วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/3




พระอาจารย์

2/3 (530701C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

1 กรกฎาคม 2553



โยม – มันมีนิสัยที่ไม่รู้จะแก้ยังไงค่ะ  คืออย่างเช่นอันนี้หนูจะเล่าให้ฟังเปรียบเทียบกับการเรียน เพราะว่าเรื่องเรียนนี่หนูผ่านแล้ว แต่ว่าเรื่องปฏิบัติหนูยังไม่ผ่าน  มันจะมีลักษณะนิสัยการทำคล้ายๆ กัน  เช่นตอนเรียนนี่ฮ่ะ สมมุติฟังอาจารย์คร่าวๆ นี่ก็คือรู้เรื่อง แต่จิตนี่มันไม่โล่ง เหมือนมันย้ำคิดย้ำทำ  แล้วอ่านหนังสือสอบก็คืออ่านหกรอบ คือรอบแรกก็เอามาย่อมาอะไรก่อน แล้วค่อยๆ อ่าน คืออ่านดูหัวข้อทั้งเล่มแล้วค่อยดูว่ามีอะไรบ้างๆ  

คืออยากจะเป็นเหมือนคนอื่นที่ว่าอ่านทีละหน้าแล้วเขารู้เรื่อง แต่ของเรานี่ไม่รู้เรื่อง คือเราต้องรู้ก่อนว่าในเรื่องนี่มันมีอะไรบ้าง แล้วเอามาดูทำความเข้าใจ แล้วมันถึงสำเร็จได้  คือไม่ชอบจำอย่างนี้ค่ะ คือมันเหมือนกับช้ามากเลย มันนานมาก  แต่ถ้าเข้าใจทั้งหมดแล้วมีเรื่องอะไรบ้างแล้วมาอ่านนี่แทบไม่ต้องจำ คืออ่านปั๊บเข้าหัวๆ คือรู้เรื่องหมดเลย คือท็อปได้เลยอย่างนี้ค่ะ  

ทีนี้มันเป็นนิสัยเสียที่ว่า มันทำอย่างนี้มันช้ากับการปฏิบัติธรรม คือพอมาปฏิบัติธรรมปั๊บ มันก็มีลักษณะนิสัยแบบเดิมน่ะ คือเหมือนหนูฟังหลวงพ่อนี่ฮ่ะ หนูก็รู้เรื่องว่าใช่  แต่ตัวฉันทะจนถึงที่สุดนี่มันไม่มี เหมือนกับมันรู้ไม่ทั่วอย่างนี้ค่ะ คืออยากจะเอาออก อยากจะเอาออกเหมือนกัน

พระอาจารย์ – ไม่ต้องเอาออก รู้ยังไงก็รู้ยังงั้น อยู่อย่างงั้นแหละๆ


โยม – มันเลยฉันทะมันไม่ถึงที่สุด มันทำไม่ได้

พระอาจารย์ – ไม่ต้องหรอก ... เท่าที่มี เท่าที่ได้นั่นแหละ ...เอาเท่าที่ได้น่ะ แล้วมันจะค่อยสร้างฉันทะขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ... จะไปหาวิธีให้เกิดฉันทะ ความพอใจในการปฏิบัติจนถึงสูงสุดจากการเข้าใจทีเดียวเลย...ด้วยการปฏิบัติธรรมนี่ ...ไม่ได้หรอก

มันจะเริ่มสะสม ...เหมือนกับสร้างเจดีย์น่ะ ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ... ต้องขยัน อดทน  อดทนรู้ไป  จะอยากรู้และไม่รู้ก็ตาม  อยากทำแล้วสงสัย กังวล ลังเล ก็ให้รู้ว่าสงสัย กังวล ลังเล ...ไปเรื่อยๆ รู้ไปๆ รู้เข้าไป

แล้วมันจะค่อยๆ เห็นผลทีละเล็กทีละน้อยๆ ตามลำดับๆ  แล้วมันจะเกิดความฉันทะวิริยะตามมามากขึ้นๆ ...จะฟังแล้วเอาประโยชน์สูงสุดแล้วเข้าใจยอมรับสูงสุด ก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นแหละ ...มันไม่ใช่ เข้าใจมั้ย  มันไม่สำเร็จด้วยความคิด

อย่าไปคิดว่า...ต้องคิดจนเข้าใจถ่องแท้แล้ว จึงจะเกิดความพอใจในการทำถึงที่สุดนี่...ไม่ได้นะ   เพราะที่คิดขึ้นมาน่ะผิดหมด บอกให้...ไม่มีทาง ไม่ใช่ด้วยซ้ำ  เพราะเราไม่สนับสนุนความคิดเลยด้วยซ้ำ

ฟังเรานี่ ...เราบอกให้เลยนะที่เราพูดนี่ เราไม่สอนให้คนจำเลยด้วยซ้ำ ...ให้อยู่ที่เข้าใจ เข้าใจยังไง ว่าเจริญสติยังไง ทำแค่นั้นพอแล้ว ...ไอ้ที่พูดมาทั้งหมดนี่ ทิ้งได้หมดเลย ไม่ต้องสนใจเลยว่าจะได้อะไร ถึงไหน

ไม่เอาอะไรน่ะ...ก็บอกว่าไม่เอาอะไร ทั้งหมดคือการไม่เอาอะไร ...เอาแค่รู้ปัจจุบัน เนี่ย คือผลสูงสุด และการปฏิบัติสูงสุด คือแค่นี้เอง  ไอ้นอกนั้นน่ะ ไอ้ยืดเยื้อยาวไกลออกไปน่ะ เป็นความคิดที่เพ้อฝัน เป็นมายา เป็นสิ่งไม่จริง เป็นแค่อิมเมจ

มันไม่เหมือนกัน...ปัญญาทางจินตากับปัญญาที่เป็นญาณหรือว่ามรรค  คือมรรคจริงๆ คือรู้ปัจจุบันแล้วไม่เอาปัจจุบัน แค่นี้เอง  นอกนี้ไป...ทิ้งได้หมด  อย่าเสียดายความคิด อย่าเสียดายความไม่รู้ อย่าเสียดายว่าไม่เข้าใจ

พออยากรู้ อยากเข้าใจ อยากสงสัย ลังเลว่าใช่หรือไม่ใช่  พอรู้ทันปุ๊บ ทิ้งได้ทิ้งเลย อย่าคิดต่อ ... ต้องฝึกๆ ให้ทัน แล้วก็ไม่เอาอะไร ไม่ต้องคิดไปล่วงหน้า  ยิ่งคิดไปล่วงหน้ายิ่งหลงมากนะ ยิ่งหลงในธรรมมากขึ้นนะ  เพราะเป็นธรรมที่เกิดจากความคิด

สามคนนี่ถ้าเราบอกให้ลองนึกถึงสภาวะนิพพานเท่าที่เข้าใจมา จะพูดมาไม่เหมือนกัน  แล้วเราบอกว่าผิดหมดเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่นอกเหนือความคิดทั้งสิ้น ... ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่มาจากความคิดเลย...มาจากการรู้และเห็น ตรงนี้ ขณะนี้ ไปเรื่อยๆ

แล้วมันจะเกิดความเข้าใจ เข้าใจ...เข้าไปที่ใจและรู้อยู่ที่ใจ ...ไม่ใช่เข้าใจเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ...มันเข้าไปอยู่ที่ใจ และเข้าใจภายใน  มันจะเข้าใจแบบ...อ๋อ อ้อๆ อือ อย่างนี้  ไม่มีภาษาเลยด้วยซ้ำ ไม่มีบัญญัติ ไม่มีภาษา แต่มีแค่ความเข้าใจ แค่นั้นเอง  ไม่เอาอะไรมากเลย ไม่เอาความรู้อะไรเลย

ให้โยมแก้ผ้าตอนนี้ โยมยังไม่กล้าแก้ใช่มั้ย ...ใจก็เหมือนกัน เหมือนกับเราไม่กล้าทิ้งความคิด ความเห็น หรือสิ่งที่ครอบคลุมใจที่อาศัยมันเป็นเครื่องห่อหุ้มอยู่น่ะ ...มันก็เหมือนกับความรู้สึกที่โยมไม่กล้าแก้ตอนนี้ เข้าใจมั้ย  โยมก็เหมือนกันที่ไม่กล้าทิ้งความคิด ไม่กล้าทิ้งความรู้น่ะ  แล้วพยายามจะหาอะไรมาเปลี่ยน ให้มันดูดีดูทันสมัย ดูให้คนเขาเชื่อถือยอมรับ

แต่ใจจริงๆ น่ะเหมือนกับเนื้อตัวเปล่าๆ ...ที่เราเกิดมานี่  เกิดมาแต่ตัวเปล่าๆ  ใจเปล่าๆ นี่ ไม่มีอะไรห่อหุ้มเลย ...เราก็ต้องสลัดสิ่งห่อหุ้มออกให้หมดน่ะ ... แต่ตอนนี้ก็เหมือนกับที่โยมกำลังคิดอยู่นี่ โยมก็เหมือนกับความรู้สึกที่ให้แก้ผ้าตอนนี้เดินน่ะ...มันไม่อาจทำได้

เห็นมั้ย มันติดอะไรล่ะ  มันติดอีกตั้งหลายอย่างที่ว่าแก้ตอนนี้แล้วมันมีความรู้สึกว่า ต้องอย่างงั้นนะ เขาจะมองเราอย่างนี้ เขาจะมองเรามีความเห็นต่อเราอย่างนี้ เห็นมั้ย มันมีความเห็นมาเป็นข้ออ้างอีกหลากหลายที่ไม่ให้แก้ไม่ให้ถอดออก ...มันเลยปกปิดความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา

แล้วก็เปลี่ยนอยู่เรื่อยน่ะ หาเสื้อผ้ามาเปลี่ยนอยู่เรื่อย ให้มันได้ตามเทรนด์น่ะ ไม่งั้นใส่ชุดเดียวก็เบื่อ  ความรู้เดียวก็เบื่อ ไม่พอ เดี๋ยวไม่ทันสมัย เดี๋ยวไม่เท่าทันคนอื่น เดี๋ยวไม่เสมอกับคนอื่น อย่างเนี้ย  เราบอกว่ามันเป็นแค่เปลือก...ไม่ใช่ของจริงเลย

ต้องกล้าที่จะละ กล้าที่จะทิ้ง...แล้วถึงจะเห็นใจล้วนๆ ที่ไม่มีอะไร ไม่มีรู้อะไร  มีแค่รู้ๆ...มีแค่รู้พอแล้ว  เหมือนกับมีแค่ตัวเปล่าๆ พอแล้ว อันอื่นมันเป็น Accessories


โยม – Accessories เครื่องแต่งกาย

พระอาจารย์ – อือ  เอาไว้หลอกคนอื่น เอาไว้ให้คนอื่นชม ให้คนอื่นด่า แค่นั้นเอง ...แต่เราติดกับมันจัง เข้าใจมั้ย


โยม – ใช่ๆ

พระอาจารย์ – ความคิด ความเห็น ความรู้สึก อาการ อารมณ์ อะไรก็ตาม ...อยู่กับพระก็กลัวอาจารย์จะรู้เห็นอารมณ์  กลัวจะอย่างงั้น กลัวจะอย่างงี้ กลัวว่าจะเห็นว่าคิดยังไง ... ปกปิดอยู่นั่นน่ะ หามาห่อหุ้ม หามาแก้กันอยู่นั่นน่ะ  มันก็เลยไม่เห็นความเป็นจริงที่เป็นอิสระ ของใจที่เป็นอิสระ

ปลดปล่อยออกไป ไม่ต้องดึงอะไรเข้ามา หรือไปหาอะไรเข้ามาสุมหัวอยู่นั่นน่ะ  สุมใจให้มันพอกพูน ปิดบังความเป็นจริง ...ที่ใจนี่มันไม่มีอะไร เราถึงบอกว่าแค่รู้เปล่าๆ รู้เฉยๆ พอแล้ว ...แต่จิตมันยังบอกไม่พอๆ  เห็นมั้ย มันอยากรู้อะไรมากกว่านี้ มันต้องรู้อะไรมากกว่านี้


โยม – สิ่งที่เราไม่ได้คิดว่าเราอยากจะรู้ แต่มัน...สันดานไงคะ

พระอาจารย์ – นั่นแหละ มันจะผลักออกมา ด้วยความไม่รู้ไง คือมันจะต้องหาอะไรไว้


โยม – เก็บสะสมอย่างนี้ไว้ ให้เราเหมือนกับว่าเราเข้าใจมากขึ้นๆ  

พระอาจารย์ – นั่นแหละๆ เป็นความผลักดันออกมาของอวิชชา คือความไม่รู้  มันจะให้เราผูกกับความรู้ที่มันคิดว่า...อันนี้สำคัญนะ อันนี้มีประโยชน์นะ  ถ้าไม่รู้อย่างนี้แล้วไปไหนไม่รอดนะ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ เราจะปฏิบัติไม่ถูก

โง่เข้าไว้ บอกแล้วไง โง่เข้าไว้ ...ยิ่งโง่ยิ่งเร็ว บอกให้เลย  ยิ่งฉลาดยิ่งช้า ยิ่งฉลาดยิ่งติด ยิ่งรู้มากยิ่งติดมาก ... เพราะนั้นต้องมาขัดเกลาออก เข้าใจคำว่าขัดเกลามั้ย  ขัดเกลาความรู้สึกเดิมๆ ความเห็นเดิมๆ ที่มันฝังอยู่  …จบอะไร เภสัชรึเปล่า


โยม – เภสัชค่ะ

พระอาจารย์ – ความปรุงแต่งก็เหมือนกับปรุงยาน่ะแหละ จับนั่นจับนี่มาผสมแล้วออกมาให้ได้ผลเป็นยาหนึ่งเม็ด แล้วมันสามารถจะรักษาอะไรได้อย่างนึง ...เหมือนกัน จิตน่ะมันชอบหาเรื่องอย่างนี้ เพื่อจะให้ได้ผลเป็นชิ้นเป็นอันออกมา แล้วก็ได้อะไรอย่างนี้

เป็นความเคยชินของจิตที่มันคอยหาเรื่องราว แล้วก็จะมีแต่ว่ามันก็จะปรุงได้เรื่อย เพื่อให้เกิดชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา...ให้ได้ผลอย่างนั้น ให้ได้ผลอย่างนี้  เห็นมั้ยว่า มันไปปรุงแต่งอย่างไร มันทำให้ก่อเกิดความไม่รู้จักจบ

ไม่มียาชนิดไหนที่ครอบจักรวาล ...เดี๋ยวก็ต้องปรุงไปเรื่อยน่ะ หาวิธี หาสรรพคุณใหม่ของมันเรื่อยๆ ไป  ถามว่าจะจบมั้ยนี่...ไม่จบ

โง่เข้าไว้ หยุดซะ หยุดการกระทำ กลับมารู้อยู่เฉยๆ รู้ ...ฝืดหน่อย ฝืนหน่อย  แต่ถ้าไม่กลับมารู้ ไม่กลับมาอยู่ที่รู้ จะไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงของมัน ...จะเห็นแต่เงาของมัน ที่เป็นแค่ความคิดความรู้ ...รู้รอบ รอบรู้ ไปอยู่กับความรอบรู้ เข้าใจมั้ย


โยม – รู้ไปรอบๆ ตรงกลางไม่รู้

พระอาจารย์ – เออ นั่นแหละ ไปอยู่ที่...รอบรู้  คือรู้จัง แต่ไม่จริงซักอย่าง  เพราะมันอยู่แค่รอบรู้ รู้จริงๆ ไม่อยู่ ...เหมือนกับไข่ดาวน่ะ ตัวไข่ดาวไข่จริงๆ มันอยู่ตรงกลางนั่น แต่เราไปกินแต่ไข่ขาวน่ะ ไม่มีสาระอะไรหรอก

กลับมาอยู่ที่ใจ  ใจคือกลาง กลางก็กลางรู้นั่นแหละ รู้ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้นแหละ  เพราะนั้นมันรู้ได้ตลอดเวลา มีรู้ได้ตลอดเวลา ใช่มั้ย  ...นั่ง รู้มั้ย


โยม – รู้ค่ะ

พระอาจารย์ – เออ เห็นมั้ย มีรู้มั้ย  ขยับมือ รู้มั้ยว่าขยับมือ ก็รู้อีก  เห็นมั้ย รู้มันจะมีได้ตลอดเวลามั้ย ...นี่แหละคือความรู้ที่แท้จริง เข้าใจมั้ย ...คือรู้ตัวนี้แหละ คือรู้ปัจจุบันนี่แหละ คือความรู้ที่แท้จริง เป็นมรรคและเป็นผล...ต้องรู้ตรงนี้  เคลื่อนไหวก็รู้ นิ่งก็รู้ คิดก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ โกรธก็รู้  เห็นมั้ย มันรู้ตัวเดียวกันทั้งหมดแหละ

ให้รู้ตรงนี้และก็อยู่ที่รู้อันนี้ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นนิจ เป็นอาจิณ  แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง...จะเห็นว่า ไอ้สิ่งที่ถูกรู้นี่ เคลื่อนไหว...กาย ความคิด อารมณ์ พวกนี้เป็นไตรลักษณ์หมดเลย เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาใช่มั้ย ... แต่รู้นี่ไม่เปลี่ยนเลย ยังไงก็รู้เท่าเดิมน่ะ

เหมือนกันด้วยทุกคนๆ  แม้แต่พระพุทธเจ้าก็รู้เหมือนกัน มีรู้อันนี้เหมือนกัน เท่ากันเลย  เป็นความรู้เดียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ...แต่นอกนั้นไม่เหมือนกัน หญิงมั่งชายมั่ง ขาวมั่งดำมั่ง สูงมั่งต่ำมั่ง สวยมั่งไม่สวยมั่ง สี่ขาบ้าง สองขาบ้าง หลายขาบ้าง อันนี้ไม่เหมือนกันเลย

นั่นไม่สำคัญ ...สำคัญตรงนี้ เห็นมั้ยว่ามันห่อหุ้มรู้อยู่นี่...เป็นรู้ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เกิดและไม่ดับ ไม่มากและก็ไม่น้อย ไม่ไปและก็ไม่มา ไม่เพิ่มและก็ไม่ลด ทั้งดีและก็ทั้งไม่ดี  เห็นมั้ย มันเป็นสภาวะที่มันไม่มีประมาณ ...นี่ล่ะคือความรู้ที่แท้จริง คือใจรู้นี่แหละ

แต่ว่าไอ้ใจรู้ขณะนี้ของพวกเราที่รู้ๆๆ นี่ มันยังเป็นรู้ที่อยู่ในอวิชชาอยู่ ...จ่อมันเข้าไปเถอะ เรียนรู้อยู่กับมันไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าไปชำระรู้ตัวนี้...ให้มันปลดเปลื้องพันธนาการแห่งรู้นั้นออกไป ที่อยู่ภายในนะ 

แต่ตอนนี้แค่รู้ๆๆ นี่ เรามองไม่เห็นเลยนะว่าในรู้นี่มีอวิชชาอยู่ตรงไหน ด้วยปัญญาขณะนี้ไม่เห็นหรอก...พระอรหันต์น่ะถึงเห็น

ก็กลับมารู้ตรงนี้เท่านั้นแหละ ...ตั้งแต่ต้นยันจบก็อยู่ที่รู้นี่แหละ ไม่แก้ที่อื่น ไม่รู้ที่อื่น  ไม่ไปอยู่ที่หญิง ไม่ไปอยู่ที่ชาย ไม่ได้อยู่ที่สัตว์ ไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์  ไอ้พวกนี้เห็นมั้ย มันนอกรู้ออกไปน่ะ

แต่เราให้ความสำคัญกับไอ้สิ่งที่นอกรู้นี่น่ะ ...ความคิดเอย ความรู้สึกเอย ความรอบรู้เอย วิชาการเอย หลักการเอย ความถูกความผิดเอย  เห็นมั้ย ...ผิดรู้มั้ย-รู้ ไม่ผิดรู้มั้ย-รู้ ถูกรู้มั้ย-รู้ ไม่ถูกรู้มั้ย-รู้  เห็นมั้ย อะไรๆ เกิดขึ้นให้กลับมารู้ เข้าใจรึยัง เข้าใจความหมายรึยัง  

คิดก็รู้ว่าคิด เห็นมั้ย คิดก็รู้ ไม่คิดก็รู้  ทุกอย่างเห็นมั้ย...พอมีสติปั๊บ มันกลับมารู้  นั่นน่ะคือกลับมาที่เหตุ...รู้ตรงนี้คือเหตุ  คือจุดกำเนิดของจักรวาล จุดกำเนิดของสรรพสิ่ง จุดเริ่มต้นของการเกิด และก็จุดสุดท้ายของการเกิด ...สำคัญมั้ยเนี่ย เห็นมั้ย แค่รู้นี่...ครอบคลุมหมดทั้งจักรวาล 

แล้วจะไปรอบรู้ทำไม จะไปรู้มากทำไม รู้เกินทำไม ...มันเกิน เข้าใจมั้ย มันเกิน  ไอ้ที่เกินน่ะรุงรัง ไอ้ที่เกินนั่นน่ะพัวพัน ไอ้ที่เกินนั่นแหละหนัก ไอ้ที่เกินน่ะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น

คำว่าพอดีที่รู้นี่แหละ อะไรเกิดขึ้นก็รู้...มันพอดีแล้ว  เห็นมั้ย มันพอดีตรงไหน พอดีตรงที่มันรู้ เห็นรู้อยู่  เพราะความรู้นั่นน่ะคือความพอดี...ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ถูก ไม่ผิด  มันมีแค่รู้น่ะ รู้อันเดียวนั่นแหละ

ผิดมันก็รู้ ถูกมันก็รู้  มันเหมือนกันไหม รู้นี่ ...ไม่ได้แตกต่างเลย ... นั่นแหละคือมัชฌิมา นั่นแหละคือเป็นกลางต่อทุกสรรพสิ่ง ... จะเป็นกลางได้ต้องรู้ รู้เฉยๆ ตรงนั้นแหละ...ไม่รู้ไป ไม่รู้มา รู้อยู่ตรงนั้นแหละ...รู้อยู่ที่รู้

ขี้เกียจก็รู้ ขยันก็รู้ คิดมากก็รู้ อยากหาก็รู้ รู้มันเข้าไป ดูซิมันจะไปถึงไหน  กลับมาที่รู้ลูกเดียวนั่นแหละ  แล้วมันจะโง่ขึ้นๆๆๆ บอกให้เลย  เพราะรู้เฉยๆ ไม่รู้อะไรเลยน่ะ  มันจะกลับมารู้เฉยๆ รู้เปล่าๆ ไม่รู้อะไรเลย ไม่สนใจอะไรเลย นั่นน่ะ มันจะโง่ขึ้นๆ

แล้วมันจะเข้าไปทำลายความโง่ในที่สุด...ด้วยความเป็นปัจจัตตัง จำเพาะใจ จำเพาะจิต ...เป็นญาณที่นอกเหนือจากความรอบรู้ หรือสิ่งที่ถูกรู้ หรือความรู้ที่เป็นภาษาที่เป็นคำๆ … ความรู้ของพวกเรานี่มันจะต้องออกมาเป็นภาษาใช่มั้ย  ภาษามันก็ออกมาจากการปรุงแต่งของความคิด ใช่มั้ย  ...เปลือกทั้งนั้นน่ะ

หัดทิ้งความรู้ซะบ้าง หัดโง่ซะบ้าง ทำอะไรแบบโง่ๆ ...คือรู้ไป อะไรเกิดขึ้นก็รู้  ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องละ ไม่ต้องเลิก ...โกรธก็รู้โกรธ โกรธมากก็รู้ว่าโกรธมาก โกรธน้อยก็รู้ว่าโกรธน้อย  ไม่ทำอะไรกับมันเลย แค่นั้นน่ะ โง่  เห็นมั้ย จัดการปัญหาแบบโง่ๆ  ไม่มีวิธี ไม่มีอุบาย ไม่มีวิธีแก้ ไม่มีวิธีกัน  อะไรเกิดขึ้นก็รู้ตรงนั้นแหละ ... เห็นมั้ย รู้แบบโง่ๆ รู้แบบซื่อๆ รู้บ่ดาย

กล้ามั้ยล่ะ ... ถามก่อนแค่นั้นเอง เด็ดเดี่ยวพอมั้ยล่ะ ... มันอยู่ตรงนี้ ต้องอาศัยความกล้าและเด็ดเดี่ยว  อย่าเอาความรู้ความจำที่เคยรู้เคยจำมาเป็นเครื่องตัดสิน มาเป็นตัววิพากษ์วิจารณ์ เอาถูกเอาผิด เอาความน่าจะเป็นทั้งหลายทั้งปวงมาคิด มาคะเน 

เลิกให้หมด ทิ้งมันให้หมด  อย่าคิดว่าฉลาดรู้ตรงนั้นจะมาซัพพอร์ทให้เราเร็วขึ้นไวขึ้นตรงขึ้น ... ยิ่งรู้มากยิ่งเขว ยิ่งทำตามความรู้มากๆ ยิ่งเอนเอียงออกนอกทั้งสิ้น พาให้เราหลงออกไปนอกหมด 

กลับมารู้ตรงๆ รู้แบบไร้สาระ รู้แบบโง่ๆ นี่แหละ ...มากก็มาก น้อยก็น้อย เกิดก็เกิด เกิดอีกก็รู้ เผลอก็รู้ เพลินก็รู้  รู้เข้าไป ไม่ต้องว่าอะไรทั้งสิ้นน่ะ รู้แบบไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่มีหือไม่มีอือ ไม่มีวิพากษ์ไม่มีวิจารณ์ ไม่เอาถูกไม่เอาผิด ...เอาแต่ว่ามึงเกิดกูก็รู้แหละ มึงไม่เกิดกูก็รู้

เห็นมั้ย เกิดก็รู้ ไม่เกิดก็รู้ ไม่มีอะไรก็รู้ เห็นมั้ย ถามว่ารู้มันมีได้ตลอดเวลามั้ย...ได้  ไม่ต้องไปหาด้วยซ้ำ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ตรงนั้นแหละ 

กลับมาอยู่ที่รู้...บ่อยๆ  จนชำนาญ จนไม่หนีออกจากรู้  นั่นแหละปัญญามันจะเริ่มสะสมจากตรงจุดนี้  ความเห็นตามความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้น ความเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของสิ่งที่ถูกรู้ก็จะเกิดขึ้น  

เมื่อมันเห็นสิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายทั้งปวงเป็นไตรลักษณ์แล้ว มันจะทิ้งของมันไปเอง ลดการให้ค่า ให้ความสำคัญกับมันไปเอง  ความคิดความเห็นต่างๆ ก็เป็นแค่อาการ แค่สักแต่ว่า ไม่มีค่าอะไร

มันก็เห็นแค่ลมๆ แล้งๆ ไม่เห็นเป็นตัวเป็นตน ไม่เห็นเป็นข้าวของวัตถุมีค่าอะไร  มันก็เห็นเป็นแค่อาการของไตรลักษณ์ สลับไปเปลี่ยนมา  ความคิดมั่ง ความจำมั่ง ความรู้สึกมั่ง ความเห็นบ้าง อารมณ์บ้าง แค่นั้นเอง ไม่ใช่อะไร ...เป็นแค่อะไรลมๆ แล้งๆ ไหลไปวนมา ขยับไปขยับมา เลื่อนไปเลื่อนมา


โยม – ถ้าสมมุติ กิเลสบางตัวเกิด เช่นมีหมาเดินมาแล้วเราเห็นว่าจิตมันไปแล้ว คือชอบอย่างนี้น่ะฮ่ะ  ก็รู้ รู้ว่ามีลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ไม่ต้องห้าม  แล้วก็พอมันเกิดอย่างนี้ เราก็รู้ว่ามันยังไม่ดับ เราก็เข้าไปหามัน กอดมัน

พระอาจารย์ – อือฮึ ก็ให้รู้ตามอาการมันไปเรื่อยๆ ยังไม่ต้องไปทำอะไร รู้ไปก่อน  อย่าทิ้งรู้ อย่าทิ้งการระลึกเท่าทันอาการของกายและจิต รู้ไปก่อน


โยม – พอสักพักเบื่อมัน ก็จะเห็นว่ามันหายไปแล้วความชอบเมื่อกี้

พระอาจารย์ – อือ ก็แค่รู้ ไม่ต้องไปเกี่ยวความรู้สึกว่ามันหายไปแล้ว พอแล้ว  ก็ให้รู้ว่าเบื่อ รู้แค่ปัจจุบัน เข้าใจมั้ย ...ไอ้ที่รู้ว่ามันหายไปแล้ว นั่นเป็นความจำแล้ว


โยม – คือลักษณะแบบจิตเมื่อกี้ ตอนที่เราเห็นมันเดินมาใหม่ๆ นี่มันไม่มีแล้ว อย่างนี้น่ะฮ่ะ

พระอาจารย์ – ไม่ต้องไปรู้ย้ำก็ได้ ให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นยังไง รู้แค่ปัจจุบันพอ


โยม – ไม่ต้องเลิก ก็คือช่างมัน ชอบ...นี่ก็ช่างมัน

พระอาจารย์ – ใช่


โยม – ถ้าเป็นคนล่ะคะ

พระอาจารย์ – ก็รู้เข้าไป ถ้ามีสติอยู่ มันจะเป็นตัวปรับสมดุลอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว เข้าใจมั้ย มันจะปรับให้ ไม่เกิดอาการจนเกินไป ในขณะที่รู้อยู่


โยม – แล้วมันก็จะต้องมีการห้ามไปในตัว

พระอาจารย์ – ถูกต้อง มันจะเป็นเหมือนบังเหียนอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เกิดจากการที่เราเข้าไปกำหนดห้ามนะ  สตินั่นแหละเป็นตัวห้ามของมันเอง ให้เกิดความพอดี ...แค่รู้นี่แหละ แค่กลับมารู้นี่แหละ มันจะเป็นตัวห้ามกลายๆ

จริงๆ ไม่เรียกว่าตัวห้ามหรอก...เป็นตัวปรับให้มันพอดี ไม่สุดโต่งๆ  เช่นว่า เวลาดีใจ พอรู้ว่าดีใจปุ๊บ มันจะไม่ดีใจถึงสุดๆ  เวลารักอย่างนี้ รู้อยู่อย่างงี้ มันจะรักแบบจางๆ  เวลาเครียดหรือโกรธก็ตาม ขณะที่รู้อยู่ มันจะไม่สุดลิ่มทิ่มประตู

แต่มันไม่ได้หมายความว่าหายไป เข้าใจมั้ย  เพราะเราไม่ได้ทำให้มันหายด้วยการบังคับ หรือว่าไปดับ ไปตัดมัน


โยม – แล้วถ้าเราคิดจะเลิกกับแฟนล่ะคะ

พระอาจารย์ – คิดแล้วก็ทำ จะเลิกก็เลิก แล้วก็ดูว่าเลิกแล้วเป็นยังไง จิตเราเป็นยังไง รู้ไป  ไม่เลิกก็ไม่เลิก ไม่ต้องคิด ...ถ้าคิดแล้วก็ทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องคิด ... คือทำไปเถอะ ได้หมด แล้วก็ยอมรับผลทั้งหมด


โยม – จะไปก็ไป จะอยู่ก็อยู่

พระอาจารย์ – แค่นั้นแหละ ... เราไม่บอกว่าถูก เราไม่บอกว่าผิด เราไม่บอกว่าควร เราไม่บอกว่าไม่ควร  เราไม่ห้าม เราไม่สนับสนุน ... อยากทำ...ทำ ไม่ทำก็ไม่ทำ ... ไม่ว่ากัน 

แต่ทำแล้วเป็นยังไง ไม่ทำแล้วเป็นยังไง...ต้องรู้อยู่นะ ... ทำแล้วคุณต้องรับผลนะ คุณต้องรับผลที่ว่าคุณรู้สึกยังไง...พอใจ ไม่พอใจ  ดู...กลับมาดู


โยม – ดูตรงนั้นไปเลย

พระอาจารย์ –  ให้กลับมาดูความเป็นจริงของใจเรา ความรู้สึกของเรา แค่นั้นเอง ... แล้วก็เรียนรู้ต่อไป...ในผลของการกระทำนั้นๆ  ทำแล้วยังไง...เราต้องรู้ แค่นั้นเอง


โยม –  ควรที่จะเรียนรู้ต่อไป

พระอาจารย์ – มันไม่แค่ควรน่ะ...แต่มันต้องเรียนรู้เลยน่ะ  เพราะมันเป็นการกระทำที่ต้องส่งผลทั้งในแง่บวกและลบอยู่แล้ว เข้าใจมั้ย ... มันหนีไม่ได้ 

อย่าไปคิดมาก ถ้าคิดมากน่ะทำอะไรไม่ได้ ...จะทำก็ทำ ไม่ทำก็ไม่ทำเอาให้มันขาดลงในปัจจุบัน  ไม่ต้องมานั่งคิดข้ามเดือนข้ามปี คิดมาก คิดไกล คิดยาว ...ทำไปเหอะ แล้วผลยังไงก็รับไป แล้วก็ดูมันไป  เนี่ย วางลงในปัจจุบัน ...ง่าย สั้นๆ คิดแบบไร้สมอง ไม่ต้องคิดมาก


โยม – เราก็ต้องกล้าที่จะรับ

พระอาจารย์ – ถูกต้อง ต้องรับน่ะ  อย่าไปปฏิเสธ และอย่าไปโทษคนอื่น  ทำเอง...รับเอง คนอื่นไม่เกี่ยว  ผลอยู่ที่เรา รับเอง...วางเอง ... อยู่ตรงนั้น จิตมันจะกล้าหาญ ในการที่จะเผชิญในการกระทำทุกอย่างโดยไม่เลือก...บวกก็ได้ ลบก็ได้ เอาดิ  

อย่างนั้นแหละ ...อย่าไปเล็งผลเลิศ หรือจะเอาความเพอร์เฟ็ค...ไม่มีหรอก มันมีแค่ในความคิด ... คิดเท่าไหร่ก็เพอร์เฟ็ค แต่ทำเข้าจริงๆ น่ะ...ดูไม่จืด บอกให้เลย  พอไปทำ มันได้อย่างนั้นน่ะดีที่สุดแล้ว แค่นั้นเอง

เพราะนั้นทำด้วยสติ ทำอะไรก็รับผล แล้วก็รู้ๆๆ ไป  มันจะฉลาดในการจัดการวิถีของมันเองต่อไป เข้าใจมั้ย  มันจะไม่กลัวอะไรในการที่จะก้าวเดิน  ท่านถึงเรียกว่าเป็นสุคโต ไปดีมาดี ...อยู่ก็ดี ไปก็ดี มาก็ดี  คือไปแบบไม่มีปัญหา ไม่กังวล ไม่วิตก

เพราะอะไร เพราะเราไม่ตั้งเป้าอะไร ไม่ต้องไปคาด ...ถ้าเลิกแล้วจะเป็นยังไง ไม่เลิกแล้วจะเป็นยังไง  เนี่ย ชักเข้าชักออกๆ ...ไปไม่รอด 

ไปก็ไป จะตกเหว กูก็ตกเหววะ เอ้า ไปแล้วขึ้นสวรรค์ กูก็ขึ้นสวรรค์ อย่างนี้ ไม่ต้องคิดมาก แล้วแต่มันจะว่าไป  แล้วไม่ต้องคาดด้วยมันจะลงเหวหรือขึ้นสวรรค์  ลงเมื่อไหร่ก็รู้ ขึ้นเมื่อไหร่ก็รู้  ตรงนั้นแหละ เอาแค่ตรงนั้น  เนี่ย เขาเรียกว่ารู้แบบโง่ๆ แต่ว่าไปด้วยความมั่นใจ  

แล้วก็เรียนรู้ไป จากอาการการกระทำของเรา ศึกษามัน สำเหนียกกับมัน  แล้วต่อไปข้างหน้ามันก็จะรู้เอง ฉลาดในการเดิน ให้มันอยู่ในครรลองของความเป็นกลาง สมดุล มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันน้อยที่สุด

แต่ตอนนี้ เพราะเราคิดไว้มาก มันจึงมีตัวเลือกหลายอย่างที่เรากังวลถึงคนอื่นหลายคน อะไรอย่างนี้ ยังวางไม่ลง หาทางออกไม่ได้แค่นั้นเอง


โยม –  ใช่

พระอาจารย์ – แต่ทำน่ะบอกแล้ว ต้องรับผลหมด แล้วเรียนรู้กับมัน ...ไม่มีการกระทำของเราที่จะไปช่วยคนอื่นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก...ช่วยไม่ได้  

ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทายาท  เราไม่สามารถจะอุ้มชูหรือให้เขาเสวยวิบากได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เราก็เป็นเพียงตัวประกอบนึงเท่านั้น  ทุกคนก็ต้องยอมรับในกฎแห่งกรรมของตัวเอง ทุกคนมีกรรมเป็นเจ้าของแล้ว ไม่ใช่เพราะเราแต่ถ่ายเดียว


นี่อยู่ใกล้ๆ มีอะไรก็มาคุยกัน ... การพูดการคุยเป็นการปรับทิฏฐิ ปรับความเห็นให้มันตรง  เมื่อมีความเห็นที่มันตรงแล้วนี่ แค่ฟังแล้วเข้าใจหรือความเห็นที่มันตรงแค่นี้ มันคลายออกแล้ว มันมองเห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้นนะ  สัมมาทิฏฐิมันเกิดในเบื้องต้นแล้ว

กับไอ้การที่แต่ก่อนเราไปอยู่กับความคิดความคาดคะเน เข้าใจเอาเอง  พอมาปรับมาฟังมาคุยแล้ว มันเกิดความเห็นที่มันตรงขึ้น มันก็คลี่คลาย มองเห็นอะไรได้หลายๆ อย่าง...ได้กว้างขึ้น ได้ตรงขึ้น  แล้วมันจะหยุดการกระทำที่เราเคยทำได้มากขึ้น

เพราะนั้นการพูดทั้งหมด การเข้าใจทั้งหมด มันจะเป็นไปเพื่อหยุดการกระทำภายในจิต หยุดการที่จะสร้างอะไรขึ้นมาภายในจิต แม้แต่ความรู้ความเห็น 


โยม – ทางลัด เป็นทางลัด

พระอาจารย์ – ไม่ใช่ทางลัด ...เป็นทางตรงเลย


โยม – คือไม่ต้องไปประคองแบบนั้น

พระอาจารย์ – ใช่ ... ทางตรง นี่คือทางตรง...ตรงไปที่ใจ  รู้อยู่ที่ใจนี่ตรงที่สุดแล้ว  ไม่มีทางอื่น หรือที่เคยคิดว่ามีวิธีการที่ลัด นั่นมันคิดเอาเอง เป็นแค่ความคิด ... แต่วิถีแห่งพุทธะ หรือวิถีแห่งมัชฌิมานี่ ตรงไปสู่ใจที่เป็นกลาง คือรู้โดยไม่มีเงื่อนไข...อะไรก็ได้

เห็นมั้ย อะไรก็ได้  คืออะไรเกิดขึ้นก็รู้  โกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ ...ก็คือตรงไปที่ใจรู้  ไม่ต้องไปอ้อมค้อม 'ทำยังไงให้หายโกรธ ทำยังไงให้โกรธน้อยลง' ...ซึ่งอย่างนี้มันต้องมีวิธีการ มีการกระทำ

เพราะนั้นยิ่งทำมันก็ยิ่งได้หลายผลลัพธ์ ... เมื่อทำอีกแบบนึง ก็ได้ผลลัพธ์อีกแบบนึง ทำอีกแบบก็ได้ผลลัพธ์อีกแบบ...แล้วเราจะหาจุดสรุปตรงไหน  

กับการไม่ทำ...ผลลัพธ์มันมีอยู่ผลลัพธ์เดียว...เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเอง ...ไม่ดับคือไม่ดับ มากขึ้นก็มากขึ้น ดูซิมันจะไปถึงไหน  ที่สุดของมันคือ...มันต้องดับไปเองอยู่แล้ว

ฝนตก...มีมั้ยที่มันไม่หยุด เห็นมั้ย มีฝนตกข้ามปีที่ต่อเนื่องกันไม่หยุด มีมั้ย เข้าใจไหม ... ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ ไม่ว่าจะนานขนาดไหน แรงขนาดไหน เบาขนาดไหน ที่สุดของมันน่ะ มันดับไปด้วยตัวของมันเองได้ทั้งนั้นแหละ

เราไม่ต้องไปช่วยสนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มเติม ในการที่ให้มันดับเร็วขึ้น หรือมีมากขึ้น ...นี่เขาเรียกว่าเข้าไปแทรกแซงธรรมชาติ  ได้บ้างไม่ได้บ้าง เอาแน่เอานอนไม่ได้  เพราะไปทำให้ธรรมชาติแปรปรวน ไม่เป็นไปตามเหตุและปัจจัย

เหมือนกัน...ธรรมชาติภายในก็เหมือนกัน กายก็ธรรมชาติอย่างหนึ่ง จิตก็ธรรมชาติอย่างหนึ่งนะ ไม่ได้แตกต่างกับฝนฟ้าอากาศเลยน่ะ ร้อน หนาว ฝน สามฤดู


โยม (อีกคน) – พอมันเกิดเวทนาทางกาย แล้วเราไปแทรกแซง มันก็ไม่ถูกใช่ไหมครับ ตัวอย่างเช่นสมมุติว่าเราโดนยุงกัด แล้วเราไม่ฆ่ามันอย่างนี้ ปล่อยให้มันกัด แล้วเราไปเกา  อย่างนี้ถือเป็นการแทรกแซงมั้ยครับ หรือว่าเราไปหายาทา

พระอาจารย์ – แทรกแซง ...แต่ว่ามันก็เป็นการบรรเทาน่ะ  ก็เป็นการบรรเทาตามเหตุและปัจจัยได้ เยียวยาได้


โยม – นี่ถือเป็นการเจริญสมุทัยไหม อย่างนี้ครับ

พระอาจารย์ –  ไม่หรอก  เพราะว่ามันมีบางเหตุปัจจัยที่เราทำแล้วมันไม่ได้ผล...ถ้าอย่างนั้นน่ะให้ดูอาการที่ขวนขวายดิ้นรน...ตรงนั้นน่ะสมุทัยแล้ว  แต่ถ้าในอาการทั่วไปอย่างนี้ถือเป็นการบรรเทา  ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่บัญญัติเรื่องคิลานเภสัชหรอก

ท่านบอกว่าพิจารณาอภิณหปัจจเวก บิณฑบาต เสนาสนะ จีวร แล้วก็คิลาน...ยา  นี่ท่านให้ไว้ ปัจจัย ๔ น่ะ  พิจารณาปัจจัย ๔ ตามเหตุปัจจัยอันควร นั่นแหละ...อันควร...เจ็บไข้ได้ป่วยก็กินยา ยานั่นคือน้ำมูตรเน่าเป็นหลัก อย่างเนี้ย

เพราะนั้นก็เยียวยากันไป ...แต่ถ้ามันเยียวยาไม่ได้ ก็อย่าเดือดร้อนกับมัน อย่าเกินความเป็นกลาง  เพราะนั้นการที่เราทำ เราแก้ไขนี่ เราถือด้วยอาการปกตินะ


โยม – ปกติ ก็เป็นกลางอยู่แล้ว ...สมมุติใจ ถ้าเราทำแล้วใจไม่ปกตินี่ก็ไม่เป็นกลาง

พระอาจารย์ – อือ มันไปด้วยความอยากและไม่อยาก

ฝนตก แดดออก ฟ้าร้อง หนาว ร้อน  เวลาร้อน...หน้าร้อนมาถึง เราก็ร้อนๆๆ เราหนีความร้อนไม่ได้  แต่ทำไมเราไม่ค่อยเดือดเนื้อร้อนใจกับความร้อนมากจนเกินเหตุ จนถึงขั้นไปแก้หรือว่าไปด่า หรือว่าไปทำยังไงให้อากาศร้อนนี้หายไปให้ได้ ...ก็บรรเทาให้หายได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว  แต่เราก็ไม่ไปทะเลาะกับความร้อนภายนอกว่าทำยังไงถึงจะให้มันหมดไป


โยม – แล้วถ้าเราอยากไปซื้อแอร์มาติดอย่างนี้

พระอาจารย์ – ก็เป็นเหตุปัจจัยบรรเทา


โยม – เพราะทั่วไปก็ร้อนอยู่ดี

พระอาจารย์ – ก็ร้อน เข้าใจมั้ย ... แต่เรายอมรับมันได้ในระดับนึง ที่ทำให้เราไม่ไปทะเลาะกับความร้อนจนเกินไป  เพราะเรารู้ว่าความร้อนมันได้อย่างมากก็สามสี่เดือน มันไม่ถาวรน่ะ  เห็นมั้ย จิตมันเข้าใจน่ะ จิตมันเห็นประจำว่า อย่างมากก็สี่เดือนนะ เดี๋ยวก็ฝนตก ไม่เกินนี้

เพราะอะไร ...เหมือนกันน่ะ คือมันเห็นไตรลักษณ์ของฤดูกาล หรือเราเห็น...ยอมรับความจริงว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ถาวร  เพราะนั้นถึงจะทุกข์ขนาดไหนก็ตาม แต่เราก็ไม่เดือดร้อนจนเข้าไปแทรกแซงธรรมชาติ หรือเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้มันเป็นไปได้ดั่งใจ  เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง  นี่ จึงเกิดการยอมรับในความเป็นจริงที่ปรากฏในระดับหนึ่ง

เหมือนกับอาการของจิต หรืออาการของกายเรานี่ มันก็เหมือนกับฤดูที่แตกต่างไป...แต่เราไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ เราจึงเข้าไปแก้มันอยู่เรื่อย เพื่อให้มันได้ดั่งใจ ...แต่ถ้ามันเห็นไตรลักษณ์ เหมือนกับเราเห็นไตรลักษณ์ของฤดูกาลนี่ ...เราจะหยุดแก้มัน หยุดเอาชนะมัน  เพราะยอมรับได้แล้วว่า มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน แล้วก็วนอยู่อย่างนี้...เป็นธรรมดา

ก็มองเห็นฤดูกาลนี่เป็นธรรมดา เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวหนาว  แต่เวลาเราเจอสภาวะนั้น หนาว...เราก็ห่มผ้าไป ฝน...เราก็กางร่มไป ร้อน...เราก็พัดพัดลมไป ... เท่าที่มี เท่าที่เป็น เข้าใจมั้ย นี่คืออยู่ด้วยการที่ว่า ประคับประคองขันธ์


โยม – แล้วสมมุติว่าคนที่เขาไม่ยอมทำ พยายามจะทนร้อน ทนหนาว ทนฝนอยู่ตรงนั้น ถือว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยคมั้ย

พระอาจารย์ – ควาย...(โยมหัวเราะกัน)...ปัญญาควาย คือควายมันเคี้ยวเอื้อง ตากฝนน่ะ แล้วมันว่ามันมีปัญญา มันไม่เดือดร้อน มันไม่ทุกข์  กูจะเคี้ยวเอื้อง มึงจะฝนตกก็ตก กูไม่เข้าร่ม มีอะไรมั้ย มันก็คิดว่ามันฉลาด ...เราบอกฉลาดแบบควาย  ...เป็นคนนี่เข้าร่ม ไปนั่งสบายอยู่ในร่ม ใช่ป่าว

อะไรๆ ที่มันเกินไปน่ะ หรือว่ามีความตั้งใจหรือเจตนาที่มันแรงไป อันนั้นน่ะเป็นครุกรรมหรือเป็นการสร้างกรรมขึ้นมา ... แต่ถ้าการทำไปตามเหตุและปัจจัยอันควร อันเป็นกลางๆ พอดี งดงาม เป็นความงดงามพอดี ...แต่ถ้าทำแล้วมันไม่ได้ ก็ยอมรับด้วยความสงบโดยดุษฏี

สมมุติว่าเดินตากฝนแล้วก็ควักร่มออกมากาง ...อ้าว กลายเป็นร่มรั่ว...ก็ต้องยอมรับแล้ว เข้าใจมั้ย (หัวเราะกัน) อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย เปียกก็ต้องเปียก ไม่เดือดร้อนมากเกินไป  เพราะมันได้อย่างนี้ดีที่สุดเท่านี้แล้ว เห็นมั้ย

เพราะนั้นไอ้การที่เราแก้ ก็ไม่ใช่จะพอดีหรือเพอร์เฟ็คตามเหตุและปัจจัย  มันแล้วแต่กรรมและวิบากอีก ...ก็ต้องยอมรับด้วยจิตที่เป็นกลางทุกเรื่องราวไป...แม้จะแก้หรือบรรเทาก็ตาม

เพราะนั้นการรักษาพยาบาลเหมือนกัน ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็เข้าโรงพยาบาล ผ่าตัด รักษาไป ...รอดก็ดี หายก็ดี ไม่หายก็ยอมรับ อย่างนี้  ...ไม่ใช่ว่าปฏิเสธการรักษาทุกรูปแบบ เพราะว่าจะเห็นกายตามความเป็นจริง ...ก็มีแต่ตายลูกเดียวน่ะ

ไม่งั้นครูบาอาจารย์ท่านก็ไม่เข้าโรงพยาบาลแล้ว เป็นพระอรหันต์นะนั่นแต่ละองค์ เจ็บไข้ได้ป่วยท่านก็ไปโรงพยาบาล เยียวยากันไป  แต่ว่าถ้าไม่ได้ ท่านก็...เออ ก็ไม่ต้องรักษา ก็ไม่เดือดร้อนจนเกินไป  ท่านก็ยอมรับได้ตั้งแต่ต้นแล้วล่ะจริงๆ น่ะ

แต่ว่าการยังธาตุขันธ์ให้ถึงอายุขัย ให้เป็นการสมบูรณ์ของกายของจิต เป็นไปตามเหตุปัจจัยของกรรม ท่านก็ทำได้เท่าที่ทำ แก้ได้เท่าที่แก้ รักษาได้เท่าที่รักษา ประคองได้เท่าที่ประคอง ... แต่จะไม่มีอาการดิ้นรนกระวนกระวาย ขวนขวาย แสวงหาจนเกินไป ...ท่านอยู่ด้วยความพอดีแล้วก็กลมกลืน พอดีทั้งของในแง่บวกและลบ


……………………..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น