วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/26 (2)


พระอาจารย์
2/26 (530911A)
11 กันยายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/26  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แล้วต่อไปนี่ ความคิด ความปรุง ความจำ ความหมายมั่น ความคาดคะเน...จะสั้น ออกไปไม่ไกล ธรรมชาติมันจะออกไปนิดเดียว ...พอรู้ปุ๊บมันจะสลายเลย สลายเลย

มีแต่หดเข้ามาๆๆ เรื่อยๆ หดเข้ามาเหลือแค่ใจ ...จนถึงขั้นหนึ่งจุดหนึ่งนี่ มันจะเหลือแค่ใจรู้ ...แล้วมันก็มีอาการที่ไม่เรียกว่าอาการแล้ว ยังไม่ทันจะเป็นอาการอะไร

มีแต่การขยับ กระเพื่อม กระเทือน ไหว สั่น หมอง ขุ่น พวกนี้...เป็นอาการภายใน ธรรมารมณ์ภายใน ที่ยังไม่ทันจะเป็นสุขเป็นทุกข์เลย  แค่มีอาการยิบๆ ยับๆ เล็กๆ น้อยๆ พั้บๆๆๆ ไป

หรือถ้าไม่มีอะไร มันก็จะเป็นปกติ ...รู้ปกติ ราบเรียบ รู้ราบเรียบอยู่ภายใน ...ส่วนภายนอกมันก็ขึ้นๆ ลงๆ ไปของมัน ไม่สนใจ จิตมันจะไม่สนใจแล้ว จะไม่ให้ความสำคัญหมายมั่น

อุปาทานพวกนี้ก็จะถอยออกๆ คลายออกๆ เป็นเรื่องของมันหมด เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของสภาวธรรมไป...ที่มันจะเกิดดับๆ ของมัน เราไม่ต้องไปใส่ใจกับมัน

มันก็จะหดตัวไปเรื่อยๆ จนเหลือแค่นิดเดียว ถึงจุดๆ หนึ่ง..จะเหลือแค่จุดจุดเดียว ที่มันยังมีอาการแตกออกมาจากรู้ ...สติก็รับรู้ด้วยความเป็นกลาง ไปเรื่อยๆ

ไม่ได้ทำอะไรเลยนะนั่นน่ะ ...รู้เฉยๆ ดูมันไป รู้มันไป  จนกว่ามันจะหมดอาการ จนกว่าใจมันหมดอาการน่ะ พั่บเลย...หมดก็หมดเลย หมดคือหมดจริงๆ

คือมันไม่มีอาการแล้ว ไม่มีขยับ ไม่มีเขยื้อน ไม่มีเลื่อน ไม่มีออก ไม่มีเข้า ...มันโท่โร่เป็นอมตะธาตุ อมตะธรรมของมัน ไม่มีวันตาย  ดูเหมือนอย่างนั้นเลยน่ะ

คือเป็นใจรู้เปล่าๆ ไม่มีอาการภายในออกมา ภายนอกก็ไม่เข้า ...มันเป็นรู้  ธรรมชาติของรู้ที่บริสุทธิ์ ...เหมือนเพชรน้ำหนึ่งน่ะ มันไม่มีอะไรเข้ามาได้

แล้วภายในมันก็มีแต่ความบริสุทธิ์ ความไม่มีอะไรอยู่ในนั้น ...มันเป็นตัวของมันเองเลย กลับคืนสู่ธรรมชาติของใจที่แท้จริง...หยุด ดับ หมดอาการ

ไม่มีอาการภายในออกมาอีก ไม่มีคำว่าเกิด ไม่มีคำว่าดับ ...ก็กลับไปเป็นภาวะเดิม คือวิสังขาร  คือใจที่เป็นวิสังขาร ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีอะไรจะมาปรุงแต่งใจได้อีก

แล้วตัวใจก็ไม่ปรุงแต่งอะไรออกมา ไม่ปรุงแต่ง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน...ไม่มีแล้ว

ส่วนขันธ์นี่ เป็นเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของใจนะ ...เป็นเรื่องของวัตถุธาตุ เป็นเรื่องของนามธาตุ เป็นเรื่องของนามธรรม รูปธรรมนามธรรม

เกิดขึ้นตั้งอยู่ตามเหตุปัจจัย...เป็นผลจากการกระทำในอดีต ส่งผลมาอยู่ในปัจจุบัน และปัจจุบันกระทำประคับประคองต่อไป ก็ส่งผลไปถึงอนาคต

จนกว่ามันจะหมดกำลัง ...เหมือนเครื่องปั่นไฟฟ้าที่มีน้ำมัน แล้วมันก็ติดเครื่องไปจนกว่าน้ำมันจะหมด แล้วเราไม่ไปเติมน้ำมัน แล้วเราก็ไม่ไปปิดเครื่อง

ก็ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของเครื่องปั่นไฟ...ที่มันจะปั่นไปเรื่อยๆ จนกว่าน้ำมันจะหมด ...หมดก็ เออ ตาย ก็หมดไป อย่างนั้นน่ะ ใจก็ไม่รับรู้ ไม่ข้องเกี่ยว ไม่มีอาการปรุงแต่งภายใน หมดอาการแล้ว

ไม่ออกไปยินดี ไม่ออกไปยินร้ายกับทุกสภาวะ เป็นเรื่องของมันหมดเลย  ...ก็มีหน้าที่อย่างเดียวคือรู้เฉยๆ โดยสมบูรณ์  ไม่มีแม้แต่นิดหนึ่งที่จะไปแวะไปเกิดไปหือไปอือ ไปเอ๊ะ ไปอ๊ะ ไปนั่นไปนี่กับมัน

นี่ ไม่ต้องพูดถึง ห่วง เสียดาย อาวรณ์  มันไม่มีอาการเลย ไม่มีอาการ ...ก็เป็นรับรู้ไป  พอเครื่องดับ ใจก็ดับ...หมดภาระแล้ว หมดวาระแล้ว  ต่างอันต่างกลับคืนสู่อิสระ

ขันธ์นี่...ที่มันอยู่นี่ มันอยู่ด้วยเหตุปัจจัยที่ก่อตั้งมันอยู่นะ  สุดท้ายมันก็จะกลับคืนสู่ธรรมชาติเดิม คือดินน้ำไฟลม ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ไฟเป็นไฟ ลมเป็นลม แล้วก็อยู่ในโลกนี่ เป็นสสาร คืนสู่ธรรมชาติของโลก

ใจก็ภาวะรู้ เป็นภาวะธรรมชาติสูงสุด ธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติ ...ก็กลับคืนสู่ความไม่มีไม่เป็น กลับไปสู่ความสูญ สุญโญ สุญญตา หมด ดับ นั่น ภาวะเดิม หมดวาระไป

เพราะนั้นไอ้ที่เถียงกัน ทะเลาะกัน กล่าวร้ายป้ายสีกัน เบียดเบียนกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกกัน แบ่งความเห็นของการปฏิบัติกัน ...เสียเวลา มันเป็นเรื่องเสียเวลา

เสียเวลาที่จะไปหาเหตุหาผล หาถูกหาผิด กับในแค่อาการ ความคิด ความเห็น การกระทำคำพูด ...เราบอกว่าทุกสิ่ง...ถ้ารับรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง มันก็ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ลูกเดียว...เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป...จบ ...ถูกก็ช่าง ผิดก็ช่าง ดีก็ช่าง ร้ายก็ช่าง  เดี๋ยวก็ดับไป  เราไม่ต้องไปให้ค่าให้ความสำคัญอะไรกับมันหรอก

รู้เฉยๆ ...ถ้ายังให้ค่าอยู่..ก็รู้ว่าเข้าไปให้ค่า รู้ว่ายินดี รู้ว่ายินร้าย  ดูอาการที่จิตมีปฏิกิริยาตอบโต้กับมัน ...แล้วก็แยกออกมาจากมัน ออกมาจากอาการนั้น ให้เป็น...รู้กับยินดี รู้กับยินร้าย

แยกออกมา แล้วอยู่ที่รู้ อย่าไปอยู่กับอาการ อย่าไปอยู่กับความคิด ...พอเริ่มคิดก็รู้ รู้แล้วอยู่กับรู้นะ อย่าไปอยู่กับคิด ...ไม่ใช่เห็นความคิดแล้วก็เห็นไปเรื่อย แต่ไม่รู้ว่ารู้อยู่ตรงไหน เข้าใจมั้ย

มันดูความคิด รู้ความคิด  พอรู้ว่าคิดแล้วมันไม่อยู่กับรู้ มันไปอยู่กับคิด เข้าใจรึเปล่า  มันก็เลยออกไปเรื่อย ไม่จบ ...เพราะนั้น ถ้ารู้...ให้กลับมาอยู่ที่รู้ ตัวรู้  รู้บ่อยๆ แล้วให้อยู่ที่รู้ 

รู้กายเหมือนกัน ไม่ใช่อยู่ที่กาย ...อยู่ที่ "รู้ปกติ" กับกาย ให้กลับมารู้อยู่ที่รู้ อย่าไปอยู่ที่กาย ...อยู่ที่ใจเหมือนกัน อาการของใจเหมือนกัน ก็ไม่ได้อยู่ที่อาการ แต่อยู่ที่ "รู้ปกติ" กับอาการ

เพราะนั้นรู้ใจกับรู้กายนี่ มันรู้เดียวกัน เป็นรู้เดียวกัน รู้ปกติเหมือนกัน ...สติปัฏฐานเป็นอุบาย กายเวทนาจิตธรรมเป็นอุบาย...เพื่อให้เกิดการรู้ เป็นที่ตั้งของรู้ เป็นฐานที่ตั้งของสติ ให้กลับมารู้

สติที่รู้ นั่นน่ะคือใจรู้ ...สติแปลว่าระลึกรู้...ระลึกเพื่อให้เกิดรู้ เห็นรู้ขึ้นมา ตัวรู้ปรากฏขึ้น ...ถ้าไม่มีสติ ตัวรู้หาย ผู้รู้หาย ใจหาย

กายหายใจหาย ไม่รู้กายอยู่ไหน ใจอยู่ไหน ไม่รู้ ไม่มี...รู้ไม่มีเลย ...แน่ะ หลงๆ มืดบอด หายไปหมด ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ใจก็หายไป ทำอะไรไปกับอะไรก็ไม่รู้

เพราะนั้นจึงให้มีสติ  พอมีสติปุ๊บมันจึงแยกออกเป็นอาการ ...เพราะนั้นเมื่อมีสติแล้ว ก็ไม่ใช่อยู่ที่อาการ รู้แล้วอย่าไปอยู่กับสิ่งนั้น รู้แล้วให้อยู่กับรู้

กลับมารู้ ทวนอยู่อย่างนั้น ...มันเป็นการทวน เป็นการน้อมกลับ มีการโอปนยิโก  กลับมารู้ๆ กลับมาอยู่ที่รู้ ...รู้อยู่ตรงนั้นน่ะๆ อะไรๆ มันรู้ได้ตลอด อย่าเถียงว่ามันรู้ไม่ได้ตลอด

อะไรก็ได้ มันสามารถรู้ได้หมดน่ะ แล้วก็เป็นรู้อันเดียวกันด้วย ...สติขึ้นมาปุ๊บ มันรู้เลย..รู้เลย รู้เลยว่าเป็นยังไง รู้เลยว่ามีปรากฏการณ์ใด รู้เลยว่าดี รู้เลยว่าไม่ดี ...รู้ๆๆ แล้วก็อยู่ตรงนั้นน่ะ เป็นที่อันเดียว

เมื่อรู้บ่อยๆ เห็นอยู่ที่ตัวรู้บ่อยๆ ...ต่อไปนี่ สติมันจะจดจำสถานที่รู้นั้นน่ะ จดจำสภาวะที่รู้ได้ จะจดจำสภาวะใจได้ ...แล้วมันจะอยู่ตรงนั้น

แล้วมันจะเริ่มเข้าใจในตัวของมันเองว่า ตรงเนี้ย ตรงรู้เนี่ย...เป็นที่ไม่มีทุกข์ เป็นที่ที่ไม่มีปัญหา เป็นที่ที่ทุกอย่างเกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นที่ไม่มีเกิดไม่มีดับ

มันจะอยู่ที่รู้มากขึ้นๆ ไม่ไปอยู่อาการ ...แล้วก็ปล่อยให้อาการเขาเป็นไป ไม่ใส่ใจ ...ไม่ใส่ใจแล้ว ปล่อยวาง จิตมันจะวางภาวะใจว่า...อ๋อ ทุกอย่างก็แค่รู้

แล้วก็มีรู้อยู่ตลอดเวลา ยืนเดินนั่งนอน ...อย่าไปคิดว่ามันเดินไปเปล่าๆ ปลี้ๆ  มันมี...มันมีคนบงการอยู่ เห็นมั้ย ...แต่พวกเราไม่เห็นเองน่ะ

ไอ้พวกนั่งสมาธิเอาเป็นเอาตายอยู่นั่นน่ะ นั่งสงบ จะเอานั่นจะเอานี่ จะเห็นนั่นจะเห็นนี่ จะให้จิตเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ...เราถามหน่อยใครให้มึงนั่ง หือ ใครให้มึงนั่ง เนี่ย

แต่ถ้ามันมีชวนะหรือมันทวนน้อมกลับมา มันจะรู้ว่า...ใครให้มึงนั่ง ...อยู่ดีๆ มันไม่นั่งเองนะ มันมีใครล่ะให้มึงนั่ง  ทำไมไม่กลับมาดูตรงนั้นว่าใครให้มึงนั่ง ใครให้มึงอยากสงบ

ใครให้มึงอยากรู้ธรรม ใครให้มึงอยากพ้นทุกข์ ...ถ้ามันเห็นตัวนั้นน่ะ มันไม่เถียงกันหรอก บอกให้เลย จะไม่มาเถียงกันกับผลลัพธ์ของการกระทำ ความรู้ความเห็นที่ได้จากการกระทำ

ก็ถามว่าใครอยากรู้ล่ะ ใครอยากเห็นล่ะ ใครอยากจะทะเลาะกันล่ะ ...ไอ้ตัวนั้นน่ะ กลับมาดูตรงนั้น กลับมาอยู่ที่ตรงนั้น ตัวนั้นน่ะตัวใจตัวรู้น่ะ มันเป็นตัวบงการอยู่ภายใน

ถ้ากลับมาอยู่ที่ใจ กลับมาอยู่ที่รู้ ...ทุกผู้ทุกนาม ทุกนักปฏิบัติ ...จะมีแต่ความสงบสันติ  จะไม่มีปัญหาในความแตกต่าง 

จะไม่แบ่งว่านั่นเป็นพระ นั่นเป็นชี  นั่นเป็นหญิง นั่นเป็นชาย นั่นเป็นคนถูก นั่นเป็นคนผิด ทำอย่างนั้นถูก ทำอย่างนี้ผิด ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ จะไม่เกี่ยวเลย

ใครให้มึงทำ ใครให้มึงไม่ทำ ...ทำไมมึงไม่ดูตัวนั้น ทำไมไม่อยู่ตรงนั้น  แลบออกมาทำไม ซ่านออกมาทำไม ...แล้วก็เอาไอ้แลบออกมา เอาไอ้ควาย เอาไอ้วัวตัวนั้น มาชนกันอยู่นั่นน่ะ

มันสร้างกำลัง...ออกมาเป็นตัว ออกมาเป็นตน ออกมาเป็นเรา ออกมาเป็นเขา แล้วก็ทะเลาะกันกับไอ้อาการนั้นน่ะ แล้วไม่รู้ว่าใครทำ

นักปฏิบัตินักภาวนา ...การเจริญปัญญา การเจริญสติ อย่าเอาควายมาชน กลับมาอยู่ที่รู้น่ะ...แล้วจบ จบที่รู้ อย่าไปจบที่ความเห็น  อย่าไปจบที่...ทำให้คนอื่นเห็นตามเรา หรือทำให้คนอื่นยอมรับเรา

ไม่เกี่ยวหรอก ...ใครจะยอม ใครจะไม่ยอม ช่างหัวมึงปะไร  เกิดเองตายเอง คิดเองตายเอง โง่เองก็ตายเอง ใช่ป่าว  ฉลาดเองก็สำเร็จเอง ไม่รู้ เรื่องของใครเรื่องของมัน 

กลับมาอยู่ที่ใจใครใจมัน แล้วอยู่ใจดวงเดียว ทุกคนสงบระงับ สันติ เป็นกลาง ไม่มีปัญหา กระทั่งการแตกดับยังไม่มีปัญหาเลย แล้วจะมีปัญหาอะไรกับคนที่มีความเห็นแตกต่าง

ถ้ายังมาเสียอกเสียใจ ดีอกดีใจกับลมปาก หรือตัวหนังสือในเว็บ ...ไม่ต้องถามเลยว่ากายเวลาจะแตกดับนี่ มันจะทุรนทุรายขนาดไหน ...เพราะนั้นต้องเรียนรู้ที่จะกลับมาอยู่ในที่ที่ไม่มีทุกข์ 


ผู้ถาม –  หลวงพ่อครับ รู้กับคิดนี่มันแยกกันไม่ค่อยออกครับ

พระอาจารย์ –  คิดไม่ใช่รู้ รู้ไม่ใช่คิด


ผู้ถาม –  นั่นน่ะครับ สมมุติเรารู้ตั้งนาน แต่เราก็คิดต่อ

พระอาจารย์ –  ก็รู้อีกว่าคิด


ผู้ถาม –  มันมักจะรู้ไม่ทันว่าคิดอย่างนี้น่ะครับ

พระอาจารย์ –  รู้อีก เดี๋ยวมันก็ทัน  รู้อีก...ว่ากำลังคิดอีกแล้ว แล้วก็จะเห็นว่าความคิดเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่ใจ


ผู้ถาม –  แต่รู้ไม่ใช่คิด

พระอาจารย์ –  รู้ไม่ใช่คิด คิดไม่ใช่รู้ ...รู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ให้มันเห็นเป็นสองอาการ ...ความคิดเป็นสิ่งที่ถูกรู้ 

เราบอกแล้ว...แรกๆ สติยังอ่อน ปัญญายังน้อย  มันจะดึงให้เข้าไปรวมกัน ว่าความคิดเป็นเรา ความคิดเป็นใจ เป็นตัวของเรา

พอเรารู้บ่อยๆ ...อาจจะลำบาก อาจจะเหมือนกับยางมันเหนียวน่ะ  มันมัดกันแน่น ต้องดึง...แล้วพอดึงออกมานิดหนึ่ง มันก็ดีดกลับ พั้บ เข้าไปรวมกัน

ใจกับอาการของใจเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกันอีก...ด้วยอำนาจของความหลง ความไม่รู้ ...ปัญญายังน้อย สติยังอ่อน ก็ต้องพากเพียร รู้อีกๆ รู้ไปเรื่อยๆ

ถ้ามันมั่ว สับสน ...กลับมารู้กาย...นั่ง รู้มั้ยว่ากำลังนั่ง เห็นมั้ย แยกออกชัดๆ ...กลับมาเริ่มต้นใหม่ เข้าใจคำว่าอนุโลม-ปฏิโลมมั้ย ...อนุโลม-ปฏิโลม

การพิจารณาในลักษณะอนุโลม-ปฏิโลม คือขึ้นบนลงล่าง ลงล่างขึ้นบน  คือพิจารณาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...นี่พูดในแง่ของการพิจารณานะ

ถ้าสมมุติพิจารณาไปเรื่อยๆ ไปแล้วมันไม่ทะลุอ่ะ ยิ่งไปยิ่งมั่ว ...ให้ถอยกลับ ถอยกลับมาตั้งต้นใหม่ ...อย่ากลัวต่ำ อย่ากลัวว่าหยาบ อย่ากลัวว่าไม่รู้อะไร

กลับมาเริ่มต้นกายกับรู้...รู้ว่านั่ง นั่งก็รู้ ยืนก็รู้ เดินก็รู้  ให้มันตั้งฐานรู้ให้ชัดเจน ...แล้วจากนั้นไป พอรู้ชัดเจนแล้ว แยกกายแยกรู้ๆๆๆ ชัดเจน เป็นปกติกับกาย แล้วก็รู้อยู่

เดี๋ยวมันจะเข้าไปอนุโลม-ปฏิโลมเบื้องสูง คือเข้าไปทำความละเอียดของนาม ...เดี๋ยวมั่วอีก เดี๋ยวกังวลอีก ถอยกลับมาตั้งต้นที่กายอีก รู้...แยก ...แยกกายแยกรู้ใหม่ 

นั่ง..รู้ ยืน..รู้ เดิน..รู้ นอน..รู้ ขยับ..รู้ นิ่ง..รู้ ไหว..รู้ ...นี่ ให้มันแยกกายกับใจออกก่อน ตั้งฐานให้มั่นคง ...นี่เขาเรียกว่าสมาธิ  ตั้งมั่น ตั้งมั่นก่อน ให้ใจมันตั้งมั่น ให้มันชัดเจน

พอมันตั้งมั่นดีแล้ว มันถึงจะเข้าไปแยบคายเรื่องของความคิด ความจำ อดีต-อนาคต ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ ...มันจะแยกออกได้กับอารมณ์หรืออาการ

อันนี้เป็นปัญญาขั้นสูงขึ้นหน่อยแล้ว ละเอียดขึ้นหน่อยแล้ว ...สติต้องละเอียดขึ้นหน่อยแล้ว ถึงจะเท่าทันอาการของใจหรือจิต แต่ถ้าตั้งอกตั้งใจดูจิตอย่างเดียว...เสร็จ หมาคาบไปกิน


โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ อย่างนี้แสดงว่า สมมุติพอมันขึ้นไปไม่ได้ มันก็เหมือนคนฐานไม่ดี ก็ลงมาสร้างฐานใหม่ แล้วค่อยปีนขึ้นไปใหม่

พระอาจารย์ –  ใช่ๆๆ


โยม –  แต่ว่าพอมันจะผ่าน มันก็ผ่านของมันเองอย่างนั้นใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ เมื่อมันพร้อม เมื่อมันเพียงพอน่ะ มันก็เกิดความแยบคายของมัน


(ต่อแทร็ก 2/27)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น