วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/5




พระอาจารย์

2/5 (530713B)

(แทร็กต่อ)

13 กรกฎาคม 2553




พระอาจารย์ –  การปฏิบัติจริงๆ ก็บอกแล้วมันไม่มีอะไรหรอก ถ้าเราไม่ไปลึกลับซับซ้อนกับมัน ... อย่าไปลึกลับซับซ้อน ให้รู้ไปตรงๆ  กายยังไง จิตยังไง รู้ตรงนั้นแหละ เท่านั้นแหละ ไม่ต้องสงสัย  ละความสงสัยทิ้งให้หมด

ความสงสัยทั้งหลายทั้งปวง...ที่เคยได้ยินมา เคยจดจำ เคยพิจารณา เคยคิดเอา เคยคาด เคยหวังอะไรนี่  ทิ้งให้หมดเลย  ความสงสัยลังเล ...ละมันให้ได้  อย่าเอา อย่าออกไปกับความสงสัย  ถูก-ผิดอะไรไม่เอาทั้งสิ้น รู้ไปอย่างนั้นแหละ  รู้อยู่ในนี้แหละ รู้กายรู้ใจ รู้ไปเถอะ  ไม่ต้องไปหาความลึกลับซับซ้อนมัน แค่นั้นแหละ

ให้มันสั้น ให้มันตรงลงที่ตรงนั้นน่ะ ลงไปในที่อันเดียว กายอันเดียว จิตอันเดียว ...กายสอง จิตสองไม่เอา กายอดีตไม่เอา กายอนาคตไม่เอา กายในที่ข้างหน้าไม่เอา  กายหยาบ กายละเอียด กายที่ยังไม่ปรากฏ  จิตข้างหน้า จิตข้างหลัง จิตที่จะเป็นสภาวะข้างหน้ารองรับอย่างนั้นอย่างนี้ ...ไม่สนใจทั้งสิ้นน่ะ  ให้อยู่กับกายเดียวจิตเดียว กายเดียวจิตเดียวตรงปัจจุบัน

รู้ตรงนี้...กายยังไง จิตยังไง  ฟุ้งซ่าน รำคาญ เฉยๆ ปกติ ผิดปกติ ไม่ปกติ ดีใจ เสียใจ เศร้าหมอง ขุ่นมัว ...มีอะไรรู้ไปตรงๆ ตรงนั้น ที่เดียว  ให้มันจิตอันเดียวกายอันเดียว แล้วทุกอย่างจะง่ายเอง ... มันยากเพราะสงสัย มันยากเพราะกลัว  กลัวผิด กลัวไม่ได้อะไร

ก็กูไม่เอาอะไรสักอย่าง มันก็ไม่ต้องกลัวว่าไม่ได้อะไร  เพราะไม่ได้เอาอะไร เข้าใจมั้ย ... แต่ถ้าคิดว่าจะเอา แล้วมันทำน่ะ มันจะไม่แล้วใจ  เพราะกลัวไม่ได้ กลัวไม่ได้ธรรม ... ข้อสำคัญเลยคือมันอยากได้ธรรม อยากได้ขั้น อยากได้ภูมิ อยากสำเร็จ  จะได้สบายใจ จะได้หมดภาระซะที

ทีนี้ก็วิ่งไป เหมือนกับวิ่งเอาชนะมันน่ะ วิ่งเอาชัยชนะ จะวิ่งสู่เส้นชัยให้ได้ เข้าใจมั้ย  จิตมันก็ไม่อยู่กับที่ มันก็จะวิ่งไปสู่จุดนั้น ... ดูไปเพื่อมีเป้าหมายนั้น ดูเพื่อให้เกิดความเห็นนั้น เมื่อไหร่จะไม่มีตัวไม่มีตน เมื่อไหร่จะหมดความสงสัย เมื่อไหร่จะละสักกายหรือตัวเราของเรา

อย่าไปคอยเทียบคอยเคียงอยู่ตลอด ...ไม่เอาน่ะ ธรรมก็ไม่เอา นิพพานก็ไม่เอา ...เอากายเอาจิตตรงเนี้ย ให้รู้อยู่ตรงเนี้ย  นี่ล่ะ รู้ไปตรงๆ  แล้วทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น สั้นขึ้น ไม่ซับซ้อน ...เป็นธรรมดา  

มันจะกลับคืนสู่ความเป็นธรรมดา เป็นปกติ ... จะไม่มีว่าเป็นกิเลส จะไม่มีว่าดี จะไม่มีว่าไม่ดี  มันมีและมันปรากฏอย่างนั้น...จริง มันปรากฏอาการอย่างนี้เกิดขึ้น...จริง มันตั้งอยู่...จริง มันดับไป...จริง มันเกิดขึ้นใหม่...จริง แค่นี้ ...ทุกอย่างจริงหมดเลย

ไม่มีอะไรไม่ดี ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีว่าควร ไม่มีว่าไม่ควร ไม่มีว่าใช่ ไม่มีว่าไม่ใช่ ... เราดูตรงนี้แล้วเห็นมันเกิดขึ้น...ใช่หมดเลย  อาการนี้ถูกหมดเลย...เพราะมันปรากฏแล้ว  จะมากจะน้อย...ไม่ว่า จะถูกจะผิด...ไม่ว่า จะเสื่อมหรือไม่เสื่อม...ไม่ว่า ... มันปรากฏยังไงคือยังงั้น ไม่เลือกอันใหม่ ไม่หาอันใหม่มาทดแทน ไม่แก้ ไม่แทรกแซง ไม่อะไร

ไม่รู้อะไรก็ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่ามันคืออะไรก็ไม่ต้องเข้าใจ  ก็มันเป็นอย่างนี้ก็คือเป็นอย่างนี้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไร  ก็รู้มันไป เรียกว่ารู้ตามอาการ รู้แค่มันเป็นอาการ ... ไม่ใช่รู้ตามบัญญัติหรือสมมุติ  ถ้าไปรู้ตาม ให้ค่าตามบัญญัติสมมุติเมื่อไหร่ มันจะส่าย  บัญญัติสมมุติมันจะพาเราออกไป สู่จุดนั้นสู่จุดนี้  มันจะยืดยาว

เพราะนั้นตัวสมมุติบัญญัตินี่เป็นตัวที่ปิดบังวิมุติ หรือว่าเป็นตัวที่ปิดบังปรมัตถ์ หรือว่าปิดบังความเป็นจริง ... ปัญญาก็ต้องเพียรพยายามเข้าสู่การเห็นตามความเป็นจริง คือเห็นไปตรงๆ  ไม่เอาความคิดความจำ ไม่เอาสิ่งที่เราเคยคิดเคยจำเคยผ่านมา มาวิพากษ์วิจารณ์มัน

เพราะนั้นน่ะ ความปรุงแต่ง พอรู้ปุ๊บ เริ่มปรุงต่อ เริ่มสงสัย เริ่มหา ปุ๊บ หยุดเลย ไม่เอา ไปรู้อันอื่น ไปทำอะไรให้มันมีอากัปกริยาซะ ... ถ้านั่งอยู่เฉยๆ ก็มีอาการเคลื่อนไหวซะ แล้วก็ไปดูการเคลื่อนไหว  ไปเดินเล่นสบายๆ 

ให้เห็นกับอาการของกายเบาๆ แล้วก็เดินชมนกชมไม้ เดินไปสบายๆ ... ปล่อยให้จิตมันคลายออก ไม่ต้องสงสัย ...ไม่ต้องกลัวว่า ถ้าความสงสัยไม่หายไปด้วยการรู้การเข้าใจแล้วมันจะไปไม่ได้ จะเข้าไม่สุดเข้าไม่ตรง ...ไม่เกี่ยวเลย

ความสงสัยคือกิเลสอันหนึ่ง คือความเห็นผิดอย่างหนึ่ง ...คือการไปวนหาภพที่มันต้องการ โดยมันขึ้นมาเป็นรูปแบบของการสงสัย ... แต่ว่าเป็นกิเลสเบื้องต้นที่เราข้ามไม่พ้นส่วนมาก มักจะคาอยู่แค่ความสงสัย 

กลัว...ถ้าไม่รู้แล้วจะไปไม่รอด ถ้าไม่เข้าใจสภาวะที่เห็น แล้วมันไม่ชัดเจน ให้ความหมายมันไม่ได้  ไม่รู้มันจะมายังไง ไปยังไง  ไอ้ที่เห็นอันนี้ มันถูกรึเปล่า ผิดรึเปล่า ... สงสัย แล้วก็เศร้าหมอง ขุ่น  มันก็ขึ้นซ้ำซากอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วก็สงสัยกับอาการนี้ สงสัยกับการกระทำอย่างนี้

ละมันเลย ละมันตรงนั้นเลย ไม่สงสัย ... กล้าที่จะละความสงสัย ...โง่เป็นโง่ ไม่รู้เป็นไม่รู้ ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ... ผิดก็ผิดวะ กูจะอยู่ตรงนี้  มีอะไร  กลัวอะไร อย่างมากก็ลงนรก จะทำไม (โยมหัวเราะกัน) กูจะไปเดินเล่นในนรกสักชาติสองชาติ กลัวทำไม

เอ้า จริงๆ เวลาเราดูจิตของเรานี่ เราดูของเราเอง ไม่สนใจน่ะ  มันจะบอกว่า ไม่ได้นะ อย่างนี้ทิ้งไม่ได้นะ เข้าวัดปฏิบัติ การนั่งสมาธิ การทำความเพียร ไม่ทำผิดนะ ลงนรกนะ  มันก็มีความปรุงแต่งนี้ขึ้นมา  เราก็ปรุงแต่งสวนมัน กูจะไปเที่ยวนรก มีปัญหาอะไรรึเปล่า กูไม่เอาคือไม่เอา ถ้าไม่ทำคือไม่ทำน่ะ 

มันจะบอกว่า เออ ถ้าไม่ทำแล้วไม่ดีนะ เดี๋ยวมันจะไปไม่รอด กำลังมันไม่พอ กำลังมันจะน้อย จิตไม่มีกำลัง มันจะต้องอาศัยความสงบเป็นฐาน ต้องไปเดินจงกรมทำความเพียรเยอะๆ  แต่ก่อนก็เคยทำ เดี๋ยวนี้ทำไมถึงไม่ทำ  มันจะขึ้นมาอย่างนี้

เราบอก ไม่ทำ ไม่เอา มันบอก เดี๋ยวลงนรก เป็นพระนี่ไม่ทำ เดี๋ยวเป็นวัวเป็นควาย ขอเขากินแล้วเขาเลี้ยงแต่ไม่ทำงาน ไม่ภาวนา เดี๋ยวก็เป็นวัวเป็นควาย มันจำได้ มันเคยได้ยินมา  ...ให้เรากลัว ให้เราต้องไปทำ

ก็บอกไม่ กูก็จะเป็นวัว กูก็จะเป็นควาย  พอไม่ไป มันก็บอก เดี๋ยวลงนรกนะ ...นรกกูก็จะลง กูไม่ทำๆ ไม่เชื่อ ...กลัวทำไม พระพุทธเจ้ายังลงนรกตั้งกี่ครั้ง ใช่ป่าว  เป็นมาหมด  กลัวทำไม ไปอยู่ในอเวจีสักห้าร้อยชาติพันชาติ กลัวทำไม

จิต...ต้องกล้ากับมัน อย่าไปกลัวมัน อย่าไปกลัวตาย อย่าไปกลัวว่าไม่ได้อย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้นะ ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ... ถ้าไม่ทำก็ไม่ทำ อยู่เฉยๆ จะดูมัน ดูมันไป ...สงบก็ไม่เอา จะอยู่กับความไม่สงบอย่างนี้ มีอะไรรึเปล่า  ดูซิจะเป็นยังไง

พอเวลานอน เวลานั่ง เวลายืน เรานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เรานอนเอาตีนก่ายหน้าผาก คือไม่แก้ไขอะไรเลย คลุกอยู่กับมันนั่นแหละ ไม่ทำอะไรเลย ... เอามันจน 'ใครแน่กว่าใคร' เอางั้นเถอะ  กลัวทำไม  ใครมันว่าผิด ผิดก็ผิด กูจะอยู่อย่างนี้ ไม่ทำ กูไม่ทำ ดูมันอย่างเดียว ไปกลัวอะไรมัน อาการพวกนี้  มันเหนียวแน่น มันจะหาทางให้เราหนีภพปัจจุบัน

เราถือว่าสิ่งที่ปรากฏนี่เป็นความจริง เป็นภพปัจจุบัน ...แล้วมันไม่กล้าที่จะเผชิญกับภพนั้น  มันจะดิ้นเพื่อไปหาภพหรือเวทนาใหม่ ...คือภพใหม่ คือวัฏฏะ คือความต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้น  

เดี๋ยวมันก็ว่าได้ภพใหม่ขึ้นมา เอาอีกแล้ว จะมีภพใหม่ๆ  มันน่าจะเป็นอย่างนี้ น่าจะทำอย่างนี้ต่อ น่าจะได้อย่างนี้มากขึ้น’ ... เห็นมั้ย มันจะไม่มีคำว่าจบเลย  เดี๋ยวก็สงสัยอีกแล้ว เอ แค่นี้จะไม่พอนะ เรายังติดอยู่ตรงนี้อยู่ เรายังวางตรงนี้ไม่ได้ ดูจากอารมณ์ที่ผ่านมา เราว่ามันยังมีนะ แล้วก็ทำอะไรเพื่อจะเข้าไปละมัน อย่างนี้

จะทำไปเพื่อเลิกละทั้งนั้นนะ เป็นธรรมทั้งนั้นแหละ ... ไม่ใช่ว่าไปหาลูกหาเมียอะไร  จะทำเพื่อละกิเลสทั้งนั้นน่ะ  มันก็ยังออกมาเป็นว่า ยังไม่พอนะ ต้องทำอย่างนี้เพื่อเข้าไปละ ต้องให้มันชัดเจน ถึงจะละได้คลายได้นะ อยู่เฉยๆ มันจะละได้ยังไง จะวางยังไง ไม่ได้อะไร นี่ มันจะมีความปรุงแต่งพวกนี้ขึ้นมา

เพราะว่าเราถูกปลูกฝังมา ...การปฏิบัติธรรมก็อ่านมาทุกคนน่ะ  ต้องนั่งสมาธิมากๆ ภาวนามากๆ ทำมากๆ  จิตต้องสงบ สมาธิเป็นบาทฐานให้เกิดปัญญา  ถ้าจิตเกิดสมาธิ สมาธิมั่นคงก็จะเกิดปัญญา ...เราก็เชื่ออย่างนี้ เป็นความเชื่อที่นักปฏิบัติทุกคนก็ต้องเริ่มอย่างนี้

พอเริ่มจะปฏิบัติแบบไม่เอา ไม่เป็น จะละลูกเดียว ...มันก็จะมีความเห็นเก่าๆ ขึ้นมา  เหมือนเซลส์แมนที่มาเสนอขายอยู่เรื่อย 

ต้องอย่างนี้นะท่าน ต้องอย่างนั้นนะ ...ดูสิ ครูบาอาจารย์ท่านทำมาตั้งเท่าไหร่ มานั่งเฉยๆ อย่างนี้ ไม่ทำอะไร ไม่พิจารณา จะได้อะไร ไม่เห็นอะไร จะละกายได้ยังไง ยังไม่เห็นอสุภะ แล้วมารู้เฉยๆ อย่างนี้ ไม่เห็นมันมีความรู้อะไร มันจะไปละกามราคะ โทสะ โมหะ ได้อย่างไร ...จิตมันก็เกิดความสงสัยลังเล

เพราะนั้นวิธีแก้ความสงสัยลังเลคือ ไม่เชื่อมันเลย  อยากคิด คิดไป กูไม่เอาอย่างเดียว ไม่เชื่อๆๆ  ไม่เชื่อความเห็นของตัวเอง ไม่เชื่อความเห็นของครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อความเห็นของพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อใครทั้งสิ้น ... จะอยู่มันตรงนี้ ไม่เอาคือไม่เอา  แล้วอดทนกับทุกข์ตรงนั้น...ที่มันอยากได้อยากเป็น แล้วก็ไม่ตามความอยากนั้นไป  ไม่หนีภพ แสวงไปหาภพใหม่ ... อดทนจนถึงที่สุด

แล้วมันก็ค่อยๆ ชิน  ค่อยๆ ชำนาญ  ค่อยๆ รู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย ... สุดท้ายจิตมันก็เริ่มสมูธแล้ว คลาย  เริ่มเป็นปกติกับอาการ ...เราจะไม่กระวนกระวายต่ออาการที่มันมี มันเป็น มันตั้งอยู่ ... พอเราไม่กระวนกระวาย  อาการที่มันมี มันเป็นนี่ มันจะผ่านไปเร็วมาก

ความฟุ้งซ่านหรืออารมณ์ หรือความทะยานไปในความคิด ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง มันก็จะผ่านไปเร็วมาก ...ก็จะเห็นเป็นธรรมดา  

มันอยู่ในระดับสมดุล มันจะอยู่ในระดับ...อาการพวกนี้จะเป็นอาการที่มี ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลยนะ ความคิดก็มี ความรู้สึกก็มี อารมณ์ก็มี ความปรุงแต่งในอดีตอนาคตก็มี ...แต่มันอยู่ในระดับสมดุล แค่ผ่านๆ

คิดพอให้รู้แล้วก็ผ่าน มันไม่ใช่...โอ้โหย ข้ามวันข้ามคืนหรือว่าจริงจัง หรือว่าคาราคาซังอยู่ ผูกซ้ำซากๆ อยู่ ... มันจะเห็นเบาๆ ไม่ซีเรียสกับอาการนั้น  จิตมันจะพัฒนาไปอย่างนี้ ด้วยการที่อดทน แล้วก็ผ่อนคลาย  หยุดการแสวงหา หยุดการสร้าง หยุดการเข้าไปเสวย หาสุข อะไรที่มันมีตรงนี้

ถึงบอกให้สันโดษในธรรม สันโดษ ยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่เป็น ตรงนี้ กายมีอยู่เท่านี้ รู้เท่านี้ มีเท่านี้  จิตเป็นอย่างนี้ มันไม่ดีกว่านี้ก็ไม่ต้องให้จิตดีกว่านี้ ไม่ต้องหาอะไรที่มันดีกว่านี้ 

อยู่กับอารมณ์ที่ดูเหมือนไม่ดี ก็รู้ไป ...ไม่ต้องหาอารมณ์ดีมาดู หรือไม่ต้องทำให้อารมณ์ดี  คือสิ่งที่เรียกว่าเจริญ จิตเจริญ ...จิตเจริญจิตเสื่อมก็อยู่ที่อาการ อยู่ที่ความพอใจของเรา ความอยากหรือไม่อยาก ... ถ้าเรารับรู้ด้วยอาการเป็นธรรมดาปกติเท่าไหร่ นั่นแหละคือการเดินของจิตในองค์มรรค

ไม่ใช่เดินในลักษณะที่กระทำขึ้นในลักษณะแบบของสุดโต่ง คือเลือกแล้วก็ทำให้มันดี แล้วก็ป้องกัน ไม่ดีไม่ให้เกิด  เขาเรียกว่าดำเนินในวิถีของความสุดโต่ง

เพราะนั้นการเดินในองค์มรรค เป็นการเดินที่เหมือนกับไม่ได้เดิน แต่จิตมันจะเดินไปในครรลองของมรรค เดินไปในวิถีแห่งมรรค คือเป็นธรรมชาติ ... เพราะนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรกับจิต เราไม่ทำอะไรกับกาย ไม่มีเจตนากับมันเลยนะ  ถามดู มันจะไม่สามารถยืนเดินนั่งนอนหรือเปล่า เข้าใจมั้ย มันก็ทำของมันไปได้ทั้งวันนั่นแหละ

จิตมันก็ดำเนินของมันตามครรลองเป็นเสต็ปๆๆ โดยที่เราไม่ได้มีเจตนานะ  มันก็มีกระบวนการของมันเองอยู่แล้ว เห็นมั้ย  ไม่ต้องไปกำกับ บังคับ ดูแลอะไรมันเลย หรือว่าให้มันอยู่ในครรลองไหน  มันมีครรลองเฉพาะของมันอยู่แล้ว โดยธรรมชาติของกาย ของขันธ์นั้นๆ

แค่นั้นน่ะ กายและจิตมันก็กลับคืนสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของเขา ... พอไปถึงตรงนั้นแล้ว มันจะไม่เรียกว่ากิเลสแล้ว ไม่เรียกว่ากิเลส นี่ดี นี่ไม่ดีแล้ว ... แต่มันเป็นวิถีแห่งความเป็นจริงของกายและจิต หรือว่าธรรมชาติที่แท้จริงของกายและจิต ตามรูปแบบของวิบาก เหตุปัจจัยที่ก่อเกิดการรวมตัวของสังขารนั้นๆ แค่นั้นเอง

เพราะนั้นจิต เวลาอยู่ในสิ่งแวดล้อมวุ่นวาย  จิตก็วุ่นวาย  เวลาอยู่เกลือกกลั้วกับคนที่อารมณ์ไม่ดี หรือคนที่มีความปรุงแต่งมาก แล้วเราอยู่ตรงนั้น จิตก็มีความปรุงแต่งตามอาการ ... คือยังไงก็ยังงั้น เข้าใจมั้ย  ไม่ใช่ว่ากลางคือโด่ทนโท่ ไม่มีอะไรแล้วต้องไม่มีอะไรตลอดเวลา มันไม่ใช่  มันก็ตามเหตุและปัจจัยนั้น

แต่ว่าเวลามันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เราจะรับรู้อาการนั้นด้วยความปกติ ไม่ได้ตื่นเต้นดีใจหรือเสียใจในการที่มันเปลี่ยนไปไม่คงเดิม เข้าใจมั้ย ... นี่เรียกว่าจิตมันยอมรับไตรลักษณ์โดยปริยาย 

และไม่ได้ห้ามการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ว่าอันนี้เกิดได้นะ อันนั้นเกิดไม่ได้นะ มันจะต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้นนะ ... อย่างนี้มันไม่ใช่ไตรลักษณ์ ไม่ยอมรับไตรลักษณ์แล้ว เป็นการควบคุมกลายๆ ...ตรงนี้เรียกว่าไม่ถึงฐานของจิต ไม่เข้าถึงฐานใจที่เป็นกลาง โดยที่สุด

ก็ต้องมาเรียนรู้ ว่าเรายังกั๊ก...จิตกับสภาวะกลางแบบนี้อยู่มั้ย ... เวลามานั่งอยู่ป่าคนเดียวนี่ จิตมันสบาย  พอกลับบ้าน เปลี่ยนแล้ว จิตเปลี่ยนแล้ว ...แต่มันก็จดจำสภาวะอันนี้ไปว่า มันน่าจะเป็นอย่างนี้นะ  แล้วก็พยายามจะให้มันเป็นอย่างนี้ เพราะเข้าใจว่าอย่างนี้เป็นกลางมากกว่า 

เราบอกไม่ใช่นะ ... ไอ้ตรงนั้นก็กลาง มันก็เป็นธรรมชาติของใจที่มัน...ธรรมดาที่มีอาการกระทบกัน (เสียงสัมผัสแรงๆ ของสองสิ่งที่กระทบ) เนี่ย ตีแรงเสียงดัง ตีเบาเสียงเบา  เนี่ย ความเป็นจริงของผัสสะ ของการกระทบ และการรับรู้โดยวิญญาณขันธ์  มันก็รับรู้ตามผัสสะนั้นๆ เข้าใจมั้ย

 จิตไม่เหมือนเดิมหรอก อาการก็ไม่เหมือนเดิมหรอก  แต่มีความรู้ที่เหมือนเดิมคือ...ยอมรับได้ ยอมรับได้โดยไม่มีเงื่อนไข  นั่นแหละ คือยอมรับความแปรปรวน ความไม่เที่ยง ความไม่คงอยู่ ความที่ไม่ใช่ของเรา ...นั่นต่างหากคือปัญญา

ไม่ใช่ปัญญาที่คอยควบคุมให้เป็นอย่างนี้ตลอดเวลานะ ... เหมือนที่จิตตอนนี้มันเบา มันสบาย  แล้วจะต้องจดจำภาวะนี้ไว้ แล้วเวลาไปอยู่ในคนรอบข้างที่เขากำลังพูดเจ๊าะแจ๊ะๆ แล้วเราจะต้องเป็นเหมือนภาวะเดิมนี้ตลอดเวลา เป็นทื่อมะลื่ออย่างนี้ ... นี่เรียกว่าโง่แล้ว รักษาจิตแบบโง่แล้ว กลางแบบโง่ๆ แล้ว  กลางแบบท่อนซุง

ไม้จิ้มฟันก็ทำมาจากท่อนซุง แต่ท่อนซุงเอาไปจิ้มฟันไม่ได้ เข้าใจป่าว ... แต่พวกเราถือท่อนซุงแล้วจะเอาไปจิ้มฟันตลอดเลย มันไม่ถูกแล้ว ... จะจิ้มฟันก็ต้องเอาไม้ซุงมาทำเป็นไม้จิ้มฟันก่อนอย่างนี้  คือเหตุ ...มันไม่ใช่ว่าจะถือเอานี่เป็นเกณฑ์ นี่เป็นมาตรฐาน แล้วก็แบกมันไปตลอดความเป็นกลางนี้ แล้วก็กลางนี้ตลอด ...ไม่ใช่

สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป จิตก็เปลี่ยนไป ... แต่เราไม่ต้องไปอินังขังขอบหรอกกับการเปลี่ยนไปของจิต  ถือว่าเป็นธรรมชาติ  เราไม่เรียกว่ากิเลส เราไม่เรียกว่าไม่กิเลส  มันเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น  แล้วสุดท้าย เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปอีก

พอออกจากที่สังคมนั้น กลับมาอยู่คนเดียว  เอาแล้ว เริ่มเปลี่ยนอีกแล้ว สภาวะจิตเริ่มคลายออกแล้ว ...ไม่ได้ทำอะไรนะ วิถีของมันเป็นอย่างนั้นเอง ... อย่าไปจดจำอารมณ์เดิมมาผูกพัน เนี่ย เขาเรียกว่าไม่เท่าทันในสัญญาอารมณ์ ... ถ้ากลับไปบ้านยังจำอารมณ์นี้มาใช้ปุ๊บ นี่ ไม่เท่าทันในสัญญาอุปาทาน

เอาสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว...จะให้เกิดขึ้น มีอยู่ในปัจจุบัน  นี่เขาเรียกว่าจิตแล่นออกมาในอดีต  ถ้าอยู่นี้แล้วกังวลไปถึงข้างหน้า นี่จิตแล่นไปในอนาคต ... หลงทั้งคู่น่ะ หลงไปอุปาทานหรือความหมายมั่นขึ้นมาทันที

แต่ถ้าอยู่ตรงนี้ๆ ไม่คิดล่วงหน้า  จะเป็นยังไง ว่ากันแบบไลฟ์คอนเสิร์ต  คือเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น แล้วก็ปกติกับมัน  ช่างหัวมัน ไม่ใช่จิตของเรา ... ถ้ามันเป็นเรามันก็ต้องไม่เปลี่ยนสิ จะพอใจอย่างนี้ มันก็ต้องอยู่อย่างนี้  ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ตลอด

แต่ถ้าใครทำได้สักครั้งแล้วมันจะติดน่ะ  นี่คือเรียกว่าการควบคุม การประคอง การหน่วง การเพ่ง  เพียรเพ่งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง สภาวะใดสภาวะหนึ่ง ... ถึงบอกสภาวะคือสภาวะ รู้แล้วก็ทิ้งเลย

เนี่ย คืออยู่นี้ ก็คือสภาวะนี้ คือช่วงนี้เวลานี้ ... เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน ไม่อยู่อย่างนี้  มันไม่เป็นอมตะหรอก  นี่คือไตรลักษณ์  ไม่ต้องไปดีอกดีใจกับมัน ไม่ต้องไปเสียอกเสียใจกับมัน เดี๋ยวมันก็หายไป มันเป็นธรรมดา

เพราะนั้นจิตจะต้องมีปัญญาถึงจะมองเห็นทุกอย่างนี่แปรเปลี่ยนเป็นธรรมดา ...ไม่ได้ผิด ไม่ได้ถูก  ไม่ได้ดี ไม่ได้เลว  แต่มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นอย่างเนี้ยๆ ไม่มีดีกว่านี้แล้ว

แต่ถ้ายังคิดว่ามีอะไรที่ดีกว่านี้  นี่มิจฉาทิฏฐิแล้ว โง่อีกแล้ว หลงแล้ว ...มันโง่แล้วยังโง่ซ้ำซากอีก หาความคิดมาผูกให้ซ้ำซากลงไปอีก ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ในสภาวะใดสภาวะหนึ่งที่เราพอใจ  แล้วก็ผลักดันในสภาวะที่เราไม่พอใจ ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น

แล้วเรียนรู้...กลางคือไม่มีเงื่อนไข ยังไงยังงั้น  ท่านถึงบอกมันเป็น ตถตา มันเป็นอย่างนี้...เป็นตามเหตุและปัจจัย  ...ไม่ได้ขึ้นกับเราเป็นหลักหรอก ไม่เกี่ยวด้วยซ้ำ  อยากให้มันดีมันก็ไม่ดี มีอะไรรึเปล่า 

ถ้ามันมีปากมันก็บอก มึงยุ่งอะไรกับกู กูไม่ใช่ของมึง กูคือจิตที่เป็นธรรมชาติ กูรวมตัวก่อเกิดเป็นจิตได้ด้วยการปรุงแต่ง ด้วยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง’ ...ซึ่งเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น นอกเหนือจากที่เราจะควบคุมการเข้ามารวมกันของเหตุปัจจัยนั้น  แต่มันเป็นธรรมชาติที่มันมีมันเป็นของมันเอง  

เราก็ต้องมาเรียนรู้ ให้มันฉลาดจากความโง่ที่เราเคยโง่ แล้วมันจะโง่ต่อไป...ด้วยเคยชิน เข้าใจมั้ย ... กิเลสคือความเคยชินนะ จริงแล้วอนุสัยคือความเคยชิน  ซ้ำซากกับอารมณ์ การกระทำเก่าๆ คิดแบบเดิม ยึดแบบเดิม ทำไปเหมือนเดิมๆ 

มันมาก็ต้องแก้ต้องรักษา มันมาก็ต้องเปลี่ยนต้องให้อย่างนั้นดีกว่าอย่างนี้ ...คอยให้ค่าไว้ คอยแบ่งว่าอันนี้ถูกอันนั้นผิด อย่างนี้ มันเป็นความคิดเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ ...นี่คือความคุ้นเคย ความเคยชิน  เป็นนิสัย เป็นอนุสัย จนมันหมักหมมอยู่เป็นอาสวะแฝงอยู่ในใจตลอด  มันคอยจะกระทำอยู่ตลอด ... จิตเราเป็นตัวพาสร้างมโนกรรมอยู่ตลอด

เมื่อทำซ้ำซากๆ ในมโนกรรมปุ๊บ  มันก็มีการพูดการกระทำต่อเนื่อง เป็นวาจาบ้าง เป็นกายสังขารบ้าง  พาเราเดิน พาเรายืน พาเราไปหาของกินอร่อยๆ พาเราไปหาที่นอนสบายๆ พาเราไปหาที่สงบๆ เพื่อจะหนีอารมณ์  พาเราไปหาความสุขในการที่ว่าได้พูดได้คุย

เห็นมั้ย นี่ มันเกิดจากความคิดหรือว่ามโนกรรมก่อน...ที่มันผลักดันให้เราแสวงหาภพที่มันพอใจ หรือเป็นสุข แล้วก็เลี่ยงหนีจากความเป็นจริงที่มันปรากฏอยู่ต่อหน้า

แต่ถ้าเรามีสติคอยรู้เท่าทัน สังเกตอาการ แล้วมันจะ... อ๋อๆ มันเป็นอย่างนี้ เพราะอย่างนี้ๆ นะ มันจะเรียนรู้กระบวนการ แล้วมันจะคัดไอ้ส่วนที่ไม่จริงออก ... มันจะคัดออก คือวาง ไม่เชื่อ อันนี้ทำด้วยตัณหา อันนี้ทำด้วยความอยากมีอยากเป็น  มันก็รู้ทัน รู้ทันแล้วก็ไม่เอาๆ

เพราะนั้นการยืนเดินนั่งนอน การกระทำไป จึงเป็นไปตามเหตุและปัจจัย  ไม่ได้เป็นไปตามเหตุของความอยากเป็นตัวนำวิถีการยืนเดินนั่งนอน การกินการเที่ยวการพูดคุย ซึ่งมันเคยเป็นเรื่องของกิเลสของตัณหา

ต่อไปมันก็ยืนเดินนั่งนอนเหมือนกัน แต่ไม่มีกิเลสเป็นตัวนำ แต่เป็นไปตามเหตุและปัจจัยอันควร อันพอดี  ต้องเป็นอย่างนี้  ถ้าไม่เป็นอย่างนี้...ทุกข์  ถ้าไม่เป็นอย่างนี้มันจะเป็นการเบียดเบียนตน  ถ้าไม่ทำอย่างนี้มันจะเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น  เนี่ย มันจะอยู่ด้วยความไม่เบียดเบียน ทั้งตนและผู้อื่น  ไม่ได้ทำด้วยความพอใจหรือไม่พอใจแล้ว

เพราะนั้นถ้าทำด้วยความพอใจหรือไม่พอใจ มันเบียดเบียนทั้งตนและเบียดเบียนทั้งผู้อื่นโดยปริยาย  เพราะนั้นปัญญามันจะกลับมาสู่ อนูปวาโท อนูปฆาโต...เป็นการอยู่ด้วยความไม่เบียดเบียน  จิตจะเป็นกลาง จนถึงที่สุดเลย

เพราะนั้นการกระทำทุกอย่างจะไม่มีเจตนา ... แต่มันก็ทำ ก็พูด  แล้วก็ต้องทำ แล้วก็ต้องพูด  แต่มันออกไปด้วยความไม่เบียดเบียน  เพราะนั้นจิตจึงอยู่ด้วยความมีเมตตา...โดยธรรมชาติเลย  เพราะไม่ปรารถนาจะให้ใครมีความทุกข์หรือได้รับผลอะไร  แต่มันเป็นธรรมชาติที่ไม่เบียดเบียน ในคำพูด ในการกระทำ ในการไปการมานั้น มันเป็นความรู้สึกที่อิสระ

คนอาจจะไม่ได้รับรู้ด้วยการกระทำหรือคำพูด แต่จะรับรู้ด้วยกระแสที่บริสุทธิ์ ที่ไม่มีอะไร ที่ไม่หวังอะไร  เนี่ย ลองดูอาการของบางคนที่เขาทำหรือเขายื่นความช่วยเหลืออะไร เราจะรู้เลยเขาไม่หวังผลอะไร  บางคนก็จะมีอาการที่เขาไม่หวังผลก็มี เราจะรู้สึกรับรู้ได้เช่นนั้น

แต่บางคนทำแล้ว เห็นหน้าเห็นแววตาก็รู้แล้ว มันมีการคาดหวังอะไรข้างหน้าอยู่  เราจะรู้เลยว่าถึงจะหยิบยื่นให้ก็ตาม แต่มันมีกิเลส มีเป้าหมายในการทำครั้งนี้ ... แต่บางคนเราก็สังเกตเห็นได้ว่าเขาให้โดยจิตจริงๆ ไม่หวังผล  เราจะรับรู้ได้ด้วยกระแส จิตมันรับทราบในผัสสะนั้นได้

ต่อไป จิตถ้าเราปล่อยวาง เราจะเป็นผู้ให้สถานเดียว ให้โดยไม่หวังเอาคืนอะไร  นี่เขาเรียกว่า จาโค ปฏินิสสัคโค ที่แท้จริง  แล้วก็ อนาลโย ไม่เอาคืน ไม่เอากลับ  แล้วแต่จะได้ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ คือจะไม่หวังว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้

เนี่ย คือธรรมชาติของจิตผู้มีปัญญา...ที่อยู่ด้วยความไม่เบียดเบียน มีแต่การสละตามเหตุและปัจจัย ... การกระทำคำพูดจึงเป็นไปตามเหตุและปัจจัยอันควร อันพอดี  ...อาจจะพูดแรง อาจจะพูดไม่ดี อาจทำแล้วขัดหูขัดตาคน แต่มันเป็นความพอดี ที่ต้องเป็น

เพราะนั้นก็บอกว่า การปฏิบัติธรรม การที่มาได้ยินได้ฟัง มาถึงจุดนี้นี่ ไม่ใช่ง่ายๆ  ยังมีอีกหลายคนที่เหมือนกับเข็นช้างผ่านน้ำน่ะ ... เลี่ยงแล้วเลี่ยงอีก หนีแล้วหนีอีก  กลัวจัง กลัวจะฟังธรรม กลัวว่าฟังแล้วมันไม่ได้อะไร หรือว่าทำอย่างอื่นมีความสุขมีความสนุกกว่า ...เห็นมั้ย เขายังมีความเห็นอย่างนั้นเยอะแยะมากมายก่ายกอง  

แล้วเราอยู่ในฐานะนี้  ก็ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าเราไม่มีบุญวาสนา ไม่มีบารมี บารมีไม่เพียงพอ  โอ้ย ยังดีกว่าคนอีกตั้งเยอะแยะ ... เหตุปัจจัยมาถึงขั้นนี้แล้ว แล้วก็เข้ามาในส่วนของปัญญาโดยตรง...มาตรงสู่ใจ แล้วก็ละที่ใจตรงๆ อย่างนี้  ไม่ต้องไปเสียเวลากับการรู้นั่นเห็นนี่อะไร ...นักปฏิบัติอีกหลายแหล่ยังไปบ้าบอคอแตกอะไรอยู่ก็ไม่รู้ หาอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ไปทำให้มีให้เป็นอะไรอยู่ก็ไม่รู้

เหมือนกับตอนเราหักลงมานี่ หักลงมาจากสมถะ หักลงมาจากรูปแบบการกระทำ  เราต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว เด็ดเดี่ยวมากเลยนะ  ฝืนกับกระแสของการปฏิบัติ ของนักปฏิบัติ  แล้วไม่มีใครบอกด้วย ทำเอง  แล้วไปยังไงก็ไม่รู้ จะได้อะไรก็ไม่รู้ จะถูกรึเปล่าก็ยังไม่รู้เลย หรือว่าจะลงนรกรึเปล่าก็ยังไม่รู้เลย อยู่ดีๆ มาทิ้งการปฏิบัติเอาหน้าดื้อๆ

แต่ว่ามันมีแรงผลักดันภายในที่ว่า มันทำแล้วไม่ใช่น่ะ เข้าใจมั้ย  ยิ่งทำยิ่งไม่ใช่น่ะ ถึงจะจิตดีขนาดไหน เข้าไปถึงขั้นไหน เห็นขนาดไหนก็ตาม มันยังมีลึกๆ ที่เราบอกมันไม่ใช่น่ะ...สำหรับเรานะ เราไม่ได้พูดถึงคนอื่น

ตัวนี้เป็นความรู้สึกที่เราละไม่ได้ เราบอกแล้วกูจะทำไปทำไม ทำแล้วมันไม่ใช่อ่ะ มันมีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ... ก็เลยเข้ามาสู่การไม่ทำ ไม่เอา แล้วกลับมารู้เฉยๆ กลับมาเจริญสติลูกเดียว ... คือเหมือนกับจะลองดูน่ะ จะลองดูสิว่า เอ้า เคยทำถึงที่สุดอย่างนี้แล้ว  ก็ลองทิ้งไอ้ที่สุดนี้ ดูอีกมุมนึงซิ

แต่ว่าต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว พอสมควร  กว่าจะยืนได้ด้วยความเห็นที่มันค่อนข้างจะไม่มีอะไรมาสั่นคลอน  ใครจะพูดยังไง ต่อให้คนนั้นมาบอกว่าผิด จิตมันเป็นอย่างนี้แหละ ไม่เกี่ยว  ไม่ได้ขึ้นกับคำพูดเลย ไม่ได้ขึ้นกับการกระทำ ไม่ได้ขึ้นกับดินฟ้าอากาศ หรือว่าใครจะทำเป็นไม่เป็นอะไร ไม่ขึ้นกับอะไรทั้งสิ้น

นั่นน่ะ ถึงได้มาพูด มาแนะนำ มาสอนให้เลิกละซะ เรื่องความคิดความเห็นในการว่า...'ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ซะก่อน  ต้องมีกำลังของจิต จะต้องสงบซะก่อน จะต้องอย่างนี้ จะต้องอยู่ในที่อันนี้' ... ถ้าใครมาบอกอย่างนี้ เราก็บอกเลยว่า...แล้วพระพุทธเจ้าเคยบอกเรื่อง 'อกาลิโก' 

ท่านพูดเลยว่าธรรมเป็นอกาลิโก ...อย่ามาอ้างเวลา อย่ามาอ้างสถานที่ อย่ามาอ้างบุคคล  ท่านบอกว่าธรรมไม่เลือกกาลเวลา สถานที่ และบุคคล  ทำไมจะต้องอย่างนั้น ทำไมจะต้องไม่อย่างนี้ล่ะ ...  ถ้าขึ้นชื่อว่าธรรมของพระพุทธเจ้าท่านว่า 'โอปนยิโก' แล้วเป็นปัจจัตตัง เป็นอกาลิโก นอกเหนือกาลเวลา อย่ามาอ้างรู้มันตรงนั้น

แต่ว่าเวลาพวกเราอยู่ในสังคม ความคิดเห็นมันจะมีหลากหลาย แล้วคนนั้นก็จะมาคุยกรอกหูเรา ในความเห็น ความเชื่อ ลัทธิซึ่งเป็นมิจฉา ... หรือแม้แต่การปฏิบัติก็มีพระแบบใครต่อใครที่มาเป็นระลอกๆ มาเป็นเทรนด์ๆ ไป  เดี๋ยวก็ตกเทรนด์ เดี๋ยวก็ไปไม่รอด  มันเป็นอย่างเนี้ย แล้วมันจะมีอย่างนี้มากขึ้นๆ ต่อไป


โยม – คนต้องการที่พึ่งด้านวัตถุเยอะไงเจ้าคะ อยากได้ก็เลยหาที่พึ่ง

พระอาจารย์ – มันเรื่องของซัพพลายและดีมานด์  แล้วก็แบบเรียนลัด ได้ตรง เห็นผลไวนี่มาแล้ว ...  กับการที่สอนให้เรียนรู้อยู่กับทุกข์ ไม่แก้นี่  มันช้า มันไม่ได้อะไร ผลก็ไม่มี ไม่ไปไม่มา  บอกแล้วว่าถ้าดูกาย-ใจ ก็ไม่ไปไม่มาเลยล่ะ ...เท่าที่มีเท่าที่เป็นนี่ มันก็มีอยู่อย่างนี้แหละ

เพราะว่าอะไร เพราะมันก็จะอยู่อย่างนั้นแหละ แต่เราไม่ไปยุ่งอะไรกับมัน ... ผลของมันคือตรงนั้นต่างหาก  ไม่ใช่ดูเพื่อให้มันเปลี่ยนไปเป็นเรียบวุธเลยอาการ  ดูไปดูมา อาการต่างๆ ไม่ให้มี แล้วว่านั่นเป็นผล ...ไม่ใช่ ผลไม่ใช่อันนั้น

เพราะนั้น ดูยังไงก็เท่าเก่าน่ะแหละ เหมือนเดิม เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนั้นน่ะ เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป...เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป  แต่เราจะออกจากความยินดียินร้ายจากอาการที่ขึ้นๆ ลงๆ หรือแปรปรวน หรือควบคุมไม่ได้ แค่นั้นเอง

ออกมากลางขึ้นๆ หนักแน่นขึ้น ไม่หวั่นไหวขึ้น ปกติมากขึ้น เรียกว่าแนบแน่นเหมือนแผ่นดินเลยน่ะ  ...ต่อให้เมื่อก่อนที่เรามีอาการนี้เกิดขึ้นนี่น้ำหูน้ำตาไหล หรือทุกข์นี้เรียกว่าถึงขั้นตีอกชกหัว ก็จะกลายเป็นว่า...เห็นเป็นเรื่องธรรมดา 

กับเรื่องเดิมน่ะ ... แต่มันจะเปลี่ยน เห็นได้ชัดเจนเลย นั่น จิตมันถอยออกจากความเข้าไปหมายมั่นในอาการที่ขึ้นๆ ลงๆ ต่างหาก ...เพราะนั้นดูไป อย่าสงสัยว่า ทำไมยังเหมือนเดิม  มันก็ยังมีอารมณ์เหมือนเดิม ยังมีอาการฟุ้งซ่านอย่างนั้นน่ะ อย่าไปยินดียินร้ายกับมันในอาการนั้น มันเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น

เพราะว่าผลไม่ใช่ว่าดูแล้วจะดีขึ้น อาการของจิตจะน้อยลง จะเป็นอย่างนั้น ...ไม่ใช่  มันจะต่างคนต่างอยู่ แล้วก็อยู่ห่างกัน  แต่มันจะอยู่ท่ามกลาง ไม่ไปอยู่ตรงโน้น แล้วก็ไม่ไปอยู่ตรงนี้  จะอยู่ท่ามกลาง แล้วก็เห็นหมด และไม่ไปยุ่งอะไร


………………..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น