วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/27 (3)


พระอาจารย์
2/27 (530911B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
11 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/27  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  ไอ้ตัวอาการรู้หรือสภาวะรู้...ก็ถือว่าเป็นกรงขังอันหนึ่งนะ ยังเป็นกรงขัง เป็นกรงขังใจอยู่ภายใน ...มันถึงมีภาวะเป็นภาวะรู้ขึ้นมา ดูเหมือนมันอยู่ตรงนี้ มันจะมีที่หมาย ที่มั่น ที่ตั้งของมันอยู่ เหมือนเป็นกรงขังใจอยู่

แต่ให้อยู่ตรงนั้นแหละ ...แล้วมันจะค่อยๆ เปิด ทำลายแอก หรือว่าปลดแอกโซ่ตรวน..ที่มันขังใจไว้ให้เป็นรูปร่างออกไป  มันจะค่อยๆ ทำลายออกไป ด้วยการสำรอกออกไป

ไอ้สิ่งที่ก่อเกิดภาวะรวมกันเป็นใจผู้รู้ หรือใจรู้เป็นดวงอยู่อย่างนั้น เป็นอาการสภาวะนั้น...ก็คืออวิชชาตัณหาอุปาทาน ...เมื่อมันคลายออก สำรอกออก  มันก็เหมือนกับไปทำลายกรงขังมัน ตัวมันเอง 

จนหมดสิ้น จนไม่มีเหลือแม้แต่อณูเดียวที่จะไปตั้งอยู่ในนั้นได้ ทุกอย่างก็เปิด...คราวนี้เปิดออกไม่มีประมาณ เป็นใจรู้ที่ไม่มีประมาณ หรือว่าเป็นอัปปมาโนพุทโธ อัปปมาโนธัมโม อัปปมาโนสังโฆ

จิตก็เข้าสู่ไตรสรณคมน์โดยสมบูรณ์  ไม่ไปอยู่กับอะไร ไม่เอาอะไรเป็นที่พึ่ง ไม่พึ่งอะไร ...กลับไปสู่ธรรมชาติเดิมที่ไม่เป็นไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ที่ยึด ที่เหนี่ยว ที่หยั่ง ที่หมาย

แต่ถ้าดูตอนนี้ของพวกเรา...บานเลย ยั้วเยี้ยเต็มไปหมดเลย ความฝันอันบรรเจิด ยังอยู่อีกเยอะ ...ก็ค่อยๆ เรียนรู้แล้วก็ให้มันไม่เหลืออะไร จนไม่เหลืออะไรน่ะ

จนเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก จนเป็นคนไร้รากไร้เงา จนเป็นคนไม่มีที่มาไม่มีที่ไป ไม่รู้จะมาไม่รู้จะไปไหน

ตรงนั้นแหละ กลับไปสู่ธรรมชาติเดิม แล้วแต่มันจะเป็น แล้วแต่มันจะไป หมดสิ้นซึ่งความหมายความหวัง ...กลายเป็นคนหมดอาลัยตายอยาก (หัวเราะ) ไม่หวังไปข้างหน้า ไม่อาลัยในอดีต


โยม –  คิดสั้นด้วย

พระอาจารย์ –  ความคิดก็สั้น ความจำก็สั้น...แต่ความรักฉันไม่ยาวนะ (โยมหัวเราะกัน) ความรักก็สั้น ความจำก็สั้น ทุกอย่างสั้นหมด หดหมด น้อยลงหมด น้อยลงๆ จนมีความรู้สึกว่าไม่มีอะไรเหลือเลย

เพราะนั้นว่า อย่าไปขยันคิด อย่าไปขยันจำ อย่าไปขยันปรุง อย่าไปขยันสร้างสภาวะนั้น ขยันน้อมสภาวะนี้เข้ามาหลอกจิต เข้ามาเป็นที่พึ่ง ...ไม่มีหรอก ภพภูมิอะไร ทิ้งให้หมด

กูไม่ไปไหน อยู่ตรงนี้ กูเอาแค่นี้ อยู่ตรงนี้...ไม่มีภพ ไม่มีภูมิ ไม่มีขั้น ไม่มีภูมิธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีภูมิ ...มึงอยากมีเอาไป กูจะให้  มึงอยากได้ เอาไปๆ ความอยากได้ภูมิได้ธรรมอะไร เอาไปๆ

แจกไป สละมันออก ความอยากได้อยากมีอยากเป็นอะไร...ไม่เอา ไม่เป็น ...รู้ๆ มีแต่รู้ไป แล้วก็ทำลายตัวรู้ไป ทำลายกรงขังรู้เข้าไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันออกมาจากตรงรู้นั่นแหละ

แล้วมันก็เหมือนกับหมาเน่าลอยน้ำ ก็ปล่อยให้มันลอยไป ลอยมันออกไป เนี่ย กิเลสมันก็จะล่องลอยออกมา หรือว่าค่อยๆ สำรอกออกมา

แต่เวลาเราสำรอกออกมา มันเหมือน...เสียดายอ่ะ ยังอร่อยอยู่น่ะ ...แต่ว่าถ้าเข้าใจแล้ว พระอริยะนี่ เหมือนน้ำลายที่ถูกถุยทิ้งน่ะ ไม่เลียกลับคืนนะ

แต่พวกเรานี่ขยันเลียจัง ทิ้งแล้วก็..ฮื้อ มันติดปาก ก้มมาเลียกลับคืน ...มันน่าเลียไหม ถ้าดูถึงภาวะจริงๆ น่ะ ...แต่เราน่ะ จิตที่มันโง่นะ มันยังอาลัย มันยังเสียดาย แม้แต่น้ำลายที่บ้วนไป ก็ยังเลียคืน

เนี่ย พระพุทธเจ้าหรือพระอริยะท่านเปรียบให้ดูน่ากลัว ให้เห็นตามความเป็นจริงให้ชัดเจนว่า สิ่งของที่ทิ้งแล้ว ละแล้ว วางแล้ว เหมือนน้ำลายๆ เข้าใจมั้ย


ผู้ถาม –  เข้าใจ แต่คงจะทำได้ก็ต้องใช้เวลา

พระอาจารย์ –  อือฮึ  ค่อยๆ อบรม  ค่อยๆ บ่ม ...เหมือนเราบ่มมะม่วง ไม่ต้องบ่มแก๊ส ให้มันสุกตามธรรมชาติ มันจะค่อยเป็นไป

อาจจะใช้เวลา อาจจะดูเหมือนไม่ได้อะไร ไม่ทำอะไร  สภาวะก็จะเหมือนเก่านั่นแหละ ไม่ได้เปลี่ยน ไม่ได้อะไรทั้งสิ้น ...แต่ว่ากลับมาเห็นตามความเป็นจริง ให้รู้ตามความเป็นจริง 

มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ รู้ๆ มันจะยังไงก็ช่าง รู้แค่นั้น แยกออกมาจากอาการ แยกออกให้เห็น ด้วยสติระลึกขึ้นมา แล้วก็แยกธาตุแยกขันธ์ แยกใจแยกนาม ออกจากกัน

แยกออกบ่อยๆ ...ปัญญาจะเกิดจากเห็นอาการที่แยกออก แล้วก็ให้เห็นสิ่งที่แยกออกไปนั้นเป็นไตรลักษณ์ นี่ มันเห็นด้วยตัวของมันเอง

เราไม่ต้องไปคิดว่ามันเป็นไตรลักษณ์ยังไง มันเกิดยังไง มันตั้งหรือมันดับ หรือมันอนิจจัง ...ไม่มีภาษา ไม่มีบัญญัติอะไร  แยกออกมา แล้วจะเห็นไตรลักษณ์ของมันเอง

คือเห็นความแปรปรวน เห็นความเสื่อมไป เห็นความมากขึ้น-น้อยลงของมัน เห็นความไม่คงอยู่ของมัน เห็นความไม่แน่ไม่นอนของมัน แค่นั้นแหละคือไตรลักษณ์

เราไม่ต้องบอกว่า...นี่ อ๋อ อย่างนี้คืออนิจจัง อ๋อ อย่างนี้อนัตตา อ๋อ อย่างนี้เรียกว่าทุกขัง ...นี่ไม่ว่า ให้เห็นอย่างนี้  ถ้าไม่แยกออกมามันจะไม่เห็นอาการตามความเป็นจริง

ถ้าหลงไปกับอาการแล้วจะไม่เห็นอาการตามความเป็นจริง ...เพราะนั้นสติที่ว่าต้องมีให้มาก ต้องให้ขยัน เพื่อให้แยกให้ออกมาเห็นอาการไตรลักษณ์ของมัน

ถ้าไม่แยกกายแยกใจ ถ้าไม่แยกอายตนะกับใจ ถ้าไม่แยกผัสสะกับใจ ถ้าไม่แยกอารมณ์ออกจากใจ ถ้าไม่แยกเวทนาออกมา ...จะไม่เห็นอาการพวกนี้เป็นไตรลักษณ์ยังไง

เพราะนั้นถ้าไม่เห็นอาการว่าเป็นไตรลักษณ์ยังไง ...จิตจะไม่มีคำว่าปล่อยวางเลย  จะมีแต่ความหมายมั่นมากขึ้นกับมากขึ้น 

ถ้าเราปล่อยให้จิตลุ่มหลงมัวเมาขาดสติ ขาดการรู้ ขาดการเห็น ไม่รู้กายไม่รู้ใจ ทั้งวันทั้งคืน ...มันมีแต่สร้าง หรือว่าผูก หรือว่าแนบแน่นด้วยความหมายมั่นมากขึ้นกับมากขึ้น ไม่มีทางจะน้อยลงเลย

เมื่อปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรมหรือว่าปล่อยปละละเลย หรือว่าอยู่ด้วยความประมาทมัวเมา ...มันมีแต่ว่าจมๆๆ จมลงไปกับโลก จมไปกับอดีตอนาคต จมไปกับการตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น

แล้วก็บอกว่า เขาก็อยู่กันอย่างนี้ทั้งโลกน่ะ อือ...ก็อยากอยู่กับคนทั้งโลกก็ต้องเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าอยากออกนอกโลก หลุดพ้นจากโลก พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากการกลับมาหาสุขหาทุกข์ พ้นจากการกลับมาเสวยสุขเสวยทุกข์ พ้นจากการกลับมาดิ้นรนรักษาความสุขให้มากขึ้น นานขึ้นๆ 

ก็ต้องขวนขวาย ใส่ใจ ในการแยกกายแยกขันธ์  แยกจิต แยกกาย แยกใจออกมา ทุกสิ่งทุกอย่างออกมา ...ให้มันเป็นแค่อาการ ให้มันเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ แค่เนี้ย

อาจจะเหนื่อย อาจจะไม่สนุก อาจจะน่าเบื่อ ...แรกๆ อาจจะไม่ใช่เป็นสาระสำคัญเท่าไหร่ เป็นเรื่องรองๆ  มันยังมีสาระกับอาชีพการงาน การขวนขวายอะไรที่สำคัญมากกว่ารออยู่ หรือน่าทำมากกว่า

แต่ในขณะที่ทำอาการนั้นๆ มันรู้ได้ มันสามารถรู้ได้ ทำได้ก็รู้ได้ ...เพราะความรู้ไม่เคยหวงห้าม ไม่มีเวลา ไม่มีช่องว่างได้เลย  มันมีอยู่ตลอดเวลา ...แต่เราไม่เจริญสติแค่นั้นเอง

เพราะนั้น อาชีพการงานอะไรก็ทำไป หน้าที่ภายในก็รู้  มีอะไรก็รู้ๆๆๆ ทำอะไรก็รู้ ...จนเป็นนิสัย สร้างนิสัยนี้ขึ้นมาใหม่ ให้มีการใส่ใจในการสร้างสติ เจริญสติขึ้นมา รู้ขึ้นมา

จึงจะมีหนทางออกนอกโลก ออกจากโลกได้ ออกจากการเวียนว่ายตายเกิด ...ถึงจะไม่ได้ในที่สุดก็ทำการตายเกิดๆ ให้น้อยลง ไม่มาแบบไม่รู้จักหัวจักท้าย ไม่เกิดแบบไม่มีที่มาที่ไป แบบสุดกู่เลย 

คนในโลกไม่รู้จักเท่าไหร่ ยังต้องตายเกิดอีกไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ อีกกี่แสนกัป อีกกี่ล้านกัป ..ไม่ต้องพูดเป็นปีเป็นเดือน พูดเป็นกัป ...แค่ความไม่รู้นี่ พาให้มาเกิดตาย พาให้มาสุขมาทุกข์

เกิดมาแต่ละครั้งไม่ใช่มีความสุขความสบายนะ ดิ้นรนขวนขวาย กระวนกระวาย โดนหนาวก็หนาว โดนร้อนก็ร้อน โดนฝนก็เปียก มีแต่โรคภัยไข้เจ็บ มีแต่การดิ้นรนขวนขวายเบียดเบียนกัน

เราไม่เบียดเบียนเขา เขาก็เบียดเบียนเรา เราอยู่เฉยๆ เขาก็ยังมาเบียดเบียนเรา หาเรื่องให้เรา ดีขนาดไหนเขาก็ไม่ดีให้เรา เห็นมั้ย ทำตัวดีขนาดไหนก็ยังโดนด่า ทำตัวดีขนาดไหนก็ยังโดนเขารังแก 

แล้วเราต้องคอยหลบเลี่ยง ต้องขวนขวายดิ้นรน ต้องรักษา ประคับประคอง ต้องคอยเอาใจคนโน้นคนนี้ ดูแลคนนั้นคนนี้ พัวพันมากมายก่ายกอง เห็นมั้ย ความเป็นอยู่นี่มันน่าอยู่ตรงไหนการเกิดมาเป็นคน  

น่าเบื่อนะ การเกิด...เป็นทุกข์นะ ไม่เป็นสุขนะ  สุขมีนิดเดียว สุขเพียงแค่ประเดี๋ยวประด๋าว ...แต่ตลอดเลยน่ะ ทุกข์ทั้งวัน หากินให้มัน หาอยู่ให้มัน 

กินแล้วไม่ขี้ก็ตาย ขี้ไม่ออกก็ป่วย  ไม่อาบน้ำก็อยู่กับคนก็ไม่ได้ ต้องอาบน้ำแปรงฟัน ทำโน่นทำนี่ กิจวัตร ตลอดทั้งวัน ต้องดูแลเอาใจใส่ร่างกายอันนี้อยู่ตลอด 

มันแตกมันดับอยู่ตลอด โดนแดดก็เหงื่อออก นั่งกลางแดดก็ร้อน เห็นมั้ย ร่างกายนี่มันเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ขวนขวายหาหยูกหายาให้มันกิน

เดี๋ยวมันก็ปวดหัวตัวร้อน เดี๋ยวมันก็เจ็บๆ ขัดๆ นั่งผิดท่าผิดทางหน่อยก็เคล็ด ขัด นอนเอาคอตกหมอน ก็เดินคอเอียงทั้งวัน เห็นมั้ย ร่างกายสังขารนี่ ต้องคอยบริหารมันอยู่ตลอด ต้องคอยเอาใจใส่ 

มันเป็นภาระ...ภาราหะเว ปัญจักขันธา  ขันธ์ห้ามันเป็นภาระ ...อย่ามัวเมา อย่าคิดว่ามันมีความสุข อย่าคิดว่า...โอ๋ย ได้กายนี้มา เบิกบานสำราญใจในการเกิดมาเป็นมนุษย์

การเกิดมา การมีชีวิตอยู่ มันเป็นเรื่องทุกข์กับทุกข์ทั้งนั้น ...ถ้าเรามีสติคอยหมั่นมาระลึกรู้ก็จะเห็นว่า ทุกกระบวนการ ทุกลมหายใจนี่ มันอยู่ด้วยการบริหารทุกข์ไปแค่นั้นเอง

ประคับประคองขันธ์นี่ไม่ให้มันแตกดับ ...ต้องคอยประคับประคองเลยนะนั่นน่ะ ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ...ใจก็ต้องคอยดูแลมัน กลัวใจมันจะเป็นทุกข์

ต้องคอยสอดส่อง สร้างสภาวะล้อมรอบตัวเราเองให้มันคงที่ ให้มันอยู่ในปัจจัยแวดล้อมที่ใจจะไม่เป็นทุกข์ ...เห็นมั้ย ต้องเอาใจใส่มันอีก ด้วยความไม่รู้น่ะ

กายก็ตลอดวัน ต้องบริหารมัน เช้าก็ต้องหาอะไรกรอกปากมัน กลางวันก็ต้องหาอะไรกรอกปากมัน ระหว่างเช้าถึงกลางวันก็ต้องหาอะไรเหลวๆ ยัดใส่ให้มัน

นั่นน่ะคือความเป็นจริงของกาย...กรอกเข้ากรอกออก เทเข้าไหลออก ...ก่อนเข้าปากก็อร่อย ก็ดี  ออกมาจากทวารทั้งห้าทั้งหก ออกมาเมื่อไหร่เละเทะหมด ไม่ดีหมด

เห็นมั้ย มันน่าลุ่มหลงมัวเมาตรงไหนกายเรา มันเป็นรังของโรค รังของทุกข์ ...อยู่กับมัน ต้องทนอยู่กับมันตั้งเจ็ดสิบแปดสิบปี ยังไม่เบื่อ ยังไม่เข็ด

ตายแล้วมาหาเอาใหม่ สร้างขึ้นมาอีก มาบริหารมันต่ออีก ...เกิดมาอยู่ในโอ่งน้ำคร่ำเก้าเดือน ออกมาก็โยๆ เยๆ พ่ออุ้มไปแม่อุ้มมา กว่าจะโตเข้าอนุบาล เริ่มเรียนอีก โอ้โหแบกตำรา ต้องตื่นเช้านั่งรถไปเรียน

กว่าจะจบ ชั้นนึงๆ โอ้โห กว่าจะจบการเรียน เป็นอิสระ ดูเหมือนเป็นอิสระจากการดูแลของผู้ปกครอง ...ก็เวียนซ้ำซากจำเจอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักเท่าไหร่ มันน่าสนุกตรงไหน 

เพราะนั้น ก็ให้ขวนขวายกลับมาสู่ความไม่มีไม่เป็น กลับมาสู่ความหมด ความจบ ความดับ ความไม่กลับมา ความไม่หวนกลับมาเอาดีเอาโทษ เอาสุขเอาทุกข์ในโลกนี้อีก 

ปล่อยให้คนที่เขาไม่มีปัญญามาเอาดีเอาโทษ เอาสุขเอาทุกข์กันไป ...ทุกอย่างก็จบลงให้ได้ ไม่งั้น เดี๋ยวจะมาเป็นอย่างนี้ เนี่ย เผลอไปเผลอมา...อ้าว กูมีสี่ขา แถมมาอีกสองขา

ใครจะไปรู้...คติที่ไปยังไม่แน่ไม่นอนกัน ...อย่าคิดว่าเกิดทุกชาติจะเป็นคนได้ทุกชาตินะ มันไปได้หมดน่ะ ...เกิดออกมามีเขาอีกด้วยล่ะ ตายห่าเลย 

อย่าคิดว่าการเกิดเป็นสุข แล้วจะได้เป็นอย่างนี้ตลอด ...มันไม่เที่ยง ไม่แน่  แล้วแต่เหตุปัจจัยจะพาไป ...ถ้าลุ่มหลงมัวเมาหรือว่าทำไปตามอารมณ์ ไปได้หมด สวรรค์ นรก ไปเกิดได้ทั้งนั้น


...................................



วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/27 (2)


พระอาจารย์
2/27 (530911B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
11 กันยายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/27  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  กิเลสน่ะ มันละไม่ยากหรอก แต่เราไม่ยอมละ ...มันติดๆ มันข้อง..อารมณ์ที่น่าใคร่ อิฎฐารมณ์-อนิฏฐารมณ์ ...ส่วนมากมันจะติดในอารมณ์ที่น่าใคร่..เป็นอิฏฐารมณ์ ในกามฉันทะทั้ง ๕

หรือว่ารูปราคะ ...แต่รูปราคะเป็นอารมณ์ที่ละเอียดกว่า คือเป็นเรื่องของนามธรรมล้วนๆ เป็นเรื่องของนาม คือรูปในจิต เป็นเรื่องของอิมเมจในใจ

การสร้างรูป สร้างความเห็น สร้างความคิดประดิดประดอยเป็นความรู้สึกขึ้นมา อันนี้เรียกว่ารูปราคะ ส่วนไอ้ตาหูจมูกลิ้นกายที่สัมผัสกันนี่เขาเรียกว่ากามฉันทะ กามราคะทั้ง ๕

วิธีแก้มีวิธีเดียว...คือถอยจิตออกมารู้ สติแยกออกมา รู้แล้วก็เห็นเป็นอาการ  แล้วก็...ปัญญาคือต้องเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ของที่ควบคุมได้ แล้วก็สุดท้ายคือดับไป

ให้จิตมันเห็นอย่างนั้น  มันถึงจะละ ถึงจะคลาย จากความหมายมั่นในอาการนั้นๆ ...ไอ้คำว่าหมายมั่นคือความเข้าไปให้ค่าว่ามันเที่ยง ต้องอยู่ หรือต้องไม่มี ...คือมีแต่คำว่าต้อง หรือว่าควร

มันจึงไม่เกิดอาการที่เรียกว่า...สักแต่ว่า ที่มันจะเป็น แล้วแต่มันจะเป็นไป ...มันจะต่างกัน ...เพราะนั้นต้องอบรมบ่มปัญญาขึ้นมาเรื่อยๆ อย่าท้อถอย อย่าขี้เกียจ อย่าขี้เกียจระลึกรู้  

แม้แต่อารมณ์ที่ยากที่จะรู้ ไม่อยากจะถอนออกมา...ก็ต้องฝืนรู้มัน อย่างน้อยรู้แบบฝืนๆ ก็ยังดี จนเป็นนิสัย แยกกายแยกใจอยู่ตลอด แยกอารมณ์แยกใจอยู่ตลอด ด้วยสติ รู้เข้าไป...จนมันมั่นคงๆ

พอมันมั่นคงแล้วมันจะไม่หวั่นไหวแล้ว พอรู้ปั๊บ พั้บเลย...อยู่ที่รู้เลย ...ไม่สน กลายเป็นเรื่องเด็กๆ หมดน่ะ อาการทั้งหลายนี่กลายเป็นเรื่องชิวๆ ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ...ถ้าจิตมันตั้งมั่นมั่นคงแล้ว

แต่กว่าจิตจะตั้งมั่น ใจจะตั้งมั่นมั่นคงด้วยสติด้วยปัญญา  มันต้องทวนรู้บ่อยๆ จึงจะตั้งมั่น ...ไม่ใช่ว่าวันนึงเอาห้าครั้งก็พอแล้ว หรือวันนึง..สิบครั้ง-ยี่สิบครั้งนะ ต้องนับครั้งไม่ถ้วนเลยน่ะ

จนต่อเนื่องน่ะ จิตมันถึงจะตั้งมั่นจริงๆ  แล้วไม่ส่ายแส่ ไม่หวั่นไหว  หนักแน่นเหมือนเพชร เหมือนเหล็กกล้าเลย ...นั่นน่ะ ตั้งมั่นขนาดนั้น รู้อย่างเดียว

ทุกอย่าง กลับมารู้อยู่อย่างเดียวแล้วก็อยู่ที่รู้ ...สติสัมปชัญญะอยู่ตรงรู้เลย รู้เลย..ด้วยปัญญาที่ว่าไม่ออก ไม่ส่ายแส่ไปตามอาการ ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ ไม่หวั่นไหวไปตามผัสสะทั้งหก

ใครจะบ่นยังไง ใครจะว่ายังไง ใครจะบอกว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้...ไม่สนใจๆ ตั้งมั่นลงไป ...เอาแค่นี้ แค่สติตัวเดียวนี่ รอด ตลอด ถึงไหนถึงกัน

อยากได้อะไร..ได้ ...อยากได้โสดา..ได้ อยากได้สกิทาคา..ได้ อยากได้อนาคา..ได้ อยากได้นิพพาน..ได้ ...สติตัวเดียว ตลอดหมด ...เป็นใบ express น่ะ เขาเรียกว่าบัตรเร่งด่วน (หัวเราะกัน) ผ่านตลอด

ใครบอกว่าไปไม่รอด ติดนั่นข้องนี่ ต้องมีบัตรวีไอพีอย่างนั้น ...กูบอกว่ากูมีบัตรเดียวนี่ ไปได้ ไม่มีใครมาขวางกั้นได้เลย ตัวสติหรือมหาสติปัฏฐานนี่ ผ่านตลอด

ใครบอกว่าต้องอย่างนั้นก่อน ต้องอย่างนี้ก่อน  ต้องผ่านกายก่อน ต้องพิจารณาต้องข้ามเวทนา ...อู๋ย ทำไมมันหลากหลายเงื่อนไขเหลือเกินในการปฏิบัติ หือ

ถ้ามันบอกมากๆ ก็ถาม...ใครให้มึงนั่ง  ถามดู ถ้ามันไม่กระโดดต่อยเอานะ(โยมหัวเราะบอกว่าเดี๋ยวสำนักพัง) ...ใครใช้ให้มึงนั่ง ใครใช้ให้มึงทำความสงบ ใครๆ

เดี๋ยวมันก็จะบอกว่า...อาจารย์องค์นั้น อาจารย์องค์นี้ ...ก็บอก ไม่เกี่ยวกับอาจารย์ มึงอ่ะใคร ใครใช้ให้มึงนั่ง กลับมาดูให้เห็น แล้วค่อยมาคุยกันรู้เรื่อง นี่ ถึงจะมาคุยกับพวกเจริญทางสติปัญญา

ถ้ามันไม่ทวนกลับมาถึงฐาน หรือว่าต้นตอ หรือว่าต้นเหตุที่แท้จริงแล้วนี่ มันคุยกันแบบ...ไปไหนมา สามวาสองศอก บอกให้เลย...ไม่จบ มันคนละเรื่องกัน

เอาประเด็นอะไรไม่รู้มาถกเถียงกัน เอาถูกเอาผิดกับ...ขี้ใครเหม็น ขี้ใครหอม ขี้ใครกองใหญ่ ขี้ใครกองเล็ก เข้าใจมั้ย ว่าเป็นขยะ มันเป็นสิ่งที่ออกมาจากอาการของใจทั้งสิ้น

หลงทั้งนั้นน่ะ ทั้งคนถูกคนผิดน่ะ บอกให้ จะเอาอะไรกับมัน ...ใครเถียงล่ะ ดูดิ  ใครอ่านล่ะ ใครคิด ใครกำลังทำ ใครกำลังพูดน่ะ ...กลับมาอยู่ที่ใจ กลับมารู้ที่ใจ

แค่นั้นเอง ปัญหาหมด จบ สันติ สงบ ระงับ ดับ...ดับหมด ดับหมดทั้งกิเลส ทั้งตัวตน ทั้งเรา ทั้งเขา ดับหมดที่รู้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

แต่ว่ามันปัญญาก็ปัญญาขี้กระผีกหนึ่ง รู้นิดนึงเดี๋ยวก็กูออกไปใส่ใหม่ ออกไปเอาอีกแล้ว ...ต้องกลับมาบ่อยๆ รู้บ่อยๆ กลับมาละภายในของเรา รู้อยู่ภายใน กลับมารู้ๆๆ

สติเท่านั้นถึงจะเป็นตัวระงับ ยับยั้ง ดับ ตัด ละ คลาย จาง ...กลับมารู้ กลับมาอยู่ที่ดวงจิตผู้รู้อยู่ กลับมาอยู่ที่ใจรู้ใจเห็น แล้วทุกอย่างจะเป็นแค่สักแต่ว่า

ทั้งทิฏฐิมานะ อาสวะทั้งหลายทั้งปวง มันก็เป็นแค่อาการ เป็นขยะที่มันล่องลอยออกมาจากใจนั่นแหละ ...อย่าไปเก็บมันเอามาเลย อย่าเอามา เหมือนหมาเน่าลอยน้ำน่ะ ขยะ สวะ ลอยตามน้ำมา

มัวแต่ไปนั่งวิพากษ์วิจารณ์ขยะ หรือว่าเอาขยะอันนั้น แยกขยะนั้นดี ขยะนี้ไม่ดี  แล้วก็เอามาเก็บไว้ในบ้านของตัวเอง ต่อไปบ้านก็รกเลอะเทอะเต็มไปหมด

เรามีแต่จะเอาขยะของเราทิ้งลงน้ำไป ให้มันลอยลงทะเล บ้านจะได้โล่ง เบา สะอาด สว่าง สงบ สันติ บริสุทธิ์ขึ้นมา ...แต่ขณะเดียวกับที่เราเอาขยะออก มันก็ดันมีหมาเน่าลอยเน่าลอยน้ำมา เนี่ย

อู้ย เสียดายของดี ...เก็บเข้าบ้านอีกแล้ว (หัวเราะกัน) เอ้า มือหนึ่งก็เอาออก อีกมือก็เก็บเข้า อย่างนี้ ปัญญาก็เรียกว่าปัญญาทึบ เจริญปัญญาก็เรียกว่าปัญญาทึบอีกแล้ว ไปนั่งถกเถียงเอากฎเกณฑ์อะไรกัน

เพราะนั้นถ้ารู้ว่าหน้าที่อันควรของเราคือ ไม่เอาเข้า เอาออกอย่างเดียว ...ผ่านๆๆ รู้อะไรก็ผ่าน ...ผ่านไม่ได้ก็รู้อยู่ว่าผ่านไม่ได้ รู้อยู่ตรงนั้น ให้รู้อยู่ แยกรู้ออก

ยังข้องอยู่ ยังติดอยู่ก็รู้...รู้ รู้เข้าไป รู้อยู่กับปัจจุบันนั้น ในอาการที่ตั้งอยู่แล้วมันยังไม่ดับไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ...ไม่ต้องไปสงสัย ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องไปหาที่มาที่ไป

คือมันตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่ มันยังไม่ดับก็รู้ว่ายังไม่ดับ ก็รู้อยู่ในอาการของที่มันตั้งอยู่ในปัจจุบัน ...มันไม่อยู่ไปถึงไหนหรอก ทุกอย่างมีอายุขัย  เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็ผ่าน หายไป

เมื่อวานพระก็มาฟ้องว่าโดนด่า เรื่องทำวัตร เรื่องบิณฑบาต เรื่องอะไร มันก็มีหงุดหงิดรำคาญ เพิ่นบอกว่า ดูจิตนึกว่าจะแน่ เจอเข้าไปก็เละเทะหมด..จิต (หัวเราะ) หวั่นไหว กระทบกระเทือนเลื่อนลั่นไปหมด

ก็บอกแล้วว่า...ทุกอย่างมันเป็นสิ่งสงเคราะห์ มันเป็นการสงเคราะห์จิตทั้งสิ้น อย่าประมาท ...มันไปกระทบอัตตา ไปกระทบตัวตน เดี๋ยวก็แสดงอาการออกไป

ก็เรียนรู้ทุกอย่าง มันเป็นอาจารย์ที่มาบอกมาสอนเรา  มีอะไรก็รู้ รู้ไว้ รู้เฉยๆ รู้เป็นกลาง ...แล้วสุดท้ายก็จะเห็นว่า สักแต่ว่ามี สักแต่ว่าเป็น สักแต่ว่าเกิดขึ้น สักแต่ว่าตั้งอยู่ สักแต่ว่าดับไป

ไม่ใช่เรื่องของใคร ไม่มีของเรา แล้วก็ไม่มีของเขา ...มันเป็นของมันอยู่เช่นนี้ ตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดิน มันก็เป็นอาการอย่างนี้ มันก็มีอาการอยู่เช่นนี้แหละ เป็นธรรมดา

เพราะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่มันตั้ง ทรงอยู่ ปรากฏอยู่  มันเป็นธรรมดาของมันอยู่แล้ว ...การไปการมาของมัน การเกิดการตั้งการดับ มันก็เป็นธรรมดาของเขา

แต่เวลาจิตเรา ใจเรา ตาเรา หูเรา จมูกเรา กายเรา...เข้าไปรับรู้สัมผัสนั้น กลับไม่ยอมธรรมดา...กับสิ่งที่มันตั้งอยู่เป็นธรรมดา เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดับหรือไม่ดับไปเป็นธรรมดา

เวลาเราเข้าไปรับรู้...เราไม่ธรรมดา เห็นว่าไอ้พวกนี้ไม่ธรรมดา ...ตรงนั้นแหละต้องเท่าทัน แล้วก็รู้ว่าเราไม่ยอมรับความธรรมดานั้นๆ ...จิตก็จะเริ่มฉลาดขึ้นๆ แล้วก็..อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง

เวลามานั่งอยู่รอบข้างเรานี่ ไม่มีทุกข์ ทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด ไม่มีปัญหา ต้นไม้ อากาศ ข้าวของ ทุกอย่าง เขาก็ตั้งอยู่ธรรมดาของเขา เขาไม่เคยเป็นสุข เขาไม่เคยเป็นทุกข์ให้ใคร

เขาไม่เคยสร้างสุข เขาไม่เคยสร้างทุกข์ให้ใคร เขาเป็นอะไรตัวเขาเป็นอะไรเขายังไม่รู้เลย ...แต่มันเกิดจากการปรุงแต่งหรือการรวมตัวของสังขารขันธ์ขึ้นมา แล้วก็ตั้งอยู่

แล้วก็มีเหตุปัจจัยให้มีการต่อเนื่องตั้งอยู่ ยังไม่ดับ มันก็โท่โร่อยู่อย่างนั้น ก็เห็นอยู่อย่างนั้น ...เขาไม่เป็นสุขเป็นทุกข์เลยนะนั่นน่ะ แล้วเขาไม่มีเจตนาจะเป็นสุขเป็นทุกข์ให้ใครด้วย

เพราะนั้นถ้าเราแค่รับรู้ด้วยจิตที่เป็นกลางหรือว่าปกติธรรมดา ทุกอย่างไม่เป็นสุขเป็นทุกข์  จิตเราก็ไม่เป็นสุขเป็นทุกข์ กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน อยู่ด้วยกันร่วมกันเป็นสันติ

เห็นมั้ย จิตอยู่อย่างนี้สันติ  สิ่งแวดล้อมก็สันติ ...เขาสันติตลอดชาติน่ะ ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาสันติตอนนี้..ตอนที่เราเป็นกลางนะ  ถึงจิตไม่เป็นกลาง เราไม่เป็นกลาง...เขาก็สันติ

นี่คือธรรมชาติ ธรรมชาตินี่สันติอยู่แล้ว สงบ สันติ เป็นธรรมดา ...ตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดิน โลกนี้สงบสันติตลอด ในความเป็นไปของเขา

มีแต่มนุษย์ปุถุชนเท่านั้นแหละ ที่เข้าไปมีเงื่อนไขกับ...ไอ้นี่ไม่ถูกหู ไอ้นี่ไม่ถูกตา ไอ้นี่ไม่ถูกใจกูไปหมด ...แล้วเราไม่เท่าทันอาการนั้น จึงไม่เห็นว่าปัญหานั้นมันเกิดที่ไหน

เกิดตรงนี้เหรอ เกิดตรงนั้นเหรอ เกิดตรงโน้นเหรอ...ไม่ใช่ ...เพราะทุกอย่างเขาไม่มีปัญหา เขาเป็นธรรมชาติ เขาเป็นธรรม เขาเป็นกลาง ...มีแต่เราน่ะไม่เป็นกลางกับเขา ...แต่เราไม่เห็น

นี่คือปัญญาต้องกลับมาเห็นอาการตรงนี้บ่อยๆ จนเข้าใจ จนเห็นความเป็นจริงของเหตุที่เกิดทุกข์ ...มันก็จะแก้ตรงนั้น ละอยู่ตรงนั้นแหละ ...ละที่เหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ 

นี่ ต้นตอ อยู่ที่ใจผู้เข้าไปรับรู้นั่นแหละ ...ถึงถามว่าใครนั่ง ใครนอน ใครยืน ใครเดิน ใครเห็น ใครคิด ใครสุข ใครทุกข์ ...กลับมาดู ไอ้ตัวนั้นแหละ มันโท่โร่อยู่ตลอดเวลา...ตัวรู้ใจรู้ 

ตอนแรกมันก็เป็นเรารู้ ตัวเรานั่นแหละ ...เพราะนั้นว่าเวลาเรากลับมาเห็นตัวเรารู้ เราเห็น เรากำลังทำนู่นทำนี่ เรากำลังอะไรอยู่  บางคนก็ใจร้อนใจเร็ว อยากจะไปทำลายตัวเรา ...อย่าไปทำลายมัน ทำลายไม่ได้ 

เพราะมันไม่ใช่เราจริงๆ มันเป็นใจ ...แล้วต่อไปไอ้ความรู้ว่าเรารู้เราเห็นน่ะ มันจะเปลี่ยนไป เป็นแค่รู้เฉยๆ  ตัวของมันก็เป็นแค่ใจรู้เฉยๆ ไม่ใช่เรารู้ ...เป็นใจ 

มันก็จะคลายความเห็นว่าเป็นเราออกไปทีละน้อยๆ ...แล้วเราไม่ต้องไปสงสัยว่ามันคลายยังไง รู้ไปเรื่อยๆ นั่นแหละ มันจะคลายด้วยความเข้าใจ ด้วยปัจจัตตัง 

แต่ว่าเวลานักปฏิบัติเริ่มต้น พอให้กลับมารู้ มันเห็นแล้วก็กลายเป็นว่า “เรารู้ๆ” แล้วก็ดันไปหงุดหงิดกับเราตลอดเวลา รู้สึกว่าความเป็นเรามีอยู่ตลอดเวลา

แต่ว่าไอ้ “เรา” ในความหมายนี้ จริงๆ คืออัตตาผู้รู้...ใจรู้ ดวงจิตผู้รู้นี่..เป็นอัตตาหนึ่งน่ะ ...ใจนี่คือยังมีอัตตาอยู่ในตัวตนที่แท้จริง ที่พร้อมจะแตกออกมาเป็นอารมณ์อาการต่างๆ นานา 

เพราะนั้นใจรู้หรือว่าเรารู้จริงๆ คืออัตตา..ไม่ใช่สักกาย ...ถ้าสักกายนี่ หรือว่าความเห็นว่าเป็นเรานี่ ...ตัวนี้คือไม่มีอาการรู้เลย 

ไม่รู้ว่ากาย ไม่รู้ว่าจิต ไม่รู้ตัวไม่รู้ตน ไม่รู้ว่าเป็นกาย ไม่เห็นกายไม่เห็นจิตในปัจจุบัน คือทุกอย่างมันเป็นของเราหมดเลย...นั่นเป็นสักกายตลอดเลย 

แต่พอเริ่มมารู้เห็น รู้กายเห็นกาย รู้อารมณ์เห็นอารมณ์ แล้วก็ว่า เออ ตัวนี้เป็นสักกาย เป็นเรารู้ ...จริงๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราสักกาย  แต่เป็นอัตตาของใจ คือตัวตนของใจ ...คือตัวตน

ใจก็คือตัวตนหนึ่ง แต่เป็นอัตตาอุปาทานอันหนึ่ง เพราะนั้นใจผู้รู้ หรือว่าผู้รู้จริงๆ นี่ ยังไม่ใช่ใจที่แท้จริงนะ ...ก็ต้องไต่เต้าจากผู้รู้นี่ หรืออัตตาตัวนี้ หรือใจ...เข้าไปสู่ใจ

มันจะเป็นใจก็ต่อเมื่อมันคลาย สำรอก...สำรอกออก สำรอกราคะ สำรอกโทสะ สำรอกโมหะ สำรอกความไม่รู้ สำรอกอวิชชาตัณหาอุปาทาน คลายออกไปๆ ...ตรงนั้นน่ะ ความเป็นใจก็จะปรากฏ 

แต่ว่าบางครั้งบางขณะ ในขณะที่มันเห็นความเกิดดับ มันอาจจะเห็นเข้าไปถึงภาวะที่ไม่มีของใจ ของความดับไปของตัวผู้รู้

คือเข้าไปสู่ภาวะใจที่ไม่มีสัณฐานไม่มีประมาณได้...เป็นช่วง เป็นห้วง เป็นครั้ง ...แล้วสุดท้ายมันก็กลับมาเป็นใจรู้เห็น รู้...เป็นผู้รู้ ตัวรู้เห็น อาการรู้ สภาวะรู้


(ต่อแทร็ก 2/27  ช่วง 3)



แทร็ก 2/27 (1)


พระอาจารย์
2/27 (530911B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
11 กันยายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  ทำยังไงถึงจะเจริญเมตตาเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องทำอะไร


โยม –  ถ้าไม่พอใจก็รู้

พระอาจารย์ –  รู้เฉยๆ  แยกใจออกมาจากอาการ ...ไม่มีหน้าที่ไปทำอะไรขึ้นมาใหม่ 

อยู่ที่ใจรู้นั่นแหละ...คือเมตตาที่เป็นอัปปมัญญา ...เพราะในขณะที่รู้นั้นน่ะ คือภาวะที่ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย...อนูปวาโท อนูปฆาโต (การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้ายกัน)


โยม –  ถ้ามันขุ่นๆ อยู่ ก็รู้มันเข้าไป

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าขุ่น


โยม –  สมมุติว่าไม่พอใจอย่างนี้ค่ะ เราก็แค่รู้ “ไม่พอใจมันอีกแล้วๆ”  ก็รู้ๆ รู้ไปเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  อือ แล้วก็อยู่ที่รู้ เข้าใจมั้ย ...แล้วพวกอาการทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันก็จะเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ตั้งอยู่ของมัน ...หมดเหตุปัจจัยก็ดับไป


โยม –  ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมันเลย

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง ...การที่ไม่ทำอะไรกับมันเลยนี่ คือความหมายว่าหยุดการสร้างมโนกรรม วจีกรรม กายกรรมไปในตัว

เพราะนั้นไอ้เมตตาอย่างที่พวกเราอยากได้ อยากทำน่ะ มันเป็นเรื่องของเมตตาที่เจือด้วยความอยาก

(ถามคนเข้ามาใหม่) –  มาเมื่อไหร่


โยม –  มาถึงเมื่อคืนครับ

พระอาจารย์ –  แล้วเป็นยังไง จิตใจสบายดีไหม


ผู้ถาม –  อยู่นั่นก็ดูใจไปด้วย แล้วก็เห็นว่าไม่ต่างกัน อยู่ที่ไหนก็ไม่ต่างกัน

พระอาจารย์ –  ใจดวงเดียวกัน ...อยู่ในนรกก็ใจอันนี้ อยู่บนสวรรค์ก็ใจอันนี้ อยู่บนโลกมนุษย์ก็ใจอันนี้

แต่ว่าในนรก ในเดรัจฉาน ...การที่สติเข้าไปเห็นใจนี่..จะไม่เห็นเลย เพราะว่ากรรมวิบากที่หนาแน่นมันจะปิดบัง สติไม่เกิด

ในส่วนของสวรรค์..เทวดาก็ยังมีโอกาสได้เห็นใจรู้ใจ ...แต่ว่าความสุขกับเวทนาที่มันฉาบทา มันหนาแน่น จนยากที่จะฟื้นฟูใจขึ้นมา 

สภาวะใจที่ปรากฏด้วยสติจริงๆ นี่...ยากมาก เพราะมันจะมีแต่สุขเวทนา ...นอกจากว่าเทวดาบางองค์บางตนเท่านั้น...ที่มีอุปนิสัยของการบำเพ็ญมาน่ะ 

หรือว่าเคยเป็นมนุษย์ ฤาษีที่เคยบำเพ็ญมา พวกนี้ ก็จะเป็นอุปนิสัยให้ฟื้นคืน ระลึกหวนขึ้นถึงอารมณ์กรรมฐาน หรืออารมณ์ของปัญญาที่จะฟื้นคืนภาวะใจขึ้นมา

เพราะนั้น...สำคัญ เรื่องใจนี่เป็นเรื่องสำคัญ ...ไม่เห็นใจ ไม่รู้ใจ กำหนดสภาวะใจไม่เป็น...ไม่ต้องถามเรื่องมรรคผลนิพพานเลย ...จะไม่เข้าถึง จะไม่เข้าใจอะไรเลย

ถึงถามว่าใครให้มึงนั่ง ใครให้มึงนอน ใครให้มึงนั่งสมาธิ ...ถ้ายังไม่รู้ว่าใครว่า ใครทำ ใครอยากได้ ใครอยากมี ใครอยากเป็น ใครเป็นตัวบงการอยู่ข้างหลัง ...แล้วจับตัวนั้นให้ถูก

ถ้าจับตัวรู้ไม่ถูก ไม่เห็นตัวรู้ ไม่เห็นตัวใจ ไม่เข้าถึงใจตัวเอง ...ไม่มีทางเลยที่จะเกิดเป็นอริยมรรค หรือว่ามรรค..ครรลองแห่งมรรคไม่เกิด ...มีแต่วิ่งออกนอกหมด

สำคัญนะ เรื่องใจรู้..รู้ใจนี่ ...สติเท่านั้นจึงจะดึงสภาวะหรือว่าเปิดสภาวะใจขึ้นมา...ในขณะหนึ่ง ขณิกะหนึ่ง ...อย่าประมาท แค่รู้เฉยๆ แค่รู้นิดรู้หน่อยนี่ ภาวะใจปรากฏแล้ว

แต่เราไม่ต้องไปหาว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วจะจับใจตัวเป็นๆ มาผูกมันไว้ จับมันขังกรงเลย จะได้ไม่หายไปไหน ...มันจับไม่ได้น่ะ 

ใจไม่มีอาการ ใจไม่มีสภาวะ ใจไม่มีที่อยู่ ใจไม่มีที่ตั้ง ใจไม่มีรูปพรรณสัณฐาน ...ใจมีสภาวะเดียวคือรู้

เพราะนั้นตัวที่จะจับได้ ตัวที่จะทำให้เกิดสภาวะใจหรือเห็นสภาวะใจ คือรู้ระลึกรู้ขึ้นมา...ด้วยสติ

แล้วหลังจากที่เจริญสติได้ต่อเนื่อง รู้บ่อยๆ ...ความโดดเด่นของสติ ความโดดเด่นของใจก็จะปรากฏชัดขึ้น ...แล้วมันก็จะอยู่ได้ด้วยสัมปชัญญะ...คือรู้ตัว 

มีความรู้รอบ รู้รอบในตัวของมันเอง ...มันก็จะสว่าง มองเห็นอาการได้โดยรอบ  แล้วก็รู้อยู่อย่างนั้น เห็นอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมดา ...แยกกันอยู่...ระหว่างขันธ์กับรู้ ขันธ์กับใจ

ก็เหลือแค่กายกับใจ ...ไม่มีกายของเรา ไม่เป็นกายของเรา ไม่เป็นจิตของเรา ...มีแต่กายกับใจ ซึ่งมันก็ยังเป็นใจที่...มันยังไม่ใช่ใจที่แท้จริง

เพราะนั้นไอ้ภาวะรู้ที่มันปรากฏอยู่ภายในแล้วแม้จะแยกมันออก ก็ยังไม่ใช่ใจที่แท้จริง ...มันยังมีอะไรอยู่ในนั้นอีก ที่ยังมี...เพราะว่าถ้าเผลอเมื่อไหร่ กูจะมีปัญหากับมันอยู่เรื่อยน่ะ 

เดี๋ยวกูจะมีปัญหากับอาการนั้น เดี๋ยวกูจะเริ่มมีเงื่อนไขกับตรงนี้ เดี๋ยวกูจะมีเงื่อนไขกับความรู้สึกตรงนั้น ...ยัง ยังไม่จบ เพราะยังไม่ใช่ใจที่เป็นใจเปล่าๆ หรือรู้เปล่า หรือว่ารู้บริสุทธิ์ หรือเป็นใจหนึ่งใจเดียว

มันยังเป็นใจหลายดวง...พร้อมที่จะแตกออกมากับอาการนั้นอาการนี้ ...และเมื่ออาการนั้นแตกออกแล้ว ยังมีสิทธิ์ที่จะหลงไปกับอาการเหล่านี้

สติและสัมปชัญญะจึงต้องละเอียดตามเข้าไปอีก เนี่ย...มันไม่ใช่เรื่องแค่กาย ถ้าหมดจากเรื่องกาย หรือเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดา หรือเห็นมันไม่ใช่เราแล้ว ...เรื่องของใจยังเป็นเรื่องใหญ่

เพราะว่าใจยังสกปรกอยู่ ...ไอ้รู้ตัวนั้นยังเป็นรู้ที่ไม่ใช่รู้ที่แท้จริง ยังเป็นรู้ที่มีมลทิน ยังเป็นรู้ที่ยังมีความเศร้าหมองอยู่ภายใน ...แต่เรามองไม่เห็นน่ะ ทั้งๆ ที่มันก็รู้เหมือนกันน่ะ 

แต่ว่ามันจะเห็นก็ต่อเมื่อ...มันยังมีอาการออกมาอยู่ตลอด หมายมั่นในความคิดความจำ ความหมายในอดีต-อนาคต ในสิ่งที่เคยพิจารณา ในสิ่งที่เคยอยากจะรู้อยากจะเห็น 

มันยังมีความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย กระเสือกกระสน ดิ้นรน ผลักดัน ขับเคลื่อน..ยังมีแรงขับเคลื่อนจากรู้นั้นออกมาอยู่...ตลอด 

สติต้องคอยเท่าทันอาการต่างๆ นานาเหล่านี้ เล็กมั่ง น้อยมั่ง ใหญ่มั่ง ยาวมั่ง นานมั่ง ที่มันยังเลื่อนไหลออกมา ...ทำความแยบคายภายในไปเรื่อยๆ อย่างนี้

จนมันหมดอาการ จนมันหยุดอาการ จนมันไม่มีอาการอีกแล้ว ถึงจะ..เออ ค่อยวางใจ นี่ ...ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรน่ะอาการนั้น เอาเป็นว่ามันหมดอาการเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น 

ก็หมดหน้าที่ ก็หมดภาระ ก็หมดงานที่จะต้องทำ ...หมดแล้ว เพราะมันไม่มีอาการอะไรให้กูดูอีกแล้ว เนี่ย งานถึงจบ

แต่ถ้ายังมี ...นานๆ ผุด..เอ๊อะ มันยังมีอาการอยู่เว้ย ...นี่ ไม่ได้เว้ย อย่างนี้ยังไม่ได้เว้ย ยังต้องดู สติต้องเป็นกลางต่อ อยู่ในองค์มรรคต่อ มรรคยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ตลอดสาย

ไม่รู้ว่าเขาเรียกขั้นไหนภูมิไหน..กูไม่สน ...ถ้าตราบใดที่จิตยังมีอาการกระเพื่อม หวั่นไหว ส่าย ออกมาเป็นอารมณ์ ทั้งภายในตัวมันเองคือหลงอารมณ์ตัวมันเองก็มี หลงอารมณ์ภายนอกก็ยังมี

สังเกตดู...อ้อ ไม่ได้โว้ย ...ยังต้องคอยสังเกต ตรวจสอบ ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยญาณทัสสนะ ด้วยความเป็นกลาง ชำระ เพียรชำระ ...อย่าหลงไปตามอาการนั้นๆ

ไม่ว่าอาการนั้นๆ จะดูดีขนาดไหน จะดูน่าเลื่อมใส จะดูน่าใคร่ขนาดไหนก็ตาม นี่ พอถึงภาวะที่เหลือภาวะใจ หรือภาวะที่เป็นนามธรรมหรือนามขันธ์ บางภาวะมันจะละเอียดมาก ประณีตมาก

ดูเหมือนเป็นธรรม ดูเหมือนเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเรา ดูเหมือนน่าอยู่น่าจับต้องอย่างยิ่ง ...นี่ มันยังมีอาการที่หลอกเราได้อีก มันไม่ใช่อารมณ์ทุกข์แล้ว มันไม่หลอกด้วยอารมณ์ทุกข์แล้ว

แต่มันหลอกด้วยอารมณ์ที่ละเอียดประณีต...ของความไม่มีไม่เป็น ของความเบา ของความผ่องใส ของความสะอาดบริสุทธิ์ ...แม้แต่ความบริสุทธิ์ยังมาหลอกเป็นอารมณ์ ยังมาหลอกเป็นว่า นี่เป็นใจ

กว่าจะแจ้ง กว่าจะเข้าใจ กว่าจะเรียนรู้กับมัน...โหย กูถูกมันจูงออกไป..เกือบถูกเชือดแล้วกู ขนาดนั้น นั่นน่ะ ...ป็นเรื่องของนามล้วนๆ นะ มันยังไม่จบง่ายๆ

เพราะนั้น อย่าประมาท ไม่ประมาทๆ ...จนกว่าจะแน่ใจ หรือว่ามันจะรู้ด้วยตัวของมันเอง...ว่ามันไม่มีอาการอีกแล้วจริงๆ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นๆ

ก็ทำหน้าที่ต่อไป การงานก็ทำต่อไป งานภายนอกก็ทำไป ...แต่งานภายในนี่ หรืองานหลักนี่ ทิ้งไม่ได้ ดำเนินไปจนตลอดสายขององค์มรรค

ทั้งหลายทั้งปวง เป็นแค่อาการ จำไว้เลย...ไม่ว่าอะไร มันคือแค่อาการ มองเป็นแค่อาการ ...อย่าไปมองเป็นเรื่องเป็นราว อย่าไปจริงจัง อย่าไปซีเรียส

พอเริ่มแข็ง เริ่มขืน เริ่มฝืน เริ่มจับต้อง เริ่มหมายมั่น ...ให้รู้เลย ตั้งสติขึ้นมา ระลึกขึ้นมา แยกรู้ออกมา แยกใจออกจากอาการ ...อย่าเสียดาย อย่ากังวล อย่าอาลัย 

ในการเข้าไปเสพ ในการเข้าไปเสวย...กามราคะหรือว่าราคะทั้งห้านี่ ...อารมณ์ที่มันเข้าไปพัวพันหรือเข้าไปผูกกับอายตนะทั้งห้านี่ คือความใคร่...ความใคร่ในอารมณ์นั้น

มันหอมหวานน่ะ...บางความคิด บางความรู้สึก บางผัสสะ ...พอจะรู้ แยกรู้ปั๊บ...เสียดายว่ะ มันติดน่ะ มันติด มันไม่อยากออกมารู้แล้วก็เห็นมันเป็นแค่อาการ ...กูอยากจะอยู่กับอาการ กูอยากเป็นกับอาการ

คือความใคร่ในผัสสะ ตาหูจมูกลิ้นกาย ...อ่านหนังสือ ใคร่ในตัวหนังสือก็ยังมีเลย ใคร่ในรูปภาพดารา รูปคนที่เราชอบ หรืออ่านประวัติใคร หรืออ่านอะไรก็ตาม ...เห็นมั้ย มันมีความใคร่

ถ้าให้ปิดหนังสือตอนนั้นน่ะ มันมีความรู้สึกว่า...เสียดายว่ะ ...เห็นมั้ย ความใคร่น่ะ มันถึงให้เราไปแนบแน่น ...พอจะรู้ พอจะละมันน่ะ มันจะเสียดาย เกิดอาการเสียดายในอารมณ์นั้นๆ

ต้องหักหาญ ต้องหัก ...บางครั้งน่ะ ต้องฝึกที่จะทวนรู้ ...แล้วพอรู้ปุ๊บ มันจะเกิดอาการหนึ่งคือเฉยเมย คือกูเคยอ่านมัน พอมาตั้งรู้ๆๆ กูอ่านแล้วกูไม่อยากจะอ่านต่อเลย ไม่รู้จะอ่านทำไม

พอกลับมารู้ รู้ว่ากำลังอ่าน กำลังรู้ว่ากำลังดูหนัง กำลังรู้ว่ากำลังฟังเพลง ...แต่ก่อนเคยฟังด้วยความมัน คือฟังอย่างไร้สติ ไร้สัมปชัญญะ ไร้การแยกกายแยกรู้ แยกหูแยกรู้ แยกเสียงแยกรู้...แล้วกูมันจริงๆ

พอมาตั้งใจฟังแล้วก็รู้ ...เบื่อเลย มันรู้สึกเบื่อเลย ไม่เห็นสนุกเลย ไม่รู้จะฟังทำไม ...แล้วมันบอก "เฮ้ย ช่างมัน ไม่รู้ดีกว่า..เอามันดีกว่า เอามันก่อน" เนี่ย (หัวเราะกัน)

เขาเรียกว่าความใคร่ในอารมณ์ มันใคร่ มันเลิกยาก มันละได้ยาก มนุษย์นี่ ...เพราะมันชอบเสพ ชอบเสวย พึงพอใจในอารมณ์นั้นๆ ในความรู้สึกนั้นๆ ในผัสสะนั้นๆ

แล้วแต่ละคนจะมีจุดบอดหรือจุดที่ข้องนี่ต่างกัน  บางคนก็ข้องทางเสียง บางคนก็ข้องทางรูป บางคนก็ข้องในการเสพกับความคิด ...เหมือนกับยาเสพติดมันมีหลายตัว ยาไอซ์ ยาอี ยาบ้า เฮโรอีน

เห็นมั้ย การให้ความมัวเมาก็แตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าขี้ยานั้นจะชอบอะไร ...แต่ละมนุษย์แต่ละคนก็จะมีจุดที่ใคร่จะเสพ..ในรูป ในเสียง ในรส ในกลิ่น

บางคนก็ติดอาหารการกิน บางคนก็ติดน้ำหอม บางคนก็ติดดูหนัง ฟังเพลงเพราะ บางคนก็ติดวัตถุข้าวของ ติดเสื้อผ้าอาภรณ์ ชอบๆ นี่มันจะมีความใคร่ในอารมณ์ต่างๆ

ก็เพียรที่จะเข้าไปทำความจางคลาย ...ยังไม่ต้องละหรอก แค่รู้  ฝืนหน่อย ฝืนรู้หน่อย ฝืนรู้แยกกายแยกใจ แยกอายตนะ แยกรู้ออกมา แยกความรู้สึกสุขกับรู้ออกมา ...แยกออก พยายามแยกออก

มันจะยากก็ต้องฝืน ...ธรรมดา อยากกินของอร่อยน่ะ มันก็ต้องปรุงแต่งสร้างสรรค์ทำมันขึ้นมา ...ถ้าปล่อยมันก็จะเหมือนเดิม ไม่งั้นก็จะกลับสู่อีหรอบเดิม

จิตก็จะไม่มีการพัฒนา ปัญญาก็ไม่พัฒนาขึ้น มันก็ก้าวข้ามอารมณ์นั้นไม่ได้ ...ที่มันก้าวข้ามอารมณ์นั้นไม่ได้ เพราะมันไม่เห็นอารมณ์นั้นไม่เที่ยง

แต่ถ้าเราแยกรู้ออกมาจากอารมณ์ ความรู้สึก ผัสสะ  แล้วก็รู้เฉยๆ ...เราจะเห็นอารมณ์หรืออาการนั้นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ชัดเจนขึ้น หรือว่าเห็นอาการของไตรลักษณ์

นี่ มันจะเห็นสภาวะไตรลักษณ์ของอาการ หรือว่าของผัสสะนั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น ...ตรงนี้ถึงเรียกว่าปัญญาเกิด...คือเห็น เริ่มเห็นตามความเป็นจริง

แต่ถ้าเข้าไปอยู่กับมันด้วยความลุ่มหลงหรือมัวเมา ...มันขึ้นหรือมันลง..เราไม่รู้เลย ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลย  แต่ว่าพอมันลงแล้วเสียใจลูกเดียว เวลาขึ้นดีใจลูกเดียว

คือกูรับเต็มๆ น่ะ เสวยอย่างเดียว...แต่ไม่รู้เลยว่าทำไมมันถึงเสียใจ ทำไมถึงดีใจ ...เพราะมันไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่มีปัญญา มันเลยเสียใจ มันเลยดีใจ

เพราะมันไม่เห็นว่ามันไม่เที่ยง มันถึงหมดไปไง ...มันไม่ยอมรับ มันก็เสียใจลูกเดียว  แล้วก็มานั่ง..เอ๊ ทำไมเราเสียใจวะ เออ ไปหาเหตุหาผลกับมัน ทำยังไงถึงจะไม่เสียใจ 

ก็ทำให้มึงหายโง่สิ เออ ก็ดูสิ ดู..แยกออกมารู้ แล้วก็เห็น อ๋อ อาการมันเป็นอย่างนี้ๆ ...เพราะนั้น ถ้ารู้ ออกมารู้เฉยๆ กับมันปุ๊บ...แน่นอน การเข้าไปเสวยอารมณ์หรือเวทนา มันจะไม่เหมือนเดิม

มันจะไม่เหมือนเดิม มันจะเริ่มเป็นกลางๆ แค่เป็นกลางๆ แค่เป็นต่างอันต่างแสดง..แล้วก็รู้ ...มีแค่ผู้รู้กับสิ่งที่รู้แค่นั้นเอง ส่วนอารมณ์ก็จะเป็นอารมณ์แบบธรรมดาในลักษณะไม่ขึ้นไม่ลง

แต่มันก็มีนะ อารมณ์มันก็มี เวทนามันก็มี แต่ว่าเป็นแบบกลางๆ ...มันจะไม่เข้าไปแบบมัวเมา ลุ่มหลง เต็มๆ หรือว่าใส่เต็มสตรีมเลยน่ะ ...ถ้าเข้าไปก็เรียกว่าโดนยำ..ยำตีนเข้าไปเลยเต็มๆ คือตั้งใจเข้าไป


(ต่อแทร็ก 2/27  ช่วง 2)