วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/15


พระอาจารย์
2/15 (530812C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 สิงหาคม 2553



โยม –  พระอาจารย์ครับ คนทำฌานได้ ถ้ารู้สึกตัว ฌานนั้นก็ใช้ได้ใช่มั้ยครับ

พระอาจารย์ –  ได้  ก็เข้าไปเป็นเจโตวิมุติไป ...แต่บอกว่ายาก  จะไปเห็นไตรลักษณ์ในฌานนี่...ยาก  ...พวกเรานี่มีคนนึงนะ จะไปกำหนดไตรลักษณ์ในสมาบัติอย่างเนี้ย ... แค่ฟังยังเหนื่อยเลย 

เพราะนั้นจิตนีี่ ... แค่เราเห็นไตรลักษณ์ในอาการหรืออารมณ์นี่ เรายังไม่ค่อยเห็นเลย ...แล้วในภาวะที่มันจับต้องไม่ได้ ละเอียดจนหาที่ตั้งของมันไม่ได้นี่...จะไปเห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ของง่าย

แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้นะ ...โบร่ำโบราณแต่ก่อนแต่เก่าเขาก็ทำกัน...เจโตวิมุติล้วนๆ  

แล้วก็เข้านิโรธสมาบัติไป ...ไปเห็นความเกิดดับของอรูปทั้ง ๔ น่ะ ไปเห็นความไม่เที่ยงของอรูป จิตถึงจะเข้าถึงนิโรธสมาบัติ เข้าไปรวม เป็นผละสมาบัติออกมา สำเร็จแบบม้วนเดียวจบ ...ม้วนเดียวจบเลย 

ไม่มีไล่ว่าโสดา สกิทาคา อนาคา ...พอเริ่มเข้านิโรธก็เป็นอนาคาแล้ว พอถอนออกมาเป็นผละสมาบัติก็เข้าเป็นอรหันต์แล้ว ...ในเจโตวิมุติน่ะ พลานิสงส์หรือว่ามหัคจิตอำนาจแรง...ในการเข้าไปชำระภายใน

แต่บอกแล้วว่ายุคนี้สมัยนี้...มันเกินยุคไปแล้ว เกินสมัย ...แค่ทุกข์มันยังไม่รู้เลยเดี๋ยวนี้ บอกให้  มันยังไม่ทันมันยังไม่เห็นเลย  ใจไปไหนก็ไม่รู้ สติมันหายไปไหนก็ไม่รู้...อย่าไปกำหนดสติในสมาบัติเลย...ยาก 

เพราะนั้นเอาแค่ว่า...รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ท่องเข้าไว้ จำเข้าไว้  ยืน เดิน นั่ง นอน กำลังทำอะไรอยู่ ...เวลาที่เราปล่อยปละละเลยที่สุด คือเวลาที่เราจะต้องใส่ใจที่สุด 

ไม่ใช่ไปใส่ใจตอนนั่งสมาธิ เดินจงกรม ...ไอ้ตอนนั้นน่ะมันไม่ต้องไปตั้งใจใส่ใจหรอก มันตั้งใจแล้ว  ถ้าไม่ตั้งใจมันไม่เดินจงกรมนั่งสมาธิเท่าไหร่หรอก

ไอ้เวลาที่ควรใส่ใจที่จะเจริญสติที่สุดคือเวลาที่เราเผลออ่ะ ...เวลาที่เราพูด เวลาที่เราคุย เวลาที่เราเดินไปซื้อข้าวซื้อของ เวลาจะทำนู่นทำนี่ เวลาจะอ่านหนังสือพิมพ์ เวลาจะกิน เวลาจะเดินเล่น เดินไปเดินมาทำกิจกรรม 

ไอ้เวลาไหนที่เราไม่ค่อยใส่ใจไม่ค่อยมีสติ ...ตรงนั้นน่ะต้องเจริญมากๆ ต้องให้ความสำคัญกับตรงจุดนั้น ... เพราะไอ้เวลานั่งสมาธิภาวนาแค่หนึ่งชั่วโมงสองชั่วโมงสามชั่วโมงนี่ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ในยี่สิบสี่ชั่วโมง มันนิดเดียว ...ไอ้ที่ทิ้งไปนี่บานเลยอ่ะ 

ก็จะต้องไปตั้งอกตั้งใจใส่ใจตอนนั้น เจริญขึ้นมา ... อย่างน้อยให้รู้กายเห็นกาย ดีใจ เสียใจ พอใจ กังวล วิตก ... ให้เห็น กลับมาเห็นนิดนึงก็ยังดี  และให้เห็นถี่ๆ เห็นบ่อยๆ จนมันเห็นต่อเนื่อง 

เห็นถี่ๆ บ่อยๆ นี่ยังไม่พอนะ ...เอาจนมันเห็นต่อเนื่อง จนมันเป็นนิสัยน่ะ จนมันเป็นนิสัยเป็นยาวเหยียดเลย  คือมีอะไรปุ๊บมันรู้เห็น เหมือนกับมีอีกตานึงที่มันเห็นการกระทำของเราตลอดอย่างเนี้ย...ถึงเรียกว่าญาณ 

มันจะเห็นเลย ...เหมือนเราเป็นหุ่นยนต์ เหมือนเราเป็นตัวหุ่นกระบอกอย่างนี้ เดินไปเดินมา ทำอะไร กำลังพูด เห็นปากพะงาบๆ ...เคยเห็นมั้ยล่ะ เนี่ย จะเห็นเป็นอย่างนั้น 

แต่ว่าเห็นเป็นธรรมดานะ ...ไม่ใช่เห็นแบบเป็นอาชีพเป็นเรื่องเป็นราว แต่มันจะเห็นเป็นลักษณะของญาณที่เข้าไปเห็น  ญาณทัสสนะมันจะเห็นเหมือนกับสติสัมปชัญญะมันสิงสู่อยู่กับขันธ์น่ะ อย่างนั้นเลย

นั่นแหละ เขาเรียกว่ามันทำจนเคยชิน  สติที่มันเป็นธรรมชาติ สติที่มันเป็นกลางแล้วมันจะเห็น 

แล้วก็ใช้ชีวิตตามปกติ ...ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือว่าไอ้นั่นห้าม ไอ้นี่ต้อง อย่างนั้นไม่มี ...ก็ทำไป ใช้ชีวิตยังไง กินยังไง เดินยังไง ทำงานยังไง พูดคุยอะไรก็ทำตามปกติ ...แต่ว่ามีการเห็นตลอดต่อเนื่อง 

อารมณ์ก็มีเท่าเก่า คุยไปพูดไป หงุดหงิด กังวล วิตก ...มันก็มีหมดน่ะ มีเท่าเก่า ...แต่ก็เห็นแล้วก็ผ่านไป แล้วก็ผ่านไปๆ เห็นมั้ย มันจะหมุนๆๆ ...ขันธ์ ๕ นี่มันจะหมุน หมุนตลอดไม่เคยหยุดเลย มันจะหมุน ...เมื่อไหร่ที่มันหยุด เมื่อนั้นน่ะเราเข้าไปแล้ว 

ธรรมมันจะหมุนตลอด สภาวะ ไม่เคยหยุดนิ่ง มันจะไหลไปอย่างนั้น ...แต่เราไม่ไปไหลกับมัน นี่เรียกว่าญาณทัสสนะ ...แรกๆ ก็เรียกว่าเป็นญาณทัสสนะ  พอเราเห็น ต่างคนต่างดำเนินไปของมันอย่างนี้ บ่อยขึ้น นานขึ้น ปกติมากขึ้น มันจะเริ่มคลาย คือจะเริ่มไม่เข้าไป 

เพราะขณะที่เราเห็นบางทีเรายังเข้าไปบ้าง เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออกๆ  เผลอไปก็เข้า รู้ตัวก็ออก กลับมาเฉยอยู่ ...พอมันเริ่มเฉยได้มากขึ้นปุ๊บ มันจะเริ่มเรียกว่าวิมุติแล้ว...ญาณวิมุตติทัสสนะ คือเริ่มไม่เข้าไปแล้ว 

คือพอเริ่มเข้าไปปุ๊บ ธรรมชาติของมันจะเด้งออกทันที เห็นปุ๊บไม่เอา เห็นปุ๊บออกเลย เห็นปุ๊บปล่อยเลย ...นี่เริ่มวิมุติ เริ่มคลายแล้ว เริ่มขาด เริ่มขาดออกจากกัน เริ่มขาดออกจากรูปและนาม เริ่มไม่เข้าเอารูปนามมาเป็นตัวเป็นตน 

ความเป็นตัวเป็นตนเริ่มน้อยลง สักกายะเริ่มน้อยลง หรือขาดแล้ว ...สักกายะนี่ขาดก่อน แต่ตัวตนยังไม่ขาด ...มันก็เริ่มจางคลายออกจากความเป็นตัวเป็นตน ความเป็นเรื่องเป็นราว 

คือธรรมชาติของจิตที่เข้าไปมีอารมณ์ ตรงนั้นเป็นตัวตน มันจะเริ่มน้อยลงๆ ...จนเหลือแค่ขณะเดียว พั้บ หลุดๆ  หลุดหมดๆ ...มันไม่เกาะเกี่ยวกันแล้ว มันจะเริ่มปล่อยขันธ์ ๕ ทิ้งแล้ว ...มันจะมองเห็นขันธ์ ๕ เป็นของไร้สาระ 

ตอนนั้นความเห็นที่มีต่อขันธ์ ๕ มันจะเริ่มไร้สาระแล้ว จะเริ่มเห็นเป็นเหมือนเสื้อผ้าเก่าๆ ผุๆ ... มีความรู้สึกคล้ายๆ อย่างนั้น ... ไม่ใช่เพชรไม่ใช่ทองไม่ใช่ของมีค่าอย่างทุกวันนี้ 

อารมณ์ก็เป็นแค่ขยะลอยไปลอยมา ฟ่องไปฟ่องมาเหมือนขยะลอยตามน้ำอย่างนี้ ...แต่ทุกวันนี้พวกเราก็เห็นขยะแหละ... แต่มันเก็บขยะบานเลย ในบ้านนี่เต็มไปด้วยขยะ อะไรก็ดีหมด เก็บหมด 

จนกว่าจะเริ่มเห็นแล้วว่ามันเป็นแค่ขยะลอยน้ำ กายก็เป็นเหมือนเสื้อผ้าเก่าๆ ที่เอามาสวมใส่แบบงั้นๆ น่ะ ไม่ได้อินเทรนด์กับมันเท่าไหร่  ...ความรู้สึกมันจะเป็นอย่างนั้น 

นี่ความเห็นต่อกายและรูปและนาม มันจะเป็นอย่างนั้นมากขึ้น  จนมันไม่มีความรู้สึกว่ามันเป็นอะไรของใคร ...มันจะกลายเป็นเหมือนภูเขา ต้นไม้ 

เห็นมั้ย ต้นไม้ ภูเขา พื้นดิน ...มันเป็นธรรมชาติของมันเอง มันไม่มีใครเป็นเจ้าของ อย่างนี้ ...มันจะเกิดขึ้น มันจะดับ มันจะไหล ไม่มีใครไปทุกข์ไปร้อนอะไรกับมัน ตัวมันก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ใครจะมาทำอะไรให้มันเป็นอะไร มันก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน 

นั่นแหละคือมันจะกลับไปเป็นธรรมชาติของเขาอย่างนั้น เหมือนกับเป็นธรรมชาติทั่วไป เป็นอันเดียวกัน อย่างนี้ ...อันนั้นคือจุดสุดท้ายของการใช้ชีวิตร่วมอยู่กับรูปและนาม 

มันจะไม่มีความเห็นต่อรูปและนามในแง่ใดแง่หนึ่งเลย ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ ...คือมันจะละซึ่งทิฏฐิทั้งหลายทั้งปวงโดยสิ้นเชิงเลย ละความเห็นโดยสิ้นเชิง ไม่มีความเห็น 

ยังพูดอยู่บ่อยๆ ว่ามัน no comment เลยต่อรูปและนาม ...ไม่ใช่แต่เฉพาะรูปและนามภายนอก รูปและนามของมันเองที่อยู่กับมันตั้งแต่เกิด มันก็จะ no comment เลย  แล้วแต่เขา 

จะแก่ จะดับ จะแตก จะขาด จะดิ้น จะหลุด จะร่น จะร่วง จะหาย ...ก็เหมือนกับภูเขา ต้นไม้ ที่เขาเป็นไปด้วยอิสระของเขา ...เนี่ย กลับคืนสู่ธรรมชาติเดิม ขันธ์ก็เป็นธรรมชาติของขันธ์ 

จริงๆ ขันธ์ทุกคนก็เป็นธรรมชาติเดิม ...แต่เรารับกับมันไม่ได้ ในอาการที่แปรปรวน หรือไม่คงอยู่ หรือว่าควบคุมไม่ได้ ...ด้วยความเห็นนะเนี่ย ที่มันไม่รับ 

เพราะเรามีความเห็นที่เป็นมิจฉาตั้งไว้กับมันอย่างงั้นอย่างงี้อย่างโง้น..."ต้อง ควร ไม่ควร ไม่ได้"...พวกนี้คือมิจฉาทิฏฐิ 

รู้ทันๆ ให้เห็นทัน แล้วก็...'เอ๊อะ ช่างมัน ๆ ปล่อยมัน' ... รู้จักปล่อย คลายมั่ง  ยอมรับกับมันให้ได้ จนถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับมันเลย 

แม้แต่กระทั่งอาการของนาม หรือความรู้สึก อารมณ์ ...ก็จะปล่อยเหมือนกับเป็นลมพัดผ่าน ...เพราะนั้นเวลาอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น เมื่อจิตมันคลายวางแล้วนี่ มันก็จะเหมือนกับลมเบาๆ ที่ผ่าน 

เราจะไม่ได้ไปรู้สึกว่าเหมือนเป็นพายุร้าย คลื่นลมแรงแบบ 'โอ้โห ทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจ' ... มันก็จะเห็นเป็นแค่ลมเบาๆ ที่ผ่านไปผ่านมา 

ทั้งๆ ที่ว่าความเป็นจริงมันอาจจะดูรุนแรงก็ตาม  แต่ความรู้สึกที่รับรู้นี่ มันเหมือนอะไรเบาๆ ที่ผ่านไป ...นั่นแหละคืออารมณ์ที่มันค้างอยู่คงอยู่ มันจะไม่มีแรงประทะอะไรเลย

แต่ทั้งหลายทั้งปวงมันก็เริ่มจากการรู้เฉยๆ ก่อนนี่แหละ ...สติ กลับมารู้ตามความเป็นจริงในปัจจุบัน รู้กายบ้างรู้จิตบ้างๆ ...ไม่ต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับมันในอาการที่มันได้ดั่งใจไม่ได้ดั่งใจ...รู้มันไป 

มันจะอยู่นานก็ช่างมัน มันจะแก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องแก้ มันจะหายไปก็ไม่ต้องเอากลับคืนมาใหม่ มันไม่มีอะไรก็ไม่ต้องทำให้มันมีอะไร ...พยายามเรียนรู้กับมันให้ได้กับธรรมชาติที่มันจะปรากฏยังไงก็ได้ 

แต่ให้รู้เฉยๆ เป็นกลางกับมัน ...ฝึกความเป็นกลางให้ได้ ฝึกสติที่เป็นกลางให้ได้ก่อน  จนชำนาญ จนเป็นแค่สักแต่ว่ารู้ รู้เฉยๆ ... แล้วให้มันต่อเนื่องไป เป็นปกติ 

แล้วทุกอย่างมันจะคลี่คลาย ค่อยๆ คลี่คลายออก ...เหมือนเชือกที่พันกันเป็นก้อนขมวดอย่างนี้ พอมันคลี่คลายออกปุ๊บ มันจะเห็นเป็นเส้นที่ละเอียดยาว

แต่ตอนนี้ถ้าเราไปยุ่งกับมันเมื่อไหร่ มันก็เพราะเราใจร้อนใจเร็ว แทนที่จะให้มันคลายตัวของมันเอง กลับไปดึงมั่ง ทึ้งมั่ง จะเอาออกให้ได้ๆ 

มันก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย กลายเป็นขมวดซะยิ่งปนเปกันสับสนวุ่นวาย ...วิตกกังวล วิจารณ์ไปเรื่อย หาทางแก้จนยุ่งไปหมด ยิ่งกลับไปพันกันอิรุงตุงนัง 

ยอมรับมัน ใจเย็นๆ ...เขาคลี่คลายของเขาด้วยตัวของเขาเองได้  ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นไตรลักษณ์อยู่แล้ว ...อย่าไปเร่งขบวนการไตรลักษณ์ให้มัน 

ด้วยความจงใจ ด้วยความอยาก ด้วยความให้ได้ดั่งใจ ...มันจะมีข้อแม้ข้ออ้างอะไรอยู่ตลอด มาทำให้เราต้องเข้าไปยุ่งไปเกี่ยวกับมัน ...ก็พยายามให้มันน้อยลง

เอ้า ถาม ...มีอะไร 


โยม –  ถ้าไม่รู้ว่าเรารู้สึกอะไร บางทีพอมันรู้สึกตัวปุ๊บ

พระอาจารย์ –  ไม่รู้อะไร

โยม  ความรู้สึกนั้นน่ะค่ะ ความรู้สึกที่เกิดมา ไม่รู้มันเป็นโมหะโทสะอะไรก็ตาม แต่ว่า "ชั่งมัน" ใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  รู้อย่างนั้นแหละ

โยม –  แค่รู้สึกว่ามันรู้แค่นั้นเองใช่มั้ยคะ  

พระอาจารย์ –  ใช่ ไม่ต้องไปมีความหมายอะไรกับมันเลย แค่รู้ตามอาการ ว่ามีอาการอย่างนี้ 

โยม –  ไม่ต้องไปหาคำแปล 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปหาคำตอบ และไม่ต้องไปหาที่มาที่ไปด้วย

โยม  บางทีรู้สึกแล้วมันไม่รู้ มันจะออกมาเป็นคำพูดว่าอะไร ก็ไม่ต้องอะไร แค่รู้ว่ารู้เท่านั้น  

พระอาจารย์ –  อือ  เข้าใจคำว่ารู้โง่ๆ มั้ย  โง่เข้าไว้ ไม่ต้องรู้อะไร what when where why how เอาออกให้หมด รู้แบบไม่เอาอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เข้าใจอะไร


โยม –  คิดว่าปัญญานี่ฮ่ะ จะยอมรับ ทุกวันนี้ก็รู้อยู่ๆ แต่รู้แล้วยอมรับคือตรงนั้นใช่มั้ยคะก็คือเกิดปัญญา 

พระอาจารย์ –  อือฮึ 

โยม –  แต่ไม่ใช่ยอมรับโดยการหาเหตุผลใช่มั้ยคะ 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องมีเหตุผล จิตมันยอมรับของมันเอง ...เวลาจิตเขาปล่อยนี่ เขาปล่อยเองนะ  ไม่ใช่ว่าเราไปทำให้มันปล่อย ...ถ้าเขาไม่ปล่อยคือไม่ปล่อย ก็รู้ว่าไม่ปล่อย ยึดก็รู้ว่ายึด  แค่นี้ 

แล้วเวลามันวางแล้วก็ไม่ต้องไปหาว่ามันวางได้ยังไง ...บทมันวาง มันก็วางเอาดื้อๆ ของมันอย่างนั้นแหละ  เราไม่ต้องสงสัยว่า...เอ๊ะ มันวางได้ยังไง ไปหาวิธีการเพื่อว่าต่อไปเราจะได้ใช้วิธีนี้ไปวาง ...ไม่มีวิธีอ่ะ 

จิตเขารู้ เขาเข้าใจแล้ว เขาวางของเขาเอง ...แต่ถ้าเขาไม่วางคือเขายังไม่เข้าใจ เขายังไม่ยอมรับไตรลักษณ์นั้น ...ก็รู้ต่อไปว่า...เออ ยังยึดอยู่โว้ย เออ กำลังยึดมาก เออ อันนี้ยึดน้อย  มาอีกก็...เออ ยึดมากกว่าเดิมอีก 

ชั่งมัน เข้าใจมั้ย คือรู้ตรงๆ แค่นั้นเอง  บางครั้งจนกว่าว่า...ขึ้นมาอีกทีก็... มันก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ไม่กระดุกกระดิกเลย อย่างเนี้ย ...ชั่งมัน ไม่ต้องสงสัย 

คือมันวางแล้วก็วางเลย จิตเขาวางเอง ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปแทรกแซงหรือว่า...."ต้องวางให้ได้นะๆ" ... ติดก็รู้ว่าติด ไม่ต้องยุ่งกับมัน แค่นั้นน่ะ 

แต่ให้รู้...สำคัญคือให้รู้ว่ามีอะไรปรากฏอยู่ตรงนั้น หรืออาการของเราต่อปรากฏการณ์นั้นเป็นอย่างไร  บวกหรือลบ มากหรือน้อย รู้ไปก่อน ...อย่าใจร้อนๆ ให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง 

สติและสัมปชัญญะมันจะไป...เหมือนกับไปวิจัยวิจารณ์หรือเก็บข้อมูล แล้วก็จะเก็บมาให้ปัญญารู้ด้วยปัจจัตตัง ...ซึ่งไม่มีคำพูดเลย 

แล้วไม่รู้ด้วยว่าระหว่างที่มันรู้อยู่นี่มันรู้อะไร หรือมันเห็นอะไร หรือมันมีปัญญาตรงไหน หรือมันเข้าใจอะไร ...ไม่รู้ทั้งสิ้น ไม่มีความหมายเลย มันเป็นเรื่องของปัจจัตตัง มันจะเข้าไปประมวลเป็นปัจจัตตัง 

พอบทถึงปัจจัตตัง ถึงว่าเต็มรอบหรือว่าพร้อมพอ เพียงพอ สมบูรณ์เมื่อไหร่ พั้บ มัน...อ๋อ  อ๋อปุ๊บ...มันปล่อยเลย ...มันไม่บอกด้วยซ้ำว่าปล่อยเพราะอะไร ไม่มีภาษา นะ ...จิตปรมัตถ์เป็นอย่างนั้น 

การรู้ของปรมัตถจิตเป็นอย่างนั้น รู้ด้วยปัจจัตตัง ... ไม่ใช่รู้ด้วยจินตา ไม่ได้รู้ด้วยสุตตะ หรือว่าความคิดความจำ ...แต่มันรู้และวางด้วยการเข้าไปรู้และเห็นด้วยสติและสัมปชัญญะ หรือด้วยญาณทัสสนะตามความเป็นจริง 

และญาณทัสสนะต้องเป็นมัชฌิมา...ไม่มีการกระทำ รู้เฉยๆ อย่างนี้ ...แล้วมันจะสะสมความรู้และเห็น... รู้และเห็นๆๆๆ อย่างนี้ 

เพราะแต่ละครั้งที่มันเกิดขึ้น  แม้จะดูเหมือนว่าอารมณ์เดิม จิตแบบเก่า ติดเหมือนเดิม ติดเท่าเดิม ...แต่ว่าแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น...มันเห็นไม่เหมือนกัน บอกให้เลย

การรู้การเห็นมันจะเห็นในแง่มุมที่ต่างกัน เห็นตามเหตุปัจจัยต่างกัน มันจะทำการเหมือนกับพลิกๆๆ ...เหมือนมุมมองตาเรามองอย่างนี้ มันจะมองอย่างนี้แต่ละครั้ง แต่เราไม่รู้หรอกว่าอาการมองมันผิดมุมไปแล้ว 

นั่นแหละเขาเรียกว่าทำความรู้รอบ จิตมันจะทำความรู้รอบ ...เมื่อมันรู้รอบเมื่อไหร่มันจะแจ้ง แจ้งก็เป็นปัจจัตตัง มันก็จะคลายออก ...เหมือนกับเราเห็นว่าอะไรนี่ สามร้อยหกสิบองศาเราหมุนจนรอบแล้วปุ๊บนี่ เราไม่สงสัยแล้ว 

แต่ถ้าจะมองอย่างนี้ แล้วยังมองอยู่แค่นี้ เกิดอีกมองแค่นี้  แล้วก็ไปยุ่งกับมัน ไปเปลี่ยนมัน หรือว่าไม่ดูแล้ว หรือว่าจะทำให้มันหายไปแล้ว ...อย่างเนี้ย มันจะไม่แจ้ง ๆ 

จะนานเท่าไหร่กว่าจะรอบ แม้ก้อนนั้นจะใหญ่ ก้อนนั้นจะเล็ก ดูไปเรื่อยๆ  เกิดอีกดูอีกๆๆ เนี่ย จนกว่ามันจะรู้รอบน่ะ ...สามร้อยหกสิบองศาเมื่อไหร่ วนรู้รอบ ญาณก็เต็มรอบ เต็มรอบปุ๊บมันก็แจ้ง 

มันก็ไม่สงสัยแล้ว ไม่มีอะไร ...ไอ้ที่ไม่สงสัยคือมันจะเห็นว่าไม่มีอะไร ไม่มีอะไรหรอก ปุ๊บ มันปล่อยเลย ทิ้งเลย ...อุปาทานนั้นก็ดับเลย ไม่เข้าไปหมายมั่นในความเห็นนั้นๆ ความเป็นตัวเป็นตนของมัน ไม่มี มันจะถูกทำลายลง ...จิตก็คลายปุ๊บออก 

ปัจจัตตัง...นี่มันต้องเป็นปัจจัตตังจริงๆ ไม่ใช่ไปพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ อย่างนั้นไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่...นั่นมันเป็นแค่อุบาย  แล้วมันจะไม่แจ้ง มันไม่แจ้งภายใน ไม่แจ้งในเรื่องของรูปและนาม ว่าที่ตั้งของมัน สุดท้ายที่ตั้งของมันคืออะไร

เอ้า เป็นไง เข้าใจรึเปล่า


โยม  ครับ 

พระอาจารย์ –  เนี่ย หลับรึเปล่าเนี่ย   ดิ่งไปเลยนะนั่นน่ะ

โยม –  (หัวเราะกัน) 

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่า การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมนี่  แม้จะไม่สงบ แม้จะไม่ดี แต่ให้รู้อยู่น่ะ ใช้ได้แล้ว ... มันดีกว่าไอ้สงบแล้วไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำ 

การที่ฟุ้งซ่าน การที่ง่วงเหงาหาวนอน แล้วเราเห็นอาการนั้นอยู่...อาจจะไม่ได้ดั่งใจเราก็ตาม แต่ถือว่าจิตมันตื่นรู้อยู่ ดีกว่า ...ดีกว่าที่จะนั่งแล้วค่อยๆ สบาย แล้วก็หายไปไม่รู้ไม่เห็นกระบวนการของมันเลย 

แล้วจะไปเข้าใจว่าสงบมากๆ แล้วจะเกิดปัญญา ...ไม่มีเกิดขึ้นหรอก ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความสงบที่เราทำขึ้นมาเลย 

กับการที่ว่าฟุ้งซ่าน คิดไปเรื่อยเปื่อย ไหลไป ...แล้วเราเห็นอยู่ แล้วเราหงุดหงิด แล้วเรารำคาญ แต่เห็นอาการพวกนั้นน่ะ  เราถือว่ามีประโยชน์มากกว่าด้วยซ้ำ ...แล้วไม่ต้องไปเอาชนะอะไรกับมัน ศึกษาอาการของมันไป


โยม –  เมื่อกี้ฟังจากท่านว่า แล้วเพิ่งรู้ว่าเข้าใจบางอย่างผิดแล้ว เช่นนั่งสมาธิแล้วก็เลยไหลไป เลยไปไม่รู้เวลาเวล่ำเท่าไหร่ ...เมื่อกี้เพิ่งทราบว่าเป็นโมหะสมาธิ

พระอาจารย์ –  ใช่  

โยม  กับการที่บางทีเดินจงกรมแล้วก็รู้ว่าคิดเรื่องนั้นรู้ว่าคิดเรื่องนี้ ไม่รู้ผิดรู้ถูก กลับเข้าใจว่าทำไมวันนี้ฟุ้งซ่านมาก ...แต่จริงๆ พอฟังท่านนี่ก็คือรู้ทุกช็อตว่าตอนนี้เป็นสิ่งที่ถูกรู้

พระอาจารย์ –  อือ คือไม่ต้องสนใจในอาการที่ปรากฏ ไม่ต้องไปยินดียินร้ายต่ออาการที่ปรากฏ ยังไงก็ได้ ขอให้รู้อยู่ แค่นั้นเอง ...คือให้รู้อยู่นะ ไม่ใช่รู้ไปนะ 

ฝึกอย่างเดียว ฝึกสติให้เป็น...สติยังไงเป็นกลาง แล้วจะเป็นสติในองค์มรรคเอง  แล้วมันจะดำเนินในครรลองของมรรคเอง ...แต่เบื้องต้นคือต้องฝึกสติให้เป็น 

ไม่ใช่สติที่ไปกำหนดหรือไปคาดคั้น หรือไปว่า...ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ให้ได้อย่างนั้น ให้ได้อย่างนี้ ...อย่างนี้นี่มันสติที่คาดคั้น  เมื่อสติที่คาดคั้นเมื่อไหร่ เป็นสติที่สุดโต่ง   


โยม(อีกคน)  ที่ฝึกอยู่ปัจจุบัน มันไม่ได้รู้ทุกขณะจิตนะคะพระอาจารย์ มันรู้แล้วก็ไปซะแล้วอย่างนี้ค่ะ  

พระอาจารย์ –  รู้เมื่อไหร่คือรู้เมื่อนั้น 

โยม  ค่ะ แต่ที่อยากไปปฏิบัติกับเขาด้วย เพราะที่ฝึกมีแต่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น  

พระอาจารย์ –  อย่าไปหวังผล อย่าไปคาด ไปก็ไปธรรมดา ถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ  

โยม –  ก็มีความกังวลอยู่บ้างเพราะยังไม่เคยไปปฏิบัติ    

พระอาจารย์ –  เราแนะนำให้เดินจงกรมมากๆ ให้อยู่กับการเคลื่อนไหว แล้วก็จับรู้อาการเคลื่อนไหว ไม่ต้องสนใจเรื่องความสงบ แต่ให้เห็นอาการ ... ถ้านั่ง...ให้นั่งเฉยๆ     


โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วโยมมีความรู้สึกว่าโยมไม่มีจริตในการเดินจงกรม แต่เมื่อไม่กี่วันนี้ลองเดินดู ก็รู้สึกชอบ ..คือจริงๆ แล้วจริตของโยม เราตอบตัวเองไม่ถูกว่าเราชอบนั่งหรือเราชอบเดิน ...มันต้องสลับกันไปใช่ไหม  

พระอาจารย์ –  สลับ ... แต่ให้เดินมากๆ เพราะว่าเวลาเดินจิตจะตื่น  เพราะเวลาเราอยู่นิ่งๆ แล้วนี่ ส่วนมากจิตมันจะจม แล้วจะหาย ...ยิ่งถ้าเราไปเพ่งหรือไปกำหนดอะไรขึ้นมาปุ๊บมันจะหายง่าย  แต่ถ้านั่งแล้ว ให้นั่งเฉยๆ ไม่ต้องกำหนดอะไร   


โยม  จากการที่โยมนั่ง แล้วก็สวดมนต์ต่อ   

พระอาจารย์ –  แผ่เมตตา

โยม –  ค่ะ เหมือนกับว่ามี...จะต้องสวดมนต์ก่อนแล้วแผ่เมตตา แล้วก็อะไรอย่างนี้  

พระอาจารย์ –  ได้ ...ทำไปเหอะ ทำได้หมด สวดก่อนก็ได้  แล้วก็นั่งเฉยๆ ...รู้จักคำว่านั่งเฉยๆ มั้ย   

โยม –  นั่งเฉยๆ คือไม่คิด ไม่อะไร ไม่ดูจิตไม่ทำอะไรเลย

พระอาจารย์ –  เออ นั่งเฉยๆ แล้วก็ดูซิ ไอ้ตอนที่นั่งเฉยๆ แล้วมันจะมีอะไรเกิดขึ้น ...จิตก็ไม่เอา จิตก็ไม่ดู อะไรก็ไม่เอา คือจะนั่งเฉยๆ แล้วก็รู้ว่ากำลังนั่งเฉยๆ อยู่ แล้วดู ...แล้วก็ไม่ได้ห้ามในการที่อะไรจะเกิดขึ้น  

โยม  อะไรจะเกิดขึ้นก็ดู   

พระอาจารย์ –  แต่ตั้งความหมายว่าจะนั่งเฉยๆ  ...เพราะนั้นพอนั่งเฉยๆ  ก็ไม่ไปตั้งว่าอะไรเป็นที่อยู่ หรือเอาอะไรเป็นที่กำหนด เข้าใจมั้ย ...คือนั่งแบบไม่เอาอะไรน่ะ นั่งสบายๆ ไม่เอาอะไร 

จะหลับตาก็ได้ จะลืมตาก็ได้ ลองดู ...เราให้ลองดู แล้วก็ถ้ายังสงสัยก็กำหนดอะไรก็ได้ แล้วก็ลองดู ก็ดูกันมันจะเป็นยังไง ต่างกันยังไง ...ศึกษาเอา มันจะเกิดปัญญา 

โยม –   ค่ะ พระอาจารย์

พระอาจารย์ –  อย่าไปดันทุรังว่าเคยทำยังไงต้องทำยังงั้น ...ไอ้เรื่องการกระทำนี่มันทำได้หมดแหละ วิธีการเยอะแยะ  แต่วิธีการมีเหมือนกันหมด...คือไม่กระทำเป็นวิธีน่ะที่เหมือนกัน

เดินก็เดินแบบไม่จงใจไม่เจตนา เดินไปเหอะ  เดินจงกรมเหมือนกับเราเดินซื้อของที่ตลาด ...เหมือนกันเลย

โยม  ไม่ต้องกำหนดอะไร ...เดินเฉยๆ

พระอาจารย์ –  ไม่กำหนดอ่ะ ...ก็รู้ว่ากำลังเดิน เห็นว่ากำลังเดิน ดูมันไป ...อย่าไปว่าเดินเพื่อให้ได้อะไร เพื่อให้จิตเป็นยังไง
     
โยม –  แล้วถ้าจิตมันฟุ้ง แล้วมันคิดนู่นคิดนี่ ก็ตามรู้ตามดูไปหรือคะ

พระอาจารย์ –  ฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง ...ก็ดูว่ากำลังฟุ้ง   

โยม  แล้วกลับมาอยู่ที่อาการเฉยๆ

พระอาจารย์ –  กลับมาอยู่ที่อาการเดิน ...มันไม่เฉยนี่ มันเคลื่อนไหวอยู่ใช่รึเปล่า  ถ้าเดินนี่ก็เห็นอาการเคลื่อนไหวสิ  

โยม –  ค่ะ  

พระอาจารย์ –  ก็กลับมาเห็นกายปัจจุบัน ...การปฏิบัติไม่ต้องทำให้มันยุ่งยากหรอก   


โยม –  อยากทราบว่าถ้าเกิดว่าเวลาเห็นนี่นะคะ เวลาเห็นสภาวะอะไรสักอย่างที่มันเกิดขึ้นนี่ ตัวที่เห็นนี่คือเห็นหลังจากสิ่งนั้นเกิด หรือว่าเห็นพร้อมกับตอนที่มันเกิด  

พระอาจารย์ –  หลัง  

โยม  เป็นอาการเห็นหลังจากที่มันเกิดไปแล้ว

พระอาจารย์ –  ใช่ ที่กำลังเกิด ต้องเกิดก่อนถึงเห็น  แล้วมันเกิดต่อเนื่อง ก็เห็นระหว่างเกิดต่อเนื่อง ...แต่ว่ามันต้องเกิดก่อนถึงเห็น.


(ต่อแทร็ก 2/16)