วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/13 (1)



พระอาจารย์
2/13 (530812A)
12 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แบ่งโพสต์บทความเป็น 2 ช่วงค่ะ)

พระอาจารย์ –  เอ้า เอาคนไม่เคยมาก่อน ...ไหน ใครไม่เคยมา


โยม  ตอนแรกก็ทำสมาธิ ยุบหนอพองหนอ

พระอาจารย์ –  จริงๆ ยุบหนอพองหนออะไร ก็สายสติเหมือนกันทั้งนั้น  แต่คราวนี้ว่าสติมันก็มีหลากหลายในการทำมันขึ้นมา ...สติบางทีนี่มันจะเป็นลักษณะที่พวกเราค่อนข้างจะใช้สติแบบมีตัณหาเข้าไปประกอบด้วย 

คืออยาก ...อยากให้มันมี อยากให้มันเป็น อยากให้มันเห็น อยากให้มันสงบ  คือเป็นสติที่เข้าไประลึกรู้พร้อมกับมีโลภะ มีตัณหาเข้าไป ...เพราะนั้นว่าผลของมันออกมาจริง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้


โยม –  ใช่ฮ่ะ   

พระอาจารย์ –  ก็อาศัยว่าขยันทำไปเรื่อยๆ แล้วมันก็ฟลุ้คๆ ก็จะดี อะไรอย่างนั้น  เพราะว่ามันไม่ใช่สติที่เป็นกลาง ...เพราะนั้นถ้าสติที่ไม่เป็นกลางจริงๆ มันจึงมีความเป็น...เขาเรียกว่ามันมีมิจฉาสติปน 

มันมีความเป็นมิจฉาปนอยู่ ...ซึ่งมิจฉาเมื่อไหร่นี่ หมายความว่ามันจะแลบออกไปทางค่อนข้างจะสุดโต่ง ...สุดโต่งในแง่ของความยินดี-ยินร้าย 

แต่ว่าสติในลักษณะที่เราบอกคือเป็นสติลักษณะที่ค่อนข้างจะเป็นกลาง ...เป็นกลางคือหมายความว่า ไม่เลือก  ไม่เลือกว่าจะต้องให้ได้อะไร จะต้องเห็นอะไร แล้วก็ผลมันจะเป็นยังไง 

คือมีอะไรก็รู้ไป รู้ยังไงก็รู้ไป ...จะดีก็ได้ จะร้ายก็ได้ จะเห็นกายก็ได้ จะเห็นจิตก็ได้ จะเห็นอาการของจิตก็ได้ หรือจะเห็นอะไรก็ได้ที่มันปรากฏขึ้น ขอให้เป็นปัจจุบัน ..ขอให้เป็นปัจจุบัน

แล้วก็รู้โดยที่...รู้เฉยๆ  ไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่เข้าไปยุ่งกับมัน  เห็นยังไงก็เห็นยังงั้น ... นั่งก็รู้ว่านั่ง ยืนก็รู้ว่ายืน มีความคิดก็รู้ว่ามีความคิด ไม่มีความคิดก็รู้ว่าไม่มีความคิด มีอารมณ์ก็รู้ว่ามีอารมณ์ 

โกรธก็รู้ หงุดหงิดก็รู้ กลัวก็รู้ กังวลก็รู้ ...คือมีอะไรก็ให้รู้ไปเฉยๆ กับมัน  รู้โดยที่ไม่ต้องแบบว่า...มันต้องหายไปนะ  หรือว่าถ้าอารมณ์ดีๆ หรือใจดีๆ สบายๆ หรือว่าผ่องใส ก็ว่า...รู้แล้วต้องอยู่นานๆ นะ

เพราะนั้นสติจึงทำหน้าที่เหมือนแค่เป็นยาม แค่คอยตรวจ คอยสังเกต คอยดู...ว่ามีอะไรปรากฏอยู่ตรงนี้ ปรากฏการณ์ต่อหน้าเรานี่ มันมีอะไรอยู่ มันมีอะไรตั้งอยู่ ให้รู้ในความตั้งอยู่ของอาการของกายและจิตในปัจจุบัน 

รู้เฉยๆ นะ ไม่ต้องเข้าไปจัดการ รู้เบาๆ รู้แบบง่ายๆ รู้แบบไม่ต้องเอาเป็นเอาตาย รู้แบบไม่ต้องไปเอารายละเอียดว่า...โห มันมายังไง มันจะไปยังไง อะไรเป็นเหตุปัจจัยของการตั้งอยู่อย่างนี้

คือรู้แบบไม่ไปค้นคิด รู้แบบไม่ไปแสวงหา รู้แบบกลางๆ รู้เฉยๆ  จะมากขึ้นก็ได้ จะน้อยลงก็ได้ ...หรือแม้แต่กระทั่งที่ว่าไม่รู้จะรู้อะไร...ก็รู้ว่าไม่รู้จะรู้อะไร 

ไม่ต้องไปพยายามไขว่คว้าหาอะไรมารู้ หรือไปควานว่าจะต้องมีสภาวะนั้น สภาวะนี้นะ ...ไม่มีอะไร พอรู้ปุ๊บว่าไม่มีอะไร ก็รู้ว่าไม่มีอะไร มันก็คือสภาวธรรมหนึ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเรา 

เพราะนั้นสภาวธรรมหรือสภาวธาตุนี่ เขามีอยู่ตลอดเวลา ...ถ้าพูดถึงสภาวธาตุ สภาวธาตุนี่คือกาย กลับมาดูตรงไหนก็จะเห็นว่า กายนี่มันมีตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้างหรือไปทำกายขึ้นมาใหม่ 

อยู่ในท่าไหนก็ได้ อยู่ในอิริยาบถยังไงก็ได้  จะนิ่ง จะไหว จะขยับ จะเคลื่อน ก็อยู่ได้ ก็เห็นได้ตลอด ...กลับมาดู สติมาระลึกรู้ปุ๊บ ก็จะเห็นสภาวธาตุตามความเป็นจริงในปัจจุบันกาย 

กายในอดีตไม่ต้องสนใจ ...ไปทำอะไรมา ไปว่าใครมา ไปโดนใครว่ามาแต่เก่าก่อน  ก็ให้รู้ทัน อย่าไปควาน อย่าไปหาอะไรกับมัน ...เอากายปัจจุบันนี่...สภาวธาตุ

สภาวธรรมคืออาการ...ที่เป็นนาม ทุกสิ่งทุกอย่าง ... ไม่ว่าสบาย ไม่สบาย หงุดหงิด รำคาญ ฟุ้งซ่าน สงบ นิ่ง เฉย ดีใจ เสียใจ กังวล กลัว สับสน สงสัย ...อะไรพวกนี้ คือสภาวธรรม 

คืออาการของนามทั้งหมดที่มันจะปรากฏขึ้น เราก็แค่รู้ว่ ...อ้อ มันเป็นอย่างนี้ ...รู้เฉยๆ พยายามรู้เฉยๆ ไม่ต้องไปแทรกแซง 

ไม่ต้องไปเอาถูกเอาผิดอะไรกับมัน ไม่ต้องไปเอาดีเอาร้าย ไม่ต้องไปว่านี่ใช่ นี่ไม่ใช่  นี่ถูกหรือเปล่า นี่ผิดหรือเปล่า  อย่างนี้เกิดขึ้นได้ อย่างนี้เกิดขึ้นไม่ได้ อะไรอย่างนี้ 

คือมันปรากฏอย่างไร...รู้ไปตรงๆ รู้โดยไม่มีเงื่อนไข อย่างเงี้ย ถึงจะเรียกว่าสติ ...ถ้าเป็นการระลึกรู้เช่นนี้ จะเรียกว่าเป็นสติที่จะเป็นไปเพื่อเข้าสู่องค์มรรค

เพราะองค์มรรคคือมัชฌิมา...มัชฌิมาปฏิปทา  มัชฌิมาก็แปลตรงๆ ว่า เป็นกลาง ...ไม่สุดโต่ง 

สุดโต่งหมายความว่า เลือก...อย่างนี้ได้ อย่างนี้ไม่ได้ ต้องอย่างนี้ อันนี้ไม่ได้ อันนี้ได้ อันนี้ถูก อันนี้ผิด ...นี่ เรียกว่าสุดโต่งแล้วนะ ...จิตมีการเลือก มีเป้าหมาย  

บางอารมณ์...เอ๊ อยู่นานไม่ได้นะ ไอ้อย่างนี้เดี๋ยวจะเป็นทุกข์  เดี๋ยวจะอย่างงั้น เดี๋ยวจะอย่างงี้  เดี๋ยวจิตจะตก เดี๋ยวจิตจะเสื่อม เดี๋ยวจิตจะแย่ ไม่ได้นะ ต้องให้มันหายไปเร็วๆ ...นี่ อย่างนี้เขาเรียกว่าเลือกแล้ว จะเอาแต่ไอ้ที่ต้องการ 

ถ้าอย่างนี้เขาเรียกว่าเข้าไปรู้แบบเข้าไปแทรกแซง ...บางอารมณ์อาจจะแก้ได้ บางอารมณ์อาจจะแก้ไม่ได้ ...แล้วเราจะสงสัย 

เราจะสงสัยว่า...เอ๊ะ ทำไมคราวนั้นรู้อย่างนั้น ทำไมคราวนั้นเราทำอย่างนั้นแล้วมันหายไป  พอคราวนี้มันขึ้นมาใหม่ เอ๊ะ ทำไมมันไม่หายไปล่ะ ...เอ้า ลังเลอีกแล้ว สงสัย

พอสงสัยก็ไม่รู้อีก คราวนี้ฟุ้งซ่านแล้ว กังวลแล้ว หาถูกหาผิดแล้ว "ทำยังไงดี" ... ก็อ้างว่า...วิธีนั้นวิธีนี้ดีกว่ารึเปล่า อ้างไปอ้างมาอ้างไม่ถูกก็ว่าอาจารย์สอนผิด อาจารย์สอนไม่ถูก สอนไม่ตรงรึเปล่า ไปว่ากล่าวกันไป

จิตมันก็มีการแสวงหามากขึ้นๆ มันก็ออกไปเรื่อยๆ ...ถ้าแสวงหานี่หมายความว่าออกจากฐานแล้ว ออกจากฐานของปัจจุบัน มันไปหาในอดีตในอนาคตแล้ว แล้วระหว่างที่หาไปนี่ ตามไปด้วยความหลงตลอดเลยนะนั่น ...ไม่รู้ตัวเลย 

เพราะนั้นพอระลึกรู้ปุ๊บนี่ ...ถ้ารู้ว่ามีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น กำลังหา กำลังหาถูกหาผิด  กำลังจะทำนั่น จะหาวิธี จะทำวิธีนั้นวิธีนี้ เพื่อให้เกิดอย่างนั้น เพื่อให้เกิดอย่างนี้ ...ถ้ารู้ตัวเมื่อไหร่นี่ ต้องหยุดทันที อย่าไปตามมัน อย่าไปคิดออกไป อย่าไปหา อย่าไปหาวิธีที่ดีกว่านี้

กลับมารู้ง่ายๆ ตรงๆ... กลับมารู้กายเลย ยืน เดิน นั่ง นอน กับอาการทางกายเป็นยังไง กลับมาตั้งมั่นกับกายก่อน  ให้จิตตั้งมั่นก่อน ให้มีสมาธิ ...ให้มันตั้งมั่น ตั้งฐานก่อน ให้เป็นปกติอยู่กับกายก่อน 

ไม่ต้องกลัวโง่ ไม่ต้องกลัวไม่รู้อะไร ไม่ต้องกลัวผิด ...กลับมารู้ตรงปัจจุบันน่ะถูกหมดแหละ แม้จะไม่เข้าใจอะไร แม้จะมองดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นธรรม หรือว่าไม่ได้เป็นสภาวะที่เราต้องการก็ตาม 

จะเป็นรู้กายเห็นกายเฉยๆ ก็ตาม ดีแล้ว กลับมาอยู่ในฐานของปัจจุบัน กายปัจจุบันแล้วก็จิตปัจจุบัน ...เดี๋ยวต่อไปมันก็จะค่อยๆ เห็นจิตปัจจุบันที่กำลังจะเริ่มมีอาการอะไรออกมา

ฝึกอยู่อย่างนี้  ฝึกสติอยู่อย่างนี้ ...ไม่ใช่ว่าจะให้ได้สภาวะใดสภาวะหนึ่ง แต่เราพร้อมที่จะรับทุกสภาวะที่ปรากฏ โดยไม่เลือกว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดีน่ะ 

เพราะนั้นเวลานักปฏิบัติ...พอเริ่ม หรือทำด้วยความไม่เข้าใจ หรือว่ามีทิฏฐิไม่ตรงนี่  มันจะเริ่มเลือกตั้งแต่ต้นเลย...จิตจะต้องดีเท่านั้น จะต้องสงบเท่านั้น ถึงจะเรียกว่าได้ผล ...เอาผลแค่ตรงนั้นแหละ 

เห็นมั้ย มันมีเป้าหมายอ่ะ ...แล้วก็ว่าถ้าสงบมากๆ หรือว่าทั้งวันนี่ถ้ายืนอยู่ในฐานของความสงบได้หรือว่าไม่มีอารมณ์ได้มากที่สุดถือว่าเก่ง ถือว่าได้ผลแล้ว 

นี่เขาเรียกว่าทำไปด้วยความอยากนะเนี่ย แล้วก็ไปเลือกภพที่ตั้งเอาไว้ ที่เป็นกุศล ...ซึ่งมันจะขัดกับความหมายของคำว่าไตรลักษณ์

ขัดยังไง ...ขัดกับไตรลักษณ์ที่ว่าจิตมันควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสติ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยตรง อย่างนี้ 

แต่เราพยายามจะให้มันอยู่ หรือจะให้มันมี หรือพยายามจะให้มันเป็น...โดยเข้าใจ มีข้ออ้างในจิตของเราว่า นี่คือผล...ปฏิบัติธรรมแล้วต้องได้ผลอย่างนี้ 

ถ้าลักษณะนี้ปั๊บนี่ มันจะไปปิดบังปัญญาทันที เพราะว่าปัญญานี่มันไม่ได้หมายถึงว่าผล ...ปัญญาหมายถึงว่าเห็นตามความเป็นจริง แล้วยอมรับตามความเป็นจริง 

ไอ้นี่เราเห็นความเป็นจริง ...ตอนแรกเห็นแต่ไม่ยอมรับ เห็นว่ามันไม่ดี ไม่ยอมรับความไม่ดีของเรา ต้องทำให้มันดี ...อย่างนี้ ไม่ยอมรับนะ ไม่เรียกว่ามีปัญญาแล้ว 

เรียกว่าเริ่มมีมิจฉาทิฏฐิเข้ามาแทรกแซงแล้ว มีความเห็นว่าอย่างนี้ได้ อย่างนี้ไม่ได้  อย่างนี้ถูกอย่างนี้ผิด ...เอาสมมุติบัญญัติเข้ามากฎเกณฑ์ในสภาวธาตุ สภาวธรรม หรือสภาวขันธ์ หรือว่าขันธ์ ๕ แล้ว

ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมดนี่ คือขันธ์ ๕ ...แต่ว่าพอเรารับรู้อาการของขันธ์ ๕ ที่ปรากฏแล้วปั๊บนี่...ด้วยความที่จิตมันยังมีตัณหาอุปาทาน 

มันมีความหมายมั่น ความอยาก-ความไม่อยาก อยู่ภายในจิตทุกดวง มันยังไม่ได้ชำระ มันยังไม่ได้น้อยลง มันยังมีอยู่ เท่านั้นเอง...มันก็พร้อมที่จะแสดงอาการได้ตลอดเวลา 

คราวนี้ว่าพอขันธ์ ๕ มันมีอาการต่างๆ นานา ...ซึ่งจริงๆ ขันธ์ ๕ เขาก็เป็นไปตามปกติของเขาแหละ ความคิด ความปรุง ความจำ ความรู้สึก อารมณ์ เวทนา อะไรต่างๆ นานา 

ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ...เขาก็ต้องมีอาการรับรู้อยู่ตลอดเวลาของขันธ์ อันนี้เป็นธรรมชาติของขันธ์ ...แต่พอวิญญาณรับรู้ปั๊บ จิตส่งไปถึงตัวจิตผู้รู้ปั๊บ ไอ้จิตมันออกมารับทราบ 

มันออกมารับทราบ...แต่มันไม่รับทราบเปล่าๆ นะ มันรับทราบพร้อมกับตัณหาและอุปาทาน  มันจึงเกิดอาการตอบสนองทั้งบวกและลบ...ในแง่ที่จะดึงเอาไว้ กับในแง่ที่ผลักออกไป 

ตรงนี้ที่เราไม่เท่าทัน...ไม่เท่าทันอาการตรงนี้ ตัณหาจึงเกิดตรงนี้ทั้งหมดเลย ...ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเกิด ณ จุดตรงนี้ 

แต่เราไม่ทัน...ไม่ทันอาการที่เข้าไปจับ เข้าไปมี เข้าไปเป็น ...มันไปทันไอ้ตอนที่มันทุกข์แล้ว เข้าใจมั้ย เป็นทุกข์แล้ว..."รับไม่ได้ๆๆ" แล้วก็พยายามจะแก้ๆๆๆ อยู่ตรงนั้นน่ะ ...ยิ่งแก้ยิ่งทุกข์

ยิ่งแก้ยิ่งทุกข์ เพราะเรายิ่งเข้าไปมุ่งกับอาการของมันมากขึ้นๆ ...ไม่ปล่อยให้ขันธ์หรือว่าสิ่งที่ถูกรู้หรือว่ารูปนามเขาเป็นอิสระของเขาเอง...ที่ไม่ขึ้นกับใคร ไม่ขึ้นกับการกระทำของเรา 

ตรงนี้ที่เรายอมรับไม่ได้ เพราะเราติด...ติดอะไร ติดสภาวะสุข ติดสภาวะที่มันสบาย ติดสภาวะที่เราเคยผ่านมาแล้วจำได้ว่ามันดีกว่านี้ ...พออย่างนี้แล้ว "รับไม่ได้" ... เลือกเลย เลือกแล้ว

เห็นมั้ย จิตของมนุษย์ปุถุชนทุกคน มันจะอยู่กับความสุดโต่งตลอดเวลา โดยที่ตัวเองไม่รู้ว่ามันสุดโต่งตรงไหน ...ก็บอกว่าเป็นธรรมดา เป็นปกติ

แต่ถ้าเราฝึกสติหรือการกลับมาระลึกรู้เท่าทันอาการ  เราจะเห็นขบวนการเหล่านี้ตามความเป็นจริง และก็จะเห็นตามความเป็นจริงมากขึ้น...ละเอียดขึ้น 

เมื่อเห็นความเป็นจริงเบื้องต้นปุ๊บ มันจะเห็นก่อนเลยว่าขันธ์ ๕ เขามีอยู่ เขาเป็นอยู่ ห้ามเขาไม่ได้ๆ ...ความคิดก็ห้ามไม่ได้ อารมณ์ก็ห้ามไม่ได้ ความรู้สึกต่างๆ นานา 

เจ็บปวด หนาว เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ได้กลิ่นหอมเหม็น พวกเนี้ย  ห้ามอาการนี้ได้ไหม ห้ามผัสสะได้ไหม ...มันจะห้ามไม่ได้เลย เขามีของเขาอย่างนี้ และจะมีคู่ไปจนวันตาย

แต่ว่าเราเห็นว่าไอ้สิ่งพวกนี้ไม่ธรรมดา เข้าใจมั้ย  เห็นว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเราพยายามจะหนีบางอาการ บางผัสสะ จะไม่เข้าไปแตะต้อง จะไม่ยอม...จะไม่ยอมรับผัสสะนั้นๆ 

จะเอาแต่ผัสสะดีๆ ความรู้สึกก็จะเอาแต่ความรู้สึกดีๆ เวทนาก็ต้องดีๆ  กายก็ต้องอยู่ที่สบาย เจ็บไข้ได้ป่วยก็ดิ้นรนขวนขวายกระวนกระวาย ...ไม่ยอมรับอะไรเลย...ที่มันเปลี่ยนไปอย่างที่เราไม่ต้องการ 

ตรงนี้ถึงเรียกว่ารู้ขันธ์ด้วยความหลง เข้าไปจับอาการของขันธ์ ...แล้วพยายามจะหน่วงสภาวะบางสภาวะไว้...ในเรื่องของนาม  สภาวของธาตุก็ในเรื่องของรูป ของกาย อย่างเนี้ย

พระพุทธเจ้าจึงสอนว่าต้องฝึกให้เกิดปัญญา ให้รู้เท่าทัน อาการของขันธ์ตามความเป็นจริง ...แล้วต้องยอมรับมัน แก้ไม่ได้ ...ต้องยอมรับก่อนว่ามันแก้ไม่ได้ 

ท่านไม่ได้สอนให้แก้เลย ท่านไม่เคยสอนว่าให้แก้ทุกข์ ท่านไม่เคยสอนให้หนีทุกข์ ...เพราะหนียังไงก็หนีไม่พ้น

เกิดมาเนี่ย ตั้งแต่ออกจากท้องแม่ยันตายนี่ ...มันอยู่กับทุกข์ของขันธ์ ๕ นี่ตลอดเวลา ไม่มีทางหนีรอดหรอก ...แต่ยังไงจะอยู่กับมันโดยที่เราไม่เป็นทุกข์กับมัน อันนี้เรียกว่าปัญญา 

เพราะนั้นแม้แต่พระอริยะท่านก็มีทุกข์ ...แต่ทุกข์ของท่านน่ะ เป็นทุกข์ของขันธ์ตามความเป็นจริง ท่านไม่ปฏิเสธ ท่านไม่หนี ท่านยอมรับ ...แต่ว่าท่านใช้มันเป็น ท่านอยู่กับมันเป็น 

ท่านอยู่ด้วยการว่า..เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา  เรื่องของขันธ์ ๕ ...ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เป็นเจ้าของขันธ์ ๕ อย่างนี้ ...ท่านก็ใช้มันไป อยู่กับมันไป  มันจะแสดงอาการอะไร ท่านก็แค่รู้แล้วก็ผ่านไป...แค่รู้แล้วก็ผ่านไป

แต่ของเรามันไม่แค่รู้แล้วผ่าน ... คือรู้ปั๊บ...เรื่องของกูหมด  รู้พั้บ...ไม่ได้  รู้พั้บ...มันต้องอย่างนั้นนะ มันต้องอย่างนี้นะ  ตาเห็นรูปปั๊บ...หงุดหงิด รำคาญ ...ก็ต้องไปทำอะไรสักอย่าง 

เห็นอากัปกิริยาของบุคคลนั้นบุคคลนี้ ...เอ้า เอาแระ มันขัดหูขัดตา มันรับไม่ได้  ...ได้ยินเสียงเขาพูดว่าอย่างงั้นพูดว่าอย่างงี้ พอหูได้ยินเสียงปั๊บ..เป็นเรื่องแระ ต้องไปทำอะไรสักอย่างให้ได้

มันไปจริงจัง ไปเป็นตัวเป็นตนกับสิ่งที่เขาไม่เคยบอกเลยว่าเขาเป็นอะไร ...ตรงนี้จึงมาเกิดเป็นสุขเป็นทุกข์ในใจของเรา...พอใจบ้าง ยินดีบ้าง ไม่พอใจบ้าง ยินร้ายบ้าง โกรธบ้าง หงุดหงิดบ้าง เสียอกเสียใจบ้าง คับแค้นบ้าง หนักบ้าง เครียดบ้าง กังวลบ้าง 

เขาเรียกว่าจิตมันพยายามไปปั้นน้ำให้เป็นตัว เอาเรื่องไม่เป็นเรื่องทำให้มันเป็นเรื่องอยู่ตลอดเวลา ...แล้วเราก็จะใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา โดยไม่เข้าใจกระบวนการของมันเลย 

หาทางหนี หาทางเลี่ยง หาทางแก้ ...แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ร้องไห้ไป เสียใจไป จมอยู่กับทุกข์ไป ... พอแก้ไม่ได้จริงๆ น่ะ ไม่มีทางแก้จริงๆ นะ ให้สังเกตดูว่า...ไม่ต้องทำอะไรหรอก สุดท้ายแล้วก็จะรู้เองว่า เดี๋ยวมันก็คลายไปเอง

สมมุติว่า เอ้า คนอกหัก อกหักแล้วกินข้าวไม่ได้ กินน้ำไม่ได้ ไม่รู้วิธีแก้  ...มันอกหัก มันเสียอกเสียใจงู้นงี้ มันก็เหมือนกับคาอยู่เป็นปีเป็นเดือน ...แต่สุดท้ายแล้วมันก็ค่อยๆ จางลงไปเอง 

ทั้งๆ ที่ไม่ได้แก้อะไรเลย สังเกตดู มันจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่ามันแก้ด้วยวิธีไหนได้ ...เพราะว่าธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดขึ้นเอง ตั้งอยู่เอง แล้วก็ดับไปเองอยู่แล้ว

แต่ความที่ความเห็นของเรานี่แหละ ไม่ยอมให้มันตั้งอยู่เอง  พยายามต้องทำให้มันดับไปให้ได้  ใจร้อน ใจเร็ว ความอยากมันเร้าออกมา ...ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ให้ได้นะ ต้องเดี๋ยวนี้ๆ 

ใจมันร้อน ไม่ยอมรับตามความเป็นจริงที่มันจะตั้งอยู่ มันก็เลยใช้ชีวิตอยู่ด้วยการทนอยู่กับทุกข์ได้ยาก ...เมื่อทนอยู่กับทุกข์ได้ยาก มันก็จะไม่เห็นที่สุดของทุกข์

คำว่าที่สุดของทุกข์นี่ไม่ได้หมายความว่าตาย ...ที่สุดของทุกข์นี่คือความดับไปเองของมัน จึงเรียกว่าที่สุดของทุกข์ 

เพราะนั้นการที่จะมีสติรู้อาการตามความเป็นจริงในปัจจุบันนี่  ฐานของมันคือหนึ่ง...ปกติ  สอง...อดทน ถ้าไม่มีความอดทนอดกลั้นอยู่กับมันนี่ ...ไปไม่รอดหรอก 

มันหนีหมด มีข้ออ้างมาคอยสนับสนุนให้มันไหลออกไป มีข้ออ้างมีข้อสนับสนุนให้ส่ายแส่ออกไปในอาการนั้นอาการนี้...เพื่อจะมาทดแทน เพื่อมาปิดบัง เพื่อมาทำให้ดูเหมือนผ่อนคลาย

เพราะนั้นเอะอะอะไรๆ มันจะแก้ มันจะหนีอยู่ตลอด ...มันก็เลยไม่เข้าไปเห็นที่สุดแห่งทุกข์ของมัน คือความดับไปเองของทุกอาการ

แต่ถ้าเรารู้เป็นกลางๆ... ฝึก มันต้องฝึกๆ  ถ้าไม่ฝึก ถ้าไม่ขัดเกลา ถ้าไม่เปลี่ยนนิสัย ถ้าไม่แก้นิสัยความเคยชินเดิมๆ เราก็จะจมปลักหรือว่าเวียนอยู่กับอาการเดิมๆ อย่างนี้ 

ตาเห็นรูปก็ทุกข์ หูได้ยินเสียงก็ทุกข์ ...พอทุกข์แล้วก็มีอาการตอบสนองในทางใดทางหนึ่งออกไป กายมั่ง วาจามั่ง ใจก็นึกด่าเขาไปมั่ง โต้ตอบเขาไปมั่ง อะไรไปมั่ง 

เพราะไม่รู้...ไม่รู้กระบวนการของมัน ไม่เท่าทันอาการตามความเป็นจริง ...มันก็จะซ้ำซากอยู่ในอาการเดิมๆ ความเคยชินเดิมๆ เป็นสุขเป็นทุกข์เหมือนเดิม

แต่ถ้าฝึกให้รับรู้เฉยๆ ...อดทนนะ  การที่จะรู้เฉยๆ น่ะ มันต้องอดทน  ถ้าไม่อดทนนี่ เวลาเขาด่ามาแล้วเราด่าไป มันสบายใจน่ะ มันหายแล้ว ทุกข์หายแล้ว  มันจะแก้ทุกข์เอาแบบง่ายๆ แก้แบบไม่ยอมจบ...แต่มันคิดว่ามันจบ 

แต่บอกให้มันไม่จบ ...ไม่จบยังไง ...เพราะมันจะมีวิบากผลกรรมต่อเนื่อง...กลับมากลับไป กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ...เกิดเขาตายก่อน เขายังไม่เอาคืน รอก่อนเหอะ มึงเกิดมาทีหลังกู เดี๋ยวกูก็เอาคืนมึง อย่างเนี้ย 

มันจะเป็นการจองเวร คือวิบากกรรม...ไม่จบหรอก  ถ้ายังมีการกระทำออกไปทางกายวาจา กุศลมั่ง อกุศลมั่ง ...ทำอะไรต้องได้รับผลหมด 

แต่ถ้าเขาพูดมา เราได้ยินเสียง ตาเราเห็นรูปปุ๊บ  แล้วเรารู้...ไม่พอใจ หงุดหงิด รำคาญ ...เราเห็นอยู่ๆ แต่ไม่ตามอาการ ไม่สร้างอาการทางกายวาจาออกไป 

เห็นมั้ย มันทุกข์นะนั่นน่ะ  มันดิ้น มันกระสับกระส่าย มันอยากจะ..."สักป้าบนึงมั้ย" มันถึงจะสบายใจหน่อย เห็นมั้ย มันระบายไม่ออก คล้ายๆ อย่างนั้น ...ก็ต้องอดทน 

นี่ล่ะท่านเรียกว่าเป็นการขัดเกลากิเลส นิสัย สันดาน  คือความเคยชินแต่เก่าก่อน หรืออนุสัย หรืออาสวะ ซึ่งเราใช้กับมันมานาน ...จนคุ้นเคยเป็นญาติสนิทกันเลยอ่ะ จนดูเหมือนเป็นตัวของเราเลย 

ว่ามันต้องเป็นยังงี้ ถ้าไม่เป็นยังงี้ผิดปกติ  อย่างคนเขาว่าไอ้คนนี้ผิดปกติรึเปล่า เขาว่าแล้วก็ทำเป็นนิ่งเฉย ไม่รู้สึกรู้สม ไม่รู้จักมีอารมณ์ตอบสนองอะไรบ้าง กลับเป็นเขาตำหนิเลยว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก ไปอย่างนั้นอีก 

แล้วพอมีคนบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก เราก็สงสัย ลังเลอีกแล้ว เอ๊ะ หรือเราจะไม่ถูกวะ เราจะต้องมีการแสดงอะไรออกไปให้เขารับรู้บ้างอย่างนี้ ...เนี่ย เห็นมั้ย สีลัพพตเกิดอีกแล้ว 

คือเชื่อเขา เขาบอกว่า เขาเล่าว่า ไอ้อย่างนี้ดี ไอ้อย่างนี้ถูก ไอ้อย่างนี้ผิด ไอ้อย่างนี้ควร ไอ้อย่างนี้ไม่ควร เอาอีกแล้ว จับมาเป็นทิฏฐิมานะขึ้นมาอีกแล้ว ...ก็มีการกระทำไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น 

ก็ต้องกลับมาหยุด อยู่ ภายใน รับรู้เฉยๆ อดทนต่อทุกข์ ...เบื้องต้นต้องอดทนก่อน อดทนรู้เฉยๆ จนกว่ามันจะดับไปเองๆ ...จะเป็นวัน จะเป็นเดือน จะเป็นปี จะเป็นหลายๆ ปีก็ตาม ...อยู่กับมัน เรียนรู้กับมัน 

แล้วมันก็จะค่อยๆ เห็นความเป็นจริงมากขึ้นๆ ...เห็นความเป็นไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยง เห็นความแปรปรวน เห็นความไม่คงอยู่ เห็นการที่ว่าไม่มีอะไรเข้าไปบังคับควบคุมมันได้ 

จิตมันก็จะฉลาด แล้วก็ยอมรับ...อาการพวกนี้ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปของมันมากขึ้นๆ ... เนี่ย ปัญญาเริ่มเกิดแล้ว แต่ว่ามันเกิดทีละเล็กทีละน้อย ...ต้องอาศัยเวลาสะสมไปเรื่อยๆ


(ต่อแทร็ก 2/13 ช่วง 2) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น