วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/18 (2)


พระอาจารย์
2/18 (530815B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 สิงหาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 2/18  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เข้าใจคำว่าดับโดยสิ้นเชิงมั้ยล่ะ คือหมายความว่ามันตายสนิทน่ะ มันจะไม่มีอาการหืออือน่ะ จิตมันก็หยุดอาการ หยุด...หยุดอาการดิ้นน่ะ หยุดอาการขยับเกิด-ดับๆๆ 

ไม่มีเกิด-ดับแล้ว พราะมันไม่มีแรงอะไรให้มาเกิด-ดับ ...อาการเกิด-ดับคือการผลักออกมา เข้าใจมั้ย แล้วรู้ทันก็ดับๆๆ อย่างนี้ ถ้าไม่มีออกมามันไม่ดับหรอก

เพราะนั้นก็จนไม่มีอะไรออกมา จนให้มันไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับแล้ว ...จิตมันก็จะเป็นอิสระ คือใจน่ะ ใจก็เป็นใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้ว หมดจด หมดสิ้นแล้ว หมดอาการ

หรือท่านเรียกว่าเป็นอกริยาแล้ว เป็นอกรรมแล้ว เป็นจิตที่เขาเรียกว่า วิสังขาร คือไม่กอปรด้วยสังขารปรุงแต่งแล้ว ...ตรงนั้นน่ะถึงจะหมด

แล้วพอถึงตรงนั้นเองนี่ ไม่ต้องให้ใครมาพยากรณ์แล้ว มันจะรู้ด้วยตัวเองว่า มันไม่มีที่ไปไหนแล้ว ...แล้วพอถึงจุดนั้นปั๊บนี่ ใจนี่ ภาวะของใจ มันจะเปิด เปิดออกแบบไม่มีประมาณ

มันไม่ใช่อยู่ตรงนี้แล้ว มันจะไม่ใช่มารวมที่ศูนย์กลาง เพราะไอ้ที่มันมารวมอยู่ได้นี่ เพราะว่ามันมีตัวที่ครอบหรือว่าดึงให้มันมารวมกัน เป็นใจที่ใสที่บริสุทธิ์ 

ที่มันเห็นว่าเป็นใจตั้งรวมอยู่ตรงนั้น มันรวมด้วยอำนาจของอวิชชา ให้เป็นภพปัจจุบัน ...แต่พอภาวะของอวิชชาตัณหาดับสนิทมอดจนสิ้นเชิงเมื่อไหร่ปั๊บ อาการรวมกันพวกนี้ก็หมดปุ๊บเลย 

ออกมาเป็นใจที่ไม่มีสัณฐาน ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีประมาณ ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีว่าอยู่ตรงไหน กลายเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งหมด ...พอถึงจุดนั้นก็หมด ไม่มีงานให้ทำแล้ว ไม่รู้จะหางานอะไรมาทำ งานในใจนะ

มันดูเหมือนไม่มีความรู้อะไร แล้วมันจะไม่ได้ผลเป็นกอบเป็นกำอย่างที่เราเข้าใจ แต่มันจะค่อยๆ เรียนรู้ไป แบบค่อยๆ ซึมซาบ เหมือนออสโมซิสน่ะ ไม่ใช่ไปจับมาเป็นคำๆ แล้วก็กินแล้วก็อิ่ม เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นอย่าไปโลภ อย่างที่คนเขาเล่าว่าเขาได้อย่างนั้นเขาเห็นอย่างนี้ หรือเขาเป็นอย่างนั้นเขาเป็นอย่างนี้ พวกนั้นมันเป็นแค่อาการหมดแหละ

จริงๆ การรับรู้นี่ มันเป็นการสำเหนียกศึกษา ค่อยๆ เรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อย  เวลาปล่อย วาง จาง คลาย มันจะค่อยๆ จางคลาย จนบางทีเราไม่ค่อยรู้ตัวเลยว่ามันวาง มันเบา มันจางไปยังไง 

แต่มันจะมีความรู้สึกว่าอะไรๆ มันง่ายขึ้น  การใช้ชีวิต การดำเนินชีวิต การสัมผัสสัมพันธ์อะไรๆ ที่เคยมีปัญหามันก็น้อย เบา โล่ง ไม่ค่อยติด ไม่ข้อง 

มันจะค่อยๆ ละวาง จาง โดยที่เราไม่รู้ว่าเราละอะไร เราวางยังไง ...แต่จิตเขาละเขาวาง จากการที่เห็นซ้ำซาก รู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ

อย่ากลัวว่าเห็นแล้วจะไม่ได้อะไร รู้แล้วเท่าเก่า ...มันจะมีการเรียนรู้ตรงนั้น ในที่อันเดียว 

อย่าไปหาที่อื่น อย่าไปกระทำให้มากกว่านี้ ...มันเกิน ถ้าทำอะไรน่ะมันเกินทั้งนั้นแหละ ความรู้อะไรก็เกิน ...ไม่ต้องรู้อะไรแล้ว ให้เห็นอย่างเดียวน่ะแหละ เห็นโดยที่ไม่ต้องรู้น่ะ 

แค่เห็น เท่าที่มันรู้ก็รู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ต้องหา ไม่ต้องเข้าใจ ...รู้อย่างเดียว เกิดขึ้นก็รู้ เกิดขึ้นแล้วรู้ๆ อย่างนั้นน่ะ รู้เมื่อไหร่ มันแยกออกมา แค่รู้แล้วก็เห็นๆ อย่างนี้ตั้งอยู่ สิ่งนี้ตั้งอยู่

ทำไมถึงว่ารู้และเห็น ...เพราะว่าถ้าไม่รู้ไม่เห็น อาการที่เข้าไปอยู่กับมัน ...มันจะเข้าไปอยู่ด้วยอุปาทาน เพราะนั้นกายวาจาจิตของเรานี่มันจะกระทำกับขันธ์อย่างนี้ คือมีขันธ์ห้า แล้วก็มีอุปทานขันธ์ห้า 

พอเรารู้ปั๊บ มันจะแยกอุปาทานขันธ์ออกมา เป็นรู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ...เพราะนั้นไอ้สิ่งที่ถูกรู้จะเป็นขันธ์ทันที แต่ว่าพอรู้ไปสักพักหนึ่งแล้ว มัน...หนับ มันมีแรงดึงดูดเข้ามาอีกแล้ว 

ตอนเข้ามานี่ไม่รู้ตัวนะ มันหลงๆ ...พอหลงปั๊บ ไม่รู้ตัว เข้ามาจับ ปั๊บ เป็นอุปาทานขันธ์ ในอารมณ์ ในรูปในนามปั๊บ แล้วมันก็พาไปเกิด โทสะ โมหะ โลภะ ปั๊บ ...อ้าว ทุกข์ 

พอทุกข์บีบคั้นๆ บีบคั้นปุ๊บ สติเกิด รู้ แยกออก ...เข้าอีก แยกออก เข้าใจมั้ย รู้อีก เป็นสิ่งที่ถูกรู้...รู้ ...ขณะที่รู้กับสิ่งที่ถูกรู้นี่ อุปาทานไม่มีนะ เริ่มไม่มี เริ่มจาง เริ่มน้อยลงแล้ว 

แต่มันยังมีแรงดึงดูดอยู่ เหมือนแม่เหล็ก มันมีกระแส ...เพราะว่ามันมีแรงน่ะ มันแรง ความหมายมั่นน่ะมันยังแรงอยู่  เพราะนั้นเวลาทวนออกมานี่ด้วยสติ มันถึงทุกข์ไง ถึงอึดอัด 

มันอึดอัด เพราะมันจะดึงเข้า แต่เราดึงออก มันจะเข้า...แต่เราออก อย่างเนี้ย ...ก็อยู่ด้วยความเป็นปกติ คือรู้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร  อาการขันธ์จะไปๆ มาๆ ดิ้นไปดิ้นมา 

แต่มันมักจะอดไม่ได้ พอดิ้นแล้วพั้บ เราจะเข้าไปรวม แล้วก็ไป พามันไป นี่ ...ก็จนกว่าจะแยกออก แยกอุปาทานขันธ์...ออกจากขันธ์ห้า  

ขันธ์ห้าคือขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีอะไรหรอกนอกจากขันธ์ห้า มันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันต้องเป็นอย่างนั้น มันก็เกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็แปรปรวน แล้วมันก็เปลี่ยนไป แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดใหม่ แล้วก็ต่อเนื่อง

เหมือนกับร่างกายของเรานี่ มันก็เติบโตต่อเนื่องมาจนถึงอายุขนาดนี้ มันไม่ดับ เห็นมั้ย มันต่อเนื่อง เลี่ยงไม่ได้ แก้ไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้ ...มันเป็นอย่างนี้ 

หน้าตาก็ต้องเป็นอย่างนี้ เค้าโครงก็ต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป ผู้หญิงก็เป็นผู้หญิงต่อไป ผู้ชายก็เป็นผู้ชายต่อไป ...แม้แต่เราเกิดมายังเลือกไม่ได้เลยว่าจะเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย ใช่มั้ย

มันถูกบังคับมา มันถูกกำหนดมา ด้วยเหตุและปัจจัยอยู่แล้ว เลี่ยงไม่ได้ แล้วมันก็จะเปลี่ยนไป ดำเนินไปตามเหตุและปัจจัยของมันเอง เราไม่ต้องยุ่งๆ มันก็จะแยก ...เออ ปล่อยให้เป็นเรื่องของขันธ์ห้าไป

สติจึงเป็นตัวที่รู้...แล้วก็แยกรูปออกจากรู้ แยกนามออกจากรู้  เพราะนั้นสตินี่คือคล้ายๆ กับตัวเดียวกับใจน่ะแหละ นะ ...แต่จริงๆ สติก็คืออาการหนึ่งของใจ 

การระลึกรู้นี่ คืออาการที่มันแนบอยู่กับใจ ก็เหมือนกับตัวรู้อย่างหนึ่ง ก็เหมือนกับผู้รู้อย่างนึง ก็เหมือนกับใจอย่างนึง ...แต่มันเป็นอาการ เบื้องต้นยังเป็นอาการ

จนกว่ามันจะแยกขาดโดยสิ้นเชิง มันจึงรู้เป็นใจ ใจรู้ๆ ใจรู้อยู่กับขันธ์ ใจรู้อยู่เฉยๆ อยู่ปกติกับขันธ์ ตอนนี้ถือว่าอยู่ใน...เขาเรียกว่าอยู่ในขั้นตอนนึงแล้ว มันจะไม่เข้าไปเกลือกกลั้วกับขันธ์โดยเต็มๆ

ของพวกเรานี่ คือถ้าเผลอเมื่อไหร่กูจับน่ะ ...แต่ว่าถ้าถึงระดับนั้นแล้วมันไม่เผลอ มันจะมีเหตุปัจจัยเท่านั้นที่จะเข้าไปจับ...ตามเหตุปัจจัย บางเหตุปัจจัยเท่านั้นที่ยังเข้าไปจับ 

แต่โดยทั่วไปแล้วไม่จับ เข้าใจมั้ย ...นี่คือมันตามขั้นตอน แล้วมันก็จะเข้าไปตามเหตุปัจจัย ก็ไปเรียนรู้ตอนเหตุปัจจัยซึ่งเข้าไปจับ ...ทำไมกูถึงจับ มันก็เรียนรู้ตรงนั้น 

ต่อไปมันก็จะเข้าใจว่าไม่มีอะไรให้จับ มันก็จะปล่อย ...อยู่อย่างนั้น จนใจออกมาเป็นปกติอยู่อย่างนี้...ภาวะใจ จากนั้นก็คอยชำระ 

ตอนนั้นเหลือแต่การชำระ เป็นอาการของธรรมชาติของใจล้วนๆ น่ะ เป็นการศึกษาธรรมชาติของใจล้วนๆ ไม่ได้ศึกษาโดยบัญญัติหรือสมมุติ ...คือมันนอกภาษาบัญญัติสมมุติแล้ว 

เกิดดับนี่ถามว่ามันคืออะไร มันแปลว่าอะไร มันหมายความว่ายังไง ...ไม่มีอ่ะ จะเอาคำพูดอะไรไปพูด ไปอธิบาย ไปเนมมิ่ง มีนนิ่งมันไม่ได้แล้ว มันเป็นอาการของมันจริงๆ อย่างนั้น 

ถึงเรียกว่าเข้าไปเริ่มศึกษาธรรมชาติของใจล้วนๆ ...ในขณะที่ศึกษานี่ ด้วยญาณทัสสนะนั้นน่ะ หรือปัญญาที่เข้าไปรู้เห็นด้วยความเป็นกลางอยู่ตรงจุดนั้นน่ะ 

มันเข้าไปพร้อมกับทำลาย...ทำลายตัวของมันเอง ทำลายความเข้าใจผิดในตัวของมันเอง ทำลายความหมายมั่นในตัวของมันเอง ...เหมือนกับกล้วยออกเครือน่ะ

เคยเห็นกล้วยมั้ย เวลามันออกปลีแปลว่ากล้วยนั้นต้องตาย ใช่ป่าว เหมือนลูกฆ่าแม่น่ะ เพราะนั้นตัวญาณทัสสนะ สุดท้ายมันจะเข้าทำลายตัวของมันเอง เข้ามาทำลายจุดที่ก่อกำเนิดของใจนั่นเอง 

ท่านถึงเรียกว่าจิตของพระอรหันต์เหมือนกล้วยที่ออกเครือ คือถ้าได้ออกลูกมากินผลเมื่อไหร่นี่ ต้นมันต้องตายน่ะ ...เหมือนกัน มันจะทำลายตัวของมันเอง ทำลายที่ตั้งของภพปัจจุบัน

เพราะอาการที่เกิดนี่อยู่บนภพปัจจุบันนะ เกิดดับๆ ...มันยังมีที่ตั้งอยู่นะ มันยังมีที่ตั้งของอวิชชา มันมีที่ตั้งของอาการของใจ ของความผ่องใส ถึงไม่เกิดไม่ดับมันก็ผ่องใสอย่างนั้น

ความผ่องใสน่ะ ในความผ่องใสน่ะ จะไปเห็นความเกิดดับนี่ไม่ใช่ง่ายนะนั่นน่ะ ...มีแต่อาสวักขยญาณอย่างเดียว หรือว่าญาณของพระอริยะขั้นอนาคาขึ้นไปถึงจะเห็น...ในความผ่องใสนั้นมีความเกิดดับ

แต่ตรงนั้นที่ท่านเข้ามาเห็นใจที่ผ่องใสนี่ ไม่มีการประกอบกระทำใดๆ ทั้งสิ้น  ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ จนกว่าญาณจะเข้าไปสอดแทรกชำระ หรือว่าเห็นถึงความเกิดดับภายในความผ่องใส 

นี่ เหมือนยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรอีก ต้องเป็นความละเอียดประณีตขั้นสูงสุด

ถ้าพวกเรานี่เห็นความว่างยังไม่เห็นเลยว่ามันดับตรงไหนวะ มีความสุขมันดับตรงไหนวะ จิตมันสบาย เนี่ย หรือจะว่าของพวกเรา...แค่ทุกข์ยังไม่ทันเลย หลงก็ยังไม่รู้เลย เห็นมั้ย 

เพราะนั้นมันต้องไต่ระดับขึ้นมา ไต่ระดับขึ้นมา ... กำลังของสติ กำลังของสัมปชัญญะ การรู้ชัดเห็นชัด รู้แจ้งเห็นจริง มันจะเริ่มละเอียด ละเอียดขึ้น

จนหยุดในหยุดน่ะ หยุดในหยุดจริงๆ ถึงจะเห็นความเป็นจริงปรากฏขึ้นแต่ละครั้งๆ ...แต่ละครั้งนี่ต้องหยุดในหยุด ไม่ใช่ระหว่างวิ่ง กำลังหา กำลังควาน แล้วจะเห็นความจริง

ไม่เห็นนะ ...คลาดเคลื่อนหมดแหละ คลาดเคลื่อนหมดแล้ว ปนเปื้อนหมดแล้ว ปนเปื้อนด้วยโลภะปนเปื้อนด้วยโมหะ ปนเปื้อนด้วยโทสะ ...มีอาการปนเปื้อนหมด ถ้าเคลื่อนเลื่อนออกมา

แต่ถ้าหยุด อยู่ ปุ๊บ ยังไงก็ยังงั้น ตรง...เริ่มตรง ... ตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด และประณีตขึ้นมา ต้องหยุด สงบสันติอยู่ในปัจจุบันแค่นั้น 

ไม่ว่าปัจจุบันนั้นจะเป็นยังไง จะหยาบก็ตาม จะดูไม่ดีก็ตาม  จะเลวร้ายก็ตาม จะดีที่สุดก็ตาม หรือประณีตก็ตาม ...หยุดอยู่ตรงนั้น จึงจะเห็นความเป็นจริง

เมื่อเห็นความเป็นจริงแล้ว มันจะยอมรับความเป็นจริง ...เมื่อยอมรับความเป็นจริงแล้ว จึงจะละความเป็นจริงในนั้น เห็นว่าไม่มีอะไรในนั้น

มันหยุดเพื่อเห็นว่าไม่มีอะไร สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไร ...มันเป็นแค่อิมเมจ มันเป็นแค่เงา มันเป็นแค่สิ่งที่จิตมันลวง สร้างมโนภาพ หรือรูปารมณ์ หรือนามารมณ์พวกนี้ขึ้นมาเท่านั้นเอง ...สุดท้ายมันไม่มีอะไร

เหมือนหมาที่คาบเนื้อแล้วไปชะโงกดูเงาของมันเองน่ะ แล้วมันสำคัญว่านั่นน่ะเป็นของจริง ...มันแค่นั้นเอง มันก็คิดว่าเนื้อชิ้นนั้นดี ใหญ่กว่า มันก็คายชิ้นเนื้อของมันทิ้งไป

นั่นน่ะ จิตของเรามันสร้างเงา หรือสร้างมโน หรือว่าอารมณ์ หรือว่าธัมมารมณ์ หรือว่าภพ ขึ้นมา เข้าใจมั้ยว่ามันเป็นที่ตั้ง ที่หมาย ขึ้นมา

ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ดูเข้าไปจริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะหรือญาณทัสสนะแล้ว จะเห็นว่าไอ้ภพหรือที่ตั้งที่หมายนี่ มันเป็นของลวง 

ไม่มีจริงหรอก...ไม่มี ไม่สามารถไปยืนอยู่ ...มันหลอกกันเอง แล้วก็คิดว่ามันเข้าไปเสวย เป็นจริงเป็นจังได้เอง

เมื่อมันเห็นอย่างนั้น ภพนั้นก็ถูกทำลายไป ความหมายมั่นในอารมณ์นั้นก็ถูกละ ถอนออก 

ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะละเอียดหรือดีขนาดไหน มันก็ถอนออกจากการเข้าไปตั้งอยู่กับอารมณ์นั้น ความรู้สึกนั้น ความหมายนั้น ...อันนี้ขั้นละเอียดลงไปนะ จึงจะเป็นอย่างนี้

แต่ตอนแรกของพวกเราคือ เข้าไปเท่าทัน  อาการที่อยู่กับอะไร ต้องรู้ อยู่กับอะไรก็รู้ ทุกข์กับอะไรก็รู้ ทุกข์กับหูก็รู้ ทุกข์กับตาก็รู้ ทุกข์กับใจก็รู้ ทุกข์กับความคิดก็รู้ รู้เฉยๆ รู้เฉยๆ ไม่ต้องแก้

ไม่แก้ไม่หนี หน้าด้านหน้าทน ลูกเดียว เฉยๆ แค่นั้นน่ะ ใครจะว่ายังไงก็หน้าด้านหน้าทน เป็นยังไงก็เป็น ยังไม่ดีกว่านี้ มันไม่ดีก็ไม่ดี ดีก็ดี เออ มันติดก็ติด ติดมากก็รู้ว่าติดมาก ติดน้อยก็รู้ว่าติดน้อย

ใครจะมาบอกว่าวิธีการยังไงให้ละความติดได้ อย่าเชื่อ ...ไม่ฟัง กูจะรู้อย่างเดียวว่ากูกำลังติดอยู่ ดูเข้าไป โง่เข้าไว้ รู้โง่ๆ เข้าไว้ 

อย่าไปฉลาดเกิน ไปหมายมั่นในอนาคตในอดีตในความเห็นของผู้อื่น ในความคิดของคนอื่น ในตำราบ้าง ในที่เราเคยคิดมาก่อนเคยคาดมาก่อน ...มันเป็นของหลอกเราทั้งนั้น 

ยอมรับตามความเป็นจริง เห็นความเป็นจริง...แล้วจึงละความเป็นจริง


(ต่อแทร็ก 2/19)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น