วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 2/24 (3)


พระอาจารย์
2/24 (530901)
1 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/24  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แต่ธรรมดาของคนเรามันไม่ดับ ...ใจไม่ดับ 

มันบอกว่า...หน้าเรานี่ยังไม่สวย มันน่าจะได้สวยกว่านี้ ...ยังไม่ได้เป็นผู้ชายเลย ต้องมาเป็นผู้ชายก่อน ...ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย ต้องมารอการปฏิบัติธรรมต่อ

นี่รูปดับ...แต่ใจมันยังมีอะไรค้างอยู่น่ะ ยังเอาอยู่น่ะ ยังหาอยู่น่ะ มันยังไม่ได้สักที  นี่...ตรงนี้คือเงื่อนไข มันมีเงื่อนไขอยู่ภายในเป็นอุปาทาน...เป็นตัณหาอุปาทานอยู่ภายใน

มันก็ดิ้นรนกระวนกระวาย กระเสือกกระสนไปหารูปขึ้นมาใหม่...ตามกรรม ตามเหตุปัจจัยของมัน  แล้วก็มาเรียนรู้กันต่อ...ต่อไปอย่างนั้น

เพราะนั้นน่ะ แค่สติตัวเดียว นะ ...ใครบอกว่ารู้เฉยๆ ไปไหนไม่ได้  ใครบอกว่ารู้เฉยๆ ละกิเลสไม่ได้  ใครบอกว่ารู้เฉยๆ ไม่พิจารณากาย ละไม่ได้

ยืนยัน...เอาหัวทิ่มดินแล้วก็ยันฟ้าเลยว่า...กูว่าได้น่ะ (หัวเราะกัน) แต่ไม่เถียงกับใคร เนี่ย เรามาเถียงกับตัวของเราเอง เพราะเวลามันจะออกมาเป็นความเห็นความคิด...รู้ กลับมารู้ เข้าใจมั้ย

แม้แต่ความคิดความเห็นของตัวเองยังไม่เชื่อ ยังไม่เถียงน่ะ ...อย่าว่าแต่เถียงคนอื่นเลย ตัวเองมันขึ้นมาเถียงกันเอง ยังไม่ฟังมันเลย พอรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น...รู้

กลับมารู้ กลับมาที่ใจ ...พอรู้ปุ๊บ สติแรกน่ะ กลับมาที่ใจ ...เพื่ออะไร ...เพื่อกลับมารู้อยู่ที่ใจ รู้เป็นกลางอยู่ตรงนั้นแหละ จนกว่ามันจะวางอาการพวกนี้

ไปสนใจอะไรกับมันนักหนา ไปให้ค่าให้ความหมาย เอามาเป็นโคตรพ่อโคตรแม่เราทำไม เอามาเป็นปู่ย่าตายายเราทำไม ...เชื่อฟังเคารพนบนอบกิเลสเหลือเกิน 

ไปเคารพนบนอบความคิดเห็นเหลือเกิน เคารพนบนอบความเชื่ออดีต-อนาคตเหลือเกิน เนี่ย เอามาเป็นญาติโกโหติกาเราทำไม ...อย่าไปเชื่อ อย่าไปฟังมัน 

อย่าไปว่ามันมีบุญคุณอะไรกับเรา จะต้องไปทดแทนตอบแทนบุญคุณมัน ที่อุตส่าห์คิดอุตส่าห์มีความเห็นนี้ขึ้นมา ...ช่างหัวมัน บอกแล้ว ให้ตัดหางปล่อยวัดมันซะ มันมายังไง มันก็ไปอย่างงั้น 

อย่าไปให้ค่ากับมัน กลับมารู้ ...เพราะนั้นมีอะไร กลับมารู้ๆๆ  ทุกข์ก็รู้ สุขก็รู้ ยินดียินร้ายก็รู้ ...รู้เป็นปกตินี่แหละ มันจะเป็นที่ฐานใจ กลับมาที่ฐานรู้เป็นปกติ ที่ฐานใจบ่อยๆ แค่นี้เอง

แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะแจ้งขึ้นมาเอง มันจะแจ้งเข้าไปเรื่อยๆ แจ้งอยู่ที่ใจนั่นแหละ  แล้วก็เห็น...อ๋อ ทั้งหมดนี่ มันแค่นิยาย แค่นิยาย...จะไปอะไรจริงจัง

ทุกอย่างเขามีบทสรุปของเขาอยู่แล้ว ไม่มีคำว่าถาวรหรือ Permanent ....สุดท้ายก็ดับไป เนี่ย มันมีบทสรุป มีบทจบอยู่แล้ว ...เราเกิดขึ้นมานี่ก็...นิยายหนึ่งเล่ม มันมีบทจบอยู่แล้วในตัวของมันเอง

ต้องยอมจบ... อย่าไปต่อ ไปมีภาคสอง...To be continue อยู่เรื่อยน่ะ (หัวเราะกัน) มันคิด แล้วพอรู้ปุ๊บ หยุด แล้วก็...พอรู้แล้วไม่ได้คิด “เสียดายว่ะ ยังคิดไม่ทันได้เรื่องเลย แหม” เอาแล้ว ต้องคิดต่อให้จบ

เพราะงั้นอย่าไปถือ อย่าไปเยิ่นเย้อยืดยาวเอารายละเอียดอะไรกับมัน ...รู้ทิ้งรู้ขว้าง กลับมารู้เปล่าๆ รู้เฉยๆ ...แค่ไอ้รู้เฉยๆ เนี่ย ต้องไปทำความจำแนกแยกแยะในรู้เฉยๆ อีกบานเลย บอกให้

มันยังมีอะไรในรู้นั้นน่ะอีกบานเลย ที่จะต้องเรียนรู้ต่อไป...ความละเอียด ความประณีต ความเป็นอรูป ความเป็นอะไรที่อยู่ในนั้นน่ะ...มากมาย

แค่นั้นก็ยังเอาตัวไม่รอดแล้ว ยังจะไปหาอะไรมาใส่อีก ...ออกไปเพ่นพ่านๆ อยู่กับอะไรก็ไม่รู้ เรื่องไม่เป็นเรื่อง...ไร้สาระ แต่เข้าใจว่าเป็นสาระสิ้นดีนะ (หัวเราะกัน)

พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่เป็นสาระ แต่พวกเราบอกว่ามันเป็นสาระสิ้นดี ...เป็นจริงเป็นจัง เป็นตุเป็นตะไปหมด  พูดนั่นพูดนี่ เห็นนั่นเห็นนี่ ใครว่าอย่างนั้นอย่างนี้

มันเหมือนหมางับกระดูกน่ะ เอาไปหมด มันไม่ทัน …แล้วพอรู้ทันแรกๆ น่ะมันก็มีกำลังมาก มันก็ฮื่อแฮ่ใส่เราอีก “อย่านะ ทำไม่ได้ วางไม่ได้นะ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ไม่งั้นคนนั้นเขาจะทำอย่างนั้นกับเรา 

เขาจะไม่เข้าใจเรา แล้วเขาจะมาเบียดเบียน บังคับเรา ขับไสเรา ดุด่าว่าเรา ...เราจะต้องอย่างนั้น” ...เอาแล้ว เห็นมั้ย มันฮื่อมันแฮ่ใส่เรา...เมื่อเราจะละมัน

ต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ...ที่จะทิ้งแบบไม่เอาอะไร ไม่หวังอะไร  กลับมารู้เฉยๆ รู้เฉยๆ ก่อน ...อดทน อดทนอยู่กับมัน ...แล้วจะเห็นอานิสงส์การแค่รู้เปล่าๆ นี่ ไปได้ถึงมรรคผลนิพพานเลย

เพราะไม่ได้มีอะไร ไม่ได้เอาอะไรไป ไม่ได้เอาความรู้อะไรไป  มีแต่รู้ ตัวรู้เฉยๆ ไป ...แล้วสุดท้ายตัวรู้ก็ไม่ไป ตัวรู้ก็ถูกทำลาย ...มันไม่มีความรู้อะไรในนั้น...มันถึงไปได้

ถ้ามันยังมีอะไรจะเป็นความรู้ในนั้นน่ะ...ไปไม่ได้  เพราะมันจะผลักออกมาอีก ...แต่เวลามันผลักแล้วเราไม่ยอมให้มันออกไป เรากลับไปให้ค่าเป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็เอากลับมาเป็นสัญญาอารมณ์ 

กลับมาเป็นอนุสัยอาสวะ...หมักหมม เข้าใจคำว่าหมักหมมไหม...ความหลงน่ะ หลงทำ หลงคิด หลงพูด แล้วก็ไปเสวยเป็นอารมณ์เวทนา แล้วก็จดจำได้ แล้วก็มาเก็บ...เนี่ย พวกนี้คืออาการหมักหมมอาสวะ

ด้วยความไม่รู้ ...ทำไปก็ไม่รู้ ทำแล้วก็ไม่รู้ ได้ผลมาก็ไม่รู้ เก็บกลับมาก็ไม่รู้  แล้วเวลามันส่งผลออกมาเป็นทุกข์ขึ้นมา...ก็ไม่รู้  ไปตีโพยตีพายด่าคนโน้นว่าคนนี้ อ้างเหตุนั้นอ้างเหตุนี้ว่านั่นเป็นเหตุนี่เป็นเหตุ

คนเดินผ่านมาแล้วก็ด่าเรา นั่น โทษว่าไอ้เนี่ยเป็นเหตุให้เราโกรธ แล้วก็...เราจะต้องทำยังไงให้มันไม่มาหาเราได้ จะต้องไปสร้างรั้วห้ามมันเข้าบ้านเรา แล้วเราจะสบายใจว่า...เออ แก้ได้

เนี่ย มันแก้กันอย่างนี้ แล้วมันเข้าใจว่านั่นเป็นเหตุ...เหตุอยู่ที่รูป เหตุอยู่ที่เสียง เหตุอยู่ที่อาการ ...เพราะนั้นสติปัญญา คือต้องทวนกลับมาถึงเหตุที่แท้จริงต่างหาก

เราบอกว่าเหตุที่แท้จริงคือรู้นี่แหละ มันเริ่มจากตรงนั้น ...มันเริ่มตรงนั้นแล้วมันต้องจบตรงนั้น ไม่ใช่เริ่มตรงนี้แล้วจะไปจบตรงโน้น จะไปจบตรงโน้นไม่ได้

ไอ้โน้นไม่ต้องยุ่งกับมันหรอก มันจบอยู่แล้ว มันจบของมันเองอยู่แล้วในตัวของมันเอง ...เขาด่าแล้วก็ด่าไป  พูดเสร็จ คำพูดก็ดับไปแล้ว เรื่องราวก็จะผ่านไป

เห็นมั้ย อาการทั้งหลายทั้งปวง การกระทำคำพูดทั้งหลายทั้งปวง มันก็จรมาจรไป เหมือนหมาจรจัดไม่มีเจ้าของ เราไม่ต้องไปใส่ใจกับมัน ไม่ต้องไปเลิกไปละอะไรกับมัน

นีี่ ละไม่ได้ เลิกไม่ได้หรอก ห้ามไม่ได้ ...ตามี หูมี จมูกมี ลิ้นมี กายมี ใจมี ...มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่ วันยันค่ำคืนยันรุ่ง  ไม่ทำตอนเดียวคือตอนหลับ ...แต่ใจก็ยังไม่หลับ ใจก็ยังปรุงเป็นความฝันได้ 

หลับนี่คือว่าอายตนะทั้งห้านี่พักชั่วคราว ปิดการรับรู้ ...แต่พอเราตื่นขึ้นมา มีอากัปกริยากิจกรรมการงาน พั้บ อายตนะเปิดตลอดแล้ว ...ห้ามไม่ได้เลย แก้ไม่ได้ด้วย จะพักให้มันรู้หรือไม่รู้อะไรไม่ได้เลย

จะมัวมาเลือกว่า รูปนี้ไม่ให้เห็น รูปนี้ต้องให้เห็น อย่างนี้ไม่ได้ ...ถ้ามานี่ สิ่งที่อยากเห็นกับสิ่งที่ไม่อยากเห็นมาพร้อมกัน เห็นเท่ากันเลย ...นี่คือความเป็นกลางของอายตะ เขามีอยู่แล้ว

แต่เรารับรู้แล้ว มาถึงใจแล้ว...ไม่เป็นกลาง แบ่ง ...เป็นบัญญัติ เป็นสมมุติขึ้นมา  ผิด-ชอบ ชั่ว-ดี สวย-ไม่สวย หอม-ไม่หอม อร่อย-ไม่อร่อย อย่างนี้ ...มันไม่รับรู้ไปแค่สัมผัสตรงๆ แค่นั้นเอง

แต่จริงๆ มันรับรู้แค่...อร่อย-ไม่อร่อย...มันก็รับรู้ได้ ...แต่ว่ารับรู้แล้วมันดันไปยินดี-ยินร้ายอีก...ยินดีกับอร่อย ยินร้ายกับไม่อร่อย ยินดีกับสวย ยินร้ายกับไม่สวย อย่างเงี้ย

ก็ต้องเรียนรู้ว่า เหตุของมันอยู่ที่ภายนอกหรือภายใน ...เพราะนั้นว่าการแก้ต้องแก้ที่เหตุ แล้วต้องรู้ก่อนว่าเหตุที่แท้จริงคืออะไร  นี่เรียกว่าปัญญา ...เมื่อมันรู้ถึงเหตุที่แท้จริง...ก็แก้ถูกจุด

เป็นหมอก็เรียกว่าจ่ายยาถูกโรค ...ไม่ใช่โดนฟันปางตายมา หมอเอายามาล้างตาว่าเดี๋ยวก็หาย เออ นักปฏิบัติทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้ มันแก้ไม่ถูกโรค รักษาไม่ถูกจุด แล้วก็เข้าใจว่าวิธีการของมันน่ะถูกที่สุด

แต่ถ้าเราเป็นหมอที่แท้จริง หรือว่าคนไข้ที่รับรู้ตามความเป็นจริงแล้วไม่ตามความเชื่อนี่ เราก็บอกว่า ไอ้หมอนี่มันพาให้กูตายนะเนี่ย ...มันจะไม่เชื่อ แล้วไม่ยอมรับการรักษานั้นเลย

เข้าใจคำว่า พระโสดาบันละซึ่งความสงสัยได้ไหม ...นี่ จะไม่สงสัยเลย ...ใครว่ายังไง ใครว่าถูก ใครว่าผิด ใครว่าต้องทำอย่างนี้ ใครว่าต้องไม่ทำอย่างนี้ 

อันนี้เบื้องต้นมันละได้แล้ว ไม่ลังเลสงสัยในวิถีแห่งจิต ในวิถีแห่งมรรค ในครรลองของมรรค ...จนเข้าใจได้เลาๆ ว่าอันไหนเป็นสติที่เป็นมิจฉาสติ อันไหนเป็นสัมมาสติ

หรืออันไหนเป็นผลที่เกิดจากการกระทำ อันไหนเป็นผลที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำ จะแยกออกระหว่างตัวนิโรธ...นิโรธที่เป็นการกระทำขึ้น กับนิโรธที่ไม่ได้กระทำขึ้น 

นิโรธคือผล ผลแห่งการเจริญมรรค ...อย่างคนทั่วไปเวลานั่งสมาธิ ได้ความสงบ แล้วก็ว่าได้ผล มันบอกคือผล เป็นผล ...พิจารณาอะไรแล้วเกิดความเข้าใจ ก็เรียกว่าเป็นผล ก็เรียกว่าได้ผล

พิจารณาให้เป็นอสุภะ แล้วก็มีจิตเกิดความยอมรับความเป็นอสุภะ ก็เรียกว่าได้ผล แล้วไปเข้าใจว่าเป็นผลแห่งการเจริญมรรค ...เพราะนั้นผลที่ได้น่ะมันเป็นผลที่ยังไม่เรียกว่าเป็นนิโรธโดยแท้จริง

เพราะอะไร ...เพราะเป็นผลที่มันกระทำ ได้จากการกระทำ แล้วผลนั้นยังมีอาการตั้งอยู่ ใช่มั้ย ...ตั้งอยู่เป็นความรู้ ตั้งอยู่เป็นทิฏฐิ ตั้งอยู่เป็นความเห็น ตั้งอยู่เป็นเวทนา

แต่ผลที่เป็นนิโรธที่แท้จริง...คือความดับไป คือความดับไป...เป็นธรรมดา ...เพราะนั้นถ้ามีปัญญาสักหน่อย เจริญมรรคต่อเนื่อง ...ได้อะไรมา รู้กับมันเป็นกลางๆ 

แล้วจะเห็นว่า เดี๋ยวมันก็ดับไป ...อย่างเช่นสงบ ...ได้ความสงบ ก็รู้กับสงบ รู้เฉยๆ แล้วก็คอยดูความสงบไป เดี๋ยวสงบก็ดับไป ...ตรงนี้เรียกว่านิโรธ

ได้ความรู้ความเข้าใจอะไรขึ้นมา เป็นทิฏฐิเป็นความเห็นอะไรขึ้นมา มันเปลี่ยนไปแล้วเรารู้สึกว่าดีขึ้นก็ตาม ...ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวความเห็นนั้นก็ดับ ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้หรอก 

เห็นมั้ย นี่มาแล้วนิโรธ อย่างนี้ ...เพราะนั้นถ้าเจริญมรรคตลอดสาย จะเห็นถึงความดับไปเป็นธรรมดา...ของทุกสรรพสิ่งทั้งภายนอกและภายใน

เพราะนั้นถ้าทำแบบหวังผล มันก็จะไปคากับไอ้ผลที่มันได้น่ะ มันไม่เรียกว่านิโรธ ...แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจกับผลนั้น...จริงๆ ไม่ได้ว่าไม่ใส่ใจ ...คือรับรู้ด้วยจิตที่เป็นกลางหรือสติที่เป็นกลาง หรือสัมมาสติ

นี่ ไม่เลือก ไม่ตั้ง ไม่ประคอง ไม่รักษา ไม่เข้าไปยินดี ไม่เข้าไปยินร้าย อย่างนี้เรียกว่ามัชฌิมา ...เพราะนั้นรับรู้ด้วยอาการเจริญมรรคต่อ สติเป็นกลางต่อ แล้วก็จะเห็นว่า...เออ ไม่มีอะไรเหลือเลย ดับไปๆ

เพราะนั้นเมื่อมันเห็นความดับไปบ่อยๆ ของอาการ ที่เคยทำ อยากทำ ทำมาได้ผลมา  สุดท้ายมันจะขี้เกียจทำเองแหละ ...จิตจะละ จะวาง จะเบื่อการกระทำ

จะออกจากการกระทำ จะหยุดการกระทำ จะไม่หวังผลจากการกระทำอีกแล้ว ...เพราะไม่ทำมันก็มีผลของมันเอง ทำเองกับทำด้วยเจตนานะ มันก็มีผล มันก็แสดงไป

เราไม่ต้องไปตั้งอกตั้งใจอะไรกับการใช้ชีวิต มันก็ทำไปได้หมดแหละ มันก็มีผล...ได้บ้างเสียบ้าง ทั้งๆ ที่ว่าไม่ได้ตั้งอกตั้งใจทำหรือควบคุม มันก็มีที่เขาให้ผลเสวยผลอยู่แล้ว เห็นมั้ย จะไปทำทำไมให้มันเหนื่อย

จิตมันก็จะเริ่มหยุดการกระทำ หยุดการสร้างกรรม ที่จะต่อเนื่องไปเป็นอนาคต ที่จะต้องไปรอรับผลในอนาคตอย่างนี้...มันจะหยุด ...เห็นมั้ย มรรคจริงๆ มันจะกลับมาหยุดอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้นเลย

เพื่อให้มารับรู้เรียนรู้ เท่าทันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะให้มันเพียงพอพร้อมที่จะละปัจจุบัน จนถึงละในตัวของมันเอง จนถึงละปัจจุบันของภพในจิตเอง...คือการตั้งอยู่ของใจ


(ต่อแทร็ก 2/24  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น