วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/14 (2)


พระอาจารย์
2/14 (530812B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 สิงหาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 2/14 ช่วง 1


โยม
  มันก็ต้องใช้ปัญญาที่เรารู้เอง ด้วยตัวเอง ใช่ไหมพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ใช่ เป็นปัจจัตตัง ...มันจะต้องยอมรับได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ยอมรับด้วยผู้อื่น หรือความเห็นผู้อื่นมาเป็นตัวพยากรณ์ หรือบอกว่า...ใช่แล้ว-ไม่ใช่แล้ว  

บอกให้เลยเวลาจิตที่เข้าไปเห็นหลัก หรือว่าเข้าไปเห็นต้นตอของเหตุทั้งหลายทั้งปวง ของผลทั้งหลายทั้งปวงแล้วนี่ ...จิตที่เข้าไปเห็น หรือว่าปัญญา หรือว่าสติที่เข้าไปเห็นต้นกำเนิดของการเกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวงแล้วนี่ 

ต่อให้คนมาพูดนะว่าผิด ต่อให้บอกว่านี่ไม่ใช่  ต้องทำอย่างนี้ ต้องเห็นอย่างนี้ถึงจะถูก ...มันจะไม่มีความลังเลสงสัยเลย ใครจะว่าผิดมันก็ไม่เชื่อ ...แล้วไม่ใช่ด้วยความเห็นที่เป็นทิฏฐิมานะด้วย ...แต่มันเห็นจริงๆ น่ะ  

เหมือนกับเรามองเห็นโยมแล้วบอกว่าเนี่ย ผู้ชาย  ...มีคนมาบอกว่า...ไม่ใช่ มันผู้หญิง ... เราไม่เถียงหรอก เราจะไม่เถียงเลย แต่เรารู้ว่ามันผู้ชายจริงๆ เข้าใจมั้ย  แล้วเราจะรู้ด้วยซ้ำว่าไอ้คนบอกนั่นมันเห็นไม่จริง 

มันจะไม่สามารถเถียงได้เลยถ้าเข้าไปเห็นตรงนั้น...ถึงเรียกว่าเป็นปัจจัตตัง  คือจะไม่หวั่นไหวตามอาการภายนอก หรือคำพูดความเห็น หรือทิฏฐิใด...ที่จะมาลบล้างความเป็นจริงที่เข้าไปเห็นด้วยญาณทัสสนะได้เลย 

ตรงนี้ถึงเรียกว่า “ดวงตาเห็นธรรม” เข้าใจมั้ย ...คือมันจะไม่เปลี่ยนเลย ว่าต้องไปทำวิธีไหนวิธีหนึ่งอะไร ...อย่างที่เขาบอกมาร้อยแปดพันเก้าประการนี่...วิธีเยอะแยะ แล้วพวกเรากำลังวิ่งตามอาการหรืออุบายหรือวิธีการทำกันน่ะ

แต่ถ้าเห็นตรงนี้เมื่อไหร่ และเห็นซ้ำซากจนหนักแน่นมั่นคงแล้วนี่  มันจะลบความเชื่อต่างๆ ที่เราเคยให้ค่า หรือคนอื่นเขาพูดว่าต้องอย่างนั้น ไอ้อย่างนี้ถูกไอ้อย่างนี้ผิด ...มันจะลบออกไปเลย 

มันจะสนใจใส่ใจอยู่ในที่อันเดียว...ตรงขณะแรกของการเกิดขึ้นของทุกอาการ ของการเข้าไปจับขันธ์ ...ซึ่งขันธ์มีอยู่ ๕ แต่เวลาใช้นี่เราใช้เกิน ๕...คือมีขันธ์อีก ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕ เข้าไปพร้อมกันกับขันธ์ ๕ 

นี่ ท่านจะเห็นตอนที่อาการที่จะเกิดขันธ์ที่เป็นอุปาทานขันธ์  ตรงนั้นน่ะ คือขณะแรกของการเกิดอุปาทานขันธ์ 

แต่ไอ้ขันธ์จริงนี่มันเกิดแล้ว มันมีอยู่แล้ว ยังไงก็ไม่ดับหรอก ถึงดับมันก็เกิดต่อเนื่อง ... มันเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของขันธ์ ๕  

กายนี่มันไม่ดับจริงหรอก ตั้งแต่เกิดมานี่มันดับแล้วก็เกิดต่อ ดับแล้วก็เกิดต่อจนเห็นเหมือนมันคงอยู่ มันต่อเนื่องตามเหตุและปัจจัย กรรมและวิบาก เหตุปัจจโย อารัมณปัจจโย วิปากปัจจโย กรรมปัจจโย พวกนี้มันจะสนับสนุนให้ขันธ์นี่สืบต่อ ...มันก็มีของมันไป 

แต่ไอ้ตัวขันธ์ที่ไม่สืบต่อ คือขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์ จิตในจิต กายในกาย เวทนาในเวทนา ...ตัวนี้ไม่สืบต่อ และสามารถทำให้ไม่สืบต่อได้ด้วยปัญญา ... เพราะไอ้ตัวขันธ์ในนี่คืออุปาทานขันธ์ 

กายของเรา อารมณ์ของเรา จิตของเรา เรื่องของเรา  พอใจมั่ง พอใจกับสิ่งที่เกิด ไม่พอใจกับสิ่งที่ปรากฏ อย่างนี้ ...ไอ้ตัวนี้คืออุปาทานขันธ์ ตัวนี้คือขันธ์ใน จิตในจิต กายในกาย คือตัวนี้

สติมันจะเข้าไปเห็นอาการเกิดขึ้นของขันธ์ภายในที่เข้าไปจับขันธ์ภายนอกคือขันธ์ ๕ ...ตรงนี้ละได้ ดับได้ เท่าทันได้ วางได้ ตัดได้ ขาดได้ ดับได้จนสิ้นเชิงเลย ...นี่เรียกว่าปัญญาเข้าไปเห็น 

เพราะนั้นถ้าเข้าไปเห็นการดับอย่างนี้ มันจะไม่สนใจขันธ์นี้เลย  ขันธ์นี้ก็มี...จน ๘๐ ปี ร้อยปี มันก็ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็แตกดับไปตามที่สุดของมัน ...อันนี้ก็เป็นธรรมชาติของเขา 

มันก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของขันธ์แล้ว ไม่ใช่เรื่องของเรา ...แต่คอยเท่าทันอาการภายในที่จะว่า... "ทำไมต้องแก่วะ ทำไมมันไม่คงอยู่วะ" เนี่ย เข้าใจมั้ย 

แล้วก็จะมาเข้าใจหรือว่าดับได้โดยสิ้นเชิง จนมันขาดไป จนมันหมดสิ้นอาการที่จะผลักดันออกมาจับอารมณ์ จับความรู้สึกที่ว่า...ของเรานะ ต้องมากนะ ต้องน้อยนะ 

เหล่านี้มันจะมีแรงผลักตัวนึงภายใน คอยผลักให้ออกมาจับอยู่ตลอด แล้วมันจะรู้ทัน แล้วมันจะชำระออก ชำระๆๆๆๆ ออกไป

เวลามันออกมานี่ เหมือนเสือที่จะมาขย้ำเหยื่อ ...แต่ถ้าเรารู้ปั๊บนี่ เราไม่ให้มันออก หรือเราไม่เอาอาหารให้มันกินน่ะ ...เสือนี่มันจะออกมาจะมากินอาหารหรือเหยื่อ 

เหยื่อคือขันธ์ ความรู้สึกของนามและรูป ...พอมันจับปุ๊บมันก็เหมือนกับได้กินอารมณ์  ได้กินมันก็อิ่ม มันก็มีความพอใจหรือไม่พอใจ ...มันก็มีกำลัง 

แต่พอมันจะออกมากินปั๊บ แล้วรู้ทันมัน ไม่ให้มันกิน พั้บ มันก็ไม่ได้กินแล้ว ...เหมือนเสืออยู่ในกรง มันไม่ได้กินอาหารนี่ นานๆ แล้วมันจะเป็นอย่างไร ... มันก็ตาย มันแห้งตายไปเลย 

แต่ถ้าเราปล่อยให้มันออกมากินอยู่เรื่อยๆ  มันก็ยังฮื่อ แฮ่ ฮ่า เป็นของเราอยู่ภายในนั่นแหละ ...ไอ้ตัวเสือภายในของเรานี่  ตัวนี้คืออวิชชา...ที่มันผลักออกมาจับนั่นจับนี่ เป็นเรื่องเป็นราว เป็นของเราเป็นของเขา เป็นสิ่งที่มี เป็นสิ่งที่เป็น เข้าใจมั้ย

แต่พอเราเท่าทันขณะที่มันออกมาจะเข้าตะครุบเหยื่อ หรือตะปบเหยื่อ ...นี่คืออาการแรกของการเกิด หรือสติก็คือสติแรกที่เข้าไปเห็นอาการในการจะหมายมั่น ...หรือเรียกว่า "สัมมาสติ"


โยม –  อาการที่เราเห็นจิตที่มันแบบ...มันเหมือนจิตที่มันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา    

พระอาจารย์ –   ใช่  

โยม –  เหมือนกับมันดิ้นรน  

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มันดิ้นด้วยอำนาจของตัณหาและอุปาทาน ตัวนี้แหละคือตัวแรก

โยม  แสวงหาอารมณ์ไปเรื่อย

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นขณะที่ดิ้นนี่ ไม่มีอาการเลยใช่มั้ย ยังไม่เรียกว่าจะไปมีอารมณ์อะไร  แต่ว่าเห็นอาการดิ้น ...เพราะนั้นแค่เราเห็นอาการดิ้น เราเห็นทุกข์แล้ว ทุกข์ของการดิ้น เห็นมั้ย 

ตัวนี้คือทุกขสัจ เป็นทุกข์ที่จะเป็นอริยสัจ ...พระอริยะท่านจะเห็นทุกข์นี้เป็นหลักเลย ...ไอ้ทุกข์พวกรูป เสียง กลิ่น รส ท่านไม่สนแล้ว ท่านเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เป็นทุกข์กับมัน 

แต่ท่านจะเห็นอาการนี่เป็นทุกข์ เรียกว่าทุกข์ในอริยสัจ...คือเป็นธรรมชาติของจิตที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากการกระทำหรือไม่กระทำ ...แต่สติที่เป็นกลางจริงๆ น่ะ มันถึงจะเห็น ...แล้วแก้ไม่ได้ด้วย


โยม –  สภาวะที่เวลาเราไหลไปตามอารมณ์นี่ มันก็จะยาวไป   

พระอาจารย์ –  ใช่  

โยม –  แต่พอเมื่อไหร่สติเกิดแบบรู้ทันอาการของจิต ก็จะเห็นจิตที่มันขยับ มันจะดิ้นรน

พระอาจารย์ –  เป็นอาการยิบยับ เป็นอาการไหว เป็นอาการกระเพื่อม กระเทือน สั่น พวกนี้

โยม  ถ้าสติมันเร็วขึ้น เห็นอาการอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อาการพวกนี้มันจะลดลงรึเปล่าครับ 

พระอาจารย์ –  ไม่บอก

โยม –  (หัวเราะ) 

พระอาจารย์ –  ดูไป มันไม่มีที่ให้ดูอื่นนอกจากนี้แล้วใช่รึเปล่า มีงานอย่างเดียวแล้วใช่มั้ย ...มีงานไหนก็ทำงานนั้นไป ผลไม่เกี่ยว ดูไป  ...อาจจะแกว่ง จนตายข้ามชาติแล้วยังแกว่ง ก็ช่างหัวมัน ...ไม่รู้ ไม่ตอบ 

ไม่เอาความหมายข้างหน้า ...เอาปัจจุบัน  ดูมันไป มีให้ดู ตรงไหน ก็ดูมันเข้าไป ...ถ้าเป็นทุกข์ ก็รู้กองทุกข์ เข้าใจมั้ย  ...เพราะมันไม่ได้เห็นตลอดเวลา ใช่มั้ย  บางครั้งก็เห็น บางครั้งก็ไม่เห็น  มันไม่อยู่ตลอดเวลานะ


โยม –  แต่การแสวงหาอารมณ์ภายนอกมันจะลดไป ๆ

พระอาจารย์ –  สังเกตดู เราจะรู้ด้วยตัวของเราเอง ว่ามันแตกต่าง ...การเข้าไปอยู่กับอารมณ์มันจะสั้นลง  

โยม  การให้ค่าของปัจจัยภายนอกต่างๆ มันจะหายไป 

พระอาจารย์ –  ดูไปเรื่อยๆ ...เราจะรู้สึกเป็นธรรมดากับมันมากขึ้น แล้วจะผ่านได้เร็วขึ้น 

แต่ก่อนมันอยู่เป็นวันเป็นเดือน เดี๋ยวนี้ก็...เออ ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่เอาแล้ว ลืมแล้ว  จะรู้สึกว่าเดี๋ยวก็ลืมแล้ว เมื่อกี้ยังนั่นอยู่เลยตอนนี้ไม่เห็นรู้สึกอะไรแล้ว ...เป็นผลของการที่มาเห็นแค่นี้ เข้าใจมั้ย

ดูไป แล้วก็...จนถึงที่สุดของมัน ...อาการมันก็จะมีอะไรให้เราเรียนรู้ศึกษาต่อไป ...อยู่ตรงนี้แหละ มันเห็นยังไงคือเห็นยังงั้น ไม่ต้องไปคาดหวัง หรือไปว่ามันคืออะไร หรือไปแปลความหมาย 

อย่าพยายามไปเนมมิ่ง (name) หรือมีนนิ่ง (mean) หรือเอาบัญญัติ หรือเอาสมมุติ เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ ...พูดง่ายๆ แม้แต่รู้...อาการนี้ก็รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย ...ทุกข์ก็คือทุกข์ อยู่ตรงนั้น

แต่ว่าทุกข์ตรงนั้นมันเทียบไม่ได้กับทุกข์ตรงนี้ที่ว่ามานี่ คนละเรื่องกันเลย


โยม –  แต่เพราะเห็นอาการอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ มันจะรู้ว่าจิตมันมีธรรมชาติที่ไม่หยุดนิ่ง  

พระอาจารย์ –  ใช่  

โยม –  แต่บางครั้งมันก็อดจะรู้สึกเหมือนกับ...เอ๊ะ มันน่าจะสงบบ้าง 

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มันมีอุปาทานในตัวของมันเองขึ้นมา ...ชั่งมัน ก็รู้ว่ามันมีความคิดตรงนี้ ความเห็นอย่างนี้ ...แล้วก็พอรู้ปุ๊บ มันก็วาง ทิ้งแล้ว ไม่ทำ ไม่ต่อเนื่อง ไม่คิด ไม่หาผลกับมันต่อ 

ไม่เอาบัญญัติหรือสมมุติไปเนมมิ่งกับปรมัตถจิต ...ปรมัตถจิตตัวมันเองไม่มีภาษาหรอก มันไม่รู้ด้วยความหมายมันคืออะไร ...แต่มันแสดงความเป็นธรรมชาติของมันเอง 

แล้วมันยังไม่ใช่เป็นที่สุดของธรรมชาตินี้ ...จนถึงที่สุดของธรรมชาตินี้ ยังมีอีกต่อไปจนถึงที่สุดของการที่เหนือธรรมชาตินี้

ก็ค่อยเรียนรู้ไป สติอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ทำอย่างอื่นแล้ว กลับมารู้กลับมาเข้าใจในตัวของมันเองนั่นแหละ เหมือนกล้วยออกเครือ ...เคยเห็นกล้วยออกเครือมั้ย 

กล้วยออกเครือแล้วเป็นไง ต้นกล้วยเป็นไง ตายใช่มั้ย ...สุดท้ายน่ะ มันจะกลับมาถึงว่าตัวของมันเองแหละจะตาย เป็นธรรมชาติของมันเลย ...ต้นกล้วยที่ออกเครือเมื่อไหร่ ไม่มีทางยืนอยู่ได้หรอก...ตาย มันจะเป็นอย่างนั้น

การที่สติสัมปชัญญะกลับมาเห็นธรรมชาติของตัวมันเองน่ะ สุดท้ายของมันคือการดับไปถึงที่สุด ...ด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่ด้วยวิธีการใดเลย หรือว่าเข้าไปกระทำอะไรกับมันเลย ...เป็นธรรมชาติของมันเลย 

จิตของพระอริยะ ของพระอรหันต์  ความดับไปสิ้นไปเหมือนกล้วยออกเครือ เหมือนม้าอัศดรออกจากท้องแม่ ม้าอัศดรเวลาออกจากท้องแม่ มันถีบท้องแม่มันออกมา แม่มันตายลูกเดียว เป็นอย่างนั้น ...เป็นธรรมชาติของมัน 

จิตเมื่อกลับไปสู่ภาวะเดิม กลับไปสู่ธรรมชาติเดิม กลับมาสู่ธรรมชาติของจิตประภัสสรเดิมปั๊บนี่ ...มันอยู่ไม่ได้ด้วยตัวของมันเอง มันจะถูกทำลายโดยตัวของมันเอง 

เพราะไอ้การที่ขยับๆ ยิบยับ  นี่คือการคลาย คลายออก ...เพราะธรรมชาติของใจ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าธรรมชาติของใจ ความบริสุทธิ์ของใจ ไม่มีใครทำให้บริสุทธิ์ขึ้นได้ หรือไม่มีใครไปทำให้ใจที่บริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ได้ 

เพราะนั้นไอ้ความไม่บริสุทธิ์ที่เรารู้สึกว่าใจไม่บริสุทธิ์นั้น คืออาคันตุกะ กิเลส เท่านั้น ที่มาปกคลุมแฝงอยู่เท่านั้นเอง ...แต่ธรรมชาติของความบริสุทธิ์นี่มันมีของมันอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว 

เพราะนั้นโดยลักษณะธรรมชาติของใจ...ไม่สามารถจะอยู่กับมลทินที่มาปกคลุมอยู่แล้ว  มันจะสลัดด้วยตัวของมันเอง สลัดอยู่แล้ว ...ไอ้อาการแค่นี้ แค่นี้ คือการสลัดของมันโดยธรรมชาติ 

ถ้าเราปล่อยให้มันเห็นธรรมชาติ และยอมรับธรรมชาติตามความเป็นจริงนะ ...ธรรมชาติเขาจะชำระอยู่แล้ว ความบริสุทธิ์เขามีอยู่แล้ว เขาไม่สามารถจะอยู่ร่วมกับมลทินอยู่แล้ว

แต่ว่าทุกวันนี้คนทั่วไปนี่มันไม่เห็นธรรมชาติเดิม ไม่ยอมรับธรรมชาติเดิม และไม่เห็นด้วย ...มันกลับเอาอะไรไม่รู้มาปกคลุมๆ ด้วยความเห็นผิด หรือมาทำให้มันบริสุทธิ์ขึ้นหรือไม่บริสุทธิ์ขึ้นด้วยการกระทำ 

ถ้ายังมีการกระทำต่อมันเมื่อไหร่ มันก็เหมือนกับ มันก็สลัดของมันอยู่  แต่เราก็ไปยุ่งกับมันอยู่ตลอดเวลา เข้าใจมั้ย ...แทนที่มันจะหมดไป มันก็ถูกอะไรห่อหุ้มเข้ามาใหม่อีกแล้ว เอามาปะปน ปนเป วุ่นวายกันไปอีก

แต่ถ้าเราหยุดการกระทำภายนอกโดยสิ้นเชิงแล้ว การกระทำภายในก็หยุด การกระทำต่อจิตก็หยุดปั๊บนี่ ...เราจะเห็นอาการเดิมของมันเลย ธรรมชาติของจิตเขาจะสลัดๆๆ 

แล้วเราไม่ต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับมัน ...ถึงวาระเมื่อไหร่ แค่นี้เอง  ขอให้เป็นกลางเหอะ โดยตลอดเมื่อไหร่...ปั๊บนี่ แค่นี้ จะถึงที่ถึงจุดของเขาเอง


โยม  อาการที่เราเห็นสัญญาเก่าๆ โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ   

โยม –  อันนั้นคืออาการสลัด

พระอาจารย์ –  ใช่ ...เราก็รู้เฉยๆ  รู้เฉยๆ สักแต่ว่าๆ ไม่ต้องไปยินดียินร้าย มันแก้อะไรไม่ได้หรอก ...จบ มันก็จบ ละออก คลายออก ที่มันเก็บไว้ในรูปแบบของทิฏฐิ หรือความเห็น พวกนี้จะเป็นสัญญาอารมณ์

เพราะนั้นเวลากลับมาอยู่ตรงจุดเดิม หรือว่าฐานเดิม  ปัญหาหลักของมันเลยคือสัญญาอารมณ์ ของเก่าทั้งนั้นแหละ ...มันจะค้นของเก่าๆ ของใหม่ไม่ค่อยมี 

ไอ้ที่ทะยานไปข้างหน้าไม่ค่อยเท่าไหร่หรอก จะเป็นของเก่า อนุสัย ความดั้งเดิม ...แล้วจะมีอาการหวน ระลึก 

ไอ้ที่ลืมไปแล้วตั้งนานมันดันโผล่ขึ้นมาอย่างนี้ ไอ้เรื่องที่เคยทำไว้กับคนนั้นคนนี้ ไม่ได้คิดถึงเลย มันก็ดันโผล่ขึ้นมาอย่างนี้ ...อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจ มันกำลังสลัดคืนธรรมชาติของเขาไป   


โยม –  พอสติเร็วขึ้น อารมณ์จากทวารทั้ง ๕ มันไม่ค่อยเข้ามาครอบงำ 

พระอาจารย์ –  ไม่ถึง   

โยม   มันไม่ครอบงำจิต ...เพราะงั้นของเก่าก็เลยออกมา

พระอาจารย์ –  ใช่ กิเลสมีสองตัวสองอย่าง...กิเลสปรุงจิต กับจิตปรุงกิเลส นะ ...พอมันเริ่มถึงภายในปั๊บ มันจะเป็นเรื่องของกิเลสปรุงจิต คือเป็นอาสวะ เป็นอนุสัย แสดงอาการออกมา 

ความเศร้า ความขุ่น ความมัว พวกนี้จะออกมา ...อย่าไปมองว่าผิด อย่าไปมองว่าถูก  รู้เฉยๆ กลางอย่างเดียว ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน ...แต่กิเลสภายนอกมันจะไม่เข้า หรือเข้ามาก็ไม่ถึง 

ก็แค่รู้ แล้วมันก็อยู่ในที่ของมัน จะไม่กลับมาเป็นผูกข้ามวันข้ามคืนข้ามชั่วโมง มันจะตั้งอยู่แค่ชั่วคราวแล้วก็ดับไปเอง อย่างเนี้ย ...เพราะนั้นก็กลับมารู้ที่ใจ ละที่ใจ ตัวเดียว

การละที่ใจคือรู้เฉยๆ นะ ไม่ต้องไปทำอะไรนะ รู้เฉยๆ ...ยังไงก็อยู่ในความเป็นกลางอยู่ตลอด แล้วมันสลัดๆๆ จางคลายออก ...เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไม่ต้องถาม แค่นั้นเอง 

เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น หมายความว่า...คุณน่ะสร้างเหตุปัจจัยภายในไว้ขนาดไหนล่ะ  ไอ้ที่แล้วๆ มา ไอ้ที่นับภพนับชาติไม่ถ้วน มันมีอะไร ...ตรงนี้มันจะไปกำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้เลย 

จะไม่เหมือนกันด้วยซ้ำ...แต่ละคนแต่ละดวงจิต  แม้จะเห็นอย่างนี้เหมือนกัน แต่ระยะเวลา...บางทีเห็นพั้บหลุดพุ้บเลย บางทีเห็นมาหลายปีแล้ว นี่ มันเอาแน่ไม่ได้ ...เป็นเหตุปัจจัยที่ต่างคนต่างกระทำไว้น่ะ 

เพราะนั้นจะไปคาดคั้นมันไม่ได้ จะเอาความเพียรไปบังคับมันไม่ได้ ...ไม่เกี่ยวแล้ว ไม่เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเจตนาแล้ว

เพราะนั้นถ้าถึงสัมมาอาชีโวที่เป็นสัมมาอาชีโวหรือการงานชอบจริงๆ แล้ว  ต้องปล่อยให้เป็นอิสระของเขาเอง ...จะหยุดการกระทำทั้งหลายทั้งปวงโดยสิ้นเชิงเลย หยุดการกระทำภายในโดยสิ้นเชิง 

แล้วก็คอยเท่าทันความอยาก-ไม่อยากอยู่ตลอดเวลา อย่าให้มันโผล่หัวออก  ขยับปั๊บ...เห็นปั๊บดับเลย จะไม่ต่อเนื่องอีกเลย ...แล้วมันจะอยู่ในหลักของปัจจุบันล้วนๆ ไม่ออกนอกปัจจุบันเลย ... ปัจจุบันล้วนๆ...เวลาไม่เกี่ยว


(ต่อแทร็ก 2/15)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น