วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/6






พระอาจารย์

2/6 (530721A)

21 กรกฎาคม 2553




พระอาจารย์ – มันเหมือนกับแค่เปลือก แค่กระพี้น่ะ...ถ้ามันไม่เข้าถึงตัวใจนี่   

ถ้ายังไม่เข้าถึงตัวใจหรือไม่รู้ด้วยใจแล้วละด้วยใจมันละเอง มันจะท้อถอย ... ความมั่นคงของใจและศรัทธาในการปฏิบัติมันจะอ่อน จาง ...เดี๋ยวก็ขยันบ้าง ขี้เกียจบ้าง อยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าใส่ใจทำจริงไปเรื่อยๆ มีฐาน...ความศรัทธามันจะเปลี่ยนเป็นอจลศรัทธา  คือมันเป็นศรัทธาที่ใจ มันโดยธรรมชาติ  มันมีอะไร มันเห็นอะไร ได้ยินอะไร กระทบกับอะไร ผัสสะไหนมาปั๊บ มันกลับมาที่ใจก่อน กลับมาปรารภที่ใจ กลับมาปรารภที่เหตุ ... จะไม่พุ่งออก แต่มันจะพุ่งเข้า กลับมาที่เหตุตั้งต้น กลับมาตั้งต้นที่กาย ที่จิต

เพราะนั้นต้องอาศัยความเคยชิน สร้างความเคยชิน จนมันชำนาญ ... ไม่ใช่เอะอะๆ...สงสัย เอะอะๆ...คิด เอะอะอะไร...หา  นิสัยของคนน่ะ มันจะเป็นอย่างนั้น  อะไรกระทบปุ๊บ เอะอะๆ อะไร...ออก หาย เอะอะๆ...ไป  เพ่งออกไป สาดออกไป  

จนกว่าจะเกิดความชำนาญ ความคุ้นเคย ... พอมีอะไรปุ๊บ เอะอะๆ อะไร...มันกลับมาที่ใจ กลับมาปรารภดูความยินดียินร้ายที่ข้างใน กลับมาดูอาการมันเป็นยังไง...กระสับกระส่าย อึดอัด คับข้อง ขุ่น ผ่องใส เฉยๆ ปกติ หรือไม่ปกติ   

มันจะเป็นธรรมชาติที่พร้อมจะกลับมาที่ใจได้ตลอดเวลา กลับมาเช็คดู ... อย่างนี้เขาเรียกว่า จึงจะเห็นผลน่ะ จึงจะเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น ... กลับมาที่เหตุบ่อยๆ ไม่ไปเอาไอ้ที่นอกเหตุ ไกลออกไป ส่งออกไป

ต้องอาศัยความเพียร...การปฏิบัตินี่  ใจร้อนไม่ได้ ใจร้อนเสียของหมด ถ้าใจร้อนเดี๋ยวก็ขี้เกียจ ... ต้องใจเย็นเหมือนน้ำ ค่อยๆ สะสมทำไปทีละน้อย ดูไป ให้มันต่อเนื่องยาว ความมั่นคงก็จะแข็งแกร่ง ความมั่นคงก็จะมากขึ้นๆ ความทอดธุระก็จะน้อยลง ...ไม่งั้นมันก็เข้าๆ ออกๆ  พอไปเจออะไรวุ่นวายภายนอก หรือมีกิจกรรมภายนอกมาปุ๊บ หาย...หายนี่หายยาว

สติมันต้องคู่กันตลอด จึงจะเห็นผล  มีตีคู่กันกับอากัปกิริยา หรือกิจกรรมภายนอก ... การเห็น สังเกต ตรวจสอบ ทบทวนภายในอยู่ตลอด  ทำ พูด คิดอะไร มันก็กลับมารู้อยู่ภายใน เห็นอยู่ภายใน เป็นการตรวจสอบ เก็บเกี่ยวข้อมูลของใจที่มันมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร บวกบ้าง ลบบ้าง เฉยบ้าง มันก็ดู

การดู สตินี่มันไม่ใช่อะไรหรอก คือกลับมาดูใจ เพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนอง มันออกในแง่บวก แง่ลบ หรือว่าเฉยๆ  พูดง่ายๆ คือยินดี ยินร้าย หรือธรรมดา  กลับมาตรวจสอบดู ... ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้นหรอก กลับมาดู  ทำหน้าที่เป็นยาม

สติเหมือนยาม ยามคอยรักษาการณ์ คอยตรวจตรา คอยดูอย่างนี้ ... สติไม่ใช่ผู้จัดการ สติไม่ใช่เจ้าของกิจการ  สติมีหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์เท่านั้น...คอยดู อะไรเกิดขึ้นทางตา อะไรเกิดขึ้นทางหู อะไรเกิดขึ้นทางกาย อะไรเกิดขึ้นทางลิ้น  มันก็คอยตรวจสอบ คอยสังเกตดู  อ้อ อย่างนี้ รูปนี้เป็นอย่างนี้...ใจเป็นอย่างนี้  รูปอย่างนั้นมา...ใจเป็นอย่างนี้ เสียงมาอย่างนี้...ใจเป็นอย่างนี้  

นี่ เป็นแค่ยามรักษาการณ์ คอยดู ดูอาการของใจที่มันแกว่งไปแกว่งมา ตามผัสสะน้อยใหญ่ หรือว่าใจที่มันคิดปรุงไปปรุงมา เรื่องนั้นเรื่องนี้  มันก็ดู...ยินดีมั้ย ยินร้ายมั้ย  มีการแสวงหามั้ย ไขว่คว้ามั้ย หรือว่าเฉยๆ หรือเป็นปกติ หรือว่าเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

หน้าที่ของสติที่แท้จริงเป็นแค่นั้นเอง ... ไม่ได้เข้าไปจัดการ ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยน ไม่ได้เข้าไปทำขึ้นมาใหม่ ไม่ได้เข้าไปห้าม ไม่ได้เข้าไปทำให้มันมากขึ้นหรือน้อยลง

ถ้าลักษณะของสติหรือการเข้าไปรู้ในอาการต่างๆ แล้วไปยุ่งกับมัน  อย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าสติในองค์มรรค มันจะกลายเป็นมิจฉาสติไป  ถ้าเป็นมิจฉาสติคือ มันเป็นมิจฉาคือเป็นสติที่กอปรด้วยโลภะ โทสะ ในการระลึกรู้นั้นๆ  

เห็นมั้ย มันมีจิตอีกดวงที่คู่กัน เกิดคู่กันกับสติที่เข้าไปรู้  มันกลายเป็นรู้หลง รู้พร้อมกับหลงไปกับอารมณ์  ไม่ได้รู้อยู่ ... รู้ไปรู้มา รู้มี รู้ขึ้นรู้ลง คือรู้แล้วมันเข้าไปกระทำ  มันไม่รู้อยู่ รู้เฉยๆ

รู้อยู่ รู้เฉยๆ นี่  มันจะเป็นรู้ในองค์มรรค หรือว่ารู้ที่เป็นกลาง ... เพราะนั้นฝึกสติมันก็ฝึกเพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่ารู้ที่เป็นกลาง  เพราะถ้ารู้เป็นกลางขึ้นมาเมื่อไหร่ปั๊บนี่ มันจะเห็นตามความเป็นจริงได้ 

เมื่อเห็นตามความเป็นจริงได้เมื่อไหร่ มันก็จะยอมรับความเป็นจริงได้มากขึ้นเท่านั้น ...เพราะนั้นถ้ารู้ตามความเป็นจริงได้เมื่อไหร่ปั๊บนี่ มันจะยอมรับความจริง คือรู้แล้วพร้อมที่จะวางเลย รู้แล้วก็วางเลย  

แต่มันต้องเห็นตามความเป็นจริงก่อน ...ไม่ใช่รู้แล้วก็ไปทำ รู้แล้วก็ไปยุ่ง รู้แล้วก็อย่างนั้นอย่างนี้ รู้แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์มันไป  รู้แล้วก็ตำหนิมัน เพ่งโทษมัน หามัน จะทำให้มากขึ้นหรือน้อยลง ... มันก็ต้องมาปรับตัวสติ ให้มันเป็นธรรมชาติที่รู้อย่างเดียว รู้เฉยๆ 

การปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง เราบอกให้เลยว่า ทำสติแค่อย่างเดียวเท่านี้ ก็ได้ถึงนิพพาน  ไม่ต้องไปทำอะไรมากเลย  แต่รู้ให้เป็นแค่นั้นเอง ระลึกรู้ให้เป็นแค่นั้น ... ถ้ารู้เป็นแล้วเมื่อไหร่ มันแค่นั้นน่ะพอแล้ว  จับจุดนั้นได้ จับหลักได้ก็พอแล้ว  รู้เป็นคือรู้เฉยๆ รู้ให้เป็น...ตลอดสายเลย อยู่แค่นั้นเอง

ไม่ต้องไปไขว่คว้า ดิ้นรนหาอุบาย หาวิธีการอะไรให้มันวุ่นวาย  ไปฟังนู่นฟังนี่ ขวนขวายดิ้นรน ...  กายนี่มีแสดงอยู่ตลอด จิตก็มีแสดงอาการอยู่ตลอด  กลับมาดู เห็นอยู่ในนั้น อยู่ในองค์มรรค  

กายเป็นมรรค ใจเป็นมรรค สติเป็นหางเสือ ... คอยให้มันเป็นกลาง ให้มันเป็นกลางกับกายกับจิต  มันก็เข้าองค์มรรค เป็นมัชฌิมา  ปัญญามันก็เกิด ญาณก็เกิดปัญญาเกิด ญาณเกิด ผลก็คือ วางไปเรื่อยๆ รู้แล้วก็วางตรงนั้น 

กลายเป็นว่า พอสิ่งที่ถูกรู้แล้วมีการระลึกรู้ แล้วก็เห็นแยกออกเป็นสิ่งที่ถูกรู้กับรู้เมื่อไหร่ มันจะวางสิ่งที่ถูกรู้ ... เรียกว่าตามกำลังของญาณปัญญา มันจะวาง ปล่อย ...คราวนี้คำว่า ปล่อย ไม่ได้หมายความว่าปล่อยแล้วต้องดับ ปล่อยแล้วต้องหาย  ปล่อยคือไม่ไปยุ่งกับมัน เรียกว่ารู้พร้อมกับวาง  

รู้อารมณ์...วางอารมณ์ อารมณ์ไม่ดับ แต่เราไม่เป็นทุกข์กับอารมณ์ ... รู้ว่าโกรธ ก็รู้ว่าโกรธ รู้เฉยๆ ...โกรธก็มี แต่เราไม่ยุ่งกับความโกรธ อย่างนี้  ไม่ไปยินดียินร้ายกับมัน ไม่ไปตำหนิมัน ไม่ไปโทษมัน ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ... นี่เขาเรียกว่ารู้แล้วก็วาง วางอารมณ์ไปพร้อมกัน อารมณ์ภายนอกมันก็จะหมดเหตุปัจจัยของมันไปเอง  

เมื่อปัญญามันแก่กล้าเพียงพอ ไอ้อาการภายนอกมันก็แทบจะไม่ได้เกิดออกมาเลย  เพราะมันจะรู้ตั้งแต่ก่อนเกิด รู้ตั้งแต่เตรียมจะเกิด รู้ตั้งแต่เกิดแรกๆ ... มันก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป มองเห็นรูปเห็นนามที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  มันก็จะมองเป็นว่าสักแต่ว่าเท่านั้น 

จิตมันก็รู้แล้วพร้อมละอยู่ในที่อันเดียวกัน ไม่ทันออกไปไหน ไม่ทันจะโจนออกมาเป็นอุปาทาน สัญญาอารมณ์ ...เมื่อไม่มีการจับมาเป็นสัญญามันก็ไม่มีการปรุงแต่งออกมาเป็นอารมณ์  ถ้าไม่สร้างอุปาทานขึ้นมา หรือว่าจิตไม่มีตัณหาอุปาทานก่อเกิดขึ้นมา  ความตั้งอยู่ของอารมณ์นี่ไม่มีหรอก  

ไอ้การตั้งอยู่ของอารมณ์นี่ มันตั้งออกมาด้วยความหลง แล้วก็สร้างภพ อุปาทาน ความหมายมั่นออกมา  ตัวอยากเป็นตัวผลักดัน เพราะนั้นมันตั้งอยู่ได้เพราะการหล่อเลี้ยงของตัณหา ...พอมันไม่มีตัณหาเข้าไปหล่อเลี้ยง หรือไปสร้างอุปาทานขึ้นมา  อารมณ์มันก็ไม่เกิดหรอก อุปาทานไม่มี ... มันก็เห็นเป็นแค่สิ่งผ่านไปผ่านมา กระทบไปกระทบมา  แต่ไม่ไปเป็นทุกข์กับอาการกระทบนั้นๆ 

คราวนี้มันก็จะเหลือแต่ทุกขสัจ คือทุกข์ตามความเป็นจริงที่มันปรากฏนั่นเอง  คือทุกข์จากการกระทบ  ... การกระทบกันน่ะคืออาการทุกข์ในตัวของมันอยู่แล้ว แต่เราไม่ไปหมายมั่น ยินดียินร้าย หรือเป็นอารมณ์กับการกระทบนั้นๆ  

มันก็เห็นการกระทบทุกอาการนี่ มีค่าเหมือนกันหมด เป็นการกระทบกันไป กระทบกันมา เป็นความเปลี่ยนแปลงตลอด

(ถามโยม) เป็นไงบ้างล่ะเรานี่  ขึ้นๆ ลงๆ  ดีบ้างร้ายบ้าง  หลงๆ ลืมๆ  ได้บ้างไม่ได้บ้าง รู้บ้างหายบ้าง


โยม – (หัวเราะ)

พระอาจารย์ – ถึงยังไงๆ ก็ต้องไม่ทิ้ง ... รู้แล้วก็ตั้งใจขึ้นมาใหม่ คอยตั้งใจขึ้นมาใหม่  หลุดแล้วหลุดไป รู้ใหม่ก็ตั้งใจขึ้นมาใหม่ ... เท่าทันอาการ สังเกตอาการ ตามรู้เห็น ดูอาการทางกายทางใจ ให้มันยืดยาว ต่อเนื่องให้ได้เท่าที่จะทำได้ ... ลืมไปก็ลืม กลับมารู้ใหม่

สิ่งใดทั้งหลายทั้งปวงน่ะ มันเป็นแค่อาการ เกิด-ดับ ผ่านไปผ่านมา แปรเปลี่ยน ... ก็คอยสังเกตอาการที่เข้าไปหลงยินดียินร้ายกับอาการที่มันไม่คงที่แค่นั้นเอง ... คอยระวัง คอยเท่าทันอาการที่เรียกว่าเข้าไปยินดียินร้ายกับอาการที่มันไม่คงที่ ตรงนั้นน่ะเรียกว่าหลง หรือว่ามิจฉาทิฏฐิ

ทำให้มันเป็นปกติ อยู่กับความเป็นปกติ ... ให้ทันอาการที่มันผิดปกติไป อย่าไปเลือก  เพราะนั้นเวลาอยู่ไปอยู่มา ปฏิบัติไปปฏิบัติมา มันจะอยู่กับความไม่มีเรื่องราว อยู่กับความไม่มีสาระ เห็นแต่ความไม่มีสาระ ภายนอกนี่ 

จนกว่ามันจะเห็นความไม่มีสาระในเรื่องราวภายนอก มันจึงจะกลับมาเห็นความไม่มีสาระของภายในกาย จิตหรือใจ ...ก็เห็นเพียงแค่ปัจจัยของขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์ เห็นขันธ์ใน  คือจิตใจ ความรู้สึก ความรู้ ความจำ 

พอเห็นความไม่มีสาระของเรื่องราวภายนอก มันก็จะมาทำความเข้าใจ ชำระจิตไปด้วย  สติมันจะเข้าไปชำระภายใน สัญญาอารมณ์ ความจดจำ ความหมายในสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่มันปรุงแต่งขึ้นมา  ไม่ว่าแง่โลกก็ตาม แง่ธรรมก็ตาม ...มันจะเข้ามาชำระความเห็นภายใน ที่มันไปคว้าไปจับด้วยการปรุงด้วยการจำ  มันเข้าไปทำลายอุปาทาน สัญญาอุปาทาน สังขารอุปาทาน

เพราะนั้นน่ะ จิตมันจะวางด้วยความเป็นปกติไม่ได้กับทุกเรื่องหรอก  มันก็จะมีบางวิสัย บางอาการ บางเคส บางบุคคล ที่ยังไม่ได้อยู่ ... ก็เรียนรู้ไป ให้เท่าทันมัน ให้เห็น อย่าไปหลงตามอาการที่เรายังข้อง


โยม – ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น ก็แค่ดูมันไป

พระอาจารย์ – อือ เท่าที่จะทำได้ ... อย่าไปเร่งรัดเกิน ด้วยความอยาก ... ติดก็ติด ทันก็ทัน  แต่ไม่ทิ้งแค่นั้นเอง


โยม – คือมันซ้อนกันมากมาย แต่ว่ามันหลอก มันไม่จริงใช่ไหม  เราก็ดูมันไปทุกอย่างใช่ไหมคะ ทุกอย่างก็คือสิ่งที่เรารู้แล้วก็วาง

พระอาจารย์ – อือ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับมันซะ เดี๋ยวมันก็จะจัดระเบียบของมันได้เอง  นั่นแหละวิธีแก้ มีอยู่วิธีเดียว คือรู้เฉยๆ  ช่างหัวมัน  แล้วมันก็ค่อยๆ จางลง ... ไอ้ที่มันสับสนน่ะ ไอ้อาการสับสนในอาการ จิตหลายดวงซ้อนกันน่ะ  แล้วเราดูเหมือนแยกไม่ออก มันมั่วไปหมด อะไรอย่างนี้

คือไม่ต้องไปแยกแยะใส่ใจอะไรมัน แค่รู้ว่าอย่างนี้  อย่าไปบอกว่ามันคืออะไร มีอะไรมากตรงนี้ จิตเราเป็นอย่างนี้ๆ หรืออย่างนั้น หรืออย่างโน้น  นั่นน่ะฟุ้งซ่าน มันจะยิ่งฟุ้งซ่าน ... ก็แค่รู้เฉยๆ มั่วก็มั่ว แยกไม่ออกก็แยกไม่ออก  มันสับสนปนกันหลายดวง สลับไปสลับมาของมันอย่างนั้นน่ะ  มีหลายอารมณ์ ในเรื่องเดียวมีหลายอารมณ์เหลือเกิน ตัดสินไม่ถูก อะไรอย่างนั้น  ก็ให้รู้รวมๆ

(ถามโยม) นี่อยู่บ้านคนเดียวรึเปล่า


โยม – ปกติอยู่คนเดียวมาตลอดเจ้าค่ะ แล้วพอดีว่าเพิ่งจะมีรูมเมทมาอยู่ด้วย แต่เมทไม่ค่อยอยู่

พระอาจารย์ – อยู่เป็นหอพักหรือ


โยม – ค่ะ แต่ก่อนอยู่บ้าน เพิ่งย้ายมาอยู่หอเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ – เออ ก็ดี อยู่เป็นอิสระดี


โยม – อยู่หอกับเมท มันก็ดีค่ะ ทำให้เราจะได้ฝึก

พระอาจารย์ – มีแบบฝึกหัดมาอยู่ใกล้ๆ (หัวเราะ)


โยม – ใช่ค่ะ คือจะพูดอะไรอย่างนี้ เราก็รู้ว่าเราจะพูดกิเลสเรา

พระอาจารย์ – บอกแล้วเวลาพูดน่ะ ให้ได้ยินเสียงตัวเอง  ถ้าพูดแล้วสังเกตดูเวลาเราพูดเราจะไม่ได้ยินเสียงเราเอง ... ถ้าพูดแล้วได้ยินเสียงตัวเองก็พูด เพราะมันพูดด้วยสติ  ได้ยิน รู้ว่าพูดอะไรอยู่


โยม – แต่มันมีเรื่องวิบาก แล้วบางทีโยมกลัวค่ะ  โยมฝึกอย่างนี้โยมเห็นเลยว่าทุกอย่างมันมีความละเอียดสื่อถึงกัน เห็นชัดว่ามันทำอะไรอย่างไร มันกระทบอะไรเป็นอย่างนี้ค่ะ  แล้วก็ครั้งเดียวก็กลัว ว่ามันหนีไม่ได้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ – ช่างมัน  ทำอะไรไว้...ชดใช้หมด


โยม – หลวงพ่อคะ ถ้าว่าทำเมตตาให้มันมากๆ อย่างนี้มัน... คือว่าเมื่ออาทิตย์ก่อน แม่ไปดูดวงให้แล้วแม่ว่าดวงไม่ดี ดูว่ามันจะแย่ไปหมด ดวงมันแย่มากเลยอย่างนี้ค่ะ  โยมก็เชื่ออยู่แล้ว โยมก็ร้อนรุ่ม เครียด อย่างนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ – อย่าไปเชื่อมาก หมอดูคือหมอเดา ไม่มีใครรู้จริงหรอก


โยม – คือมันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว แม่โยมเชื่อดวงมากเลยเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ – (หัวเราะ) ฝังหัวเลย


โยม – เชื่อแบบหนักเลย  แล้วคราวนี้โยมก็ว่าโยมจะไม่สนใจแล้ว

พระอาจารย์ – อายุเท่าไหร่


โยม – หนูหรือคะ ... 27 ค่ะ  คือเชื่อมาตั้ง 27 ปีแล้วไม่มีอะไรดีเลยค่ะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ – ก็นั่นน่ะสิ  ก็นั่นแหละ มันสมควรวางได้แล้วไอ้เรื่องพวกนั้น  ดวงหรือไม่ดวง มันเป็นเรื่องของการกระทำวิบากอย่างหนึ่ง  วิบากคือผลของการกระทำในอดีต แล้วก็เหตุปัจจุบันประกอบกัน อยู่แค่นั้นแหละ

หมอดูนี่ เขาห้ามดูอย่างหนึ่งคือห้ามดูพระ ดวงพระไม่ต้องไปดู เพราะดูทีไรก็ไม่เคยแม่นเลย เพราะพระไม่เคยเชื่อ พระส่วนมากไม่เชื่อดวง พระไม่สนใจอดีตอนาคต พระอยู่กับปัจจุบัน ...นี่ไม่ใช่พระทั่วไปนะ  หมายถึงพระที่ปฏิบัติน่ะ

ถ้าเราอยู่ในปัจจุบัน คือปัจจุบัน ทำอยู่ในปัจจุบัน รู้อยู่ในปัจจุบัน  อดีตอนาคตนี่มันไม่ได้เป็นอย่างที่เขามองหรือเขาคาดคำนวณมาด้วยตัวเลขหรือโหราศาสตร์อะไรเลย  มันจะเปลี่ยนไปในปัจจุบันๆๆ ...มีความพอดีในปัจจุบัน  แล้วมันก็เป็นไปของมันเอง

อดีตละทิ้ง อนาคตไม่ต้องคาดถึง รู้ปัจจุบัน ... แม่พูดก็จบไป อย่าไปอยู่ที่ความเห็นของแม่ อย่าเอาความเห็นของแม่มาใส่ในความเห็นของเรา แล้วก็ทำให้เราลังเล สับสน กลัว วิตก ... ก็ให้รู้เท่าทันอาการไป อย่าไปคิดต่อ 

อารมณ์หรืออาการพวกนี้ มันจะตั้งอยู่ได้มากน้อย อยู่ที่เราไปคิดต่อ  เวลามันขึ้นมาแล้วจับมาคิดต่อ จับเอาอาการพวกนี้มาคิดต่อ  หาเหตุหาผลกับมัน หาถูกหาผิดกับมันบ้าง ... คือให้รู้แล้วก็ช่างหัวมัน  อย่าไปสนใจ ไม่รู้ไม่ชี้


โยม – แต่แม่เขาก็เครียดมากเลยนะคะ เขาพูดนี่ หนูเลยบอกว่า...

พระอาจารย์ – (หัวเราะ) ก็ไม่ต้องว่ายังไง เรื่องของเขา แก้เขาไม่ได้ ... ส่วนเรื่องของเรา เราจะต้องรักษาจิตของเรา ดูจิตของเรา ... จะไปเอาจิตคนอื่นมาเป็นตัวตั้งไม่ได้ หรือจะไปแก้ความเห็นของเขาไม่ได้  แก้ไม่ได้ เขาก็ต้องเรียนรู้กับทุกข์ของเขาเอง เรื่องความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งของเขา


โยม – แล้วทำยังไงดีล่ะคะ เพราะเขาไปให้ค่าไอ้เรื่องดวงเยอะไปนี่

พระอาจารย์ – จนกว่าเขาจะเกิดปัญญา ... มันเป็นอุปนิสัย เป็นความเคยชิน ติดข้องอย่างนึงน่ะ  ...จนกว่าเขาจะเห็นว่ามันไม่ใช่ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ มันถึงจะวางได้ เลิกได้  แต่ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ยังมีความสุขอยู่กับอาการที่กระทำเช่นนี้ ความเชื่อเช่นนี้  มันไม่มีทางทิ้งหรอกความเชื่อความเห็นนี้

ทำยังไง ... ปัญญาคือถ้าเฝ้าดูด้วยสติที่เฝ้าดูไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่ามันแทรกทุกข์อยู่ตรงไหน ในความเชื่อเช่นนี้ ความเห็นเช่นนี้  เห็นทีละเล็กทีละน้อย ว่า...เออ มันทุกข์นะ มันไม่ตรง มันไม่ใช่ เอ๊ มันทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนนะ อย่างนี้

ถ้าดูไปเรื่อยๆ นี่ มันจะเห็น  แล้วมันก็จะค่อยๆ น้อยลง วางลง  ความเข้มแข็งในความเชื่อนี้มันก็จะค่อยๆ สั่นคลอน บั่นทอนลงไป ... แต่มันจะไม่ได้เปลี่ยนทีเดียวหายเลย ห้ามไม่ได้  เพราะนั้นเราแก้เขาไม่ได้หรอก เขาต้องแก้ด้วยตัวของเขาเอง

เพราะนั้นวิธีแก้ก็คือให้ธรรมะ ให้เขาเรียนรู้ สติ สัมปชัญญะ ... เราก็ไม่ต้องบอกหรอกว่าจะให้ไปแก้ ให้เลิกเชื่อเรื่องดวง  ก็ให้ฝึกสติไปเรื่อยๆ เยอะๆ ปฏิบัติไป  เขาเห็นความเป็นจริงเอง ว่า นี่ สิ่งที่ออกมาจากความเห็นความเชื่อทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น

แต่ตราบใดที่ยังไม่มีสติ มันก็หลงไปตามว่ามันมีความสุขกับสิ่งนั้นๆ ความเชื่อความเห็นนั้นๆ ... แล้วก็จะไปจับกับไอ้ตอนที่มันถูกน่ะ ใช่ป่าว ...สมมุติว่า ดูดวงนี่ร้อยครั้ง ถูกสักห้าครั้งนี่ มันจะเชื่อว่าแม่นแล้ว เชื่อแต่ไอ้ตอนที่แม่น  ไอ้ตอนที่ไม่แม่นน่ะมันไม่ดู ไม่จำด้วย มันก็อ้างนู่นอ้างนี่ไปเรื่อย  แต่ถ้าดูไปเรื่อยๆ ดูตามความเป็นจริง มันจะเห็นว่าไอ้ร้อยเปอร์เซ็นต์นี่ ความน่าจะเป็นมันต่ำมาก

(ต่อแทร็ก 2/7)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น