วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/18 (1)


พระอาจารย์
2/18 (530815B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้แบ่งโพสต์บทความเป็น 2 ช่วงค่ะ)

พระอาจารย์ –  ฟังแล้วพอจะเข้าใจไหม

โยม –  ก็เข้าใจเรื่องความคิด ก็ต้องสังเกตยินดียินร้ายเยอะขึ้นนิดนึง

พระอาจารย์ –  อย่าไปให้ความสำคัญกับอารมณ์ หรือว่าเวทนาความรู้สึกมาก  เมื่อเรามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วเรารู้ใช่ไหม แล้วเรายินดีมั้ย กับยินร้ายมั้ย ...มันจะกลับมาที่ต้นมากขึ้น

อย่าไปส่งไปจดจ่ออยู่กับอารมณ์อย่างเดียว แล้วก็จะไปดูว่าเมื่อไหร่มันจะดับ เข้าใจมั้ย ...ให้ดูว่าเฉยๆ แล้วถ้ามันไม่เฉยเพราะอะไร เพราะยินดีหรือยินร้าย ตรงนั้นมันจะถอยกลับเข้ามา

ไม่งั้นถ้าเราดูในลักษณะที่ดูเพื่อจะให้เห็นว่าเมื่อไหร่มันจะดับ ให้ทันความดับไปของมันน่ะ ตรงนั้นน่ะเพ่ง มีการเพ่ง ...ออก ส่งออกแล้วนะ มันไม่กลับมารู้อยู่ตรงนี้

แต่ว่าจุดที่มันจะรู้ที่ต้นคือยินดียินร้าย มันเกิดขึ้นแล้วเป็นยังไง เฉยๆ รู้เฉยๆ เห็นมั้ย เกิดขึ้นแล้วรู้เฉยๆ นี่ เกิดขึ้นแล้วไม่เฉยๆ ยินดี-ยินร้าย ...มันอยู่ตรงนี้ เข้าใจมั้ย  

แต่ถ้าไม่สังเกตตรงนี้ปุ๊บ มันจะไปใส่ใจตรงนั้นเลย ...จะส่งออกไปรู้ รู้ออกไป เขาเรียกว่ารู้ออกไป แล้วก็จะไปคอยจับดูว่า อ่ะ จะให้ทันความดับของมัน จะให้เห็นไตรลักษณ์ที่ดับไปของมัน 

เพราะนั้นว่า ถ้าอย่างนี้เขาเรียกว่า ดูเงาของจิต...ไปอยู่ตรงนั้นน่ะ ไปอยู่กับอาการ ไปคอยดูอาการ เข้าใจมั้ย  ...มันก็ดับไปของมันเองอยู่แล้วน่ะ ไม่ต้องยุ่งกับมันหรอก

แต่ในลักษณะที่รู้ รู้ว่ามีอาการนี่เกิด ชั่งหัวมันๆ คอยสังเกตตรงยินดี-ยินร้าย  ต้องกลับมาดู...เฉยๆ หรือปกติ หรือเออ เห็นแล้วธรรมดา ชั่งมัน หรือเห็นแล้วไม่ธรรมดา หงุดหงิดรำคาญกับอาการ กับอารมณ์ตรงนี้ เข้าใจมั้ย

เพราะอารมณ์นี่เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ให้มองให้เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องปกติ เข้าใจมั้ย ...เป็นธรรมชาติของขันธ์ มันต้องมี ไม่มีมนุษย์คนไหนไม่มีอารมณ์ ไม่มีมนุษย์ แม้แต่พระอริยะ ที่ไม่มีอารมณ์ ...ไม่มี

นอกจากฤาษี หรือพวกอรูปพรหม อย่างเช่น อาฬารดาบส อุทกดาบส เนี่ย จิตท่านว่าง ไม่มีอารมณ์เลย ไม่มีความรู้สึก ไม่มีความหมายมั่น ไม่มีความเห็น ...คือไม่มีอะไร ไปอยู่กับอรูป เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา หรือแม้แต่พระอริยะ พระอรหันต์ ท่านมีธรรมชาติของขันธ์ปกตินะ มี รู้สึก เห็น ชอบ-ไม่ชอบ สวย-ไม่สวย พอใจ-ไม่พอใจ ...ท่านมี เข้าใจมั้ย ไม่ใช่ไม่มีนะ 

แต่ว่าท่านไม่เข้าไปยินดี-ยินร้ายกับอาการที่รับรู้นั้น หรือว่าเวทนานั้นๆ เจ็บไข้ได้ป่วย ปวดนะ เจ็บนะ...มี ไม่ใช่ว่าท่านไม่ทุกข์ไม่สุขกับไอ้พวกนี้ ท่านรับรู้ในอาการที่เป็นทุกข์ ...แต่ท่านไม่ต่อเนื่อง 

ท่านไม่คิดว่าเมื่อไหร่ ยังไง แล้วเมื่อไหร่จะหายหรือไม่หาย ...ท่านจะอยู่กับทุกข์ของปัจจุบัน แค่นั้นแหละ ด้วยจิตที่เป็นกลางๆ ไม่ไปหมายมั่นในอดีตในอนาคต

แต่เวลาพวกเราพอเริ่มดูจิต เราชอบจะให้มันดับน่ะ ชอบจะให้มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นน่ะ 

ตรงนั้นน่ะ เป็นจุดบกพร่อง เป็นจุดที่เราเข้าไปเลือกขันธ์น่ะ เลือกเอาไอ้ตรงที่อทุกขมสุขมน่ะ...มันเป็นเวทนาหนึ่งนะ มันเป็นอารมณ์หนึ่งนะ แล้วเราชอบ เราเลือก ดูแล้วจะต้องได้ผลอันนั้น

แต่ถ้าเราไม่เลือก ยังไงก็ได้ ...คราวนี้ว่ามันเพ่นพ่านเลยแหละ ...แล้วก็ไม่ต้องไปเป็นทุกข์ ก็มองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา 

เมื่อเรามองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเมื่อไหร่ หรือว่าเป็นกลางมากขึ้นปุ๊บ อาการที่มันเพ่นพ่านๆ พวกนี้ มันจะอยู่ในกรอบ ในความเป็นสมดุลของมันเอง


โยม –  แต่ก็ยังเพ่นพ่านไปมา

พระอาจารย์ –   ใช่ๆ มันเป็นอย่างนั้นแหละ ...อย่าไปคิดว่ามันจะดีขึ้นหรืออะไรมากขึ้น ...เพียงแต่ว่าจิตมันจะตั้งมั่น นะ มีความตั้งมั่นอยู่ภายใน มีความสงบอยู่ภายใน อยู่ตลอดเลย

คือความเป็นปกติน่ะ ความเป็นปกติจริงๆ คือความสงบอย่างหนึ่งนะ ...แต่เป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำขึ้นมา มันเป็นความสงบของมันโดยธรรมชาติของใจน่ะ 

ใจรู้ปกตินั่นคือความสงบที่ตั้งมั่น ...ไม่ใช่สงบแบบดำดิ่งหายไปอย่างนั้น...ไม่ใช่  อันนั้นทำขึ้นมา มันเป็นสมถะ

แต่ว่าความสงบมันจะมีอยู่ตลอดเวลาเลย คือความเป็นปกติ ในฐานความเป็นปกติ ...ตรงนั้นเรียกว่าจิตตั้งมั่น เป็นผลของสมาธิ เป็นผลของสัมมาสมาธิ จะตั้งมั่นอยู่ภายใน 

แต่อาการตรงนี้ที่ส่ายแส่ๆ ไปมาๆ จะขึ้นจะลง ...ไม่เกี่ยว ก็ปล่อยเป็นเรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา

ตัวที่จะมายึดโยงกันนี่คือตัวเรากับอัตตา...สักกาย ที่จะจับมาเป็น ...เออ ของเรา ของเขา ได้-ไม่ได้ ถูก-ผิด ควร-ไม่ควร ใช่-ไม่ใช่ ชอบ-ไม่ชอบ 

เนี่ย ทีนี้เกิดอาการยินดี-ยินร้ายเข้ามา เกิดเป็นอุปาทานทุกข์ อุปาทานสุขขึ้น

สติตอนแรกๆ เราก็ต้องเจริญขึ้น แต่หลังๆ นี่สติมันคือแค่การเท่าทัน ...พอมันถึงเข้าขั้นเท่าทันนะ มันไม่สนใจแล้ว ในการจะต้องรู้อะไร หรือจะต้องเห็นอะไร คือพูดง่ายๆ มีก็เหมือนไม่มีน่ะ ไม่มีก็เหมือนมี

คือจะไม่ไปยุ่งแล้ว ไม่ไปคอยระวังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นวะ...ไม่สน  มันจะปล่อยเลย มันจะเป็นอะไรก็ชั่ง ปล่อยเลย แต่มันจะเกิดสติขึ้นต่อเมื่อ...มันจำเท่านั้น 

ตรงนั้นน่ะที่เรียกว่าสัมมาสติ มันจะเกิดของมันเอง เมื่อเกิดอุปาทาน พั่บๆ อยู่ตรงนั้น

แต่ถ้าไม่มีอะไร มันไม่เกิดหรอก มันก็ใช้ชีวิตตามปกตินั่นแหละ มันเป็นปกติๆ มันก็อยู่ในฐานความเป็นปกติ ไม่คุม ไม่ค่อยยินดี-ยินร้ายกับอะไร อยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่พอเริ่มจะยินดี-ยินร้าย พั่บๆ มันจะพั่บอยู่อย่างนั้น ...แต่ถ้าไม่มีอะไรมันก็ใช้ชีวิตธรรมดา แล้วก็ไม่ต้องไปใส่ใจในการที่จะต้องรู้ว่ากำลังทำอะไร เห็นอะไร มีอะไรปรากฏขึ้น มันจะไม่อย่างนั้นแล้ว

แต่ว่าเบื้องต้น...ไม่ได้  ถ้าเบื้องต้นอย่างนั้นน่ะไหลลูกเดียวเลย ไหลลูกเดียวเลย จะไปฟังแล้วจับเอาไปทำอย่างนั้นไม่ได้ นี่ ปล่อยไม่ได้ ... เบื้องต้นเราจะต้องเจริญสติปัฏฐานก่อน

ตอนนี้จิตไปอยู่ตรงไหน มันเผลอมันเพลิน หรือมันไม่เผลอไม่เพลิน มันอยู่กับทุกข์ส่วนไหนของกาย ของเวทนา ของจิต หรือของธรรม มันหลงไปอยู่ตรงไหน มันไปผูกอยู่ตรงไหน

อย่างบางทีก็รู้ออก อ้อ ตอนนี้อยู่กับอารมณ์ อ้อ ตอนนี้ไปทุกข์กับกาย ตอนนี้ไปทุกข์กับเรื่องคนอื่น ตอนนี้ไปทุกข์กับตา ทุกข์กับรูป กับเสียง กับกลิ่น หรือมีสุขกับรูปกับเสียงกับกลิ่น

นี่ ให้ดูว่ามันหลงแล้วมันไปคาอยู่ตรงไหน ...สติมันต้องไปเท่าทันตรงนั้น เจริญขึ้นมา จนมันต่อเนื่องๆ เป็นสัมปชัญญะ เห็นเป็นสัมปชัญญะ

พอเห็นเป็นสัมปชัญญะปุ๊บ มันก็จะเห็นอาการปกติ ท่ามกลางความส่ายแส่ เห็นความปกติท่ามกลางความวุ่นวาย เห็นความปกติในท่ามกลางกระแสของทุกข์ของสุข ...มันจะมีตัวปกติที่แทรกอยู่ตรงนั้น

ตรงนั้นแหละ ถ้าเห็นปกติอยู่ในท่ามกลางทุกสรรพสิ่ง หรือว่าเป็นปกติอยู่ เห็นปกติอยู่ท่ามกลางอาการหรืออารมณ์ที่มันวุ่นวี่วุ่นวายนี่ เรียกว่าเริ่มเข้าใจแล้ว เริ่ม...เริ่มเห็นครรลองของมรรค

เพราะมันจะมีได้ตลอดเวลา...มีได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งพายุร้ายโหมกระหน่ำขนาดไหน มันก็มีความปกติอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่ามันจะปกติได้ต่อเมื่อเรียบง่าย เป็นกลาง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น...ไม่ใช่

ก็ต้องทำต่อไป ก็ต้องเจริญต่อไป จนกว่ามันจะเห็นความเป็นปกติได้ในทุกเหตุการณ์ สถานที่ และเวลา จึงเรียกว่าเป็น อกาลิโก ...ถ้านั้นล่ะถึงเรียกว่าครรลองของมรรคที่แท้จริง ไม่เลือก เป็นกลาง

แต่ถ้ายังสติตั้งมั่นหรือว่าสติเห็นได้เฉพาะอาการอย่างนี้ ไม่มีอะไรแล้วมันเห็นชัดอยู่ได้ ...ยังไม่พอ 

เวลาเราสับสนวุ่นวาย เวลาเรากำลังขุ่นกำลังเจออะไรแรงๆ แล้ว ...ต้องเห็นความเป็นปกติตรงนั้นด้วย ถึงจะเรียกว่ารู้รอบเห็นรอบ นะ

มันจึงจะเริ่มแยกออกจากโลกธรรม ...แล้วก็เห็นโลกธรรมนั้นเป็นของว่างเปล่า เป็นแค่อาการๆ เหมือนแดดออก ฝนตก แค่นั้นเอง ไม่ใช่เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ หรือว่าเรื่องถูกเรื่องผิดอะไร

ไม่มีว่าฝนตกถูก หรือว่าฝนหยุดผิด แดดออกผิด แดดร่มถูก อย่างเนี้ย ...มันถูกตรงไหน มันผิดตรงไหน มันจะไม่มีแล้ว มันจะไม่มี ...ก็เห็นเป็นธรรมดาๆ แล้วก็เป็นปกติ

เพราะนั้น ความปกติก็จะอยู่ในทุกกาลเวลาสถานที่ ...ปัญญาก็เริ่มเข้าไปเข้าใจความหมายของคำว่า อกาลิโกมากขึ้น ไม่อ้างกาลเวลาแล้ว ไม่อ้างว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ก่อนแล้ว 

ไม่มีว่าต้องอย่างนี้ ต้องสร้างปัจจัยนี่ก่อน ต้องประกอบเหตุนี้ก่อน...ไม่เอาแล้ว ไม่เกี่ยวแล้ว  มันสามารถรู้เห็นเป็นปกติได้ มีความธรรมดาได้ในทุกกาลเวลา สถานที่และบุคคล

ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว ไม่ว่าจะอยู่กับคนร้อยคน หมื่นคน  ไม่ว่าจะกระทำอากัปกริยาใด ไม่ว่าจะอยู่ในความคิดความเห็น กิจกรรมการงานใดๆ อะไรก็ตาม มันสามารถจะรู้ปกติได้ในทุกสิ่งที่ล้อมรอบเรา

จิตจะเริ่มมั่นคงมากขึ้น ตั้งมั่นมากขึ้น ไม่หวั่นไหวมากขึ้น ไม่โอนอ่อนผ่อนตามอาการที่เร้า รอบ รุมล้อมรอบตัวเรา 

จิตมันก็จะทะลุเข้าไปอยู่ภายในเรื่อยๆ เข้าไปคว้าน...สติสัมปชัญญะหรือญาณก็จะไปคอยสังเกตเหตุปัจจัยเบื้องต้นหรือเหตุแรกของการเกิดขึ้น

สติก็จะแนบเข้าไปที่ใจ อยู่ชิดติดกับใจเลยแหละ เป็นสติอยู่ที่ใจ เป็นฐาน เป็นสติแรก เป็นจุดแรกของการก่อเกิด แล้วก็ดับลงในขณะแรกที่มันเกิด

เพราะนั้น จากนั้นมันจะเป็นการรู้ปัจจุบันแล้วก็ละปัจจุบัน รู้ปัจจุบันแล้วก็ละปัจจุบันทันที  มันไม่มีการเกิดขึ้นได้เลย มันไม่มีการต่อเนื่องขึ้นมาเลย ...ตรงนั้นถึงจะเรียกว่าเข้าไปชำระอาสวะภายใน 

เพราะอาการที่มันขยับออกมา อาการที่มันจะผลักออกมา คือมันผลักออกมา มันดันออกมา ด้วยอาการ...แรงของความหมายมั่นของอาสวะหรืออวิชชา มันจะผลักออกมาเป็นสังขารา

แต่เราเท่าทันอาการที่มันยังไม่ทันเป็นสังขารา...มันแค่เห็นอาการขยับ พั้บๆ ในปัจจุบันนั้นดับ ...เพราะนั้นมันทำให้กำลังของอวิชชานี่ ค่อยๆ อ่อนลงไปๆ อ่อนลงไป

เหมือนเสือที่กินเหยื่อ แล้วเรามีเสืออยู่ข้างในตัวหนึ่ง ...ถ้ามันได้ออกมากินอาหารบ่อยๆ เสือมันไม่ตาย 

การที่เสือในใจของเราออกมากินอาหารบ่อยๆ คือออกมากินรูป กินเสียง กินรส กินสัมผัส กินอารมณ์ กินความรู้สึกต่างๆ นานา แล้วเกิดเป็นการยินดี-ยินร้าย ...นี่คือภักษาหารของเสือ

แต่ถ้ามันออกมาแล้วเราไม่ไปกินกับมัน ไม่ให้มันไปกิน หรือมันไม่ทันได้ไปกิน...เราก็เห็นเท่าทันแล้ว 

นี่ เสือตัวนี้ มันจะอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ เหี่ยวไป แห้งไป เหือดแห้งไป กำลังก็น้อยลงไป  จนถึงขั้นว่าผอมโซ เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก แล้วก็ตาย...สุดท้ายก็ตาย

การละอวิชชา คือละในลักษณะนั้น ....คือเท่าทันอาการแรกของจิตนี่ก่อน ด้วยสัมมาสติ ... พอขึ้นชื่อว่าสัมมาสติแล้วมันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านี้แล้ว 

คือไม่มีวิธีการมากกว่านี้แล้ว ไม่มีวิธีพิเศษ ไม่มีวิธีลัด ไม่มีอะไรจะตรงยิ่งกว่านี้แล้ว ...ใครจะมาบอกว่าอันนี้ดีกว่าอันนั้นดีกว่า ถ้าคนที่เข้าใจภาวะนี้โดยชัดเจนนะ มันจะบอกว่า ไอ้ขี้จุ๊ ไอ้พวกนี้ขี้จุ๊หมดเลย 

แต่มันไม่ไปทะเลาะกับเขานะ มันจะรู้โดยใจของตนเอง แล้วก็รู้เป็นกลางๆ ฟังก็ฟังเป็นกลางๆ ...แต่มันจะตั้งมั่น มั่นคงอยู่ตรงนี้ ...เพราะมันเป็นจุดเดียว

พูดง่ายๆ กูถอยไม่ได้แล้ว ไม่มีที่ให้ถอยแล้ว เพราะมันถอยมาจนสุดแล้ว ตรงนี้คือจุดแรกแล้ว มันรู้ด้วยใจเลย ต่อนี้ไปไม่มีอะไรอีกแล้ว หาอีกก็ไม่เจอ ออกไปก็ไม่เจอ ...มันอยู่ตรงนี้แหละ มันมีอยู่ที่เดียวนะ

เห็นมั้ย มันจึงรู้ที่เดียวละที่เดียว ในที่อันเดียว ละในที่อันเดียว อยู่อย่างนั้น ซ้ำซากอยู่ตรงนั้น ถึงจุดนั้นแล้วนี่...เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น 

คำว่าเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นคือ...จนกว่ามันหมดอาการ


(ต่อแทร็ก 2/18  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น