วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/17 (2)


พระอาจารย์
2/17 (530815A)
15 สิงหาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 2/17 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้ากลับมา แม้แต่รู้ว่ามันมีอารมณ์ รู้ว่าเป็นทุกข์ ...รู้เฉยๆ รู้เฉยๆ จนกว่ามันจะเป็นไตรลักษณ์ของมันเอง อย่างนี้ แล้วก็กลับคืนสู่ปกติ

แล้วเริ่มใหม่ ดูไปใหม่ คอยเท่าทันใหม่ ...สติมันจะพัฒนาตัวของมันเองขึ้นมาเรื่อยๆ มันจะย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาที่จุดเริ่มต้นของการเกิดอุปาทานขันธ์ ...

ไม่ใช่การเกิดของรูปนามนะ รูปนามนี่มันเกิดมาตั้งแต่ก่อนเราจะรู้ความอีก มันมีมาตั้งแต่เรายังไม่มีสติสัมปชัญญะเลย มันก็ดำเนินไปของมันอยู่แล้ว ใช่มั้ย

ห้าหกขวบ เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่เกิด ขันธ์มันก็ยังดำเนินได้ ใช่ป่าว ...ความคิดความปรุงแต่งมันก็ดำเนินของมันตามปกติ 

ทั้งๆ ที่เราไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้เจตนา หรือจงใจอะไรกับมัน ...มันก็ดำเนินของมันไปตามครรลองของขันธ์

แต่ตอนนี้พอเราเริ่มรู้เดียงสา ปั๊บ เราใช้ขันธ์ไม่เป็นแล้ว ...เราเริ่มเข้าไปบงการขันธ์ ด้วยอุปาทาน อุปาทานจะเริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามค่านิยม ตามความเห็นความคิดที่มันอยู่ภายใน

มันเริ่มผูกพันกับขันธ์ เอาขันธ์เป็นเรื่องของเรา ...พากายเดินไปก็ว่ากายของเราเดิน เราพามันไปกินก็ว่าเรากิน เราพามันฟังเพลง เราก็บอกว่าเรามีความสุขมีความสบาย เห็นมั้ย


โยม –  ตรงที่รู้แล้วมียินดียินร้าย ก็คือรู้ซ้ำไปอีกที ใช่มั้ยครับ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่ายินดี ก็รู้ว่ายินร้าย ...รู้เฉยๆ นะ ไม่ต้องไปดับ 

เพราะนั้นถ้าเรารู้เฉยๆ ได้บ่อยๆ ปุ๊บ มันจะหยุด ...หยุดอะไร หยุดการกระทำ หยุดการเข้าไปยุ่งกับขันธ์ และก็หยุดที่จะเข้าไปปรับปรุงหรือว่าแทรกแซงขันธ์ห้า แค่นั้นเอง มันจะหยุด

เมื่อหยุดเมื่อไหร่ปั๊บ ขันธ์ก็จะเป็นอิสระในระดับหนึ่ง คือเขาจะเป็นอิสระในการดำเนินไป ...คือจะดั่งใจหรือไม่ดั่งใจก็ต้องทนแล้ว ต้องทน เพราะเราเคยชิน เพราะเราจัดการมามากมาย

ตั้งแต่จำความได้ก็ยุ่งกับกายกับจิตตลอด จิตคิดอย่างนี้ก็ไม่ได้ จิตไม่คิดอย่างนี้ก็ต้องให้มันคิดอย่างนี้ จะทำอะไรอย่างนั้นก็ต้องใช้ความคิดต้องใช้ความเห็นเข้าไป

เราเลยให้ค่ากับความคิดความเห็นความจำ แล้วเข้าใจว่าต้องมีอย่างนี้ๆๆ ต้องทำตามความคิดอย่างนี้ๆๆ จึงจะได้ผล แล้วก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ...แต่ว่ามันคุ้นเคย เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นกิเลส มันคือความคุ้นเคย ท่านเรียกว่าเป็นอนุสัย คุ้นเคย ...มันไม่ใช่คุ้นเคยมาเดี๋ยวนี้หรือชาตินี้ มันนับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว

มันคุ้นเคยที่ว่าต้องอาศัยความคิด ต้องอาศัยความจำ ต้องอาศัยอารมณ์ ทำอย่างนี้แล้วจะได้อย่างนั้น ทำอย่างนั้นแล้วต้องได้อย่างนี้

นี่ไม่ต้องบอกเลย ...ทุกคนมันมีความรู้สึกอย่างนี้กันทุกคนเลย เป็นประจำของจิตปุถุชน

พอมาเริ่มปฏิบัติ พอเรามาเริ่มปฏิบัติเราก็คิดว่า...ทำอย่างนั้นแล้วน่าจะได้ผลอย่างนี้ ถ้าเราดูอย่างนี้แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราวางจิตอย่างนี้แล้วมันจะเป็นอย่างนี้

นี่ มันยังมีเป้าหมายเล็กๆ ลึกๆ อยู่นะ ดูแล้วเพื่ออะไร ดูแล้วจิตจะเป็นยังไง ถ้าไม่ดูแล้วจิตจะเป็นยังไง อย่างเงี้ย เข้าใจมั้ย ...แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ...สติ

สติไม่ใช่เป็นผู้จัดการ สติไม่ใช่เป็นเจ้าของ สติเป็นเพียงยาม เหมือนยาม เหมือนยามรักษาการณ์น่ะ ทำหน้าที่ยาม ใครไปใครมาตอกบัตรรู้ เข้า-ออก ไม่ต้องไปยุ่งอะไร กับเขา ไม่ต้องไปยุ่งๆ


โยม –  แล้วถ้าใช้ความคิดช่วยว่าเป็นอนัตตา อันนี้จึงเป็นการใส่แรงเข้าไป

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ...เพราะนั้นไม่ต้องคิด ไม่พิจารณาอะไรทั้งสิ้นเลย...โดยความจงใจนะ  ...แต่ถ้ามันคิดเอง เรื่องของมัน


โยม –  อ๋อ ถ้ามันคิดต่อไปว่าเป็นอนัตตา ก็เรื่องของมัน

พระอาจารย์ –  เรื่องของมัน ถ้ามันคิดเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจคิดนี่ ...เพราะว่ามันต้องมี ความคิดพวกนี้มันมีอยู่แล้ว นะ แต่ว่ามันมีแบบของมันเอง


โยม –  บางทีเราไปสอนมันไว้ตอนก่อนหน้านี้

พระอาจารย์ –  เออ มันจะขึ้นมา มันจะขึ้นมาของมันอย่างนั้น เป็นสังขารธรรม ...ก็ชั่งมัน  แต่ว่าอย่าไปจงใจคิดต่อ หรือว่าต้องคิดจึงจะเห็นอนัตตา หรือว่าต้องคิดจึงจะเห็นอนิจจัง

ไม่เกี่ยวหรอก ไม่เกี่ยว จิตเขารู้ด้วยปัจจัตตัง ...แล้วการรับรู้ของจิต การรับรู้ของสติ หรือปัญญาที่เขาเห็นนี่ เขาเห็นในรูปแบบของปรมัตถ์

ปรมัตถ์คือไม่ได้เห็นในรูปแบบของสมมุติและบัญญัติ คือรู้แบบไม่มีความหมายน่ะ มันเห็นแบบไม่มีความหมายหรือว่าเรียกว่าอะไร อนิจจังก็ไม่มี ทุกขังก็ไม่มี อนัตตาก็ไม่มี บอกให้เลย


โยม –  ไม่มี

พระอาจารย์ –  ไม่มีเลย ไม่มีภาษา มันจะรู้แบบไม่มีภาษา ...อ๋อๆ เห็น เห็นอย่างนี้ แค่รู้แค่เห็นอย่างนี้ เนี่ย เขาเกิดความเข้าใจแล้วนะ ด้วยปัจจัตตังแล้วนะ  

เพราะนั้นเวลาปัจจัตตังนี่ เวลาเห็น...อ๋อ นี่ ปุ๊บ ไม่รู้มัน อ๋อ อะไร บอกให้เลย “เข้าใจแล้ว” เข้าใจอะไรวะ บางทียังไม่รู้เลยเข้าใจอะไร มันเข้าใจในตัวของมันเอง

บทมันจะวาง บทมันจะปล่อย มันปล่อยของมันเองเลย ...พอปล่อยแล้ว อื๋อ ปล่อยได้ยังไงวะ บางทียังสงสัยอีกนะ ทำยังไงถึงปล่อยวะเนี่ย ธรรมดาเคยจับเคยทำ เอ๊ะ อยู่ดีๆ คราวนี้ทำไมมันผ่านไปได้

อย่าไปสงสัย อย่าไปหาที่มาที่ไป อยากจะว่าถ้าเข้าใจแล้วคราวหน้ามันเกิดแล้วเราจะได้ปล่อยได้อีก อย่างนี้ เข้าใจมั้ย ...ชั่งมัน ยึดคือยึด ติดคือติด รู้อย่างเดียวๆ อะไรเกิดขึ้นก็ได้ รู้ไปเหอะ รู้เฉยๆ

บอกแล้วเป็นยาม อย่าไปเป็นผู้จัดการ อย่าไปเป็นเจ้าของบริษัท เข้าใจว่ากายนี่เป็นบริษัทของเรา จิตก็เป็นบริษัทของเรา

ถ้าทำเป็นหน้าที่ยามน่ะ บริษัทเขาก็ดำเนินไปของเขาได้ บริษัทนี่เขาดำเนินการของเขาเอง บอกให้เลย เขามีเหตุปัจจัยของเขาดำเนินการได้ตลอดชีวิตน่ะ

แต่พอเรา...ด้วยความเคยชินน่ะ ดูเฉยๆ ก็ไม่ดู มันจะไปเป็นผู้จัดการ เป็นผู้จัดการมากๆ เข้าปุ๊บ มันก็บอกเทคโอเวอร์เลย เป็นของกู

กายนี่ของเรา จิตนี่ของเราแล้ว เราครอบครองหมดแล้ว แล้วก็จะเข้าไปจัดการ บงการอยู่ตลอด ไม่ยอมรับในอาการของจิตต่างๆ นานาที่มันไม่ได้ดั่งใจเรา

เพราะนั้นก็กลับมาอยู่ในคำว่ารู้เฉยๆ รู้ธรรมดา รู้แบบไม่เอาอะไร รู้แบบรู้ทิ้งรู้ขว้างน่ะ แค่มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ แค่นี้  จิตมันก็จะเริ่มวางขันธ์ ให้เขาเป็นไปเอง

ขันธ์ห้านี่ไม่ได้พูดแค่รูปนะ นามด้วยนะ ความคิดด้วยนะ อารมณ์ ความรู้สึก เวทนาด้วยนะ ทั้งหมด ปล่อยให้เขาดำเนินไป เราไม่ต้องยุ่งกับเขา เขาก็ดำเนินไปได้

เหมือนกับเราเป็นเด็กๆ น่ะ เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยนะ มันก็เติบโตของมันมาเอง เห็นมั้ย ไม่เห็นต้องมีใครไปบอกไปสอนหรือไปแก้ไขอะไรมันเลย มันก็โต มันก็พัฒนาของมันไปเอง ไปตามครรลองของมัน

เหมือนกับต้นไม้นี่ มีใครไปบอกให้มันต้องหยุด หรือต้องโตมั้ย มันก็ยืนต้นของมันอย่างนี้ มันก็เติบโตของมันเอง ไม่เห็นมีใครบงการมันเลย 

ตัวมันเองก็ไม่รู้ตัวมันเองกำลังโต แต่ธรรมชาติมันก็โตของมันเองน่ะ ใช่มั้ย ...ขันธ์นี่เหมือนกัน ก็คือธรรมชาติเดียวกัน 

เขาเติบโตได้  เขาเดินไปได้ เขาทำอะไรของเขาได้ เขามีความคิด เขามีความจำอะไรก็เรื่องของเขา เราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเขาเลย

นี่ ก็เรียกว่าปล่อยให้ขันธ์ดำเนินไป ก็เรียกว่าเป็นอิสระจากการเข้าไปเกาะเกี่ยวขันธ์

แต่ว่ามันไม่ใช่ว่าครั้งเดียวมันจะขาด ...ต้องซ้ำซากๆ ในการเท่าทันที่เข้าไปถือครองขันธ์ คืออุปาทานขันธ์ 

เมื่อสัมมาสติเกิดขึ้นบ่อยๆ เราจะชัดเจนขึ้น จะชัดเจนขึ้นว่า ลักษณะนี้เข้าไปรับรู้ด้วยอาการที่มีอุปาทาน ลักษณะนั้นเข้าไปรับรู้โดยไม่มีอุปาทาน...คือจะเป็นปกติ

มันจะมีอุปาทานก็สังเกตดู ยินดีกับยินร้าย เกิดขึ้นแล้ว หงุดหงิด ไม่พอใจ รำคาญ รำคาญทำไมอารมณ์มันเกิดขึ้นซ้ำซากวะ ทำไมมันไม่หายไปซักที

อย่างนี้ เราเริ่มไปมีอุปาทานในอารมณ์แล้ว ในความรู้สึก ในเวทนา หรือว่าเวลานั่งนานๆ อย่างนี้ เมื่อย ให้ดู ลองอดทนดูมันดู จะเห็นอาการดิ้นของจิต ดิ้น ...

ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องเอาชนะ ...ดูเฉยๆ ดูอาการดิ้นรนของมัน


โยม –  ให้มันดิ้นไป

พระอาจารย์ –  เออ ดูสิ มันทำไมถึงดิ้น ศึกษากับมัน มันจะไปเอาอะไรกับขันธ์ มันจะไปเอาอะไรกับเวทนา เห็นมั้ย มันพยายามจะไปแก้ มันพยายามจะหนี พยายามจะหาเหตุหาผลอะไรก็ตาม อย่างนี้

มันไม่ยอมรับน่ะ มันไม่ยอมรับขันธ์นี้ ความเป็นจริงของขันธ์มันไม่ยอมรับ มันจะเอาแต่ความเป็นจริงของมันน่ะ คือจะเอาแบบไม่มีเวทนาน่ะ หรือให้เวทนาน้อยลง อย่างนี้

เห็นมั้ย มันมีที่หมายของมัน แล้วสิ่งที่ปรากฏมันไม่เป็นไปดั่งที่หมาย ตรงนั้นน่ะมันจึงเกิดทุกข์ 

เพราะนั้นเวทนาไม่ได้ทุกข์หรอก ...แต่ใจเราน่ะทุกข์ เพราะไม่ยอมรับเวทนา เพราะต่อต้าน เพราะไม่ยอมรับตามความเป็นจริงฝึกดู ก็จะเห็น

เพราะนั้นเราไม่ได้นั่งเพื่อเอาชนะอะไรมันน่ะ ...ให้ดูอาการของจิต ให้ดูอาการดิ้นรนทุรนทุราย

แล้วก็ศึกษาว่า เออ มันดิ้นรนทุรนทุราย มันกำลังเข้าไปผลักเข้าไปดัน เข้าไปพิจารณาเพื่อจะเอาชนะมัน เข้าไปอย่างนั้น เข้าไปอย่างนี้ ...ศึกษาดูมันไปเรื่อยๆ

อยู่ในความเป็นกลางบ่อยๆ ต่อเนื่องเมื่อไหร่ เราจะเห็นชัดเจน ...ขันธ์เป็นเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของเรา จิตก็จะคลายออกจากสักกายะ คลายออกจากการเข้าไปประกอบกระทำ ด้วยสีลัพพตะต่างๆ

คำว่าคลายออกจากการกระทำในสีลัพพตะต่างๆ ก็คือว่าเขาบอกว่า ต้องอย่างนั้น ได้ยินมาจากอาจารย์ต่างๆ นานา บอกว่าต้องทำอย่างนี้ก่อน ต้องมีความสงบ ต้องพิจารณาให้ถึงที่สุดก่อน

พวกนี้คือมันเป็นปัจจัยให้เกิดสีลัพพตะ แล้วมันจะจดจำความหมายพวกนี้มา แล้วพอมีอาการอะไรที่มันตั้งอยู่ แล้วมันไม่หายสักที  เราเริ่มแล้ว เริ่มกระวนกระวายแล้ว

เหมือนกับเวทนาที่มันตั้งอยู่ตอนนี้ เข้าใจมั้ย เหมือนกันแหละ อาการเดียวกับเวลาอารมณ์อะไรที่ค้างคาข้องอยู่นี่ หงุดหงิดทั้งวันอย่างนี้ ดูกี่ทีก็หงุดหงิดโว้ย

ไปหงุดหงิดกับหงุดหงิดน่ะ เข้าใจมั้ยๆ “ทำไมไม่หายสักที” ...ก็เหมือนกับเวทนาที่เรานั่งปวดอยู่ แล้วเราก็ “ทำไมไม่หายสักที ทำยังไงถึงจะหาย” ...นี่คือเข้าไปหมายมั่นกับขันธ์

เพราะนั้นไอ้ตัวความหงุดหงิดรำคาญ ความเศร้าหมอง ความขุ่น ความกังวล ความวิตกพวกนี้ ถือว่าเป็นวิบาก เป็นวิบาก เป็นผลแล้ว ...มันแก้ไม่ได้

แต่มันมีลึกๆ ที่คิดว่ามันแก้ได้น่ะ ไอ้ตัวนั้นน่ะ สีลัพพตะ ...ความหมายของคำว่าสีลัพพตปรามาส คืออุบาย คือวิธีการ คือเชื่อว่าทำยังไงถึงจะหลุดจากอาการนี้ หรือว่าลุล่วงจากอาการนี้ไปโดยเร็วได้ดั่งใจ

เห็นมั้ย มันมีโลภะลึกๆ มันมีตัณหาลึกๆ ที่มันพาให้เกิดสีลัพพตะ ...พอจิตมันแนะแนว แนะนำเราบ่อยๆ นี่ เรานี่ทนไม่ได้เลย เราจะต้องเข้าไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้มันลุล่วงไป

เห็นมั้ย แทนที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ทุกข์ให้กำหนดรู้ ให้รู้เฉยๆ ให้รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่สุดโต่ง ไม่เลือก อย่างนี้ได้ อย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้เอา อย่างนี้ไม่เอา

นั่นคือความหมายของคำว่าสุดโต่ง ถ้าสุดโต่งเมื่อไหร่ก็ออกนอกองค์มรรคแล้ว ...ผลอาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง สงสัยอีกแล้ว หาต่อไป แล้วก็หาต่อไป แล้วก็หาใหม่อีก แล้วก็หาอีก อยู่อย่างนี้

มันต้องหยุดน่ะ ยอมรับเลย ชั่งมันลูกเดียว ...ชั่งมัน อยากโง่เองนี่ อยากหลงเองนี่ จนกว่ามันจะเห็นวิบากนั้นหมดไปในตัวของมันเอง

คือนั่นน่ะจิตมันก็จะเห็น เรียนรู้ไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ยอมรับความควบคุมไม่ได้ ความแปรปรวน ความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่าง ...อาจจะช้าบ้าง นานบ้าง เร็วบ้าง มันกำหนดเวลาไม่ได้


(ต่อแทร็ก 2/17  ช่วง 3) 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น