วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/7




พระอาจารย์

2/7 (530721B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

21 กรกฎาคม 2553




โยม – พ่อของหนูเขายังไม่เชื่อเรื่องนรก-สวรรค์อะไรอย่างนี้เลยค่ะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ – ไม่เชื่อก็ไม่เชื่อ ... เพราะการปฏิบัติก็ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ก็ได้  ไม่เห็นจำเป็นว่าการปฏิบัติจะต้องอยู่กับว่าจะต้องเชื่อว่ามีนรก-สวรรค์

ให้เชื่อตามความเป็นจริง  มีอะไรเกิดขึ้น จิตมีความรู้สึกยังไง ตรงนั้น ...คราวนี้คือว่ามันต้องเข้าไปเห็นด้วยสติ ไม่ใช่เห็นด้วยความจำหรือความคิด

ส่วนมากคนทั่วไปมันเข้าไปเห็นด้วยความคิด เข้าใจรึเปล่า  ด้วยการพิจารณา คิดเอา คะเน คาด  ด้วยการหยิบยกเรื่องราวมา อย่างนี้  แล้วก็มาพิจารณาไปว่า ความน่าจะเป็น ควรจะทำยังไง ควรจะแก้ยังไง อย่างเนี้ย ...มันจะใช้ความคิดกับความจำมาเป็นตัวแก้ปัญหา ... ซึ่งตรงนี้มันจะไม่เห็น มันจะไม่แก้เข้าไปสู่ความเป็นจริง  

แต่วิธีการแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้า ท่านให้แก้ด้วยสติ เข้าใจมั้ย ... คือให้สติเข้าไปเรียนรู้ เข้าไปเห็น เข้าไปสังเกตอาการตามความเป็นจริงที่มันปรากฏนั้นๆ  แล้วมันจะแก้ปัญหาด้วยแบบอีกแบบอย่างนึง ...คือมันจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการปล่อยวางเลย เข้าใจมั้ย  นั่นคือวิธีแก้แบบของพระพุทธเจ้า  คือแก้แบบไม่มีปัญหาต่อเนื่อง ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ยืดยาว

แต่ถ้าแก้ด้วยความคิดหรือความจำนี่  มันจะเป็นการคะเนเอา คาดเอา แล้วก็เข้าไปทำ  แล้วก็ลองผิดลองถูก เข้าใจมั้ย  ทำแล้วก็ดี หรือทำแล้วไม่ดี  มันก็จดจำ แก้ไขไป  เมื่อเหตุใกล้ๆ เกิดมาใหม่ มันก็คิดใหม่ หาใหม่  สอบทานเอาว่าทำอย่างนั้นได้ผลอย่างนี้ มันน่าจะได้หรือไม่ได้  มันก็ทำตามความรู้ความเข้าใจเนื่องจากความคิดความจำ

คือแก้แบบนี้ มันไม่มีคำว่าเพอร์เฟ็ค เข้าใจมั้ย  ไม่มีคำว่าสมบูรณ์หรือร้อยเปอร์เซ็นต์ได้เลย  เพราะว่ามันจะต้องมีจุดบกพร่องอยู่ตลอด แล้วมันจะไม่สามารถได้อย่างที่ใจเราต้องการเลย ตามความอยากได้ อยากมี อยากเป็น

พระพุทธเจ้าถึงให้แก้ด้วยสติ คือเข้าไปเรียนรู้กับมันตรงๆ โดยไม่ต้องไปยุ่ง เอาความคิดไปยุ่ง เอาความจำไปยุ่ง ... แต่ว่าไอ้นิสัยเดิมของคนน่ะ มันก็ชอบแทรกขึ้นมาด้วยความคิดความจำอยู่เรื่อยนะ ต้องอย่างนั้นมั้ง น่าจะอย่างนี้มั้ง มันควรจะอย่างงั้น เอาแล้ว

แล้วเราจะหลุด หลง กับความเคยชินดั้งเดิมที่มันสะสมมานาน  เอะอะๆ อะไรก็คิด เอะอะอะไรก็เอาความจำ  เอะอะอะไรก็เอาเรื่องคนอื่นมาเป็นบรรทัดฐาน  เอะอะอะไรก็เอาตำรา เอาหนังสือ เอาอย่างนั้นอย่างนี้มาเป็นข้ออ้างอิง เข้าใจมั้ย

ซึ่งมันเป็นปัญญาทางโลกน่ะ ที่ออกมาจากความปรุงแต่ง ออกมาจากความไม่แน่นอนทั้งสิ้น  ออกมาจากทิฏฐิ...ที่ต่างคนต่างมีทิฏฐิมานะ ... ตำราแต่ละคนเขียนมามันยังไม่เหมือนกันเลย ด้วยความเห็น ด้วยตรรกะ  ก็ถือเอารากฐานของตรรกะไม่เหมือนกัน ตรรกะพื้นฐานของอารมณ์ พื้นฐานของสิ่งแวดล้อม  การแก้ปัญหามันจึงไม่ตายตัวได้เลย หรือว่าไม่เพอร์เฟ็ค

แต่พระพุทธเจ้าท่านให้แก้ด้วยสติ เรียนรู้กับมัน  เห็นมันด้วยสติระลึกรู้เท่าทันและสังเกต  แล้วมันจะเกิดปัญญาขึ้นมาที่ว่าจะออกจากปัญหาได้อย่างไร ... สุดท้ายวิธีออกจากปัญหา ผลของการออกจากปัญหาด้วยสติ คือวางเลย อย่าไปยุ่งกับมัน  

เพราะจะเห็นเลยว่า ที่แท้จริงแล้วนี่ ปัญหามันแก้ไม่ได้โดยตรง เข้าใจมั้ย  มันได้แค่ว่าทุเลาลงเท่านั้นเอง ดีที่สุดก็แค่นั้น  เพราะนั้นทำอะไรก็ได้  จริงๆ แล้วก็ทำไปเท่าที่จะทำได้แค่นั้นเอง และไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับการที่คาดผลหวังผลแค่นั้นเอง  

แล้วก็ยอมรับโดยปริยาย  คือทำพร้อมกับปล่อยวาง  เพราะนั้นจึงทำได้หมดแหละ แล้วก็ยอมรับผลได้หมดแหละ  จะออกมาดี จะออกมาครึ่งๆ กลางๆ ออกมาไม่ดี ออกมาแย่ที่สุด หรือออกมาดีเลิศ  มันก็สามารถรับได้  เพราะไม่ได้ตั้งเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะได้รับผลอย่างไร  

เพราะนั้นผลออกมาก็เป็นปกติ เป็นธรรมดา ...เพราะเข้าใจอยู่แล้วว่าโลกนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้  มันไม่ได้ขึ้นกับความต้องการ หรือว่าความดั่งใจของใคร หรือบุคคลใด หรือชนกลุ่มใด  แต่มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัยเสียส่วนใหญ่เป็นหลักเลย ไม่ใช่เราหรือใครเป็นหลัก แค่นั้นเอง

เพราะนั้นมันก็จะอยู่และแก้ปัญหาด้วยการปล่อยวาง ไม่ใช่แก้ด้วยการเอาผลบวกผลลบ ดีที่สุด ถูกที่สุด ... นี่ วิธีแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติ มันก็มีทางออก ... มันออกได้ทุกเรื่อง  

เพราะนั้นจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ อยู่เฉยๆ เลยก็ได้  เพราะว่าไม่ได้หวังผลตายตัว ... ถึงเวลาก็ทำไป มีเหตุให้ทำก็ไป ทำไม่ได้ก็ไม่ทำ  ได้ผลออกมาตอบสนอง ได้แค่นี้ก็...เออ แค่นี้ก็ดีแล้ว อย่างนี้  จิตมันจะวางได้ทุกเรื่องราว ทั้งการกระทำ ระหว่างกระทำ แล้วก็ทำเสร็จแล้ว  เนี่ย ก็เฉยๆ หมด ...ปกติ 

มองเห็นเป็นเรื่องไม่ได้ผิด ไม่ได้ถูก ไม่ได้พิเศษ ไม่ได้เสียหาย ... ก็เห็นเป็นแค่บัญญัติสมมุติที่เขาเล่าว่า หรือว่าเขาตรากันขึ้นมาว่าอย่างนี้ผิดถูก อย่างนี้ได้ผล อย่างนี้ไม่ได้ผล มันก็เป็นแค่สมมุติเขาเล่าว่า เขาเชื่อกัน เขาบอกกัน เราก็...เออ แค่รับรู้ไป  

แล้วก็คอยสังเกตดูจิตมันเข้าไปจับอาการที่มันขึ้นๆ ลงๆ  ได้ดั่งคาด หรือไม่ได้ดั่งคาด  มีอาการยินดียินร้ายหรือเปล่า ... ก็กลับมาเป็นปกติ  เห็นอาการยินดียินร้ายแล้วก็แค่นั้น เพราะว่ามันจะรู้ว่า สุดท้ายมันได้แค่นี้  จะไปทำยังไง จะไปดิ้นกับมันแค่ไหน มันก็ไม่ได้

เพราะนั้นการจะไปแก้นิสัย แก้ความเห็นของบุคคล มันไม่ได้น่ะ ... มันเป็นอาการแค่เราเข้าไปอยากแล้วไปทำ เข้าไปพูด เข้าไปบอก เข้าไปสอนเขา  

ซึ่งมันไม่ใช่แค่มีเหตุปัจจัยด้วยการที่เราพูดเราบอกเราสอนแค่นี้  มันยังต้องมีสิ่งแวดล้อม มีเหตุปัจจัยอีกหลายเหตุปัจจัย ที่จะไปทำความเลิกละ ปรับเปลี่ยนทิฏฐิมานะของเขา ให้เป็นสัมมาขึ้นมา

เพราะนั้นการช่วย ก็ไม่ใช่ไม่พูดไม่บอก  แต่ช่วยแล้วก็ไม่หวัง เท่าที่ได้ ดีแล้วแค่นั้นก็พอแล้ว  ถือว่าบอกกล่าวแล้ว แนะนำแล้ว ... ส่วนการประกอบเหตุปัจจัยของเขา มันเป็นส่วนที่จะเข้าไปปรับสัมมาทิฏฐิของเขาเอง  ค่อยๆ

เหมือนกับเรือใหญ่ หัวเรือใหญ่  กว่าจะให้หันมาได้แต่ละครั้งแต่ละคราวให้เข้ามาสู่ร่องน้ำ ให้เข้ามาสู่วิถีแห่งสัมมาทิฏฐินี่  มันต้องใช้เวลาหมดแหละ  เพราะว่าการเป็นเรือใหญ่มันอุ้ยอ้าย มันบรรทุกของไว้เยอะ มันหนัก  กว่าจะเบนกว่าจะเบี่ยง  มันแบกของหนักน่ะ  ไม่ใช่ง่ายๆ

แต่ไอ้พวกเราๆ นักปฏิบัติที่หันเข้ามานี่ มันก็เป็นเรือเหมือนกัน เรือหนัก  แต่ว่าของมันไม่ค่อยจะมีแล้ว  คือความเชื่อความเห็นอะไรมันเริ่ม มันไม่ค่อยไปให้ค่า หรือว่าไปมีความเห็นอะไรที่ผิดออกไปมากมาย หรือว่ายึดมั่นถือมั่นเกินไปจนเบี่ยงเบน จนกลับมาสู่สัมมาไม่ได้  มันก็คล่องตัวกว่า

แต่ไอ้การคล่องตัวมันก็ยังส่ายแส่ แฉลบไป แฉลบมา อย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง  เพราะว่าสิ่งรอบข้างเรามันกระทบกระทั่งให้เราต้องส่ายแส่ไป 

ต้องทุกข์ทั้งนั้นแหละมันถึงจะหันเหได้ เป็นตัวผลักดันแรงหนึ่งให้กลับเข้ามาสู่การปฏิบัติ  ถ้าไม่เป็นทุกข์ มีความสงบ สำเร็จในทุกเรื่องทุกราว มันก็ไม่ค่อยมาปฏิบัติเรียนรู้เท่าไหร่  ...ต้องให้ทุกข์สอน ทุกข์มันพามา มันก็เกิดปัญญา ...ดีแล้ว

จิตมันธรรมดาธรรมชาติของจิตมันสันโดษอยู่แล้ว มันอยู่คนเดียว มันไม่เกาะเกี่ยวอยู่แล้ว  ไอ้ที่เกาะเกี่ยวน่ะมันไม่ใช่จิต มันเป็นอาการด้วยอำนาจของตัณหาความอยากหรือไม่อยาก  แต่ลำพังธรรมชาติของจิตน่ะ เป็นอันเดียว เป็นจิตดวงเดียวไม่เกาะเกี่ยวผู้ใด เป็นอิสระ


โยม – หลวงพ่อคะ ...ตรงเรื่องจิตแรกยังไงหรือคะ มันเหมือนกับว่า บางทีเราต้องทิ้งอย่างอื่น เพื่อให้ไปถึงจิตแรก

พระอาจารย์ – ไม่ต้องทิ้งอะไร  ไม่ต้องอะไรมากกับจิตแรก  มันจะเห็นจิตแรกได้ด้วยสัมมาสติเท่านั้น คือเป็นสติที่เห็นทันในขณะแรกที่มันเริ่มเกิด  เพราะนั้นไอ้อาการของจิตแรกนี่ คือสัมมาสติ  

ถ้าเป็นสัมมาสติที่เห็นขณะแรกของการเกิดของจิตที่เข้าไปมี เข้าไปเป็น หรือว่าเข้าไปมีอุปาทานกับอาการทั้งหลายทั้งปวงนี่  ตัวสัมมาสติที่เกิดขึ้นนี่ จะเห็นความเกิดดับทันที คือเห็นความเกิดและความดับพร้อมกัน

แต่ถ้ายังมีอาการตั้งอยู่...เกิดขึ้น แล้วก็ตั้ง แล้วค่อยดับ อย่างนี้ไม่ใช่จิตแรก  มันมีอุปาทานออกมาแล้ว ...มันจะต้องเสวยเป็นเวทนาของการตั้งอยู่  ต้องมีเวทนาอุปาทานของการสุขมั่งทุกข์บ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง  แต่ถ้าเป็นจิตที่เป็นขณะแรกที่จะมีอุปาทานนี่ ขณะนั้นน่ะจะเกิดดับเลย เกิดดับๆๆๆ ทันที

แล้วก็ทำไม่ได้  สติตัวนี้ทำขึ้นมาไม่ได้ ดูไม่ได้ กำหนดไม่ได้  แต่ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุปัจจัยเพียงพอ ด้วยมหาสติ หรือว่าสติปัฏฐานที่เราคอยรู้คอยดูคอยอยู่เป็นกลางๆ แล้วคอยสังเกตอาการยินดียินร้ายของการเกิดขึ้น มีสติรู้เท่าทันอาการในปัจจุบันนี่  มันจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสัมมาสติหรือรู้ทันจิตแรก  สัมมาสติมันก็จะเกิดขึ้นเอง ด้วยความเพียงพอของญาณ...ปัญญาญาณ

แต่ถ้าไปกำหนดสติแรก หรือไปกำหนดเกิดดับ  ตรงนี้จะเป็นการบังคับ...กลายเป็นสมถะทันที  จะเข้าไปสู่ความเป็นอรูป หรือกลายเป็นอรูปภพขึ้นมาเลย จะเป็นภพขึ้นมา  แต่ถ้าเป็นสัมมาสติ จะเกิดดับตามความเป็นจริง ภพก็ไม่เกิด ภพก็ดับไป

เพราะนั้นสัมมาสติทำขึ้นไม่ได้ ถ้าทำขึ้นก็ไม่ใช่  แต่มันสามารถทำได้ แต่บางครั้งมันก็หลง เข้าใจว่าเราทำขึ้นได้  นั้นน่ะมันมีเจตนาแล้ว มันมีการกระทำแล้ว  มันกลายเป็นภพขึ้นมาแล้ว กลายเป็นภพว่าง

เพราะนั้นแค่วางจิตเป็นกลาง รู้เป็นกลางๆ รู้เฉยๆ อะไรเกิดขึ้นก็ได้ ไม่ต้องมีเงื่อนไข  มันจะยินดีก็ได้ ยินร้ายก็ช่าง รู้มันไป จนมันเป็นปกติ  แล้วก็อยู่ในอาการปกติ คอยสังเกตเท่าทันอาการที่ผิดปกติ  ตรงนั้นน่ะ  

แล้วมันจะไวขึ้นเรื่อย มันจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสัมมาสติขึ้นมา...ในขณะแรกที่ผิดปกติ ตรงนั้นน่ะ  ถ้าภาษาเราก็เรียกว่าจิตแรก จิตแรกที่เกิดจากปกติมาเป็นผิดปกติ  ขณะแรกที่ผิดปกติ ตรงนั้นแหละ

แต่ความเป็นปกตินี่คือฐาน  ถ้าพูดง่ายๆ คือฐานใจอันหนึ่ง ปกติเนี่ย คือใจปกติน่ะ จริงๆ แล้ว  ไอ้รู้ปกตินี่ คือใจอยู่ในฐานของความรู้ปกติ รู้ธรรมดา  ซึ่งเป็นภาวะใจที่แท้จริงที่มันจะรู้ด้วยอาการปกติ  

แต่มันจะผิดปกติเพราะไอ้สิ่งที่แทรกซึม แอบแฝงอยู่ในใจนี่มันแสดงอาการออกมา เมื่อมันรับรู้อารมณ์  เมื่อมันรับรู้อาการที่ผ่านมาทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรืออารมณ์ ความคิด ความจำ ธรรมารมณ์ภายใน

ไม่ต้องคิดอะไรมาก รู้มันไป ดูมันไป  ดูอาการที่รู้สึกของเรา กระทบของเรา ปฏิกิริยาของเรา ไม่ต้องไปคาดหวังผลอะไร

(ต่อแทร็ก 2/8)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น