วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/9 (1)







พระอาจารย์

2/9 (530727)

27 กรกฎาคม 2553

(ช่วง 1)



(หมายเหตุ : แทร็กนี้เป็นแทร็กเดี่ยว แต่ยาวหน่อยค่ะ จึงตัดแบ่งสำหรับการโพสต์เป็นสองช่วงบทค่ะ)

พระอาจารย์ –   ใครว่าป่วย ...เราว่ากันเอาเองนะ

ก็มองให้เป็นเรื่องธรรมดา ... ขันธ์มันเป็นอย่างนี้ มันไม่ได้เป็นยังไงหรอก  เพราะมันเป็นของที่...เขาเรียกว่าเป็นของที่บกพร่องอยู่ พร้อมที่จะบกพร่องอยู่ตลอดเวลา ...มันไม่มีดีกว่านี้แล้ว

เพราะนั้นถ้าเรามอง รับรู้ด้วยอาการที่เป็นกลาง หรือด้วยสติที่ไม่ได้เข้าไปหมายมั่น ไม่ได้เข้าไปมีเงื่อนไขอะไรกับมัน  มันก็เป็นแค่สิ่งหนึ่ง อาการหนึ่งที่ปรากฏ 

ก็เยียวยาไปเท่าที่จะเยียวยาได้  ถ้าเยียวยาไม่ได้ก็ต้องยอมรับด้วยความอดทน แล้วก็เห็นว่ามันต้องเป็นเช่นนี้ มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก ...มันไม่มีดีกว่านี้แล้ว

แล้วก็ถ้ามันไม่ยอมวาง ไม่ยอมละ  ก็ดูอาการที่กระวนกระวาย  ดิ้นรน ขวนขวายด้วยอำนาจของตัณหา ...สติก็ตามดูไปเรื่อย อะไรปรากฏ อะไรดับไป แล้วมีอะไรปรากฏขึ้นมาแทน  ก็เรียนรู้กับสิ่งนั้น เรียกว่ารับรู้ด้วยอาการที่ว่าเป็นกลาง ในทุกขั้นตอนของการปรากฏการณ์ในจิต จนถึงที่สุดของมัน

เมื่อถึงที่สุดของมันเมื่อไหร่นี่  คือว่ารู้ด้วยอาการปกติธรรมดา จนถึงที่สุดของมันแล้วนี่  จะเห็นว่าที่สุดของอาการทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น...ก็คือความดับไป  มันไม่มีอะไร
ทุกเรื่องราวน่ะ 

ดูอย่างนั้นน่ะ รู้อย่างนั้นน่ะ สุดท้ายมันก็จะได้ผลลัพธ์อันเดียวกัน  คือได้เข้าสู่ผลอันเดียวกันที่เป็นสัจจะ  นั่นคือก็ได้เห็นนิโรธสัจจะ...คือความดับไปเป็นธรรมดา

เพราะนั้นด้วยสติ หรือว่าการเจริญองค์มรรคด้วยสติที่เป็นกลาง ปัญญามันก็จะเข้าไปจนถึงที่สุดของมัน ของผล มันก็จะปรากฏผลขึ้นมา...คือดับไปเป็นธรรมดา

แต่ในระหว่างขั้นตอนที่ดำเนินอยู่นี้ มันไม่ใช่ว่าดูครั้งเดียวแล้วจะดับไปได้ หรือว่าดูแล้วมันไม่เห็นดับสักที ...อันนี้ต้องอดทน ก็อยู่ในองค์มรรคไปเรื่อยๆ  อย่าใจร้อน เพราะบางทีเรื่องนี้ดับ เรื่องนี้เกิด เรื่องนี้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

ดูเวทนา...หงุดหงิด รำคาญ ไม่เป็นอย่างใจ  เอ้า ก็เกิดอาการหงุดหงิดรำคาญ ไม่ยอมรับ  พอไม่ยอมรับปุ๊บ ก็ดูความไม่ยอมรับไปเรื่อย  เอ้า เดี๋ยวก็คิดต่ออีก มีอาการปรุงแต่งต่ออีก  ก็ดูอาการปรุงแต่ง รู้ว่ามีอาการปรุงแต่งต่อ ก็ดู ปรุงแต่งแล้วก็ยิ่งหงุดหงิด ก็ดูสลับกันไป

คือมันปรากฏยังไงก็ดูอันนั้น จนกว่ามันจะหมดเหตุปัจจัยของมัน ...ที่สุด มันก็จะบอก แค่นั้นเอง ไม่เห็นมีอะไร แล้วมันก็อยู่ในความเป็นปกติ

แต่ปกติไม่นาน เดี๋ยวมันก็แลบออกมาอีก แลบออกมาเป็นความปรุงแต่งต่ออีก หมายมั่นอีก หมายมั่นอนาคตอีก เมื่อไหร่จะหายวะ’  เนี่ย เอาอีกแล้ว เริ่มอีก...ก็ดูใหม่ สติก็ตั้งใหม่ อย่างนี้  ...สติก็เป็นผู้เฝ้าระวัง สังเกตการณ์

สังเกตการณ์เพื่ออะไร ...เพื่อให้เป็นกลาง เพื่อไม่ให้กระโจนเข้าไปเสวยตามอาการนั้นๆ  นี่ เรียกว่ามันพร้อมที่จะไปสร้างภพใหม่แล้ว  แล้วถ้าไม่มีการเท่าทัน มันก็จะเข้าไปมี เข้าไปเป็นกับอาการนั้นๆ ...ไม่ว่าดี ไม่ว่าร้าย ไม่ว่าสุข ไม่ว่าทุกข์  มันจะเข้าไปทันที

ทั้งๆ ที่อาการนั้นน่ะ ถ้าตามความเป็นจริงแล้วนี่ อาการคืออาการ ... เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร เขาไม่ได้ว่าเขาดี เขาไม่ได้ว่าเขาไม่ดี  กายก็ไม่ได้บอกว่าเขาดี เวทนาก็ไม่ได้บอกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

เวทนาคือเวทนา ก็คืออาการหนึ่ง  ตึงๆ ไหวๆ ขยับไปขยับมา แน่นๆ อะไรอย่างเนี้ย  มันก็เป็นอาการ  แต่เราเข้าไปเรียกว่าสุขบ้าง ทุกข์บ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างในอาการนั้นๆ ...คือมองไม่เห็นเป็นเรื่องธรรมดา

มันก็เกิดเป็นบัญญัติ เกิดเป็นสมมุติ เกิดเป็นความจำ เกิดเป็นความคาดคะเน  เห็นมั้ย มันจะต่อเนื่องออกมาทันที ถ้าเราเข้าไปโดยที่ว่าไม่รู้ด้วยความเป็นกลางหรือว่าไม่รู้ด้วยสติ

เพราะนั้นสติจะเป็นตัวเท่าทัน...การเข้าไปร่วม เข้าไปผูกพัน เข้าไปคาด เข้าไปหมายมั่น เข้าไปทำให้เพิ่ม เข้าไปทำให้ลด เข้าไปทำด้วยการแทรกแซงต่างๆ นานา

เพราะธรรมชาติของกิเลสมันชอบแทรกแซง  มันไม่ยอม เพราะมันตั้งเป้าเอาไว้  กายต้องเป็นอย่างนี้นะ...มันชอบ ถ้าเป็นอย่างนั้น...มันไม่ชอบ  เพราะมันจำได้ว่าเคยเสวยกับเวทนาสบายๆ หรือไม่มีอะไร แล้วมันจำ...เป็นอุปาทานเลยว่าต้องเป็นอย่างนี้  มันก็เกิดความผูกพัน ยึด  มันก็ยึดสุข...ทุกข์ไม่เอา

แต่คราวนี้ว่ากายตามความเป็นจริง มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของความปรารถนาของเราหรือของใคร  บทเขาจะเป็นเขาก็เป็น บทเขาจะหายเขาก็หาย มีอะไรมั้ย ... แต่เรานี่ชอบมีปัญหากับเขาอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้ก็ต้องเท่าทัน สติเท่านั้นที่จะเข้าไปเท่าทัน  

แต่บางครั้งบางคราวเราก็ชอบคิด โดยเข้าใจว่าพิจารณาไปแล้วมันจะวางได้ พิจารณาจนถึงที่สุดแล้ว ให้เห็นตามความเป็นจริงแล้วก็จะวางได้ ...นี่ มันเป็นแค่อุบาย  การคิดหรือการพิจารณามันแค่น้อมไประงับการเข้าไป หรือการทะยานออกไปเป็นครั้งคราว ชั่วคราว ...แต่ไม่สามารถจะละความหมายมั่นได้โดยตรง

จะละความหมายมั่นได้โดยตรงด้วยการที่ว่า...สติและสัมปชัญญะที่เข้าไปเห็นด้วยความเป็นกลาง แล้วเห็นว่ามันเกิดขึ้นของมันเอง ตั้งอยู่ของมันเอง แล้วก็ดับไปของมันเอง ... เพราะนั้นจะไปคิดเอาว่ามันตั้งเอง เกิดเอง ดับเอง ... มันเป็นแค่ความคิด มันยังวางไม่ได้

มันจะวางได้ ต้องเข้าไปเห็นตามความเป็นจริง ...เข้าไปเห็นตรงๆ แล้วจิตจึงจะเกิดการยอมรับ ...ตรงนี้เรียกว่าภาวนามยปัญญา  ไม่ใช่แค่การพิจารณาพอมาระงับ ดับชั่วคราว เดี๋ยวก็เกิดขึ้นใหม่อีก

ถ้าพิจารณาแล้วมันระงับนะ พอเกิดขึ้นใหม่...สังเกตดู ลองพิจารณาใหม่มันจะไม่ระงับแล้ว บอกให้เลย มันจะมีช่องออกไปอีกช่องหนึ่งของมันอยู่ ความปรุงแต่งอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้อย่างนั้น  เอาแล้ว เริ่มฟุ้งซ่านว่า ทำไมเมื่อกี้พิจารณาได้ ครั้งที่แล้วพิจารณาได้ ทำไมคราวนี้พิจารณาแล้วมันไม่วางวะ

สงสัยนะ สงสัยใหม่อีกแล้ว จะเริ่มสงสัยใหม่แล้ว วิจิกิจฉาเกิด .. พอวิจิกิจฉาเกิดปุ๊บ มันจะดิ้น หาทางแก้ โดยคิดว่าปัญญาเราอ่อน ปัญญายังไม่พอ ยังทำน้อยไป ...คราวนี้เลยเอาใหญ่เลย หาทางทำอะไรขึ้นมาเลยนะ  

ถ้าเป็นอย่างนี้...ถามว่ามันจะจบไหม เข้าใจมั้ย ... แต่พวกเราก็ยังมีความคิดที่ฝังอยู่ลึกๆ ว่าเรายังพิจารณาไม่พอ ยังไม่พิจารณาถึงที่สุด มันเลยต้องเป็นอย่างนี้  ก็ทำต่อไป พิจารณาต่อไปอีกๆ

ยิ่งพิจารณาน่ะ  ยิ่งคิด...ยิ่งออก ยิ่งคิด...ยิ่งออกๆ  ออกไปหา...ออกไปหาความรู้ ออกไปหาความเข้าใจ ออกไปหาตามบัญญัติและสมมุติ ...แต่ไม่กลับมาเห็นตามความเป็นจริง เข้าใจมั้ย  มันจึงต่างกันนะ จินตามยปัญญากับภาวนมยปัญญา

การที่เรียกว่าภาวนามยปัญญาคือการเข้าไปเห็นด้วยปัญญาโดยตรง คือเห็นตรงๆ ตามอาการ ... จะรับได้-รับไม่ได้ คือดูอาการนั้นเลย แล้วก็เสวยกับมัน ด้วยความไม่พอใจนั่นแหละ ด้วยความไม่ได้ดั่งใจนั่นแหละ ด้วยความที่เห็นว่าดูกี่ทีๆ มันก็ไม่ยอม ดูกี่ทีมันก็ยังยึด ...ก็รู้ว่ามันยังยึดอยู่

ดูมันเข้าไป มันไม่ยึดจนตายหรอก บอกให้เลย เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน  พอมีอะไรปุ๊บ ให้สังเกตดู  ตรงที่เราเห็นตามตรง เห็นตามความเป็นจริงไปตามลำดับของมัน...ของปรากฏการณ์ในจิตนั่นแหละ  มันจะเห็นความแปรเปลี่ยนของมันเอง มันไม่มีอะไรคงอยู่หรอก สังเกตดูไปเรื่อยๆ

อย่างเวทนา ...แม้กระทั่งดูต่อหน้าต่อตา มันยังขึ้นๆ ลงๆ เลย ...ขณะที่ปวดน่ะ มันไม่ใช่ว่าปวดดดด ตลอดเวลา ...มันก็ปวด เดี๋ยวมันก็ซานิดนึง เดี๋ยวก็ปวดอย่างนี้ เห็นมั้ย เราจะเห็นความไม่เที่ยงแปรปรวนของมัน

และการที่แปรปรวนของมันนี่ ไม่มีใครบังคับมันเลย ไม่มีใครสั่งการมันเลย มันเป็นอิสระในการที่มันจะขึ้นหรือมันจะลง  มันไม่ได้เนื่องด้วยใครคนใดคนหนึ่ง หรือว่ามันเป็นตัวเป็นตน หรือใครจะไปทำให้มันเป็นหรือไม่เป็นอะไร ... แต่มันจะเป็นไปตามเหตุและปัจจัยของเขาเอง


โยม –  เวลาที่พิจารณาทุกขเวทนาอย่างนี้ค่ะ แล้วพอถึงเวลาที่มันดับไป แล้วมันเหมือนเรานิ่งๆ นิ่งไปสักพักนึง มันก็จะเกิดอาการอื่นขึ้นมาอย่างนี้นะเจ้าคะ  แล้วทีนี้ไอ้ตัวที่เป็นทุกขเวทนานี่มันดับไปแล้ว ทีนี้เราพิจารณาไป กลับรู้สึกว่า เอ๊ะ อาการอื่นเข้ามา ทำไมไอ้ความทุกข์อันแรกที่...อย่างสมมุติปวดอย่างนี้ฮ่ะ ปวดจนมันชา มันหยุดไปแล้ว แล้วมันก็นิ่งๆ สักพักนึง เดี๋ยวมีอาการคิดอย่างอื่น ไอ้ตรงทุกข์นี่หายไป ...แล้วอย่างนี้เราจะเกิดปัญญาจริงๆ ได้ยังไงเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  อ้าว ก็คิดต่อก็รู้ต่อว่ากำลังคิด

โยม –  รู้ ก็ให้สักแต่ว่ารู้ตรงนั้นหรือเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เออ มันดับไปแล้วก็ดับไป


โยม –  มันเหมือนกับว่าเราไปติดสัญญาว่า เออ ไอ้อย่างนี้นะเรียกว่าแบบนี้ ดี ชั่ว หรือว่าอาการทุกข์-สุข อะไรอย่างนี้ แต่เหมือนกับเราไม่ได้รู้จักใจน่ะเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  มันชอบรู้คิด

โยม –  ใช่  รู้คิดเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าคิดต่อ ... ก็รู้ว่ากำลังคิด แค่นี้คือปัญญา

โยม –  เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ปัญญาแปลว่า เห็นตามความเป็นจริง  อะไรปรากฏอยู่แล้วเห็นมั้ย รู้มั้ย

โยม –  รู้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ เรียกว่าปัญญาแล้ว ... ปัญญาไม่ใช่ว่ารู้เรื่องอะไร

โยม –  อ๋อ รู้ตามที่มันเกิดขึ้น

พระอาจารย์ –  เออ ...นั่งอยู่รู้มั้ย

โยม –  รู้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เนี่ย เห็นตามความเป็นจริงแล้ว เห็นความเป็นจริงของกายขณะปัจจุบันแล้ว ว่ามันอยู่ในอาการนี้ ...เพราะนั้นไม่มีความรู้อะไรเลยใช่รึเปล่า

โยม –  ใช่

พระอาจารย์ –  เห็นเฉยๆ ใช่มั้ย

โยม –  เห็นเฉยๆ

พระอาจารย์ –  ไม่เห็นมันว่าอะไรเลยใช่มั้ย

โยม –  ใช่เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละกายตามความเป็นจริง


โยม –  แล้วอย่างเราภาวนาไปแล้วนิ่งนานเกิน

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่านิ่ง

โยม –  แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากจะถอนขึ้นมา จะถอนยังไงให้เราคลิก...ดึงให้มันถอนออกมาเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปทำ

โยม –  ไม่ต้องทำ ...ก็นั่งนิ่งๆ ไปอย่างนั้น

พระอาจารย์ –  อยากนิ่งก็นิ่งไปสิ

โยม –  เจ้าค่ะ  พอนิ่งแล้วรู้สึกเหมือนนานเกินอย่างนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่ากำลังคิดว่าจะถอน

โยม –  อ๋อ ก็ไม่ผิดอะไรใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ผิด ก็ดูไป

โยม –  ดูว่ามันกำลังคิดว่าจะถอน

พระอาจารย์ –  ดูอาการที่มันกำลังมีอะไรเกิดขึ้น...ให้รู้  นั่นเรียกว่าปัญญาเห็นตามความเป็นจริง ...แล้วมันจะแยกการกระทำ ระหว่างขันธ์กับจิตออกจากกัน ...เราน่ะชอบไปยุ่งกับขันธ์ บอกให้เลย ใช่ป่าว

โยม –  ใช่เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  มันจะนาน มันไม่นาน...มึงมาเกี่ยวอะไรกับกูนักหนา

โยม –  (หัวเราะกัน) เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  แล้วไปยุ่งอะไรกับมัน  เข้าใจมั้ย ...เพราะเราไปคาดถึงอนาคต

โยม –  แล้วอย่างเราจะผละออกมาเลย ก็ไม่ผิดใช่มั้ยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ผิด...ก็มันบอกมั้ยว่ามันผิด (หัวเราะกัน) มันเคยบอกมั้ยว่ามันผิด ...ใครบอก

โยม –  (หัวเราะ) เราคิดเอง

พระอาจารย์ –  เออ เพราะนั้นไอ้ตัวปัญหาทั้งหมดน่ะคือ “เรา” ...ขันธ์เขาไม่มีปัญหา เขาจะอยู่ข้ามวันข้ามวันก็...เรื่องของกู มึงจะมายุ่งอะไรกับกู ใช่ป่าว

โยม –  ใช่เจ้าค่ะ 

พระอาจารย์ –  เขาก็ไม่ได้บอกว่าเขามีความสุข เขาไม่ได้บอกว่าเป็นทุกข์ ... “เรา” น่ะว่าเองนะ ...เก่งเกินไปน่ะ รู้เกินไปน่ะ  ไปรู้เกินไป  

เข้าใจว่ารู้เกินไปมั้ย รู้เกินจริง รู้ด้วยความหมายมั่นว่า ถ้าอย่างนี้ไม่ดีนะ ถ้าอย่างนี้มันจะดีนะ   


โยม –   คือ เราอยากดี 

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะคืออุปาทาน เข้าใจมั้ย เข้าไปมีอุปาทานต่อขันธ์ ... ขันธ์คือขันธ์

โยม –  เจ้าค่ะ 

พระอาจารย์ –  เห็นขันที่วางนั่นมั้ย 

โยม –  เห็นเจ้าค่ะ   

พระอาจารย์ –  เขาวางไว้เฉยๆ ใช่ไหม 

โยม –  ใช่

พระอาจารย์ –  เขาไม่ได้มีปัญหาอะไร    

โยม –  ใช่  

พระอาจารย์ –   แม้แต่โยมไปหยิบมาแล้วก็เอาไปใช้ประโยชน์หรือไม่ใช้ประโยชน์ เขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป เข้าใจมั้ย 

เขาไม่ได้มาบอกว่า “อย่ามายุ่งกับกูนะ อย่ามาทำอะไรกับกูนะ กูจะต้องเป็นยังงั้น มึงจะต้องเป็นยังงี้” เขาไม่ได้ว่าอะไร ...ก็แล้วแต่ว่าอะไรจะพามันไป 

แต่ "เรา" น่ะชอบพามันไป แล้วก็เลยเข้าใจว่าไอ้ขันและขันธ์นี้มันเป็นของกู เพราะเราเคยพามันไปได้

โยม –   ใช่ 

พระอาจารย์ –  ขันมันก็บอก มึงเกี่ยวอะไรกับกู ขันคือขัน (หัวเราะกัน) มึงมาว่ากูเป็นของมึงได้ยังไง  ใช่ป่าว

โยม –   ใช่เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  แต่เราชอบไปว่าเขาเป็นของเราหมด ...คืออะไรที่จิตเข้าไปรับรู้  มันเข้าไปใส่ อะโพสโตรฟี่เอส (’s) เป็นเจ้าของทันที

เพราะนั้นปัญญาคือให้เห็นตามความเป็นจริงว่า นี่ เอาอีกแล้วๆๆๆ ไปยุ่งกับมัน...เอาอีกแล้ว   

โยม –  เจ้าค่ะ    

พระอาจารย์ – เห็นอย่างนี้บ่อยๆ มันจะเริ่มถอน ถอยออกมาจากขันธ์  ไอ้ที่ถอยออกมาคือ ถอย...ละอุปาทาน  ส่วนขันธ์จะดี ขันธ์จะร้าย...ไม่เกี่ยว  

จนถึงที่สุดคือถอนอุปาทานจนหมดสิ้นปุ๊บนี่ เห็นขันธ์ดับไปต่อหน้าต่อตา ก็มอง...รู้ด้วยความเป็นธรรมดา ไม่ได้ดีใจ ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้ตกใจ ไม่ได้ตื่นเต้น ไม่ได้กังวล ไม่ได้อาลัย ไม่ได้อาวรณ์ ก็มองเห็น... เออ มันเป็นอย่างนี้เหรอ เออๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ 

เห็นมั้ย คือรับรู้ด้วยจิตที่เป็นธรรมดา แล้วปกติ  นั่นคือเรียกว่าเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง...แล้วยอมรับความเป็นจริงของขันธ์ที่เป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์โดยไม่มีข้อแม้  

แต่ให้ขันธ์แตกดับตอนนี้ ... เอาเลย ดูนะ ลองคิดว่าจะตายตอนนี้แล้วเป็นยังไง ...เห็นอาการดิ้นมั้ย เห็นอาการกลัวมั้ย เห็นอาการไม่อยากมั้ย เห็นอาการไม่ยอมรับมั้ย ...นี่คืออุปาทาน นี่คือความโง่ นี่คือมิจฉาทิฏฐิ นี่คือความไม่รู้จริง นี่คือการไม่ยอมรับความเป็นจริง

ก็ต้องมาเรียนรู้ ...มีก็มี ติดก็ติด ยึดก็ยึด รู้ตรงๆ ไป  ดูว่า...ยึดแต่ละครั้ง ผลมันคืออะไร...ทุกข์   ยึดอีก...ทุกข์อีกๆๆ  โง่นักก็ทุกข์เข้าไป ... ให้จิตมันเรียนรู้อย่างนั้น มึงไม่วางมึงก็ทุกข์ไปสิๆ เอ้า ยึดอีกทุกข์อีก

จนกว่ามันจะยอมรับ จนกว่ามันจะเกิดนิพพิทา...เบื่อ แล้วกูจะไปเอาอะไรกับมันนักหนาวะนี่ จะไปยุ่งอะไรกับมันนักหนา  มันจะเริ่มเกิดความรู้สึกอย่างนี้ 

ตรงนี้จิตจะเริ่มปล่อยวาง ปล่อยวางรูปและนาม ด้วยความเห็นและยอมรับตามความเป็นจริง...ว่ายุ่งเท่าไหร่ก็ทุกข์เท่านั้น ยุ่งมากทุกข์มาก ยึดมากทุกข์มาก ยึดน้อยทุกข์น้อย ไม่ยึดเลยไม่ทุกข์ เออ เอาดิ

มันต้องเห็นอย่างนี้ แล้วมันจะเกิดการเปรียบเทียบอย่างนี้ ... เห็นเวลาที่เราไม่ยุ่งกับขันธ์ อยู่เฉยๆ ธรรมดาแล้วก็ต่างคนต่างอยู่ ...'เออ สบายดี'  ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ความเห็นอะไรเลยนะ แต่มันต่างคนต่างอยู่แล้วไม่เห็นมีอะไร ...ก็สบายดี

แต่พอมีเอ๊อะ...ไปเอ๊อะ ไปอ๊ะ ไปยึดอะไรกับมัน แล้วไปอย่างนั้นอย่างนี้กับมัน ...เอาแล้ว เริ่มเครียดแล้ว เริ่มแข็งแล้ว เริ่มกังวล เริ่มกลัวแล้ว  เนี่ย เริ่มทุกข์ ... สติก็ต้องรู้ นี่กำลังยึด  แล้วดูอาการของเวทนา ทุกข์ อุปาทานทุกข์เกิดแล้ว ...ถ้ายังยึดอยู่ ยังไม่ยอมวาง ก็ทุกข์อีก มากขึ้นไปอีก เข้มขึ้นไปอีก

ให้มันเรียนรู้ แล้วพอเวลาเปลี่ยนไปมันไปรู้อย่างอื่น มันก็จะเห็นอาการที่คลายจากตรงนั้นมารู้ตรงนี้  มันก็จะเห็นทุกข์ดับไป เพราะเราวางจากอาการนั้น

โยม –  เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –   ต้องเรียนรู้อย่างนี้ เรียกว่าภาวนามยปัญญา หรือว่าการเจริญปัญญาโดยตรง ...ไม่ใช่โดยอ้อม ถ้าอ้อมหมายความว่า ยกขันธ์มาพิจารณา เอ้า กาย มีเวทนา เวทนาคืออะไร เวทนามาจากไหน เวทนาทางกายเป็นอย่างนี้ เวทนาทางจิตเป็นอย่างนี้ ...นี่ดูด้วยความคิด ดูแล้วก็คิดตาม 


โยม –   หลวงพ่อเจ้าคะ แล้วอย่างเวลาเราภาวนานี่ เกิดอดีตที่ขึ้นมาในเวลาที่เรานั่งนี่น่ะค่ะ แล้วเราก็ไปพิจารณาอดีตอันนั้น ทำให้เราเกิดความเบื่อหน่าย ...อันนี้คือการยึดมั่นถือมั่น หรือว่าการที่กำลังจะแก้ปัญหาด้วยปัญญาเจ้าคะ

อย่างสมมุติ เราเห็นภาพที่ว่าพ่อแม่เราไม่สบาย ทุกข์ แล้วเราต้องดูแล ก็รู้สึกเบื่อหน่ายในการที่ว่า เออ สังขารก็เป็นอย่างนี้นะ มีเกิด มีดับ มีแก่ มีตาย  ...แต่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราเห็นแล้วเบื่อหน่าย น้ำตาร่วงไหล ไม่อยากเกิดอีกนี่ ตรงนี้มันคืออะไรแน่  คือสัญญาที่เกิดจากความรู้สึกว่า เออ เห็นช่วงที่เขาทุกข์ หรือว่าเป็นสิ่งที่เรานึกคิดได้จากปัญญาของเราเองจริงๆ

ตอนนั้นรู้สึกจะเบื่อมาก เพราะตอนนั้นไปนั่งภาวนาที่วัดน่ะค่ะ ก็จะเห็นภาพตอนที่แม่ป่วย แล้วเราดูแล เรารู้สึกทุกข์แทนเขา แล้วเราก็ปฏิบัติเขาอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่า เออ ชีวิตเป็นแบบนี้นะ เกิดมาแล้วก็ต้องเจ็บป่วย แล้วก็จะต้องตายในที่สุด อย่างนี้ค่ะ  เรารู้สึกเบื่อหน่ายการเกิดแก่เจ็บตาย เบื่อที่จะเกิดมาเป็นคนอย่างนี้ค่ะ ...ไอ้ตรงที่เราคิดอย่างนี้มันคืออะไรกันแน่  

พระอาจารย์ –  ก็คือจินตามยปัญญา คิด แล้วจิตก็น้อมไปตามความคิด แล้วก็เกิดความสลดสังเวช     

โยม –   ใช่เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  เกิดความสลดสังเวช เบื่อหน่าย ... มันก็เป็นอาการนึง ก็เป็นอารมณ์นึง 

โยม –  แล้วตอนช่วงนั้นก็รู้สึกเหมือนชีวิตหดหู่ รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากอยู่ อยากจะไปให้พ้นๆ อย่างนี้ค่ะ  

พระอาจารย์ –  อยากตาย  

โยม – ทำนองนั้นเจ้าค่ะ แต่ตายแล้วไม่อยากเกิดอย่างนี้ฮ่ะ ไม่อยากเกิดแล้ว รู้สึกแบบนั้นว่า เออ เกิดมาก็ทุกข์ทุกที แต่ก็คือรู้ว่ามันยังไม่ใช่ปัญญาอย่างที่ว่า คือว่าปัญญามันจะเกิด เราจะต้องเห็นสภาวะนั้นเป็นธรรมดาก่อนใช่มั้ยเจ้าคะ    

พระอาจารย์ –   อารมณ์อย่างนี้ อาการอย่างนี้ เขาไม่เรียกว่านิพพิทา เขาเรียกว่า “เบื่อ”    

โยม –  เบื่อชีวิต   

พระอาจารย์ –  เออ เบื่อแบบ...กูไม่อยากอยู่กับมึง เบื่อแบบผัวจะเลิกกับเมีย  เกลียดกันน่ะ มันเบื่อ เห็นทุกวันกูเบื่อ เบื่อแล้วไม่อยากอยู่ด้วยกัน เขาเรียกว่าเบื่อแบบผัวกับเมีย ...มันไม่ใช่เบื่อหน่ายคลายกำหนัด เบื่อด้วยนิพพิทาเบื่อด้วยนิพพิทานี่ เบื่อจริง แต่อยู่ได้     

โยม –  เจ้าค่ะ  ต้องอยู่ได้ 

พระอาจารย์ –  ยอมรับมันได้ ...เหมือนกับโยมเบื่อกายน่ะ ถ้าเบื่อกายปุ๊บ ไม่อยากอยู่กับมันก็ฆ่าตัวตายซะเลยสิ อย่างนี้เขาเรียกว่าเบื่อแบบไม่ยอมรับ เบื่อแบบมีโทสะ ...มันก็เป็นอารมณ์หนึ่ง อาการหนึ่งเท่านั้นเอง

แต่ว่าถ้าเบื่อด้วยนิพพิทาปุ๊บ มันจะเบื่อแล้วคลายออก  คือเบื่อแล้วก็คลายออก แล้วก็ยอมรับกับมันได้ แล้วก็มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ...จะไม่เบื่อแบบน้ำหูน้ำตาไหลขนาดนั้น 

อันนั้นมันมีโทสะ แรงผลักดันออกมา ที่ไม่ยอมรับในอาการนี้ ...เห็นแล้วไม่ยอมรับ มันเลยไม่อยากมาเจออีก  เข้าใจมั้ย มันมีโทสะ  ถ้าสังเกตให้ดีนะ มันมีโทสะเจืออยู่ เป็นปฏิฆะอยู่นะ ...มันไม่ใช่นิพพิทาโดยตรง

เพราะนั้นอะไรๆ ที่น้อม หรือว่าพิจารณา หรือว่าสร้างเป็นสังขารจิตขึ้นมา มันเป็นอุบายหมด  คืออุบาย ให้เกิดความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา ...เป็นทิฏฐิที่ตั้งขึ้นมาใหม่แทนทิฏฐิเดิม หรือความเห็นเดิม ซึ่งความเห็นที่ตั้งขึ้นมาใหม่...ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เปลี่ยน  

โยม –  ใช่เจ้าค่ะ   

พระอาจารย์ –  ตอนนี้ไม่สลดแล้ว จะคิดให้สลดก็ไม่สลดแล้ว   

โยม –   เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  มันเป็นความเห็นที่ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเห็นในแง่บวก ไม่ว่าจะเห็นในแง่ลบ มันก็คือมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด...ถ้าพูดแบบไม่เกรงใจใคร

แต่ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิโดยตรง สัมมาทิฏฐิที่ตรงที่สุด...คือไม่มีความเห็น คือมองเห็นเป็นธรรมดา ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นน่ะ อือ มันต้องเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นแค่นี้ ...คือเห็นตามความเป็นจริง มันจะเป็นอย่างนั้น เป็นแค่รับรู้ๆ จะไม่ดีใจ จะไม่เข้าไปเสียใจ จะไม่เข้าไปยินดี จะไม่เข้าไปยินร้าย

ตรงนั้น จิตที่เข้าไปรับรู้ในอาการนั้นจึงเรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ คือรับรู้แล้วพร้อมกับวางอาการนั้นโดยปริยาย โดยทันที ... แต่ไม่ใช่เกิดจากการกระทำ  เป็นผลจากการที่จิตเห็นและยอมรับตามความเป็นจริงของไตรลักษณ์ แล้วมันจะแค่ผ่าน

ดูแม่ตายต่อหน้าก็รับรู้ด้วยอาการยอมรับ ไม่ได้ผิดแล้วก็ไม่ได้ถูก ไม่ใช่ดีแล้วก็ไม่ใช่ไม่ดี  แต่มันเป็นอย่างนี้ ...นี่คือจะรับรู้ด้วยจิตที่เป็นปกติ คือจะไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้นออกมา เข้าใจมั้ย

แต่อย่างของโยมนี่มันเป็นอุบาย  เราไม่ได้บอกว่ามันไม่ดี ...แต่อย่าไปคิดว่าจะต้องเห็นอย่างนี้ตลอดเวลา  เดี๋ยวจะฆ่าตัวตาย

จริงๆ นะ สมัยพุทธกาลมี เห็นมั้ย เคยอ่านมั้ย .. เจริญกายคตาสติ  พระฟังเทศน์พระพุทธเจ้าบอกว่า เจริญกายคตาสติ ให้ว่าเป็นอสุภะ เป็นของเน่าเปื่อย ... ทีนี้ก็เกิดนิมิต เห็นตัวเองเน่าเปื่อย น่าเบื่อ เน่าเหม็น สกปรก ไม่น่าอยู่ ไม่น่าอาศัย  ก็จะฆ่าตัวตายกันทั้งวัด

จนพระพุทธเจ้าต้องไปบอก...หยุดๆ อย่าไปทำอย่างนี้  พิจารณาไม่ใช่ให้ละสังขารอย่างนี้ ไม่ใช่ให้เบื่อสังขารแล้วไปทำกับสังขารอย่างนี้ ... อย่างนี้ไม่ใช่เรียกว่าไปสุคตินะ มันเป็นเรื่องความหลงไปตามทิฏฐิที่เกิดขึ้น ด้วยความไม่มีปัญญา

ไปเกิดความยึดมั่นถือมั่นในความเห็น ในเวทนาขึ้นมาอีกแล้ว  คือไปละทิฏฐิหนึ่งแล้วมาเกิดทิฏฐิใหม่ ...แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า นิพพิทาไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่แบบผัวเลิกกับเมีย เจอกันแล้วก็โกรธ เจอกันแล้วก็รับไม่ได้ เพราะกูเบื่อมึงจริงๆ เข้าใจรึเปล่า

แต่อยู่ด้วยกันโดยสันติ เข้าใจคำว่าสันติมั้ย สงบ ระงับ ...ด้วยความสงบ สันติ และยุติธรรม คือเป็นธรรมที่ยุติต่างหาก เป็นไปเพื่อความยุติ ไม่เข้าไปข้องทั้งในแง่บวกและแง่ลบ  เนี่ย คือความเป็นกลาง  ต้องถือหลักความเป็นกลาง ไม่เลือก ไม่ปฏิเสธ เห็นมั้ย ...ถ้าเลือกเมื่อไหร่ก็สุดโต่ง ถ้าปฏิเสธเมื่อไหร่ก็สุดโต่ง มีสองข้าง...อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค 

ถ้าเลือกว่าใช่ ต้องอย่างนี้ แล้วก็เป็นอย่างนี้...นี่ กามสุขัลลิกานุโยคเกิดแล้ว  แต่ถ้าปฏิเสธความเห็นนี้ ไม่ยอมรับความเห็นนี้...อัตตกิลมถานุโยคเกิดแล้ว ... สุดโต่งทั้งสองข้าง ... แต่กลางคืออะไรเกิดขึ้น...ก็ได้ เห็นยังไง...ก็ได้ ไม่ว่ายังไงทั้งสิ้น

แต่ตอนนี้เรายังละความเห็นไม่ได้...เป็นธรรมดา มันต้องมีความเห็นใดความเห็นหนึ่งอยู่แล้ว ... ก็รู้เฉยๆ อย่าไปจริงจังกับความคิดความเห็น ว่านี่ใช่ นี่ถูก นี่ผิด นี่ต้องเป็นอย่างนี้ๆ ต้องให้มากขึ้นอย่างนี้...ไม่เอา  รู้เฉยๆ มัชฌิมา คือรู้ด้วยความเป็นกลาง

ห้ามไม่ได้ และไม่ได้ห้ามด้วย ไม่ได้ห้ามให้มีความเห็น  มี...ก็มีไปสิ เรื่องของขันธ์ มันจะว่ายังไงก็ว่าไป  ...สติเข้าไปรู้เท่าทัน แล้วไม่ตามมันไป กลับมาอยู่ในฐานที่รู้เฉยๆ เป็นกลาง รู้เป็นกลาง ...ถ้าไปทำให้มันไม่เกิดความเห็น ก็ไม่กลางอีกแล้ว เพราะเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือไม่อยากให้มันมีความเห็น เข้าใจรึเปล่า

ฟังแล้วก็อาจจะงง ...ไปๆ มาๆ ทำไปทำมานี่คือไม่ให้ทำอะไรเลย (หัวเราะกัน)


โยม –  ก็ให้รู้ไปเรื่อยๆ 

พระอาจารย์ –   การปฏิบัติจริงๆ สุดท้าย ถ้าประมวลที่เราพูดทั้งหมดแล้วคือสอนให้ไม่ทำอะไรเลย 

ไอ้ที่เคยทำมาทั้งหมดน่ะ กล้ามั้ยล่ะที่จะไม่ทำน่ะ (หัวเราะกัน) ...กลัวมั้ยล่ะ ที่จะไม่ทำ แล้วกลัวที่จะไม่ได้อะไรน่ะ    

โยม –   คนเราก็ยังเป็นอยู่ คือคิดว่าต้องทำบุญดีกว่าทำบาป  

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ...ถามว่าพระอรหันต์มีบุญหรือเอาบาปไปด้วยมั้ยล่ะ   

โยม –  ไม่เอาอะไรไปเลยเจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  อะไรที่เราต้องการ อะไรที่เราปรารถนา อะไรที่คิดว่ายังเป็นที่พึ่งที่อาศัย ...สิ่งนั้นคือสิ่งที่ต้องละ   

โยม –  เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –   ถึงละไม่ได้ ก็ต้องให้น้อยลง ดาวน์เทรนด์ ไม่ใช่อัพเทรนด์ ไม่ใช่เพิ่มขึ้นๆๆ นะ     


โยม –  แล้วอย่างการที่เราอธิฐานจิตในสิ่งที่ดี มันก็ยังเป็น...  

พระอาจารย์ –  ตัณหา ...ทำบุญก็ตัณหา เหมือนพ่อค้า 

โยม –  หากำไร 


พระอาจารย์ –  จะเอาแต่อานิสงส์น่ะ... ทั้งๆ ที่ว่าอานิสงส์ของทานจริงๆ คือเป็นไปเพื่อความจาโค ปฏินิสสัคโค จนมุตติ แล้วก็อนาลโย  นั่นคือปัจจัยที่เป็นอุบายของการทำทาน เพื่อให้เกิดความสละออกไป


 ต่อแทร็ก 2/9 (2) 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น