วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/14 (1)


พระอาจารย์
2/14 (530812B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 สิงหาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กยาวแบ่งโพสต์บทความเป็น 2 ช่วงค่ะ)

พระอาจารย์ –  เป็นไง ฟังไปคราวที่แล้ว ได้ไปลองทำมั้ย 

โยม –  ก็ทำเป็นปกติครับ ...พอดีวันนี้พาน้องมา เขาจะไปอยู่วัดสี่ห้าวัน

พระอาจารย์ –  อ้อ  ไปอยู่วัดไหน 

โยม  สำนักปฏิบัติธรรมค่ะ ...ที่นั่นจะมีคนปฏิบัติไม่เยอะค่ะ โยมเพิ่งไปได้ไม่กี่ครั้ง  แต่ครั้งนี้ตั้งใจว่าจะไปทำจริงๆ จังๆ

พระอาจารย์ –  โอ้ย อย่าไปตั้งใจ

โยม –  (หัวเราะกัน) 

พระอาจารย์ –  อย่าตั้งใจ ...ไปเฉยๆ ไปเหมือนออกไปเที่ยวไปทัวร์  ไปทัวร์ดูกายดูจิต 

คือถ้าตั้งใจเมื่อไหร่...ตั้งใจแรงไปปั๊บนี่ มันตั้งค่าไว้สูงแล้ว ...เหมือนกับเราไปเตรียมพร้อมที่ว่าจะได้รับอะไร...จะได้ผลอะไรในการที่เราตั้งใจขึ้นมา

การตั้งใจจริงๆ คือคำว่า “ตั้งใจ” จริงๆ นี่ ...คือให้ตั้งอยู่ในปัจจุบัน หมายความว่าไม่ได้ไปตั้งอยู่ในอนาคต ...หมายความว่ากลับมาดูกายดูจิตในปัจจุบัน 

เพราะว่าถ้าเราอยู่กับอารมณ์ภายนอก หรือว่ามีตาหูจมูกคอยแส่ส่าย ไอ้นั่นไหวไป ไอ้นี่ไหวมา แล้วจิตมันจะว่อบแว่บ ว่อบแว่บแล้วเราจะไม่ทันอาการว่อบไปแว่บมาในปัจจุบัน

เพราะนั้นเวลาเรากลับมาอยู่ตัวคนเดียว กลับมาอยู่ในที่ที่ไม่มีรูป ไม่มีเสียงมารบกวน หรือมาชักจูง หรือมาเร้าแบบที่เราอยู่ในปัจจุบัน ...เราสามารถจะรู้...ตั้งอยู่กับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น 

สติสามารถจะจับปัจจุบันเห็นปัจจุบันได้ง่ายขึ้น แล้วก็จะต่อเนื่องได้มากขึ้น ...นี่คือการที่ว่ากลับมาอยู่คนเดียว 

การปฏิบัติ ...ไม่ใช่ว่าจะไปตั้งใจจะให้ได้อะไรขึ้นมา หรือจะไปเปลี่ยนกายเปลี่ยนจิตขึ้นมาใหม่ ...กายก็กายอันเดิม จิตก็จิตอันเดิม ไม่ได้เปลี่ยนหรอก เพียงแต่ว่ามันเปลี่ยนรูปเสียงกลิ่นรสที่มันมาสัมผัส มันน้อยลง 

ถ้าเราอยู่กันอย่างนี้ กับครอบครัวเดี๋ยวก็เรื่องผัวเรื่องลูก เดี๋ยวก็เรื่องการงาน เดี๋ยวก็เรื่องคนนั้นคนนี้  เดี๋ยวก็เรื่องใครต่อใคร มันสลับไปสลับมา ...แล้วเราไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยตอนนี้ สติไม่สามารถจะเท่าทันได้ เพราะสติเราอ่อน

แต่ว่าเมื่อเรากลับมาอยู่คนเดียว ไอ้ที่ว่ามันดีขึ้นน่ะ เข้าใจมั้ย มันดีขึ้นตรงนี้...คือสามารถอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น สามารถต่อเนื่องกับปัจจุบันได้  

เมื่อมันอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ต่อเนื่องกับปัจจุบันได้มากขึ้น ...ความเป็นปกติก็มากขึ้น จิตก็จะค่อนข้างสันติหรือสงบ

เพราะนั้นสงบในความหมายของการเจริญสตินี่ ไม่ใช่สงบแบบหลับไปหรือว่าดิ่งไม่รับรู้อะไร ...แต่ว่าเป็นสงบแบบสันติ คือมีความเบา มีความเป็นกลาง มีความโปร่ง ไม่ค่อยมีปัญหา อย่างนี้ต่างหากถึงเรียกว่าสงบที่แท้จริง 

ไม่ใช่สงบแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ...แต่ว่ามันสงบแบบ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง อายตนะมีหมด รู้หมด  แต่ว่าเป็นกลางๆ เฉยๆ สบายๆ โปร่ง ...อย่างนี้เรียกว่าเป็นผล ดีแล้วแค่นั้นก็ดีแล้ว

แต่อย่าไปหวังว่า โหย จิตจะอย่างงั้นจะอย่างงี้ขึ้นมา ...จิตเขาก็เหมือนเดิม มีอาการรับรู้เท่าเก่า  แต่ว่าการเข้าไปคว้ามาเป็นอารมณ์อาจจะน้อยลง ...ด้วยความเท่าทัน 

เพราะเราเท่าทัน พอมีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ ๆ พอมันจะมีอารมณ์ก็รู้ มีอารมณ์อยู่ก็รู้ อย่างเนี้ย

(ถามโยม) อาจารย์ที่นั่นเขาสอนเรื่องสติรึเปล่า


โยม –  สอนค่ะ พระอาจารย์

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นถ้าไปอยู่ก็ไม่ต้องไปอะไรจริงจังมากมาย ...อยู่ธรรมดา อยู่แบบธรรมดา ใช้ชีวิตปกติ แล้วก็อยู่คนเดียว ...แค่นี้ รูป เสียง กลิ่น รส มันห่างออกแล้ว 

แล้วก็ไม่ต้องคิดถึงเรื่องที่ผ่านมา ไม่ต้องคิดถึงว่าออกไปจะเป็นยังไงต่อไป คือให้รู้อยู่ตรงนี้


โยม  อยู่กับปัจจุบัน  

พระอาจารย์ –  ของกายของจิต แค่นี้เอง ...สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ไม่เลือก ...อย่าไปตั้งค่า อย่าไปหวัง อย่าไปคาด อย่าไปเดา อย่าไปคะเน ...เอาแค่อยู่ในปัจจุบัน รู้ปัจจุบันแล้วไม่มีอะไร  

ถ้ารู้ปัจจุบันแล้ว...จะไม่มีอะไร แล้วก็จะไม่ได้อะไร ...อย่ากังวล อย่าสงสัยว่าไม่ได้อะไรเลย ไม่เห็นดีกว่าเก่าเลย ...มันไม่มีดีหรอก มันมีแค่เฉยๆ ตรงนี้ เป็นปกติ เป็นธรรมดา 

ปีติไม่เอา ความสุขไม่เอา ...พอมีปีติก็รู้ว่ามีปีติ มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นมั้ย ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นให้รู้ ...พอรู้ปุ๊บ มันจะแยกออกเป็นสิ่งที่ถูกรู้กับรู้  ถ้าอย่างนี้จะไม่เข้าไปยุ่งกับอาการแล้ว 

แต่ถ้าไปอิ่มเอมกับความสุข ความพอใจ ความยินดีในอาการที่ปรากฏ ...นี่มันเข้าไปแล้ว เข้าใจมั้ย เข้าไปปนกันแล้ว เข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว เข้าไปมีเข้าไปเป็นแล้ว 

เพราะนั้นถ้ามีอาการนี้เกิดขึ้นปุ๊บ ให้ตั้งสติระลึกรู้ว่า...อ้อ กำลังสบายใจ อ้อ กำลังมีความสุข เห็นมั้ย มันจะแยกออก...สุขปุ๊บรู้


โยม –  ถ้าเข้าไปแล้วพอสติระลึกรู้ก็มันจะถอย 

พระอาจารย์ – มันจะถอยออกมา ระหว่างสิ่งที่ถูกรู้...กับรู้  เพราะนั้นถ้าถอยออกมาเมื่อไหร่ปั๊บนี่ จิตเป็นการเจริญวิปัสสนาทันที  

พวกโยมชอบถามว่าวิปัสสนาคืออะไร...คือลักษณะการถอยออกมาปุ๊บ มันจะเห็นสิ่งที่ถูกรู้กับรู้ แล้วจะเห็นสิ่งที่ถูกรู้นี่ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวก็เปลี่ยน ...จะเริ่มเห็นแล้ว 

แต่ถ้าไม่รู้นะ ไม่มีสติระลึกรู้...เข้าไปมี เข้าไปเป็นกับมันปุ๊บ ...เวลามันดับไปก็ไม่รู้ เวลามันเปลี่ยนไปก็ไม่รู้ 

เพราะเราจะมีความรู้สึกตามมาว่าพอใจ ไม่พอใจ ยินดียินร้ายอยู่กับมัน ในการที่มันเปลี่ยนไปมา ...คือไม่รู้อาการที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามความเป็นจริง

แต่ถ้าเราแยกออกมาเป็นสิ่งที่ถูกรู้ และรู้อยู่ว่ามันกำลังมีอยู่  เราจะเห็นอาการที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วก็จะเห็นอาการขณะที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้ว...เราไม่พอใจก็เห็นว่าเราไม่พอใจ 

เราจะเห็นว่าเรายินดีมั่ง เรายินร้ายมั่ง เห็นมั้ย มันเห็นอยู่ตลอด ...ถ้าอย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนาแล้ว เจริญปัญญาแล้ว เห็นตามความเป็นจริงแล้ว 

อาจจะยังไม่ยอมรับความเป็นจริง หรืออาจจะยอมรับความเป็นจริงก็ได้ ...ก็แล้วแต่ว่า มันจะรู้ มันจะเห็น มันจะยอมรับได้มากน้อยขนาดไหน  มันก็ต้องสะสมไปเรื่อยๆ

เพราะนั้นบางอาการที่เราเห็นแล้วมันขึ้นหรือมันลง แล้วอาจจะมีความยินดีบ้างยินร้ายบ้าง ...อย่าไปดีอกดีใจ อย่าไปเสียอกเสียใจ ...เป็นธรรมดา เพราะเรายังผูกกับอาการอยู่ เข้าใจมั้ย 

มันก็จะมีอาการยินดีบ้างยินร้ายบ้าง ก็รู้ว่า อ้อ ตอนนี้กำลังยินดี อ้อ ตอนนี้กำลังยินร้าย ...ไม่เป็นไร  พอรู้ปุ๊บเดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวความยินดียินร้ายก็จะคลายเป็นปกติ 

แล้วก็จะเห็นอาการเป็นปกติ เวลาหมดไปก็ไม่เสียดาย ไม่อาลัย ...หรือเวลาที่มันจะตั้งอยู่ในอาการที่เราไม่พอใจ ก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่างเนี้ย จะไม่เข้าไปยินร้าย หรือเป็นปฏิฆะ 

แต่ถ้าเราเข้าไปรู้หรือเข้าไปเสวยปั๊บนี่ เหมือนจะเข้าไปรบกับมันเลย ...เจ็บ เจ็บตัว จะเสวยคือความทุกข์ กังวล สงสัย เครียด

ถ้ารู้ว่าอาการพวกนี้เกิดขึ้นนะ ...กำลังทำอะไรอยู่ เลิกหมดเลยนะ  ไปเดินเล่นเลย ไปแกล้งทำเป็นไม่มาปฏิบัติเลย ทิ้งการปฏิบัตินั้นเลย เพราะอย่างนั้นไม่เรียกว่าการปฏิบัติแล้ว มันเข้าไปหลงแล้ว มันเข้าไปหลงกับอาการแล้ว 

ทำอะไรก็ได้ให้มันทิ้งจากอาการเดิมซะ ไปทำอะไรก็ได้ เดินเล่น จัดของ ทำอะไร ให้มันคลี่คลาย ให้มันสบายใจ ดูนกชมไม้ดูวิวอะไรไป ให้มันทิ้งจากอาการที่มันเครียด กังวล ในการที่มันไม่ได้ดั่งใจไป 

ให้มันมีความระลึกรู้ ให้มันตื่นตัวกับปัจจุบันก่อน ...แล้วก็เริ่มนับหนึ่งใหม่ แล้วก็เริ่มรักษาสติในปัจจุบัน ...การปฏิบัติคือการรักษาสติในปัจจุบัน อย่าไปเน้นเอาความสงบเป็นหลัก 

สงบเป็นผล เข้าใจมั้ย สงบนี่เป็นผลนะ ไม่ใช่มรรค ...สงบหรือไม่สงบนี่เป็นผล  ตัวมรรคคือการเจริญสติ  คือการรู้ ระลึกรู้ในอาการที่กำลังกระทำ หรือมันปรากฏอยู่ 

เราทำอะไรอยู่ก็ต้องรู้ หรือไม่ทำอะไรก็รู้ว่าไม่ทำอะไร แต่ก็ต้องรู้ว่ามีอะไรปรากฏอยู่ นี่ท่านเรียกว่ามรรค ...ให้เจริญมรรค อย่าไปเจริญผล โดยเอาผลนั่นเป็นมรรค ...ไม่ใช่ 

สงบไม่สงบไม่สำคัญ มันเป็นผล เป็นไปตามเหตุและปัจจัย ...ท่านให้เจริญมรรค คือสติเข้าไปรู้ว่ากำลังทำอะไร 

จะกำหนดพุทโธก็รู้ ...เหมือนกับโยมผู้หญิงนี่ กำหนดพุทโธ โยมจะต้องแยกให้ออก ว่าพุทโธ...กับใครว่าพุทโธ เข้าใจมั้ย ไ ม่ใช่มีแต่พุทโธๆๆๆๆๆ จิตอยู่ไหนไม่รู้ ใครเป็นคนว่าพุทโธก็ไม่รู้ 

หรือกำหนดลม...มีแต่ลมเข้าลมออก  ดูแล้วก็ดูที่ลมเข้าลมออกแต่ไม่รู้ว่าใครดูอยู่ ...มันกลายเป็นว่าจิตกับลมเป็นอันเดียวกัน จิตกับพุทโธเป็นอันเดียวกัน 

ถ้าอย่างนี้สติมันจะเริ่มหายไปๆๆๆ  ไม่ง่วงก็หลับ ไม่หลับก็ลงฌาน หายไปเลย ...เวลามันหาย มันหายไปพร้อมกันเลย พุทโธก็หาย จิตก็หาย ...เพราะนั้นสมาธิที่ได้ท่านเรียกว่ามิจฉาสมาธิ 

เหมือนนอนหลับ หายไปไหนก็ไม่รู้ ...พอมันถอนขึ้นมาทีก็...เอ๊ะ เมื่อกี้เราเป็นอะไรไป เอ๊ะ นึกว่าแป๊บเดียว โห นี่เป็นชั่วโมงแล้ว ไม่รู้ตัวเลย  อย่างนี้ เขาเรียกว่าเป็นโมหสมาธิ...จม

แต่ถ้าการกำหนดด้วยคำบริกรรม หรือลมหายใจอานาปาฯ ก็ตาม ... ลม...ธรรมดาของลมนี่ มันไม่มีชีวิต ใช่มั้ย ลมก็คือลม พัดไปไหวมานี่  มันไม่รู้หรอกว่ามันเป็นลม ...แล้วใครล่ะรู้ มันมีน่ะ อีกตัวนึง 

เราจะต้องแยกให้ออก...ตัวผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ... ลมคือลม แล้วก็รู้อยู่เห็นอยู่ว่าลมกำลังเข้าลมกำลังออก อย่างนี้ สติให้มาแยกออกระหว่างสิ่งที่ถูกรู้ 

แม้แต่คำบริกรรมก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ...พุทโธอยู่ดีๆ มันไม่ออกมาหรอก  ใครล่ะเป็นคนว่า ใช่มั้ย ...อยู่ดีๆ มันไม่ลอยออกมาได้  มันต้องมีการที่...ใครล่ะเป็นคนกำหนด ใครเป็นคนว่าพุทโธ 

ให้ดูอาการสองอาการ เป็นอารมณ์คู่ ...การกำหนดนั่งสมาธิอย่ากำหนดอารมณ์เดี่ยว ถ้าอารมณ์เดี่ยวปั๊บมันจะเป็นการเพ่ง หรือฌาน ...เพ่งเมื่อไหร่นี่จิตกับอารมณ์มันจะรวมกัน 

ถ้าอย่างนี้จะเป็นฌาน ฌาน ๑ - ๒ - ๓ - ๔ ...แล้วเวลาลงไปนี่หาย  ลงไปปุ๊บหาย หายแบบโมหะ  ฌานนี่เป็นอารมณ์ของโมหะ หายแบบไม่รู้ตัว 

แต่ถ้าเป็นสมาธิเมื่อไหร่ รวมตัวกันเมื่อไหร่ปั๊บ...มันจะรู้ชัดเด่นเลย  พุทโธหายแต่จิตเด่นเลย รู้...รู้อยู่ นั่งอยู่รู้ ...ตื่น จิตจะตื่น เลิกออกมาแล้วยังตื่นเลย สตินี่แจ่มชัด...ใส 

เคยมั้ย เคยนั่งสมาธิออกมาแล้วใสมั้ย  ไม่ใช่ใสแบบสว่างนะ  ใสแบบจิตมันใส กระฉับกระเฉงน่ะ อะไรมากระทบมันรู้ชัด เข้าใจหมด หูได้ยินเสียง มีอะไรเกิดขึ้นรู้ ...สดใสน่ะ เพราะว่ามันใสด้วยสมาธิอย่างนั้นน่ะ 

นั่นน่ะคืออานิสงส์ของสมาธิ มันจะทำให้จิตแจ่มชัด สติแจ่มชัดขึ้น  และมันจะอยู่ได้ระยะหนึ่ง ความแจ่มชัดนั้นน่ะ นี่ ท่านเอาประโยชน์จากตรงนั้นของสมาธิ ...ไม่ใช่สงบแบบหาย 

ถ้าหายแบบเบลอปุ๊บเหมือนหลับตื่นขึ้นมา อะไรก็ไม่รู้ ...ก็ซึมๆๆ ซึมกระทือไปทั้งวัน ...อย่างนี้โมหะ มันไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย ...อานิสงส์ของฌานไม่ได้ มีแต่ว่าเข้าไปไม่รับรู้อายตนะ เหมือนหลับ มัวเมา หาย ดำดิ่งลงไปอย่างนั้น

เพราะนั้นว่าถ้าจิตมันรวม มันจะรวมแบบไหน  รวมแบบขณิกะ อุปจาระ หรืออัปปนา นี่คือรวมแบบสมาธิ ...แต่ถ้ารวมแบบโมหะ มันจะรวมเป็นฌาน ๑-๒-๓-๔ รวมหาย ตื่นขึ้นมาก็เบลอ ซึม ง่วง พวกนี้ 

อาการที่ง่วง สัปหงก ถีนมิทธะเกิด  นี่คืออารมณ์ของการเพ่ง มันจะเข้าไปรวมกับอารมณ์ ...แต่มันยังไม่ถึงฐานของมัน ฐานของการที่เข้าไปรวมได้ปั๊บ มันจะเกิดความง่วงเหงาหาวนอน เป็นถีนมิทธะเกิดขึ้น

แต่ถ้าเราฝึกให้การบริกรรมหรือการนั่งสมาธิ...ด้วยการแยกสิ่งที่ถูกรู้กับรู้  ถือว่าเป็นการนั่งสมาธิพร้อมกับเจริญปัญญา ...สติเข้ามาเจริญปัญญาพร้อมกัน มันจะมีความตื่น กระฉับกระเฉง 

แม้จะมีอาการถีนมิทธะเกิดขึ้นตามอาการของขันธ์ ความง่วง ง่วงก็รู้ว่าง่วง ง่วงก็รู้...รู้อยู่ว่ากำลังง่วง รู้เฉยๆ กำลังง่วง ...ถ้ามันรู้แล้วยังง่วงๆๆ ไม่ไหว ไปแน่ๆ ลุกขึ้นไปนอนเลย 

ให้มันเป็นที่เป็นที่เป็นทางไป อยากหลับมันก็หลับไปเลย ดูซิ ...บอกให้เลยนะ พอง่วงๆๆ แล้วลุกไปนอนนะ  พอนอนเข้าจริงๆ มันไม่หลับหรอก


โยม –  ใช่ ไม่หลับ 

พระอาจารย์ –  เออ ไม่หลับก็ดี ...ดูต่อ ดูตอนนอนต่อไปเลย เข้าใจมั้ย    

โยม  เรามานั่งทำอีก ง่วงอีก

พระอาจารย์ –  ง่วงอย่างนี้เป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของถีนมิทธะ... อาการ เข้าใจมั้ย  เพราะนั้น ลอง..ง่วง นอนเลย ลุกไปนอน นอนดู ...พอนอนดูเข้าจริงๆ มันจะตื่น บอกให้เลย มันจะเป็นอย่างนั้น 

เพราะนั้นไม่สำคัญที่อิริยาบถหรืออาการ ...สำคัญแค่จิตรู้ อะไรก็ตามให้รู้  ...ให้รู้ให้มันตื่น ให้มันตื่นอย่าให้หลับใหล  อย่าให้เบลอ ซึม สติจางหายแทบไม่เห็นเลย 

อย่างนี้ไม่มีประโยชน์เลยนะ ...จะนั่ง ถึงมีความเพียรขนาดไหนก็ตาม ก็จะไม่รู้ไม่เห็นอาการตามความเป็นจริง ...แต่ยังไงให้รู้ อะไรเกิดขึ้นให้รู้  สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง

(บอกโยมอีกคน) อ่ะ ถามมา


โยม –  อยากถามท่านน่ะค่ะ สำหรับตัวที่เกิดนะคะพระอาจารย์  อย่างเราไปงานรื่นเริงหรืองานสนุกอย่างนี้ค่ะ พอเวลาเราไปงี้ เราเห็นเขาสนุกสนานมาก แต่ว่าเราฮ่ะ ตัวเราไม่ใช่น่ะ  มันไม่ได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นน่ะค่ะ ...เขาก็ถามว่าสนุกมั้ย เราก็ตอบว่า อือ ก็ดี อะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  อือฮึ 

โยม –  มันประสาทรึเปล่าคะ 

พระอาจารย์ –  ไม่หรอก

โยม  หนูมีความรู้สึกว่ามันไปอย่างนี้ ปกติมันก็ขึ้นมาเลย มันเป็นอะไรหรือคะอาจารย์ 

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นอะไร ก็หมายความว่าเราไม่ออกไปรับรู้ ไม่ออกไปเสวยกับมัน 

โยม –  แต่บางทีเราก็อยากมันในอารมณ์ตรงนั้น 

พระอาจารย์ –  ก็ให้เห็นว่าเรากำลังอยาก  

โยม –  ค่ะ แต่มันก็ไม่เข้าไปแบบอะไรอย่างนี้  

พระอาจารย์ –  ก็ดีแล้ว

โยม  มันดีหรือคะอาจารย์ ...ซึ่งคนในปัจจุบัน คนทั่วไปเขาไม่เป็นอย่างเรา 

พระอาจารย์ –  ก็นั่นไง ก็นั่นคือคนของทางโลกที่เขาถือว่าอันนั้นคือความถูกต้อง ...แต่เมื่อเรามาเรียนรู้เรื่องของกายเรื่องของจิตแล้วเนี่ย เราจะเห็นว่าอาการที่เขาทำ หรือเขาแสดงออกไปนี่มันไร้สาระ...ไร้สาระสิ้นดี 

เพราะนั้นลักษณะนี้เขาเรียกว่าปัญญามันมี มันคุ้มครองจิตอยู่  มันไม่เข้าไปกระโดดโลดเต้นกับอาการ ไม่หลงไปตามอาการ 

แต่ว่าเรายังติดอยู่ตรงไหน ...ติดตรงความเห็นของผู้อื่น ความคิดของผู้อื่น 

ลักษณะนี้ ความคิดของผู้อื่น ความเห็นของผู้อื่น ความเชื่อของผู้อื่น ตัวนี้ท่านเรียกว่าสีลัพตปรามาส เป็นกิเลสเบื้องต้นของปุถุชนที่อาศัยค่านิยมหรือประเพณีนิยมมาเป็นมาตรฐานถูกผิด 

แล้วเราอดไม่ได้ที่จะต้องเชื่อตามมาตรฐานนั้นๆ เพราะเข้าใจว่าถ้าเราไม่ทำตามมาตรฐานนั้นๆ เราจะอยู่กับเขาไม่ได้ ...นี่ท่านเรียกว่าสีลัพตปรามาส ไม่กล้าเด็ดขาดที่จะทิ้งหรือละความเชื่อความเห็นเช่นนั้น


โยม –  แล้วหนูควรจะละดีไหมคะ  

พระอาจารย์ –  กล้ามั้ยล่ะ ที่จะละ ... ถ้าละได้...ละเลย  

โยม –  ได้ ...แต่แหม ก็อยากจะมันในบางครั้ง (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  เออ ก็ต้องรู้ว่า... ถ้าอยากมัน โยมก็ต้องเตรียมใจไว้เลยว่า โยมก็จะต้องมีภพต่อขึ้นมาอีก

โยม  บางทีถ้าอยากมันเราก็...เออวะ ไม่เอาก็ได้ 

พระอาจารย์ –  เออ ต้องตัดอกตัดใจ กล้ามั้ยล่ะ

โยม –  ถ้าไม่ไปเลยก็เกรงใจ   

พระอาจารย์ –  ไอ้ที่ไม่ไปไม่ได้เพราะมันเสียดาย ...บอกให้เลย มันเสียดายๆ  

โยม –  แต่ไปหนูก็ว่ามันเป็นแบบฝึกหัดที่ดีนะคะ ...ถ้าหนูไม่ไปหนูก็ไม่เกิดแบบฝึกหัดนี้ใช่มั้ยคะอาจารย์  หนูก็ว่า เอ้า สู้ๆ 

พระอาจารย์ –  ต้องกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวที่จะละ ...ไม่งั้นเราก็จะถูกสีลัพพตหรือค่านิยมหรือประเพณีนิยมของสังคมนี่ เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ให้เราต้องทำอะไรหรือไม่ทำอะไร 

แม้แต่คำพูดของครูบาอาจารย์ ยังเป็นสีลัพพตะเลย...ถ้าเราเชื่อมั่นมากเกินไปเมื่อไหร่ปั๊บ มันจะเป็นเหมือนกับเป็นกฎหมายประจำจิตเลย 

หรือว่าประเพณี หรือว่ารูปแบบของการปฏิบัติก็เป็นสีลัพพตะทันที...ถ้าเราเอาสิ่งนี้ขึ้นมาเป็นหลักว่า “ต้อง” อย่างนี้นะๆ  อาจารย์นั้นบอกมา  แต่เราทำไปแล้วมันกลับแย่ลงๆ 

แล้วเราไม่กล้าที่จะละน่ะ ไม่กล้าที่จะลองเปลี่ยนดูว่ามันจะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่ทำ  อย่างบางครั้งอาจารย์บอกเราต้องนั่งทุกวัน ต้องกำหนดอย่างนี้ เราก็กำหนดแทบเป็นแทบตายเลย ...มันก็งั้นๆ น่ะ 

แต่พอเราอยู่เฉยๆ แล้วไม่ทำอะไร  เอ๊ะ มันกลับดีกว่า ... แต่เรากลับว่า...เอ๊ะ ไม่ได้เว้ย มันต้องทำ “อาจารย์สั่ง” ...อย่างนี้ ติดแล้ว เข้าใจมั้ย ...ต้องยอมน่ะ ต้องยอมที่จะลองดู 

แล้วก็เอาความเป็นกลางให้ได้ ...เอาว่าสติตอนไหน อากัปกริยาไหน แล้วมันเป็นกลาง มีการระลึกรู้แล้วเป็นธรรมดา ตรงนั้นน่ะถูกแล้ว ...จะไม่ขึ้นกับอะไร เข้าใจมั้ย 

แล้วจะเข้าใจในคำสอนของท่านต่อไปว่า ท่านไม่ได้หมายความให้เอาผลแค่นี้หรอก ...ไอ้การนั่ง ไอ้การที่ท่านบอกต้องทำทุกวันหรืออะไรก็ตาม คือให้ได้ผลสูงสุดคือตรงนี้...ให้กลับมาเป็นจิตปกติหรือเป็นกลางต่อรูปและนามในปัจจุบัน


แต่พวกเราบางครั้งบางคราวก็เห็นสภาวะที่สามารถเป็นกลางต่อรูปและนามในปัจจุบันได้ แต่พวกเราก็ว่า "เราไม่ได้ทำอะไร มันผิดรึเปล่า" ...สงสัยตัวเองอีก เลยต้องกลับไปทำ ไม่งั้นไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ...อย่างเงี้ย ไม่ได้นะ


(ต่อแทร็ก 2/14 ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น