วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/17 (1)



พระอาจารย์
2/17 (530815A)
15 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น 3 ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เวลามันไม่มีอะไร มันก็ไม่มีอะไร  

สติ...ให้มันเข้าใจความหมายของคำว่าสติที่เป็นกลาง ...มันก็ไม่ได้ไปหาอะไร หรือว่าไปทำอะไรขึ้นมา ...มันมียังไงก็เป็นยังงั้น ไม่มีก็ไม่มี มีก็มี ระหว่างสติที่เป็นกลางจริงๆ น่ะ

ไม่ใช่ว่าไปดูเพื่อให้เห็นอะไรหรือให้เกิดอะไรขึ้นมา ...เกิดก็เกิด ไม่เกิดก็ไม่เกิด ตั้งอยู่ก็ตั้ง จะมากขึ้นก็มาก จะน้อยก็น้อย จะดับก็ดับ เกิดอีกก็รู้อีก

นี่ สติที่ไม่เลือก ถึงจะเรียกว่าสติที่เป็นกลาง สติในองค์มรรค ... เพราะนั้นถ้าเรารักษาสติที่เป็นกลางอยู่ตลอดสายนี่ มันก็จะเข้าสู่ความเป็นอริยมรรค

ก็แนบแน่นอยู่กับความเป็นปกติธรรมดา แล้วมันก็คอยสังเกตอาการ เท่าทันอาการ ...จะมีการเท่าทัน เท่าทันจิตที่เริ่มมีอาการผิดปกติไป

ถ้ามันยืนอยู่ในความเป็นปกติได้ เป็นฐาน มันจะจดจำสภาวะปกติได้ และเมื่อมันผิดปกติ มันจะรู้ ...มันจะรู้ขึ้นว่าผิดปกติไปเพราะอะไร

เพราะตา เพราะหู เพราะรูป เพราะเสียง เพราะกลิ่น เพราะรส เพราะความคิด เพราะความจำ เพราะคนนั้น เพราะคนนี้  จิตมันจะมีอาการ โทสะ หงุดหงิด รำคาญ ยินดียินร้าย

พอเห็นอาการปุ๊บ มันก็เกิดรู้เท่าทันอาการนั้น แต่คราวนี้ว่า ความเท่าทันนี่ มันจะไปเท่าทันตอนไหน


โยม – ครับ บางทีก็ช้า

พระอาจารย์ – ใช่ บางทีก็ช้า บางครั้งก็เร็ว ...คราวนี้ว่าเมื่อช้าก็ตาม เร็วก็ตาม เมื่อเท่าทันตรงนั้นแล้วปั๊บนี่ สิ่งที่ต้องระวังอย่างนึง คือต้องรักษาความเป็นกลาง

คือต้องเฉยๆ ต้องรู้เฉยๆ อย่าไปแก้ อย่าไปลด อย่าไปเพิ่ม หรืออย่าไปหาวิธีการอะไรก็ตามที่มันจะให้หายเร็วๆ ตรงนั้นต้องเท่าทัน ต้องกลาง

เพราะว่าการที่ไม่เท่าทันตั้งแต่ขณะแรกของการเกิดขึ้น หรือการเข้าไปจับอารมณ์ จับจนเป็นอารมณ์นี่ ถือว่าเป็นโมหะ ใช่มั้ย โมหะมันพาไปก่อน คือลืม หลง หาย เผลอ หรือจงใจก็ตาม

เมื่อมันเข้าไปปุ๊บนี่ ถือว่าต้องเสวยวิบาก เป็นผล เป็นผลกรรมแล้ว การกระทำด้วยเจตนา มีโมหะจิตเป็นตัวนำ หรือมีการจงใจเป็นตัวนำ เจตนาทั้งในแง่กุศลก็ตาม อกุศลก็ตาม

เพราะนั้นมันจะต้องเสวยวิบาก เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง หงุดหงิด ขุ่นมัว รำคาญ ดีใจ เสียใจ พอเราเริ่มรู้ตัว ปุ๊บ ต้องรู้เฉยๆ แล้ว อย่าไป เอ๊ะ ทำยังไงให้มันหมดไป

หรือว่าไปหาว่าที่มาที่ไปมันมาจากไหน พยายามพิจารณา บางทีก็ชอบไปพิจารณา “เอ๊ะ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนี้” คิดอีกแล้ว

ต้องรู้เฉยๆ เท่าทัน อยู่เฉยๆ รู้เฉยๆ รู้เป็นกลางๆ เป็นปกติธรรมดา มองให้เป็นเรื่องธรรมดาซะ ...จนกว่าวิบากหรือว่าผลของการที่จิตหลงออกไปนี่ มันหมด หมดเหตุปัจจัย

คือถ้าเรารู้เฉยๆ นี่คือหยุดใช่มั้ย หยุดคือหมายความว่าหยุด หยุดเจตนาแล้ว หยุดความกระทำ หยุดกรรม หยุดกรรมต่อเนื่อง เพราะนั้นมันก็จะเสวยแต่วิบาก สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ยินดียินร้าย พวกนี้

จนกว่ามันหมดกำลัง พอหมดกำลังปุ๊บ มันก็จะเป็นไตรลักษณ์ของมันเอง มันเป็นไตรลักษณ์ของมันเอง ไม่ต้องกลัวหรอก จะช้าจะเร็วจะนาน

ช่วยไม่ได้ ข้อหาหลงผิดไปเองน่ะ ทำผิดเองน่ะ ใช่มั้ย ก็ต้องเสวยผล ยินยอม ยอมรับ เฉยๆ ปั๊บ มันก็กลับมาคืนฐานเดิม คือปกติ ตรงปกตินี่แหละคือฐาน

พูดง่ายๆ คือฐานใจน่ะ ฐานที่ว่าไม่มีการประกอบกระทำ ยังไงยังงั้น เป็นปกติเขาน่ะ

เพราะนั้นในความหมายของคำว่าปกตินี่ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรนะ มีอารมณ์ก็ได้ ไม่มีอารมณ์ก็ได้ แต่ว่าเราไม่ยุ่งกับมัน เฉยๆ รู้เฉยๆ อย่างนี้

ตรงนี้เป็นฐาน ฐานของศีลสมาธิปัญญา หรือว่าฐานของมัชฌิมา แล้วจากนั้นก็อยู่ตรงนั้นไปเรื่อยๆ น่ะ ทันเมื่อไหร่ก็ทันเมื่อนั้น แล้วมันจะไวขึ้นมันจะไวขึ้น

จากที่ว่าเคยรู้ ผ่านไปตั้งนานค่อยรู้ ต่อไปก็ ปึ้บ มันก็รู้แล้ว แล้วมันจะพัฒนาขึ้นไปถึงระดับที่ว่าขณะจะเกิดครั้งแรกของการเข้าไปจับ ก็รู้...รู้ทันที

พอรู้ตรงนั้น ถ้ารู้ทันขณะแรกของการเข้าไปจับอารมณ์มาเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเราเมื่อไหร่นี่ ขณะนั้นน่ะถึงจะเรียกว่าสัมมาสติ นะ

พอมันเป็นสัมมาสติ ถ้าเป็นขณะแรกเมื่อไหร่ปั๊บนี่ รู้ปั๊บดับปุ๊บเลย เพราะมันไม่มีผล นะ มันจะไม่ทันก่อภพ มันยังไม่ก่ออารมณ์ มันยังไม่ก่อความหมายมั่น ยังไม่มีอุปาทาน

จะไม่ทันมีอุปาทาน มันจะเป็นอย่างนั้น ...แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สัมมาสติครั้งแรก หรือสองสามครั้ง ห้าครั้งสิบครั้ง แล้วมันจะหายในการยึดมั่นถือมั่น เดี๋ยวมันก็เผลอเพลินอีกได้ ยังมีสิทธิได้

แต่ว่ามันก็จะเริ่มพัฒนาสัมมาสติขึ้น มากขึ้นๆ แล้วเมื่อสัมมาสติมันมากขึ้นเมื่อไหร่ คือหมายความว่าตรงนั้นแหละคือจุดที่เข้าไปชำระอุปาทานภายใน ความหลงผิด

ความเห็นผิดในการเข้าไปจับขันธ์ห้า ขันธ์ห้าคือกาย เวทนา จิต ธรรม หรือว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันจะผ่อนคลายในการจะเข้าไปหมายมั่นในขันธ์มากขึ้นๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยนะ


โยม – หมายความว่าจะไม่รู้ตัว

พระอาจารย์ – เราจะไม่รู้ เราจะไม่รู้ว่าเราคลายมันได้มากหรือน้อยยังไง

มันทำหน้าที่ของมันไปเอง จิตเขาทำหน้าที่ของเขาเอง เขาเรียนรู้ของเขาอยู่ตรงนั้นน่ะ ตรงสัมมาสตินั่นที่เข้าไปชำระมิจฉาทิฏฐิภายในนั้น

แต่เราไม่รู้ว่า เอ๊ะ มันจะละยังไง เราละได้ยังไง หรือเราจะต้องพิจารณาให้เข้าใจมั้ยว่ามันละได้ยังไง ท่าไหน ...ไม่ต้องไปเอาความรู้ความเห็นอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องกับมันอีก เพราะคำว่าสัมมาสตินี่มันละหมด

คำว่าละหมดนี่ หมายความว่าแม้แต่ความคิดความเห็นมันยังละน่ะ เข้าใจมั้ย แค่จะออกไปตั้งเป็นความคิดความเห็นหรือออกไปหานี่ แค่ขยับปั๊บมันรู้ ที่เป็นอุปาทานนะ มันจะละทันทีเลย มันจะดับ

เพราะนั้นไม่ต้องไปหาเหตุหาผลเลย...ว่า ต้องเข้าใจอย่างนั้นก่อน ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนมันถึงจะวาง มันถึงจะละ ...มันไม่สนน่ะ มันละ

คำว่าละ คือละเลย ละทุกสิ่งที่จะเข้าไปหมายมั่น ทั้งในแง่ของความคิด ทั้งในแง่ของความจำ ทั้งในแง่ของความเห็นของตัวเองด้วยซ้ำ

แต่คราวนี้ว่า เรายังแยกไม่ชัดเจน ไม่ชัดเจนตรงไหน ไม่ชัดเจนว่า คิดอย่างไรไม่มีอุปาทาน คิดอย่างไรถึงมีอุปาทาน เข้าใจมั้ย มีความเห็นอย่างไรที่ไม่มีอุปาทาน มีความเห็นอย่างไรที่มีอุปาทาน

ตอนนี้เรายังไม่เกิดความชัดเจนตรงนั้น คือยังแยกขันธ์กับอุปาทานขันธ์ไม่ออก มันอาจจะออก มันอาจจะละได้บางขณะบางคราว แต่ยังไม่ชัดเจน ยังไม่ชัดเจน

คือใจมันยังไม่ยอมรับโดยสมบูรณ์ คือไม่เกิดปัจจัตตัง หรือว่าญาณมันยังไม่เต็มรอบ การเข้าไปเห็นความเป็นจริงของขันธ์กับอุปาทานขันธ์ ยังไม่เต็มรอบ

มันก็จึงสลับกันไประหว่างเผลอเพลินกับรู้ๆ แล้วก็จับเป็นอารมณ์หรือว่าไปยินดียินร้าย

แต่ให้สังเกตว่า ความคิดก็ตาม ความเห็นก็ตาม รูปเสียงกลิ่นรสก็ตาม ถ้าเรารับรู้แล้วยินดีหรือยินร้าย ตรงนั้นแหละให้รู้ไว้เลยว่ามีอุปาทาน มีอุปาทานเข้าไปรับรู้ในขันธ์...ทั้งขันธ์นอกและขันธ์ใน

แต่ถ้ารู้ในลักษณะที่ รู้โดยเราไม่ได้จงใจหรือเจตนานะ รับรู้ปุ๊บแล้วไม่มีอะไร ปกติ เหมือนกับเห็นก็ธรรมดาผ่านไปเลยอย่างนี้ การรับรู้นั้นถือว่าไม่มีการเข้าไปมีอุปาทาน นะ

พยายามแยกออกตรงนี้บ่อยๆ แล้วมันจะจับทันขณะว่า นี่อย่างนี้ไม่มีอุปาทาน เพราะนั้น คำว่ารู้โดยไม่มีอุปาทานนี่ ไม่ได้หมายความว่ารูปหรือนามนั้นดับ

ก็ยังมี รูปก็ยังมี ก็ยังเห็นอยู่นะ ใช่มั้ย หูก็ยังได้ยินเสียงอยู่นะ เสียงไม่ดับนะ ...แต่มันจะไม่เข้าไปจับมาเป็นอารมณ์ ตรงนี้ต่างหาก

แม้แต่อารมณ์ก็ตาม หงุดหงิด รำคาญ ขุ่น มัว เรารู้ปุ๊บ เรารู้แล้วเฉยมั้ยล่ะ รู้แล้วหงุดหงิดมั้ย รู้แล้วหงุดหงิดซ้ำไหมล่ะ รู้แล้วว่า “เอ๊ะ เกิดอีกแล้ว ทำไมเป็นอย่างนี้อีกแล้ว” เข้าใจมั้ย

หรือว่าอันไหนดีใจ ชอบ ก็ โหย อยู่นานๆ นะ หรืออันไหนมีความสุข อารมณ์สบาย พยายามเข้าไปยินดี มีความพอใจ อย่างนี้ เขาเรียกว่าเข้าไปรู้อารมณ์แบบมีอุปาทาน

เพราะนั้นคำว่ารู้แบบไม่มีอุปาทานคือ มีก็มี ไม่มีก็ไม่มี มากก็มาก น้อยก็น้อย อย่างนี้ ... คือไม่ได้หมายความว่าไม่มีอุปาทานแล้วทุกอย่างต้องดับหมด  

อย่าไปพยายามดับ หรือพยายามว่า ถ้ามันดับถึงจะไม่มีอุปาทาน ถ้าเข้าไปดับโดยที่เข้าใจว่ามีการดับอุปาทานไปพร้อมกัน มันจะเข้าไปสู่ภพของอรูป คือความดับๆ รูปก็ดับ นามก็ดับ

แต่ความหมายของคำว่า ญาณที่เห็นรูปนามดับ เคยได้ยินมั้ย ญาณที่เห็นรูปนามดับนี่ มันไม่ใช่ไปดับรูปนามที่เราผัสสะข้างนอก หรือว่าขันธ์ห้า ไปดับขันธ์ห้า...ไม่ใช่  

แต่เป็นญาณที่เห็นรูปนามของอุปาทานดับ คือความเข้าไปจับขันธ์ห้ามาเป็นตัวตน ตรงนั้นน่ะดับ แต่รูปนามไม่ดับ รูปนามก็ยังคงอยู่นี่ ...คุยกันอยู่นี่ เห็นก็เห็นอยู่ทนโท่ มันดับตรงไหน กายก็มีอยู่  

แต่บางอารมณ์เราไปยินดียินร้าย เห็นมั้ย สังเกตดูสิ บางรูปนี่เฉยๆ ปกติ เราไม่ได้ใส่ใจ ดูเหมือนเราไม่ได้ใส่ใจ มันก็ไม่มีอะไร แต่บางรูป ถ้ามัน เอ๊ สะดุดขึ้นมา แล้วเรา...เอ๊ะ ทำไมถึงอย่างนั้น ทำไมถึงอย่างนี้

ตรงนี้คือ...รูปนั้นเราเข้าไปให้ค่าหรือเข้าไปหมายมั่นในรูปนั้นๆ หรือในเสียง ความคิดก็เช่นเดียวกัน ความจำก็เหมือนกัน อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็เหมือนกัน

ถ้าเราแยกได้ชัดเจน แล้วมันอยู่...ต่างอันต่างอยู่ ขันธ์ห้าก็คือขันธ์ห้า มันจะเกิดมันจะดับ หรือมันจะเกิดซ้ำซาก หรือมันจะตั้งอยู่ไม่ดับ ไม่สำคัญแล้ว เข้าใจมั้ย

มันจะเป็นเรื่องของขันธ์ห้า ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เพราะนั้นใจรู้กับขันธ์ห้าจะอยู่คนละส่วน แล้วมันจะอยู่ด้วยอาการปกติ เห็นมั้ย อยู่ด้วยความเป็นกลางแล้วนี่ ความเป็นกลางนี่

เพราะนั้นตัวกลางๆ นี่จะเป็นฐาน ถ้าไม่กลางเมื่อไหร่หมายความว่ามันเข้าไปจับ เข้าไปจับ และตัวที่จะทันอาการแรกที่เข้าไปจับ ตัวนั้นถึงเรียกว่าสัมมาสติ

แต่ถ้าไปจับแล้วค่อยรู้ นี่เรียกว่าสติปัฏฐาน คือไปรู้ว่า อ้อ ตอนนี้ไปอยู่กับกาย เป็นทุกข์กับกาย เป็นทุกข์กับอารมณ์ เป็นทุกข์กับความรู้สึก เป็นทุกข์กับรูปภายนอก ไปทุกข์กับเสียง

เขาเรียกว่าไปรู้ตามฐานแล้ว ...ก็รู้ พอรู้ปุ๊บนี่ มันก็แยกออกมาในลักษณะรู้เฉยๆ แล้วก็ตอนนี้ ที่จิตจะเข้าไปเห็นไตรลักษณ์ ต้องยอมรับกฎไตรลักษณ์ เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าเราไปยุ่งต่อ คือไปทำให้มันมากขึ้นหรือน้อยลง เข้าใจมั้ย นี่กลับเข้าไปครอบครองรูปนามใหม่อีกแล้ว โดยไปเข้าใจว่าเราทำได้ เราน่าจะทำได้ และมันต้องมีวิธีที่ทำได้

ตัวนี้ เห็นมั้ย มันเข้าไปยุ่งด้วยสักกาย เข้าไปยุ่งด้วยสีลัพพตปรามาส คือการกระทำ แล้วทำแล้วได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง ได้ผลไม่ได้ดั่งใจบ้าง-ดั่งใจบ้าง สงสัยแล้ว เริ่มสงสัยแล้ว 


เพราะนั้น ถ้ายุ่งกับมันเมื่อไหร่นี่ สังโยชน์เบื้องต้นเข้ามาร้อยรัดทันที จะมาร้อยรัดทันที


(ต่อแทร็ก 2/17  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น