วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/25 (3)


พระอาจารย์
2/25 (530905)
5 กันยายน 2553
(ช่วง 3)



(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/25  ช่วง 2

โยม –  อย่างท่านว่า ไม่ขี้เกียจ   

พระอาจารย์ –  มันไม่ได้ว่าไปแบกของหนักอะไร มันไม่ได้แบบ...โหย นั่งเอาเป็นเอาตาย หรือว่านั่งกันไม่ลุกไม่เลิก ...อยู่ตามธรรมดานี่แหละ มันรู้แค่นี้...มันยากตรงไหน (โยมหัวเราะกัน)

เออ มันขี้เกียจ...ขี้เกียจน้อมกลับเข้ามารู้ ระลึกรู้ ตั้งรู้ขึ้นมา ...รู้ได้นิดๆ หน่อยๆ ก็เบื่อแล้ว  มันไม่ต่อเนื่อง ..นี่ล่ะคือตัวขัดขวางการที่จิตเข้าไปเห็นความเป็นจริง

มันอยากจะให้ไหลออกไป หาย เพลิน สบาย ...กลับมาดูเฉยๆ รู้เฉยๆ นี่มันง่อม มันเหงา มันเบื่อ มันเซ็ง มันไม่เห็นมีอะไร 


โยม –  มันชินกับอย่างนี้มาชั่วชีวิต

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ชั่วชีวิตนี้เท่านั้นนะ ...ตั้งแต่ก่อนเกิดอีกนะ เข้าใจมั้ย  ตั้งแต่ก่อนเราเกิด ตั้งแต่เกิดมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติน่ะ 

เนี่ย ...ทำไมมันถึงยากล่ะ ...เพราะมันเคยชิน จนให้กลับมารู้ตัวเอง มันยังไม่ยอมเลย นั่นน่ะ กิเลสคือความเคยชิน คุ้นเคย ...เห็นมั้ย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันทำได้

ขับรถมาถึงนี่ ไม่รู้ตัวเลย ยังขับมาได้...คือมันไปรู้ข้างนอกหมด เข้าใจไหม ...แต่ตัวกำลังนั่ง กำลังขับ ขยับพวงมาลัย กำลังมีอารมณ์พอใจ-ไม่พอใจ...ไม่รู้เลย

เนี่ย มันอยู่ข้างนอกหมดเลยน่ะ จิตมันไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ไปอยู่กับคนที่วิ่งแซงเรา “เดี๋ยวก็จะต้องแซงมัน เดี๋ยวมันจะต้องแซงกู  เดี๋ยวต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้”

แต่ไม่เห็นเลยว่าตัวกำลังนั่ง ทำอะไรอยู่ ...ใช้ชีวิตได้ตลอดชีวิตทั้งที่ไม่รู้ตัวเองเลย คนเราน่ะ เพราะนั้นพอให้กลับมารู้ตัวปุ๊บ มันรู้สึกเหมือนกินยาขมน่ะ


โยม –  มันโดนขัง   

พระอาจารย์ –  เออ เหมือนประมาณนั้น     


โยม –  ขังไว้มันไปไหนไม่ได้   

พระอาจารย์ –  ถ้าในความคิดมันก็บอกว่า ดูเหมือนไม่เป็นอิสระ ...แต่จริงๆ นี่ การเจริญสตินี่ ผลของมันที่สุดคือ จะเป็นอิสระจนถึงที่สุดเลย  

แต่ตอนนี้มันยังมองภาพไม่ออก มันก็เลยไม่มีความขยันหมั่นเพียร เพราะมันยังไม่เห็นผล 

แต่ถ้าเราฝืนอดทนเจริญไปเรื่อยๆ ด้วยความบากบั่น ...ถึงมันจะเหมือนกินยาขมไป คือยาน่ะไม่มีอร่อยหรอก ยาที่ดีน่ะ มันต้องขม ไม่งั้นมันก็เป็นพิษเป็นภัยหมดน่ะ...ไอ้ของอร่อย 

เพราะนั้นเวลาฝืนกินเข้าไป เจริญเข้าไป แล้วมันเริ่มเห็นผลเมื่อไหร่  ตอนนั้นมันจะเริ่มขยันหมั่นเพียรมากขึ้น  ไม่ทิ้งการรู้กาย ไม่ทิ้งการรู้จิต  มีอะไรก็กลับมารู้...รู้จนเป็นนิสัย ...ตอนนี้เกิดนิสัยใหม่แล้ว

ไอ้จากนิสัยเก่านี่คือหลงลูกเดียว ตั้งแต่ตื่นมายันนอน หลงลูกเดียว ทำอะไรไปไม่รู้เลย ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย ...มันก็ทำได้นะ ไม่ใช่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวแบบคนบ้าอะไรนะ มันก็ทำแบบรู้เรื่องรู้ราวไปหมดน่ะ

แต่มันไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่ากายเคลื่อนไหวอย่างไร ขณะนั้นกำลังคิด กำลังมีอารมณ์อย่างไร  มันมายังไง มันไปยังไง ...มันมีแต่พุ่งออกไป พุ่งออกไปตลอด

แต่เมื่อเราฝืน หรือฝึก ให้มันทวนกลับมาระลึกรู้ ตั้งสติขึ้นมา ระลึกรู้บ่อยๆ  จนเป็นนิสัย ความเคยชิน ปั๊บ มันจะเริ่มเห็นผลแล้ว  เริ่มเห็นว่าชีวิตเป็นของง่ายขึ้น การใช้ชีวิตมันจะมีสุขมีทุกข์น้อยลง

มันจะรู้ได้ด้วยตัวเอง แล้วมันจะค่อยๆ ขยันหมั่นเพียรมากขึ้นๆ ในการใส่ใจ ในการกลับมาดูกาย กลับมาดูจิต อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องมากขึ้นไปเอง ...ผลก็จะมากขึ้นตาม

แต่มันยาก...ไอ้ตอนแรก นี่ เหมือนม้ามันพยศ  เอาเชือกดึงก็แล้ว เอาแส้เฆี่ยนก็แล้ว มันก็ดีดดิ้น...ไม่ยอม มันคิดว่ามันจะเป็นอิสระ เข้าไปเป็นม้าป่า

เพราะนั้นการฝึกจิตก็เหมือนกัน มันก็เหมือนกับสอนม้าพยศ ...แรกๆ ก็ลำบากหน่อย ทุกข์หน่อย ขัดขืนใจมันหน่อย ในการกลับมารู้ๆ กลับมารู้อย่างนี้ ...ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจอะไรหรอก 

แต่ความรู้สึกที่มันลำบาก...ตรงนี้ที่จะต้องฝ่าฟันให้ได้ ...ที่ว่าทำไมการปฏิบัติมันถึงยาก มันยากตรงเนี้ย ...มันขี้เกียจ มันจะปล่อยปละละเลย แล้วมันรู้สึกสบายกว่า

แต่มันสบายแล้วก็กลับมาเกิดอีกนะ สบายแล้วก็กลับมาเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้นนะ สบายแล้วก็มาเกิดเป็นทุกข์ 

เวลากลับมาเกิดทีนึง ก็มานั่งคุดคู้ก้มหน้าอยู่...ลองนึกว่าไปนั่งคุดคู้อยู่ในโอ่งที่มีแต่น้ำคร่ำน่ะ ...ตอนนี้ให้พวกเราไปอยู่ อยู่ได้ไหม ๙ เดือน

หายใจก็ไม่ออก ไปนอนอยู่ในน้ำดำๆ น้ำคร่ำน่ะ  ๙ เดือนน่ะ ลองนึกดูว่าตอนเราไปอยู่ในโอ่ง ๙ เดือน ...นี่ มันก็ผ่านมาทั้งนั้น แล้วยังต้องไปผ่านอีก ผ่านอีก ...น่าสนุกไหมนี่

ลืมหูลืมตาก็ไม่ได้ จะกินอะไรก็ไม่ได้ แม่กินอะไร ตัวเองก็ต้องยอมทน  กินร้อนก็ร้อน กินเย็นก็เย็น กินของถูกธาตุก็ถูก กินไม่ถูกก็โยเยดิ้นกระวนกระวาย จะหนีก็ไม่ได้ จะออกก็ไม่ได้ ...๙ เดือนนั่นน่ะ

เพราะนั้นเวลามันออกมา ไม่มีใครหัวเราะออกมาเลย เห็นมั้ย (หัวเราะกัน) ...นั่นแหละ แต่เราไม่เข็ดน่ะ ยังปล่อยปละละเลย คิดว่าไม่เป็นไร อยู่ไป ปล่อยปละละเลย ให้มันหลงไป

คิดว่าเหมือนกันน่ะ คนทั่วโลกเขาก็เป็นอย่างนี้ ...ก็เขาเป็นกันอย่างนี้...ถึงกลับมา ๙ เดือนอีกๆ แล้วก็มาเริ่มเป็นเด็ก กว่าจะเรียนหนังสือจบ กว่าจะทำงาน ...เออ พอจะสบายได้พักได้ผ่อน ก็ตายอีกซะแล้ว

ไอ้ตอนที่วิ่งดิ้นรนขวนขวาย...ตั้งแต่เด็กมาจนวัยรุ่น กว่าจะทำงาน กว่าจะตั้งตัวตั้งรากฐานมีบ้านมีช่องพอให้ได้พักผ่อนสบาย ...มันก็ใกล้จะตายแล้ว เวลาปฏิบัติก็ไม่มีอีกแล้ว

เห็นความซ้ำซากจำเจมั้ย ...แต่ไม่เข็ด  ทำไมมันไม่เข็ดล่ะ มันน่าเพลินตรงไหนนี่ ...มันมาหา มันมาติดอะไรรู้ไหม มันมาติดไอ้ความสุขเล็กๆ น้อยๆ

สุขในการเห็น ในการกิน ในการคุย ในการสัมผัสกับคนใกล้ชิด ในความรักนิดๆ หน่อยๆ ในความพอใจ ในการได้ดู-ได้เห็น-ได้ยิน ...นิดๆ หน่อยๆ นี่ ที่มันหลอกให้เราติด

แต่ไอ้นิดๆ หน่อยๆ นี่พาให้มาทุกข์...ถามว่าทุกข์ขนาดไหนล่ะ ...ทุกข์นี่มากกว่ามากมายมหาศาลเลย  นึกถึงว่าตายแล้วสิ ไม่มีใครนอนยิ้มตายหรอก

ร่างกายนี่มันบีบคั้น มันบีบรัด มันแตกมันดับนี่ ถ้าร้อนก็ร้อนจนตาย ถ้าหนาวก็หนาวจนตาย คิดดูถ้าหนาวอย่างที่ว่า "ตายแล้วๆ" ...ยังไม่ตายจริงนะนั่น ก็บ่นกันว่าทนไม่ได้แล้ว

แต่เวลากายจะแตกดับนี่ ยิ่งกว่านั้นอีกร้อยล้านเท่าน่ะ ...แล้วเราจะมีกำลังจิต กำลังปัญญาตรงไหนที่จะทัดทานในการดิ้นทุรนทุรายกับมันได้ไหม

ถ้าเราไม่ฝึกหัดอบรม มองให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา..บ่อยๆ  เห็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วก็ยอมรับในอาการที่ปรากฏให้ได้

ไม่อย่างนั้น พอถึงจุดนั้นวาระนั้นน่ะ มันจะเอาตัวไม่รอด ...จิตจะดิ้นรน กระวนกระวาย เป็นทุกข์ กระสับกระส่าย เดือดร้อนไปหมด ...หาที่อยู่ไม่ได้เลย 

หนีก็หนีไม่ได้ด้วย เหมือนกับอยู่ในหม้อน้ำเดือดน่ะ แล้วเราถูกต้มอยู่ในนั้น ...เหมือนปูที่ถูกต้มในหม้อน้ำ เหมือนกบที่อยู่ในหม้อน้ำที่เขาต้มแกงทั้งเป็นน่ะ

นั่นน่ะเราจะหนีไม่ออกหรอก จิตที่มันอยู่ในอาการนั้นจะทุรนทุราย กระวนกระวาย ...แต่มันก็ไม่เข็ด แล้วก็กลับมาเกิดอีก


โยม –  ทำไมมันไม่จำ 

พระอาจารย์ –  มันจะจำได้ยังไง ...ก็มันไม่เคยกลับมาดูเลยน่ะ มันไม่เห็นตามความเป็นจริงว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นสุขอย่างไร มันตั้งอยู่อย่างไร

เพราะนั้นถ้าไม่มีสติกลับมาดูกลับมาเห็น มันจะไม่จดจำในสภาวะที่ว่ามันเป็นทุกข์อย่างไรเลย ...ก็ใช้ชีวิตแบบเลื่อนลอย อยู่แบบเลื่อนลอย ไปๆ มาๆ  คิดว่าเป็นคราวเคราะห์ คราวโชค คราวกรรมไป 

ก็ปล่อยให้มันเป็นเรื่องนั้นไป ...ปัญญาไม่เกิดเลย ไม่เห็นตามความเป็นจริงพอจะสะสม พอจะให้เป็นต้นทุนในการที่จะเบื่อหน่าย คลายจากการเวียนว่ายตายเกิดเลย

มันก็เลยขยันเกิดกันจัง ...ขยันเกิดไม่พอ ยังปรารถนาจะไปเกิดข้างหน้าอีก ...อยากได้อะไร อยากเจอคนนั้นคนนี้ แม้แต่การปฏิบัติธรรมก็หวังว่าจะไปได้ผลเอาข้างหน้า

ทำไมมันไม่เอาผลในปัจจุบันล่ะ มันก็ได้อยู่แล้ว ก็เห็นอยู่แล้ว ทำได้อยู่แล้ว ไม่ต้องไปรอ ...การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การรอ ...ดูไป รับผลไป ให้เข้าใจไป 

เห็นปัจจุบันนั่นแหละ ...อย่าไปคาด อย่าไปทิ้งจิตไว้ข้างหน้าข้างหลังอะไร  กายยังไงจิตยังไงปัจจุบันนี้ ดูมันรู้มันๆ ...ไม่ได้อะไร แต่เห็นปัจจุบันแค่นี้แหละ เพียงพอแล้ว

เพียงพอที่มันจะเข็ดหลาบ ที่มันจะเบื่อ ที่มันจะหน่าย ที่มันจะคลาย ที่มันจะถอย ที่มันจะปล่อย แล้วก็ที่มันจะวาง ...อย่าไปคิดว่าจะต้องวางข้างหน้า วางข้างหน้าชาติต่อไป

"ปล่อยไป เดี๋ยวก็ทำบุญไป ตอนใจดีก็ทำ ใจร้ายก็ไม่ทำ เดี๋ยวก็สะสมให้มันสุข ข้างหน้าเดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง เดี๋ยวก็มีปัญญาเกิดขึ้นเอง" นี่...เหมือนกับซื้อหวยน่ะ รอให้มันถูกรางวัลเองน่ะ

เหมือนข้าวคอยฝน ทั้งที่มันรอไม่ได้ อย่าไปรอ ...เกิดมาชาติหน้า เดี๋ยวมันก็รอเอาชาติโน้นอีก  สร้างไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยทำ พอทำได้ก็ทำ ไม่ทำก็...เออ ปล่อยปละละเลย

เมาท์กัน คุยกัน เที่ยวกันไป ดูแลลูกหลานกันไป ไปเอาธุระกับคนอื่นเป็นภาระของตัวเองไป แล้วก็..."เดี๋ยวก็ชาติหน้าก็ค่อยๆได้เองน่ะ" ...ไม่รู้กี่ชาติแล้วนี่ ผัดวันประกันพรุ่งมานี่

เพราะนั้นต้องตั้งใจใส่ใจ รู้ในปัจจุบัน ...ไม่ใช่ว่าต้องให้มานั่งขัดสมาธินั่งดูตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่ใช่ ...อิริยาบถปกตินี่แหละ มันเจริญได้...สติ กายยืนเดินนั่งนอน ไหวเคลื่อนเลื่อนนิ่งขยับ

เอ้าพอเข้าใจแล้ว


โยม –  ค่ะ พอเข้าใจแล้ว ต้องไปฝึก  

โยม (อีกคน)   ยังไม่เข้าใจ กลับไปทำไอ้ที่ว่าให้ได้ก่อน อย่าไปสงสัย  

พระอาจารย์ –  สงสัยก็รู้ว่าสงสัย สงสัยก็คืออาการหนึ่ง


โยม –  กราบลาพระอาจารย์ ...ขอให้ทุกคนได้มีดวงตาเห็นธรรม ขอให้มีสติ 

พระอาจารย์ –  ขอก็ไม่ได้นะๆ ...ประกอบเหตุและปัจจัยอันควร  ต้องเจริญสติเยอะๆ ขยันหมั่นเพียร เจริญสติขึ้นมา ไม่มีอะไรก็รู้  


................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น