วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/16


พระอาจารย์
2/16 (530812D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 สิงหาคม 2553


โยม –  ตอนแรกก็คิดว่าอยากจะปฏิบัติแบบว่าให้นั่งอย่างนี้น่ะค่ะ แล้วก็ดู ... พระอาจารย์จะดูให้ว่าอย่างตรงนี้มันไปแล้วนะ ให้ดูอย่างนั้นๆ

ไม่งั้นมันอายุมากแล้วค่ะ มันจะไปถึงไหน มันไม่ถึงแล้ว ...มันไม่รู้ มันก็เลยใจร้อนหน่อย อยากจะให้มันดีหน่อย  จะได้ไปดีๆ ก็พอแล้ว แค่นี้ฮ่ะ ไม่ได้หวังอะไรมาก ...พอให้ไปสบาย

พระอาจารย์ –  ทิ้งความหวังซะ 

โยม –  ค่ะ ตอนนี้เข้าใจ...หลายอย่างที่ได้ฟัง  กราบขอบพระคุณหลวงพ่อจริงๆ ค่ะ

พระอาจารย์ –  เอ้า ยังสงสัยข้องใจอะไรอยู่มั้ย


โยม  ค่ะ กำลังเรียบเรียงอยู่ค่ะพระอาจารย์  ...ตอนที่โยมจะเข้าปฏิบัติที่วัด โยมก็เกิดความไม่มั่นใจในเรื่องของที่โยมปฏิบัติอยู่... แต่ที่พระอาจารย์สอนตอนที่เราจะเข้าวัดนี่น่ะค่ะ ว่าท่านสอนอะไรเราควรปฏิบัติตามไหม หรือยังไงคะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  สอนยังไง หมายถึงในแง่ไหน   

โยม –  อย่างเช่นให้เราเดินจงกรม ทำแบบนี้นะ หนึ่งสองสามสี่ สมมุตินะคะ

พระอาจารย์ –  ก็รับฟังไว้ แล้วก็ทำไปเหอะ ไอ้ตอนจะมาทำเองนี่เราทำยังไงก็ได้  

โยม –  เราก็ทำในแนวที่เราถนัด แล้วก็เป็นแนวที่เหมาะสมกับเราอย่างนี้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ก็ลองทำตามแนวท่าน...ตามที่เราไปอยู่กับท่าน ก็ทำเหมือนท่านสักนิดนึง 

โยม  ถ้ารู้ว่าสติเกิดแล้ว รู้ยังไงก็ไม่ผิด  

พระอาจารย์ –  ใช่ ไม่ผิดหรอก ถ้ามันเข้าใจ ...คือเราไม่ต้องไปยึดเอารูปแบบเป็นหลัก

โยม –  ค่ะ พระอาจารย์  

พระอาจารย์ –  จริงๆ ไอ้รูปแบบนี่มันทำได้ทั้งนั้นน่ะ  แต่ว่าให้เข้าใจว่าหลักของรูปแบบ เป้าหมายของรูปแบบจริงๆ คืออะไร เป็นไปเพื่อสติในปัจจุบันรึเปล่า หรือเป็นไปเพื่อให้เกิดผลในอนาคต ทำแบบคาดหวังคาดเดาเข้าว่า...เราก็ไม่เอา 

ทำแล้วเราพยายามน้อมกลับให้อยู่ในปัจจุบัน  ไม่ว่าวิธีไหน จะนับเลข จะเดินจงกรม หรืออะไรก็ตาม ...ให้รู้อาการในปัจจุบัน แล้วไม่ไปคาดว่าจะได้ผลอะไร 

ให้เห็นอาการกำลังไหว กำลังเคลื่อน กำลังนิ่ง  คือไม่ไปว่าให้มันเกิดอะไรเพื่ออะไร ...ถ้าอาจารย์เขาจะสอบอารมณ์หรือถามก็บอกว่า ก็ดีค่ะ สงบดี 

ก็ให้เห็นอาการในปัจจุบัน อยู่ในหลักนี้แหละ ...ครูบาอาจารย์ท่านเป็นกลาง ท่านจะไม่ตำหนิอะไรหรอก  ขอให้ได้ผลในปัจจุบัน ท่านยอมรับได้หมดแหละ ไม่ว่าจะมาในสายไหน 

สติไม่เคยผิดหรอก จะกำหนดก็ได้ ไม่กำหนดก็ได้ ขอให้รู้อยู่เห็นอยู่ อาการคืออาการ ...เราไม่ได้เลือกอาการ เราไม่ได้บังคับให้อาการเป็นอย่างไร หรือไม่เป็นอย่างไร


โยม –  ถ้าเรารู้อยู่ว่าเราอยากสงบ เราก็ทำความสงบเลยใช่มั้ยคะพระอาจารย์ 

พระอาจารย์ –  ถ้ารู้ "อยากสงบ" ... ถ้ารู้แล้วก็ไม่ทำ  คือถ้ารู้ว่าอยากให้หยุดเลย

โยม  เหรอคะ นึกว่าทำเลย  เหมือนกับว่าอยากสบาย แต่เมื่อเรานั่งแล้วเราเมื่อย เราไม่ไหวแล้ว เราเจ็บมาก เราอยากสบาย เราไม่อยากดูจิตแล้ว อยากนั่งสบาย อยากนั่งเป็นสมถะไปเลยอย่างนี้ ได้มั้ยคะ ...แต่เราก็รู้ว่าเราอยากนะคะ หรือว่ามันจะไปติด

พระอาจารย์ –  ไม่ติดหรอก ถ้าเวลามันเมื่อยมันไม่ติด 

โยม –  อย่างบางทีเราอยากเปลี่ยนท่า แล้วเราก็อยากนั่งท่าที่เราสบายที่สุด อันนั้นคือตามใจแล้วใช่มั้ยคะ    

พระอาจารย์ –  ตามใจ ...แต่จริงๆ น่ะเวลานั่ง แล้วมันปวดเมื่อยจริงๆ น่ะ อดทนก่อน อดทนดูมันก่อน ... ดูอาการของจิตที่มันดิ้น ดูจนถึงที่สุดของมันก่อนค่อยเปลี่ยน อย่าเพิ่งเปลี่ยนเลย 

อุตส่าห์นั่งมาตั้งนานแล้ว ต้องอดทนดูมัน ...ดูจนทนไม่ได้น่ะ ดูจนกว่ามันจะไม่ไหวแล้วจริงๆ แล้วก็ให้ดูอาการที่มันดีดดิ้นของจิต สังเกตดู...

ว่ามันเข้าไปยังไง มันอยากอะไร มันปรุงอะไร มันหาอะไร มันจะทำอะไร จะแก้ยังไง อย่างนี้ ...ก็อดทนดูมัน จนเราไม่ไหวกับความหมายมั่นในความเจ็บปวดก็ค่อยคลายออก   


โยม –  เปลี่ยนไปจากเดิมได้  

พระอาจารย์ –  ใช่ ...แต่ไม่ใช่พอเริ่มปวดนิดเดียวนี่เปลี่ยนแล้ว  อันนี้กิเลสพาออกแล้ว ...พยายามอดทนก่อน อดทนจนถึงที่สุดก่อน   

โยม  ค่ะ 

พระอาจารย์ –   ฝึกความอดทนไปด้วย และก็ฝึกสติให้เห็นในอาการที่มันบีบคั้น มันจะได้มีความแข็งแกร่ง  

โยม –  ให้มันทรมานอย่างนี้ใช่มั้ยคะ   

พระอาจารย์ –  เออ ...เพราะเวลาเราจะตาย มันทุกข์กว่านี้เยอะ  เวลากายจะแตกดับจริงๆ น่ะ ไอ้ปวดแค่นี้ถือว่าเรื่องขี้ปะติ๋วเลย ...ทุกขเวทนาตอนคนใกล้จะตายจริงๆ กายจะแตกดับนี่ เกินกว่านี้อีกหลายร้อยเท่า 

ฝึกให้มันเกิดความอดทนและให้มีปัญญา ให้เห็นอาการของจิตที่เข้าไป...ออกมาๆ  แล้วมันจะหาอะไร มันอยากได้อะไร มันจะเข้าไปแก้อะไร ...ดูมัน  ...ไม่เอาความสงบ ไม่เอาความชนะเวทนาอะไรทั้งสิ้น ...ดูว่าจิตมันดิ้นจะไปยังไง  

อย่าหนี อย่าเอาสบายอย่างเดียว ...เป็นการเรียนรู้ เมื่อมันอยู่ในภาวะคับขันของกายที่มันเปลี่ยนไปโดยควบคุมไม่ได้จริงๆ อย่างนี้ ...แล้วเราจะวางจิตเป็นกลางได้มั้ย ทำไมมันไม่เป็นกลาง ... ดูมัน มันไม่เป็นกลางเพราะอะไร


โยม –  มันจะทรมานแค่ไหนก็อดทน

พระอาจารย์ –  อดทน อดทนกับมันหน่อย ... ไม่งั้นเราจะเป็นคนจับจด จะหนีทุกข์ แก้ทุกข์ เลี่ยงทุกข์ 

ต่อไปถ้าเราอดทนฝึก ก็จะยอมอยู่กับมันมากขึ้นๆ  ความเป็นธรรมดาก็จะง่ายขึ้น การยอมรับในความเป็นจริงที่ปรากฏ หรือว่าไม่ได้ดั่งใจก็จะง่ายขึ้น ...มันก็สามารถเอามาใช้กับเรื่องราวในชีวิตของเราได้ 

ไม่ใช่พออะไรกระทบหูกระทบตาหน่อยก็ฟึดฟัดๆ กระฟัดกระเฟียด ตำหนิโทษคนทั้งโลกผิดหมด กูถูกคนเดียว อะไรประมาณนั้น  แต่ต่อไปมันจะสามารถยอมรับได้โดยว่า..."แค่นั้นน่ะ ดูซิมันจะเป็นยังไง" 

ไม่งั้นการปฏิบัติมันจะไม่ได้ประโยชน์นะ ถ้าเอามาใช้ในชีวิตไม่ได้ ใช่ป่าว ...มันเป็นการเรียนรู้อีกรูปแบบนึง เพื่อเอามาใช้ ว่าชีวิตประจำวันก็ไม่ได้แตกต่างกันกับการที่เราอดทนต่อทุกข์นี่

เพราะนั้นการภาวนาเป็นเรื่องของการเรียนรู้ทุกข์ จำไว้เลย ไม่ใช่เป็นการที่หาความสงบหรือความสุข หรือว่าจะได้ความสงบเป็นสุขเป็นที่ตั้ง...ไม่ใช่ ...เป้าหมายของการภาวนาคือการเรียนรู้ทุกข์ ยอมรับทุกข์ ไม่ว่ามาก ไม่ว่าน้อย 

ไม่งั้นพระท่านไม่มาทรมานสังขารอยู่ในป่าหรอก  มาอดๆ อยากๆ  อยากกินก็ไม่ได้กิน อยากนอนก็ไม่ได้นอน  ทำไมไม่ได้นอน ทำวัตรตั้งแต่ตีสาม นอนแค่สามชั่วโมงสองชั่วโมง บางทีไม่นอนมันเลย อดทีเป็นเดือน อดนอน อดข้าว 

ทำไมล่ะ ...เพื่อให้มันเรียนรู้กับทุกข์ ว่ามันทุกข์เพราะอะไร ทำไมถึงทุกข์นักหนา มันทุกข์จริงรึเปล่า หรือเป็นเรื่องของใจที่มันสร้างทุกข์ขึ้นมาหลอกตัวเอง ...ท่านก็มาเรียนรู้กับทุกข์ตรงนี้ 

ไม่ใช่ว่านั่งในห้องแอร์ สบายๆ อยู่กับสุขแล้ว อย่าเข้าใจว่านี่เจริญปัญญาแล้วเป็นเรื่องของสุขวิปัสสโก คือง่ายๆ สบายๆ แล้วก็หลุดร่วงไป ...ไม่มีหรอก 

การเจริญปัญญาวิมุตินี่ คือการอยู่กับทุกข์ตลอดชีวิตเลยน่ะ...โดยไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขอ่ะ ไม่หนีไม่แก้ ...เพราะนั้นไม่มีเลยไอ้จิตที่เป็นสุขแม้แต่ขณะนึง บอกให้เลย 

เพราะมันจะยอมรับอาการทุกอาการที่มา โดยไม่เลี่ยงต่างหาก ท่านถึงเรียกว่าสุขวิปัสสโก 

อย่างการเจริญกรรมฐาน สมถกรรมฐานนี่มันยังมีเวลาพักจิตด้วยปีติ แล้วก็ไปอิ่มเอิบนั่งอมยิ้มได้ทั้งวัน ...แต่เจริญปัญญาไม่มีอมยิ้มน่ะ อยู่กับทุกข์ 

ตาเห็นรูป...ไม่หนี หูได้ยินเสียง...ก็ไม่หนี ไม่หลบ  จิตก็ไม่หลบลงมานิ่ง จิตจะเห็นอาการดีดดิ้นกระวนกระวาย กระสับกระส่าย โดยที่ไม่ห้าม ยังงั้นแหละ คือการเรียนรู้ตรงๆ 

ธรรมชาติของจิตที่มันเร่าร้อน มันเร่าร้อนเพราะอะไร ...ดูเพื่อให้เห็นเหตุของมัน จนกว่าจะเห็นเหตุของมัน เหตุของการเร่าร้อน ...มันเร่าร้อนเพราะเสียงมั้ย มันเร่าร้อนเพราะรูปมั้ย หรือมันเร่าร้อนเพราะใจ หรือว่าเร่าร้อนเพราะความเห็น 

มันเร่าร้อนเพราะอะไร มันจะเรียนรู้ตรงนั้นตามความเป็นจริง ...เมื่อเรียนรู้ยอมรับตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง มันจะเห็นต้นตอของความเร่าร้อนนั้น ...มันจะกลับมาถึงต้นเหตุที่แท้จริง 

เมื่อเห็นต้นเหตุที่แท้จริงก็จะเข้าใจ ...นั่นเรียกว่าปัญญาวิมุติ ...ไม่ใช่ว่าขี้ม้าอ้อมเมือง ตะล่อมๆ มาแล้วค่อยมาเห็นว่านี่เป็นทุกข์นะ...ไม่ใช่ 

ดูไปตรงๆ ...เข้าใจคำว่ารู้ไปตรงๆ มั้ย รู้แบบไม่มีเงื่อนไข รู้แบบโง่ๆ รู้แบบไม่ต้องใช้ความคิดมาช่วย ...ได้ก็ได้ เห็นก็เห็น ไม่เห็นก็ไม่เห็น เข้าใจก็เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ...นี่ อดทนรู้ไป รู้แบบโง่ๆ

แต่ต้องใช้ความพากเพียรนะ ...เพราะสันดานของเราทุกคนมันอยากรู้ มันอยากเห็น มันอยากเข้าใจ มันอยากเร็ว มันอยากผ่านไปเร็วๆ อย่างนี้ 

แต่พอรู้เฉยๆ ปุ๊บนี่  มันจะไม่ได้เป็นดั่งใจเราเลย  ความรู้ก็ไม่เกิด ความเข้าใจก็ไม่เกิด อารมณ์ก็เท่าเก่า กิเลสก็เท่าเดิม อย่างนี้ ...แรกๆ มันจะเป็นอย่างนี้ 

จนมันเห็นเป็นเรื่องธรรมดานั่นแหละ มันถึงค่อยยอมรับ ...ต่อไปมันก็จะเห็นว่าแก้ไปก็เท่านั้น ไม่แก้ก็เท่านั้นน่ะ ...สุดท้ายก็เหมือนกัน บทไม่แก้มันหายเองก็มี บทแก้แทบตายไม่หายก็มี 

มันจะเริ่มเรียนรู้อย่างนั้นแหละ  สุดท้ายก็..."กูจะไปยุ่งอะไรกับมันนักหนาวะ" ... ปล่อยแล้ว เริ่มปล่อยแล้ว เริ่มเห็นเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ไม่ไปแก้ ไม่ไปห้าม ไม่ไปเอามาเป็นธุระ ...ก็เรียกว่าเริ่มปล่อยวางเบื้องต้น 

แต่แรกๆ เราจะมีอาการกระสับกระส่าย ...เพราะธรรมชาติธรรมดาของเราเคยชอบแก้ ชอบเป็นผู้จัดการ ชอบเข้าไปคิดว่าอย่างงี้ดีกว่าอย่างงู้น มีวิธีการเยอะแยะ 

เรียกว่าฉลาดในการใช้วิธี  เพราะเราใช้วิธีมาตั้งเยอะแยะในการใช้ชีวิต ...พอมาปฏิบัติก็จะเอาวิธีมาใช้กับจิตด้วย เพื่อจะให้มันอยู่ในเล้าอ่ะ ไม่ออกไปเพ่นพ่าน

แต่การเจริญสติในความเป็นกลางนี่...เปิดเล้าหมดเลย มึงจะไปไหนก็ไป ...ไล่เก็บเอา  ตายก็ตาย โดนเขาฆ่าก็ฆ่าไป เรียนรู้เอา... นั่น เปิดเล้าออกมาเลย จนกว่าไก่มันจะรู้เองว่า...ออกนอกเล้ากูตาย...กูไม่ไป 

แต่ว่าวิธีการปฏิบัติทั่วไปที่พวกเราทำกันคือ...พยายามตะล่อมไก่ห้ามออกนอกเล้า คอยปิดประตูอยู่นั่นแหละ ...กลัวไก่ออกไปไกล กลัวไก่กูตาย กลัวไก่กูหาย กลัวไก่เราไม่เหลือ กลัวจิตตก กลัวจิตเสื่อม กลัวจิตไม่ดี 

พอเริ่มดูจิตแล้วต้องกล้าที่จะเปิดให้มันเป็นไก่ป่า ...ต้องเข้าใจว่าให้มันไปเรียนรู้ความเป็นไก่ป่า ไม่ใช่ไก่บ้าน ไม่ใช่ไก่ในอวย ไม่ใช่หมูในอวยที่ไม่ไปไหน 

เพราะนั้นธรรมชาติของไก่มันไม่อยู่กับที่ บอกแล้ว แต่มันไปจนกว่ามันจะรู้น่ะ...ว่าไปเมื่อไหร่กูก็เจ็บ ไปเมื่อไหร่กูก็ตาย ...สุดท้ายมันก็จะกลับมาเข้าที่ของมันเอง ไม่ต้องบอก ไม่ต้องสอน 

แต่ตอนนี้พวกเรากลัว ...กลัวไก่หลงทาง กลัวไก่กลับบ้านไม่ถูก กลัวไก่ถูกทำร้าย  กลัวจิตหาย กลัวจิตเสื่อม กลัวจิตตก กลัวจิตไม่ดี กลัวจิตไม่เป็นสุข กลัวจิตเป็นทุกข์ 

อย่าไปกลัว ...มองทุกข์เป็นเพื่อน มองทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา มองทุกข์เป็นเสี่ยว  เห็นมั้ย อยู่ด้วยกันแบบสันติ ไม่ใช่อยู่ด้วยกันแบบเป็นศัตรู ... นี่ถึงจะเป็นสุขในระดับหนึ่ง 

เพราะเราจะต้องอยู่กับมันตลอด ...กายนี้มันทุกข์ตลอดเวลา จิตมันก็ทุกข์ตลอดเวลา มันบีบคั้นผลักดันอยู่ตลอดเวลา กระวนกระวายตลอดเวลา ...มันไม่มีคำว่าพอหรอก ทุกข์ตลอด 

หนีไปอยู่ป่าก็ทุกข์ อยู่คนเดียวก็ทุกข์ อยู่หลายคนก็ทุกข์ บอกให้เลย ไม่มีวิธีแก้หรอก ...เกิดมาแล้วเป็นทุกข์  พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกว่าเกิดมาเป็นสุข หรือสอนวิธีให้อยู่ยังไงให้เป็นสุข...ไม่ใช่ 

ท่านให้เรียนรู้ทุกข์ เห็นทุกข์ แล้ววางมันซะ แล้วยอมรับมันซะ ...ไม่อยากทุกข์อย่ามาเกิด  อย่ามาเกิด เกิดมาทำไม เกิดมาแล้วต้องทุกข์ ...นี่ ต้องยอมรับ ยังไงก็ต้องทุกข์ เกิดมาแล้ว อย่าหนี อย่ากลัว อย่าแก้ 

ทำยังไงถึงจะอยู่กับทุกข์โดยที่เราไม่เป็นทุกข์...ไม่ใช่อยู่กับทุกข์โดยที่ไม่มีทุกข์ ไม่ใช่ ไม่มี ...อย่ามาเกิด ไม่งั้นอย่ามาเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีทุกข์ 

ปัญญาคืออยู่กับทุกข์ให้เป็น ...บริหารวิถีของจิต วิถีของกายให้เป็น บริหารด้วยความเป็นกลาง ...รู้เฉยๆ 

ไอ้ตอนที่ไม่เฉยนี่แหละคือเหตุให้เกิดทุกข์ บอกให้เลย จะเข้าไปอย่างนั้น จะเข้าไปอย่างนี้ ไปคาดคั้นกับมัน ไปเอาอะไรกับมัน ...จะเอาอะไรกับมัน  จะไปเอาอะไรกับจิต จะไปเอาอะไรกับมัน แค่นั้นน่ะ


โยม  อย่างที่หลวงพ่อบอกว่าเกิดมาต้องทุกข์ ให้อยู่กับทุกข์ อย่าแก้ ...แต่การที่เราไปเห็นทุกข์นี่ไม่ใช่การแก้หรือคะ  

พระอาจารย์ –  ไม่ได้แก้  แต่ว่าเป็นการบริหารด้วยความเป็นกลาง  อยู่แบบใช้เป็นน่ะ อยู่แบบประคับประคอง เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย...ก็รักษา รักษาได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ อย่างนี้ เข้าใจมั้ย 

ไม่ใช่ว่าไม่แก้ คือไม่รักษาอะไรเลย ปล่อยให้มันเป็นแล้วตายไปเอง อย่างนี้ไม่ใช่ เข้าใจมั้ย ...เขาเรียกว่าใช้สอยให้เป็น ไม่เกินไป ไม่น้อยเกินไปและก็ไม่มากเกินไป พระพุทธเจ้าสอนให้อยู่ด้วยความเป็นกลาง 

ความเป็นกลางนี่หมายความว่าไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลยนะ แต่ไม่เกินไป ...ไม่ใช่อะไรก็ไม่แก้ ปล่อยให้มันเป็นไป ไม่แก้ทุกข์ อยู่กับทุกข์ อดทนมัน ...ไม่ใช่อย่างนั้น 

บริหารให้เป็น ...ไม่ใช่พอจะแก้ก็แบบ..."ต้องเอาให้ได้ ต้องเอาให้ได้" อย่างเนี้ย เข้าใจมั้ย ...ไอ้อย่างนี้สุดโต่งแล้ว


โยม –  บริหารให้เป็นคืออยู่ในความเป็นกลางงั้นหรือคะ ทำอย่างไรคะ  

พระอาจารย์ –  ใช่ แต่ตอนนี้เรายังไม่เข้าใจว่ากลางคืออะไร ยังไงเรียกว่ากลาง ...ตรงนี้ต้องเรียนรู้ด้วยปัญญา และจะเอากลางของเราไปเทียบกับกลางคนอื่นไม่ได้  


โยม –  ต้องดูไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ 

พระอาจารย์ –   ใช่ ... ว่า...อ๋อ อย่างนี้มันเกินไปแล้ว ...อ๋อ อย่างนี้ไม่ได้นี่ 

การที่เรายอมรับอย่างนี้ มันจะต้องรู้ด้วยตัวเอง เป็นปัจจัตตัง เพราะงั้นจะบอกว่าเป็นกลางแล้วเขียนระเบียบไว้เลยว่านี่เป็นกลาง...ไม่ใช่นะ 

ทุกคนไม่เหมือนกัน และแต่ละเหตุปัจจัยก็ไม่เหมือนกัน บอกให้เลย ...แต่มันจะเอาตัวเทียบคือตัวจิตที่มันขยับขึ้นขยับลงต่างหาก เป็นสมดุล เป็นกลาง 


..............................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น