วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/17 (3)


พระอาจารย์
2/17 (530815A)
15 สิงหาคม 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 2/17  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เห็นแดดออกมั้ย อยากให้มันหยุดไหมล่ะ ถ้าอยากให้มันหยุดนี่ จะรู้ไหมว่ามันจะหยุดเมื่อไหร่ เราจะไม่รู้เลยนะ เขาจะหยุดของเขาเองนะ ตามเหตุและปัจจัย ใช่มั้ย

ตอนนี้อยากให้ฝนตกนี่ ฝนก็ไม่ตก เขาจะตกตามที่เราอยากหรือไม่อยากมั้ย ไม่เกี่ยวเลยนะ นอกเหนืออำนาจการควบคุมของเรานะ

นี่คือธรรมชาติที่เขาแสดงความเป็นอนัตตา ธรรมชาติที่แสดงการที่ว่าการเกิดขึ้นตั้งอยู่ตามเหตุและปัจจัย ไม่ได้มีใครบงการได้

ธรรมชาติภายนอกมันไม่ได้แตกต่างกันหรอกกับกายกับใจของเรา คือธรรมชาติเดียวกัน ...แต่เรามักจะมีปัญหากับอันนี้ มันไม่ได้ดั่งใจซะที

ก็เหมือนกับเราไปทะเลาะกับแดดอย่างนี้ ทำไมมันร้อน ทำไมไม่ร่มล่ะ เมื่อไหร่มันจะมีเมฆมาสักที แล้วก็ไปหาวิธีการยังไงเพื่อจะไปทำให้เมฆมันมาบังแดดให้ได้ ...มันทำได้ไหมล่ะ เข้าใจมั้ย

อาจจะทำได้ก็เอาร่มมากาง มันก็แค่นั้นแหละ แต่ว่าความเป็นจริงแดดคือแดดอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วเราก็มาหลงใหลได้ปลื้มว่าเราทำได้ ...แต่มันทำได้จริงๆ มั้ย ไม่ได้หรอก

มันหลอกตัวเอง แล้วก็หลอกคนอื่น แล้วคนอื่นเขาก็หลอก ว่าวิธีการนั้นวิธีการนี้ อ่ะ เอาร่ม เอากระดาษหนังสือพิมพ์ เอาไป แล้วแต่ใครจะเลือกว่า อุปกรณ์ไหนที่เอามาบังแดดได้ชั่วคราว

แล้วก็มีความสุข แล้วก็ โหย ภูมิอกภูมิใจ ดีอกดีใจ ...แต่แดดก็คือแดด มันก็ยังฉายอยู่อย่างนี้ มันไม่ได้ไปไหน เขาไม่ได้ขึ้นกับอำนาจอะไรมาปกคลุมปิดบังเขาได้หรอก

กับการที่ว่า ...เออ ชั่งหัวมัน ยอมรับ เดินกลางแดดไป ร่มเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไม่ร่มก็ไม่ร่มอ่ะ ...นี่เขาเรียกว่าปล่อยวางขันธ์ อยู่แบบปล่อยวางขันธ์นะ ไม่เข้าไปยุ่งกับมันจนเกินไป จนถึงว่าขาดกันโดยสิ้นเชิง

น้อมดู ...พระพุทธเจ้าท่านสอนให้โอปนยิโก ทุกสิ่งทุกอย่างน้อมมาสอนจิตได้หมด ดูอะไรเห็นอะไรธรรมชาติเดียวกันหมด ไม่ใช่เรื่องแตกต่างกันเลย 

อย่าไปบอกว่ามันเป็นดินฟ้าอากาศมันไม่มีชีวิตจิตใจ มันเป็นธรรมชาติเหมือนกัน  พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ขึ้นทางตะวันออก ตกทางตะวันตก ...เกิดมีปัญหากับมันเมื่อไหร่นี่ เป็นทุกข์แล้ว

ทำไมไม่ขึ้นทางตะวันตก ทำไมไม่ตกทางตะวันออก ...แค่คิดก็ทุกข์แล้ว แล้วบางคนแค่คิดไม่พอ หาวิธีทางแก้ด้วย พระอาทิตย์มันจะฟังเราไหมนั่นน่ะ

ธรรมชาติเขาเป็นอย่างเนี้ย เราตายไปแล้ว เขาก็ยังเป็นอย่างนี้ เขาไม่มาเปลี่ยนให้เราหรอก ...แล้วเราก็ไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ 

แต่เราคุ้นเคยว่าเราเคยทำได้ เนี่ย นิดๆ หน่อยๆ แล้วมันได้ผล ...ตรงนี้ ท่านเรียกว่าเกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา สะสมมิจฉาทิฏฐิขึ้นมาจนแข็งแกร่ง ทำไว้บ่อย

อะไรเกิดขึ้นก็ต้องเอาแล้ว “ถ้าปล่อยทิ้งไว้มันจะไม่ดี ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้เราจะแย่ ถ้ามันยังพบเจออยู่อย่างนี้จิตเราจะตก” อะไรอย่างนี้

มันจะมีความเห็น แล้วก็มีความปรุงแต่งมาสนับสนุนให้เราหวั่นไหว ส่ายแส่ ไม่มั่นคง ไม่ตั้งมั่น เห็นมั้ย สมาธิแตกแล้ว ...เมื่อสมาธิแตก ศีลก็เริ่มแตก

แตกยังไงศีล ...ความปกติก็เริ่มผิดปกติ หาทางทำอะไรสักอย่าง เริ่มผิดปกติแล้ว ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันทำไปตามอาการหลง

กว่าจะไปรู้ตัวอีกที เมื่อทุกข์จนแก้ไม่ได้ หรือว่ารับไม่ได้กับทุกข์นั้นซะที เริ่มเกิดสติ สติเริ่มเกิด ...พอเริ่มเกิดตอนแรกๆ ก็จะกระวนกระวาย ต้องอดทน ต้องอดทน อดทนต่อทุกข์ จนถึงที่สุดแห่งทุกข์

ความหมายว่าที่สุดแห่งทุกข์นี่ ไม่ได้หมายความว่าเป็นพระอรหันต์ จนถึงพระอรหันต์ ...แต่เป็นความหมายว่าที่สุดของทุกข์ที่ดับไปเอง เข้าใจมั้ย

เช่นว่าอารมณ์มันตั้งอยู่อย่างเนี้ย แล้วเราไม่ยุ่งกับมันเลย แล้วระหว่างที่รู้เฉยๆ กับมันนี่ อึดอัด ใช่มั้ย ก็ต้องอดทนจนถึงที่สุดของทุกข์ คือจนกว่าอารมณ์นั้นจะดับไปเอง เข้าใจมั้ย ถึงจะเรียกว่าที่สุดของทุกข์ที่มันปรากฏ

คือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ต่อหน้าเรานี่ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าทุกข์หมด แม้แต่สุข คืออาการน่ะ ทั้งหมดคืออาการ สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมดนี่ ในความหมายของพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าทุกขสัจ

เป็นทุกขสัจทั้งนั้นแหละ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธัมมารมณ์ ทั้งหมดน่ะที่อยู่ต่อหน้าเราแล้วจิตเข้าไปรู้นี่ ท่านเรียกว่านี่คืออาการของทุกข์ แต่มันมีทุกขสัจเป็นปกติ

แต่เราไปเพิ่มทุกข์อุปาทานซ้อนทุกขสัจ เข้าใจมั้ย  เป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ แล้วเราแยกไม่ออก จะดับทุกข์ลูกเดียวน่ะกู  

ซึ่งจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านให้ดับเฉพาะทุกข์อุปาทาน ทุกขสัจนี่ดับไม่ได้ เข้าใจมั้ย ให้ยอมรับๆ

เหมือนกับพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกนี่ คุณต้องยอมรับนะ ถ้าคุณไม่ยอมรับคุณก็ทุกข์ แล้วคุณแก้ไม่ได้นะ ทุกขสัจนี่  อาการเช่นนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ๆ มันเป็นเช่นนั้นเอง

กายก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็แก่ เดี๋ยวผมก็หงอก หนังก็เหี่ยว เดี๋ยวก็ตาย เดี๋ยวก็แตก เดี๋ยวก็ดับ นี่ มันต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือทุกขสัจ

มันเป็นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ได้กายนี้มา ตั้งแต่มาเกิด เราจะมาสัมผัสกับอาการของทุกข์ หรืออาการของไตรลักษณ์ตลอดเวลา ...มันเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก

แต่เราคิดว่ามันอย่างนี้ มันน่าจะได้อย่างนี้นะ มันควรจะเป็นอย่างนี้นะ ...เนี่ย จิตมันจึงทุกข์เพราะไปฝืนความเป็นจริงของไตรลักษณ์ หรือความเป็นจริงว่ามันจะต้องเปลี่ยนแปลง มันไม่เที่ยง มันควบคุมไม่ได้

ตรงนี้ที่เป็นอุปาทานต่อทุกสรรพสิ่งที่มาสัมผัสสัมพันธ์กัน ...สติปัญญาคือต้องมาแยกให้ออก แล้วยอมรับกับทุกขสัจ

เพราะนั้นแรกๆ ด้วยความไม่มีปัญญาหรือปัญญาน้อย ไม่มีวิธีอื่นเลยนอกจากอดทนก่อน อดทนไปก่อน ด้วยขันติ อดทนต่อทุกข์

เรายังไม่รู้หรอกอันไหนทุกขสัจ อันไหนทุกข์อุปาทาน ยังแยกไม่ชัดเจนน่ะ จิตยังไม่เกิดปัญญาจนแจ่มชัด หรือว่าแยกธาตุแยกขันธ์ แยกสภาวธาตุสภาวธรรมออกจากกัน

แยกอายตนะหกออกจากผัสสะ แยกผัสสะออกจากรูปนาม แยกรูปนามออกจากใจ นี่ มันยังไม่รู้ ยังแยกไม่ชัดเจน ...ก็อดทนลูกเดียว เฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้ๆ

แล้วมันจะค่อยๆ แยบคาย เข้าใจมั้ย  ปัญญา สติ มันจะเข้าไปทำความแยบคายตรงจุดนั้นไปทีละนิดทีละหน่อย แล้วมันจะค่อยๆ เข้าใจ เข้าใจของมันเอง

ไม่ใช่เข้าใจด้วยความคิด แต่มันจะเข้าใจด้วยการเห็นบ่อยๆ เห็นมั้ย ...ดูอีกทีๆๆ เออ เริ่มเห็นรายละเอียดแล้ว ดูซ้ำลงไป ดูอีก

อ่ะ ตอนแรกก็บอก...เอ ก็เหมือนเดิมๆ ไม่เห็นเป็นยังไง มันก็เหมือนเดิม ทำยังไงจะให้เห็นละเอียดกว่านี้ แน่ะ เริ่มคิดพิจารณา เริ่มมีความเห็น อย่างนั้นอย่างนี้

ยกอันนั้นยกอันนี้มา ตามตำรานั้นตำรานี้ อาจารย์สอนไปว่าสภาวะนี้เกิดก่อน สภาวะนี้เกิดหลัง มันทำไมเกิด อันนี้ปูดอันนี้โปน อันนี้หายอันนี้แหว่ง เริ่มคิดอีกแล้ว

เห็นจริงหรือไม่จริงไม่รู้นะ กูคิดไปก่อนแล้ว คิดว่าเห็น คิดว่าเข้าใจแล้ว คิดว่า เออๆๆ เข้าใจ มันยังไม่เห็นตามความเป็นจริงเลยนะนั่นน่ะ

แต่กับการที่เห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ ไม่มีคำพูดแต่มันเห็นรายละเอียดเริ่มมากขึ้นๆ ด้วยการซ้ำซากลงไป

อาจจะเกิดขึ้นเหมือนเดิม ดับไปเหมือนเดิม อาจจะเกิดขึ้นแล้วไม่ดับไปเหมือนเดิม ...ดูมันเข้าไป 

อาการของมันมีอยู่แค่นั้นแหละ ซ้ำซาก ก็ซ้ำซากอยู่ตรงนั้น เรียนรู้อยู่ตรงนั้น จนกว่ามันจะแจ้ง 

เพราะการเกิดขึ้นของมันแต่ละครั้งแต่ละอารมณ์ ดูเหมือนเก่า แต่ไม่เหมือนเก่า เพราะคนละเหตุและปัจจัย บอกให้เลย คนละเหตุปัจจัยต่างกัน

จิตมันจะเรียนรู้จากอาการอย่างนั้นน่ะ ซ้ำลงไป เขาเรียกว่า "วสี" น่ะ เรียกว่า "วสี" ซ้ำซาก ...ภาวิตา พหุลีกตา ...ซ้ำๆ ซากๆ รู้ซ้ำๆ ซากๆ อยู่ตรงนั้น

ใจเย็นๆ อย่าใจร้อน อย่าเอาโลภะมาเป็นตัวกำหนด อย่าเอาอดีตอนาคตมาเป็นตัวกำหนด ...เอาปัจจุบันเป็นตัวกำหนด รู้กับปัจจุบันอย่างเดียว ยังไงก็ชั่งๆ มันเป็นอย่างงี้คือเป็นอย่างงี้ 

มันไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ มันไม่วางก็รู้ว่าไม่วาง เห็นมั้ย ให้อยู่ในปัจจุบันแค่นี้ ...อย่าไปคิดว่า “เมื่อไหร่มันจะวาง” ...ไปข้างหน้าแล้วนี่  “ทำไมมันไม่วาง” ...นี่ ข้างหลังอีกแล้ว 

“มันมายังไง” อดีตมาอีกแล้ว “แล้วมันจะไปยังไงต่อไป เราจะทำยังไงกับมันต่อไป” อนาคตมาอีกแล้ว ...เห็นมั้ย จิตมันแลบไปแลบมา ไม่อยู่กับปัจจุบัน

ถ้ามาอยู่กับปัจจุบัน ...เออ ชั่งหัวมัน อยู่ยังไงก็ยังงั้น กลางๆ ...ภพชาติมันก็จะสั้นลงตรงนี้ อยู่ที่เหตุปัจจัยของการเข้าไประลึกรู้นั่นแหละ สติในปัจจุบัน

จนกว่ามันจะแจ้ง แจ้งคือรอบ มันไม่สงสัยแล้ว นี่ มันเป็นแค่นี้ มันไม่สงสัยว่ายังไง ว่าสุดท้ายแล้วมันไม่เห็นมีอะไรเลย

สุดท้ายแล้วไอ้ที่ไปเอาเป็นเอาตายอะไรกับมันนักหนานี่ ถ้าเราแค่ไม่ใส่ใจไม่ยุ่งกับมันนี่ มันก็ไม่เห็นมีอะไร ...นี่ จิตมันจะเห็นว่าสุดท้ายแล้วไม่มีอะไรหรอก

ไอ้ที่ตั้งอยู่ ไม่ตั้งอยู่  ไอ้ที่มันนาน หรือมันมาก หรือไอ้ที่มันน้อยน่ะ สุดท้ายมันก็คือดับไป ...สุดท้ายแล้วมันก็ดับไปเอง...ไม่ใช่เพราะเรา ไม่ใช่เพราะใคร มันดับไปของมันเอง 

อยากให้มันเกิดมันก็ไม่ได้มาตามความอยากซะเมื่อไหร่ ...ธรรมชาติของมันแล้วแต่เหตุปัจจัยมันจะประกอบกันน่ะ ...เนี่ย จิตมันจะเห็น แล้วก็ยอมรับ 

เมื่อเห็นอาการพวกนี้บ่อยๆ จนยอมรับเมื่อไหร่ มันก็วาง วางขันธ์นั้นออกไป ...คำว่าวางขันธ์ก็คือไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับขันธ์ ไม่เข้าไปประกอบกระทำต่อขันธ์ ไม่เข้าไปจงใจต่อขันธ์ ...ยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ 

เนี่ย ไม่เลือกแล้ว เริ่มไม่เลือกแล้ว ...จิตมันก็ผ่านๆ ผ่านหมด เห็นรูปก็ผ่าน หูได้ยินเสียงก็ผ่าน มีความคิดก็ผ่าน เห็นความคิดก็สักแต่ว่าความคิด มีอารมณ์ก็สักแต่ว่าอารมณ์ 

เห็นกายก็สักแต่ว่ากาย กายเราก็สักแต่กายเรา กายคนอื่นก็สักแต่กายคนอื่น เรื่องของเขา ไม่เกี่ยว มันจะผ่านหมดเลย ...เพราะนั้นอาการที่รับรู้จึงมีอาการของสักแต่ว่า สักแต่ว่ามี สักแต่ว่าเป็น 

สุดท้ายก็ผ่านๆ ...จิตจะเริ่มห่างขึ้นเรื่อยๆ ห่าง...ห่างออกจากขันธ์เรื่อยๆ

แต่ตอนมันยังไม่ห่าง ยังไม่เป็นสมุจเฉท นี่ เดี๋ยวมันก็หลง ...ตัวนี้ สัมมาสติก็ต้องทำหน้าที่เท่าทัน เท่าทัน เท่าทันอาการเข้าไปหมายมั่นในขันธ์ เท่าทันๆๆ บ่อยๆ 

ตั้งแต่ต้นจนจบเลย อยู่แค่นี้ ...อยู่แค่นี้ตั้งแต่ปุถุชนยันพระอรหันต์ บอกให้เลย ทำอยู่ตรงนี้ ไม่ได้ทำอะไร แต่สังเกตอย่างเดียว...สังเกต นี่ 

ใครจะมาบอกว่ามีสติ รู้เฉยๆ ไม่พิจารณาอะไร ไม่ทำสมาธิ ไม่มีความสงบ ไปไม่รอด ดูมายี่สิบสามสิบปีแล้ว ไอ้คนที่พูดมันดูถึงยี่สิบสามสิบปีรึยัง เข้าใจรึเปล่า เห็นผลรึยังที่มาพูดน่ะ

เพราะนั้นอย่าลังเลสงสัย หรือคิดว่าต้องทำอะไรมาช่วยมั้ง ต้องหาตัวช่วยมาทำ ต้องมีความสงบมั้ง ต้องจับอะไรมาพิจารณาให้มันแจ่มแจ้งกว่านี้มั้ง ...อย่าไปคิด 

พอคิดก็รู้ รู้ทันความคิดนั้นๆ ซะ แล้ววางซะ วางได้...วาง


(ต่อแทร็ก 2/18)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น