้าใจกระบวนการของเรา ทำไมถึงต้องมีอารมณ์ แล้วก็ดูว่ามันมาอย่างไร ...คอยสังเกต คอยจับอาการของมัน มันมาตอนไหน มันตั้งอยู่ที่ไหน มันดับไปแล้วมันหายไปไหน

ในขณะที่มันเกิดมันตั้งอยู่ อะไรทำให้มันตั้งมากขึ้น ทำไมมันอยู่นาน หรืออะไรทำให้มันหายไปเร็วขึ้น ...สติเท่านั้นจึงจะเห็น ความเป็นจริงของอาการทั้งหลายทั้งปวง แล้วมันจะเข้าใจ

ไม่ใช่ไปมุ่งเอาแต่ว่าผลคือความสงบหรือความสบาย หรือว่ามีความสุข หรือว่าไม่มีทุกข์แค่นั้น ...มันยังไม่จบแค่นั้นหรอก  ถ้ามันจบแบบดื้อๆ แค่นั้น มีพระอริยะเต็มโลกแล้วอย่างนี้

เพราะการปฏิบัติแต่ละคนก็หวังให้ได้แค่นั้น ...แต่มันต้องเข้าใจตัวของมันเอง มันถึงจะเห็นผลสูงสุด เห็นความไม่มีสาระของสิ่งที่เรากำลังหา กำลังทำ 

จิตที่มันกำลังหา จิตมันกำลังทำ ตราบใดที่มันยังเห็นว่ามีสาระ...ให้เรียนรู้ไว้ต่อไป ฟังเข้าใจมั้ย 


โยม –  เข้าใจค่ะ   

พระอาจารย์ –  การปฏิบัติมีอยู่แค่นี้ ไม่ยากหรอก  


(ต่อแทร็ก 2/25  ช่วง 3)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น