วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/26 (1)



พระอาจารย์
2/26 (530911A)
11 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่าการปฏิบัติจริงๆ นี่ ...ไม่ได้ไปทำอะไรขึ้นมาเลย หรือว่าไม่ได้ไปสร้างอะไรขึ้นมา  แต่กลับมาสังเกตศึกษาตัวเองนี่แหละ เรียนรู้ว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงต้องทำอย่างนี้

แต่ว่าในการเรียนรู้นี่ ไม่ใช่เรียนรู้ด้วยการคิด หรือการจำ หรือการพิจารณา ...แต่เป็นการเรียนรู้โดยการเอาสติเข้ามาจับ เอาสติเข้ามาสังเกต กลับมารู้กลับมาเห็นอาการของกาย อาการของใจ แค่นี้เอง

มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาใหม่หรอก ...ทุกอย่างก็ยังดำเนินเหมือนเดิม ตามครรลองของกายของใจ เขามีครรลองของเขาอยู่แล้ว เขาตั้งอยู่อย่างนี้ เขาเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แล้วเขาก็เสื่อมไปอย่างนี้ เขาดับไปอย่างนี้

แม้แต่อาการของจิตก็เหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างกัน ...มันจะเห็นรอบทั้งหมดเลย ทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน เป็นอย่างเดียวกัน...เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ดับไปเมื่อหมดเหตุปัจจัย เป็นอย่างนั้น

เราไม่ต้องไปถามว่าอาการนั้นคืออะไร แปลว่าอะไร มาจากไหน ...ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปค้น สภาวธรรมต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ อาการต่างๆ

คือไม่ต้องไปรู้ด้วยซ้ำว่ามันอะไร มาจากไหน ...คือรู้อย่างเดียวว่ามันดับไป เดี๋ยวมันก็ดับไป...เหมือนกันหมด  เราไม่ต้องออกไปรู้ ออกไปหาหรอก ไม่ว่าอะไร ไม่ต้องไปหาความรู้กับมัน 

รู้มากทุกข์มาก ปวดหัว สงสัย ไม่จบ ...เพราะไอ้สิ่งที่จะปรากฏน่ะมันมากมาย ทั้งภายนอกภายใน

ภายนอกนี่ ...เหตุการณ์ต่างๆ จะไปรู้ที่มาที่ไปของมันได้ยังไง  ยิ่งคิดก็ยิ่งงง ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัว หลายเหตุหลายผลเหลือเกินแต่ละคน ก็แล้วแต่จะว่ากันไป นี่ ถ้าเหตุภายนอก

ภายในก็เหมือนกัน ...อารมณ์บางอารมณ์ ความรู้สึกบางความรู้สึก  เราไม่ต้องรู้หรอกมันคืออะไร มันดี-มันร้าย มันถูก-มันผิด..ไม่รู้  ...รู้อย่างเดียวว่ามันเป็นไตรลักษณ์

เพราะนั้นน่ะ จิตของพระอริยะ...ท่านไม่สนใจหรอกว่ามันคืออะไร ไม่รู้ความหมายก็ช่าง แต่ท่านรู้ว่ามันคือไตรลักษณ์ ...อะไรเกิดขึ้นนี่...ไม่รู้ ไม่รู้จะใส่ชื่ออะไร แล้วไม่หาด้วยมันคืออะไร 

แต่รู้อย่างเดียวว่า...นี่คืออาการของไตรลักษณ์  มันคืออาการของไตรลักษณ์ ไม่เห็นจะแตกต่างกันเลย ...ไม่ว่าอะไรก็ตาม ไม่ว่าสงบ ไม่ว่าฟุ้งซ่าน อย่างนี้ 

ถ้าเรามองว่าเป็นสงบ...ก็ยินดี  ถ้ามองบอกว่าเป็นฟุ้งซ่าน...ก็ยินร้าย ...แต่ถ้ามองว่าเป็นอาการ...เหมือนกันคือไตรลักษณ์ เดี๋ยวมันก็ดับไปๆ

เห็นมั้ย จิตก็จะเป็นกลาง มากขึ้นๆ ...แล้วก็จะเห็นทุกอย่าง เป็นกลางกับทุกสิ่งหมด ...เพราะอะไร ...เพราะท่านเห็นทุกสิ่งคือไตรลักษณ์

ไม่ใช่ว่าไอ้นี่ชาย ไอ้นี่หญิง ไอ้นี่หมา ไอ้นี่คน ไอ้นี่สัตว์ ไอ้นี่สิ่งมีชีวิต ...ไม่ว่า ท่านไม่ดูในความหมายนั้น  หรือว่ามันคืออะไร ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันอย่างไร...ไม่สน

รู้อย่างเดียวว่าเป็นอาการที่ปรากฏขึ้น ในครรลองของตาหูจมูกลิ้นกายใจ มีการสัมผัสสัมพันธ์กันแค่ประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็ผ่านไป เดี๋ยวก็ดับไป แค่นั้นเอง

คือทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไตรลักษณ์ ...ถามว่ามันคืออะไร ก็ตอบไม่ถูก ไม่รู้จะบอกว่ามันคืออะไร  จะตอบได้ไหม เอาสมมุติเอาบัญญัติอะไรมาว่า

เหมือนกับโต๊ะ เราบอกว่าโต๊ะ แขกฝรั่งจีนเรียกอะไรไม่รู้ ...เห็นมั้ย ถ้าพูดออกมาโดยสมมุติบัญญัตินี่ บางทีพูดอันเดียวกันแต่ว่าคนละภาษานี่ มันยังไม่รู้เรื่องกันเลย

แล้วก็เอาถูกเอาผิดกับไอ้แค่ภาษาแตกต่าง ทั้งๆ ที่ว่าพอเอาโต๊ะมาวาง...ก็โธ่ มันก็เหมือนกัน  เห็นมั้ย ไม่มีปัญหา จะพูดยังไงก็ได้ แต่ก็เห็นแล้วๆ เหมือนกันหมดเลย ทุกคนทุกสายตาก็บอกว่านี่อันเดียวกัน

เหมือนกัน ถ้าเรามองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์...จบ  ไม่ต้องไปค้นหาความจริงจากมัน มันมีความจริงเหมือนกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ...ท่านถึงบอกว่า เกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา

จึงมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเป็นธรรมดา ไม่ตื่นเต้น ไม่เสียใจ ไม่กังวล ไม่อาลัย ไม่เสียดาย ไม่ดีใจ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ...แค่รับรู้ในอาการที่ปรากฏ

ไม่ว่าจะความรู้สึกใดก็ตาม เวทนาใดก็ตาม ความเห็นใดก็ตาม...ก็แค่นั้น  มันก็แค่เท่าที่มันตั้งอยู่นั่นแหละ แล้วสุดท้ายมันก็ดับไป ไม่ใช่เรื่องอะไรของเราเลย เป็นเรื่องของมัน เป็นเรื่องของโลก

เป็นเรื่องของสภาวธรรม เป็นเรื่องของสภาวะธาตุ ...ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครจับจอง ไม่มีใครเป็นผู้สั่งการ ...มันเป็นของมันอย่างนี้ ตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดิน มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้

แต่กว่าจิตมันจะยอมรับนี่ มันไม่ใช่แค่ครั้ง-สองครั้ง  ไม่ใช่ดูแค่ประเดี๋ยวประด๋าว วันหนึ่งรู้ครั้งหนึ่ง สองครั้ง ห้าครั้ง สิบครั้ง ...แล้วมันจะทำความแจ้งหรือความยอมรับโดยสมบูรณ์อย่างนี้

มันต้องต่อเนื่อง บ่อยๆ ซ้ำซาก อย่าท้อ อย่าถอย ...ด้วยสติ มีอะไรก็รู้ มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ แยกออกมาๆ แยกออกมาจากสิ่งนั้นๆ 

ถ้าไม่รู้เมื่อไหร่...มันเข้าไปรวมกัน กลายเป็นเรา จิตเรา อารมณ์เรา เรื่องของเรา ความรู้สึกของเรา ถ้าไม่รู้นะ แต่พอรู้ปุ๊บ มันเป็นแค่อารมณ์..แล้วก็รู้  ความรู้สึก..แล้วก็รู้ 

เห็นมั้ย กาย..แล้วก็รู้กาย ...ให้มันแยกออก สติมันจะเป็นตัวแยกใจออกมาจากอาการ ทั้งนามและรูป  มันจะแยกออกมาเป็นรู้ เป็นดวงจิตที่รู้อยู่ ดวงใจ..ใจรู้

ถ้าไม่มีสติเมื่อไหร่..ไม่รู้  ถ้าไม่รู้เมื่อไหร่..หลง  หลงคือเป็นของกูหมด เป็นเรื่องของเราหมด ...กายก็เป็นของเรา ถ้าไม่รู้กายนะ เดินไปเดินมานี่ เป็นเรื่องของเราหมด กายของเราเลย

พอเป็นกายของเราปุ๊บ มันจะเกิดอารมณ์ เกิดอะไรมากมาย ...แล้วเราก็ไหลไปตามอาการ ขึ้นลงไปตามอาการ ไม่เท่าทันอาการ

แต่ถ้าเราหมั่นรู้...อ้อๆ มันเป็นเรื่องของอารมณ์..รู้  มีความรู้สึก..รู้  กาย..รู้  ไม่มีอะไร..รู้  มันจะเห็นว่าต่อไปเมื่อรู้บ่อยๆ รู้ซ้ำซาก รู้ซ้ำ รู้แล้วรู้อีกๆ

อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ ยืนก็รู้ เดินก็รู้ นั่งก็รู้ นอนก็รู้ คิดก็รู้ ไม่คิดก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ กังวลก็รู้ หนักก็รู้ เบาก็รู้ ขุ่นก็รู้ ผ่องใสก็รู้ ...รู้ลูกเดียว  ตัวรู้มันจะเด่นขึ้น ใจมันจะเด่นขึ้น

รู้ๆๆ ทำอะไรมันก็รู้ ...มีอาการเป็นสองอาการ  จะเห็นกายเป็นว่าไม่ใช่กายเรา แต่มันเป็นแค่กายกับใจที่อยู่คู่กัน ส่วนหนึ่งคือกาย ส่วนหนึ่งเป็นรู้ มันอยู่ด้วยกันอย่างนี้ ...ไม่เห็นมีเราตรงไหนเลย

เนี่ย เรียกว่าสติมันเริ่มมากพอสมควร...ที่จะแยกออกมา ต่างอันต่างอยู่ ...พอแยกใจออกจากขันธ์ เป็นรู้เด่นชัด รู้เฉยๆ เป็นปกติ ...แล้วก็เห็นอาการ

มันก็ไหลไปไหลมา วนไปวนมา ...“เรา” อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้  มีแต่รู้กับอาการ หรือว่ารู้กับสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น ...หาความเป็น "เรา"  ตรงไหนวะ มันมี “เรา” ตรงไหน เนี่ย

แต่ถ้าไม่มีอาการจับแยกคู่นะ มันเป็น “เรา” หมด ของเราหมด...ทันทีเลย ... กายก็เป็น..ไม่รู้อ่ะ กายเราเลย มันคือกายเรา ...แต่พอรู้ว่ากายปั๊บ มันเห็นกาย แล้วก็รู้..เห็น มีตัวรู้ตัวเห็นอยู่

เพราะนั้นตัวรู้ตัวเห็นมันเลยไม่ใช่เรา มันกลายเป็นใจ..ใจรู้ใจเห็น ไม่ใช่เรารู้เราเห็น ...แรกๆ เราอาจจะรู้สึกเหมือนกับเป็นตัวเราอีกตัวที่มองอยู่

แต่ต่อไปมันจะไม่ใช่ตัวเราหรอก ตัวจริงๆ น่ะคือใจ ...ตอนแรกมันจะมองว่า “เรา” มี "เรา" ซ้อนอยู่ข้างในแล้วก็เห็นอาการใช่มั้ย มันยังมีความหมายมั่นว่าใจยังเป็นเราอยู่

เพราะนั้นเริ่มขั้นตอนแรกนี่ มันก็ต้องมาเรียนรู้ในการละกายก่อน สักกายทางกาย ...แล้วก็เหมือนกับความรู้สึกว่ามีตัวเราน่ะ มองดูอยู่ เห็น รู้อยู่ว่าเรากำลังทำอะไร 

ดูเหมือนว่าเรากำลังเดิน เรากำลังนั่ง เรากำลังนอน เรากำลังคิด นี่มันยังว่า..เรารู้ ...แต่พอเรารู้ไปรู้มา ต่อไปมันจะเข้าใจว่าไอ้ที่ “เรารู้” มันไม่ใช่ “เรารู้” ...มันเป็นใจรู้ต่างหาก 

จิตมันจะเริ่มแยบคายขึ้น ...ไม่ใช่ “เรา” ตัวนี้เป็นใจ ...แล้วมันมีอยู่ตลอดเวลา มีอยู่ตลอดเวลาเป็นธรรมชาติเลย เป็นธรรมชาติ

จนถึงขั้นนั้นแล้วมันก็เริ่มวาง...วางอาการหยาบๆ ได้  คือวางอาการทางกาย กายของเรา ตัวของเรา เริ่มวาง ...แล้วจากนั้นก็เหลือแต่ใจ ใจของเรา

แล้วมันก็จะเห็นว่าใจไม่ใช่เรา ...เพราะว่ามันก็มาเรียนรู้ว่าใจ อาการของใจ  มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นตลอด มันยังมีอาการส่ายแส่เป็นอารมณ์ออกมาอยู่ตลอดเวลา ที่ควบคุมไม่ได้

มันก็เข้าไปทำความแจ้ง ว่า...อ้อ ไอ้ใจที่ว่าเราๆๆ มันก็ไม่ใช่ใจเรานี่หว่า มันก็ยังทำไปตามอาการของมัน  นี่ ...มันก็เริ่มละความเห็นว่าใจนี่เป็นของเรา

แต่ก่อนอื่นคือ...มันต้องละกายก่อน มันจะเห็นกายเหมือนกับเป็นหุ่นกระบอก เป็นธาตุ หรือว่าเป็นสิ่งของ เป็นวัตถุ


โยม –  หลวงพ่อคะ หนูผิดหรือเปล่าไม่รู้  บางทีเอามือไปพาดอย่างนี้ค่ะ แล้วอยู่ดีๆ ก็กลัวขึ้นมาเจ้าค่ะ ว่าไอ้นี่มันเหมือนศพหรืออะไรก็ไม่รู้ ...คือถ้าเป็นมือเรา เราก็ไม่กลัวอย่างนี้เจ้าค่ะ 

แต่มันกลายเป็นว่า ฮื้ย ไอ้นี่มันท่อนอะไรก็ไม่รู้ มันมาพาดอยู่ตรงนี้  คือมันรู้สึกเหมือนกลัวร่างกายตัวเองขึ้นมาอย่างนี้เจ้าค่ะ ...อันนี้นี่วิตกจริตใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ก็คือมันเป็นอาการลักษณะที่เรายังไม่คุ้นเคยกับมัน...ไม่เคยชิน ...เหมือนกับเราเห็นในสิ่งที่..บางอย่างที่ไม่เคยเห็น แล้วเกิดเห็นครั้งแรก หรือนานๆ จะเห็นสักครั้ง ...เราก็กลัว ตกใจ หรืออะไรอย่างนี้ เป็นอารมณ์แรก

แต่เมื่อเราเห็นอาการอย่างนี้บ่อยๆ ทำความเป็นกลางกับมันเฉยๆ  แล้วก็จะ...อ๋อ จริงๆ ไม่ใช่อะไร  มันก็เป็นความเป็นจริงอย่างหนึ่ง ...เป็นความรู้สึกที่เรายังไม่คุ้นเคย


โยม –  ถ้ามันเกิดอย่างนี้เราก็ดูไปเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  เฉยๆ ก็รู้เฉยๆ ...ก็รู้ว่ากลัว รู้ไป ดูไป จนกว่ามันจะเห็นกระจายออกไปทั้งร่าง จนเห็นทั้งกายทั้งร่างของเรานี่ไม่ใช่เราน่ะ ...มันก็เห็นเป็นสักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าวัตถุ หรือว่าอะไรก็ไม่รู้

อย่าไปตกใจ อย่าไปกังวล ...รู้เฉยๆ ดูอาการของมันเฉยๆ ตามความเป็นจริง ...แล้วทุกอย่างมันก็ค่อยๆ ปรับสมดุลของมันให้เกิดความเป็นกลาง 

สุดท้ายก็จะเห็นร่างกายตัวตนของเรานี่ เป็นแค่กายคู่กับใจ...อยู่คู่กัน แค่นั้นเอง ...แล้วก็จากนั้น เมื่อเหลือกายคู่กับใจแล้ว จากนั้นปัญญาจะต้องมาทำความแยบคายภายใน...ภายในใจ

ทำการคัดกรอง แยกแยะ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ความไม่รู้ ความหลงไปในอดีต-อนาคต ไปในความปรุงแต่งของขันธ์ละเอียด ...ในความหมายมั่นในขันธ์ละเอียด คือขันธ์ที่ไม่มีตัวไม่มีตนจริงๆ

เช่นความคิดในอดีต ในอนาคต  สิ่งที่ล่วงแล้ว สิ่งที่ยังมาไม่ถึง  สิ่งที่เข้าไปสร้างภพ คาดหมาย คาดหวัง ความน่าจะเป็น ความควรจะเป็น ความอยากจะเป็น พวกนี้

ใจมันจะต้องทำการคัดกรองพวกที่เป็นมลทินเจือปน ซึ่งมันจะคอยแตกตัวออกมาอยู่ตลอด ...ให้เราวุ่นวี่วุ่นวาย ให้เรากังวล ดีใจ เสียใจ ไขว่คว้า กระทำ มีเจตนาต่อความคิด มีเจตนาต่อความจำ

เจตนาก็คือเป็นตัวกรรม...ตัวกรรม มโนกรรม ...มันจะไปเรียนรู้ สติก็จะไปเท่าทันในอาการตรงนี้ ไม่หลงไปตามอาการ ความคิด ความจำ

อันนี้เป็นเรื่องของนาม เรื่องของใจ แล้วก็อาการของใจหรือจิต ...อันนั้นมันก็จะเรียนรู้เรื่องใจโดยตรง หลังจากที่มันมองเห็นกายเป็นเรื่องของมัน มันจะค่อยๆ กลับมาสู่ที่ตั้งของใจ

แล้วก็ทำความแยบคายที่ใจ ...มันก็อยู่ในหลักเดียวกัน คิดก็รู้ สงสัยก็รู้ คิดในอดีตก็รู้ วาดอนาคตก็รู้ อะไรก็รู้ ...แยกรู้ออกจากอารมณ์อีก แยกใจออกจากเวทนาอีก สุข ทุกข์ แยกออกมา

พอแยกออกมา ปั๊บ ถ้าแยกออกมาเมื่อไหร่  มันจึงจะเห็นอาการ หรืออารมณ์ หรือเวทนา เป็นไตรลักษณ์ ...สุดท้ายก็ต้องมาเห็นไตรลักษณ์ของนามอีก

แล้วมันจึงจะ...อ๋อ ไอ้พวกนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ...มันไม่ใช่ใจ ...ใจไม่เกิดไม่ดับ ใจตั้งอยู่ มีรู้อย่างเดียว รู้อยู่ตลอด ไม่เคยเกิดไม่เคยดับ ไม่มีมากไม่มีน้อย ไม่มีหายไปไหน 

เพราะนั้น ใจไม่เคยขึ้นไม่เคยลง มันอยู่ของมันอยู่อย่างนั้น ...แต่นอกนั้นออกมาเป็นอย่างนี้...ถ้ายังเกิดยังดับ มันยังมีเกิดมีดับอยู่น่ะ แปลว่ามันไม่ใช่ใจ 

มันเป็นอาการ เพียงแค่อาการ ...ก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของใจ ไม่ใช่ใจ ...อยู่ที่ใจอย่างเดียว กลับมารู้ๆ คือรู้ กลับมารู้ อยู่ที่รู้

มันจะกระทบอะไร สัมผัสอะไร หรือไม่กระทบสัมผัสแล้วมันปรุงแต่งอะไรออกมา สร้างมโนภาพใดออกมา สร้างอารมณ์ใดออกมา สร้างความคาดหมายอะไรออกมา

พอรู้ปั๊บมันจะแยกออกมา เห็นมันเป็นแค่อาการ ...แล้วก็ทิ้งเลย ช่างมันเมื่อเราทิ้งมัน วางมัน ไม่สนใจมัน นั่นแหละ ไม่สนใจคือการปล่อยวาง


คำว่าปล่อยวาง...คือความเป็นกลาง คือวางใจเป็นกลาง เฉยๆ รู้เฉยๆ ปั๊บ แล้วอาการมันจะหมดเหตุปัจจัยของมันไปเอง


(ต่อแทร็ก 2/26  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น