วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/4







พระอาจารย์

2/4 (530713A)

13 กรกฎาคม 2553




พระอาจารย์ –  การเกิดแรก ...ถ้าเท่าทันการเกิดแรกนี่นะ จะคุ้นเคยกับการตาย...ตายในจิต ตายจากอารมณ์ ตายจากความผูกพัน ตายจากความหมายมั่น ...ขณะแรกที่มันจะออกมา เกิดมาเป็นอะไร เกิดมารับรู้อะไร เกิดมามีความหมายมั่นอะไรนี่  

ถ้ามันฝึกหรือว่ารู้เท่าทันอาการเกิดแรกอยู่เนืองๆ เป็นนิจนี่ มันจะไม่กลัวตาย  เพราะมันตายเสียแล้ว ตายตั้งแต่ยังไม่เกิด ตายตั้งแต่ก่อนที่มันจะมีความหมายมั่น มีความเข้าไปถือครองอะไร ในอารมณ์ต่างๆ ในรูปในนาม 

เพราะนั้นคนที่ฝึกสติ ดูจิต เจริญปัญญาอย่างนี้ มันจะไม่กลัวตายหรอก  เพราะมันจะเห็นความตายตั้งแต่ยังไม่ทันเกิด ...เพราะชีวิตจริงๆ มันมีแค่ขณะเดียว  คืออายุของรูปน่ะมันก็มีความต่อเนื่องไป แต่ชีวิต..ในความหมายของชีวิตจริงๆ มันมีแค่ขณะเดียว...ขณะแรก ขณะเดียวที่จิตออกมารับรู้ ออกมามีความมีความเป็น ...พระพุทธเจ้าบอกชีวิตสั้น สั้นแค่ขณะเดียว แต่มันต่อเนื่องกันไป

ถ้าเห็นความเกิดความดับในที่อันเดียวแล้ว มันจะไม่กลัวตาย เพราะมันก็ตายเกิดอยู่ตลอดเวลา จิตน่ะ เกิดดับๆๆๆ  ออกมารับรู้แล้วก็ดับไป...ออกมารับรู้แล้วก็ดับไป  เพราะนั้นสติปัญญาคือต้องเท่าทันเข้าไปเห็นอาการนั้นอยู่เป็นนิจ ประจำ แล้วก็จะเห็นว่าชีวิตมันไม่มีอะไร

จริงแล้วชีวิตไม่มีอะไร มันแค่อาการสืบเนื่องต่อไปตามเหตุปัจจัยแต่ละขณะๆ เท่านั้นเอง ...มันจะไม่เกิดอาการเสียดาย ไม่เกิดอาการกลัว มองเห็นมันเป็นธรรมชาติของมัน กลับคืนสู่ธรรมชาติ ... มันก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามอายุของรูปของนาม จิตก็ไม่กังวล จิตก็ไม่ผูกไม่พัน จิตก็ไม่อาลัย เพราะไม่คิดจะมีอะไร เพราะมันก็ดับไปหมดแล้ว จะเอาอะไร

ฉะนั้น การฝึกดูอาการทางจิต อาการทางรูป ทางนามอะไรก็ตาม ...สภาวะต่างๆ นี่ ไม่ได้ดูให้มันมีหรือให้มันเป็นอะไรขึ้นมา ...ดูเพื่อไม่มีและไม่เป็น ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา มันอยากได้อะไรก็ไม่เอา มันอยากเป็นอะไรก็ไม่เป็น มันอยากเห็นอะไรก็ไม่เห็น มันอยากรู้อะไรก็ไม่รู้

หักอกหักใจ ตัดมันซะลงขณะนั้นแหละ ให้มันขาดลงในที่อันเดียวให้ได้ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ยืดยาว ไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้อต่อรอง ...อย่าไปต่อรอง อย่าให้มันต่อรอง 'ต้องอย่างนั้นนะ ต้องอย่างนี้ก่อน ต้องรู้อันนั้นต้องเข้าใจอันนี้ ต้องทำอันนั้นให้ได้ก่อน ต้องมีสภาวะอย่างนี้เกิด' ...ไม่สนใจ

มันจะมาต่อรองยังไงในจิตที่มันออกมาด้วยความอยาก พอรู้ว่าเป็นความอยากเมื่อไหร่นี่...ดับเลย ไม่ต้องเสียดาย ไม่ต้องอาลัย ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่รู้อะไร ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เข้าใจ ไม่เห็นสภาวะอะไร ...ช่างมัน ไม่รู้ ไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น

ให้มันมีความเด็ดเดี่ยวเด็ดขาดอยู่ภายในนั้นน่ะ รู้ตรงไหน...ละตรงนั้น ๆ ละไปเรื่อยๆ ละจนไม่มีให้ละน่ะ ... ออกมาเมื่อไหร่ก็ละ ออกมาเมื่อไหร่ก็ละ  จะจับ จะคว้า จะแสวงหา จะประกอบกระทำ จะมีเจตนา จะเอานั่น จะเอานี่ จะอย่างนั้น จะอย่างนี้ ...พวกนี้เป็นสังขารจิตทั้งหมด

เพราะนั้นไอ้ตัวสังขารจิตที่มันออกมาด้วยอำนาจของอวิชชา มันจะออกมาพร้อมกับตัณหาและอุปาทาน  ให้รู้ไว้เลยว่ามันจะเอาอะไรมาเป็นข้ออ้างก็ตามนี่ มันกอปรด้วยตัณหาและอุปาทานทั้งสิ้น ... รู้แล้วก็วางซะ ไม่ต้องเสียดาย ไม่ต้องกลัวไม่มีปัญญา ไม่ต้องกลัวว่าถ้าไม่เข้าใจแล้วมันจะไม่มีปัญญา

ไม่เอา...ปัญญาก็ไม่เอา ไอ้ปัญญาแบบที่มันคิดเป็นความรู้เรื่องราวอะไรต่างๆ นานา...ไม่เอา ไม่รู้อะไรก็ไม่รู้ มันอยากรู้อะไรก็ไม่รู้ มันอยากเห็นอะไรก็ไม่เห็น ...รู้อยู่ตรงนั้นน่ะ รู้อยู่ในที่อันเดียว

กลับมารู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง จิตมันก็ค่อยๆ เบา ค่อยๆ คลายออกจากความทะยานออกไปหา ไปมี ไปเป็น ไปอาศัยอยู่ตรงนั้น ไปพัวไปพัน จิตมันก็จะเบาไปเรื่อย คลายออกๆ  มีแต่รู้ละ  ไม่มีรู้เอา ไม่รู้ไปไม่รู้มา  รู้อยู่อย่างเดียว รู้อยู่อย่างนั้น

นอกจากนั้นก็ไม่เอา ออกจากนี้ไปก็ไม่เอา ใครจะว่ายังไงก็ไม่สน ใครจะบอกว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ...ไม่เอา รู้อย่างเดียว...รู้แล้วก็ละๆๆๆๆ ละเข้าไป จนไม่มีอะไรให้ละ ก็สบายแล้ว มันก็อยู่ได้ท่ามกลางสรรพสิ่งนั่นน่ะ จิตก็เป็นกลางอยู่ท่ามกลางทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมมัน ภายนอกแล้วก็ภายในที่มันแวดล้อมอยู่

ภายในก็เป็นเรื่องของความจำ ความปรุง ความคิดความจำ  ภายนอกก็รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะต่างๆ นานา  มันก็มีของมัน เท่าที่มันมี  ...แต่จิตมันก็รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่เอา ไม่เข้าไปจับ ไม่เข้าไปต้อง ไม่เข้าไปประคอง ไม่ต้องเข้าไปให้มันเป็นอย่างนั้นหรือให้มันเป็นอย่างนี้ ...มันก็จะอยู่ท่ามกลาง เป็นกลางอยู่ท่ามกลางสรรพสิ่งที่แวดล้อม

จิตมันก็เกิดความเป็นอิสระ เป็นอิสระในการรู้ในตัวของมันเอง มีหน้าที่รู้อย่างเดียว  ขันธ์ก็มีหน้าที่ดำเนินไปของมัน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปๆๆ ... ภายนอกรูปนาม รูปเสียงกลิ่นรส มันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป  เราก็ไม่ไปหยุด ไปตรึก ไปวิตก ไปวิจารณ์ ไปจับมาเป็นอารมณ์

หรือแม้แต่จะความคิดความปรุงก็คิดไปปรุงไป มีความรู้สึกอะไรก็มีไป แต่ก็ไม่ต้องไปยินดียินร้าย  จิตมันก็รับรู้ในอาการที่ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ที่เกิดภายใน มันก็สักแต่ว่า แล้วก็ผ่านไป ๆ ...จิตมันก็เป็นอิสระอยู่ตรงนั้น ขันธ์ก็ดำเนินไป จิตก็เรียนรู้เท่าทัน เห็นอาการนั้นเป็นเรื่องธรรมดา

มองเห็นอะไรเป็นธรรมดาหมด ...ไม่มีอะไรวิเศษ ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรไม่ดี ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีอะไรน่าเสียใจ ...จะมองด้วยจิตที่เป็นกลาง อยู่ด้วยความเป็นกลาง เฉยๆ ธรรมดา ไม่ได้ประหลาดมหัศจรรย์อะไร ไม่ได้เสียอกเสียใจ ดีอกดีใจกับมัน

ต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างแสดงธรรมตามความเป็นจริง ... ขันธ์ทั้ง ๕ ก็แสดงความเป็นจริงของขันธ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปหรือว่าอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ ... ใจก็แสดงความเป็นจริงของใจที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่หมาย  มีหน้าที่อย่างเดียวคือรู้ รู้เฉยๆ

หน้าที่ของใจจริงๆ นี่...รู้เปล่าๆ  มันไม่ได้เลือกด้วยว่าจะต้องรู้อันนี้ไม่รู้อันนั้น  รู้ได้หมด มันยอมรับได้หมด  แต่ว่ามันก็ไม่เคยเก็บอะไรไว้ รู้แล้วปล่อยไป เนี่ย ใจมันก็จะถอนออกจากอาสวะ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

แต่ก่อนที่มันจะถอนออก หรือว่าเป็นอิสระได้ซึ่งกันและกันนี่ มันจะต้องชำระตัณหาอุปาทานออก...โดยการที่ว่าเมื่อมันคอยจะออกไปนั่นออกไปนี่ จะทำอย่างงั้น จะทำอย่างงี้ เนี่ย ต้องรู้ทันมัน ...รู้ทันแล้วก็ไม่ต่อเนื่องกับมัน ไม่ทำตามมัน

มันให้ทำอะไรก็ไม่ทำ มันบอกว่าต้องทำอย่างนี้นะ ต้องวางจิตอย่างนี้ ต้องกำหนดอันนี้นะ ต้องห้ามอันนี้เกิด มันจะบอกอย่างนี้อยู่ตลอด ...ต้องเท่าทัน ไม่หลงไปตามอาการ ไม่หลงไปตามตัณหาที่มันจะมาทุกรูปแบบ ที่มันจะเสนอแนะให้เราต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้

แล้วมันก็มักจะมีการเปรียบเทียบให้ฟัง ถ้าอย่างนั้นดีกว่าอันนี้ ถ้าอย่างนี้ดีกว่าอันนั้น  เมื่อเปรียบเทียบเท่าไหร่ จิตน่ะมันก็เกิดความเห็นที่เลือกว่า อันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่  ถ้ามันเลือกแล้วมันก็จะทำตัวนั้นน่ะ ...ต้องเท่าทันตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เริ่มที่จะเข้าไปหาอะไร หรือว่าเข้าไปประกอบกระทำ

 เพราะนั้นตัวการเข้าไปประกอบกระทำนี่แหละ มันกอปรด้วยเจตนาหรือความอยาก คือตัณหานั่นแหละ  มันก็ก่อให้เกิดเป็นมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม

ถึงบอกว่าต้องหยุดการกระทำให้ได้ ...แล้วก็อย่าไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมมันจะต้องมีการกระทำขึ้นมา หรือว่าต้องทำอะไรขึ้นมา ... การปฏิบัติกลับกลายเป็นว่า จริงๆ แล้วกลับต้องหยุดการกระทำทั้งหมดเลย แล้วก็ปล่อยให้เขาดำเนินไปตามครรลองของจิต ตามครรลองของขันธ์

จากนั้นไปเราก็เอาสติเป็นแค่เฝ้าดู ตามรู้ สังเกตอาการของมันตามความเป็นจริงแค่นั้นเอง ...แต่มันจะมีจิตอีกดวงนึงน่ะที่มันจะสอดแทรกเข้ามาด้วยความไม่จริง ที่จะไปเบี่ยงเบนความเป็นจริงต่างๆ นานา ...ให้ได้เป็นไปตามที่มันมีอุปาทานสุข อุปาทานทุกข์กับมัน  อันนี้ดีบ้าง อันนี้ไม่ดีบ้าง...ต้องเท่าทันอาการพวกนี้

เพราะนั้นอาการเท่าทัน อันนี้มันสำหรับผู้ที่มีสติมั่นคงแล้ว ชำนาญพอสมควร ...แต่เบื้องต้นก่อนที่จะเท่าทันนี่มันจะหลง หาย เผลอ เพลิน พวกนี้  ...มันไม่ต้องพูดถึงการเท่าทันหรือว่าจะไปละ หรือว่าไปหัก ณ ที่จ่าย ... มันยังหักอะไรไม่ได้ มันยังไม่รู้เลยว่ามันไปอยู่ตรงไหน กายก็ไม่อยู่ จิตก็ไม่อยู่ อย่างนี้

เพราะนั้นขั้นต้นคือต้องขยันหมั่นเพียรในการฝึกที่จะน้อมกลับมาระลึกรู้อยู่ที่กายที่จิตอยู่บ่อยๆ เป็นนิจ เนืองๆ ... จนมันไม่ไปไหนอ่ะ ยืนเดินนั่งนอนก็อยู่กับกายกับใจ  ไม่ใช่ต้องไปตามหาสติ กว่าจะตามหาได้ก็กวักมือเรียกแล้วกวักมือเรียกอีก มันไม่รู้ไปไหน  กว่าจะได้กลับมาสักทีนึงนี่ หายไปเป็นวันเป็นเดือนเป็นชั่วโมง

มันต้องใส่ใจมากๆ ในการที่ว่าเอาชนะ หรือว่าเอาความชนะความเผลอความเพลิน...ที่ออกไปกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับความคิด กับความจำ ... มันหลงไปอยู่แค่นี้แหละ ไอ้ตัวหลงของมันน่ะ ไปเพลินอยู่กับอะไรก็มีอยู่แค่นี้

หนึ่งรูป ถ้าเป็นคนน่ะ ...ธรรมดาที่เราใช้ชีวิต ภายนอกนี่มันจะมีสองอย่างที่เป็นเหตุให้มันหลงมาก คือตากับหู สองอย่าง  ไอ้เรื่องลิ้นเรื่องกายนี่ไม่ค่อยเท่าไหร่หรอก เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันไม่ค่อยเท่าไหร่ มันไม่ใช่ผัสสะใหญ่หรือว่าเรื่องสำคัญ  แต่ไอ้ที่หลงมากคือหลงไปทางตา กับได้ยินกับหูกับเสียง สองอย่างภายนอกนะ

ภายในนี่ก็หลงไปกับความคิด เพลินไปกับความคิด อดีตแล้วก็อนาคต ...ส่วนมากมันจะหายไปกับอดีตกับอนาคต แล้วก็เรื่องคนอื่น เรื่องของคน เรื่องของครอบครัว เรื่องของเพื่อน เรื่องของอะไรต่างๆ นี่ มันจะเผลอ เพลินไปกับอาการพวกนี้

ถ้าพอเริ่มปฏิบัติธรรมก็จะฝันหวาน มีอาการฝันหวานไปถึงสภาวะต่างๆ นานา อย่างนั้นอย่างนี้  แล้วก็จดจำไอ้ที่เคยได้ยินได้ฟังมา เขาบอกว่า เขาเล่าว่า อาจารย์บอกว่า  แล้วก็นั่งฝันว่าตัวเองจะได้...ยิ้มแป้นฝันหวาน ...ยังไม่ได้อะไรสักอย่างนึง นี่ สำเร็จในความฝัน จะเอาโสดาบันในความฝันไปก่อน

ก่อนจะได้โสดาบัน ...หลวงปู่ท่านบอกว่า เอาโสดาขวดไปก่อนมั้ย (หัวเราะกัน) ...มันจะได้โสดาขวดมั้ง นั่งคิดนอนคิดอยู่นี่ นั่งคำนึงถึงสภาวะต่างๆ ... ไม่ต้องไปคิดถึงเลยอาการพวกนี้ มันเป็นความปรุงแต่งในจิต สังขารธรรมทั้งนั้น ...กลับมารู้ กลับมาอยู่ที่กายปัจจุบัน จิตปัจจุบัน

มันคิดตรงไหน มันมีอารมณ์ตรงไหน ก็ดูเข้าไปตรงนั้นแหละ ตรงไอ้จุดที่มันคิดนั่นแหละ ... ดูเข้าไปตรงต้นความคิดนั่น ให้สังเกตดูก่อนมีความคิด ระหว่างมีความคิด ก่อนที่จะมีความคิดน่ะ มันเป็นยังไง  พอที่มีความคิดน่ะมันออกมาจากตรงไหน มันอยู่ตรงไหน ตรงนั้นแหละ รู้เข้าไปตรงนั้นแหละ  ไม่ต้องไปตามความคิด แต่รู้ว่ากำลังคิดอยู่ตรงนั้น มันอยู่ตรงนั้น ดูมันเข้าไป

อารมณ์ก็เหมือนกัน อะไรก็ตาม มันเกิดตรงนั้นน่ะ  มันอยู่ตรงนั้นน่ะ ดูเข้าไปตรงๆ นั่นแหละ สติก็เข้าไปจดจ่อ เข้าไปสังเกตอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ต้องไปหาที่อื่น ไม่ต้องไปแก้ที่อื่นเลย มันคิดตรงไหนก็รู้ตรงความคิดนั่นแหละ ภายในนั่นแหละ  เราไม่รู้หรอกที่ตั้งมันอยู่ที่ไหน แต่ว่าที่ตั้งตรงที่มันคิดอยู่ตรงนั้นแหละ

นั่นแหละ เข้าไปดูในอาการตรงๆ แล้วมันจะไม่หลง ไม่หลงคิด ไม่หลงไปในอดีตอนาคต ... แต่ว่าปัญหาใหญ่คือเพลิน เผลอ หาย  กายหาย จิตหาย  นี่ ประจำๆ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว  นั่งคนเดียวก็ใจลอย นั่งใจลอย ไม่มีความคิดแต่ใจมันลอย หาย  พอรู้ตัวแป๊บนึง เอ้า หายอีก  กลับมารู้ตัวได้แป๊บนึง หายอีก   ...ก็ต้องพยายามให้มันต่อเนื่อง รู้กายก็ได้ มันเห็นกาย อาการทางกาย

เพราะนั้นการปฏิบัติจริงๆ มันไม่ยากหรอก มันอยู่ที่ความต้องใส่ใจ ใส่ใจในการที่จะฝึกสติ สร้างสติขึ้นมา เป็นอาชีพ  งานนี้ถือว่าเป็นอาชีพเลย อาชีพหลัก อย่างอื่นเป็นอาชีพรอง  สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโวนี่ อยู่ตรงนี้ คือการงานที่จะต้องสร้าง งานที่จะต้องขวนขวายประกอบกระทำ ในการสร้างสติระลึกรู้ ในกาย ในจิต

ไม่ต้องไปรู้ที่อื่นเลย ไม่ต้องไปรู้เรื่องคนอื่น ไม่ต้องไปรู้ในตำรา ไม่ต้องไปรู้ความรู้อะไร ...รู้กายรู้จิตตรงนี้ แค่นี้ มันเป็นพระธรรมตู้ใหญ่อยู่ตรงนี้ พระไตรปิฎก ธรรมะทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ อยู่ที่กายและใจปัจจุบันแต่ละคนนั่นแหละ

ไม่ต้องไปหาที่อื่น ไม่ต้องไปขวนขวายแสวงหาความรู้นอกเหนือจากนี้เลย ...กลับมารู้กายรู้ใจ รู้ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรนั่นแหละ กลับมาอยู่ตรงนี้พอแล้ว อาชีพหลัก จนมันได้หลัก ...ถ้ามันได้หลักหมายความว่า ก็คือว่าไม่ออก ไม่ออกนอกกายนอกใจ ไม่ออกไปไหน ออกไปก็ไม่ไกล ออกไปประเดี๋ยวประด๋าว ออกไปแป๊บตามเหตุและปัจจัย แล้วก็กลับมา

คอยสังเกต ตรวจตรา ตรวจสอบภายใน ...มีอะไรก็รู้ ไม่มีอะไรก็รู้ คิดก็รู้ ไม่คิดก็รู้ สบายก็รู้ ไม่สบายก็รู้ ยินดีก็รู้ ยินร้ายก็รู้ ติดก็รู้ ติดมากก็รู้ ติดน้อยก็รู้ ไม่ติดก็รู้ ... รู้เข้าไปเหอะ อะไรก็ได้ มันจะเกิดยังไงก็ได้ จะพอใจ จะดีใจ จะเสียใจ จะเศร้า จะโศก จะขุ่น จะมัว จะผ่องใส จะมั่นคง จะสงบ จะนิ่ง จะฟุ้งซ่าน จะรำคาญ จะหงุดหงิด รู้อย่างเดียว

มันจะเกิดอะไรขึ้น ช่างหัวมัน อยากเดิน อยากหา อยากปรุงอะไร อยากมีอาการอะไร ช่างมัน อย่าไปสนใจ  ดูมันตรงนั้นแหละ รู้มันเข้าไป กลับมารู้อยู่กับมันนั่นแหละ รู้ด้วยความอดทน ระงับ สงบ ...โดยดุษฎี โดยสันติ  รับรู้โดยสันติ ไม่ต้องไปดิ้นกับมัน ไม่ต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน

อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจกับอาการต่างๆ นานา ที่มันปรากฏขึ้น  ดั่งใจมั่ง ไม่ดั่งใจมั่ง อายมั่งที่มันจะเกิดอาการนี้ เสียใจมั่งที่มันเกิดปรากฏการณ์สภาวะนี้  ช่างหัวมัน เกิดแล้วก็เกิด รู้มันเข้าไป กลับมารู้อยู่อย่างเดียว

สุดท้ายนี่มันก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาหมดน่ะ...อาการ  อยากขึ้นก็ขึ้น อยากลงก็ลง อยากมีก็มี ไม่อยากมีมันก็มี ไม่มีก็ไม่มี มากก็มาก น้อยก็น้อย ...จิตมันจะเป็นปกติ รับรู้อาการด้วยอาการปกติ โดยสันติ

จิตมันก็จะทรงอยู่ในภาวะเป็นกลาง ...ค่อนข้างจะเป็นกลางได้ง่ายโดยธรรมดา ไม่กระโตกกระตาก ไม่มีอาการดิ้นพราดๆ ออกไป ทะยานออกไปด้วยกระแสความอยาก ความต้องการ หรือความไม่ต้องการ จิตมันก็จะอยู่ในองค์มรรคตลอด

จิตจะเข้าไปอยู่ในองค์มรรคได้...คือต้องเข้าใจว่าต้องอยู่ในฐานของความเป็นกลางและเป็นปกติ ...อยู่ตรงนั้นแหละ อยู่ตรงปกตินั่นแหละ ไม่เลือก ไม่มีเงื่อนไข ...ตรงนั้นแหละถึงเรียกว่ามัชฌิมา

เมื่ออยู่ในมัชฌิมาด้วยความเป็นกลาง ไม่มีเงื่อนไข  จิตเป็นกลาง จิตอยู่ในองค์มรรค  มรรคก็จะแข็งแกร่งขึ้น เป็นกลางมากขึ้น จิตก็จะละเอียดมากขึ้น มรรคก็ละเอียดมากขึ้น ...มันจะเท่าทันในส่วนแรก จิตแรกที่เกิด มากขึ้นๆ

แต่ก่อนเราเห็นจิตแรก ขณะเกิดแรก ปุ๊บ เป็นอาการ อารมณ์แรก ก่อนจะเกิดอารมณ์ ก็เรียกว่าเห็นจิตแรกแล้วในขั้นมรรคขั้นต้นๆ ... ต่อไปมรรคขั้นละเอียดมันไม่ออกมา จิตแรกมันไม่เป็นอารมณ์แล้ว มันเป็นแค่อาการขยับ ไหว กระเพื่อม สะเทือน แค่นั้นน่ะ ...มันยังไม่เป็นอาการอะไร ยังเรียกชื่อไม่ออก ยังไม่มีชื่อ มันรู้แล้ว

ก็แสดงว่ามรรคมันละเอียดขึ้นไปอีก ทันอาการแรก...เห็นการปรากฏแรกของจิต หรืออาการของจิตในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น ละเอียดปราณีตขึ้น ...จนถึงภาวะที่ปกติของใจล้วนๆ ที่เป็นปกติรู้อยู่ ปกติของใจที่รู้อยู่ พอมีอะไรแฝงตัวออกมา ลอยออกมา แค่เห็นมันก็ชำระออก

แต่ว่าเบื้องต้นๆ มันจะเห็นอาการแรกเป็นอารมณ์บ้าง เป็นความคิดบ้าง เป็นความรู้สึกบ้าง จากไม่มีมาเป็นมี ...มันก็ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ประณีตขึ้น จนถึงว่าจิตมันเริ่มคลายออกจากอุปาทานความหมายมั่นในรูปและนาม จิตก็จะทรงภาวะแบบเป็นกลางโดยธรรมชาติ ยืนพื้นความเป็นปกติโดยไม่ได้กำหนด ไม่ได้ระวัง ไม่ได้ควบคุม มันจะอยู่ในภาวะปกติ

ใครจะขึ้น ใครจะลง ใครจะมา ใครจะไป ใครจะพูดอะไร ใครจะแสดงความเห็นอะไร ใครจะว่าเราอย่างไร ใครจะชมเรายังไง  จิตก็อยู่เป็นปกติอย่างนั้น ไม่ได้ออกมาเป็นอาการยินดีหรือยินร้าย ในสิ่งที่จิตรับรู้โดยผ่านทางผัสสะ ...ตอนนั้นน่ะ ที่ท่านเรียกว่าเข้าถึงจิตดวงเดียว เป็นจิตเอก เป็นธรรมเอก คือที่ใจ อยู่ที่ใจล้วนๆ ขณะนั้น  

ถึงอยู่ที่ใจแล้วก็ยังไม่จบ มันต้องมีงานอยู่ภายในนั้นอีก งานภายในล้วนๆ ภายในใจล้วนๆ เข้ามาศึกษาภาวะของใจ ตรงๆ ใจปกตินั่นแหละ ...แต่ถึงตอนนั้นแล้ว อุปาทานทุกข์หยาบๆ ทุกข์โทมนัสโสกะปริเทวะ คับแค้นแน่นใจ เสียดาย อาดูร อาลัย เศร้าหมอง ขุ่น พวกนี้หายหมดแล้ว ไม่เหลือแล้ว 

จิตก็เป็นปกติ ธรรมดา เป็นธรรมชาติของจิตเดิม แต่มันยังมีอาสวะบางตัว ที่มันยังแฝงยังเจือปนอยู่เล็กๆ น้อยๆ ...มันก็เพียรพยายามชำระอยู่ภายในนั้น

ถึงขั้นนี้แล้ว มันไม่สนใจกับรูปนามภายนอก มองเป็นอาการของสักแต่ว่า เรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่มีเราเป็นผู้รับ ไม่มีเราเป็นผู้เสวย  ใครทำอะไรก็ได้ ใครจะว่ายังไงก็ได้ เป็นอิสระของขันธ์นั้นๆ ของกิเลสนั้นในจิตดวงนั้นๆ ที่เขาแสดงออกมา เราไม่ไปยินดียินร้ายอะไรกับเขาจนเกินไป

ไอ้ที่มีไปยินดียินร้ายก็ตามเหตุและปัจจัย บางคน บางเรื่องเท่านั้นเอง...เป็นภาระ เป็นหน้าที่...เท่านั้น แล้วก็จบๆๆ จบไป ...ไม่ต่อเนื่อง ไม่ผูกพัน ไม่พัวพัน ไม่มาเป็นอดีต ไม่มาเป็นสัญญา ไม่เป็นอนาคต

พูดแล้วพูดเลย เขาจะทำ เขาจะไม่ทำ เขาจะเชื่อ เขาจะไม่เชื่อ ไม่สนแล้ว จบ  เรื่องของมึง ฟังไปแล้วก็ช่างมึง ไม่แก้ก็ไม่แก้  แต่ก็มีหน้าที่ต้องพูดไป เสร็จแล้วก็วางไป ไม่เกี่ยวแล้ว ว่า เอ๊ ทำแล้วเขาจะเป็นอย่างนี้ เขาน่าจะเข้าใจ เขาน่าจะเปลี่ยนไปนะ ไม่สนแล้ว ไม่กลับมาเป็นสัญญาในอาการ

แต่ตอนนี้เบื้องต้นนี่ เผลอไม่ได้นะ ทุกเรื่องเป็นเรื่องหมด เก็บหมด ยังเก็บ มันเก็บ ... ก็ต้องอาศัยค่อยๆ ขัดเกลาชำระไปทีละเล็กทีละน้อย อย่าใจร้อน ใจเย็นๆ รู้เบาๆ ดูไป ให้มันต่อเนื่องไป 

กลับมา ...ไม่มีอะไรไม่รู้อะไรก็กลับมารู้ปกตินั่นแหละ อยู่ในความเป็นปกติ เห็นความปกติของกาย จิต ของเราเป็นปกติ ...ไม่รู้อะไร ไม่มีอารมณ์อะไร ก็ไม่ต้องไปหาอะไรมาดู อยู่แบบปกติธรรมดาไม่มีอะไรนั่นน่ะแหละ 

นั่นแหละเขาเรียกว่าอยู่ในมรรค ตรงอยู่ในมรรค เจริญมรรค ถือว่าขณะนั้นคืออาการก้าวเดินหรือว่าเข้าไปในครรลองแห่งมรรค อยู่ในวิถีแห่งมรรค ...แล้วก็วิถีแห่งมรรค ไม่ใช่ว่าหยิบยกอะไรมาพิจารณา หรือว่าเห็นชัดในอันนั้นอันนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ จ้องจะคอยแยกแยะอะไรออก 

ไม่ต้องทำอะไรหรอก เป็นปกติก็เป็นปกติอย่างนั้นล่ะ ...บทมันจะแยก มันจะทำความจำแนก มันจำแนกของเขาเอง มันจำแนกไปตามครรลอง ตามเหตุและปัจจัย มันจะวิจัยวิจารณ์จิตไปเอง ...ไม่ใช่วิจัยวิจารณ์จิตด้วยความอยาก แต่เป็นครรลองของปัญญา

เพราะนั้นการปฏิบัติ ไปๆ มาๆ มันคือการไม่ทำอะไรเลย กลับมาเป็นคนที่ไม่ทำอะไรเลย กลับมาเป็นคนที่ไร้สาระสิ้นดี กลับเป็นคนที่อยู่ไปเปล่าๆ อยู่ไปวันๆ แล้วก็สังเกตอาการไปวันๆ นั่นแหละ  เห็นอะไรก็อันนั้นแหละ ไม่เห็นก็ไม่ทำ ไม่ต้องทำให้มันเห็น ...ตามเหตุและปัจจัย แล้วก็ละออกๆ 

ไม่รู้อะไรยิ่งดี ...เพราะความรู้ทั้งหลายนั่นน่ะคือสิ่งที่เราติด สิ่งที่ถูกรู้นั่นแหละคือสิ่งที่เราติด  แล้วมันจะพาให้เราลุ่มหลงมัวเมา พัวพัน ในความรู้ต่างๆ ...เพราะมันเป็นรู้ที่ออกไป 

ถ้ารู้อยู่ไม่มีอะไร ...ใจที่รู้เฉยๆ ไม่มีอะไรในนั้นหรอก  มันไม่มีความรู้อะไร มีอย่างเดียวคือรู้นั่นแหละ ความรู้อื่นนอกจากรู้นี่ไม่มี ...นั่นน่ะใจ

แต่ไอ้ความรู้ เป็นข้อความ เป็นเนื้อความ เป็นธรรมบรรยายออกมาเป็นภาษา เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ นี่ มันไม่ใช่รู้ที่แท้จริง  มันเป็นความรู้ที่ออกนอก ออกนอกจิต ออกนอกใจไปแล้ว ...ไม่ต้องไปขวนขวายที่จะไปรู้อะไรให้มันลึกซึ้งละเอียดมากมายไปหรอก ขยะทั้งสิ้น เป็นแค่สังขารธรรม สังขารจิต

เพราะนั้นถ้ากลับมารู้อยู่ รู้เฉยๆ รู้จริงๆ ปุ๊บ ... มันไม่มีอะไรหรอกความรู้นั้น รู้อยู่ในรู้ มีแต่รู้ในตัวของมันเองคือรู้เฉยๆ

แต่พวกเราไม่คุ้นเคยไม่ชำนาญ ...พอกลับมารู้เฉยๆ หรือรู้เป็นปกติธรรมดาไม่มีอะไรแล้ว เราก็ 'ฮื้อ จะไปไหนไม่รอดนะเนี่ย จะไม่ฉลาดนะเนี่ย จะโง่ ไม่ทันเขา ไม่มีความรู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย' 

รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ เหมือนกับไม่มีความรู้อะไรที่จะชำระกิเลสออกเลย ที่จะมาแยกแยะอันนั้นอันนี้ ไม่เข้าใจขันธ์ ไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น มีแต่รู้เฉยๆ อยู่อย่างนั้น ...นั่นแหละเรียกว่ารู้จริง 

ไม่ต้องกลัวโง่  เพราะจิตมันโง่อยู่แล้ว รู้แบบโง่ๆ คือไอ้รู้แบบโง่ๆ นั่นน่ะคืออวิชชา...ใจน่ะแหละ ใจที่ไม่รู้อะไรนั่นแหละคืออวิชชา ก็อยู่ตรงนั้น ตรงที่ไม่รู้อะไรนั่นแหละ นั่นแหละอยู่ที่ใจ

เดี๋ยวมันจะแตกออกมาเป็นความรู้ที่เป็นทิฏฐิ ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิหมดแหละ ...ที่แตกออกมาเป็นความเห็น ความคิด ความปรุง ความแต่งอย่างนั้นอย่างนี้ แม้จะเป็นธรรมอย่างงั้นอย่างงี้ แบบนั้นแบบนี้ ที่มันแตกออกมาเป็นภาษาอะไรก็ตาม มันก็คือมิจฉาทิฏฐินั่นแหละ

ไอ้ความไม่รู้นี่ มันจะแตกออกเป็นภาษาออกมา ... เพราะนั้นถ้าเรารู้ทันปุ๊บ เราไม่เอาตาม ไม่ไหลไปตามความคิดความปรุงความแต่ง ให้มันต่อเนื่องออกไปยืดยาว ...รู้แล้วก็ปล่อยมัน ชำระมัน วางมันปั๊บนี่  มันก็คือการชำระตัวมิจฉาทิฏฐิภายในความไม่รู้มันออกไป เป็นการล้างอาสวะ เป็นการล้างอนุสัย ความหลงผิด

แต่ถ้าเราไปเชื่อมัน ไปปรุงต่อกับมัน เหมือนกับเรายิ่งไปสร้างมิจฉาทิฏฐิมากขึ้น เอาถูกเอาผิดกันอยู่นั่นน่ะ ....คนที่มันทะเลาะกันนี่ มันไม่ได้ทะเลาะกันด้วยอะไรหรอก มันทะเลาะกันด้วยความเห็นที่ไม่ตรงกัน ...ต่างคนก็ต้องว่าของกูนี่ถูก คนนี้ก็ว่ากูถูก คนนั้นก็ต้องว่าของกูถูก

นี่คือมันจะทะเลาะกันด้วยความเห็น คือความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของเจ้าของ ...ตัวนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว แต่ละคนน่ะ แม้จะดูดี ดูน่าเลื่อมใส ดูว่าฟังจากครูบาอาจารย์มาแล้วมีความคิดได้ตาม เข้าใจก็ตาม มันก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น เพราะออกมาจากใจไม่รู้

มันยึด มันออกมาพร้อมกับความยึด หรือว่ามานะ เข้าใจมั้ย คำว่าอัสมิมานะ ... เพราะนั้นตัวอัสมิมานะ เป็นตัวที่ละเอียดที่สุด เป็นตัวสุดท้ายที่จะต้องละเลยแหละ  ตัวมานะ ความเชื่อ ความเห็น ยึดในความเห็นของตัวเอง ท่านเรียกว่าอัสมิมานะ

จนมันล้างความเห็นนั้น ไม่เชื่อความเห็นนั้นน่ะ ...บ่อยๆ ลบออกบ่อยๆ ลบความเชื่อความเห็น ความจริงจังกับความเห็นของเรา เมื่อเราลบความจริงของความเห็นของเรา มันจะลบความจริงจังในความเห็นของผู้อื่นไปพร้อมกัน จะไม่ให้ค่าในความเห็นของผู้อื่นเหมือนกัน

แล้วก็คอยสังเกตว่ายังมีความเห็นไหนที่เรายังเชื่อบ้าง ให้สังเกตให้ทัน ระวัง คอยสังเกตดูไว้ ...เพราะไอ้ตัวความเห็น เชื่อในความเห็นนั่นแหละ ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันมีความอยากปน แล้วก็สร้างเป็นอัตตาที่เรียกว่าเป็นมานะ

มันก็จะค่อยๆ ชำระไปทีละเล็กทีละน้อย ต่อไป...จนเรามีความคิดความเห็น...ก็สักแต่ว่าความคิดหนึ่ง สักแต่ว่าเป็นความเห็นหนึ่ง เท่านั้นเอง ...ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ความถูก ไม่ใช่ความผิด  แต่มันก็เป็นปัจจัยของการรวมกันของสังขารในเหตุปัจจัยหนึ่งๆ

 (เว้นช่วงสนทนาทั่วไปกับโยมที่ไปปฏิบัติธรรมที่สวนสันติธรรมมา)


โยม – ได้ถามธรรมะกับท่าน ผมก็บอกว่ารู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมมันง่ายขึ้น และก็ขอคำแนะนำ หลวงพ่อท่านก็ว่าตอนนี้จิตไม่ถึงฐาน ... มันคือยังไงครับ   

พระอาจารย์ –  ฐานก็ความเป็นปกตินั่นแหละ     


โยม –  มันไปแตะอยู่กับสภาวะอะไรซักอย่างแล้วมันดูไม่ออก แต่ประมาณนี้ครับ  

พระอาจารย์ –  มีการหน่วง มีการทรงไว้      


โยม –  ครับ ก็เลย...จะว่าให้แก้มันก็ไม่เชิง รู้ทันอาการ 

พระอาจารย์ –  แล้วเวลาฟังท่านบอก พอฟังก็อย่าไปตื่นเต้นตกใจ 


โยม –  สมัยก่อนจะตื่นเต้น แล้วก็แบบจะแก้  

พระอาจารย์ –  ฟังแค่รู้เฉยๆ แล้วก็สังเกตอาการไปเรื่อยๆ มันจะปรับสมดุลให้เอง ...พอบอกยังไม่ถึงฐานน่ะ หาฐานกันใหญ่เลย  แล้วก็มาถามว่าฐานคืออะไร


โยม (อีกคน) –  จริงๆ ฐานคือความเป็นปกติหรือคะ   

พระอาจารย์ –   ปกติของใจที่ไม่มีการประกอบกระทำนั่นแหละ ... มันหยุด ใจที่หยุด หยุดการกระทำ 

เพราะว่าพอเราดูจิตปุ๊บนี่ มันจะมีการเข้าไปจับในจิต ...พอจิตที่เข้าไปดูปุ๊บ มันจะเข้าไปสร้าง สร้างรูปของจิตขึ้นมา แล้วเราก็จับว่านี่คือจิต นี่คือรู้ อย่างเงี้ย มันไม่ใช่รู้ธรรมชาติ มันไม่ได้รู้ธรรมดา ...มันยังมีอัตตาในการกระทำ เรายังเข้าไปกระทำกับจิต

เพราะนั้นถ้ายิ่งหาก็ยิ่งงงน่ะ ถ้ายิ่งหาก็ยิ่งทำนะ ยิ่งหาก็ยิ่งเพ่ง ยิ่งสร้างอัตตาขึ้นมา ปิดบังขึ้นมาอีก  แล้วจะลังเล แล้วก็สงสัยๆ พอสงสัยก็เศร้าหมอง 

แต่ถ้าฟังแล้ว ช่างมัน ปล่อย  ดูมันไป ...จิตมันจะปรับของมันเอง เป็นปกติ มันจะหยุดการกระทำ ...เราจะเข้าใจต่อเมื่อมันหยุดจริงๆ เป็นจิตที่...เขาเรียกว่าเป็นจิตที่เป็นอกิริยา นั่นแหละฐาน

แต่ถ้ายังมีกิริยาอยู่ โดยการกระทำของเรา ของความเห็นของเราที่ไปกระทำต่อจิต นั่นน่ะมันเป็นกิริยาของจิตอยู่แล้วเวลาท่านพูด ท่านก็ไม่ได้บอกรึว่าให้เข้าถึงฐานยังไง  


โยม –  ท่านบอกให้แค่รู้ทันเฉยๆ     

พระอาจารย์ –   เออ ให้มันปรับไปเอง รู้เบาๆ ดูมันไป มันก็จะปรับสมดุลของมันเอง เป็นกลางไปเรื่อยๆ
...เพราะนั้นความเป็นกลางนี่ มันไม่ใช่ว่ากลางโด่ แล้วก็รักษามันไว้ เข้าใจมั้ย  ถ้ากลางแล้วบอกว่านี่กลางแล้ว ต้องรักษาอาการนี้ไว้ เนี่ย ติดแล้ว ...ไม่ใช่นะ

กลาง ก็จะกลางไปเรื่อยๆ มันกลางไม่มีกลางอันเดียวหรอก กลางไปเรื่อยๆ  ตอนนี้ก็กลาง แต่มันยังกลางไม่ถึงที่สุด ...มรรคมันก็มีของมันเรื่อยๆ เข้าไปเรื่อยๆ เข้าไปถึงตัวใจ จนถึงกลางที่สุดไม่มีที่กลางกว่านี้แล้ว ก็คือธรรมชาติของจิตเดิมแล้ว ... นั่นแหละฐานที่แท้จริง คือหยุดการประกอบกระทำ


โยม –  คือผมมันเคยชินที่จะแก้น่ะครับ ฟังปุ๊บ มันก็จะมีอาการดิ้นรน ...เอ๊ะๆ อะไรอย่างนี้  

พระอาจารย์ – นั่นแหละ ความสงสัย ความทะยานในภพ    


โยม –  แต่ก็จำพระอาจารย์ว่า 'ช่างมัน' กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ...ก็เลย เออ ช่างมัน แล้วก็ดูปัจจุบันไป   

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วเรา 'ช่างมัน' นี่  จนมันท่วมดอยแล้ว   


โยม –  ไม่มีเผือกผสมเลย   

พระอาจารย์ –  (หัวเราะ) ไม่มีเผือกเลย มันลูกเดียว ...ช่างหัวมันๆๆ จนสูงท่วมดอย  กว่ามันจะเอาออกหมดน่ะ ไอ้ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นน่ะ   


โยม –  คือถ้าพูดถึงเรื่องจิตไม่ถึงฐานนี่ ไม่จำเป็นต้องถึงฐานก่อนเพื่อจะมาเดิน

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ มันจะปรับเข้าไปเรื่อยๆ   


โยม –  ไม่ถึงฐานเราก็เดินได้  

พระอาจารย์ –  เดินได้ มันก็อยู่ในครรลองของมรรค มรรคก็ปรับไปเรื่อย มรรคขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นละเอียด   


โยม –  มันมีความกลัวว่า ไม่ถึงฐานก็เหมือนกับว่า เช่น รู้แต่ไม่รู้กายไม่รู้ใจ ไปรู้อย่างอื่น อะไรอย่างนี้  

พระอาจารย์ –  นั่นมันเป็นความปรุงแต่งออกไป รู้แล้วก็กลับมารู้กายเลย ไม่ต้องไปหาเรื่องขึ้นมา ไม่ต้องไปเต้าเรื่องขึ้นมา  เอาง่ายๆ พอมันจะเริ่มซ่านออกไปในความคิด ความสงสัยลังเล กลับมารู้เลย กลับมารู้ตรงนั้น กลับมารู้...ตั้งความรู้ขึ้นตรงนั้น รู้ว่าคิด รู้ว่าสงสัย รู้ไปตรงนั้น

ถ้ามันยังไหลออกไปอีก...กลับมารู้กายเลย ยืนเดินนั่งนอนเคลื่อนไหวยังไง ให้มันชัดเจนในอาการทางกายปัจจุบัน คือดึงให้กลับมาอยู่ในสติปัจจุบันทันที ...ไม่ต้องเสียดายความคิด ไม่ต้องเสียดายความสงสัยว่า ถ้าไม่หาแล้วมันจะไม่เจอ เข้าใจมั้ย

คือไม่หามันเลยน่ะ ไม่ต้องกลัวว่าถ้าไม่หาแล้วจะไม่เจอ คือไม่หาเลย อย่างนั้นเลย แล้วก็กลับมารู้กายเลย  นั่นแหละ มันจะค่อยๆ ละความอยาก ความสงสัยไปในตัว  อย่าไปหา อย่าไปคิด อย่าไปว่าถ้าเราไม่เข้าใจแล้วเราจะเข้าสู่ใจไม่ได้ ต้องเข้าใจซะก่อน คือรู้ไปตรงๆ


โยม –   คือครูบาอาจารย์ท่านก็บอกว่าให้รู้กายรู้ใจ ก็เกรงว่าที่รู้ มันจะไปรู้อย่างอื่นซึ่งเป็นการรู้ซึ่งเปล่าประโยชน์

พระอาจารย์ –  สงสัย นี่ มันเกิดเป็นความสงสัย ไอ้ลักษณะอย่างนี้  ...รู้ไปเหอะ รู้ไปเลย ตัดสินใจรู้ลงไปเลย ... ถูกหมดแหละ เข้าใจมั้ย 

ไอ้ที่ความคิดนี่ มันเป็นความสงสัย ที่จะให้เราออกไปหา หนีออกจากการรู้ปัจจุบัน ...มันรู้ยังไงก็รู้ยังงั้นน่ะ จะถูกจะผิดไม่ว่า รู้ไปเถอะ เห็นยังไงก็เห็นยังงั้น ... ต้องเชื่อมั่นตรงนั้นก่อน ให้จิตมันมีความเชื่อมั่น ตั้งมั่นตรงนั้นแหละ โดยการรู้ของเรานี่แหละ ผิดถูกไม่ว่า บอกแล้วไม่มีผิดถูกอ่ะ มีแต่ว่ารู้หรือไม่รู้ 

ไม่ใช่รู้ไปหา รู้ไปว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ... กลัว รู้แบบกลัวผิด กลัวพลาด ... ไม่ผิดหรอก รู้เข้าไป รู้แบบไม่เอาอะไร รู้แบบไม่มีเป้าหมาย ...ยังไงก็ได้ รู้แบบกลางๆ รู้แล้วก็ทิ้งไป รู้แบบไม่เอาอะไรไง  รู้แบบทิ้ง รู้ไปบ่ดาย รู้บ่ดาย

รู้กายก็รู้ไปอย่างงั้นน่ะ ไม่ต้องว่ารู้กายจะได้อะไร จะเห็นอะไร ... ก็รู้ว่ามีกายแค่นั้นแหละ รู้ว่ากายกำลังเดิน กำลังยืน รู้ไปตรงๆ ไม่ได้รู้เพื่อได้อะไร  นั่นแหละ รู้ธรรมชาติ กับจิตที่เป็นธรรมชาติน่ะ รู้เฉยๆ ...จะเกิดสภาวะอะไร จะรู้จะเข้าใจอะไร ...ไม่มี  พวกนั้นเป็นผล


โยม (อีกคน) –  จะฟุ้งอยู่บ่อยค่ะ ตอนนี้   

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าฟุ้งบ่อย แค่นั้นเอง อย่าไปเหน็ดเหนื่อย อย่าไปเบื่อมัน เพราะเวลาเรารู้ว่าฟุ้งบ่อยๆ แล้วมันจะหงุดหงิด มันจะคิดว่าทำยังไงมันจะหายฟุ้ง


(ต่อแทร็ก 2/5)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น