วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/19 (2)


พระอาจารย์
2/19 (530815C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 สิงหาคม 2553
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 2/19  ช่วง 1

โยม –  คือดูไป มันก็เห็นว่าตัณหา เห็นบ้าง แต่ว่าไม่ได้คิดจะใส่ใจมากขนาดนั้น  คราวนี้ผมฟังจากที่พระอาจารย์พูดแล้วผมก็จะใส่ใจดูความยินดี-ยินร้ายมากขึ้น ...ก็ไม่ได้จงใจทำใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  อือฮึ ไม่ได้จงใจหรอก


โยม –  แต่เราจะเห็นมัน

พระอาจารย์ –  ไอ้ที่เราพูดมาตั้งเยอะแยะนี่ อย่าไปแยกแยะเลยนะ จิตเขาแยกแยะของเขาเองนะ เขาจะทำความเข้าใจของเขาเอง ...เราอย่าไปดูให้มันเห็นอย่างนี้นะ หรือดูให้เกิดความรู้อย่างนี้ขึ้นมานะ 

ดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันจะสะสม เข้าใจขึ้นมาเอง ...มันจะเข้าใจว่า ปัจจัยนี้ เหตุนี้ แล้วเกิดปัจจัยนี้ ปัจจัยนี้เกิด ปัจจัยนี้เกิดต่อ ปัจจัยนี้ดับ ปัจจัยนี้ดับ ปัจจัยนี้ดับ ...มันจะเห็น มันจะแยกแยะของมันเอง 

ด้วยการรู้เห็นบ่อยๆ นี่ มันจะจำแนกออกเองว่า อ้อ อันนี้เกิดก่อน อันนี้เกิดหลัง แต่ว่าถ้าจะไปดูให้ตามปฏิจจสมุปบาทนี่ มันเข้าไปจงใจ


โยม –  จงใจ ...สรุปก็ดูเหมือนเดิม

พระอาจารย์ –  เหมือนเดิมๆ ...แต่เราพูดเพื่อให้มีการระลึกรู้กลับมา เข้าใจมั้ย ให้มันถอยกลับมาอีก อย่าไปแช่อยู่กับไอ้แค่นั้น


โยม –  เฉยๆ เหมือนเดิม

พระอาจารย์ –  ก็จะอย่างงั้นน่ะ มันก็จะอย่างงั้นน่ะ มันจะไม่เกิดความเข้าใจ


โยม –  มันฟังปุ๊บ แล้วเหมือน เอ๊ะ มันจะต้องจงใจหรือยังไง

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ถึงขั้นจงใจ เข้าใจมั้ย แค่ระลึกรู้ขึ้นมา ...จริงๆ เป็นการระลึกรู้ แล้วก็โอปนยิโก

ถ้างั้นก็ถามว่า โอปนยิโก ความหมายของโอปนยิโกคืออะไรล่ะ ...จะว่าจงใจก็ได้ จะว่าไม่จงใจก็ได้ ใช่มั้ย โอปนยิโกนี่ ...จะว่าไม่ทำ มันก็ต้องทำ มันไม่ทำไม่ได้  

เพราะใครว่าไม่ทำนี่มันก็ต้องทำ ...ถ้ามันไม่ทำก็หมายความว่านั่นคือสัมมาสติแล้ว เป็นธรรมชาติของสติแล้ว เป็นธรรมชาติของสติที่อยู่คู่กับใจแล้ว

แต่ว่ากว่าจะเป็นธรรมชาติของสติหรือว่าสัมมาสติได้ ต้องโอปนยิโกบ่อยๆ เข้าใจมั้ย ...มันต้องมีการประกอบเหตุปัจจัยขึ้นมา ...แต่ว่าด้วยโอปนยิโก มันก็ไม่ถึงขั้นกับว่าจงใจเจตนา หรือว่าควบคุม 

เห็นมั้ย ควบคุมท่านก็ยังใช้คำว่า วิรัติ ห้าม หรือว่าสังวร อินทรีย์สังวรอย่างนี้ เรียกว่าควบคุม หรือว่ากำหราบ หรือว่าระวังไม่ให้มันออกไป เห็นมั้ย ท่านก็ใช้ว่าอินทรีย์สังวร

แต่โอปนยิโก มันก็คนละความหมายกับอินทรีย์สังวร นี่ มันไม่ต้องระมัดระวังหรือว่าควบคุมถึงขั้นนั้น แต่ว่าไม่ได้เจตนาหรือกระทำ ...ท่านใช้คำว่าโอปนยิโก...แค่น้อม ฟังดูเบาๆ กว่า ใช่มั้ย ถึงขั้นจงใจมั้ย 

คือแค่น้อม เหมือนข้าว...ที่ออกรวงแล้วน้อมลงมา เห็นมั้ย ไม่ใช่ข้าวหัก  เออ มันก็ลงมาสู่ดินเหมือนกัน แต่ข้าวหักกับข้าวที่น้อมลงมา เห็นมั้ย มันน้อม นี่ โอปนยิโก 

ดูอาการนี่...มันก็ต้องเทียบเคียงอย่างนี้ ...ถ้าจงใจกูก็หักมันเลย มันก็น้อมลงเหมือนกัน ใช่ป่าว (หัวเราะกัน) ไปบังคับ มันก็ได้อาการเดียวกัน มันก็ลงมาเหมือนกัน แต่ว่ามันลงมาคนละอาการ

มันก็น้อม โน้มมาด้วยความอ่อนเบา อ่อนโยน เป็นกลาง เรียบง่าย ธรรมดา  เนี่ย ภาษามันก็สมมุติ มันก็พูดได้อย่างนี้ ...แต่ว่าคนเราบางทีมันก็มาติดสมมุติแล้วก็ไปแบ่งกันด้วยสมมุติ

ดูใจเรื่อยๆ แล้วมันจะแยกออกเองว่า ลักษณะการน้อมกับการจงใจนี่มันก็ต่างกัน ผลก็ต่างกัน ...ถ้าประสบการณ์ของการเจริญสติมาเยอะๆ มันจะแยกแยะออก ค่อยๆ แยกแยะออกมา

จนโอปนยิโกของพระอริยะนี่ ทำเหมือนไม่ทำ ไม่ทำก็เหมือนทำ ...คือแบบว่ากูไม่สนใจเลยอ่ะ สติก็ไม่มี ไม่เคยใส่ใจเลยว่ามันจะไปรู้อะไรหรือไม่รู้อะไร จะหลงหรือไม่หลง ไม่สน เป็นทุกข์ค่อยรู้ อย่างนี้ 

แล้วมันรู้เอง มันก็จะอยู่อย่างนี้ เป็นอิสระ ...แต่ก็ยังรู้ มันยังไม่หมด หมดแล้วคือรู้ว่าหมด เพราะมันยังดิ้น ยังมีอาการดิ้น ยังมีโอกาสดิ้นอย่างนี้ ดิ้นเมื่อไหร่ค่อยรู้ แล้วไม่ไปบังคับให้มันไม่ดิ้น ก็อยู่ไป ดิ้นเมื่อไหร่ก็รู้

เหมือนมีด บอกแล้วว่า มีด...ถ้าวางไว้คือเหล็ก จะรู้ว่าเป็นมีดต่อเมื่อมันเฉือน เข้าใจมั้ย เพราะนั้นสติสัมปชัญญะนี่ สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ว่าตลอดเวลาอย่างนั้น ปัญญาก็เหมือนกัน มันก็ไม่ได้ตลอดเวลา 

มันไม่ได้มีปัญญาตลอดหรอก มันจะมีต่อเมื่อมีอะไรให้มันเฉือนน่ะ ...ปุ๊บ อ้อ อุปาทานเกิดเมื่อไหร่มันก็ออกมา สติก็เกิดปัญญาก็เกิด ทันกัน พั้บ...ขาด เนื้อขาดเข้าปากกินปุ๊บ หมดหน้าที่ของมีดและเขียง 

เห็นมั้ย สติก็ดับ ปัญญาก็ดับ ไม่คาอยู่ ...สติปัญญามันก็เป็นไตรลักษณ์ มันไม่คงอยู่หรอก มันมีต่อเมื่อมีเหตุต้องมี ...แต่ตอนนี้มันไม่มี ทำไงก็ไม่มี เพราะมันไม่มีการประกอบเหตุให้เกิด 

นี่ ก็ต้องประกอบเหตุให้เกิด ...เหมือนกับไปติดเครื่องปั่นไฟน่ะ ต้องหมุน...เครื่องมันถึงเดิน เข้าใจมั้ย  ถ้าไปไหว้วอน เจ้าประคุณ ติดๆ ขอให้มันติดๆ ถามว่ามันจะติดมั้ย...ไม่ติด ...ยังไงก็ต้องหมุนน่ะ

อ่ะ พอหมุนๆๆ หมุนไป เครื่องติด ...คราวนี้ไม่ต้องยุ่งกับมันแล้ว ปล่อยให้มันหมุนไปจนกว่าน้ำมันจะหมด (หัวเราะ) เครื่องมันก็ไม่หมุนแล้ว ...มันเป็นอย่างงั้นน่ะ 

เพราะนั้นสติสัมปชัญญะมันก็ใช้ไปตามหน้าที่  คือเบื้องต้นต้องเจริญขึ้นเหมือนกัน ... แต่ไม่ใช่ว่าปฏิบัติเอาเป็นเอาตายกับมัน จนแหม ไม่ขาดตกบกพร่อง 

มันจะค่อยๆ กำชับกำชาของมันเองขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ตีกรอบภายในเข้ามา มันจะสั้นลง ด้วยการรู้เร็วขึ้น ...เหมือนกับอาณาเขต แต่ก่อนอาณาเขตเรา ฮู้ย กว้างไกล เดี๋ยวนี้อาณาเขตมันก็แคบลง 

ให้สังเกตดู จิตที่มันวนอยู่ ไหลออกไปๆ แคบลง ...เรื่องผู้คนภายนอกก็แคบลง ในการที่เราไปผูกตายขายขาด หรือว่าไปให้ความสมัครสมาน หรือว่าไปดูดำดูดี หรือว่าไปยินดี-ยินร้ายกับเขา 

เหล่านี้ ก็จะสั้นลง แคบลงๆ มีไม่กี่คน มีน้อยลง จนเหลือกระทั่งตัวคนเดียว นั่น เป็นหลัก มีตัวคนเดียว...อยู่ที่กายเป็นหลัก อาการตาหูแค่รับรู้ตรงปัจจุบัน 

สุดท้ายเหลือแค่ใจดวงเดียว ตาหูกูไม่สนใจแล้ว อยู่ที่ใจดวงเดียว ...นั่นคือพระอนาคา แค่นั้นเอง

แต่ถ้าเป็นระดับเบื้องต้นก็แค่สุดมือสุดตีน เท่าที่ตาเห็น เท่าที่หูได้ยิน นี่คือภพเดียว และก็เป็นภพที่มีวันจบ เจ็ดชาติ สามชาติก็ว่ากันไป 

ซึ่งแต่ก่อนเราไม่อยู่แค่นี้ มันอยู่นู่นนนน ...ห้าปีข้างหน้า ชาติหน้าจะเป็นยังไง ปีหน้าจิตเราจะดีกว่านี้มั้ย เห็นมั้ย มันยังมีที่ไกล ไกล ยังไกล

แต่พอเริ่มลงมาในปัจจุบัน เท่าที่ตาเห็น หูได้ยินเสียงตอนนี้ ตาเท่าที่เห็น ดูเท่าที่จะเห็น ใจก็คิดอยู่ในแค่นี้วงนี้ ไม่ได้คิดไกล ...แค่นี้มันจะเริ่มห่อตัวลงมาแล้ว ภพชาติก็สั้นลงแล้ว 

ไอ้จากที่ไม่มีประมาณ มันก็เริ่มพอประมาณการได้น่ะ เท่าที่เห็น เท่าที่มี เท่าที่เป็นอยู่ตรงนี้ นี่ มันจะสั้นลง

พอเป็นขั้นของพระอนาคาปุ๊บนี่ ภายนอกนี่ขาดโดยสิ้นเชิง ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญทางตาหูจมูก...ปล่อย มาให้ความสำคัญในภายในล้วนๆ 

ปล่อยให้ตาหูจมูกเขาดำเนินการไปตามประสิทธภาพของเขา ได้แค่ไหนก็คือแค่นั้น จะไม่ไปมีอารมณ์ยินดี-ยินร้ายกับมันจนเกินไป


โยม –  แต่ก็สรุปว่า ดูเงาของจิตก็ไม่ผิด มันเป็นเสต็ปไปใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  ใช่ มีใครมั่งมันจะรู้ทีเดียวเข้าถึงเป็นโสดาบัน ไม่มีหรอก ...ก็ธรรมดา ไม่งั้นจะมีครูบาอาจารย์ทำซากทำไม ใช่ป่าว มีครูบาอาจารย์เพื่อให้มาถามน่ะ ครูบาอาจารย์ก็แก้ให้

ไม่ใช่ว่ามันจะรู้เองเห็นเอง แล้วก็ไปเอาไอ้การรู้เองเห็นเองของผลเบื้องต้น แล้วก็มาว่าผิดไปหมดทั้งกระบวนการนี่มันไม่ใช่ 

จะไปจับเอาประเด็นนั้นประเด็นนี้มาเป็นข้อว่าสอนทั้งหมดทั้งกระบวนการด้วยวิธีนี้ทั้งหมด ไม่ใช่ ...บางคนเริ่มต้นอย่างนี้


โยม –  แต่ท่านสอนตลอดนะครับ ให้ดูความยินดี-ยินร้าย

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ คือมันเป็นจุดที่ใกล้กับใจแล้ว ...คือเป็นจุดของการเกิดตัณหา 

เพราะนั้นเวลาเราดูอารมณ์ส่วนมากไม่รู้ว่ามันเป็นตัณหาตรงไหน ใช่ป่าว สังเกตดูสิ มันไม่รู้เลย มันตัณหาหรือไม่ตัณหา รู้แต่ว่ามีทุกข์กับสุขแค่นั้นเอง แล้วไม่พอใจ

(ถามโยมอีกคน) เข้าใจมั้ย ฟังนี่


โยม –  เข้าใจบ้างค่ะ

พระอาจารย์ –  พอประมวลกันได้ นะ เพราะไอ้ที่ทำมามันก็ไม่ได้ผิดพลาดใหญ่โตอะไรหรอก ...เพียงแต่ว่ามาทำความชัดเจนแค่นั้นเอง 

ก็เน้นในบางประเด็น จุดที่บางทีเราปล่อยปละละเลย เรามองข้าม ...พอมองข้ามมันก็ข้ามตรงนั้น

ที่พูดเตือนเพื่อให้กลับเข้ามาภายใน กลับมาภายในมากขึ้น ให้เน้นภายในมากขึ้น คือจุดเริ่มต้นหรือใกล้เคียงกับจุดแรกเริ่มของการเกิด การเกิดของทุกสรรพสิ่ง

จุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่ง เริ่มที่ตรงนี้ ตรงขณะแรกที่รู้ ...ก่อนมี คือไม่มี ตรงนั้นน่ะ ก่อนจะมีความคิด มันไม่มีความคิด ก่อนมีอารมณ์ มันไม่มีอารมณ์ อย่างนี้ ...สติแรกมันจะทันตรงนั้น

แล้วจากนั้นมา มันก็จะทันถึงก่อนมีอารมณ์ ...มันมีแค่อาการขยับ ยังไม่ทันเป็นอารมณ์ ...แต่แรกๆ เราก็จะต้องทันก่อนมีอารมณ์แล้วก็มีอารมณ์ แล้วก็เห็นปุ๊บแล้วมีอารมณ์เลย อย่างนี้

แล้วมันจะละเอียดขึ้น เห็นรายละเอียดของการขยับ แค่ขยับ ยังไม่ทันเป็นสุขเป็นทุกข์เลย ยังไม่ทันยินดี-ยินร้ายเลย เห็นแล้ว เห็นอาการ ...เฮ้ย เฮิ้บๆ เห็น ...แล้วไม่ต้องสงสัย มันเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น

แล้วมันก็จะค่อยๆ แจ้งเข้าภายใน พอแจ้งเข้าภายในแล้วมันก็ อ๋อ แล้ว ความจางคลายเริ่มปรับ  ความไม่กังวลต่อการปฏิบัติก็เริ่มมากขึ้น

ตอนนี้เรายังกังวลกับการปฏิบัติ นี่ ทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย ยังกลัวอยู่ ...แล้วมันก็จะเริ่มไม่กังวลแล้ว จะเริ่มเป็นคนที่ไร้รูปแบบ ไร้ระเบียบ ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ...ค่อนข้างจะเป็นแบบนั้น

แต่ตอนนี้ยังทิ้งไม่ได้ ต้องดูๆๆ น้อม เตือน อย่าเผลออย่าเพลิน เพลินน้อย เผลอน้อย กลับมาดูให้ต่อเนื่อง เห็นต่อเนื่อง เบาๆ อย่าจงใจมาก แค่นั้นเอง น้อมกลับมาดู อย่างน้อยก็ให้มันรู้ว่าอยู่กับอะไร

อยู่กับกาย ไม่มีอะไรดู ดูกาย เห็นกาย อยู่ในท่าไหน มือวางยังไง เท้าวางยังไง คอวางยังไง หัววางยังไง รู้ไป  ไม่มีอะไรดู กายมีอยู่ตลอดเวลา รู้ง่ายๆ เป็นอุบายเพื่อให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน

ไม่ใช่ดูเพื่ออะไรหรอก สติทั้งหมดนี่ ไม่ว่ากายเวทนาจิตธรรม เพื่อให้เห็นปัจจุบันเท่านั้นเอง ...เพราะว่าปัจจุบันน่ะเป็นที่รวมของธรรมทั้งหลายทั้งปวง แล้วก็เป็นที่ดับไปของธรรมทั้งหลายทั้งปวง

เพราะนั้นสติจึงเป็นแค่อุบายเบื้องต้นให้อยู่ในฐาน เพื่อให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันแค่นั้นเอง แล้วเห็นในปัจจุบันละในปัจจุบันเมื่อไหร่ ตรงนั้นน่ะจึงจะเข้าใจ มันก็เข้าใจอยู่ในปัจจุบันนั้น

ไม่ได้หาออกไป หรือปล่อยออกไปข้างนอก หรือไปรู้ข้างนอก หรือแม้กระทั่งไม่ต้องรู้อะไรกายเวทนาจิตธรรม ...กลับมารู้ปัจจุบันเฉยๆ ก็ยังได้ รู้ว่าเดี๋ยวนี้ขณะนี้ๆ ก็อยู่ตรงนี้ไป


..................................



วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/19 (1)


พระอาจารย์
2/19 (530815C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น 2 ช่วงบทความค่ะ)

โยม –  ที่พระอาจารย์บอกว่าให้เท่าทันความชอบ-ไม่ชอบนั่น มันเสต็ปขึ้นไปอีกหรือครับ ที่บอกว่าตอนนี้ให้รู้อยู่

พระอาจารย์ –  คือลักษณะของพวกเรานี่ เวลาเราเข้าไปรู้อารมณ์ เวลาเริ่มต้น...สมมุติว่าหายไปนี่ แล้วรู้ว่าตอนนี้กำลังหงุดหงิด หรือว่าไม่สบายใจแล้วรู้ว่าไม่สบายใจ  

พอรู้ว่าไม่สบายใจปุ๊บนี่ เราจะไปจดจ่ออยู่กับความไม่สบายใจ ไปตั้งอยู่กับตรงนั้นน่ะ ...แล้วเราไม่รู้ว่า ขณะที่เราตั้งอยู่กับความไม่สบายใจน่ะ เราไปตั้งด้วยยินดีหรือยินร้าย หรือว่าปกติ เข้าใจมั้ย

ถ้าทวนกลับเข้ามา คือน้อมกลับเข้ามาดู จะว่า อ้อ เฉยๆ กับอาการหงุดหงิดหรืออาการที่ไม่สบายใจ ...หรือเราไม่สบายใจซ้อนในความไม่สบายใจนั้น อย่างเนี้ย 

เราเห็นอาการยินดี-ยินร้ายมั้ย คือให้น้อมกลับเข้ามาดูตรงนี้ ตรงจุดตรงนี้


โยม –  มันก็มีอาการจงใจพากลับมาดู

พระอาจารย์ –  ก็จริงๆ ไม่ได้จงใจ อันนั้นมันเป็นคำพูดน่ะ ดูเหมือนว่าจงใจดึงกลับมา ...จริงๆ ไม่ใช่หรอก แค่รู้แค่เห็น กลับมาเห็น แค่เห็นน่ะ 

ไม่ใช่ว่าอาการต้องดึงกลับมา ทำเป็นกริยาหรืออาการดึงกลับมา...ไม่ใช่  ...แค่รู้เห็นเบาๆ มันก็เห็นแล้ว อ้อ เฉยๆ ปกติหรือว่าหงุดหงิดซ้อนหงุดหงิด ยินร้ายหรือว่ายินดีกับมัน

ถ้าเห็นตรงนี้ปุ๊บ มันจะละความใส่ใจตรงนั้น เห็นมั้ย การส่งออกไปกับอารมณ์ หรือจะไปจดจ่ออยู่กับอารมณ์นี่ ปุ๊บ มันก็จะกลับมาจดจ่ออยู่ที่ใจหรือว่าขณะแรก...เนื้อของใจ 

นี่ มันใกล้ชิดกับเนื้อของจิตเนื้อของใจมากขึ้น ...แต่ส่วนมากเราไม่ค่อยเท่าทันอาการยินดี-ยินร้าย ...จะไปรู้แต่อารมณ์ กับความรู้สึก หรือว่าอาการใดๆ 

เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วก็ไปดู...คอยดูสุขดูทุกข์อยู่อย่างนั้น ...เหมือนกับดูแดด เมื่อไหร่จะดับ หือ ...แล้วระหว่างดูล่ะเป็นยังไงตรงนี้ เข้าใจไหม อยากดู-ไม่อยากดู 

เห็นมั้ย ดูแดดไม่ดับ มันจะไม่เห็นเลยว่าไอ้ตัวเรานี่มันมีความอยากดูมั้ย ไอ้เรานี่หงุดหงิดในการทนดูแดดมั้ย อย่างเนี้ย เห็นมั้ย มันไปอยู่ที่ตรงนั้น จะไปดูว่าเมื่อไหร่มันจะดับ


โยม –  แต่ว่าเบื้องต้นก็ให้เท่าทันว่า มันไปสนใจ

พระอาจารย์ –  ใช่ บอกแล้วว่าสติมันก็ต้องมีการพัฒนา ...แต่ถ้าดูไปจนตายว่าเกิด-ดับ เพราะนั้นถ้าดูอย่างนี้นะ มันจะไปเกิดดับๆ ที่อายตนะ หรืออารมณ์ 

แล้วดูไปดูมาแล้วมันจะไปดับ เห็นที่ความดับ แล้วมันจะไปจับที่ความดับ ...จับไปจับมาก็ดับหมด สามารถดับได้หมดน่ะ มันจะมีกำลังด้วย

ลักษณะนี้เป็นการเพ่ง ลักษณะนี้เป็นฌานอย่างหนึ่ง เป็นอาการเพ่งออกไปเป็นฌาน เป็นสมาธิอันนึงนะ ...แต่เป็นมิจฉาสมาธินะ เรียกว่าเพ่งออกไป 

ซึ่งเพ่งปุ๊บมันจะมีกำลัง มีอานิสงส์ของมันอยู่ สามารถจะเข้าไปสร้างภพขึ้นมาใหม่ได้

ดูไปดูมาเข้าอรูปได้เลย บอกให้ ...เห็นทันหมด ความกระทบกันดับ พั่บๆๆ  ตาเห็นรูป พั่บ แล้วมารู้ที่เสียง มันก็ดับไป เห็นมั้ย มันจะดับสลับไปสลับมา 

ถ้าดูไปเรื่อยๆ มันจะเท่าทันเลยแหละ บอกให้เลย จะเห็นรายละเอียดของความดับในอายตนะนึง ไปเกิดในอีกอายตนะนึง  อายตนะหกมันจะวิ่งรอบเลย พั่บๆๆๆ


โยม –  คืออันนี้เล่นบ่อย ที่ถามเพราะเล่นบ่อย

พระอาจารย์ –  ก็ถึงถามว่าจะไปรู้มันทำไม


โยม –  ก็ได้สติไงครับ สติ

พระอาจารย์ –  แต่มันเป็นสตินอก เข้าใจมั้ย 


โยม –  แต่ก็ยังดีนะครับ ได้สติ

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าไปทำซ้ำซาก มันจะได้อานิสงส์ของมัน คือสงบ ไม่มีอารมณ์ ว่าง ...แล้วต่อไปมันจะพอใจ พอใจปุ๊บมันจะทำอย่างนั้น ไม่รับรู้อารมณ์ มันจะคอยดับอารมณ์ ไม่ให้เกิดอารมณ์ 

เพราะนั้นมันจะไม่เห็นตรงนี้เลย


โยม –  ตรงนี้คือให้มารู้ใจ

พระอาจารย์ –  ใช่ ต้องน้อมกลับมารู้ที่ใจ กลับมารู้ที่ใจ ...เพราะนั้นอาการแรกของใจ อาการแรกของใจคือยินดี-ยินร้าย คือเข้าไปโทมนัสหรือโสมนัส กับอาการ หรือขันธ์

เพราะนั้น ขันธ์ ปล่อยให้เขาเป็นไป ... เอาแค่ง่ายๆ สั้นๆ ว่าเออ มันตั้งอยู่  เออ มันดับไป แค่นั้นแหละ มันก็เป็นของมันอย่างนี้ เออ กำลังตั้งอยู่ เออ มันยังไม่ดับ 

แล้วก็ดูซิ หงุดหงิดมั้ย รำคาญมั้ย อยากมั้ย ไม่พอใจกับมันมั้ย ...เนี้ย มันจะเห็นความอยากกับไม่อยากอยู่ตรงนี้ ความอยาก-ไม่อยากไม่ใช่อยู่ตรงโน้น


โยม –  ก็เห็นตา เห็นเสียง เห็นความคิด ก็นึกว่ามันจะย้อนกลับมาที่ใจ

พระอาจารย์ –  ไม่ย้อน เข้าใจไหมว่ามันต้องมีการตรึก หรือทบทวน เข้าใจมั้ย ไม่งั้นก็จะส่งออก ส่งออกอยู่ตลอด เพราะเราไปสนใจอยู่ตรงนู้น


โยม –  เห็นอาการเคลื่อนของจิตนะครับ เป็นตาบ้าง ข้างในบ้าง

พระอาจารย์ –  มันเห็นอาการตัณหาเกิดไหมล่ะ ให้สังเกตดู


โยม –  ไม่ค่อยเห็น

พระอาจารย์ –  เออ เพราะเราไม่ได้จดจ่อ ไม่ได้กลับมารู้ที่ใจ มาเน้นที่ใจข้างในนี้ มาระลึกรู้ที่ใจ สติต้องน้อมกลับมาระลึกรู้ที่ใจ ...มันเห็น 

เพราะนั้นลักษณะที่เข้าไปเห็น เราจะไม่เห็นเลยว่าจุดเกิดของตัณหา ขณะนั้นดูไปด้วยตัณหา ฟังไปด้วยตัณหา หรือฟังด้วยวิภวตัณหา รู้ด้วยภวตัณหาหรือรู้ด้วยวิภวตัณหา ...มันก็เลยไม่เห็นต้นเหตุที่เกิดทุกข์ 

มันจะต้องน้อมกลับมาที่เหตุ...เหตุที่เกิดทุกข์ หรือว่าตัวใจนั่นแหละคือเหตุ ใจนี่คือเหตุที่เกิดทุกข์ หรือตัวใจนั่นแหละคือสมุทัย คือเหตุที่เกิดทุกข์เลย 

น้อมกลับมา แค่ให้เห็นว่าความอยาก-ไม่อยาก ตรงนั้นแหละที่ตั้งของใจ

ถ้าไปอยู่ที่การกระทบ รู้ว่าเห็น ได้ยินเสียง ได้กลิ่นอะไร แล้วรู้ว่ามีกลิ่นมีอะไร ...พวกนี้คือวิญญาณ เข้าใจมั้ย มันรู้เหมือนกันน่ะ แต่มันรู้ในขันธ์ เป็นรู้ของขันธ์ วิญญาณก็รู้ใช่ไหม วิญญาณคือรู้

ขันธ์ห้ามีอะไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ...มันจะรู้ว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขารนี่ ไม่ต้องมีสติมันก็รู้ได้ เพราะมันมีวิญญาณ เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นการที่เราไปรู้อย่างนั้นน่ะ มันรู้ด้วยวิญญาณ ...แล้วเราก็ไปส่งออก เอาสติไปรู้เฉพาะวิญญาณ รู้ทางวิญญาณ มโนวิญญาณ โผฐฐัพพะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ จักขุวิญญาณ ฆานะวิญญาณ โสตวิญญาณ

แต่มันจะไม่ใช่รู้ที่ใจ มันก็จะไปไล่รู้ เอาผิดเอาถูกกับขันธ์น่ะ ว่ามันกำลังทำอะไรอยู่อย่างนั้น มันไปจดจ่ออยู่ตรงนั้น มันก็เลยไม่เห็นว่า...ตัวใครล่ะที่มันมีอารมณ์ 

อารมณ์ไม่ได้เกิดที่รู้กับขันธ์ ...มันมีอารมณ์ซ้อนขึ้นมา เริ่มด้วยยินดี-ยินร้าย แล้วมันจึงค่อยมีความคิด ความปรุงแต่ง แล้วก็มีการกระทำด้วยอุปาทานออกมาประกอบกัน

จุดเริ่มต้นของตัณหาเกิดที่ไหน ...ดูมันเข้าไปตรงนั้นแหละ ดูให้ทัน ให้เห็นตัณหา ความทะยานออกมา ตรงนั้นถึงเรียกว่าใจ ออกมาจากใจ ไม่ใช่วิญญาณ


โยม –  รู้ตามวิญญาณ อย่างเช่น รู้โลภโกรธหลงล่ะครับ  ถ้าเทียบระยะแล้วมันรัศมีเดียวกันรึเปล่า ยังเป็นเรื่องไกลออกไปหรือว่ายังไง

พระอาจารย์ –  ไม่ไกลหรอก เอ้า ก็โลภโกรธหลงมันก็รู้


โยม –  ครับ ก็อย่างตากระทบรูป หูได้ยินเสียง ใจคิด...รู้  แต่พระอาจารย์บอกว่ายังเป็นเรื่องวิญญาณ  กับรู้โกรธ รู้โลภ รู้หลง มันก็ยังไม่ใช่จุดของตัณหา มันเป็นเรื่องอารมณ์อยู่

พระอาจารย์ –  ก็คือธัมมารมณ์ เป็นธัมมารมณ์ ...ก็บอกแล้วไง เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ยินดีหรือยินร้ายล่ะ


โยม –  คือถ้าได้ยินดี-ยินร้ายนี่ มันจะกระชั้นเข้ามา

พระอาจารย์ –  ใช่ๆ เพราะอาการรู้ว่าโลภโกรธหลง ก็ยังเป็นมโนวิญญาณ ...แต่สติเข้าไปรู้ว่ามีการเกิดขึ้นของอารมณ์ทางใจ  

แล้วใจมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ปรากฏอย่างไร ...ตอบสนองเป็น action-reaction อย่างไร ออกมาเป็นตัณหาความอยากมั้ย

ซึ่งอาการที่มันเกิดมานี่ มันเป็นธรรมชาติที่ปรุงออกมาโดยอนุสัยอยู่แล้ว แล้วมันแสดงเป็นโลภโกรธหลงนี่คือผลหรือวิบาก เข้าใจมั้ยๆ 

มันเป็นวิบาก แล้วก็วิญญาณก็รู้...แล้วเราก็เห็นว่าเรารู้อะไร  สติเกิดพร้อมกับวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็ไปเห็นมโนวิญญาณเกิดขึ้น

แล้วก็น้อมรู้ว่า เออ ยินดี-ยินร้ายหรือเปล่า หรือเฉยๆ ปกติ ...เพราะนั้นให้รับรู้ด้วยอาการปกติ เป็นฐาน อยู่กับปกติเพราะการเข้าไปรับรู้นี่ สติมันเข้าไปเห็นมโนวิญญาณที่เข้าไปรู้ว่ามีอารมณ์ในใจยังไง

แต่ถ้าไม่มีสติปุ๊บ มันก็จะใช้อารมณ์นี้เลย เข้าใจมั้ย ...ใช้ไปตามวิญญาณน่ะ เป็นสัญชาตญาณ 

มนุษย์นี่ สัตว์นี่ มันใช้ญาณเหมือนกัน แต่เขาเรียกว่าสัญชาตญาณ...ของการเอาตัวรอด ของการเห็นแก่ตัว มันก็ทำไป ...แต่ว่าพอมันรู้ปุ๊บ มันเกิดอาการนี้ขึ้น ปุ๊บ แล้วเราเห็น รู้เห็นว่าอาการนี้เกิดขึ้น นี่เรียกว่าสติ 

แต่สติตัวเดียวมันก็ไม่พอน่ะ ...มันต้องกลับมาเห็นว่า ขณะที่มันเกิดขึ้นนี่ เรามีปฏิกิริยาอย่างไรกับมัน ใจมีปฏิกิริยายังไง ...ตรงนี้จะเห็นตัณหา

เมื่อเห็นตัณหาก็เห็นความเข้าจะไปเป็นอุปาทาน หรือเข้าไปอย่างนี้ เข้าใจมั้ย ...นี่คืออาการของที่มีกรรม มีการกระทำต่ออาการนี้

จะตามน้ำ หรือจะบังคับดึงกัน หรือจะประคอง หรือว่าจะประกอบให้มันมากขึ้นหรือทำให้มันน้อยลงอย่างนี้ ...นี่เริ่มเป็นอุปาทาน มีการกระทำแล้ว


(ต่อแทร็ก 2/19  ช่วง 2)