วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/8




พระอาจารย์

2/8 (530721C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

21 กรกฎาคม 2553




พระอาจารย์ – คือในยุคสมัยนี้  การปฏิบัติในลักษณะของการเจริญสติหรือว่าการดูกายดูจิตนี่  มันค่อนข้างจะตรงกับชีวิตฆราวาสญาติโยมมาก  สามารถเอาไปปฏิบัติ เอาไปใช้กับชีวิตประจำวันได้ ... มันจะได้ผลของการปฏิบัติ ในขณะที่เราไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไร หรือไปทำตัวขึ้นมาใหม่ให้มันวุ่นวี่วุ่นวาย หรือต้องไปเตรียมการอะไร  

ซึ่งแต่ก่อน การปฏิบัติมันจะอยู่ในแนวลักษณะที่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนที่สอนมา  มันจะต้องมีหลากหลายอย่างที่จะต้องเตรียมให้พร้อม ต้องมีรูปแบบของการปฏิบัติ ต้องมีรูปแบบของการควบคุมบังคับ  การทำความเพียรเป็นชิ้นเป็นอัน การยืนเดินนั่งนอน การควบคุมอิริยาบถ การควบคุมกาย การควบคุมจิตเป็นหลัก อยู่ในหลักของศีลที่เป็นสมมุติบัญญัติ หรือว่าศีลที่เป็นข้อๆ ที่ล่วงละเมิดไม่ได้

ซึ่งมันมีหลายอย่างๆ ...อีกหลายๆ อย่างที่มันจะขัดเขินกับชีวิตการทำงาน...ที่มันเป็นปกติของฆราวาสทั้ง การกิน การพูด การคุย  ซึ่งมันไม่สามารถจะเอาไปใช้กับชีวิตประจำวันได้  เพราะมันต้องอยู่คนเดียว กลับมาอยู่ตัวคนเดียว อยู่ตามลำพัง อยู่ในที่สงบ ถึงจะมีโอกาสได้กำหนดจิต ควบคุมจิต กำหนดนั่งสมาธิภาวนา  ถึงจะเรียกว่าได้ทำเป็นกอบเป็นกำ 

ดังนั้นการปฏิบัติในลักษณะแบบแต่ก่อน เมื่อมาใช้ในยุคสมัยนี้ที่...ถ้าคนปฏิบัติเคยเริ่มเคยชินในการปฏิบัติเช่นนั้นมาก่อน ก็จะรู้ว่ามันได้ผลน้อย มันแทบจะไม่ได้อะไร ได้แค่นิดๆ หน่อยๆ ...กว่าจะควบคุมจิตให้สงบระงับได้ หรือให้นิ่ง หรือเอาว่าแค่ให้คิดน้อยลงน่ะ  บางทีห้าวันสิบวัน มันจะได้สักครั้งสองครั้ง  

เพราะฉะนั้นผลมันจึงเกิดขึ้นน้อยเมื่อผลทางนี้เกิดขึ้นน้อย ไอ้ผลอีกอย่างจะเกิดขึ้นมา...คือความท้อถอย  การรู้สึกว่าทำแล้วไม่ได้ผล  

ที่จริงสมัยก่อนท่านก็มี...การเจริญสติสัมปชัญญะ  แต่ว่าไม่มีการแพร่หลายออกมามาก ไม่มีการพูดถึง ... จริงๆ ครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน ท่านก็พูดเรื่องสติเหมือนกัน แต่ว่าท่านจะพูดในลักษณะเป็นสติที่จิตอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีพอสมควรแล้ว ท่านจะเน้นเรื่องสติในอิริยาบถ ในจิตล้วนๆ

แต่ทุกวันนี้มันมีการแพร่หลายกันในการเจริญสติ มีหลากหลายขึ้นมา  แม้แต่สำนักของการฝึกเจริญสติ มันก็มีหลากหลายสำนัก ที่เคยได้ยินได้ฟังก็ไม่รู้จะกี่สำนักแล้ว  กำหนดด้วยอาการต่างๆ  ยุบหนอ-พองหนอบ้าง กำหนดการก้าวย่างเหยียบหนอบ้าง รู้รูป-นามบ้าง เห็นเป็นรูป รู้เป็นนาม อะไรประมาณนั้น  ยังมีการยกอิริยาบถ จับอิริยาบถด้วยการสร้างท่าทาง ... ก็มีมากมาย 

ก็เป็นอุบายในการสร้างสติทั้งนั้น  ก็มีหลากหลายสำนัก ก็ไม่รู้ว่าแต่ละคนเคยผ่านสำนักไหนกันมาบ้าง

แต่ในลักษณะที่เราแนะนำ หรือเราจะบอก เราจะสอนนี่   คือเป็นลักษณะการเจริญสติเหมือนกัน  แต่ลักษณะการเจริญสติที่เราสอนนี่ เป็นการเจริญสติในลักษณะที่ไม่มีรูปแบบ ไม่อาศัยรูปแบบ แต่อาศัยกายและจิตนี่เป็นรูปแบบ

ให้เข้าใจว่ากายและจิตนี่เป็นรูปแบบ ...ไม่ใช่ทำกายและจิตขึ้นมาเป็นรูปแบบใหม่  แต่อาศัยกายและจิตนี่เป็นรูปแบบ  คือกายนี่มันมีรูปแบบของมันอยู่แล้ว จิตมันก็มีรูปแบบของมันอยู่แล้ว  เพราะนั้นเราไม่ต้องเอากายหรือเอาจิตนี่มาสร้างรูปแบบใหม่ขึ้นมา 

ตัวของมันน่ะคือรูปแบบอยู่แล้ว  มันมีอยู่ทุกคนน่ะรูปแบบของกาย การยืนเดินนั่งนอนที่เป็นปกติธรรมดานี่ มันมีอยู่แล้ว  เราไม่ต้องไปพามันไปสร้างรูปแบบใดแล้วค่อยมากำหนดสติกับรูปแบบที่สร้างขึ้นมาใหม่

แต่เอารูปแบบกายเท่าที่มีน่ะ เท่าที่มันเป็นอยู่ตรงนี้ ขณะนี้...มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำมันก็มี ... ก็ให้กลับมารู้ตรงนี้เลย  รู้ไปตรงๆ โดยที่ว่าไม่ต้องไปสร้างรูปแบบของการยืนเดินนั่งนอนในลักษณะที่ว่านั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือต้องอยู่คนเดียว

เพราะฉะนั้น การเดินไปเดินมา การพูดการคุย การทำงาน การสังสรรค์ การพบปะ การทำนู่นทำนี่ การไปมาหาสู่กัน ... อะไรก็ทำได้เป็นปกติ ไม่ได้ขัดขวาง หรือเป็นตัวที่จะทำให้การเจริญสติเสื่อมถอย  แต่กลับเป็นตัวที่ต้องเพิ่มสติลงไปในอากัปกริยานั้นๆ

อย่าไปคิดว่าการมีชีวิตอยู่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติ หรือว่าการใช้ชีวิตเหมือนเดิมนี่ผิด หรือไม่ดี ปฏิบัติไม่ได้  ...ก็ให้ทำเป็นปกตินั่นแหละ ยังไงก็ยังงั้น  แต่เติมความระลึกรู้เท่าทันลงไปในกายและจิตในปัจจุบันนั้นๆ

ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องทำขึ้นมาใหม่ ... จิตเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น  ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องสร้างสภาวะใดสภาวะหนึ่งขึ้นมา ยังไงก็ยังงั้น  มีอารมณ์อะไรก็รู้ไป  ก็รู้ โกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ คิดอยู่ก็รู้ หลงก็รู้ หายไปก็รู้ เผลอก็รู้ เพลินก็รู้ เสียใจก็รู้

อารมณ์ปกติของเรานั่นแหละ อารมณ์เท่าที่มันมี เท่าที่มันแสดง หรือมันปรากฏออกมา ...ให้กลับไประลึกรู้ตรงนั้นเลย  ไม่ต้องไปสร้างสภาวะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งขึ้นมา แล้วค่อยไปรู้มัน ...ให้มันรู้ตรงๆ รู้ตามความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น  เนี่ย เรียกว่ารู้ไปตรง

แล้วไม่ต้องไปว่ามัน  มันเป็นยังไงให้มันอย่างงั้น  เช่นว่า มันมีอารมณ์โกรธ  พอรู้ว่าโกรธ รู้ว่ากำลังโกรธ  ให้รู้เฉยๆ นะ  รู้เฉยๆ อย่าไปยุ่ง อย่าไปยุ่งกับมัน ... ไอ้คำว่าไม่ไปยุ่งกับมันคือหมายความว่าไม่ต้องไปห้ามมัน ไม่ต้องไปดับมัน ไม่ต้องไปละมัน ไม่ต้องไปทำให้มันน้อยลง ให้รู้เฉยๆ

อยากโกรธ...โกรธไป ดูมัน รู้มัน รู้เฉยๆ ...ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวจิตแย่ ไม่ต้องกลัวจิตเสื่อม ไม่ต้องกลัวจิตตก ไม่ต้องกลัวมันจะมาขัดขวางการเจริญในธรรม  ไอ้ความกลัวพวกนั้นน่ะมันเกิดจากความคิดของเราเอง นะ  คิดไปเอง กลัวไปเอง  

เพราะนั้นให้รู้ไปเฉยๆ กับอาการที่ปรากฏ รู้ไปตรงๆ  ช่างหัวมัน ดูมันไปๆ รู้มันไป ...ด้วยความอดทนนะ  อดทนที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่เข้าไปแทรกแซง  ไม่ทำให้มันมาก ไม่ทำให้มันน้อย  แล้วไม่ไปต่อว่ามันด้วย  ไม่ไปตำหนิตัวของเราเอง ทำไมถึงมีอาการอย่างนี้ เราไม่น่ามีอารมณ์อย่างนี้’ 

อย่าไปกลัวที่มันแสดงอาการต่างๆ นานา ออกมา  ถ้ารู้อยู่ไม่ต้องกลัว ...ศึกษากับมันอย่างนี้ เรียนรู้ดูกับมันอย่างนี้ ด้วยสติที่เป็นกลาง ...ด้วยสติการระลึกรู้ที่เป็นกลาง 

ไม่ใช่เข้าไประลึกรู้ด้วยอาการที่เรียกว่า รู้แล้วต้องเป็นอย่างนั้น รู้แล้วต้องไม่เป็นอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าสติที่ระลึกรู้ไม่เป็นกลางนะ...มันเลือก  มันมีเท่านี้ก็จะเอาเท่านั้น มันไม่มีก็จะทำให้มันมี  อย่างนี้ เป็นสติที่การระลึกแต่ละครั้งมันเกิดอาการเลือก เห็นมั้ย

เพราะนั้น สติที่เข้าไปรู้ด้วยอาการเช่นนั้น มันไม่ใช่สติที่เป็นกลาง  แต่เป็นสติที่กอปรด้วยโลภะ ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโลภะบ้าง ... เพราะฉะนั้นสติที่เข้าไประลึกรู้ที่กอปรด้วยโลภะจิต หรือโทสะจิต  สิ่งที่มันรู้ สิ่งที่มันเห็น จึงไม่ใช่ความเป็นจริงหรือเป็นการรู้ตามความเป็นจริง

แต่ถ้าเรารู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง หรือสติที่เป็นกลาง คือรู้เฉยๆ  ไม่เลือก ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีปัญหา ไม่ตั้งแง่ ไม่มีเป้าหมาย  เนี่ย เรียกว่าสติที่เป็นกลาง หรือเรียกว่าเป็นมัชฌิมา เป็นปกติแห่งความเป็นกลาง

เพราะนั้นสิ่งที่มันรู้ หรือสิ่งที่ถูกรู้ หรืออาการที่มันรู้ที่มันเห็น มันจึงเห็นตามความเป็นจริง ... ซึ่งความเป็นจริงนั้นน่ะ มันจะดั่งใจเรา หรือไม่ดั่งใจเรา  เหมือนอย่างที่เราคาด หรือไม่เป็นอย่างที่เราคาด ...ไม่สำคัญ 

แต่มันจะเป็นตามความเป็นจริงทั้งสิ้น ... มากบ้าง นานบ้าง ไม่ดับไปมั่ง หรือซ้ำอยู่อย่างนั้น หรือน้อยลง หรือหายไปต่อหน้าต่อตา ...เขาก็แสดงอาการเหล่านี้ตามความเป็นจริงของเขา

เพราะฉะนั้น การที่เรารู้เฉยๆ แล้วเห็นอาการตามความเป็นจริง  อาการตามความเป็นจริงนี้คือสิ่งที่ถูกรู้ด้วยสติที่เป็นกลาง  ตรงนี้จึงเรียกว่าปัญญา  เพราะปัญญาแปลว่าเห็นตามความเป็นจริง

เพราะนั้นความเป็นจริงนี่ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรหรือไม่มีอารมณ์ หรือว่าเฉยๆ ถึงจะเรียกว่าจริงหรือปัญญา...ไม่ใช่  ปัญญาคือสิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมด โดยที่เราไม่ได้เข้าไปแทรกแซงมัน เราเรียกว่าจริงหมด

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญา หรือเห็นตามความเป็นจริง  จึงต้องไม่กลัวความเป็นจริง ...แล้วอย่าหนีความเป็นจริง ด้วยการสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่

ฟังให้ดีนะ ...  นักปฏิบัติส่วนมาก พอเริ่มปฏิบัติแล้วมักจะหนีความจริงของตัวเอง หนีความจริงของอาการของเราเอง อาการจิต  แล้วพยายามไปอยู่กับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา หรือเราขวนขวายทำมันขึ้นมาใหม่  โดยเข้าใจว่านั่นเป็นธรรม 

แต่ไอ้เดี๋ยวนี้ที่เกิดขึ้นตรงนี้ดันว่า ไม่เป็นธรรม ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ใช่ ไม่ถูก ไม่พอ ไม่ตรง ช้า  เนี่ย เห็นมั้ย  ตรงนี้ต่างหากที่เรียกว่า “เห็นผิด” หรือว่ามี “มิจฉาทิฏฐิ” ...ด้วยความเห็นพวกนี้ จึงมาปกปิดความเป็นจริง  

แต่ถ้าเห็นตามความเป็นจริงด้วยการยอมรับ...ไม่ว่ามันจะดั่งใจหรือไม่ดั่งใจ แต่ว่ามันเป็นจริง ... ตรงนี้ จะเกิดสัมมาทิฏฐิขึ้นมาเรื่อยๆ  คือมีการยอมรับตามความเป็นจริงได้มากขึ้น ...เมื่อมีความยอมรับ เห็นความเป็นจริงและยอมรับความเป็นจริงได้มากขึ้นปั๊บนี่  มันก็เห็นความเป็นจริงนั้นคืออะไร 

มันไม่มีอะไรหรอก ... ความเป็นจริงนั้นก็คือว่า มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยน มันคุมไม่ได้  นั่นแหละคือความเป็นจริง ...จะทำกับมันหรือไม่ทำกับมัน จะรู้เฉยๆ ก็ตาม ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน มันก็เปลี่ยน มันก็มากขึ้นได้เอง มันก็น้อยลงได้เอง เห็นมั้ย

มันจะเห็นความเป็นจริง และเชื่อความเป็นจริงมากขึ้นๆ ยอมรับความเป็นจริงได้มากขึ้นว่า เออ มันไม่ใช่ของเราน่ะไอ้สิ่งที่ถูกรู้นี่  มันเป็นอาการที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปด้วยตัวของมันเอง ด้วยเหตุและปัจจัยแวดล้อมรอบข้างของมันเอง ...ไม่ได้เปลี่ยนเพราะเราหรือใคร หรือความอยาก หรือความไม่อยากเลย  มันเปลี่ยนตามเหตุและปัจจัยของเขาเอง

ตรงนี้ สติที่เข้าไปรู้ด้วยความเป็นกลางนี่ มันจะเห็นความเป็นจริงที่ละเอียดตามมามากขึ้นๆ  แล้วมันจะเกิดยอมรับว่า “เนี่ย ความเป็นจริงคือแค่เนี้ย  มันมีความจริงเริ่มต้นคือเกิดขึ้น ระหว่างนั้นก็ตั้งอยู่ แล้วสุดท้ายนี่เหมือนกันหมด...คือความดับไป”

เนี่ย จิตมันก็จะเริ่มยอมรับ  แล้วเหมือนกับจิตมันจะบอกกับตัวของมันเองว่า แล้วกูจะไปยุ่งกับมันทำไม กับอาการพวกนี้  ก็มันไม่ใช่อาการของเราเลย ควบคุมก็ไม่ได้  บทจะมาก็มา บทจะไปก็ไป  อยากให้มันอยู่ มันก็ดันไม่อยู่  อยากให้มันอยู่นานๆ มันก็ไปซะอย่างนั้น  ไม่อยากให้มันเกิด มันก็เกิดซ้ำๆๆๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ อาการพวกนี้ อารมณ์พวกนี้  

เนี่ย เห็นมั้ย  จิตมันยอมรับในอาการพวกนี้ได้ ...ก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา  ก็มองเห็นอาการพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดา  เราจะไม่ยุ่ง เมื่อมองเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ... สิ่งที่มันจะจางหายไปก็คือ มันไม่ใช่เรื่องของเรา

ไอ้ความเป็นเรา ความเห็นของเรา เรื่องของเรา อารมณ์ของเรา จิตของเรา กายของเรา อะไรของเราทั้งหลายนี่ มันจะจางลง ... มันยังไม่ดับหรอก แต่มันจะจางลง น้อยลง  เปลี่ยนจาก “เรา” มาเป็น “รู้” 

กลายเป็นว่า อ้อ นี่เป็นเรื่องของจิต วันนี้จิตมันมีอาการอย่างนี้ วันนี้มันเห็นอย่างนี้ คนทำอาการอย่างนี้ แล้วจิตมันเป็นอย่างนี้ เห็นมั้ย มันจะมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของจิตแค่นั้น เป็นอาการของจิต ไม่ใช่เรา

ไม่เหมือนอย่างที่ว่า วันนี้จิตเราไม่ดีเลย จิตเราโกรธทั้งวันเลย จิตเราดีทั้งวันเลย วันนี้จิตเราสบายเนี่ย เห็นมั้ย  แรกๆ เวลาเราดูปุ๊บนี่ จะเป็นเรื่องที่ว่า จิตเราดีมั้ย จิตเราไม่ดีมั้ย ...คือมันมีความเป็น “เรา” อยู่ในจิตอยู่  

แต่พอดูไปๆ มันก็จะบอกว่า เอ๊ จิตไม่ดีเลย จิตแย่ หรือจิตดี เห็นมั้ย เห็นเลยว่าเป็นแค่ว่าจิตดี หรือจิตไม่ดี ... แต่ไม่มีเราแล้วนะ ความเห็นว่าเป็นเรานี่ไม่เกี่ยวแล้ว ไม่เอา “เรา” เข้าไปเกี่ยวกับจิตแล้ว  

แต่ไม่ใช่ว่าตอนนี้เราจะเป็นอย่างนี้ได้ เข้าใจมั้ย  มันยังไงก็เป็น “เรา” อยู่ ...ก็ให้รู้กับมัน แล้วก็รู้ไปเรื่อยๆ ว่า  ถ้าเป็น “เรา” เมื่อไหร่ ในอาการรู้นั้นๆ จะมีทุกข์แฝงอยู่  มีความยินดีและยินร้ายในสิ่งที่เรารู้ ... แต่จะไม่ยินดีและยินร้ายเกิดได้เลยถ้าเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เข้าใจมั้ย ... สิ่งที่ถูกรู้จะไม่มีเรา  แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ "เรารู้" จะมีความยินดียินร้าย ...เพราะนั้นสติตรงนั้นแหละที่มันจะเริ่มเข้าไปมีเข้าไปเป็น  

แต่ห้ามไม่ได้นะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันจะเป็นปกติ รู้เป็นปกติ รู้เป็นกลางได้ .. ก็ให้รู้เมื่อสิ่งนั้นมากระทบ ตา ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางผัสสะภายนอก หรือความคิดความจำ ...เมื่อเกิดขึ้นปุ๊บ รู้ว่ามีอารมณ์ปั๊บ เห็นอารมณ์ปั๊บ เรารู้เลยว่ายินดีหรือยินร้ายต่ออาการนั้น ... ก็ให้รู้ต่อไป  เออ พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ถูกใจบ้าง ดั่งใจบ้าง ไม่ดั่งใจบ้าง ก็ให้รู้ว่าเรามีความยินดียินร้ายตรงนั้น  

เราเกิดอาการยินดียินร้ายเพราะเราเข้าไปสำคัญว่ามันคือของเรา จิตนี้เป็นของเรา กายนี้เป็นของเรา เรื่องนี้เป็นเรื่องของเรา  ทั้งที่มันก็ไม่เคยบอกเลยว่ามันเป็นของเรา  เราว่าเอาเอง ...เป็นความเคยชินอย่างหนึ่งของจิตที่มีอวิชชา ที่มีตัณหา ที่มีอุปาทาน มีความหมายมั่นในความเป็นเราอยู่

ก็ให้รู้มันไป รู้ไปตรงๆ นั่นแหละ ... ติดมากก็รู้ว่าติดมาก ติดน้อยก็รู้ว่าติดน้อย ยังไม่หายก็รู้ว่ายังไม่หาย ยังยินดีก็รู้ว่ายินดี ยังยินร้ายก็รู้ว่ายินร้าย ให้รู้ไปตรงๆ ... จนกว่ามันจะถึงที่สุดของมันคือความดับไปน่ะ

คือให้มันเต็มรอบของมันน่ะ ...อย่าไปยุ่งกับมันมาก อย่าไปแก้มันมาก อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับมันมากมาย ... มันจะมีที่สุดของมันอยู่ตามเหตุและปัจจัย  มันหมดไปก็จะเห็น อ้อ สุดท้ายก็แค่นั้นเอง  ...ให้จิตมันเรียนรู้ เข้าไปเห็นถึงไตรลักษณ์  แล้วถึงจะเห็นความที่ไม่มี “เรา” เข้าไปเป็นผู้ควบคุมอาการนี้ได้

มันจะต้องเรียนรู้อย่างนี้ ซ้ำซากอยู่อย่างนี้แหละ  ปัญญามันจึงจะเกิดขึ้นมากขึ้นๆ  ยอมรับได้มากขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น  ปล่อยวางอาการทั้งหลายทั้งปวงได้มากขึ้น ปล่อยวางรูป ปล่อยวางเสียง ปล่อยวางกลิ่น ปล่อยวางเย็นร้อนอ่อนแข็ง ปล่อยวางความคิด ปล่อยวางความจำ ปล่อยวางอดีต-อนาคต ปล่อยวางในเรื่องที่ยังไม่มาถึง ปล่อยวางในเรื่องที่ไกลออกไป ปล่อยวางในเรื่องที่อยู่รอบๆ ตัวเรา

แต่ขณะนี้ มันต้องเรียนรู้กับการไม่ปล่อยวางก่อนว่า  มันยึดอย่างไร มันติดอย่างไร มันข้องอย่างไร ... อย่ากลัว อย่าอาย ที่จะไปเห็นมัน รู้มัน ... ต้องรู้ตรงๆ แล้วยอมรับกับทุกข์แห่งการยึด แห่งการเข้าไปพัวพัน แห่งการเข้าไปให้ค่า แห่งการเข้าไปมีเข้าไปเป็น ...ต้องเรียนรู้กับมันตรงๆ ยอมรับมันตรงๆ 

แล้วกำหนดเอาผลจากการที่เข้าไปมีเข้าไปเป็น จากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ที่เป็นทุกข์นั้นแหละ  มาเป็นตัวกำหนด เป็นตัวรู้ เครื่องรู้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ กับมัน ...จนถึงที่สุดของทุกข์นั่นแหละ  ปัญญามันจึงเริ่มสะสมไปเรื่อยๆ เห็นไตรลักษณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ...จิตจะปล่อยวางในอาการทั้งหลายทั้งปวงได้

ไม่มีวิธีการอื่นเลย ไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งเลย หรืออุบายใดอุบายหนึ่งเลย นอกจากจิตเห็นไตรลักษณ์เท่านั้น จึงจะวาง ...จะด้วยการกด การข่ม การคิดเรื่องนั้นมาแทรก คิดเรื่องนี้มาแก้ คิดเรื่องนั้นมากัน เปลี่ยนความเห็นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  มันไม่เรียกว่าวาง แต่เรียกว่าไปทำให้มันวาง  แต่จิตเขายังไม่วางเองโดยความเป็นจริงหรอก

แต่จิตจะปล่อยตามความเป็นจริง ปล่อยวางอาการทั้งหลายทั้งปวงได้ตามความเป็นจริง คือต้องเห็นไตรลักษณ์อย่างเดียวเท่านั้น  แล้วมันจะต้องเรียนรู้ซ้ำซากด้วย กับอาการทุกข์แห่งการยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ ... จนกว่ามันจะเข้าใจ จนกว่ามันจะยอมรับความเป็นจริงของไตรลักษณ์ แล้วเขาวางเอง

คราวนี้บอกให้เขาจับเขาไม่จับแล้ว ให้เอาอีกก็ไม่เอา ให้ไปมีอารมณ์กับเรื่องที่แต่ก่อนเคยมีแล้วเดี๋ยวนี้มันไม่มี บอกให้มันมี มันก็ไม่มี มันก็ไม่เอา  เนี่ย มันวางได้ที่ใจเลย

มันจะวางโดยที่...ถ้ามันวางแล้วเนี่ย  ถ้าจิตมันเห็น มันเข้าใจ มันยอมรับแล้วนี่  เหมือนข้าวเปลือกกับข้าวสารน่ะ ...ถ้ามันยังเป็นข้าวเปลือกอยู่นี่ ทิ้งที่ไหนก็งอก ไอ้ตอนที่ยังไม่ทิ้งลงไปอยู่ตรงนี้มันก็ดูเหมือนไม่งอก  แต่อย่าให้มันลงดินได้น้ำนะ...เดี๋ยวงอก  

แต่ถ้ามันเป็นข้าวสารแล้วนี่ มันจะอยู่ตรงนี้ มันจะอยู่ตรงไหน จะทิ้งลงดิน จะทิ้งลงทราย จะมีน้ำมีแดดมีลมดีขนาดไหน  ข้าวสารนี่ไม่มีงอกน่ะ มันไม่งอก มันมีแต่เน่าแล้วก็เสื่อมไปดับไป

เพราะนั้นจิต ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้ว มันวางแล้ว ไม่ต้องกลัวหรอก  ให้ยังไงมันก็ไม่เข้าไปจับอารมณ์นั้น  มันจะรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง...เป็นด้วยปัจจัตตัง  มันจะวางๆ มันจะคลาย  

แต่ไม่ใช่ว่ามันจะคลายทีเดียวแล้วคลายหมดนะ  มันก็เป็น shot-shot ไป เป็นเคสๆ ไป เป็นเรื่องๆ ไป เป็นสิ่งที่จิตมันยึดมั่นถือมั่นไป เป็นตามลำดับๆ ไป ...จากหยาบ ไปกลาง ไปละเอียด ไปประณีต ไปเรื่อยๆ

แต่วิธีการมีวิธีเดียว คือการเข้าไปรู้ตรงๆ ด้วยสติและสัมปชัญญะ  รู้เห็นโดยไม่มีเงื่อนไขนี่แหละ  รู้เห็นด้วยจิตที่เป็นกลาง รู้เห็นด้วยสติที่เป็นกลาง รู้แบบไม่มีเป้าหมาย รู้ไปเรื่อยๆ อะไรเกิดขึ้นก็รู้  

ได้อะไรก็ไม่เอา ไม่ได้อะไรก็ไม่เอา รู้แล้วก็ไม่ได้อะไร รู้แล้วก็ไม่มีความเข้าใจอะไร รู้เข้าไป  ไม่ใช่รู้เพื่อให้เกิด หรือให้มี หรือให้เป็นอะไรทั้งสิ้น ... รู้เพื่อละน่ะ รู้เพื่อไม่เอา รู้แล้วก็ไม่เอาอะไรในสิ่งที่ถูกรู้นั้น  มันจะเป็นยังไงก็ช่าง มันจะอยู่เท่าเดิมก็ช่าง 

อย่าให้หลงนาน อย่าให้เผลอนาน อย่าให้ลืมนาน   พยายามรู้ให้ต่อเนื่อง รู้บ่อยๆ แล้วก็ให้ต่อเนื่อง ... มันต้องมีความใส่ใจ ตั้งใจ อดทนด้วย  เพราะการกลับมารู้นี่ มันดูเหมือนจะฝืนหรือทวนกระแส

สติต้องเป็นสติปัจจุบันนะ ไม่ใช่รอไปทำข้างหน้านะ ...เดี๋ยวนี้ก็ต้องรู้แล้ว กายยังไง จิตยังไง  อย่าไปรอ อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง อย่าไปว่าพรุ่งนี้ ขณะหน้า นาทีหน้า หรือว่าชั่วโมงหน้าค่อยทำ ... รู้เมื่อไหร่ต้องรวมลงปัจจุบันเลยนะ แล้วต่อเนื่องไป  ไม่มีอ้างกาลเวลา สถานที่ หรือบุคคลใดๆ

เผลออีก...รู้อีกๆ ... แต่รู้เบาๆ นะ อย่าเครียด อย่าตั้งใจมาก อย่าเครียดจนเกินไป มันจะจงใจมากไป  รู้ให้เป็นธรรมดา สติเบาๆ หยั่งไปเบาๆ เห็นเบาๆ เห็นแบบง่ายๆ ... อย่าไปลึกลับซับซ้อนว่าจะต้องเห็นอะไร จะต้องมีเป้าหมายที่เห็นคืออะไร  รู้ไปตรงๆ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เรียกชื่อมันถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง ช่างมัน ไม่สนใจ ...อาการใดก็ได้ ขอให้รู้ลงในปัจจุบันนั้นๆ มันเป็นความจริงทั้งหมดแหละ

เพราะความจริงไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปรู้ว่ามันคืออะไรในสิ่งที่ถูกรู้นั้นๆ ...มันจะเป็นอะไรก็ได้  มีชื่อก็ได้ ไม่มีชื่อก็ได้ เคยเห็นก็ได้ เคยเกิดก็ได้ ไม่เคยเกิดก็ได้ ไม่ใช่สาระ ... แต่สาระของมันคือว่า สุดท้ายแล้วมันคือความดับไป  เดี๋ยวก็เปลี่ยน นั่นแหละ  

คือให้เห็นว่าสิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันไม่ตั้งอยู่เป็นถาวรหรอก  มันเป็นอาการแค่ชั่วคราว ชั่วขณะ หรือเป็นช่วงหนึ่งแค่นั้นเอง ...มันตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน ไม่ได้ตั้งอยู่บนความคงอยู่ถาวร  

อันนี้ต่างหากคือสิ่งที่ต้องการให้ปัญญาเรียนรู้หรือเห็น มันถึงจะปล่อยวางอาการทั้งหลายทั้งปวงได้ ...ไม่ว่าใหญ่หรือน้อย ไม่ว่าเราจะติดข้องกับมันหรือให้ค่าให้ความสำคัญมันขนาดไหนก็ตาม  มันจะวางได้ ปล่อยได้ เมื่อมันเห็นไตรลักษณ์ เห็นเป็นไตรลักษณ์

ไม่ใช่เห็นในความคิด ไม่ใช่เห็นด้วยความจำ หรือพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ ...แต่ต้องจิตเข้าไปเห็นด้วยการหยั่งรู้ด้วยสติและสัมปชัญญะ  จิตจะต้องเห็นจริงๆ แล้วก็เห็นตามความเป็นจริงด้วย ... ไม่ใช่คิดหรือพิจารณาเอา อ๋อ มันไม่เที่ยงอย่างนี้ มันเป็นความไม่ใช่ตัวของเราอย่างนี้ 

ด้วยความคิดพิจารณาร้อยแปดพันเก้า เพื่อให้เกิด อ๋อ มันไม่เที่ยง  นี่ มันเป็นความคิด จิตไม่วางเลย จิตจะไม่เข้าถึงใจเลยนะ  ปัญญาไม่ใช่เป็นปัญญาอยู่แค่จินตามยปัญญา แต่คำว่าปัญญาที่แท้จริง คือเป็นปัญญาที่เกิดจากญาณ หรือเรียกว่าปัญญาญาณ

คำว่าญาณ นี่คือการเข้าไปหยั่งรู้ ด้วยสติและสัมปชัญญะ  คือทั้งรู้และเห็นตามความเป็นจริง จึงจะเรียกว่าเป็นญาณทัสสนะ  เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดญาณทัสสนะ ก็คือสติและสัมปชัญญะที่เป็นกลาง ที่ไม่มีเงื่อนไข 

ถ้ามีเงื่อนไข หรือไปตั้งเป้าในการระลึกรู้นั้นๆ เมื่อไหร่ สติตรงนั้นไม่เรียกว่าสติในองค์มรรค หรือสติที่เป็นกลาง ... สติดวงนั้น อาการของจิตที่เรียกว่าสติดวงนั้น จะเรียกว่ามิจฉาสติ เป็นมิจฉาสติไป  จึงไม่ก่อให้เกิดปัญญาญาณ ...แต่มันจะให้ผลเป็นอย่างอื่น  สงบบ้าง ได้สภาวะใดสภาวะหนึ่งขึ้นมาบ้าง เป็นภพเป็นอะไรออกมาที่เราจะไปเกี่ยวข้องพัวพันลุ่มหลงกับมันบ้าง

แต่ถ้าเป็นสติที่เป็นกลางเมื่อไหร่ อยู่ในองค์มรรคเมื่อไหร่ ผลของมันคือญาณทัสสนะ  คือรู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วจะปล่อยวางไปเรื่อยๆ ... ญาณทัสสนะก็จะพัฒนาระดับของญาณทัสสนะขึ้นเป็นญาณวิมุตติทัสสนะ คือรู้แล้ววางเลย  พอเห็นนี่...แค่เห็น ไม่ต้องไปเห็นซ้ำเห็นซากน่ะ ขณะแรกที่เกิด ขณะแรกที่รู้ เห็นพั้บ หลุดเลย ร่วงเลย ล่อนเลย

นี่มันเริ่มเกลี้ยงเกลา ชำระ  ไม่ได้ให้ค่ากับอาการเกิด อาการตั้งอยู่ หรืออาการที่ว่ามันจะเป็นอะไรออกมานี่ ไม่สนใจเลย  มันรู้ปั๊บ...มันวางเลย  เพราะมันรู้แล้วว่าที่สุดของมันคือทุกข์ ที่สุดของมันคือความดับไป จึงไม่ใส่ใจเลยที่จะเข้าไปมี หรือเข้าไปเป็น

มันจะเป็นความรู้สึกภายในใจล้วนๆ เลย  ...ไม่ใช่เป็นไปด้วยเราคอยบอกคอยสอนมันนะ ไม่ต้องบอกต้องสอนเลย  ด้วยญาณทัสสนะที่จิตเขาเกิดความแจ่มแจ้ง เห็นอยู่ภายใน รู้อยู่ภายในอย่างนี้  เนี่ย สุดท้ายมันแค่นี้  มันจะเกิดความยอมรับโดยปริยาย  ว่ามันกระทบอะไร มันยื่นไม้ยื่นมือออกไป จะไปคว้าจะไปจับอะไร  พอสติรู้เท่าทันปั๊บ...หลุด  จะหลุด จะวาง จะปล่อย

แต่เดี๋ยวนี้ขณะนี้ของลักษณะการเจริญสติของพวกเรานี่ รู้...เห็นอาการ...มันไม่ปล่อย มันยังไม่ปล่อยหรอก  ก็ยังทุกข์อยู่ ก็ยังติดอยู่ ก็ยังข้องอยู่ ...ก็เรียนรู้กับมันไป  ฝึกอบรมจิตไปเรื่อยๆ  อบรมด้วยสตินะ ไม่ต้องอบรมด้วยการกระทำ ด้วยความคิดนะ  อบรมด้วยสติ คือการระลึกรู้เท่าทัน เห็นอาการตามความเป็นจริงอยู่เป็นนิจ นี่คือเรียกว่าเป็นการอบรมจิตแล้ว

อบรมจิตให้เกิดปัญญา อบรมจิตให้เห็นตามความเป็นจริง  โดยไม่หนี ไม่แก้ ไม่สร้าง ไม่รักษา ไม่ประคอง ไม่ผลัก ไม่ดึง นี่เห็นมั้ย  เพราะนั้นถ้ารู้ไปเรื่อยๆ สติเป็นกลางไปเรื่อยๆ นี่  มันจะเป็นสติที่ไม่ประกอบด้วยการกระทำใดๆ เลย  คือเป็นสติที่รู้โดยไม่มีเจตนา 

สติที่รู้โดยไม่มีเจตนามากขึ้นเรื่อยๆ นี่ มันจะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติที่แท้จริง  ถึงจะเรียกว่าเป็นสัมมาสติ จะเริ่มเป็นสติในอริยมรรค  นี่สติตัวจริง ไม่ใช่สติรอง ไม่ใช่สติเทียม ไม่ใช่สัมมาที่เป็นหยาบๆ  แต่เป็นสัมมาสติจริงๆ เป็นสติที่รู้ที่ใจเลย ขณะแรกที่ใจมีอาการเลย  ตรงนั้นถึงจะเรียกว่าสัมมาสติ ที่จะเป็นปัจจัยให้เข้าสู่อริยมรรคโดยตรง

แต่พวกเราก็ต้องประกอบเหตุปัจจัยแห่งการระลึกรู้เท่าทันนี่ บ่อยๆ เป็นนิจ ต่อเนื่อง  อย่าเบื่อ อย่าท้อถอย อย่าปล่อยให้มันหลงนานเพลินนาน  ไปอยู่กับอารมณ์ภายนอกนาน ไปจมอยู่กับความคิด ไปจมอยู่กับอดีต ไปเพลินกับอนาคต ไปเพลินกับการกระทำอะไรหลายๆ อย่าง ... แล้วมันจะค่อยๆ เป็นปัจจัยสะสมให้เกิดสัมมาสติขึ้นมาเอง

เพราะนั้น อิริยาบถกาย อิริยาบถของใจ ... ทุกอิริยาบถมีความสำคัญหมด ทำได้หมด ไม่ต้องไปเลือกอิริยาบถ  เลือกแค่เป็นปัจจุบันเท่านั้น ...อย่าเลือกว่าอันนี้ได้ อันนี้ไม่ได้  จะอยู่ในท่าทางไหน ลักษณะของจิตเป็นอย่างไร ต้องรู้ได้ กำหนดได้ เห็นได้  ไม่ใช่จะเลือกแต่สภาวะใดสภาวะหนึ่ง หรืออาการใดอาการหนึ่ง ถึงไปเจริญสติแล้วดี

มันดีหมด ใช่หมด ...ไม่ใช่อย่างเดียวคือไม่รู้ ไม่รู้ตัว อย่างนี้ผิดหมด จะทำอะไรก็ผิดหมด  จะนั่งสมาธิสักชั่วโมงก็ผิดถ้าไม่รู้ตัว จะเดินจงกรมสองชั่วโมง-สามชั่วโมง เดินแบบใจลอยไม่รู้เนื้อรู้ตัวหรือไปเพ่งอยู่ที่ใดที่หนึ่ง นี่ผิดหมด  ไปสร้างขึ้นมา ไปควบคุม ไปบังคับ ไปข่ม ไปหน่วง ไปประคอง ไปจงใจ ไปมีเจตนาจะให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง  มันทำให้ความเป็นจริงนั้นเปลี่ยนแปลงหมดเลย

เมื่อความเป็นจริงเปลี่ยนแปลงหมด มันไม่มีทางหรอกที่จะเห็นตามความเป็นจริง  มันจะถูกจิตหลอก ...อาการพวกนี้จะหลอกเรา  ถ้ายังไม่เข้าใจ เราจะถูกหลอกและยินยอมให้อาการพวกนี้หลอกเราไปเรื่อยๆ  จนหลงน่ะ หลงอาการของจิตน่ะ  จิตรู้เลยกลายเป็นหลงรู้ไป หลงไปกับสิ่งที่ถูกรู้ไป

จิตไหล จิตหลง เผลอเพลินไป ...กลับมารู้ แล้วรู้ให้ชัด รู้แล้วไม่ไป รู้แล้วไม่มาไหน ... ลังเล สับสน วุ่นวาย ไม่มีอะไรให้รู้ หรือไม่รู้จะรู้อะไร  ให้กลับมารู้กาย กลับมาเห็นกาย  ยืนเดินนั่งนอน อิริยาบถไหน เคลื่อนไหวก็รู้เคลื่อนไหว นิ่งก็รู้ว่านิ่ง  รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปคิดอะไร อย่างน้อยให้มันมีอะไรเป็นที่รู้ เป็นกายปัจจุบัน เป็นจิตปัจจุบัน

ยึดหลักอยู่แค่นี้ เอาหลักอยู่แค่นี้พอแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมากกว่านี้แล้ว ให้อยู่ในหลักนี้แหละ  ไม่ต้องกลัวอด ไม่ต้องกลัวจน ไม่ต้องกลัวไปไม่รอด ... อย่าไปเชื่อจิตที่มันจะคอยหลอก มันจะปรุงหาวิธีการต่างๆ มาหลอกเราอยู่เรื่อย มาเสนอแนะเราอยู่เรื่อย มาเป็นข้ออ้างให้เราอยู่เรื่อย

ให้รู้ทันความคิดความสงสัยต่างๆ นานา แล้วไม่ตามมันไป  กลับมาอยู่ในรู้...กายปัจจุบัน จิตปัจจุบัน  ความตั้งมั่น ความมั่นคง ความไม่ส่ายแส่มันก็จะมากขึ้นเอง ... ก็จะมองเห็นทุกสิ่งมันเป็นแค่อาการธรรมดาเท่านั้น  ไม่มีถูก ไม่มีผิด  ไม่มีใช่ ไม่มีไม่ใช่  ไม่มีดี ไม่มีเลว  ไม่มีควร ไม่มีไม่ควร  แต่มีแต่สิ่งหนึ่งที่มันปรากฏอยู่เท่านั้นเอง...ตามอาการ

เอ้า ฟังนานแล้ว ถามได้ อนุญาตให้ถาม ไม่ต้องกลัว ถามได้


โยม – ก็บางทีเวลามันไปชอบอะไรอย่างนี้ แล้วมันก็ดูว่าชอบก็รู้ว่าชอบ แต่มันก็อยากรู้ว่าเราเข้าไปชอบตอนไหน ยังไง มันก็มีปรุงแต่ง

พระอาจารย์ – ก็ดูมันปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ดูมันไปเรื่อยๆ  ไม่ต้องกลัว ดูไปว่ามันอยากจะออก ดูไปแค่นั้น ...แล้วให้ดูอารมณ์ที่มันเข้าไปเสวยน่ะ ดูแล้วได้อะไร เข้าไปทำแล้วได้อะไร พอใจหรือไม่พอใจ ให้เห็นทั้งสองอย่าง

นั่นแหละ รู้มันไปเลย รู้ไปตรงๆ ให้เห็นว่าเมื่อมันเข้าไปเสวยเต็มที่แล้วมันเป็นยังไง  เออ เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้วเป็นยังไง  สุดท้ายมันก็ดับไปน่ะ ...ไอ้เวทนาที่เสวยแล้วไม่ยุ่งอะไรกับมันน่ะ จะรักษามันไว้ขนาดไหนก็ตาม สุดท้ายมันก็ไม่คงอยู่ เข้าใจมั้ย  

ให้มันเห็นตรงนี้บ่อยๆ  เห็นอาการดับไปของสิ่งที่เราทำ...แล้วได้มา...แล้วดับไป เข้าใจมั้ย  จนกว่าจิตมันจะเชื่อ มีปัญญามากขึ้นว่า ทำไปก็แค่นั้นแหละ สุดท้ายก็ดับไป 

แต่ตอนนี้มันยังรู้สึกว่าไม่พอ  เพราะเรายังไม่เห็นถึงขนาดปรารภไปถึงความดับไปของมัน ... คือปรารภแต่ตอนที่ได้มากับตั้งอยู่ เข้าใจมั้ย ... มันชอบตอนนั้นน่ะ  ตอนหา แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ได้มา ... แต่เราไม่ดูถึงที่สุดของมันที่จะเห็นถึงความดับไป

คือถ้าพูดง่าย ถ้าดูไตรลักษณ์นี่  คือมันดูไตรลักษณ์ไม่จบสายน่ะ เข้าใจรึเปล่า  มันดูแค่เกิดขึ้น ตั้งอยู่...เกิดขึ้นตั้งอยู่  ...แล้วมันตรงนี้...ตรงที่ดับไป ตรงหายไป หมดไป แล้วต้องหามาใหม่นี่  มันไม่มีสติเข้าไปเห็นชัดตรงนั้น

เพราะนั้นปัญญามันจึงไม่เต็มรอบ ปัญญาไม่เต็มรอบ คือมันเห็นไม่ตลอดสายของไตรลักษณ์  จิตมันจึงไม่วาง จิตมันก็ยังติดยังข้องอยู่อย่างนั้น  เพราะนั้นสติก็ต้องรู้ให้เห็นตลอดสายด้วยสัมปชัญญะนะ  เห็นรอบ เห็นให้รอบ  ...แต่พวกเรายังไม่เห็นรอบ

คือเหมือนกับตาเรามองนี่ ตาเรามองแค่นี้  เข้าใจคำว่าเห็นรอบมั้ย มันต้องสามร้อยหกสิบองศาน่ะ เข้าใจป่าว ...แต่ครรลองของพวกเรานี่ มันมีแค่มุมมองแค่นี้  เพราะนั้นจิตถ้ามันยังไม่รู้รอบนี่มันยังไม่วางหรอก มันวางไม่ได้

จะรู้รอบได้ด้วยสัมปชัญญะ คือดูให้ตลอดๆ  ได้มาเป็นยังไง เสวยเข้าไปแล้ว อิ่มกับมันแล้วเป็นยังไง  ขี้ออกมารึเปล่า หมดรึเปล่า อย่างนี้  ให้เห็นความดับไป ... เมื่อมันเห็นอย่างนี้บ่อยๆ เห็นความดับไป แล้วมันจะเบื่อ เหนื่อย ในการที่ “แล้วกูจะไปเอามันทำไม”

นี่ จิตจะคลายแล้วนะ จิตจะเบื่อ จะหน่าย  จะหน่ายในการที่ต้องตั้งอาการ ต้องมีการกระทำ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้  จิตมันจะเหนื่อย เบื่อ จะหน่าย  ตรงนี้เรียกว่าจิตจะมีนิพพิทาของมันเอง จึงจะคลายออก

เมื่อนิพพิทาเกิดเมื่อไหร่นี่ มันคลาย ... ไม่รู้จะทำไปทำไม ได้มาก็แค่นั้นแหละๆ  จะดีขนาดไหน จะละเอียดขนาดไหน จะประณีตขนาดไหน จะมีความสุขกับมันขนาดไหน  มันไม่เคยอยู่ได้ตลอดเวลาเลย อย่างนี้  จิตมันก็จะเห็น

แต่ว่าสติพวกเราไม่เต็มรอบ เข้าใจมั้ย  มันไม่เต็มรอบ มันก็จะซ้ำซาก  ความอยากก็ยังซ้ำซากอยู่   อยากได้ อยากมี อยากเสวย  แต่ไอ้ตอนดับไปไม่ค่อยดูน่ะ ใช่มั้ย  มันไม่ทันไง มันไม่เห็นตลอด ... สติมันไม่เต็มรอบ ปัญญาก็ไม่เต็มรอบ มันก็ยังวางไม่ได้  ...มันไม่ใช่ว่าผิดหรือถูกอะไร

ค่อยๆ ดูไปรู้ไป แล้วมันก็ค่อยวาง ...วางด้วยการที่ว่า “เออ ได้มาก็แค่นั้นแหละ อย่างมากก็เสวย แล้วก็ดับไป”  ...มีอะไรไม่ดับ ถามดู ...เคยมีความสุขกี่ครั้งล่ะ  ตอนนี้มันมีมั้ยล่ะ ไอ้ที่ว่าเคยสุขมากกกก พอใจมากกกก ที่ผ่านมาน่ะ  มันยังอยู่ไหมล่ะ เข้าใจป่าว

แต่คราวนี้ว่า เรามาย้อนอย่างนี้ด้วยความคิดคำนึง มันก็เป็นแค่จินตามยปัญญา เข้าใจมั้ย อย่างนี้แค่จินตา นึกน้อมเอา  จิตมันก็ไม่เชื่ออยู่ดี เข้าใจป่าว  แต่มันเป็นการคาดเอา คะเนเอา เป็นการคาดคะเนความเป็นจริง ...แต่จิตก็ยังไม่เชื่อ

มันจะต้องเชื่อตอนเห็นจริงน่ะ  เห็นตรงนี้ ตรงนี้ๆ ไปเรื่อยๆ  ตรงนี้ๆๆๆ ไป ด้วยสติและสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นญาณทัสสนะ  รู้เห็นๆ ตรงๆ ตรงนั้น... ตั้งแต่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัว เต้าขึ้นมา เป็นเสวย เสวยเสร็จกินอิ่ม ขี้ออกมา ขี้หาย จบ...ดับ ... มันก็เห็นซ้ำซากอย่างนี้จนตลอด ตลอด  จิตมันจะเบื่อของมันเอง นิพพิทาญาณจะเกิด

เพราะนั้นตัวนิพพิทานี่ ไม่ได้หมายความว่าไปพิจารณาให้มันตรงข้ามกันแล้วเกิดความเบื่อหน่าย ให้เห็นโทษของความมีความเป็น แล้วจึงเกิดเบื่อหน่ายในการเข้าไปมีเข้าไปเป็น หรือเข้าไปแสวงหา ก็คิดว่าเป็นทุกข์เป็นโทษนะถ้าเรามีหรือเป็นตรงนั้น เออ มันก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา

แต่ไอ้เบื่อหน่ายอย่างนี้มันไม่ใช่ เข้าใจมั้ย  มันจะกลายเป็นเบื่อแบบอารมณ์หนึ่ง แค่ชั่วคราว  แต่เบื่ออย่างนี้จะไม่เรียกว่านิพพิทาญาณ ... นิพพิทาญาณต้องเกิดจากญาณทัสสนะ คือเห็นไปตรงๆ ตามความเป็นจริงเนี่ย ซ้ำซากๆ อยู่อย่างนั้น

แล้วมันก็เห็นว่า “เรา” นี่ หรือจิตอวิชชาตัณหานี่ มันโง่ดักดานในการที่ว่าซ้ำซากในเรื่องไร้สาระ ... ซ้ำซากในเรื่องสาระยังไง ... ก็ไอ้ที่มันคิดว่ามี มันคิดว่าได้ มันคิดว่าอยู่ ... มันกลับเป็นอะไรลมๆ แล้งๆ ทั้งสิ้น
  
สุดท้ายแล้วมันไม่เหลือ ไม่มีอะไร  ทำแทบตายน่ะ อยากได้แทบตาย กว่าจะฟันฝ่า กว่าจะทำมา กว่าจะขวนขวายดิ้นรน กว่าจะตั้ง แล้วเข้าไปเสวย...ปุ๊บ...บางทีแค่เข้าไปนิดเดียวแค่นี้...แล้วก็หายเลย  มันหาสาระอะไรกับมันได้ หาความเป็นตัวเป็นตนอะไรกับมันได้

มันไม่มีตัวมีตนให้เสพ ให้อยู่ ให้ตั้งกับมัน...เป็นวัน เป็นเดือน หรือว่าตลอดเวลาได้เลย  เนี่ย มันเห็นความจริงอย่างนี้ มันถึงจะเกิดความเหนื่อยหน่าย  เหนื่อยหน่ายแล้วก็คลายออกจากการเข้าไปกระทำดูเข้าไป ให้รอบ รู้ให้รอบ


โยม – นี่ถ้าเราดูไป มัวแต่ดูๆๆ มัน มันจะไม่เผลอติดไปกับที่ดูหรือคะ  คือสติมันไม่ทันน่ะฮ่ะ มันดูในชีวิตประจำวัน มันดูได้แป๊บนึงเท่านั้นเอง แต่มันจะไปกับความคิดสักชั่วโมงอะไรอย่างนี้ฮ่ะ

พระอาจารย์ – อือฮึ ... เพราะว่าสติเราไม่ตั้งมั่น  ถ้าสติไม่ตั้งมั่น ยังอ่อน มันจะถูกอาการพวกนี้จูงไปเรื่อยน่ะ  

วิธีทำให้สติตั้งมั่น ฝึกได้ ด้วยการที่กลับมารู้กาย เห็นอิริยาบถของกาย ...อย่าไปดูจิตมาก  ถ้าดูจิตมาก ไหลหมดแหละ เพราะว่าสติเราอ่อน ... จะไปตั้งกับสิ่งที่อ่อนไหวนี่ อาการมันคาบไปหมดแหละ บอกให้เลย  เพราะสติเรายังอ่อน สมาธิเราไม่ตั้งมั่น

เพราะฉะนั้น จับสิ่งที่หยาบ...กาย อย่าทิ้งกาย  กายนี่ พอมีอะไรสงสัย หรือว่าเผลอเพลิน หายไปกับอะไรก็ตาม วุ้บ หมั่นดูกายเลย  ดูกับอิริยาบถของกาย ยืนเดินนั่งนอน  ตั้งมั่นก่อน ตั้งหลักก่อน  กลับมาตั้งหลักก่อน ไม่งั้นหลักลอย


โยม – ตั้งกับกายมันก็นานดี

พระอาจารย์ – ตามกำลังๆ ...  ขอให้มีความใส่ใจ แล้วมันจะถี่ขึ้นมาเอง ถี่ขึ้นมา เป็นปกติกับกายมากๆ เป็นปกติกับกายอย่างมากๆ ... อย่าทิ้ง อย่าไปเอาแต่จิตโดยตรง  

ถ้าจิตโดยตรงน่ะ ส่วนมากไม่ทันหรอก  ดูความคิดก็ดูได้ทั้งวันน่ะ แต่หายไปกับความคิดนะไอ้ดูทั้งวันน่ะ คือมันไม่หยุดเลยน่ะ มันจะไม่หยุดเลย  เพราะนั้นสลับไปสลับมา ดูกายบ้างดูจิตบ้าง ดูจิตบ้างดูกายบ้าง  

แล้วต่อไปมันจะเห็นเป็นเรื่องเดียวกันหมด ไม่ว่ากาย ไม่ว่าจิต ไม่ว่าอารมณ์  มันไม่ใช่ว่าแตกต่างอะไรหรอก ...มันอยู่ในฐานเดียวคือแค่รู้ปกติ  เพราะนั้นสติมันจึงจะไม่อยู่ที่กาย สติไม่ได้อยู่ที่จิต สติไม่ได้อยู่ที่เวทนา สติไม่ได้อยู่ที่อารมณ์  แต่สติจะอยู่ที่รู้ปกติ รู้เป็นปกติ...แต่ไม่รู้ว่ารู้อะไร 


โยม – คือพี่ๆ เขาเป็นคนที่เข้าวัดนี่ เมื่อมากับเขา ก็เลยคิดว่าต้องเอาให้ได้มากกว่ามาเที่ยว ก็เลยมา

พระอาจารย์ – ก็ดี ก็มาฟังเราก็ได้ความรู้ ประดับไว้ เป็นแนวทาง ...เป็นทางที่ไม่มีแนว เป็นวิธีที่ไม่ใช้วิธี  แต่ว่าเป็นสิ่งที่พวกเราต้องไปเรียนรู้กับมันตรงๆ กับกิเลสตรงๆ  

เพราะนั้นการเรียนรู้ด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ นี่ จะไม่เห็นกิเลสนี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวเลย จะไม่เห็นกิเลสนี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เราจะเห็นมันเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ด้วยกันได้น่ะ  

เพราะนั้นการระลึกรู้ การเห็นกับมัน ก็อยู่กันแบบธรรมดา เรียนรู้กับมันตรงๆ  อย่าไปคิดว่ามันดีหรือไม่ดีอะไร มันก็คือธรรมชาติหนึ่งที่แสดงออกมาตามเหตุและปัจจัย  

ส่วนความเห็นว่ามันดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิดนั่น มันเป็นเรื่องของความเห็น มันไม่ใช่ความจริง  เพราะนั้นความเห็นกับความจริงนี่ มันคนละเรื่องกัน

แต่ส่วนมากพวกเรามักจะเข้าไปให้ความเห็น หรือว่าเข้าไปตั้งค่า  ตรงนั้นน่ะพวกเราไม่เข้าใจว่าการเข้าไปให้ความเห็นหรือการเข้าไปตั้งค่านั่นน่ะ...ถ้าพูดอีกทีภาษาท่านเรียกว่าเป็นการ “อุปาทาน”  เข้าไปหมายมั่น ว่านั่นคือนี่ นี่คือนั่น

เพราะนั้นไอ้ความว่าทุกข์จะมากหรือน้อยนี่ มันอยู่กับการที่ว่าเราไปให้ค่ามันมากหรือเปล่า  แล้วเราถือมันมากรึเปล่า หรือเราผูกกับมันไว้แข็งแรงรึเปล่า  ถ้ามากเท่าไหร่ก็ทุกข์มาก ถ้าน้อยก็น้อย ... มันอยู่ที่เราไปให้ค่าหรือให้ความหมายนั่นแหละ  ตรงนั้นแหละคือเหตุให้เกิดทุกข์

เพราะนั้นลำพังไอ้ตัวลักษณะหรือคุณลักษณะจริงๆ หรืออาการของมันจริงๆ น่ะ  มันไม่ใช่เหตุให้เกิดทุกข์ มันเป็นแค่อาการ  ก็คืออาการ 

สงบคืออาการ ใช่มั้ย   ฟุ้งซ่านก็คืออาการ ใช่มั้ย  แต่พอสงบปุ๊บ เราไม่เป็นทุกข์กับความสงบ...เพราะเราชอบ เพราะเราให้ค่ามันดี  เราจึงมีเวทนาที่ดีในการเข้าไปเสวย  แต่พอฟุ้งซ่าน พอรับรู้ปุ๊บ  เรารู้สึกไม่ชอบ เป็นทุกข์มาก...เพราะเราเข้าไปให้ค่าว่าเป็นลบ อย่างนี้

แต่ถ้าเรารู้ด้วยจิตที่เป็นกลางเมื่อไหร่  คือไม่ได้ไปว่ามันคืออะไรหรือให้ค่ามันเปรียบเทียบ  มันก็จะเห็นเป็นว่าสักว่าอาการ ... เพราะฉะนั้นอาการของสงบกับอาการของฟุ้งซ่าน จึงมีค่าเท่ากัน  จิตก็จะรับรู้ด้วยอาการที่เป็นปกติ สติเข้าไปเห็นด้วยอาการปกติ ไม่ได้ว่ามันดี ไม่ได้ว่ามันถูก ไม่ได้ว่ามันผิด อย่างนี้  

มันก็จะให้ค่าเสมอกัน ไม่เปรียบเทียบ ...ก็เป็นอาการหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น  มันจึงไม่เข้าไปผลักดันออก ไม่เข้าไปหน่วงไว้ ไม่เข้าไปทำให้มันมากขึ้นหรือทำให้มันลดลง  แต่ถ้าให้ค่าเมื่อไหร่ เดี๋ยวมีการกระทำแล้ว เดี๋ยวเข้าไปแทรกแซงแล้ว


โยม – ฟังหลวงพ่อแล้ว อยากทำได้ อยากได้สภาวะ

พระอาจารย์ – ให้ทัน ให้รู้ทันความอยาก  รู้จนมันไม่เอาอะไรน่ะ จนมันแบบว่าจะอยู่เฉยๆ อย่างนี้ ไม่เอาอะไร ... ธรรมก็ไม่เอา มรรคก็ไม่เอา ผลก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา  มันจะอยู่ในรู้ของมันอย่างนี้ รู้เป็นธรรมดาอย่างนี้  รู้แบบไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เป็นอะไร  มันจะเกลี้ยง อยู่ที่รู้เปล่าๆ

กลับมารู้จริงๆ น่ะ ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงมันจะเหลือแค่รู้เปล่าๆ รู้ที่ไม่มีค่าอะไรเลย  มันจะอยู่กับรู้ที่เป็นกลาง ... ถึงบอกไงว่าฟังแล้วอย่าจำ ฟังแล้วทิ้งเลย อย่าไปเชื่อ  เราพูดอย่าเชื่อนะ จะเชื่อต่อเมื่อให้จิตเห็นเอง ต้องให้เชื่อตอนที่จิตมันเข้าไปเห็นอาการนั้น ถ้าไม่เห็นอย่าเชื่อ

พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เชื่อเลย  พระพุทธเจ้าบอกว่า ต้องพิสูจน์ทราบด้วยปัจจัตตังเท่านั้น  เคยได้ยินกาลามสูตรมั้ย ท่านเทศน์ไว้สิบอย่างนี่ห้ามเชื่อ พูดไว้หมดเลย ลองไปอ่านดู ศึกษาดู  อ่านจบแล้วจะรู้พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่ออะไรเลย

อาจารย์ก็ไม่ให้เชื่อ ตามเหตุตามผลก็ไม่ให้เชื่อ เขาเล่าว่าก็ไม่ให้เชื่อ เป็นประเพณีก็ไม่ให้เชื่อ เขาพูดเป็นเหตุเป็นผลกันก็ไม่ให้เชื่อ  สุดท้ายลองฟังดูซิ เชื่ออะไรได้มั่ง  เนี่ย ไปๆ มาๆ เชื่ออะไรไม่ได้สักอย่างเลย

นั่นน่ะคือความหมายที่พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่ออะไรเลย  แต่ท่านให้เชื่ออยู่อย่างเดียวคือให้จิตเข้าไปเห็นตามความเป็นจริง ด้วยสติและสัมปชัญญะ ... ดูไปเรื่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ตรงนั้นต่างหากถึงจะเชื่อ  แล้วเวลามันเชื่อ มันเชื่อแบบเชื่อที่ใจ  ใจเข้าไปเชื่อยอมรับเลย ยอมรับเลย

เพราะนั้นมันจะไม่เชื่อตามความจำ ตามความคิด ตามที่ได้ยินมา  แม้แต่ว่าคนพูดนี่จะเป็นอาจารย์  แม้จะเป็นพระพุทธเจ้ามาพูด ท่านก็ไม่ให้ยกจำมาเป็นดุ้นๆ  แต่ท่านให้ฟังพอเข้าใจ แล้วก็ เออ ดูไป ศึกษาไป สำเหนียกไป ตรวจสอบเรียนรู้ไป  

ตรงนั้นต่างหากคือภาคปฏิบัติ ที่ให้จิตเข้าไปเรียนรู้ โดยสติตั้งมั่นเห็นอาการทางกาย ทางใจ ทางจิต ตรงๆ  โดยไม่แทรกแซง อยู่แค่นี้เอง

ส่วนอาการ จะขึ้น-จะลง จะมาก-จะน้อย จะดี-จะไม่ดี...ไม่สนใจ  ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร ไม่รู้อะไรก็ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรก็ไม่เข้าใจอะไร  ยังไงก็ยังงั้น รู้ไปตรงนั้นเลย รู้เห็นอยู่ตรงนั้นแหละ  ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายเกินกว่าสภาวะตรงนั้น

ถ้าอยู่อย่างนี้ อยู่ไม่นานหรอก เดี๋ยวได้เรื่อง ...อยู่ตรงนี้ อยู่ที่นี้ อยู่ไม่นานหรอก เดี๋ยวได้เรื่อง


โยม – ไม่เข้าใจ

พระอาจารย์ – เอ้า ก็ได้เรื่องอย่างที่เราอยากได้ไง  ได้ความเข้าใจ ได้ความชัดเจน  ให้อยู่ตรงนี้บ่อยๆ เท่านั้นเอง  ไม่นานหรอก มันจะหายสงสัย  อย่าตามความสงสัย อย่าออกไป ในอดีตและในอนาคต  ทุกอย่างมันจะแจ้งอยู่ตรงนี้แหละ  

ตรงนี้แหละ ตรงที่ไม่มีอะไรนี่แหละ ตรงที่ไม่รู้อะไรนี่แหละ มันแจ้งอยู่ภายในนั้นแหละ ...ออกนอกนี้ไปจะยิ่งสับสน ออกนอกนี้ไปไกล ยิ่งห่างไกล ออกนอกนี้ไปยิ่งมืดมัว ออกนอกนี้ไปยิ่งเขว ... กลับมาอยู่ที่นี้ ตรงที่รู้ตรงนี้ ตรงที่รู้เฉยๆ  ทุกอย่างจะแจ้งอยู่ตรงนี้แหละ


โยม –  ถ้าดูทีวีนี่ มันก็ทำให้จิตมีการออกไป

พระอาจารย์ – เวลาดูหนังนี่ ให้ดูสองจอ  เข้าใจรึเปล่าว่าให้เห็นสองจอ...จอนอกกับจอใน  ดูให้เป็น  ถ้าดูเป็นน่ะไม่มีปัญหา  คือเหมือนเอากรอบมาวางไว้ตรงหน้าว่าที่เราเห็นนี่คือโทรทัศน์ใบใหญ่ บอกให้เลย ไอ้ภาพที่เราเห็นก็เหมือนกับจอโทรทัศน์นี่ล่ะ

เพราะนั้นเวลาเราดูทีวีนี่จอนึง...แล้วดูใจเป็นยังไงนี่อีกจอนึง  เห็นอาการที่กระโดดไปกระโดดมา  ตรงนั้นแหละ ไม่ต้องห้ามอะไรมันหรอก ให้เห็นจอนอกแล้วก็ดูจอใน เข้าใจมั้ย สองจอ ...ไม่เป็นไร  อยากตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ กระโดดโลดเต้นเชียร์นางเอกเชียร์พระเอก เชียร์มันเข้าไป  ก็ดูไป ไม่ว่าอะไร...สนุกได้ แต่ให้เห็นสองจอ

แล้วก็พอปิดสวิทช์โทรทัศน์ปุ๊บ...จอนอกก็ปิด จอในก็ปิดปั๊บ  เปลี่ยนไปแล้ว ...ให้มันดับไปพร้อมกันนั่นแหละ แล้วก็เรียนรู้   ถ้าไม่ดับให้รู้ต่อ ยังเคียดแค้นตัวร้ายอยู่ เดี๋ยวตอนหน้ามันจะเป็นยังไงวะ  อันนี้อาการต่อเนื่องแล้ว มีอุปาทานสัญญาแล้ว ...ก็เรียนรู้ไป  

เราไม่ห้ามเลยนะอาการ ก็รู้ไป  ดูให้เป็น...สติใช้ได้หมดทุกอาการ.



.................................





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น