วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/24 (4)


พระอาจารย์
2/24 (530901)
1 กันยายน 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/24  ช่วง 3

พระอาจารย์ –  สติตัวเดียวเท่านั้น ฝึก เจริญขึ้นมา มากไว้น่ะดี...สติ ... อย่างอื่น มาก...ก็มีเสีย น้อย...ก็มีเสีย มีมาก มีดี มีโทษ มีคุณ ...สติมากเข้าไว้เป็นคุณ ...ไม่ต้องกลัวจะวิปลาสเพราะสติ

ในขั้นพวกเรา ไม่มีทางวิปลาสด้วยสติหรอก  เพราะนั้นเจริญให้มากๆ จนต่อเนื่อง ...เมื่อต่อเนื่องปั๊บด้วยความเป็นกลาง เห็นในความเป็นกลางปุ๊บ สัมปชัญญะจะมากขึ้นตาม

รู้ต่อเนื่องก็กลายเป็นเห็น ทั้งรู้และเห็น ...เมื่อรู้และเห็น มันจะเห็นรอบ เห็นรอบสิ่งที่ล้อมรอบจิตเรา เมื่อเห็นพร้อมด้วยความเป็นกลาง มันจะเห็นล้อมรอบจิตเรา

และไม่เข้าไปให้ค่า เริ่มให้ค่ากับสิ่งรอบตัวเราน้อยลงๆ เพราะนั้นว่าการเห็น มันไม่ใช่ว่าจะขาดโดยสิ้นเชิงในครั้งแรก มันจะเริ่มน้อยลง จางคลายออก  

แล้วมันจะมีความเป็นอิสระขึ้น มีความโดดเดี่ยว วิเวก สันติอยู่ภายใน ไม่ออกมา ...ทั้งๆ ที่ว่ามีเรื่องราวมากมาย แต่มันสงบอยู่ภายใน ด้วยความเป็นปกติ

ไอ้ความเป็นปกตินั่นแหละคือความสงบ ...แต่ไม่ใช่สงบแบบมันจะไปไหนไม่ได้ ไม่ใช่สงบที่ทำขึ้นอย่างนั้น แต่เป็นความสงบธรรมชาติ สันติ สงบปกติ

นั่นแหละคือความสงบระดับที่เรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิ ...และความเป็นปกติตั้งมั่นอยู่ตรงนั้นแหละ มันพัฒนาตัวของมันไปเอง เมื่อถึงวาระที่มันจะถึงพร้อมหรือจุด...จุดรวมเข้าไป

ภาษาเขาเรียกว่าเข้าถึงอุปจาระหรืออัปปนา ตามเหตุปัจจัยอันควร...ของเขา ...เขามีวิถีของเขาอยู่แล้ว เราไม่ต้องเอาความรู้ความจำมาสร้างวิถีนี้ขึ้นมา จำลองจิตขึ้นมา...ก็เวียนว่ายตายเกิดกับจิตอีก

ฟังมา อ่านประวัติครูบาอาจารย์มากมายก่ายกอง จะเลียนแบบท่านทั้งนั้นน่ะ จะเอาให้ได้  ท่านทำอย่างนี้ เราก็ต้องลองทำดู ...พอลองทำดู เข้าไปนิดเดียว เอาตีนแหย่ ก็ถอยกรูดเลย ทำไม่ได้แล้ว ท้อถอยแล้ว

เพราะนั้น กลับมาอยู่ธรรมดาเป็นปกติน่ะ นั่นคือความสงบระงับ เป็นธรรมดา คือความตั้งมั่น ...แล้วมันจะตั้งมั่นมากขึ้นๆ เอง หนักแน่นมากขึ้น

มันหนักแน่นของมันเองน่ะ มันไม่รู้จะออกไปทำไมน่ะ มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้...ไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวอะไรเลย เนี่ย มันตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติของจิตที่ตั้งมั่น

แล้วมันมีความรู้สึกเลยว่า ฟังแล้วก็เหนื่อยว่ะ ที่จะมาคิดกับเรื่องพวกนี้ อะไรอย่างนี้  ไม่รู้จะไปทำอะไรกับมัน อยู่อย่างนี้สบายดีออก ดีเลย

นี่เรียกว่าจิตตั้งมั่น โดยที่ไม่ได้กระทำหรือว่าควบคุมหรือบังคับไม่ให้มันออก ...มันไม่ออกของมันเอง อย่างนั้นน่ะ นี่ พอเห็นเขากำลังพูดกำลังคุย เราจะเดินออกเลย เดินเลี่ยงออกไปเลย

"จะไปสังคมทำไม รกหูว่ะ" อย่างเนี้ย ...ซึ่งแต่ก่อนนี่ หูตานี่กระเหี้ยนกระหือ (หัวเราะกัน) “อะไรคะ พูดเรื่องอะไรคะ เรื่องเจ้านายรึเปล่า หรือเรื่องคนนั้นรึเปล่า” ...เอาแล้ว มันแส่ออกไปหาเรื่องน่ะ

แต่เดี๋ยวนี้เราจะรู้สึกว่าไม่มีเรื่องซะดีกว่า ไม่ฟังซะดีกว่า มันมีความรู้สึกว่าสงบระงับ กลับมีความสุข ...เนี่ย เป็นความสุขที่ไม่เป็นความสุขแบบกินข้าวอิ่ม หรือมีความปีติยินดีอะไร

แต่เป็นความสุขจากความสงบระงับ สันติ ...สงบสันติ นี่เขาเรียกว่าความสุข นิพพานัง ปรมัง สุขขัง

บางคนก็มาบอกว่า...อาจารย์ นิพพานเป็นสุข ผมไม่เห็นเป็นสุขเลย  เวลามันไม่มีอะไรนี่ ทำไมไม่รู้สึกว่ามันเป็นสุขเลย แล้วว่านิพพานเป็นสุขยังไง

นี่ มันไม่ใช่สุขแบบกินข้าวอิ่ม ไม่ใช่ความสุขแบบทำตามความอยากแล้วสำเร็จผล  มันไม่ใช่อย่างนั้น...ไม่ใช่ ...แต่เป็นความสุขสงบระงับ ไม่เกี่ยวพัน ไม่เอาอะไรมาเป็นที่อยู่ที่อาศัย

ถ้ายังเอาอะไรเป็นที่อยู่ที่อาศัย แล้วมันต้องหวงแหนรักษาไว้ แล้วก็เรียกว่านั่นเป็นความสุขน่ะ ...พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ความสุข เป็นความทุกข์ต่างหาก

อย่างเช่น มีใครนั่งได้สงบตั้งมั่นแล้วอยากให้มันหายไปเร็วๆ บ้างล่ะ ...เพราะนั้นความสุขจึงเจือปนด้วยตัณหา คือมีตัณหาเป็นอามิสเจือปนอยู่ ...ยังเป็นอามิสสุข

แต่นิพพานเป็นนิรามิสสุข คือปราศจากตัณหาอุปาทานแอบแฝง  มันจึงไม่ใช่สุขแบบนั่งสมาธิแล้วมีปีติ หรือได้เที่ยวแล้วมีความเบิกบานผ่องใส...ไม่ใช่ ไม่ใช่ความสุขอย่างนั้น

แต่เป็นความสุขที่เป็นนิรามิส ถึงเรียกว่าสุขจริงๆ สุขแบบไม่มีไม่เป็น ...ไม่ได้ ไม่เป็น ไม่มี

แต่ว่าเราไม่คุ้นเคยกับความไม่มี ...มันชอบมี ชอบเป็น ชอบอยู่กับอะไร ชอบมีอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ ชอบมีเวทนาเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ ชอบมีความรู้สึก

ถ้าไม่มีความรู้สึกแล้วจะมีความเห็นอย่างหนึ่งว่าเหมือนตายด้าน เหมือนไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้อะไร เหมือนไม่ได้ผล นั่น ก็เราบอกแล้ว ผลคือมันไม่มีอะไร คือความไม่มีอะไร

นั่นแหละ คือความดับไป ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่น่ะ ...ดับเข้าไปเรื่อยๆ ทิ้งเข้าไปเรื่อยๆ ...ดับไปๆ จนไม่เหลือไม่หลอ ดับจนไม่มีที่ให้มันดับน่ะ

เพราะนั้นพอมันไม่มีอะไร ดูไป มันตั้งอยู่กับอะไรวะ เออ คอยสังเกตอันนั้นน่ะ มันยังเหลืออะไรให้ตั้งอยู่ ...เออ มันยังมีอะไรเป็นสรณะอยู่ มันยึดอะไรเป็นที่ตั้ง

ก็ดูสิ่งที่มันยึดอยู่ ดูไป ไล่ดูมันไป เดี๋ยวมันก็มี... ดูมันไปจนกว่ามันไม่เหลืออะไรให้ยึดน่ะ  มันจะเอาอะไร...ไม่เอา  มันอยู่กับอะไร...ดูมัน

ถ้ายังวางไม่ได้ ดูมันอยู่ อย่าไปยินดียินร้ายกับมัน ดูเพื่อละต่อไป ...คือไม่ให้เหลืออะไรน่ะ แล้วก็พยายามไม่หาอะไรเข้ามา

ความเพียรนั้นมีอยู่สามอย่าง หนึ่ง...ปหาน คือรู้ว่ามีแล้ว...ละเลย  สอง...สังวร ระวัง ไม่เอาเข้ามา ...แล้วก็สาม...เพิกถอน  เมื่อไม่มีแล้ว นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะเดี๋ยวมันจะมีขึ้นมาอีก ...นี่แหละคือความเพียร

ไม่ใช่ขยันหาจัง ไม่มีอะไรก็จะหา เอาอะไรให้มันมีอีก ...ไอ้ที่มีอยู่แล้วจะให้ละ ก็ดันรักษาประคองมันไว้ 

เพราะนั้นการเลิกละเพิกถอนนี่ มันต้อง...ถ้ามีอยู่แล้ว ถ้าปหานได้...ปหานเลย เอาออกไปซะ

แล้วมันจะเข้ามาใหม่...อย่าให้มันเข้ามา อย่าไปเอามาเพิ่ม 

เมื่อไม่มีอะไร ดูเหมือนไม่มีอะไรแล้ว ก็อย่าประมาท คอยสังเกตดูว่ามันจะมีอาการเพื่อไปให้เกาะเกี่ยวอะไรอยู่

การละมีอยู่สามขั้นนี่ ความเพียรก็อยู่ตรงนี้ อยู่ในจิตตรงนี้นะ ...ความเพียรไม่ใช่ยืนเดินนั่งนอนนะ ความเพียรไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมนะ ...อันนั้นเป็นอากัปกริยาของหุ่นยนต์

แต่ในขณะที่เดิน...ถ้าไม่เข้าใจอาการพวกนี้นะ มันไม่เรียกว่าความเพียรที่ใจนะ ความเพียรชอบ สัมมาวายาโม นั่นแหละความเพียรชอบ ต้องเพียรอยู่สามตัวนี้... เท่าทัน...ระวัง...ละ

ละไม่ได้...ก็รู้ รู้อยู่ เพื่อจะละออกไป  ไม่มีอะไร...รู้อยู่ ไม่ประมาท สอดส่อง สังเกต ทำความแยบคาย ไม่นิ่งนอนใจ ...เพราะขณะที่ไม่มีอะไรน่ะ มันจะมีลึกๆ ที่ว่ามันยังมีอะไรอยู่น่ะ แต่มันไม่เห็นว่ามีอะไรอยู่

แต่ถ้าไม่มีอะไรของพระอรหันต์เพิ่นบอกว่ามันแจ้ง โล่ง ...คือรู้เลยน่ะ ไอ้หยดนี้หยดสุดท้ายแล้ว ฟองนี้ฟองสุดท้ายแล้ว ...นี่ เรียกว่าอาสวักขยญาณ เห็นตัวนั้นเป็นตัวสุดท้าย

ท่านเรียกว่าอาสวักขยญาณ เป็นญาณตัวสุดท้ายที่เข้าไปรู้และเห็นอาการของจิต  

แต่ตอนนี้เราไม่รู้หรอกว่าอาการนี้เป็นอาการที่เท่าไหร่ นับไม่ถ้วน อเนกอนันต์ ...ก็ต้องใช้ความเพียรนี่แหละ ไม่ท้อถอย ...อยู่ในหลักนี้ 

ไม่ต้องคิดถึงอดีตอนาคตน่ะ เดี๋ยวนี้ขณะนี้อย่างเดียว รวมลงในปัจจุบันอย่างเดียว ...เพียรชำระอยู่ในปัจจุบัน เท่าทันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ประมาทอยู่ในปัจจุบัน แค่นั้นเอง เห็นมั้ย มันสั้นนะนั่น มันสั้นอยู่แค่นี้เอง

กิจทั้งหลายทั้งปวงนี่ การภาวนาทั้งหมด มีอยู่แค่นี้จริงๆ ...ถ้าเข้าใจถึงหลักนี้แล้วนี่ อยู่ตรงนี้แหละ อยู่ตรงนี้แหละ...พอแล้ว ...ใครจะมาเสนอวิธีการที่ว่าคิดว่าเร็วกว่านี้...อย่าเชื่อ

ไอ้นี่ที่บอก ก็ไม่ได้ให้เชื่อเรา แต่ให้เชื่อ...นี่คือพระพุทธเจ้าท่านวางหลักของท่านมาอย่างนี้นะ ไปอ่านดู ไปเรียนรู้กับท่านดู ท่านพูดมา แค่นี้แหละ...นี่คือหลักๆ

เราเอาแต่หลักมาพูด... accessory ไม่ค่อยสนใจ ...เครื่องอยู่เครื่องยั้ง เครื่องใช้ประโยชน์ภายนอกเบื้องหน้า ไม่เผื่อเลือกไว้เลย ...นี่ไม่ใช่ธรรมเผื่อเลือกเลย เป็นธรรมที่รู้จริง ใช้จริง ละจริง ...เห็นจริง ละจริง 

รู้ตรงไหน...ละตรงนั้น สิ่งที่ถูกรู้ทุกอย่าง กูละหมดแหละ กูจะไม่เอามาเป็นสมบัติพัสถานอะไร จะไม่หวังพึ่งพาอาศัยอะไรกับมึง มึงมาก็เพื่อให้กูละ แล้วถ้าไม่มา กูก็ไม่หาอะไรมาให้มึงมาอยู่ 

แค่นั้นแหละ ละลูกเดียว ...เอาให้เกลี้ยง เอาให้ดูเท่าไหร่ก็ไม่มีอะไรเหลือหลอ ไม่มีอะไรค้างไม่มีอะไรคา ...แล้วก็ไม่มีการขวนขวายไปแสวงหาออกไปเลยน่ะ 

นั่นแหละถึงจะวางใจได้ ถึงจะเริ่มวางมือได้กับรูปและนาม ...จนมันอยู่ตัว จนมันเป็นธรรมชาติของมันจริงๆ 

เมื่อนั้นแหละ ไม่ต้องไปบอกว่ามรรคผลนิพพานอยู่ขั้นไหน ภูมิไหน...ไม่รู้ กูไม่รู้เรื่องอะไร  มันจะเป็นอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ ให้มันเป็นอย่างนี้...พอแล้ว มีความสุขสบายในการไม่มีไม่เป็นนี่...พอแล้ว

แต่ถ้าเวลาไม่มีไม่เป็น...แล้วยังไม่มีความสุขสบายใจกับตรงนี้...ดูมันต่อไป มันยังไม่พอ มันยังไม่จบ ...แปลว่ามันยังมีอะไรผลักดันอยู่ ใช่ไหม มันยังไม่รู้จักอิ่ม

เห็นมั้ย ไอ้นั่นน่ะอวิชชามันเสี้ยมเขาอยู่ กำลังเสี้ยมเขาควายให้ชนกันอยู่ ให้ไปชนกับรูปนาม เป็นบ่วงอยู่ ให้ไปคล้องกับรูปนาม 

นี่ จนกว่ามันจะหมดพิษสง ดูกี่ครั้งๆ จนไม่เหลือหลอน่ะ ...ใจที่ว่างเปล่าแห้งแล้ง แต่ว่าแจ้งอย่างนี้  มันแจ้ง...มันแจ้งอย่างนี้ เหมือนกับตาเราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างโดยความเป็นจริงโดยรอบ

มันแจ้ง ใจมันแจ้งหมดเลย ไม่มืดมัว ไม่มีอะไรมองไม่เห็นน่ะ ว่ารูปขันธ์ มันมาในรูปไหน ในแง่มุมไหน...ไม่มีอ่ะ ...มันแจ้ง มันแจ้งอย่างนี้ มันแจ้งสว่างอย่างนี้ เหมือนกลางวันอย่างนี้

นี่ แจ้งจิตแจ้งใจ ไม่มืดไม่บอด ไม่มีอะไรเป็นเงาที่จะมองไม่เห็นหรือเลือนราง...ไม่มีอ่ะ ...ถ้ามันเลือนรางก็สงสัยลังเล “อะไรวะ” ...แต่นี่มันเห็นอย่างนี้ มันไม่สงสัย

เฉยๆ หมด ไม่มีอะไร เห็นแล้วก็ไม่มีอะไร เข้าใจกับมัน ...มันแจ้งอย่างนั้นคำว่าแจ้งใจ  ไม่มีมุม ไม่มีเหลี่ยมไม่มีคู...ที่จะมาเป็นจุดบอด จุดบัง จุดมัว จุดสลัวอะไรเลย

มันชำระออกหมด โล่ง ...ด้วยมหาสติอย่างเดียว เท่านั้นแหละ  มรรคทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเอามหาสติน่ะ มาทำความจริง มาเห็นความจริง คืออริยสัจ...ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

แล้วก็เห็นตรงจริงๆ ทุกข์เป็นทุกข์ สมุทัยคือสมุทัย ...ถ้ายังมืดๆ มัวๆ ทุกข์กับสมุทัยมันยังแยกไม่ออกเลย สมุทัยกับมรรคก็ไปปนกันอีก มรรคกับทุกข์ยังแยกไม่ออกเลยอย่างนี้ ...เข้าใจมั้ยว่ามันมัว

เอาสติน่ะเป็นธรรม รู้เข้าไปเรื่อยๆ ดูมันเข้าไป นี่ มหาสติ นี่เป็นมรรคโดยตรงอยู่แล้ว  ไม่ต้องไปไล่มรรคแปดหรอก เอาแค่สติปัฏฐาน กายเวทนาจิตธรรม หรือการรู้เฉยๆ นี่แหละ เป็นตัวมรรค

แล้วก็เอามรรคมาสอดส่องอยู่ในกายกับใจ นี่คือครรลองของมรรค คือทางเดินของมรรค ...เจริญมรรค ต้องเจริญ เอาสติมาเจริญอยู่กับกายอยู่กับใจ ดูอาการของใจ แล้วก็ดูกาย ดูรูป นี่ สอดส่อง

นี่เจริญในมรรคแล้วก็ค่อยๆ ทำความแจ้ง ...แจ้งยังไง ...อะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นสมุทัย นี่ มันก็จะไล่สมุทัยมาเรื่อยๆ ...อ๋อ ความอยากเป็นเหตุ อ๋อ นี่ไม่ใช่ทุกข์นะ

ความอยากไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์กับความอยากคนละตัวกัน  เวทนาไม่ใช่เหตุ เวทนาไม่ใช่ทุกข์ อะไรอย่างนี้ มันจะแยกออก แน่ะ เห็นมั้ย เขาเรียกว่าไปทำความแจ้งในอริยสัจของกายและใจ

และก็ทำให้มันตรง ...พอเริ่มแจ้งเริ่มชัดแล้ว มันก็จะปฏิบัติตรง ตรง...ตรงต่ออริยสัจ ทุกข์ให้รู้ ไม่ใช่ละ  สมุทัยให้ละ ไม่ใช่ให้เจริญ  มรรคให้เจริญ ไม่ใช่ให้หยุด...อย่างนี้


.................................... 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น